ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด(โลหิตสูตร) ... ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย svt, 24 พฤษภาคม 2012.

  1. svt

    svt เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 มกราคม 2006
    โพสต์:
    235
    ค่าพลัง:
    +1,033
    [​IMG]

    โพธิธรรมคำสอน.....( ปรมาจารย์ตั๊กม้อ )
    บทที่ 2 ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด ( โลหิตสูตร ) BLOOD STREAM SERMON




    ทุกสิ่งที่ปรากฏในภพทั้งสามล้วนเกิดจากจิต[1]*
    ดังนั้น พระพุทธเจ้า[2]* ทั้งในอดีตและอนาคต ย่อมสอนด้วยวิธีจิตสู่จิต โดยไม่ยึดรูปแบบตายตัวใด ๆ[3]*
    “ แต่ถ้าไม่ใช่รูปแบบตายตัว พระพุทธเจ้าเหล่านั้นจะใช้จิตโดยวิธีใด ? ”
    “ สิ่งที่ท่านถามนั้นแหละคือจิตของท่าน ”
    “ สิ่งที่ฉันตอบนั้นแหละคือจิตของฉัน ”
    “ ถ้าฉันไม่คิดฉันจะตอบได้อย่างไร ”
    “ ถ้าท่านไม่คิดท่านจะถามได้อย่างไร ”
    “ สิ่งที่ท่านถามก็คือความคิด ( จิต ) ของท่าน ”

    " ตลอดกัปกัลป์ อันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้
    ท่านทำสิ่งใดก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม
    สิ่งนั้นคือจิตที่แท้จริงของท่าน
    สภาวะนั้นคือพระพุทธเจ้าที่แท้จริงของท่าน
    จิตนี้คือพุทธะ

    ท่านกล่าวว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นอกเหนือจากจิตนี้แล้ว
    ท่านจะพบพระพุทธเจ้าที่อื่นไม่ได้เลย

    การแสวงหาโพธิ( การบรรลุธรรม ) หรือนิพพานนอกจากจิตนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้
    ความเป็นจริงของธรรมชาติของท่านเองที่เป็นสภาพที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ก็เกิดมาจากจิตด้วย
    เพราะภาวะแห่งนิพพานมีอยู่แล้วในจิตของท่าน

    ท่านอาจคิดเอาเองก็ได้ว่าท่านสามารถค้นพบพระพุทธเจ้าหรือโพธิอยู่นอกจิตนี้ แต่สถานที่เช่นนั้นจะไม่มีอยู่จริงได้เลย

    ความพยายามค้นหาพระพุทธเจ้า หรือค้นหาการบรรลุธรรม ก็เหมือนการจับฉวยเอาอากาศ ซึ่งมีแต่ชื่อแต่ไร้ตัวตน มันไม่ใช่สิ่งที่ท่านจะสามารถหยิบขึ้นหรือวางลงได้

    และท่านไม่สามารถจะจับฉวยมันได้ พระพุทธเจ้าเกิดจากจิตของท่าน แล้วจะค้นหาพระพุทธเจ้านอกจิตนี้ไปทำไม ?

    พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคตล้วนแต่กล่าวถึงจิตนี้เท่านั้น ดังนั้น จิตนี้จึงคือพุทธะ และพุทธะก็คือจิตนั่นเอง

    นอกเหนือจากจิตไม่มีพุทธะ และนอกเหนือพุทธะก็ไม่มีจิต ถ้าท่านคิดว่ามีพุทธะที่เหนือจิตนี้แล้ว พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนกันล่ะ

    ดังนั้น จึงไม่มีพระพุทธเจ้านอกเหนือจากจิต ทำไมเราไม่เผชิญหน้ากับพระองค์ ตราบใดที่คุณหลอกตัวเองอยู่ คุณก็ไม่สามารถรู้จักจิตที่แท้จริงของตัวเอง... "

    ตราบใดที่คุณยังหลงติดอยู่ในรูปที่ไร้ชีวิต ( หมายถึงรูปกับนามไม่ได้อยู่ด้วยกัน กายอยู่ที่หนึ่งแต่จิตคิดไปอีกที่หนึ่ง ) คุณก็ยังไม่มีอิสระ ถ้าไม่เชื่อคำกล่าวนี้ คุณก็หลอกตัวเองอย่างช่วยไม่ได้ มันไม่ใช่ความผิดของพระพุทธเจ้า

    แม้ประชาชนเองก็ถูกหลอก พวกเขาไม่เคยรู้จักว่า จิตของตนเองนั้นแหละคือพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นไม่ต้องแสวงหาพระพุทธเจ้านอกจิตของตนเอง

    พระพุทธเจ้าย่อมไม่ดูแลรักษาพระพุทธเจ้าด้วยกันเอง หมายความว่า ถ้าท่านใช้จิตของท่านหาพุทธะ ท่านก็จะไม่เห็นพุทธะ (การใช้ความคิดดูจิตย่อมไม่เห็นจิต ใช้สติดูจิตจึงจะเห็นจิต ) ตราบใดที่ท่านหาพระพุทธเจ้าภายนอกตนเอง ท่านก็ยังไม่เห็นพระพุทธเจ้าอยู่ภายในจิตของท่านเอง

    อย่าใช้พระพุทธเจ้าบูชาพระพุทธเจ้า ( ผู้ที่รู้จักตนเองย่อมไม่หลงบูชา สิ่งอื่น ) อย่าใช้จิตปลุกพระพุทธเจ้า[9]* พระพุทธเจ้าย่อมไม่สวดมนต์[10]* พระพุทธเจ้าไม่ต้องรักษาศีล[11]* พระพุทธเจ้าไม่ต้องรักษาวินัย และไม่ต้องละเมิดวินัยใด ๆ พระพุทธเจ้าไม่ต้องทำดีหรือชั่ว ( จิตเข้าถึงพุทธะย่อมอยู่เหนือสมมติ และโลกธรรมทั้งปวง )

    การค้นหาพุทธะท่านต้องค้นหาตนเองให้พบก่อน ใครก็ตามที่เห็นตนเอง ชื่อว่าเห็นพุทธะ[12]* ถ้ายังไม่เห็นตนเอง,การทำพุทธาภิเษก ,การท่องบ่นพระสูตร,การบำเพ็ญทาน และการรักษาศีล ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ การปลุกเสก การสวดมนต์อ้อนวอนพระพุทธเจ้า อาจส่งเสริมให้สร้างกุศลกรรม การท่องจำพระสูตรอาจเป็นผลให้มีความทรงจำดี,การสมาทานรักษาศีลอาจเป็นผลให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี และการบำเพ็ญทานเป็นผลให้ได้รับความสุข แต่ไม่ส่งผลให้เป็นพุทธะได้

    ถ้าท่านไม่เข้าใจคำสอนด้วยตัวของท่านเองท่านก็ต้องไปพบกับครูผู้มีความเข้าใจลุ่มลึกและลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิตและความตาย[13]* ผู้ไม่เห็นธรรมชาติของตนเองนั้นยังเป็นครูไม่ได้

    ถึงแม้เขาจะสามารถ ท่องพระไตรปิฎกได้จบถึงสิบสองรอบก็ตาม[14]* เขาก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยง การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารได้[15]* เขาย่อมเป็นทุกข์อยู่ในภพทั้งสาม ( กามภพ , รูปภพ , อรูปภพ ) โดยไม่มีหวังที่จะปลดเปลื้องทุกข์ได้เลย

    นานมาแล้ว มีพระรูปหนึ่งเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไป[16]* เป็นผู้สามารถท่องพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด แต่ท่านก็ไปไม่พ้นจากวัฏฏสงสาร เพราะท่านไม่เห็นธรรมชาติของตนเอง* ( *ผู้เห็นธรรมชาติของตน เข้าใจว่าเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือได้ธรรมจักษุ นับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป … ผู้แปลไทย)

    เพราะเข้าใจกันว่าการท่องพระสูตรเป็นเหตุให้มีชื่อเสียง[17]* ดังนั้นศาสนิกทุกวันนี้จึงชอบท่องพระสูตรหรือคาถาไว้มากบ้างน้อยบ้าง และคิดว่าการได้ท่องพระสูตรได้เป็นการรู้ธรรมะ

    ความเข้าใจเช่นนั้นเป็นเรื่องที่โง่เขลา เว้นไว้แต่คนที่รู้จักจิตของตนเอง การสาธยายพระสูตรหรือท่องคาถาภาษิตได้นั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์

    การจะค้นพบพระพุทธเจ้า สิ่งที่ท่านต้องทำก่อนคือการค้นตนเองให้พบเพราะ ธรรมชาติของตนเองนั่นแหละคือพุทธะ พบพุทธะภาวะซึ่งเป็นภาวะที่อิสระ คืออิสระจากพิธีกรรม อิสระจากอุบายต่าง ๆ และอิสระจากการปรุงแต่งวิตกกังวล

    ถ้าท่านยังไม่เห็นตนเอง ย่อมวนเวียนแส่ส่ายหาแต่สิ่งภายนอกตัวเรื่อยไปเพราะสัจจธรรมมีอยู่แล้วในคนทุกคนไม่มีความจำเป็นต้องค้นหาอีก แต่การเข้าถึงปัญญาเช่นนั้นได้ ท่านจำเป็นต้องใช้ความเพียรพยายาม เพื่อทำให้ตนเองเข้าใจตนเอง ( ทำความเข้าใจในตนเองได้ )

    ชีวิตและความตายเป็นสิ่งสำคัญ อย่าทำตนเองให้เป็นทุกข์กับสิ่งที่ไร้สาระ การหลอกลวงตนเองไม่ได้ทำให้ท่านก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้เลย แม้ท่านจะมีเพชรเม็ดโตเท่าภูเขา และมีบริวารมากเท่ากับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาก็ตาม

    เมื่อท่านเห็นความจริงเหล่านี้ ดวงตาของท่านก็สว่างไสว แต่ดวงตาของท่านปิดเพราะอะไร และปิดตั้งแต่เมื่อไหร่ ท่านต้องรู้และเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพราะทุกสิ่งที่ท่านเห็นมันเป็นเสมือนความฝัน หรือภาพลวงตา

    ถ้าท่านไม่รีบพบครูโดยเร็ว ท่านก็จะมีชีวิตอยู่อย่างไร้สาระประโยชน์ ความจริงก็คือว่า ท่านมีพุทธภาวะอยู่แล้ว แต่เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากครู ( กัลยาณมิตร ) ท่านจึงไม่รู้จักพุทธภาวะนั้น แต่ก็มีเพียงหนึ่งในล้านคนที่จะบรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยครู


    ถ้าเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าหมายถึงอะไร เข้าใจความปรุงแต่งของสังขารทั้งหลาย ( ขันธ์ห้า ) บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องมีครู เพราะคนเช่นนั้นมีสติสัมปชัญญะสูงมาแต่กำเนิด ใครจะสอนสิ่งใดเขาก็เข้าใจได้ทันที สำหรับท่านที่สร้างสมบารมีมามาก ศึกษาปฏิบัติมาด้วยความยากลำบาก ท่านเหล่านี้เพียงอาศัยการสอนเท่านั้นก็เข้าใจได้

    คนที่ไม่เข้าใจธรรมะถ่องแท้ และคิดว่าตนเองเข้าใจ โดยปราศจากการศึกษาและปฏิบัติ (อย่างถูกต้อง) คนเช่นนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากคนหลงทาง หลงตนเองไม่สามารถจะแยกขาวต่างจากดำได้[18]* ย่อมประกาศพุทธธรรมอย่างผิด ๆ เช่นนั้นย่อมชื่อว่า กล่าวตู่หรือดูหมิ่นพระพุทธเจ้า และชื่อว่าเป็นผู้ลบล้างพระธรรม

    เขาแสดงธรรมเสมือนว่าเขากำลังทำฝนให้ตก แต่ที่จริงคนเช่นนั้นกำลังแสดงธรรมของมาร ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ครูของพวกเขาก็คือพญามาร[19]* และสาวกของเขาก็คือบริวารของพญามาร คนที่หลงงมงายทำตามคำสอนเช่นนั้น ย่อมจมลงในทะเลแห่งการเวียนว่ายตายเกิดลึกลงไปเรื่อย ๆ


    ศาสนิกจะสามารถเรียกตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกได้อย่างไร หากพวกเขาเป็นคนโกหกหรือมุสา ซึ่งหลอกลวงผู้อื่นให้ก้าวไปสู่ภพภูมิแห่งมาร ( อบายภูมิ ) นอกจากคนที่เห็นตนเองแล้ว การแสดงธรรมของคนผู้ที่เรียนแต่พระไตรปิฎกได้ถึง 12 หมวด ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากเป็นการแสดงธรรมของมาร

    ความเลื่อมใสก็เป็นความเลื่อมใสต่อมาร ไม่ใช่เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าไม่อาจแยกขาวออกจากดำได้ เขาจะหลีกเลี่ยงการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างไร ผู้ใดเห็นธรรมในตนผู้นั้นชื่อว่าเป็นพุทธะ (เห็นพุทธะ) ผู้ใดยังไม่เห็นธรรมในตน ผู้นั้นชื่อว่ายังเป็นปุถุชน* ( *คือผู้ที่ต้องตายด้วยความประมาท เพราะความประมาทคือความตาย… ผู้แปลไทย)


    ถ้าท่านค้นพบพุทธภาวะของตนเอง อันต่างไปจากความเป็นปุถุชน สภาพเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ตรงไหน ปุถุชนภาวะของเราก็คือพุทธภาวะของเราเช่นกัน นอกจากปุถุชนภาวะก็ไม่มีพุทธภาวะเช่นกัน พุทธภาวะก็คือธรรมชาติของเรา ไม่มีพุทธะนอกเหนือไปจากธรรมชาติ และไม่มีธรรมชาตินอกเหนือไปจากพุทธภาวะ

    “ สมมติว่าฉันยังไม่เห็นธรรมชาติของฉัน ฉันไม่สามารถบรรลุธรรมได้ด้วยการปลุกพุทธะ , สาธยายพระสูตร , ให้ทาน , รักษาศีล , อุทิศส่วนบุญหรือทำกรรมดีใด ๆ ได้เลยหรือ ? ”
    “ ไม่ ท่านยังบรรลุธรรมไม่ได้ ”
    “ ทำไม จึงไม่ได้ ”
    “ ถ้าท่านเข้าถึงได้ในสิ่งหนึ่ง มันก็เป็นเพียงสังขาร ( เป็นการคิดเอา ) ซึ่งทำให้ต้องทำกรรมต่อไป ทำกรรมนั้นก็ให้ผลสนองตอบต่อไป ผลกรรมนั้นก็ทำให้ต้องเวียนว่ายในวัฏฏสงสารอยู่เรื่อยไป ตราบใดที่ท่านยังต้องทำกรรมที่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย ท่านก็ยังจะบรรลุธรรมไม่ได้ เพราะการบรรลุธรรมได้ ท่านต้องเห็นธรรมชาติของตนเองก่อน เมื่อเห็นธรรมชาติในตนเองแล้ว การพูดถึงเหตุปัจจัยทุกอย่างเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ พระพุทธเจ้าจะไม่ทำในสิ่งเหลวไหลไร้สาระ เพราะพระองค์เป็นอิสรภาพจากกรรม[20]* และเป็นอิสรภาพจากเหตุปัจจัย ”


    การกล่าวว่า ตนได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง ( ถ้าไม่เป็นจริง ) ถือว่าเป็นการกล่าวตู่ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า คนเช่นนั้นจะบรรลุธรรมอะไรได้ ? แม้แต่การสำรวมจิต การมีพลังสำนึก , ความเข้าใจและความเห็นที่ถูกต้องต่อพระพุทธองค์ยังไม่มีเลย


    พระพุทธเจ้าไม่มีเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ธรรมชาติแห่งจิตของพระองค์ มีความว่างเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่ความสะอาดหรือสกปรก พระองค์เป็นอิสระจากการปฏิบัติและการรู้แจ้ง เป็นอิสระจากเหตุปัจจัย


    พระพุทธเจ้าไม่ได้สมาทานศีล , ไม่ได้ทำความชั่วอีก ไม่ได้เป็นคนขยันหรือขี้เกียจ พระองค์ไม่ได้ทำอะไรต่อไปอีก ไม่ได้ระวังจิตเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า และพระองค์ก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าท่านไม่เห็นสิ่งที่ท่านกำลังพูด ท่านก็ยังไม่รู้จักใจของตนเอง


    คนที่ยังไม่เห็นตนเอง แต่คิดเอาว่าเห็นตนเองและปฏิบัติด้วยจิตว่างตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องโกหกและโง่เขลาด้วย เขาย่อมตกไปสู่ห้วงเหวอเวจีได้ เหมือนคนเมาไม่อาจแยกดีออกจากชั่วได้ ถ้าท่านใส่ใจที่จะฝึกฝนอบรมการปฏิบัติให้เข้าใจตนเอง ท่านต้องเห็นตนเองเสียก่อน แล้วท่านจึงจะทำลายความคิดปรุงแต่งให้สิ้นสุดได้ การบรรลุธรรมโดยไม่เห็นธรรมชาติของตนเองก่อนย่อมเป็นไปไม่ได้


    ถ้ายังประกอบกรรมทำชั่วชนิดต่าง ๆ อยู่ แล้วอ้างว่ากรรมที่ทำไม่มีผล เมื่อทุกสิ่งเป็นความว่าง ทำกรรมชั่วแล้วคิดว่าไม่ผิด ความเข้าใจเช่นนั้นยังมีอันตรายอยู่มาก คนเช่นนั้นย่อมตกนรกในอเวจี โดยไม่มีหวังจะปลดเปลื้องได้เลย แต่ท่านผู้ฉลาดย่อมไม่เข้าใจเช่นนั้น


    “ แต่ถ้าทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมาจากจิตทั้งหมด ทำไมเมื่อกายและจิตนี้แตกดับเราจึงไม่รู้ ? ”
    “ จิตนี้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา ท่านไม่ดูจิตต่างหากเล่า ! ”
    “ แต่ถ้าจิตเป็นปัจจุบันเสมอ ทำไมฉันจึงไม่เห็นจิต ? ”
    “ ท่านเคยฝันบ้างไหม ? ”
    “ เคยแน่นอน ”
    “ เมื่อท่านฝัน ความฝันนั้นเป็นท่านใช่ไหม ? ”
    “ ใช่ เป็นข้าพเจ้า ”
    “ และในฝันนั้น ท่านกำลังทำ กำลังพูดอะไร มันต่างไปจากตัวท่านหรือไม่ ? ”
    “ ไม่ ไม่แตกต่างอะไรเลย ”
    “ แต่ ถ้าไม่แตกต่าง กายนี้เป็นธรรมกาย(พุทธภาวะ..svt)และกายของท่านก็เป็นใจของท่านด้วย ” จิตนี้ได้ผ่านกาลเวลามาหลายกัปหลายกัลป์ ไม่มีที่สิ้นสุดโดยไม่มีการเริ่มต้น และไม่เคยแปรเปลี่ยน , มันไม่เคยอยู่และไม่เคยตาย ,ไม่ปรากฏขึ้นและไม่หายไป , ไม่ได้สะอาดหรือสกปรก , ไม่ดีหรือไม่ชั่ว , ไม่ได้เป็นอดีตหรืออนาคต , ไม่ถูกหรือผิด , จริงหรือเท็จ , ไม่ใช่ผู้หญิงหรือผู้ชาย , ไม่ใช่เป็นพระหรือฆราวาส , ไม่ใช่สามเณรหรือพระเถระ , ไม่ใช่นักปราชญ์หรือคนพาล , ไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรือปุถุชน เป็นความเพียรที่ไม่ต้องการรู้แจ้ง เป็นทุกข์โดยไม่ต้องการสร้างกรรม ไม่มีภาวะแข็งหรืออ่อน

    มันเป็นเสมือนอากาศ ท่านไม่สามารถจะเป็นเจ้าของหรือทำลายมันได้ ไม่อาจหยุดการเคลื่อนไหวของสภาวะนี้ด้วยแรงแห่งภูเขา , แม่น้ำ , หรือกำแพงหิน พลังอำนาจของสิ่งนี้ ( พุทธภาวะ..svt ) มีอำนาจเจาะทะลุภูเขาแห่งขันธ์ห้า[21]* อย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ และสามารถข้ามโอฆะสงสารได้[22]* ไม่มีกรรมใด ๆ สามารถควบคุม ธรรมกาย ( พุทธภาวะ...svt) นี้ได้ แต่จิตเป็นภาวะละเอียดอ่อนยากที่จะมองเห็น มันไม่เหมือนจิตที่รู้สึกนึกคิดได้ ( จิตตสังขาร ) ทุกคนต้องการเห็นจิตนี้

    คนที่เคลื่อนไหวมือและเท้า โดยอาศัยความชัดเจนของความรู้สึกชนิดนี้ให้ได้มากเท่ากับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา แต่เมื่อถามถึงลักษณะของความสว่างไสวของจิตชนิดนี้ ก็ไม่สามารถอธิบายได้ มันเป็นเหมือนหุ่นกระบอก คนที่ใช้เท่านั้นย่อมรู้ ทำไมคนดูจึงไม่เห็นล่ะ ?


    พระพุทธเจ้าตรัสว่า สรรพสัตว์ถูกอวิชชาครอบงำ นี้คือเหตุผลที่ว่า เมื่อใดทำกรรมเมื่อนั้นย่อมเข้าไปสู่กระแสแห่งการเวียนว่ายตายเกิด และเมื่อใดเขาพยายามออกจากกระแส ก็ดูเหมือนดิ่งจมลึกลงไปอีก เพราะคนเหล่านั้นไม่เห็นตนเอง

    ถ้าสรรพสัตว์ไม่ถูกครอบงำ ทำไมเขาจึงถามเรื่องธรรมะ ทั้ง ๆ ที่ธรรมะก็ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเขานั้นเอง

    ไม่มีใครเข้าใจความเคลื่อนไหวของมือ และเท้าของตนเองเลยพระพุทธเจ้าไม่ได้ผิด แต่เพราะมนุษย์ถูกความหลงครอบงำ จึงทำให้ไม่รู้จักว่าตนเองเป็นใคร เป็นสิ่งที่ยากแก่การหยั่งรู้ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงรู้สิ่งที่คนอื่นรู้ได้ยาก นอกจากผู้มีปัญญาเท่านั้นจะรู้จักจิตนี้ จิตนี้จึงถูกเรียกว่าธรรมชาติบ้าง อิสรภาพบ้าง ไม่ว่าชีวิตหรือความตายไม่อาจควบคุมหรือหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของจิตนี้ได้


    ไม่มีอะไรยั้งจิตได้เลยจริง ๆ แม้พระตถาคต[23]* ก็ไม่อาจหยุดยั้งได้เช่นกัน คือเป็นภาวะที่เข้าใจยาก , เป็นอัตตาที่ศักดิ์สิทธิ์ , ไม่รู้จักตาย ( ตายไม่เป็น ) , เป็นผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ จิตนี้จึงมีชื่อต่าง ๆ กันไป ไม่มีสาระที่แน่นอน พุทธภาวะก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่ไม่ทอดทิ้งจิตของตนเอง


    ศักยภาพของจิตนี้ไร้ขอบเขต การปรากฏตัวของจิต เป็นภาวะที่ไม่รู้จักจบสิ้นเมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส บทบาททุกอย่างล้วนออกมาจากจิตของตนทั้งสิ้น ในทุก ๆ ขณะจิตของเราสามารถไปได้ทุกหนทุกแห่ง ที่มีสื่อภาษาให้ไปถึงได้ ( สมมติ ) และไปเหนือภาวะที่ไร้ภาษา ( ปรมัตถ์ )

    ในพระสูตรกล่าวว่า รูปกายของพระตถาคตไม่มีที่สุด และรูปกายเช่นนั้นก็คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของพระองค์ ความเปลี่ยนแปลงที่ไร้ขอบเขตของรูปเป็นผลที่เนื่องมาจากจิต จิตสามารถที่จะแยกแยะทุกสิ่งได้ การเคลื่อนไหวหรืออิริยาบถใด ๆ ก็ตาม เกิดมาจากความรู้สึกทางจิตของเราทั้งสิ้นแต่จิตก็ไม่มีรูป ความรู้สึกของจิตก็ไม่ใช่ขอบเขตดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า รูปกายของพระตถาคตไม่มีขอบเขต รูปนั้นก็คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของพระองค์นั่นเอง


    รูปกายอันประกอบด้วยธาตุ 4 (24*) เป็นทุกข์ และเป็นที่ตั้งของความเกิดและความตาย แต่ธรรมกาย (พุทธภาวะ..svt ) ดำรงอยู่โดยไม่แสดงตัวเพราะธรรมกายของพระตถาคตไม่เคยเปลี่ยนแปลง
    ( เชิงอรรถ 24* คือ องค์ประกอบทั้ง 4 ของวัตถุทั้งปวง รวมทั้งร่างกายนี้ด้วย ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ และ ลม )


    พระสูตรกล่าวว่า “ บุคคลควรรู้จักธรรมชาติของพุทธภาวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้ว ” พระคุณเจ้ามหากัสสปะ เป็นบุคคลแรก ( นอกจาก พระพุทธเจ้า ) ที่รู้แจ้งธรรมชาติของตน


    ธรรมชาติของเราก็คือจิต จิตก็คือธรรมชาติของเรา ธรรมชาติก็เหมือนกันกับจิตของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ [25]* พระพุทธเจ้าทั้งอดีตและอนาคต อุบัติมาเพียงเพื่อถ่ายทอดจิตชนิดนี้ นอกจากจิตชนิดนี้แล้ว ก็ไม่มีพระพุทธเจ้าในที่ไหนเลย

    แต่ปุถุชนที่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ย่อมไม่รู้จักจิตของตนเองว่าเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะเขามัวแต่แสวงหาแต่พระพุทธเจ้าภายนอก และถามอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใดหนอ ?

    อย่าหลงเพลินไปในจินตนาการอันหลอกหลอนเช่นนั้นอีกเลย ให้มารู้จักจิตของตนเองเท่านั้น นอกเหนือจากจิตนี้แล้วไม่มีพุทธะในที่อื่นเลย พระสูตรกล่าวว่า “ ทุกสิ่งที่มีรูปล้วนเป็นมายาหลอกลวง ” ท่านกล่าวไว้อีกว่า “ ท่านอยู่ที่ใดพุทธะก็อยู่ที่นั้น ” เพราะจิตของท่านก็คือพุทธะ อย่าใช้พุทธะบูชาพุทธะ


    หากแม้พระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ (26)* บังเอิญปรากฏขึ้นต่อหน้าท่านไม่จำเป็นต้องทำความเคารพ เพราะจิตของเรานี้เป็นความว่าง และไม่บันทึกรูปใด ๆ เอาไว้

    บรรดาบุคคลที่ยึดถือเอาตามปรากฏการณ์คือปีศาจ พวกเขาย่อมหลุดไปจากทางอริยมรรค จะหลงบูชามายาที่เกิดจากจิตอยู่ทำไม ? คนบูชาย่อมไม่รู้ คนที่รู้ย่อมไม่บูชา เพราะการบูชานั้นท่านต้องตกอยู่ภายใต้การสะกดของมาร

    ฉันชี้ให้เห็นจุดนี้ เพราะเกรงว่าท่านจะไม่รู้สึกตัว*
    ( *คนที่มัวเคารพบูชาสิ่งภายนอกตัว มักจะหลงลืมความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวเอง ไม่ให้ความสำคัญความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวเอง …..ผู้แปลไทย)

    เพราะธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานของพุทธะ ไม่มีรูปใด ๆ อยู่เลย*
    ( *มโนภาพหรือจินตนาการเป็นภาวะแปลกปลอมที่เกิดขึ้นทีหลัง เหมือนรูปปรากฏขึ้นในกระจก …. ผู้แปลไทย)


    จงรักษาความรู้สึกตัวนี้ไว้กับจิตเสมอ แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างจะดูไม่เหมาะสมก็ตาม ก็จงอย่ายึดติดอย่าเกิดความขี้ขลาดหวาดกลัว อย่าสงสัยเลยว่าจิตของท่านมีความบริสุทธิ์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จะมีห้อง ( หัวใจ ) ห้องไหนว่างสำหรับรูปเช่นนั้นอีก ?


    ขณะเดียวกันเมื่อภูตผีปีศาจหรือเทวดา [27]* ปรากฏขึ้นก็อย่าคิดเคารพหรือหวาดกลัว เพราะจิตของท่านเป็นจิตว่างมาแต่เดิม ปรากฏการณ์ทั้งปวงล้วนเป็นมายาภาพ อย่ายึดมั่นถือมั่นเอาตามปรากฏการณ์


    เมื่อท่านได้พบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือพระโพธิสัตว์ [28]* และคิดจะเคารพท่านเหล่านั้น ท่านก็ผลักไสตนเองไปสู่ภูมิปุถุชน

    ถ้าท่านแสวงหาความไม่ยึดมั่นถือมั่นเอาปรากฏการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม ท่านจะประสบความสำเร็จ

    ฉันไม่มีคำแนะนำอย่างอื่น พระสูตรกล่าวว่า “ปรากฏการณ์ทั้งปวงเป็นมายาภาพ มายาภาพเหล่านี้ไม่มีภพที่แน่นอน ไม่มีรูปที่ถาวร เป็นสภาพที่ไม่เที่ยงแท้ ( อนิจจัง ) อย่ายึดมั่นกับปรากฏการณ์ทั้งหลาย แล้วท่านจะเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธะ ”

    พระสูตรกล่าวว่า “ สิ่งซึ่งเป็นอิสรภาพจากรูปทั้งปวง คือพุทธภาวะ ”

    แต่ทำไมเราจึงบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์กันอีกเล่า ?

    ภูตผีปีศาจเป็นเจ้าของอำนาจแห่งปรากฏการณ์ อำนาจเหล่านี้สามารถสร้างมโนภาพพระโพธิสัตว์ให้ปรากฏขึ้นด้วยรูปจำแลงชนิดต่าง ๆ แต่ก็เป็นพระโพธิสัตว์ปลอม ไม่มีใครเป็นพุทธะจริง ( ด้วยมโนภาพ ) เพราะพระพุทธเจ้าที่แท้จริงคือจิตของเราเอง อย่านำการบูชาของท่านไปในทางที่ผิด

    พุทธะ เป็นศัพท์สันสกฤตแทนคำที่ท่านเรียกว่า “ สติสัมปฤดี ” คือ ตื่นตัวอย่างปาฏิหาริย์ คือ อาการยินยอมน้อมรับด้วยความรู้สึกตัวในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น การพับตา เลิกคิ้ว เคลื่อนไหวมือและเท้า ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมชาติแห่งการตื่นอย่างปาฏิหาริย์ของท่าน และธรรมชาตินี้ก็คือจิต จิตนี้ก็คือพุทธะ และพุทธะก็คือมรรค มรรคก็คือเซ็น [29]*

    แต่คำว่าเซ็นเป็นเพียงคำเดียว ที่ยังความพะวงสงสัยให้เกิดแก่ปุถุชนและนักปราชญ์ เมื่อเฝ้าดูธรรมชาติของตนก็คือเซ็น เมื่อท่านได้เห็นธรรมชาติของตนเองแล้วมันก็ไม่ใช่เซ็น *
    ( *คำว่า “ เซ็น “ มาจากคำว่า “ฌาน” ในภาษาบาลี แปลว่า การเพ่งพินิจหรือการเฝ้าดูจิต การเผาผลาญความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ อันเกิดจากการปรุงแต่ง ภาวะที่ทำงานเช่นนั้นเรียกว่า เซ็น ตามภาษาญี่ปุ่น … ผู้แปลไทย)


    แม้ท่านจะสามารถอธิบายพระสูตร ได้หลายพันสูตรก็ตาม [30]* เมื่อท่านเห็นธรรมชาติของท่าน ที่ยังเป็นธรรมชาติของอัตตาอยู่ การเห็นตัวเอง* ที่ยังเป็นอัตตาอยู่เช่นนั้น ยังเป็นคำสอนของปุถุชน ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
    ( *การเห็นตัวเองตามความเป็นจริง หมายถึงการเห็นที่ว่างจากการยึดมั่นถือมั่นมิใช่เห็นด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตน … ผู้แปลไทย . )


    มรรคที่แท้จริงคืออริยมรรค อริยมรรคไม่สามารถจะสื่อกันได้ด้วยภาษา แล้วตำราหรือคัมภีร์จะมีประโยชน์อะไร ?

    คนที่พบเห็นตนเองแล้ว ย่อมพบทางแห่งอริยมรรค แม้เขาจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ตาม คนที่เห็นธรรมในตนเองก็คือพุทธะ และธรรมกายของพุทธะเป็นกายที่บริสุทธิ์ ไม่มีมลทินโดยแท้จริง ทุกสิ่งที่ท่านตรัสก็เป็นสิ่งที่แสดงออกมาจากใจอันบริสุทธิ์ของท่าน

    เมื่อพุทธะเป็นความว่างมาแต่เดิมแล้ว พุทธะก็ไม่อาจค้นพบได้ในคำพูดหรือคำสอนในคัมภีร์ใด ๆ อันมีถึงสิบสองหมวดก็ตาม (พระไตรปิฎกมหายาน)

    อริยมรรคเป็นมรรคที่สมบูรณ์มาแต่เดิม ไม่ต้องการความสมบูรณ์ใด ๆ อีก อริยมรรคไม่มีรูปหรือเสียง เป็นสภาพที่ละเอียดประณีต และยากแก่การเข้าใจ เหมือนกับท่านดื่มน้ำ ท่านย่อมรู้เองว่าความร้อนความเย็นเป็นอย่างไร แต่ท่านไม่อาจจะบอกผู้อื่นได้

    ในบรรดาสภาพธรรมเหล่านั้น พระตถาคตเจ้าเท่านั้นทรงรู้ มนุษย์และเทวดายังเข้าใจไม่ได้ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของปุถุชนยังไม่สมบูรณ์ ตราบใดที่เขายังยึดมั่นถือมั่นอยู่กับปรากฏการณ์ เขาก็ยังไม่รู้ว่าจิตของเขาเป็นความว่างและเพราะการยึดติด ตามปรากฏการณ์ของทุกสิ่งอย่างผิด ๆ พวกเขาจึงหลงทาง

    ถ้าท่านทราบว่าทุกสิ่งล้วนออกมาจากจิต ก็อย่ายึดมั่นถือมั่น เมื่อใดท่านหลงยึดถือก็ย่อมหลงลืมตัวเองเมื่อนั้น เมื่อใดท่านเห็นธรรมชาติของตัวเองเมื่อนั้นคัมภีร์ธรรมะทั้งหมดก็กลายเป็นเพียงคำพูดธรรมดา ๆ

    พระสูตรและคาถาเป็นจำนวนหลาย ๆ พันสูตร เป็นประโยชน์เพียงเพื่อเป็นเครื่องมือชำระจิต ความเข้าใจเกิดจากคำพูดเป็นสื่อกลาง แล้วคำพูดคำสอนที่เป็นสื่อกลางแบบไหนล่ะ ? ที่เป็นคำสอนที่ดี

    ปรมัตถสัจจะ ย่อมอยู่เหนือคำพูด คำสอนเป็นเพียงคำพูด คำสอนจึงไม่ใช่อริยมรรค มรรคไม่ใช่คำพูด คำพูดเป็นมายาภาพ ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากสิ่งที่ปรากฏในความฝันของท่านในเวลากลางคืน ซึ่งท่านอาจฝันเห็นปราสาท ราชวัง ราชรถหรือวนอุทยาน หรือทะเลสาปหรือพระราชฐานอันโอ่อ่า อย่าหลงติดใจกับสิ่งที่เป็นความฝัน เพราะทั้งหมดเป็นเหตุให้สร้างภพใหม่ จงตั้งใจให้ดีเท่านั้น ขณะที่ท่านใกล้ตาย

    จงทำตามธรรม แต่อย่าทำตามความคิด

    อย่าหลงติดใจในปรากฏการณ์ แล้วท่านจะผ่านพ้นอุปสรรคชีวิตทั้งปวงได้ ความไม่แน่ใจแต่ละขณะ จะทำให้ท่านตกอยู่ภายใต้การสะกดของมาร ธรรมกายของท่าน (พุทธภาวะ..svt ) เป็นภาวะบริสุทธิ์หนักแน่น แต่เพราะโมหะธรรมจึงทำให้ท่านหลงลืมกายนั้น เพราะเหตุนี้ท่านจึงทุกข์ เพราะความหลงทำให้ท่านทำในสิ่งที่ไร้สาระ เมื่อใดท่านหลงเกิดความยินดีพอใจ [31]* ท่านก็ถูกผูกมัด ( ด้วยอุปาทาน ) แต่เมื่อใดท่านตื่นรู้ต่อกายใจดั้งเดิมของท่าน(พุทธภาวะ..svt ) ท่านก็ไม่ถูกผูกมัดด้วยอุปาทานต่อไป

    ใครก็ตาม ยังไม่ละเลิกความติดยึดในกามคุณ ซึ่งปรากฏในหลากหลายรูปแบบ ( รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ) เขาก็ยังเป็นปุถุชนอยู่


    พระพุทธเจ้าคือบุคคลที่ค้นพบอิสรภาพ คือเป็นอิสระจากโลกธรรมและความชั่วทั้งหลาย การค้นพบเช่นนั้นเป็นอำนาจของพระองค์ ที่ทำให้กรรมไม่อาจติดตามทันได้ ไม่ว่ากรรมชนิดใดก็ให้ผลต่อพระองค์ไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงกรรมได้ สวรรค์และนรก [32]* ก็ไม่มีผลอะไรต่อพระองค์ แต่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของปุถุชน เป็นภาวะที่คลุมเครือ เศร้าหมอง เมื่อเปรียบเทียบกับของพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายในและภายนอก


    ถ้าท่านไม่แน่ใจอย่าพึ่งทำอะไร เมื่อท่านทำลงไป ก็ต้องเวียนว่าย ตายเกิด และเป็นทุกข์เพราะไม่มีที่พึ่ง ความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้น เพราะความคิดผิด (มิจฉาทิฏฐิ ) การเข้าใจสภาวะจิตเช่นนี้ ท่านต้องทำแบบไม่ทำ* ด้วยวิธีนี้เท่านั้นจะทำให้ท่านเห็นทุกสิ่งจากญาณทัศนะของพระตถาคต
    ( *คือทำสักแต่ว่าทำ หมายถึงการมีสติปัญญากำหนดรู้ใน กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมตลอดเวลา เมื่อกรรมถูกกำหนดรู้อย่างเท่าทัน กรรมนั้นจะดับด้วยพลังของ ญาณปัญญา, อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่อาจเข้าไปแทรกแซง ปรุงแต่ง แต่เป็นกรรมได้ เรียกว่า ทำแบบไม่ทำ … ผู้แปลไทย )


    แต่เมื่อท่านเข้าปฏิบัติตามมรรคครั้งแรก ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของท่านยังไม่มีจุดรวม ท่านก็เห็นทุกสิ่งเป็นเรื่องแปลก เหมือนภาพในฝัน แต่ท่านอย่าสงสัยว่า ความฝันทุกอย่างล้วนเกิดจากจิตของท่านเอง ไม่ได้เกิดจากที่อื่น


    ถ้าท่านฝันว่าท่านเห็นแสงสว่างเจิดจ้ายิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ ( นั้นเป็นนิมิตหมายว่า ) อุปาทานของท่านที่ยังเหลืออยู่ก็จะหมดไปโดยเร็ว และธรรมชาติของสัจจธรรมก็ปรากฏตัวขึ้น ปรากฏการณ์เช่นนั้นจะเป็นเครื่องช่วยเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรม แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น ไม่อาจอธิบายให้ผู้อื่นทราบได้


    หรือหากท่านกำลังยืน เดิน นั่ง หรือนอนในป่าอันสงัดวิเวก ท่านอาจเห็นแสงสว่าง ( อันเกิดจากนิมิต ) ไม่ว่าเป็นนิมิตที่แจ่มใส หรือคลุมเครืออย่าบอกเรื่องนั้นแก่ผู้อื่น และอย่ากำหนดจดจำนิมิตเช่นนั้นไว้ เพราะมันเป็นภาวะที่สะท้อนออกมาจากธรรมชาติภายในของท่านเอง


    ถ้าท่านกำลังยืน เดิน นั่งหรือนอน ในที่สงบเงียบ และมืดในยามกลางคืน ( นิมิตปรากฏให้ท่านเห็น ) ทุกสิ่งปรากฏเสมือนกลางวัน ก็อย่าตกใจ เพราะปรากฏการณ์นั้นเกิดจากจิตของท่านเอง ที่ต้องการ เปิดเผยตัวมันเอง


    การตัดเวรตัดกรรม คือการตัดความคิดปรุงแต่ง

    ถ้าท่านฝันในเวลากลางคืน ทำให้ท่านเห็นพระจันทร์และดวงดาวสว่างทั่วท้องฟ้า นั้นเป็นนิมิตหมายว่า การบำเพ็ญเพียรทางใจของท่านใกล้ถึงที่สุด แต่อย่าบอกนิมิตนั้นแก่คนอื่น


    ถ้าความฝันของท่านไม่ชัดเจนเหมือนท่านกำลังเดินในที่มืด นั่นเป็นเพราะจิตของท่านถูกครอบคลุมไปด้วยความวิตกกังวล ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่ท่านต้องกำหนดรู้เท่านั้น


    ถ้าท่านเห็นธรรมชาติของตน (เห็นตัวเอง) ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านพระสูตรหรืออ้อนวอนพระพุทธเจ้า ความเป็นผู้คงแก่เรียนหรือมีความรู้ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งไร้สาระเท่านั้น ยังเป็นสิ่งที่บดบังความรู้สึกตัวของท่านเองด้วย ธรรมะหรือคำสอนเป็นเพียงสิ่งชี้นำให้รู้จักจิตเท่านั้น เมื่อท่านเห็นจิตของตนเองอยู่เสมอแล้ว ทำไมต้องไปสนใจคำสอนอีกเล่า ?


    การก้าวจากความเป็นปุถุชน ไปสู่ความเป็นพุทธะ ทำให้ท่านสิ้นกรรม จงดูแลรักษาความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของท่านให้ดี * และยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิต (ตามความเป็นจริง )
    ( *เจริญสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ… ผู้แปลไทย)


    ถ้าท่านเป็นคนมักโกรธ ความโกรธนั้นจะเป็นอุปสรรคขัดขวางตัวท่านไม่ให้บรรลุมรรคผล การหลอกลวงตัวเองไม่ทำให้ท่านก้าวหน้าได้เลย พระพุทธเจ้าผ่านพ้นความเกิดและความตายอย่างอิสระ จะอุบัติหรือจุติได้ตามความตั้งใจ กรรมไม่อาจหยุดยั้งท่านได้ แม้ภูตผีปีศาจและมารก็ไม่อาจเอาชนะท่านได้


    เมื่อใดปุถุชนเห็นธรรมชาติของตนเอง (เห็นตนเอง ) อุปาทานทั้งปวงก็หมดไป ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไม่ใช่สิ่งลึกลับ แต่ท่านสามารถพบมันได้ในปัจจุบันขณะ (ตลอดกาล) มันเป็นปัจจุบันธรรม


    การศึกษาข้างนอกมากเกินไป ทำให้ลืมการศึกษาภายใน

    ถ้าท่านต้องการพบมรรคจริง ๆ อย่ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ เมื่อใดท่านถึงที่สุดแห่งกรรม ( สิ้นกรรม ) จงดำรงรักษาความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของท่านไว้ อาสวะใด ๆ ที่ยังเหลืออยู่ก็ค่อย ๆ หมดไป


    ความเข้าใจธรรมะจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ท่านไม่ต้องสร้างความพยายามใด ๆ แต่ความหลงใหลคลั่งไคล้ [33]* ไม่ได้ทำให้เข้าใจ ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน


    ถ้าพยายามที่จะรู้ธรรมะ ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะรู้ขึ้นไปอีกต่อไป พวกเขาก็จะได้แต่จดจำเอาความรู้ของพวกนักปราชญ์เท่านั้น ( จำธรรมะไม่ใช่รู้ธรรมะ )


    ตลอดเวลาอันยาวนานที่พวกเขาอ้างพระพุทธเจ้า และสาธยาย พระสูตร ( ติดคัมภีร์ ) เขาก็ยังใบ้บอดต่อธรรมชาติอันเป็นทิพย์ของตนเอง และไม่อาจพ้นไปจากวัฏฏสงสารได้เลย


    พระพุทธเจ้าคล้ายเป็นคนขี้เกียจ เพราะพระองค์ไม่ได้วิ่งตามลาภสักการะและโลกธรรมทั้งหลาย ที่สุดแล้วโลกธรรมมันมีอะไรดีเล่า ?


    บุคคลที่ยังไม่เห็นตนเอง ได้แต่คิดและอ่านแต่พระสูตร อ้อนวอนแต่พระพุทธเจ้า จะศึกษายาวนานเพียงใด ปฏิบัติจริงจังทั้งเช้าจรดเย็น จนไม่หลับไม่นอน หรือได้ความรู้ทางธรรมมามากมายก็ตาม ก็ยังชื่อว่าลบหลู่ดูหมิ่นพระธรรมอยู่


    พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคต ทรงกล่าวถึงการเห็นธรรมชาติของท่านเท่านั้น ( การเห็นพุทธภาวะ..svt ) การปฏิบัติทุกอย่างยังไม่แน่นอน เว้นแต่ว่าเขาได้เห็นตนเอง คนที่อ้างว่าได้บรรลุธรรมอันเลิศ [34]* สำเร็จหมดแล้วเป็นคนมุสา


    ในบรรดาพระสาวกองค์สำคัญที่สุด 10 องค์ของพระศากยมุนี [35]* พระอานนท์ [36]* เป็นสาวกผู้เลิศในการเรียนรู้ แต่ท่านก็ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ( ตามความเป็นจริง ) ท่านเป็นผู้ศึกษาและจดจำทุกอย่างได้เท่านั้น


    พระอรหันต์ทั้งหลาย [37]* ก็ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าทั้งหมด ที่ท่านรู้จัก คือ การปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้งให้มากเท่านั้น และท่านก็ถูกดักไว้ด้วยเหตุผล สภาพเช่นนั้นเป็นกรรมของปุถุชน ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกิด และการตายได้ คนที่ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาตั้งใจ คนเช่นนั้นชื่อว่ากล่าวตู่พระพุทธเจ้า การฆ่ามิจฉาทิฏฐิไม่มีความผิด

    .....................


    ส่วนนี้คัดย่อมาจาก บทที่ 2 ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด ( โลหิตสูตร ) BLOOD STREAM SERMON

    @ที่มา โพธิธรรมคำสอน (ปรมาจารย์ตั๊กม้อ)

    โพธิธรรมคำสอน...(ปรมาจารย์ตั๊กม้อ)
    บทที่ 1 หลักการปฏิบัติธรรม (OUTLINE OF PRACTICE)
    บทที่ 2 ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด (BLOOD STREAM SERMON)
    บทที่ 3 เสียงปลุก ( ภัทเทกรัตตสูตร : WAKE-UP SERMON )
    บทที่ 4 บรรลุธรรม (ปฏิเวธสูตร : BREAK THROUGH SERMON )
    __________________
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 24 พฤษภาคม 2012
  2. มะหน่อ

    มะหน่อ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    1,652
    ค่าพลัง:
    +1,210
    ผมติดใจหัวข้อกระทู้นะครับ
    และติดใจการละฑิฎฐิไม่มีความผิดครับ
    ทำไมปรมาจารย์ท่านพกน้ำเต้าครับ
    เปรี้ยวปากครับถามไปอย่างนั้นแหละ

    ทำไมเมื่อเจอทะเลทรายไปไม่รอดต้องฆ่าลูก
    คิดหนักแล้วครับ
    หูทิพย์เหรอ
    ตาทิพย์น่อ
    อุปทานชาติเกิดน่อ
    อมตะเหรออย่าอมนานนะครับ
    ถึงเวลาหรือยังที่ท่านจะต้องทิ้งเขาเพื่อไปต่อ
    ไม่ได้ฆ่าเขานะครับ
    ลดน้ำหนัก
    ประหยัดน้ำมนต์ เออน้ำมันครับ

    เราเตือนท่านมานานแล้ว
    ต่อให้มีกายอันเป็นทิพย์
    ก็ยังมี
    หรือไม่อย่างไร

    ทุกท่านสว่างหรือยังครับ
    ผมมืดตึ้บเลยมึนอีกต่างหาก

    เจริญในธรรมครับ
     
  3. svt

    svt เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 มกราคม 2006
    โพสต์:
    235
    ค่าพลัง:
    +1,033
    ประวัติท่านปรามาจารย์ตั๊กม้อ ผมยังไม่เคยอ่านเจอทราบเรื่องราวนี้มาก่อนครับ

    ทราบเพียง ปรามาจารย์ตั๊กม้อ เป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่๑ นิกายเซน ประเทศจีน
    และตามมตินิกายนี้ เมื่อนับสืบทอดมาจากพระมหากัสสปะเถระ
    ท่านตั๊กม้อเป็นสังฆปรินายกองค์ที่ ๒๘ ทางสายอินเดีย
    พระสูตร พระโพธิธรรม มหาสังฆปรินายก

    ผมไม่เคยทราบเรื่องราวที่คุณมะหน่อกล่าวถึงไว้
    หรืออาจจะเพราะคงยังไม่เคยผ่านตามาก่อน
    จะกรุณาช่วยหาลิงค์มาบอกให้อ่านดูได้มั้ยครับ?
     

แชร์หน้านี้

Loading...