ธรรมเป็นที่พึ่ง ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]ท่านพ่อลี ธัมมธโร[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table> <center> ธรรมเป็นที่พึ่ง </center> ใจของคนเราปกติมันนิ่งอยู่ไม่ใคร่ได้ คือมักจะชอบคิดนึกไปในสัญญาอารมณ์ต่างๆทั้งดีและไม่ดี เรื่องที่ดีก็เก็บมาคิด เรื่องไม่ดีก็เก็บมาคิด ได้ก็เก็บมาคิด ไม่ได้ก็เก็บมาคิด นี่แหละดวงจิต มันจนถึงอย่างนี้ คิดในส่วนที่ดีที่ชอบก็เป็นกามตัณหา คิดในสิ่งที่เป็นไปได้ก็เป็นภวตัณหา คิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็เป็นวิภวตัณหาแต่เขาเหล่านั้นก็หารู้สึกตัวไม่ นี่เรียกว่าอวิชชา คือความไม่รู้ เพราะความไม่รู้นี่แหละ จึงเป็นเหตุให้เกิดความคิดวิตกวิจารไปต่างๆ อันเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหาอุปาทาน คือ ความชอบไม่ชอบ และความยึดถือ
    เรื่องราวต่างๆที่คนเราคิดกันไปนั้น บางทีก็เป็นไปได้ตามที่คิด บางทีก็เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ถ้าจะคิดไปก็ยังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ที่ไม่ได้อะไรเลยก็ยังอุตส่าห์ไปคิด คือเรื่องที่มันเป็นไปไม่ได้แล้ว ก็ยังไปยึดอยู่ในสิ่งที่ไม่ได้นั้น แล้วก็เกิดความเสียใจน้อยใจ เรื่องมันไม่ได้แล้วก็ยังจะให้ได้รับผลอยู่อีก สิ่งใดที่ปรารถนาเมื่อไม่ได้มาสมหวังก็ยึด เมื่อได้มาสมหวังก็ยึด แล้วก็เกิดความชอบไม่ชอบ ยึดทั้งสัญญาข้างหน้า ยึดทั้งสัญญาข้างหลัง คนธรรมดาเรานั้น อะไรได้มาก็ยึดดีใจ ถ้าไม่ได้มาก็ยึดเสียใจ บางทีก็ยึดความดี แต่ยึดความดีก็ยังพอมีหนทางที่จะคลุกคลานไปได้บ้าง บางทีชั่วแท้ๆก็ยังไปยึดเข้าไว้ นี่แหละพระพุทธเจ้าทรงเห็นเช่นนี้ จึงได้เกิดความสงสาร ท่านสงสารอะไร สงสารเพราะความโง่เขลาของคนเราที่ไม่รู้จักว่าอะไรมันเป็นความทุกข์ รู้ว่ามดแดงนั้นมันกัดคันและทำให้กลายเป็นพิษ แต่ก็ยังอุตส่าห์ไปเอารังมดแดงมาเคาะใส่หัวของตัวเอง แล้วก็ต้องมานั่งปวดแสบปวดร้อนอยู่ มันได้ผลอะไรบ้าง
    ตา ไปเห็นรูปดีไม่ดีก็เก็บมายึดไว้ หูไปฟังเสียงดีไม่ดีมาก็ยึดไว้ จมูกไปได้กลิ่นดีไม่ดีมาก็ยึดไว้ ลิ้นได้รับรสดีไม่ดีมาก็ยึดไว้ กายได้รับสัมผัสดีไม่ดีมาก็ยึดไว้ ใจได้รับอารมณ์ดีไม่ดีมาก็ยึดไว้ คราวนี้รูปต่างๆมันก็จะมาห้อยอยู่ที่ตาของเรา เสียงต่างๆก็มาห้อยอยู่ที่หู ๒ ข้าง กลิ่นต่างๆก็มาห้อยอยู่ที่ปลายจมูก รสต่างๆก็มาห้อยอยู่ที่ปลายลิ้น สัมผัสต่างๆก็มาห้อยอยู่ที่ตัว อารมณ์ต่างๆก็มาห้อยอยู่ที่ใจ เกะกะรุงรังไปหมด คราวนี้รูปมันก็จะต้องมาปิดตาไว้ เสียงก็ปิดหูไว้ กลิ่นก็มาปิดรูจมูกไว้ รสก็มาปิดลิ้นไว้ สัมผัสก็มาปิดตัวไว้ ธรรมารมณ์มาปิดใจไว้ เมื่อทวารทั้งหกของเราถูกปิดตันไปหมดทุกช่องทุกทางเช่นนี้ คนนั้นก็ต้องเป็นผู้มืด คือมืดด้วยอวิชชา คลำหาหนทางไม่พบ จะไปทางไหนก็ไปไม่รอด ตัวก็หนัก ใจก็มืด คนนั้นก็ต้องหมดความสุข นอนที่ไหนก็ต้องยกมือก่ายหน้าผาก นั่งที่ไหนก็ต้องเอามือกอดเข่า หน้าตาก็ดำเกรียมไม่มีสง่าราศี นี่เรียกว่าเบียดเบียนตัวเอง ฆ่าตัวเอง และทำลายตัวเองให้เสื่อมจากความเจริญ
    สัญญาต่างๆของคนเรานั้น มันเป็นของติดใจ ยิ่งเป็นเรื่องไม่ดีด้วยแล้ว จำก็นาน คิดก็มาก นี่ก็คือตัวโมหะนี่เอง ซึ่งเป็นพวกพ้องของตัวอวิชชา ฉะนั้นเราจึงควรพากันกำจัดโมหะตัวนี้ให้ออกไปจากใจของเราเสียโดยการฝึกฝน อบรมตนให้มีสติสัมปชัญญะ รู้รอบทุกลมหายใจเข้าออก อันนี้แหละจะเป็นบ่อเกิดแห่งวิชชา เมื่อวิชชาเกิด ปัญญาก็จะเกิดขึ้น ถ้ายังไม่มีวิชชา ตัณหามันจะออกได้อย่างไร เมื่อมีวิชชาเกิดขึ้นแล้ว กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหาก็ย่อมดับ และอุปาทานก็ไม่มี นี่แหละเป็นทาง อริยมรรค
    คนเรานั้นมักจะไหลไปในฝ่ายชั่วมากกว่าฝ่ายดี สิ่งที่เป็นความดีนั้น เขาพูดชักโยงให้ฟังตั้งหลายๆคำก็ยังไม่ค่อยเขยื้อน แต่ส่วนความชั่วเขาพูดเพียงคำสองคำเท่านั้น ก็วิ่งแล่นตามไปแล้ว เหตุนี้พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า มนุษย์นั้นโง่ ชอบกลืนกินแต่อารมณ์เลว ใช่แต่เท่านั้น เรื่องที่ไม่มีความจริงก็ยังกลืนเข้าไปอีก ของดีก็ไม่อยากจะสนใจคิด ส่วนของไม่ดีอุตส่าห์ไปกะแด่วๆเอาใจไปจดไปจำ เนื้อก็ไม่ได้กิน หนังก็ไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ
    ที่ว่า “เนื้อก็ไม่ได้กิน” นั่นคือ เรื่องไม่มีความจริงก็ไปเก็บมาคิด คิดแล้วก็ไม่มีความสุข คนที่อ้าปากขึ้นแล้วก็เอาข้าวหรือขนมป้อนเข้าไปนั้น ก็ยังจะทำให้อิ่มท้องได้ แต่คนที่ไปยืนอ้าปากปีนชะเง้อชะแหง่งเหนี่ยวแต่ลมกลืนเข้าไปในท้องนั่นสิ มันน่าขัน ท้องของตัวก็แห้งเปล่า ไม่ได้อะไรถ่วงกระเพาะสักนิด นี่ก็ได้แก่สัญญาต่างๆที่ไม่จริงไม่จัง เราก็พากันกะแด่วๆไปเที่ยวเก็บมาคิดมานึก คิดไปนึกไปปรุงไปต่างๆนานา แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะทำให้ฟุ้งซ่านวุ่นวาย ดวงจิตก็กระสับกระส่ายทุรนทุรายเดือดร้อน ไม่เป็นอันจะนั่งจะนอน อยู่กับที่ก็วิ่งไป เต้นไป จนหนังก้นไม่มีเวลาที่จะได้อยู่ติดกับพื้นกระดาน อย่างที่เขาว่า “หนังก็ไม่ได้รองนั่ง” นั่นแหละ จะนอนก็นอนไม่ลง จะนั่งก็นั่งไม่ติด ถึงตัวจะนั่งแต่ใจมันก็ไม่อยู่ เนื้อก็ไม่ได้กิน กระดูกก้างก็มาติดอยู่ที่คอ จะกลืนก็กลืนไม่ได้ จะคายก็คายไม่ออก
    ที่ว่า “กระดูกติดคอ” นั้น ก็คืออารมณ์ต่างๆที่ไม่ดีนั่นแหละ มันมาติดขวางบาดเจ็บอยู่ในใจ ก้างหรือกระดูกเหล่านี้ ก็คือพวกนิวรณ์ทั้งห้า ได้แก่
    ๑. กามฉันทะ ใจก็หลงไหลเพลิดเพลินไปในเรื่องที่ดีที่ชอบ
    ๒. พยาปาทะ เรื่องที่ไม่ดีก็เป็นก้างเป็นกระดูกมาเสียบแทงดวงใจ ใจก็ข้องอยู่ในความไม่ดี ข้องอยู่ในความไม่ชอบ กลายเป็นโกรธ เกลียด ปองร้าย บางทีก็ไปเก็บเอากระดูกที่เขาทิ้งไว้นมนานกาเลจนมันจืดชืดไม่มีรสเหมือน อย่างกระดูกเป็ดกระดูกไก่หรือกระดูกหมูที่เขาเอาไปต้มทำซุปนั้น น้ำหวานของมันเขาก็รินไปกินจนเกลี้ยง เนื้อก็เปื่อยจนหลุดออกไปหมด เหลือแต่กระดูกแข็งโกงโก้ ที่เขาจะโยนให้สุนัขกิน ได้แก่พวกสัญญาเก่าๆที่ล่วงเลยมานานตั้ง ๒๐ ปี ๓๐ ปีแล้ว นั่นแหละเราก็ยังอุตส่าห์ไปเก็บมาแทะ ดูเถิดดวงใจมันยากจนถึงขนาดนี้ จนถึงกับต้องไปเก็บเอากระดูกเก่ามาเล็มกิน นี่มันก็น่าทุเรศ
    ๓. ถีนมิทธะ เมื่อใจได้เสพแต่อาหารที่มีพิษมีโทษไม่เกิดประโยชน์แก่ร่างกายเช่นนี้ กำลังวังชามันก็น้อยลง จิตใจก็หดหู่ไม่เบิกบาน มีแต่ง่วงเหงาซบเซา ใครพูดจาว่ากระไรก็ไม่รู้เรื่อง ถามอะไรก็ไม่ได้ยิน ฟังอะไรก็ไม่เข้าใจ
    ๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจหงุดหงิดก็เกิดขึ้น ทำให้เคลิบเคลิ้มหลงลืม
    ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยก็ตามมา บางทีเรื่องดีก็ตัดสินว่าไม่ดี เรื่องไม่ดีตัดสินว่าดี เรื่องผิดตัดสินว่าถูก เรื่องถูกตัดสินว่าผิด บางทีสิ่งที่ตนทำไปถูกธรรมก็ไม่รู้ บางทีผิดธรรมแต่ถูกใจตนก็ไม่ทราบ กลืนไม่ได้คายไม่ออก คราวนี้ก็ลังเลไม่รู้ว่าจะไปทางใด ก็คิดวนไปเวียนมาเหมือนกับคนที่พายเรือในอ่างหรือทะเลสาบพายไปๆตั้งหลาย ชั่วโมง ก็คิดว่าตัวเองคงจะพายไปถึงไหนๆแล้ว ที่แท้ก็วนอยู่ในเกาะกลางทะเลสาบนั่นเอง
    อย่างนี้แหละจึงเรียกว่าเบียดเบียนตัว ฆ่าตัว ทับถมตัว และลงโทษตัวเอง และเมื่อทำกับตัวเองได้ทำไมจะทำกับคนอื่นไม่ได้ เหตุนี้จึงไม่ควรอิจฉาริษยาและพยาบาทซึ่งกันและกันเลย ถ้านิวรณ์ทั้งห้านี้เกิดขึ้นในจิตใจของใครแล้ว ความทุกข์ยากมันก็จะไหลพังประดังเข้ามาเหมือนกับห่าฝน คนนั้นก็จะไม่สามารถทนทุกข์อยู่ได้ นี่ก็เพราะ“อวิชชา”เป็นเหตุ จึงไม่มีธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงคนนั้นจะอยู่ตึกสูงตั้ง ๗ ชั้น ๙ ชั้น กินอาหารจานละ ๔๐ บาท เขาก็หาความสุขไม่ได้
    คนที่ไม่มีธรรมะ ก็เหมือนกับคนที่ไม่มีบ้านอยู่ ต้องไปนั่งตากแดด ตากฝน และตากลมอยู่กลางแจ้งทั้งกลางวันกลางคืน มันจะไปหายร้อนหายหนาวได้อย่างไร จะหาที่หลบกำบังอะไรก็ไม่มีสักอย่าง ตัวเองก็ต้องนั่งขดนั่งคู้จนหลังโกงหลังค่อม พอลมพายุพัดมาทีก็วิ่งไปเที่ยวหาที่พึ่ง จะหันเข้าไปต้นไม้ก็กลัวต้นไม้จะโค่นทับใส่ตัว ครั้นวิ่งออกไปกลางทุ่งก็กลัวฟ้าจะผ่า เวลากลางวันแดดก็ร้อน จะนั่งอยู่นานๆก็ทนไม่ไหว เหมือนยายแก่ที่ไม่สวมรองเท้าไปเดินกลางถนนคอนกรีตหรือลาดยางเวลาแดดร้อน จัดๆ จะเหยียบลงไปก็กลัวเท้าพอง ก็ยกขึ้นยกลงเต้นกระหยองกระแหยงอยู่กับที่นั่นเอง ไม่รู้จะก้าวเท้าไปวางลงตรงไหนได้ เหตุนี้แหละพระพุทธเจ้าจึงทรงสงสาร ท่านจึงสอนให้พวกเราพากันหาที่กันแดดกันฝนของตัวเองไว้ คือบำเพ็ญกุศลให้มี สมาธิ เป็นหลักของใจ และมีวิหารธรรมเกิดขึ้นในตน จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนกระวนกระวาย ทั้งคนอื่นจะพลอยเป็นสุขไปด้วยเรียกว่าเป็นผู้ที่มีที่พึ่ง
    คนที่ไม่มีที่พึ่งนั้น ย่อมขวนขวายแต่สิ่งที่ไม่มีสาระ คือ ไม่มีสิ่งป้องกันทุกข์ภัยอันจะเกิดขึ้นในคราวจำเป็น คนที่ไม่มีปัญญาไม่แสวงหาที่พึ่งย่อมลำบาก จึงจะยกข้ออุปมามาเทียบเคียงให้แลเห็นใกล้ๆว่า มีลิงฝูงหนึ่งต่างตัวต่างก็ไปหากินในราวป่าสูง และอุ้มลูกกอดหลานของตนไปด้วย อยู่มาวันหนึ่งเกิดลมพายุใหญ่พัดมาอย่างแรง พอลิงเหล่านั้นได้ยินเสียงลมก็พากันหักกิ่งไม้มาทำรัง หักมาพอกๆไว้ที่กิ่งไม้ใหญ่แล้วก็ลงมาส่องมองดูข้างล่าง ถ้าเห็นที่ไหนโปร่งทะลุก็ไปหากิ่งไม้มาพอกไว้อีกจนหนาทึบ เมื่อลมและฝนมาถึงเข้า ก็พากันขึ้นไปนั่งบนรังตากแดดตากลมอ้าปากหวอ ทั้งหนาวทั้งสั่น การกระทำของตนนั้นหาเป็นที่พึ่งของตนได้ไม่ เพราะอาศัยความโง่เขลา ในที่สุดรังของตนที่นั่งทับอยู่ก็ถูกพายุใหญ่หอบพัดไปหมด ตนเองต้องห้อยโหนโยนตัวไปตามลมตามแล้ง ลูกทั้งสองอันเป็นที่รักเกาะอยู่ข้างหน้าห้อยอยู่ข้างหลัง ก็หลุดร่วงพลัดพรากจากอกแห่งตนแล้วต่างตัวก็ต่างไป ได้รับความทุกข์เดือดร้อนตามๆกัน
    นี้ฉันใด บุคคลซึ่งไม่แสวงหาคุณธรรมเป็นที่พึ่งไว้แล้ว ก็เสมือนดั่งลิงเหล่านั้นเอง อุตส่าห์พยายามสะสมทรัพย์สินเงินทอง บ้านช่องตึกรามและบริษัทบริวารไว้ ว่าจะเป็นที่พึ่งอุ่นใจของตนเมื่อถึงคราวสำคัญเกิดขึ้นแก่ชีวิต ก็ไม่เห็นว่าเป็นที่พึ่งสรณะจริงได้อย่างใด เมื่อคราวที่ทุกข์ภัยมาถึงตัว ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเมตตาแก่ฝูงชนทั้งหลายในโลกที่หลงอยู่ ได้อุตส่าห์พยายามแนะนำพร่ำสอน เพื่อให้แสวงหาคุณธรรมอันเป็นสรณะแก่ตนต่อไป
    คนใดมีธรรมเป็นที่พึ่ง ชื่อว่าเป็นผู้มีเมตตาแก่ตนเอง และเมตตาคนอื่นด้วย เปรียบเหมือนเรามีบ้านของเราอยู่แล้ว เราก็ยังสร้างกระต๊อบให้คนอื่นเขาอยู่อีก เช่นเห็นกระต๊อบของเขามันจะพัง เราก็ไปหาจากหรือใบไม้มาช่วยมุงช่วยแซมให้ เพื่อกันแดดกันฝน หาฝามากั้นทางซ้ายทางขวาทางหน้าทางหลัง เพื่อกันไม่ให้ถูกพายุ ยกพื้นให้สูงเหนือน้ำกันน้ำท่วม เหล่านี้ก็ได้แก่การที่เราช่วยแนะนำสั่งสอนเพื่อให้เขาหลุดพ้นจากกิเลสบอก วิธีให้เขาทำตาม อย่างที่เราได้เคยทำมาแล้วบ้างนั้น เราบอกให้เขาทำสมาธิก็เท่ากับหาหลังคามาคลุมบ้านให้เขา เขาก็จะพ้นจากแดดจากฝนและมดแดงกัดหัว หาฝาด้านหน้าด้านหลัง ๒ ข้าง ก็ได้แก่สัญญาอดีตอนาคต เราก็ให้เขาปิดเสีย ฝาด้านซ้ายด้านขวาก็ได้แก่อารมณ์ที่ชอบไม่ชอบ เราก็ให้เขาปิดเสีย พื้นที่ยกขึ้นให้สูงก็เท่ากับใจที่ให้เขาตั้งมั่นเป็นสมาธิ ทำจิตวางเฉยอยู่ในองค์ภาวนา เมื่อใครมีบ้านที่หลังคาสูง พื้นก็หนา ฝาก็แน่นแล้ว ถึงคนนั้นจะไม่มีสมบัติอะไรภายนอกติดตัวเลย มีแต่ผ้าขี้ริ้วผืนเดียว คนนั้นก็สบาย กายก็เป็นสุข ใจก็สงบเย็น
    ถ้าบ้านมันจมอยู่ในโคลนในตมแล้ว จะไปได้สมบัติอะไร ก็จะต้องเล่นอยู่กับพวกปูพวกหอยกิ้งกือไส้เดือนเหล่านี้แหละ ฝามันก็โปร่งโล่ง มองแลจากซ้ายทะลุไปถึงขวา แลจากขวาก็มองทะลุข้างซ้าย คนเดินอยู่ไกลตั้ง ๔-๕ โยชน์ก็มองมาเห็นไส้เห็นพุงหมด โจรผู้ร้ายมันก็จะพากันขึ้นมาปล้น พวกโจรผู้ร้ายนี้ก็ได้แก่อารมณ์ที่ชั่วต่างๆ มันก็จะไหลเข้ามาย่ำยีดวงใจ หลังคามันก็ทะลุปรุโปร่ง แหงนหน้าขึ้นไปมองเห็นดาว มีแต่ขี้ผงขี้มอดและขี้ปลวกจะร่วงหล่นมาใส่หูใส่ตา ทั้งนกกามันก็จะบินมาขี้ใส่หัวอีก ทีนี้ตัวเองก็ต้องลงนั่งเกาศีรษะยิกๆเพราะความทุกข์ เพราะตนเองไม่มีที่อาศัย เมื่อเป็นดังนี้ก็ควรที่จะมีความสงสารสังเวชตัวเอง ทำความดีให้เกิดขึ้น หมั่นเจริญสมาธิภาวนาจนจิตแก่ขึ้นๆเป็นลำดับ ผู้นั้นจักเกิดปัญญาเป็นแสงสว่าง คือวิชชา สามารถขับไล่อวิชชาออกไปเสียได้ เมื่อไม่มีอวิชชาแล้วก็จะหมดจากตัณหาอุปาทาน ได้เข้าสู่พระนิพพานในที่สุด
    เหตุนั้นพวกเราทั้งหลายก็จงพากันหมั่นเจริญสมาธิ ตั้งหน้าบำเพ็ญแต่ความดี อย่าท้อถอย สิ่งใดที่เป็นความดีแล้ว ก็ให้โจงกระเบนเหน็บหลัง มือถือจอบข้างหนึ่งเสียมข้างหนึ่งหันหน้ากระโจนใส่ ขนาบมันเข้าไปเลย บุกเข้าไปจนหัวกุด ชนกำแพงตายคาที่ก็ช่างมัน ถ้าเรามีความกล้าหาญพากเพียรโดยถูกต้องอย่างนี้ กิจของเราก็จะต้องสำเร็จสมประสงค์เป็นแน่ แต่ถ้าเป็นความชั่วแล้ว มันจะเข้ามาขออาศัยนอนในบ้าน(คือใจ)ของเราสักคืนหนึ่ง ก็จงรีบขับไล่ให้ออกไปในทันที อย่าให้มันมานอนค้างอยู่ได้เลยแม้แต่คืนเดียว
    ในการสร้างความดี คือเจริญสมาธินี้ เราจะต้องมีอิทธิบาท ๔ เป็นเครื่องมือ เหมือนล้อพาหนะที่จะนำเราก้าวไปสู่จุดที่หมายได้โดยสะดวกฉะนั้น ล้อทั้งสี่นี้ ก็คือ
    ๑. ฉันทะ เราต้องรักงานของตนให้ยิ่งกว่าชีวิต เมตตาตัวเราเองให้มากกว่าใครๆ คือสิ่งใดที่เป็นความชั่วซึ่งจะมาเบียดเบียนตัวเราแล้ว จงอย่าได้ทำเลยเป็นอันขาด สิ่งใดที่เป็นคุณงามความดี ให้มีใจรักใคร่ยินดีและพอใจในสิ่งนั้นๆ
    ๒. วิริยะ ความบากบั่น ให้เรามีความพากเพียรกล้าหาญทั้งกลางวันกลางคืน ทำจิตของตนให้ผ่อง แผ้ว และมีสติสัมปชัญญะตื่นอยู่เสมอ ที่เรียกว่า “ชาคริยานุโยค”
    ๓. จิตตะ ใจตั้งมั่น เพ่งเล็งจดจ้อง มองไปในจุดที่ถูกที่ดี บุกรุกไปข้างหน้าเรื่อยไป ให้ก้าวหน้า ทำสัมมาปฏิบัติให้เต็มที่ จดจ่ออยู่ในสิ่งนั้นสิ่งเดียว อย่าจับปลาสองมือ คนจับปลาสองมือนั้นเป็นลักษณะของ คนโลภมากลาภหาย อยากกินหลายก็เลยได้กินน้อย คนผู้อยากกินเท่าปลายนิ้วก้อย กลับได้กินเท่าหัวแม่มือ คนที่จับปลาสองมือ คือมือซ้ายก็กำไว้ตัวหนึ่ง มือขวาก็กำไว้อีกตัวหนึ่ง พอไปพบปลาตัวอื่นๆเข้าหลายๆตัว ก็เลยไม่มีมือที่จะไปจับได้อีก กลับไปถึงบ้านก็จะได้แต่ปลาเพียง ๒ ตัวเท่านั้น นี่ก็เพราะตัวเองเป็นคนโลภเกินไป ใครว่าดีก็ไปตามเขา จับเอาความดี ใครว่าชั่วก็ไปตามเขา จับเอาความชั่ว หัวใจไม่เที่ยงตรง ทำอะไรโลเลย่อมขาดจากธรรมข้อนี้ ของดีซึ่งตนควรจะได้อีกมากมาย ดีกว่านั้นก็เลยไม่ได้ไปเลย
    ๔. วิมังสา ต้องตรวจตรองใคร่ครวญดูในเหตุผลที่ตนกระทำนั้นด้วย ถ้าสิ่งใดที่เราทำไปนั้น เหตุมันเป็นทุกข์แต่ผลมันดีก็จงทำไป ถ้าเหตุมันดีซึ่งเป็นที่ชอบใจของตนแต่ผิดธรรม ย่อมให้ผลเป็นทุกข์ก็ผิด จงอย่าทำเป็นอันขาด
    ความสำเร็จทั้งหลายทุกอย่างในทางโลกและทางธรรมต้องมีอิทธิบาทธรรม ๔ ประการนี้ประจำใจจึงย่อมจักอำนวยผลให้บุคคลนั้นเป็นไปได้ ๒ อย่างคือ ๑. อิทธิฤทธิ์ อำนาจเกิดขึ้นในทางจิตใจของตนเอง ความสำเร็จย่อมรู้ได้ในทางจิตของตน สามารถที่จะบังคับในเหตุการณ์ต่างๆอันไม่เป็นธรรม และกำจัดให้สิ้นสูญไปได้โดยอำนาจแห่งจิตนี้อย่างหนึ่ง ๒. บุญฤทธิ์ ความดีซึ่งได้บังเกิดขึ้นแล้วในตน ผลความดีนั้นแล ย่อมอำนวยให้สะดวกสบายและสำเร็จในกิจธุระหน้าที่โดยง่ายดาย
    คนที่ชอบไปเก็บเอาสัญญาอารมณ์ต่างๆ มายึดถือไว้นั้น ย่อมไม่ผิดอะไรกับนักโทษ ที่ถูกเขาพันธนาการ ยึดในสัญญาอดีตก็เท่ากับเอาเชือกผูกบั้นเอวของตนติดไว้กับเสาข้างหลัง ยึดในสัญญาอนาคตก็เท่ากับเอาเชือกผูกคอไว้กับประตูข้างหน้า ยึดสัญญาความชอบก็เท่ากับเอาเชือกผูกข้อมือไว้กับเสาด้านขวา ยึดสัญญาความไม่ชอบก็เท่ากับเอาเชือกผูกข้อมือไว้กับฝาด้านซ้าย ตัวเองจะก้าวไปข้างหน้าก็ถูกเชือกเหนี่ยวไว้ที่เอวข้างหลัง จะถอยมาข้างหลังก็ติดเชือกที่คอเหนี่ยวไว้ข้างหน้า จะหลีกมาทางซ้ายก็ถูกเชือกเหนี่ยวไว้ที่ข้อมือข้างขวา จะหลบไปทางขวาก็ถูกเชือกเหนี่ยวไว้ที่ข้อมือข้างซ้าย ก็ชักคะเย่อกันไปมา ยันหน้ายันหลังอยู่อย่างนี้ แล้วผู้นั้นจะก้าวไปทางไหนได้
    ส่วนผู้ที่ปลดปล่อยสัญญาทั้งหลายออกเสียได้ ก็เท่ากับคนที่เป็นอิสระยืนตัวตรงแน่ว แบบทหารหรือนักรบ มือซ้ายก็กำศาสตรา มือขวาก็กำอาวุธ ข้าศึกจะเข้ามาประชิดทางด้านไหนก็ไม่ต้องกลัว ศัตรูมองเห็นก็ไม่กล้าเข้าใกล้ ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ชนะวันยังค่ำ ถ้าหากเราเป็นผู้ที่มีเชือกรุงรังผูกมัดอยู่รอบตัวแล้ว ใครมองเห็นเข้าก็ไม่กลัว เพราะไม่มีท่าอะไรที่จะไปสู้รบกับเขาได้เลย ข้าศึกมาก็ได้แต่กระโดดโหยงเหยงๆอยู่ที่เดียว นี้แหละจึงให้พากันสำเหนียกตัวของเราเอง และพยายามปลดปล่อยสัญญาอารมณ์ภายนอกทั้งหลายเสีย อย่าให้มาติดข้องอยู่ในดวงใจ สมาธิของเราก็จะเป็นผลดี ดวงจิตก้าวขึ้นสู่กระแสธรรมถึงโลกุตระ เราก็จะมีชัยชนะในวันหนึ่ง

    <table border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="500"> <tbody><tr> <td align="center">*********</td> </tr> </tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...