ธรรมเป็นของลำบากมาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ไม้ขีด, 29 เมษายน 2013.

  1. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ธรรมเป็นของลำบากมาก
    หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
    โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 008739 - โดย คุณ : mayrin [ 6 พ.ค. 2546 ]

    เนื้อความ :

    ธรรมฝ่ายไม่เกิด ไม่ดับทรงมีอิสระเต็มภูมิ ไม่ขึ้นอยู่กับธรรมฝ่ายสังขารเลย ทรงอริยะสัจจะธรรมจริงอยู่ ตามธรรมชาติ มีท่านผู้รู้ตามเป็นจริง หรือไม่ก็ตามทีเถิด

    ธรรมฝ่ายไม่เกิด ไม่ดับก็มิได้ทรงอาการขึ้น ๆ ลง ๆ เลย ทรงธรรมไม่ตาย ไม่แปร ไม่ดับอยู่ตามธรรมชาติแต่ไหน ๆ อนัตตาธรรมส่วนนี้ ทรงอนัตตาธรรมลึกซึ้งมากแท้ ๆ

    ถึงจะลึกซึ้งสักเพียงใดก็ไม่เหลือวิสัยของท่านผู้รู้ไปได้ เพราะพระสติพระปัญญาเต็มภูมิ เหนืออวิชชาตัวโง่ ๆ แล้วตัวหลง ๆ ก็ว่าจอมพลกิเลสก็ว่าได้ใช้ไม่ผิดอีกละมารกิเลสก็ว่าได้ใช้ไม่ผิด ว่าวันยังค่ำก็ไม่ผิดวันยังค่ำ แล้วมารกิเลสจอมอวิชชา ๔ จะรวมพลมาจากประตูใดก็ไม่ได้ธรรมฝ่ายเกิด ฝ่ายดับทรงสังขารโลก และกองทุกข์นั้นเล่า นี้เล่า ก็เกิดก็ดับตามอิสระอยู่หาได้ประหม่า และระอาใครไม่สืบโลกสืบสังขารอยู่อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างนั้นมันไกล

    อย่างนี้คือผู้เขียนคือไตรสังขาร กาย วาจา ใจ นี้ อนัตตาฝ่ายสังขาร มารวมพลกันอยู่อนัตตาใจแล้วไม่ต้องสงสัยให้เสียเวลาเลย (มโนอนัตตาธัมมาอนัตตา) ใจมิใช่ตัวตน ธัมมิใช่ตัวตนมีอยู่ทุก ๆ สูตรในทางตรงและทางอ้อม แต่จะอ้อมสักเพียงใดก็ไม่พ้นมารวมพลที่ตรง ๆ นี้คือใจ ๆ ฯ ในอนัตตลักขณสูตรใช้วิญญาณแทนใจ แปลมาเท่าใดก็ต้องสมมติว่าใจ ฯ อนัตตปริยายสูตรนั้นก็โดยนัย

    และก็มีคำถามสอดเข้ามาว่า อนุปาทิเสสนิพพานเล่า มีใจอยู่หรือไม่ มีผู้รู้อยู่หรือไม่ ? หลับตาตอบแบบบ้า ๆ บอ ๆ โง่ ๆ เง่า ๆ เต่า ๆ ตุ่น ๆ ว่า ฯ อนุปาทิเสสนิพพานมิใช่ใจ มิใช่ผู้รู้ เหนือใจ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย

    ถ้าหมายอยู่ก็พอเหมือน ๆ หมุน ๆ หมัน ๆ ฯ และก็อยากถามว่าใจก็ดีผู้รู้ก็ดี เกิดดับเป็นไหม ? หลับตาตอบอย่างพอใจว่า เกิดดับเป็น จัดเข้าในนามธรรมได้ จัดเข้าในสังขารได้อีกเหตุนี้จึงยืนในที่ต่างว่า "เป็นแต่สักว่ารู้เป็นแต่สักว่าเห็น" เพราะทำลายอัตตวาหุปาทานไปในตัวแล้ว ไตรสิกขาก็รวมพลกันมาในตัวแล้ว

    เพราะธรรมแท้ก็ไม่มีมาก ที่มีมาก็เพื่อขยายออกให้สมภูมิ แม้ทางย่นลงมาหาอนัตตาธัมอนัตตาใจก็สมภูมิเหมือนกัน หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ไม่ได้ แต่ก็จัดเป็นกายสังขารอันเดียวกันเกิดดับแบบเดียวกันนี้เองหละ สังขารธรรมก็ทรงสังขารธรรม พระนิพพานธรรมก็พระนิพพานธรรม ไม่ได้แข่งดี แข่งชั่วกัน เป็นหน้าที่พระสติพระปัญญา จะรู้เพื่อไม่เลี้ยงความหลงไว้
    ถ้าพระสติพระปัญญาแข็งแกร่งเหนือความหลงแล้ว ความหลงก็ตั้งอยู่ไม่ได้ อวิชชาก็คือกองพลความหลงนั้นเอง แต่เป็นภาษาบาลี แปลเป็นไทยก็คือตัวหลง ตัวโง่ ๆ นั้นเองนี้หละ ไม่ต้องสงสัยเลยให้เนิ่นช้าก็ได้
    ธรรมะของพระพุทธศาสนาจะโยงถึงกันให้หมดก็ได้ ต้องขึ้นอยู่กับพระสติพระปัญญาของแต่ละบุคคลเป็นเกณฑ์ ที่แก่กล้ามาเป็นพลังพละที่เรียกว่า ธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง อันมีในธรรมหมวด ๕ และหมวดน้อยหมวดมาก ก็ตามก็ออกมาจากหมวดใจ

    ถ้ารู้เท่าใจโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็รู้เท่าธรรมโดยสิ้นเชิงทั้งนั้น ถ้าไม่มีอุปทานยึดว่าใจเป็นตัวตนเราเขาสัตว์บุคคล ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นเราเขาสัตว์บุคคลไปในตัว ก็จบปัญหากันไปเท่านั้นที่ไม่จบปัญหา ก็เพราะรู้ตามสัญญาความจำได้หมายรู้ เคยหูก็หัดปากว่าไปเหมือนแก้วเจ้าขากินข้าวกับกล้วย กล้วยที่คาปากอยู่ก็ไม่รู้จักชัด แต่สมมติก็จริงตามสมมติ วิมุติก็จริงตามวิมุติ

    จะเอาของตื้นและของลึก มาเป็นสงครามกันก็ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นจริงคนละชั้น ธรรมละชั้นไปซะ แต่...สมมุติและวิมุติเป็นของกลางไม่มีใครเป็นเจ้าของก็ตกลง ทรงอนัตตาธรรมตามเป็นจริงของธรรม ไม่เป็นหน้าที่จะไปยึดถือว่าเราเขาขาอะไรเรื่องของใจเป็นเรื่องลำบาก ถ้าไม่มีใจ ปัญหาก็ไม่มี ถ้ายึดถือว่าใจเป็นตัวตนเราเขาเอาจริง ๆ จัง ๆ แล้ว ความหลงคือกิเลส ก็ผยองตัวเหนียวแน่น ไม่ยอมวางให้ว่างจากสัตว์ จากบุคคล เพราะเหตุใด ?

    เพราะพระสติพระปัญญา เขาทรงพระอำนาจอ่อนกว่าความหลง คือ อวิชชา จึงเป็นเหตุให้ชนะความหลงไม่ได้ ถ้าหากว่าพระสติ พระปัญญา เหนืออวิชชาความโง่ ๆ หลง ๆ ไปแล้ว อวิชชาจอมพลหลงก็ตั้งอยู่ไม่ได้
    แต่อย่างไรก็อยู่ในเกณฑ์จะชนะได้แท้ ๆ เพราะความสำเร็จอยู่กับความพยายาม เหตุนั้นพระนิพพานจึงไม่เป็นโมฆะ ผู้เชื่อว่าพระนิพพานมีเป็นโลกุตตะระศรัทธา เหนือความเชื่อของผู้อยู่ในขั้นโลกีย์วิสัยไปแล้วตาปัญญากระจ่างเห็นหนทาง ทางใจได้ไม่สุ่มเดาด้นคาดคะเนใด ๆ เลย
    ปรารภธรรมกับปรารภใจก็อันเดียวกัน ปรารภใจกับปรารภธรรมก็อันเดียวกัน รู้ธรรมกับรู้ใจ รู้ใจกับรู้ธรรม ก็อันเดียวกัน ปฏิบัติใจปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมปฏิบัติใจก็อันเดียวกัน

    เคารพธรรมเคารพใจ เคารพใจเคารพธรรม ก็อันเดียวกัน รู้เท่าใจโดยสิ้นเชิง รู้เท่าธรรมจนสิ้นเชิงก็อันเดียวกันอดีตก็คือใจ และธรรมที่ล่วงไปแล้ว อนาคตก็คือใจ และธรรมที่ยังไม่มาถึง ปัจจุบันก็คือใจ และธรรมที่กำลังเป็นอยู่ทรงอยู่ ฯ แต่...แต่... พระนิพพานมิได้เป็นเมืองขึ้น ของอดีตปัจจุบัน และอนาคตใด ๆ เลย ฯที่เน้นลงในปัจจุบันให้เอาเป็นตัวปฏิบัตินั้น เพราะเหตุให้รู้จักรวมศีลสมาธิปัญญา เป็นสามัคคีกลมกลืนกันลงในปัจจุบันเพ่งพินิจติดต่ออยู่ รวมพลตั้งมั่น และกันความส่งส่ายหา

    เพราะจะสงสัยว่าศีลสมาธิปัญญา แตกแยกกันไปคนละเป้า ถ้าเข้าใจว่า ศีลสมาธิปัญญาแตกแยกกันไปอยู่คนละเป้าแล้วก็ปฏิบัติลำบากมาก ไม่เป็นอัญญะมัญญะปัจใจแล้วก็จะไปสงสัยว่าเหตุและผลไปอยู่คนละเป้าอีก (เป้าอะไรก็เป้าใจนี้เอง) โอปันะยิโก ก็คือ โอปันนะยิใจนี้เอง เพราะเอาใจในปัจจุบันเป็นศีลสมาธิปัญญา เดินเข้าสู่พระนิพพาน เหตุนั้นจึงมิได้บัญญัติ พระนิพพานว่าเป็นใจจึงบัญญัติว่า รูป จิต เจตสิก นิพพาน ดังนี้ จิตต้องเคารพพระนิพพาน ไม่เป็นที่พระนิพพานจะมาเคารพจิต (จิตเป็นทางเดินเข้าสู่นิพพาน) ถ้าเดินไปทางผิดก็ไปสู่นะรก และนะรกก็มีหนักเบาหลายชั้นตามเหตุผลของทางชั่วเหตุผลทางดีก็มีหลายชั้น สวรรค์ ๖ ชั้น ชั้นพรหม ๑๖ ชั้น และอรูปพรหม ๔ ชั้นอีก สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเข้าใจทั้งนั้นซินะ พระพุทธศาสนาละเอียดละออมากไม่มีประมาณได้ ไม่เป็นหน้าที่ของลัทธิอื่นจะมาแข่งดีแข่งเด่นเลย เหลือวิสัย ขืนมาแข่งดีแข่งเด่นแล้ว ผลของกรรมเล่าจะว่ายังไงจะมีคอรับชั่นกับใคร ๆ ก็มีในโลก และนอกโลก
    เหตุนี้ผู้เขียนอยู่เดี๋ยวนี้จึงยอมตัวยอมใจเคารพนับถือพระพุทธศาสนา แบบไม่มีประมาณได้ แผ่นดินหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ในทางลึก แต่เคารพรักพระพุทธศาสนาลึกลงไปกว่านั้นอีกไม่มีประมาณ

    หมดไตรโลกธาตุหรือหมดไตรจักรวาลไม่มีท่านผู้ใดเคารพเคารพรักปฏิบัติก็ตาม จะเคารพรักปฏิบัติแต่คนเดียว ตามสติกำลังของเจ้าตัว แม้จะตายแล้วเกิดตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย แล้วตายมากกว่าอสงไขย อสงไขยกัปก็ตาม
    ก็จะไม่ยอมลดละความเลื่อมใสเคารพรักนับถือปฏิบัติพระพุทธศาสนา ตามสติกำลังของตนของตนอยู่ตราบนั้นทีเดียว อนิจจาเอ๋ย นิจจาเอ๋ยเที่ยงตรงเป็นมหาสัจจะ เป็นมหาอธิษฐานด้วยความยอมเป็นยอมตายแบบนี้แล้ว บางทีผ่อนหนักให้เป็นเบามาทำให้บันดาลให้พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงในชาตินี้ก็อาจเป็นได้ ฯ คล้าย ๆ กับพวกเดียรถีร์ยอมตัวกับพระบรมศาสดาว่า จะให้เกล้าอยู่ติดถิยวาส ๔ เดือนจึงจะบวชให้นั้นยังเป็นของน้อย

    จะบวชให้นั้นยังเป็นของน้อย ให้เกล้าอยู่ ๔ ปีจึงจะบวชให้เกล้าอยู่ก็พอใจอยู่ ดังนี้ พระบรมศาสดาทรงพระเมตตาว่า เอ้าถ้าใจถึงขนาดนั้นก็บวชเดี๋ยวนี้ก็ได้ดังนี้

    นี้เราผู้เขียนอยู่เดี๋ยวจะยอมเป็นยอมตายต่อพระพุทธศาสนามากกว่าอสงไขยอสงไขยกัปป์แล้วก็จะเคารพรักปฏิบัติอยู่อย่างนี้ พระอริยะสัจธรรม และพระอริยะอธิษฐานธรรม ก็จะเมตตาโปรดปราณให้พ้นจากกิเลส โดยสิ้นเชิงในชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายก็อาจเป็นได้ เพราะเจตนายอมเป็นยอมตาเหนือความหลง ๆ ไหล ๆ ไปแล้ว
     
  2. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    และเราอยากจะปรารภไม่ให้ถูกปริยัติได้ไหมล่ะ ตอบไม่ให้ถูกปริยัติไม่ได้ เพราะบัญญัติไว้หมดแล้ว เพราะใจเป็นต้นบัญญัติสิ่งทั้งปวงแล้ว พระสูตรก็สูตรของกาย วาจาใจ
    พระปริยัติก็ยัดเข้ากายวาจาใจ ว่าเป็นสอง ก็กายกับใจ ว่าเป็นหนึ่งก็คือใจ ว่าเป็น ๖ ก็ ตา หู จมูก ลิ้น กาย วาจา ใจ ว่าไปไหนก็สมมติบัญญัติอันเก่า นั้นเองคุณพ่อเอ๋ย ไม่ว่าใจก็เป็นผู้ไม่ว่า กิเลสมิได้ตั้งอยู่ ที่ว่า และไม่ว่า ตั้งอยู่ที่ผู้ไปหลงยึดถือ เอาอันว่าไม่ว่านั้นเอง
    ส่วนสำคัญว่าตนว่าหรือไม่ว่า นั้นก็ต้องมีพระปัญญาเป็นนายหน้าอีก เรื่องทั้งหลายมันเป็นเรื่องของสังขารและกองทุกข์ทั้งนั้น เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ ตามฝ่ายทุกขะสัจ จิตเกิดดับทำอะไรก็เกิดดับทั้งนั้น ถ้ารู้ชัดว่าเราไม่มีแล้วจะฝืนไปยืนยันเอาที่ใด...
    --------------------------------------------------------------
    พระไตรปิฎกตำรา

    พระไตรปิฎกจริง ก็คือหนังหุ้มอยู่โดยรอบของผู้เขียนและผู้อ่านและผู้ฟัง ผู้จะปฏิบ้ติก็คือใจ เป็นหัวหน้าอันมีสติปัญญาควบคุมไปในทางที่ชอบ เพื่อต่อสู้กับราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาลงและเหือดแห้งหายไป
    สิ่งใดที่ส่งเสริมต่อเติมให้ราคะ โทสะ โมหะบวกใจเพิ่มเข้า สิ่งนั้นมิใช่คำสอนพระพุทธศาสนา สิ่งใดทำให้ราคะโทสะโมหะให้เบาลงได้เป็นตอน ๆ ไป จนถึงเหือดแห้งหายไป ช้าก็ดีเร็วก็ดี ก็เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหลาย
    มีความหมายเป็นเกณฑ์อย่างนี้ แม้จะเรียนจบฟังจบพระไตรปิฎกก็ตาม เมื่อกิเลสไม่เบาบางลงบ้างเลย ก็เรียกว่าไม่คุ้มค่า แต่ก็ยังดีเพราะเป็นนิสสัยไปทางดี เป็นสุตตะพระหูสูตร ยังเป็นมงคลอุดมอยู่บ้างในชั้นนี้เพราะมีทุนในทางจำได้ ฯ
    ---------------------------------------------------
    คัดลอกบางส่วนจาก: ธรรมเป็นของลำบากมาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต_/|\_ _/|\_ _/|\_ ด้วยจิตกราบบูชา
    จากคุณ : mayrin [ 6 พ.ค. 2546 ]
    ความคิดเห็นที่ 8 : (Tammy)
    "เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาทุกข์ พ้นจากสิ่งเหล่านี้ แล้วเป็นธรรมดาสุข
    ใจใดเห็นภัยในสังสารวัฎ อย่างเต็มที่ ใจนั้นก็ดับตัณหาและสมุทัยไปในตัว ขณะเดียวกันสติปัญญาก็พลันทันกันเป็นกองทัพธรรม พระปัญญาเป็นหัวหน้านำ ไม่ใช่สมาธิหัวตอ"

    ประวัติของหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

    วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
    ชีวประวัติ ของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นชีวิตแห่งสมณะผู้ละวางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มุ่งสู่ ความหลุดพ้นอย่างจริงจังมั่นคง ท่านเกิดเมื่อ วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2454 ที่บ้านกุดสระ อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อนายคูน เสวตร์วงศ์ มารดาชื่อ นางแพง เสวตร์วงศ์ เป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง 8 คน อาชีพของครอบครัว คือ ทำนา ท่านศึกษาในโรงเรียนชั้นประถม ปีที่ 2 ก็ต้องออกมา ในวัยเยาว์ท่านได้มีโอกาสรับใช้พระธุดงค์ที่จาริกมา ในละแวกบ้านซึ่งมีส่วนช่วย หล่อหลอมจิตใจให้ใฝ่ในทางธรรม
    อายุ 18 บวชเป็นเณร เมื่ออายุครบเกณฑ์ก็ได้บวชเป็นพระตามประเพณี จากนั้นก็ลาสิกขา มาครองเรือนได้ประสพความเป็นอนิจจัง ทุกขัง แห่งสังขาร และการพลัดพราก ครั้นปี พ.ศ.2486 บวชเป็นพระมหานิกายที่วัดบ้านยางมีพระครูคูณเป็นอุปัชฌาย์ พรรษาแรกก็สอบนักธรรมโทได้ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2488 ท่านได้ญัตติเข้าในคณะธรรมยุต ที่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ครั้งเป็นพระเทพกวีเป็นอุปัชฌาย์ และให้ท่านไปพำนักฝึกการปฏิบัติกับหลวงปู่บุญมี ชลิตโต ที่วัดโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เคยอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปพำนักครั้งที่ท่านกลับจากเชียงใหม่ และหลวงปู่บุญมี เคยได้รับการศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์มั่น และดำเนินปฏิปทาตามพระบุพพาจารย์

    ถวายตัวต่อ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

    ออกพรรษาปี พ.ศ.2488 แล้ว ได้กราบลาหลวงปู่บุญมี วัดโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม เพื่อไปนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งมาพำนักที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน
    อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พระหล้า เขมปัตโต ออกเดินทางด้วยเท้าค่ำไหนก็ปักกรดจำวัดได้แวะ พักบำเพ็ญความเพียรที่ถ้ำพระเวสก์อยู่ระยะหนึ่งจากนั้นก็ออกเดินทาง จุดหมายก็คือวัดป่าบ้านหนองผือนาใน ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในกิตติศัพท์แห่งปฏิปทาบารมีธรรมของพระเดช พระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทำให้พระหล้า เขมปัตโต อุสาหะ วิริยะ ดันด้นมาจนถึงสำนักป่าแห่งนี้ ความสงบร่มรื่นเป็นสัปปายะสถานแห่งผู้บำเพ็ญ สมณะกรรม โอกาสทองแห่งชีวิตก็มาถึงพระหล้า เขมปัตโต มีโอกาสเข้าไปกราบแทบเท้าท่านพระอาจารย์ใหญ่ สัจจะวาจาแห่งผู้กล้าเอ่ย " ขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์ผูกขาดทุกลมปราณ " ท่ามกลาง คณะสงฆ์คณะศิษย์ที่อยู่ร่วมสำนัก อาทิ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน , พระอาจารย์วัน อุตตโม พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโน หลวงปู่มั่น ท่านเมตตาปฏิสันฐานบอกให้พระเณรนำบริขารไปที่กุฏิว่าง เมื่อล่วงถึง 5 วัน ก็เข้าไปกราบเท้าขอนิสัยกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต องค์ท่านก็ได้กรุณารับ การพำนักที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน พระหล้า เขมปัตโต ได้รับเมตตาจากท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ให้คำแนะนำสั่งสอน ให้อุบายธรรมอันเป็นสิ่งที่ท่านจดจำสำนึกตลอดมา ในพรรษาปี พ.ศ.2489 ท่านได้จำพรรษาเฝ้าฝึกศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นและถวาย การปฏิบัติครูอาจารย์ด้วยความเคารพ ณ วัดป่าบ้านหนองผือนาใน ซึ่งเป็นขุมคลังแห่งพุทธิปัญญา วิปัสสนากรรมฐานแห่งยุคสมัย และยังได้รับเมตตาธรรมจากพระเถราจารย์ ตลอดจนสหธรรมมิกร่วมสำนัก

    ออกวิเวกกับพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน

    หลังออกพรรษา ปี พ.ศ.2489 ได้ติดตามท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ออกวิเวกไปตามป่าเขา ต่อมาได้มีโอกาสพบท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ถ้ำบ้านไผ่ และท่านก็เมตตาช่วยเหลืออนุโมทนา ในกิจธุดงค์ด้วยดี เมื่อได้เวลาอันควรพระอาจารย์หล้า เขมปัตโต ก็เดินทางกลับมากราบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน และมีโอกาส ถวายการปฏิบัติรับใช้พ่อแม่ครูอาจารย์ ด้วยความเคารพศรัทธา
    กระทั่งปี พ.ศ. 2492 ได้บังเกิดเหตุที่นำความเศร้าสลดมาสู่พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต อย่างใหญ่หลวงคือพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เปรียบประดุจร่ม
    โพธิ์แก้วของท่าน ได้ละสังขาร จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ คงเหลือไว้ซึ่งคุณูปการเอนกอนันต์แห่งธรรมและข้อวัตรปฏิบัติอันยอดเยี่ยม
    พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต ได้รับเป็นภาระธุระในกิจน้อยใหญ่ โดยไม่เกี่ยงเพื่อบำเพ็ญกุศลถวายท่าน พระอาจารย์ใหญ่ ที่ตนมอบกายถวายชีวิตด้วยเศียรเกล้า
    เมื่อถวายเพลิงสรีระหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตแล้ว ท่านจึงติดตามหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ออกวิเวก และมีโอกาส ติดตามหลวงปู่เทสก์ลงไปทางใต้แถบจังหวัด ภูเก็ต-พังงา และจำพรรษาที่ 6 ที่ โคกกลอย พระอาจารย์หล้า ธุดงค์ไปในเกาะภูเก็ต พังงา และจังหวัดตรัง ช่วงระยะหนึ่งจึงกลับมา กรุงเทพฯ พักที่วัดบรมนิวาส 5-6 วันแล้วกลับไปอีสาน จุดหมายคือ วัดบ้านห้วยทราย (หรือวัดวิเวกวัฒนาราม) อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านพำนักอยู่ที่นี่ พระอาจารย์หล้า ได้พำนักร่วมกับ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน 3 พรรษา

    สู่ภูจ้อก้อ

    ปลายปี พ.ศ.2500 ชาวบ้านบ้านแวงหนองสูงใต้ มากราบนิมนต์ ท่านไปพำนักที่ภูจ้อก้อ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต จึงได้มาพำนักที่ ภูจ้อก้อ หรือวัดบรรพตคีรี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) บ้านแวง ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ตั้งอยู่บนภูเขา ทิวทัศน์งดงามร่มรื่นมีก้อนหินน้อยใหญ่เรียงรายงดงามศาสนสถานแห่งนี้ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ท่านเป็นผู้นำศรัทธา ในการสร้างเพื่อถวายไว้เป็น ศาสนสมบัติ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐานที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ธรรมเทศนาของท่าน เป็นธรรมะพระป่าที่เข้มข้นตรงไปตรงมา

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ในปัจฉิมวัย ท่านอาพาธด้วยโรคาพยาธิ และในที่สุด ท่านมรณภาพ ด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ก่อนมรณภาพ ท่านขอให้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล เพียง 3 วัน จากนั้นให้ฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย ชีวิตสมณะของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นชีวิตพระป่า พระธุดงคกรรมฐานที่องอาจ กล้าหาญเด็ดเดี่ยว แต่นอบน้อมต่อครูอาจารย์ผู้มีพระคุณเป็นที่สุด
    นะโม เม สัพพพุทธานัง นะโม เม สัพพสัจจธัมมานัง นะโม เม สัพพสังฆานัง
     
  3. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมทั้งพระอริยสัจธรรมและพระอริยสงฆ์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ระลึกได้ไม่ระลึกได้ก็ดีขอผูกขาดจองขาดเคารพน้อมนอบ อยู่ในกาลทุกเมื่อ เอาเป็นที่พึ่งที่ระลึก ที่ปฏิบัติบูชาเพื่อดับทุกข์ทั้งปวง โดยไม่เหลือในปัจจุบันชาติ นี้เทอญ
    แหล่งข้อมูล http://www.script.co.th/buddhist/buddhist.html

    ฝากไว้ให้ลูกหลาน

    - วัดก็ต้องเป็นวัด อย่าไปจัดเป็นสนามเลข มาผูกเอาเลข ก็ไม่ผิดกับมาเขกหัวพระ กับเอาขี้มาทาสำนัก ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เหยียบย่ำทำลายพระศาสนา และดูหมิ่น ปฏิปทาของสำนัก ก็มีความหมายอันเดียวกันนั่นแล
    - การเอาอบายมุขมาคลุกเคล้ามอมเมาในพระพุทธศาสนา กับการสร้างมหาอเวจีมหานรก ก็มีความหมายอันเดียวกัน
    - อบายมุขทุกประเภทกับโลกาวินาศก็มีความหมายอันเดียวกัน อบายมุขทุกประเภทกับมนุษย์วิบัติ สวรรค์วิบัติ พรหมวิบัติ นิพพานวิบัติ ก็มีความหมายอันเดียวกัน
    - ส่งเสริมอบายมุขกับส่งเสริมให้คนปีนเกลียวออกนอกพระพุทธศาสนาก็มีความหมายอันเดียวกัน
    - ผู้ไม่เห็นโทษในอบายมุข จะเป็นผู้ถึงไตรสรณคมน์แท้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฟ้าขาวดาวสว่างไม่มีเมฆหมอก แต่มองไม่เห็นดาวจะเห็นพระจันทร์พระอาทิตย์ได้อย่างไร ผู้ไม่ถึงไตรสรณคมน์ก็อย่างนั้น อนิจจาเอ๋ย
    - บางท่านอ่านแล้วนึกโกรธ จงเอาโกรธแบกไปขายให้พระนิพพานในโลกนี้ มันเต็มแล้วขายไม่ออก
    - พระนิพพานดับจากสิ่งเหล่านี้ไปแล้วไม่ควรเอามากล่าวตู่เลย
    - หลวงพ่อ หลวงตา หรือหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต มุ่งดีอย่าได้มีเวรภัยเทอญฯ

    ....คัดจากหนังสือหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ

    ... http://www.geocities.com/pralaah/sendoff.htm
    จากคุณ : Tammy [ 6 พ.ค. 2546 ]
    ความคิดเห็นที่ 20 : (ห้วยหมากแข้ง)
    อนุโมทนาด้วยค่ะ คุณเมริน รำลึกนึกย้อนไปเมื่อมีโอกาสกราบหลวงปู่เมื่อหลายปีล่วงผ่าน หลายครั้งหลายครา ครั้งแรก เดินทางทางลัด จากวัดดอยธรรมเจดีย์ ผ่านหมู่บ้านทางธุรกันดารหนทางไกลอยู่ เมื่อเห็น ภูจ้อก้อ อันโอฬาร นิสัยเดิมอันแก้ไม่หาย นึกเพ่งโทษว่า ทำไมต้องสร้างใหญ่โต ดังนี้ เมื่อจิตเป็นอกุศล จึงทำให้ครั้งแรกนั้น ฟังเทศน์ท่านไม่รู้เรื่อง ได้หนังสือท่านมาก็ไม่อ่าน ครั้งที่สองได้กราบท่านก็ยังไม่สนใจ ได้แต่นึกว่า พระองค์นี้ดูมีบารมีมากมาย เหมือนเกจิอาจารย์องค์หนึ่ง แต่เมื่อถึงบ้าน วันหนึ่ง หยิบหนังสือของท่านที่ได้มานานแล้วขึ้นมา อ่านแล้ว ตกใจ ร้องเอาอีกแล้ว หาเรื่องอีกแล้ว สันดานเก่าแก้ไม่หาย ยังไม่ทันไรเลย ชอบรู้ไม่จริงแล้ววิพากษ์วิจารณ์ หลังจากนั้นมา ปีถึงสองปีจึงจะได้ไปกราบท่านสักครั้ง หลายครั้งประทับจิตประทับใจกับความเมตตาที่ได้รับจากท่าน ทั้งเราและคุณแม่ เพื่อน ๆ วันนี้ ความทรงจำนั้นยังแจ่มชัดเหลือเกิน ครั้งหนึ่งไปกับทัวร์ที่พาไปกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งละสังขารแล้วที่ถ้ำขาม และวัดสุดท้ายที่เขาพาไปคือภูจ้อก้อ ร่วมทำบุญถวายหลวงปู่กับคณะทัวร์ไปเรียบร้อยแล้ว มีเงินเหลือติดตัวอยู่สองร้อยบาท พอเป็นค่ารถขึ้น taxy กลับบ้าน แต่นั่งมองหลวงปู่แล้วอิ่มเอมใจมาก อยากเอาปัจจัยเข้าไปถวายท่านด้วยตนเอง ชั่งใจอยู่สักครู่ เพราะถ้าถวายหลวงปู่ เราต้องหอบเอากระเป๋าเดินทางขึ้นรถเมล์กลับบ้าน ซึ่งไกลโขอยู่ ไม่อยากลำบาก และตกเป็นเป้าสายตาของคน เพราะเหมือนคนยากไร้ หอบกระเป๋าเดินทางใบโตขึ้นรถเมล์ ทั้งกำหนดไว้แล้วด้วยว่า ไม่ให้ยืมเพื่อนที่ไปด้วยกัน ในใจนึกว่า เป็นปีกว่าที่จะได้มากราบท่าน ท่านก็ไม่ค่อยแข็งแรง ไม่สบายบ่อยมาก ถ้าไม่ถวายครั้งนี้ อีกเมื่อไรจะได้กลับมาอีก ถ้าไม่ถวายครั้งนี้ ข้างหน้าเราหรือท่าน ด่วนเป็นอะไรไปก่อนก็อดถวายกันพอดี พิมพ์ไป คิดถึงท่านไปค่ะ
    เมื่อคลานเข้าไปหาท่าน หลวงปู่หยิบถาดไม้ใบโตเบ้อเริ่มเทิ่ม (ใหญ่โตมาก)มารับใบปวารณา เขียนเงินหนึ่งร้อยบาท ดิฉันสดุดตาสดุดใจทันที ด้วยความใหญ่โตของถาดไม้ เงยหน้าขึ้นมองท่าน ใบหน้าท่านเปล่งประกาย ยิ้มแย้มอ่อนหวาน หน้าเป็นสีชมพู มีรัศมีเปล่งปลั่ง พาใจเราให้ปลื้มปิติ รับรู้ว่าท่านเข้าใจเรา ท่านให้กำลังใจเรา พัดลมขนาดใหญ่ที่กำลังหมุนคว้างอยู่เบื้องบน พัดใบปวารณาให้ทำท่าจะปลิวไป หลวงปู่หยิบไม้อันยาวใหญ่มาก ตีวางทับลงบนใบปวารณาดังปัง คนหัวเราะกันใหญ่
    หัวเราะทั้งถาดขนาดยักษ์และไม้ขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับใบปวารณา แต่ใครจะรู้ จะซึ้งใจเท่าผู้ที่กำลังถวายว่า ท่านบอกอะไร
    กลับถึงกรุงเทพฯ หอบกระเป๋าเดินทางขึ้นรถเมล์ด้วยความอิ่มเอมใจ ไม่สนใจสายตาใครทั้งสิ้น
    เมตตาธรรมสื่อจากใจถึงใจ น้ำสะอาดรินรดลงกลางใจผู้ที่ยังว่ายวนอยู่ในโลกธรรม หลวงตา หลวงปู่ หลวงพ่อ ท่านอาจารย์ ท่านเป็นธรรม ใช้ภาษากายถ่ายทอดภาษาใจให้แก่ปวงศิษย์ลูกหลานทั้งหลาย ผู้รับต้องปรับใจของตัวเองให้รับสื่อนั้นได้ จึงจะพบกับน้ำใจบริสุทธิ์ใสสะอาด ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในโลกวันนี้บางเวลาได้นั่งอ่านชีวประวัติของท่าน ที่กว่าท่านจะยอมเขียนให้ มีได้อ่าน ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวายต้องอ้อนวอนว่า เพื่อประโยชน์ของปวงบรรดาศิษย์ และลูกหลานรุ่นต่อไปทั้งหลาย ขอหลวงปู่โปรดเมตตาหลายครั้งหลายครา บางครั้งน้ำตาซึม เห็นแต่ภาพความน้อมน้อม อ่อนน้อมถ่อมตนของท่าน เห็นแต่ความเด็ดเดี่ยวพากเพียร มั่นคง ซื่อตรง ตรงต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของท่าน
    นึกภาพที่ตัวเองมองท่านเมื่อไปวัดสองครั้งแรกแทบไม่ออกเลย ภาพพระภิกษุร่างใหญ่ มีมีรัศมีผิวเปล่งปลั่ง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย วัดวาอารามใหญ่โต ดูมีบารมีใหญ่โต กว่าจะเป็นวันนี้ ที่เราได้รู้ได้เข้าใจ หลวงปู่เจ้าขา

    จากคุณ : ห้วยหมากแข้ง [ 10 พ.ค. 2546 ]
    ความคิดเห็นที่ 25 : (ห้วยหมากแข้ง)

    สวัสดีค่ะ คุณเมริน 20 ปีก่อน เมื่อครั้งไปวัดใหม่ ๆ ดิฉันเคยปลาบปลื้มกับคำชมเชยของผู้หลักผู้ใหญ่ในวัดมาก หลายคนชมว่าหนูมีบุญมากนะ ที่มาวัดตั้งแต่อายุยังน้อย20 ปีผ่านไป คำตอบที่ดิฉันสรุปได้ คือ การปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องที่ยากยิ่งยากยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก
    มากกว่ามากที่ดิฉันเห็นคนที่แวดล้อม ล้อมหน้าล้อมหลังครูบาอาจารย์ ใกล้ชิดท่าน ไปแต่วัด อยู่แต่ในวัด ไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ
    แต่อีกบางท่าน อยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้ ด้วยเขาปฏิบัติบูชา เป็นคนจริง ทำจริง จึงได้พบของจริง
    บุคคลเช่นนี้แหละค่ะ ดิฉันเชื่อว่าเป็นผู้มีบุญ มีวาสนาอย่างแท้จริง เป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์อย่างแท้จริง
    ดิฉันคิดว่า แม้วันนี้องค์หลวงปู่ท่านจะละสังขารไปแล้วก็ตาม แม้หลวงปู่ไม่กลับมามีขันธ์อันเป็นสมมติอีกแล้วก็ตาม แต่จิตของหลวงปู่ยังคงอยู่ และถ้าเราสามารถน้อมนำเอาปฏิปทาของท่านมาเป็นแบบอย่าง เป็นเครื่องดำเนิน แม้ไม่ได้เท่าท่าน แต่ก็ไม่ทิ้งลวดลายของครูอาจารย์ ปฏิบัติตัวแบบศิษย์มีครู ท่านต้องรับรู้กับการปฏิบัติบูชาของเรา ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเป็นคนจริงแค่ไหน
    (โอ๊ย โอย ๆ ๆ เบื่อหน่ายความอ่อนแอท้อแท้ เหลวไหล ไม่ได้เรื่องของตัวเองเหลือเกิน)
    คุณเมรินคะ หลวงปู่หล้าให้ความเคารพยกย่อง และนอบน้อมต่อองค์หลวงตามหาบัวมากค่ะ คุณเมรินคงทราบแล้วเวลานี้ท่านยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ และธรรมที่ท่านแสดงในระยะนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ และกำลังใจแก่ให้ผู้หวังและตั้งใจปฏิบัติมากค่ะ
    โดยเฉพาะในช่วงเวลา 18.30 น. เป็นต้นไป เมื่อท่านมาพำนักอยู่ ณ.สวนแสงธรรม
    ไม่รู้ว่าโอกาสเช่นนี้จะมีให้เราไปอีกนานแค่ไหน หากเราไม่รีบคว้าไว้ เวลาไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีก ถ้าเราตั้งใจให้เต็มที่ จะได้ไม่ต้องมาคิดเสียดายและเสียใจในภายหลัง
    เจริญในธรรมค่ะ คุณเมริน
    จากคุณ : ห้วยหมากแข้ง [ 12 พ.ค. 2546 ]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...