ธารธรรมการงาน

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 31 พฤษภาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    ปราการที่พังทลาย
    เมื่อปราการกางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่อย่างกำแพงเบอร์ลิน ที่ยืนตระหง่านนานกว่า 1 ใน 4 ของศตวรรษยังพังทลายลงจนนำมาซึ่งการรวมชาติเยอรมนีได้ในที่สุด กำแพงในใจมนุษย์ที่เรียงก้อนก่อรูปเป็นเครื่องกั้นมิตรไมตรีก็ย่อมแตกหักพังสลายลงจนเกิดสันติสุขสันติภาพได้ดุจเดียวกัน
    ตั้งแต่เรียนจบมาก็เลือกทำโรงพยาบาลชุมชน อยากเป็นเทียนเล็กในที่มืดมากกว่าเป็นหลอดไฟในเมืองใหญ่ เพราะรู้สึกว่ามีคุณค่ามีความสุขมากกว่า โดยคิดเสมอว่าการทำงานให้ได้ใจเพื่อนร่วมงานต้องพยายามซื้อใจด้วยใจ จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ใจ ซื้อใจเขาด้วยใจเรา เพราะฉะนั้นในการลงมือทำงานต้องทำให้เขาเห็นว่าเราทำด้วยใจจริงๆ ให้ทีมงานทุ่มเททำงานกับเรา"
    พญ.จุฑามาศ สมชาติ วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลลำพูน เผยวิธีการทำงานด้วยหัวใจในห้วงยามแรกจบ ณ โรงพยาบาลชุมชน ก่อนเล่าว่า ขณะนั้นกระแสพัฒนาคุณภาพมาแรงมาก จึงต้องทำงานหนัก หลายครั้งต้องทำถึงนอกเวลาทำงาน ทว่าทางทีมงานก็รู้สึกดีที่ขณะทำงานเราก็ทำอยู่ด้วยกัน
    "เราใช้เวลาทำงานร่วมกับทีมงานจริงๆ ทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้สั่งทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตัวเองหายไปไม่อยู่ แม้บางทีเราจะไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย แต่การได้พูดคุยให้กำลังใจ หรือว่าซื้อขนมเล็กๆ น้อยๆ ติดไม้ติดมือขณะเขาทำงาน ก็เป็นการแสดงน้ำใจที่สัมผัสได้ ได้ใส่ใจในจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เขามีความสุข ก็ทำเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ที่เวลาขึ้นเวรก็ยังทำอยู่ เป็นความสุขทางใจด้วย"
    กำแพงระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องที่พังทลาย ลงไปจากการบริหารจัดการของผู้นำที่ได้ใจทีมงานทุกคนของ พญ.จุฑามาศ นำผลสำเร็จมาสู่เนื้องานชุมชน แม้นจะเหนื่อยเมื่อยล้าบ้าง หากแต่ความท้อแท้ถดถอยก็ไม่เคยก่อเกิด เพราะรอยยิ้มของคนไข้ได้พัดพาสุขมาหา พลัดพรากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากไปจนหมดสิ้น กระทั่ง 6 ปีที่ทำงานทั้งยากและหนักมีแต่ความสุขใจ
    "ส่วนใหญ่แล้วแพทย์ใช้ทุนจะใช้เวลา 2-3 ปี เมื่อครบกำหนดใช้ทุนก็จะกลับไปเรียนต่อ แต่เราอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนนานถึง 6 ปี เพราะตั้งใจว่าถ้าไม่สามารถทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์หรือมีผลงานชัดเจนก็จะยังไม่กลับไปเรียน พอทำงานถึงปีที่ 6 ทุกอย่างลงตัวหมด ระบบที่เราลงไปทำงานไปสร้างเครือข่ายให้กับชุมชน เจ้าหน้าที่ และสถานีอนามัยค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว เมื่อเราออกมาระบบก็อยู่ได้ เจ้าหน้าที่สามารถทำต่อได้ ทำงานบริการลงพื้นที่ดูแลคนไข้ในชุมชนได้ ก็เลยไม่ห่วง"
    ความมุ่งมั่น ผลิบานเป็นเครือข่ายความสุขใจนี้ ใช่จะทลายกำแพงระหว่างคนไข้กับแพทย์ลงจนขนาดจากไปชาวบ้านก็คิดถึงเท่านั้น ทว่ายังงอกงามโครงสร้างระบบที่รองรับพันธกิจการงานด้านชุมชนที่ทีมงานทุกคนทุ่มเททำกันอย่างเกลียวกลมสามัคคี ไม่มีแยกชนชั้นบริหารและปฏิบัติการได้ด้วย เนื่องเพราะว่า พญ.จุฑามาศ วางรากฐานไว้แน่นหนาจนแน่ใจว่า ถ้าตัวเองต้องไปศึกษาต่อก็ยังมีผู้สานต่อได้ และทำได้ดีสมที่เธอตั้งปณิธานและปรารถนาพบพานความรู้สึกนั้นครั้งยังเยาว์วัยด้วย
    "เวลาไปโรงพยาบาล เรารู้ว่าอยากได้อะไรจากหมอบ้าง เหมือนเมื่อตอนเด็กๆ ไปโรงพยาบาล เวลาตรวจก็อยากให้หมอมาดูเราลูบหัวเรา ดังนั้นเมื่อมีโอกาสทำตรงนี้ก็มุ่งมั่นทำในสิ่งที่คาดว่าคนไข้อยากได้จากหมอ จะเน้นการสัมผัสและใช้ภาษาถิ่น เพราะให้ความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้านไ"
    พญ.จุฑามาศ เน้นวิธีสร้างสัมพันธภาพระหว่างคนไข้กับแพทย์โดยผสานศาสตร์และศิลป์ของความรู้ ประสบการณ์ และเหนืออื่นใดหัวใจเข้าด้วยกัน จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ไม่เท่านั้น การตัดสินใจกลับไปศึกษาต่อยังได้ทำหน้าที่ลูกที่ดีดูแลแม่แก่ชราที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จากเดิมที่ไม่ค่อยมีเวลาอยู่ด้วยกันนักเพราะต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับโรงพยาบาลกับบ้าน
    "ตอนแรกๆ ที่ย้ายมาอยู่บ้านใกล้โรงพยาบาล ก็ยังต้องพาแม่กลับไปบ้านเดิมสัปดาห์ละ 1-2 วันตามปกติของคนแก่ที่อยากกลับไปอยู่บ้านเมื่อ 40-50 ปีก่อนอยู่นานกว่า 2 ปี ระหว่างนี้เราก็พยายามทำให้แม่รู้สึกว่ามาอยู่บ้านใหม่มีความสุขและปลอดภัยจริงๆ แม่ลูกมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น จากเมื่อก่อนเช้าก็ได้เจอกันแป๊บเดียว กลางคืนก็ต้องอยู่เวร กว่าจะกลับบ้านแม่ก็นอนแล้ว แต่เมื่อย้ายมา เช้าก็ได้นั่งกินข้าวด้วยกัน เป็นความรู้สึกที่สามารถชดเชยการจากบ้านเดิมมาได้ ความรู้สึกแม่ดีขึ้น"
    ความไม่เข้าใจอันเนื่องมาจากความห่างไกลจึงไม่มีโอกาสเรียงตัวเป็นปราการภายในครอบครัวนี้ รวมถึงกำแพงระหว่างเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะชาติพันธุ์ สีผิว พิกลพิการ หรือสติบกพร่องไม่สมประกอบ ก็ยังไม่เคยมีช่องทางวางรากฐานในจิตใจ พญ.จุฑามาศเลย เพราะเพียงเรื่องเล่าความประทับใจในวิถีชีวิตคนชายขอบที่สังคมทอดทิ้ง ก็ฉายชัดความรักความเมตตาของเธอแล้ว ด้วยถ้าไม่มีจิตใจกรุณา จะมองเห็นความดีงามจากชายสติไม่ดีได้หรือ
    "คนดีในดวงใจมีมากมาย แต่ละด้านแต่ละสาขาก็มีคนดีแต่ละแบบ แต่ที่ประทับใจคือการดำเนินชีวิตของชายสติไม่สมประกอบแถวบ้านคนหนึ่ง ที่ดำรงชีวิตด้วยตนเองในกระท่อมปลายนา เขาจะตื่นเช้ามืดทุกวันไปตลาด ได้คนใจบุญแบ่งปันอาหาร แต่จะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือสร้างความเดือดร้อนให้ใคร และไม่เคยมีนิสัยลักเล็กขโมยน้อยหยิบฉวยของคนอื่น พอสายๆ ก็จะเอาอาหารที่ได้รับการแบ่งปันไปให้สุนัขและแมว และระหว่างทางบางบ้านที่เปิดประตูทิ้งไว้ เขาก็จะนำอาหารเข้าไปให้สุนัข เป็นมุมมองเล็กๆ ของคนเล็กๆ ที่ไม่สมบูรณ์พร้อมทุกด้าน แต่มีจิตใจดี นึกถึงคนอื่น"
    ความประทับใจในชีวิตคนชายขอบบุคคลที่ถูกสังคมเลือนลืมนี้ มีแต่แง่งามความดีที่สามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับแพทย์ ที่นับวันจะขัดแย้งรุนแรงได้เมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่พ่อแม่เพาะพรวนดินรดน้ำดูแลระยะหนึ่งจนเติบโตเองได้ ออกไปใช้ชีวิตฝ่าฟันอุปสรรคด้วยตนเอง แม้ผิดหวังบ้างบางครั้ง ทว่าท้ายสุดก็ยังกลับมายืนอย่างมั่นคงได้ด้วยการทบทวนตัวเอง บนเป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่ต้องการยืนหยัดได้ด้วยตัวเองและเผื่อแผ่ร่มเงาแก่คนอื่นเช่นนี้ ย่อมพังทลายทุกปราการกำแพงขวางหน้าลงได้ด้วยความงามความดี ที่ต่างจากกำแพงเบอร์ลิน ที่กว่าจะพังทลายลงความเป็นมนุษย์ก็สูญเสียไปมหาศาลทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม.
    ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ.
    ธารธรรมการงาน | ไทยโพสต์
     

แชร์หน้านี้

Loading...