ธรรมศาสตรา...ของ เจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 7 เมษายน 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    “ธ ร ร ม ศ า ส ต ร า
    ของ...เ จ้ า ชี วิ ต - เ จ้ า แ ผ่ น ดิ น”

    คนไทยรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า ๗๕ ปี ลงมา
    โดยเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก จากต่างประเทศ
    จะมองภาพลักษณ์ของเจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน ผิดไปจากความเป็นจริง
    และจะทราบถึงคุณสมบัติ วัตรปฏิบัติ การใช้อำนาจ
    ของพระเจ้าแผ่นดินในประวัติศาสตร์ของตนเองน้อยมาก

    อาจจะมีความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเลยไปว่า
    พระเจ้าแผ่นดินของไทยในอดีต ใช้อำนาจปกครองราษฎรด้วยการบังคับ
    กดขี่ ข่มเหง ย่ำยีประชาชน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
    ลองพิจารณาจากงานเขียนชุดนี้และพระบรมราโชวาท
    ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรส
    เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ ว่า

    “การที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี
    ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ
    มิใช่เกลียดไว้แล้ว จะได้แก้เผ็ด
    มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินนอนสบาย...

    เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจน
    และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขต่อทุกข์
    อดกลั้นต่อความรักและความชัง
    อันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง
    เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน...
    และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจปกครอง...”


    • ส ม บู ร ณ า ญ า สิ ท ธิ์

    อดีตอำนาจสูงสุดในแผ่นดินเป็นของพระมหากษัตริย์
    ทรงเป็นเจ้าชีวิตที่ทรงมีพระราชอำนาจเหนือชีวิตของคนทุกคน
    จะให้ประหารชีวิต ลงโทษราษฎรใดๆ ได้ตามพระราชอัธยาศัย

    และทรงเป็นเจ้าแผ่นดิน
    หรือเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วพระราชอาณาจักร
    ราษฎรทั้งหลายเป็นข้าของแผ่นดินจะมีสิทธิครอบครองที่ดินได้
    ต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน
    นั่นคือ ความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์
    ที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระเจ้าแผ่นดิน

    การดำรงฐานะของเจ้าชีวิตเจ้าแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต
    มีรูปแบบการใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์แตกต่างกันไปบ้างตามกาลสมัย
    แต่ก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม
    ของผู้คนตลอดทั่วพระราชอาณาจักร
    และทรงเป็นผู้นำทางจิตใจของคนไทย
    โดยไม่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลากว่า ๑,๐๐๐ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

    [​IMG]
    [พระบรมราชานุสาวรีย์ พุ่อขุนรามคำแหงมหาราช]


    • ในสมัยกรุงสุโขทัย

    มีพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า “พ่อขุน”
    เป็นเจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน ทรงเป็นผู้ครองนครที่ดูแลทุกข์สุข
    ปกครองบ้านเมืองให้อยู่อย่างปลอดภัย
    คอยปกป้องดูแลราษฎรให้มีความสุข
    ได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน
    ราษฎรมีสิทธิในการร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์
    และมีเสรีภาพในการทำมาค้าขาย
    เป็นการปกครองเยี่ยงบิดากับบุตรหรือ “พ่อปกครองลูก”

    [​IMG]
    [พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช]


    • ในสมัยอยุธยา

    พระมหากษัตริย์ในฐานะเจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน
    ทรงเป็นสมมติเทพของคนไทยตามอิทธิพลลัทธิมหายานปนลัทธิพราหมณ์
    ที่มีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็น พระจักรพรรดิ
    และได้มีการยกฐานะพระมหากษัตริย์เท่ากับพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในเทวภูมิ

    (ราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์เหมือนแท่นบัลลังก์ของพระอินทร์
    ประดับด้วยรูปสิงห์และครุฑตามความเชื่อในเทพต่างๆ
    เช่น พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์)


    พระนามของพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์
    จึงทรงพระนามตามชื่อเทพพรหมเหล่านั้น
    (เช่น พระนารายณ์มหาราช พระรามาธิบดี)

    ขณะเดียวกัน “พระมหากษัตริย์” ในสมัยอยุธยา
    ก็ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนา
    คนไทยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ของตนคือพระ “ธรรมราชา”
    เป็นผู้มีพระบรมเดชานุภาพทรงความเข้มแข็งเด็ดขาด
    ควบคู่ไปกับทรงต้องบำรุงพระพุทธศาสนา


    [​IMG]
    [พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
    ประดิษฐาน ณ ทุ่งภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา]



    หลังจากพระนเรศวรมหาราชทรงขับไล่พม่าข้าศึกไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว
    พระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลต่อๆ มา ก็หันไปบำรุงด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม
    มิได้บำรุงด้านทหารให้เข้มแข็งเหมือนเดิม
    มินานก็เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แก่พม่าอีกครั้งหนึ่ง
    จนอยุธยาต้องล่มสลายลงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐

    • ในสมัยกรุงธนบุรี

    สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์
    ต้องใช้พระราชอำนาจเด็ดขาดกอบกู้บ้านเมือง
    ขับไล่ศัตรูจนสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี กอบกู้เอกราชได้สำเร็จ
    ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงรักษาความเป็นธรรมราชาด้วย
    แต่พระองค์ก็ทรงครองราชย์อยู่ในช่วงเวลาอันสั้น

    [​IMG]
    [พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช]


    • ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

    ความเป็นเจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน
    เปลี่ยนแปลงรูปแบบอีกครั้ง จากเทพสมมติ
    มาเป็น “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ”
    คือ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ประชาชนทั้งปวงยอมรับ
    ด้วยการที่ข้าราชการและราษฎรทั้งปวงพร้อมกันกราบทูลวิงวอน
    เชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชสมบัติ

    นอกจากประชาชนจะยอมรับในองค์พระมหากษัตริย์แล้ว
    ประชาชนยังมีความเชื่ออีกว่า
    พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะต้องทรงตั้งมั่นในหลักธรรมะ
    คือ ทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ และ จักรวรรดิวัตร
    ที่จะทรงใช้ในการทรงคุ้มครอง
    และทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดินและราษฎร


    [​IMG]
    [พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    : องค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์]


    [​IMG]
    [พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
    ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
    เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙]



    • ธ ร ร ม ะ ศ า ส ต ร า

    ลักษณะและรูปแบบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
    ซึ่งเป็น เจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน ของคนไทยที่ผ่านมา
    มิได้ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์หรือพระแสงราชศาสตรา
    มาเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจบาตรใหญ่กับราษฎร
    หรือประชาชนในปกครองตามอำเภอใจ

    การใช้พระราชอำนาจทั้งปวงมี ธรรมะศาสตรา เป็นอาวุธ
    คือ การใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือเป็นอาวุธ
    เป็นเครื่องกำกับการใช้อำนาจในการปกครอง
    ปกป้องรักษาคุ้มครองไพร่ฟ้าประชาชน


    ดั่ง “บิดาปกครองบุตร”
    ดั่ง สมมติเทพและธรรมราชา
    ดั่ง อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ


    วิชาธรรมศาสตร์
    เป็นวิชาทางการปกครองบ้านเมืองที่มีมาช้านานตั้งแต่ก่อนพุทธกาล
    เป็นไปตามลัทธิพราหมณ์ที่สอนไว้ว่า
    ผู้จะทำหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์จะต้องเรียนรู้วิชาการต่างๆ

    ดั่งมีตำนานเล่าขานว่า

    ฤาษีมโนสารเหาะไปนำคัมภีร์ธรรมศาสตร์มาจากกำแพงจักรวาล
    (ไม่ปรากฏรายละเอียดของคัมภีร์)


    และในศาสนาพราหมณ์กำหนดหน้าที่ของบุคคลในวรรณะกษัตริย์ไว้
    ให้ทำหน้าที่ป้องกันประชาชนและทำหน้าที่บริจาคทาน บูชายัญ ศึกษา เป็นต้น

    นอกจากคัมภีร์ธรรมศาสตร์จะบอกเล่ากล่าวขาน
    ถึงหลักปฏิบัติการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ต่างๆ
    เป็นเครื่องยึดถือของพระมหากษัตริย์ของไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
    พระมหากษัตริย์ของไทยยังได้มีการออกกฎมณเฑียรบาล
    ป้องกันมิให้พระองค์ทรงใช้อำนาจในทางที่ผิดไว้เป็น พระราชศาสตร์ ดังความว่า

    “...พระเจ้าอยู่หัวดำรัสด้วยกิจการคดีถ้อยความประการใดๆ
    ต้องกฎหมายประเพณีเป็นยุติธรรมแล้ว ให้กระทำตาม ถ้ามิชอบ
    จงอาจเพ็ดทูลทัดทานครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง
    ถ้ามิฟังให้รอไว้อย่าเพิ่งสั่งไป ให้ทูลในที่รโหฐาน
    ถ้ามิฟังจึงให้กระทำตาม ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระอัยการดั่งนี้
    ท่านว่าผู้นั้นละเมิดพระราชอาญา”


    หรือ

    “อนึ่ง ทรงพระโกรธแก่ผู้ใดและตรัสเรียกพระแสง
    อย่าให้เจ้าพนักงานยื่น ถ้ายื่นโทษถึงตาย”


    หลักฐานข้อมูลที่นำมาเสนอไว้นี้เป็นเครื่องยืนยันว่า

    “เจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน” ของไทย
    ได้ใช้พระราชอำนาจด้วยความระมัดระวัง
    ด้วยความเที่ยงธรรม มิได้ลุแก่พระราชอำนาจ
    กดขี่ รังแก ข่มเหง ราษฎรแต่อย่างใด


    นอกจากนี้ ตามคำสอนของพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงกษัตริย์ว่า

    เกิดจากการที่มหาชนได้สมมติบุคคลผู้หนึ่ง
    ขึ้นเป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ
    ติเตียน ผู้ควรติเตียนได้โดยชอบ
    และขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ
    ให้บุคคลนั้นเป็นหัวหน้าเป็นใหญ่ จึงเรียกว่า “กษัตริย์”


    เมื่อกษัตริย์ได้ทำให้ชนเหล่านั้นมีความสุขใจได้โดยธรรม
    จึงเรียกว่า “ราชา”

    คติทางพุทธศาสนา
    พระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดิน
    จึงเป็นผู้รับมอบอำนาจมาจากประชาชน
    ปกครองเพื่อให้ประชาชนพอใจ

    นอกจากนี้ พระพุทธศาสนายังมีอิทธิพลต่อการใช้พระราชอำนาจของ
    เจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน ของไทยเป็นอย่างยิ่ง
    คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ที่ปรากฏใน พระบาลีสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย ว่า

    พระเจ้าแผ่นดินทรงรู้ว่าตนกำลังกริ้วจัดจะไม่พึงลงอาชญาแก่ใคร

    พระเจ้าแผ่นดินพึงรู้ว่าจิตใจของตนผ่องใส
    จึงใคร่ครวญความผิดที่ผู้อื่นทำไว้
    พิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยการมองว่า
    มีส่วนที่เป็นประโยชน์เป็นโทษ
    แล้วจึงลงโทษบุคคลนั้นๆ ตามสมควร

    กษัตริย์เหล่าใดถูกอคติครอบงำ
    ไม่ทรงพิจารณาเสียก่อนแล้วทำไป
    ทรงลงอาชญาโดยผลุนผลัน
    กษัตริย์เหล่านั้นปกครองด้วยโทษน่าติเตียน
    เมื่อทิ้งชีวิตไปพ้นจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่ทุคติ

    พระราชาที่ทรงยึดถือในทศพิธราชธรรม
    เป็นผู้บำเพ็ญด้วย กาย วาจา ใจ
    และดำรงมั่นอยู่ในขันติ โสรัจจะ และสมาธิ

    พระราชาที่ครองราชย์ด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐
    ย่อมจะทำให้มหาชน ผู้กำเริบร้อนกายและจิตให้ดับหายไปได้
    เหมือนมหาเมฆยังแผ่นดินให้ชุ่มชื่นด้วยน้ำ


    [​IMG]
    [พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    : พระปิยะมหาราชแห่งราชจักรีวงศ์]



    นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ
    ยังต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในราชธรรม ๓๘ ประการ
    เช่น ต้องดูแลรักษาประชาชนดุจครูรักษาศิษย์
    หรือมารดารักษาลูกของตน ฯลฯ

    ด้วยเหตุนี้ พระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่อดีตมา
    แม้จะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์
    แต่ก็มิได้ใช้พระแสงราชศาสตราปกครองเข่นฆ่าข่มเหงรังแกประชาชน
    กลับใช้ธรรมะคือ ทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ และ จักรวรรดิวัตร
    เป็นอาวุธ ใช้ปัญญาปกครองบ้านเมือง


    • ทศพิธราชธรรม

    คือ ทาน (การให้), ศีล (การตั้งสังวรกาย-ใจให้สุจริต),
    ปริจจาคะ (การบริจาค), อาชชวะ (ความซื่อตรง),
    มัททวะ (ความอ่อนโยน), ตปะ (ทำหน้าที่ครบถ้วนไม่หลีกเลี่ยงเกียจคร้าน),
    อักโกธะ (ความไม่โกรธ), อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียนมนุษย์และสัตว์),
    ขันติ (ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทน),
    และอวิโรธนะ (การคิดการกระทำที่ถูกต้องดีงาม ปราศจากอารมณ์ยินดียินร้าย)

    • ราชสังคหวัตถุ ๔

    คือ สัสสเมธัง (ความรู้ในการบำรุงพืชผลในประเทศให้สมบูรณ์),
    ปุริสเมธัง (รู้จักสงเคราะห์ หรือชุบเลี้ยงคนที่ควร) ,
    สัมมาปาสัง (รู้จักผูกใจคนให้จงรักภักดีด้วยการปกครองที่ทำให้เกิดความสุข ความเจริญ),
    และวาจาเปยยัง (คำพูดอันอ่อนหวานไพเราะ)

    • จักรวรรดิวัตร ๑๒

    ได้แก่
    ๑. พระเจ้าแผ่นดินทรงรู้ว่าตนกำลังกริ้วจัดจะไม่พึงลงอาชญาแก่ใคร
    ๒. ปกป้องคุ้มครองกษัตริย์เมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองประเทศราช
    ๓. ปกป้องคุ้มครองพระราชวงศ์และบริวาร
    ๔. ปกป้องคุ้มครองพราหมณ์และคหบดี
    ๕. ปกป้องคุ้มครองชาวชนบท
    ๖. ปกป้องคุ้มครองสมณพราหมณ์
    ๗. ปกป้องคุ้มครองสัตว์ทั้งหลาย
    ๘. ห้ามปรามราษฎรมิให้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม
    ๙. พระราชทานทรัพย์แก่ผู้ไร้ทรัพย์
    ๑๐. สอบถามธรรมจากสมณพราหมณ์
    เพื่อขจัดสิ่งที่เป็นโทษเป็นบาปให้กระทำสิ่งที่เป็นคุณเป็นบุญ
    ๑๑. ละความยินดีใคร่ติดในอธรรม
    ๑๒. ละความละโมบโลภ

    [​IMG]
    [พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก]


    • พ ร ะ พุ ท ธ ศ า ส น า

    พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนไทยนับถือมาตั้งแต่ พ.ศ. ๖๐๐
    สมัยขุนหลวงเม้า กษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานตอนใต้ของจีน
    ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะนับถือพระพุทธศาสนา

    ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็ยืนยันว่า
    พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทาน
    แก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนปิฎกไตร
    ซึ่งเป็นการเอาใจลงปลงใจเชื่อในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

    คนในเมืองสุโขทัยมักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน
    พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า
    ท้วยปั่ว ท้วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย
    ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาทรงศีลในพรรษาทุกคน

    ในไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถาของพระเจ้าลิไท
    ยืนยันว่าคนไทยในสมัยนั้นยึดมั่นในพระพุทธศาสนาถึงขั้น

    “เอาใจลง ปลงใจเชื่อแก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”

    รู้จักผิดและชอบ รู้จักบาปและบุญ รู้จักประโยชน์ในชั่วนี้ชั่วหน้า
    รู้จักกลัวแก่บาปและอายแก่บาป

    ซึ่งแตกต่างจากคนไทยในปัจจุบันที่ไม่ค่อยรู้จักบุญ รู้จักบาป
    ไม่ปลงใจเชื่อในพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง


    โดยที่พระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดินของคนไทย
    มั่นคงในพระพุทธศาสนา
    คอยส่งเสริมบำรุงพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานนับพันปี

    เจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดินของคนไทย
    ยังได้พยายามให้คนไทยยำเกรงต่อการทำผิดศีล
    ดังปรากฏตามคำสอนของ พระเจ้าลิไท ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ว่า

    ผู้ใดฆ่าสัตว์ ไปเกิดในโลหะกุมภีนรก
    ยมบาลลงโทษเอาเชือกเหล็กรัดคอขาดแล้วเอาหัวไปทอดในหม้อเหล็กที่ลุกเป็นไฟ

    ผู้ใดเป็นข้าราชการ พระเจ้าแผ่นดินใช้ให้ไปเอาส่วยสาอากรจากราษฎร
    แล้วทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงเก็บภาษีอากรมากกว่ากำหนด
    ตายไปเกิดในโบราณมิฬหนรก
    ถูกลงโทษให้ลงไปอยู่ในแม่น้ำที่เต็มไปด้วยอาจม
    และกินอาจมนั้นต่างข้าวทุกวัน


    ด้วยอิทธิพลของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาที่ได้ยกตัวอย่างมา
    พระพุทธศาสนาจึงเป็นศูนย์รวมของจิตใจคนไทย
    สร้างความสามัคคีในหมู่ชนชาวไทย
    แต่ก็ช่วยให้คนไทยสามารถอยู่ร่วมกับศาสนิกชนอื่นๆ ได้ด้วยความสันติสุข


    ช่วยให้การใช้พระราชอำนาจของ เจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน ของไทยเกือบทุกพระองค์
    อยู่ในแนวทางของราชธรรม ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และราชสังคหวัตถุ

    ความยึดมั่นผูกพันกันเช่นนี้ เราจึงได้เห็นการสร้างวัด สร้างสถูปเจดีย์
    ถวายพระพุทธศาสนาภายหลังที่ทำศึกสงครามชนะมา
    เพื่อเป็นการถ่ายกรรมในการฆ่าข้าศึกศัตรู

    เจตจำนงอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์
    เช่นที่กล่าวมานี้มีมาโดยต่อเนื่อง
    ดังตัวอย่างกรณีของพระเจ้าตากสินมหาราช ที่มีจารึกไว้ว่า

    “อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก
    ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
    ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา
    แด่ศาสนาสมณะพระพุทธโคดม” ฯลฯ


    หรือพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ว่า

    “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
    ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี” ฯลฯ


    ต่อมาพระมหากษัตริย์ในสมัยที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญใช้บังคับ
    รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ประกาศใช้ก็กำหนดให้พระมหากษัตริย์
    ต้องเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก


    [​IMG]

    • วั ฒ น ธ ร ร ม อำ น า จ

    ด้วยอิทธิพลของพระพุทธศาสนา
    และความสืบทอดของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
    มีมาอย่างยาวนานนับพันปี ทำให้เกิดวัฒนธรรมการใช้อำนาจของ
    พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
    ผู้เป็นเจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดินของคนไทยทั่วราชอาณาจักร
    ที่คนไทยได้ยกย่องเทิดทูนนับถือ
    และมีปฏิสัมพันธ์ต่อองค์พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์ ดังนี้

    • สมัยก่อนสุโขทัย

    คนไทยมีทัศนะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้นำ
    ที่จะทำให้เกิดพิธีกรรมในการแก้ไขปัญหาความอดอยากแร้นแค้น
    ที่เกิดจากภัยธรรมชาติและการรุกรานจากชนกลุ่มอื่นๆ
    ในขณะเดียวกันก็ถือเอาพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำหรือ
    หัวหน้าในการรบพุ่งป้องกันข้าศึกศัตรู

    • สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

    พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ครองนคร
    ทรงอำนาจเหนืออาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง
    แต่มีวัฒนธรรมการใช้อำนาจแบบ “พ่อปกครองลูก” ที่ใกล้ชิดกับราษฎร
    ทรงอบรมสั่งสอนราษฎรให้อยู่ในศีลธรรมตามคำสอนของพระพุทธศาสนา
    ให้สิทธิแก่ราษฎรสั่นกระดิ่งร้องทุกข์
    และทรงพิจารณาด้วยความยุติธรรมเสมอกันไม่ว่าไพร่หรือขุนนาง
    และที่สำคัญคนไทยในสมัยนั้นมีเสรีภาพในการค้าขาย ทำมาหากิน

    • สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ๔๑๗ ปี

    ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการใช้พระราชอำนาจ
    ของพระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดินไปมาก
    จากวัฒนธรรมพ่อปกครองลูก
    เข้ามาสู่วัฒนธรรมของเทพสมมติปนกับวัฒนธรรมธรรมราชา

    เทพสมมติ เป็นอิทธิพลความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
    ที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นเทวราช
    หรือสมมติเทพที่จุติลงมาปกครองมนุษย์
    แก้ไขปัญหาความทุกข์ยากลำเค็ญของมนุษย์

    เทียบฐานะพระมหากษัตริย์เท่ากับพระอินทร์
    สถาปัตยกรรมก็สะท้อนถึงวัฒนธรรมเทพสมมติหรือเทวราชา
    แม้แต่พระนามของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์
    ก็สะท้อนมาจากวัฒนธรรมเทพสมมติ
    เช่น พระนารายณ์มหาราช พระรามาธิบดี

    วัฒนธรรมการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์
    จึงค่อนข้างจะสมบูรณ์เด็ดขาด
    แต่ก็มี พระธรรมศาสตร์ พระราชศาสตร์
    คอยเป็นเครื่องกำกับป้องกันการข่มเหงรังแกประชาชน


    [​IMG]
    [วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ภายในพระบรมมหาราชวัง
    บริเวณปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑปซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก
    และพระศรีรัตนเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พ.ศ.๒๔๒๓ : ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕]



    นอกจากนี้ธรรมราชาก็เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น
    จากการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก
    ที่ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
    วัดวาอารามต่างๆ ทรงสังคยานาพระไตรปิฎก

    มีการยกย่องพระมหากษัตริย์ว่าเป็น พระโพธิสัตว์
    มีการสร้างพระราชวังกับวัดอยู่ใกล้กัน
    เช่น พระบรมมหาราชวังกับวัดพระแก้ว
    แสดงว่าพระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก


    วัฒนธรรม “ธรรมราชา” นี้ชัดเจน
    เข้ามาปนเปในบางส่วนของวัฒนธรรม “เทวราชา” ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
    แต่ศูนย์กลางแห่งอำนาจยังคงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ราษฎรมีฐานะเป็นข้าแผ่นดิน

    พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำทั้งทางจิตวิญญาณและทางทหาร
    แต่ทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์เอง
    และทรงใช้พระราชอำนาจอยู่ภายใต้กรอบของธรรมะ
    จึงไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อนต่อต้านขัดขวาง

    • สมัยรัตนโกสินทร์

    ได้เกิดวัฒนธรรมใหม่เกิดขึ้นในสถาบันพระมหากษัตริย์
    ที่ยอมรับกันว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็น “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ”
    กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ต้องเป็นบุคคลที่ประชาชนทั้งปวงยอมรับ

    เริ่มต้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบปรามจลาจลในกรุงธนบุรีแล้ว
    บรรดาข้าราชการและราษฎรทั้งปวงก็พร้อมกันกราบทูลวิงวอน
    อัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นเสวยสวรรยาธิปัตย์ดำรงแผ่นดินสืบไป

    วัฒนธรรมนี้ตกทอดเป็นมรดกมาถึงรัชกาลที่ ๒-๓-๔ และ ๕
    ที่ข้าราชการและราษฎรได้ช่วยกันเลือกสรรบุคคล
    ขึ้นมาดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

    มีรัชกาลที่ ๖ ที่ ๗ ที่แตกต่างไปบ้าง
    แต่ ๒ รัชกาลถัดมาก็ใช้วัฒนธรรมเดียวกัน
    (ในสมัยรัชกาลที่ ๘-๙ รัฐสภาในขณะนั้นได้ลงมติเห็นชอบให้อัญเชิญขึ้นครองราชย์)


    [​IMG]
    [พระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์]


    เช่น

    รัชกาลที่ ๑ ทรงใช้พระราชอำนาจในการสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้กับคนไทยทุกด้าน

    รัชกาลที่ ๒ ทรงส่งเสริมกวีและศิลปะ

    รัชกาลที่ ๓ ทรงส่งเสริมพาณิชยกรรมและสถาปัตยกรรม

    รัชกาลที่ ๔ ทรงริเริ่มนำวิทยาการใหม่ๆ มาใช้

    รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูปการปกครอง การบริหาร
    การสร้างสาธารณูปการ การเลิกทาส ฯลฯ

    รัชกาลที่ ๖ ทรงเตรียมการมอบอำนาจอธิปไตยให้คนไทยต่อจากรัชกาลที่ ๕
    และทรงสามารถในทางปราชญ์และกวี

    รัชกาลที่ ๗ ทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้ปวงชนชาวไทย

    รัชกาลที่ ๘ ยังไม่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เอง
    ก็สิ้นพระชนม์ชีพเสียก่อน

    และ รัชกาลที่ ๙ ปัจจุบันก็ทรงงานอย่างอเนกคุณูปการต่อคนไทย

    [​IMG]

    • ส รุ ป

    พระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
    ได้ผ่านกาลเวลามานานนับ ๑,๐๐๐ ปี
    แม้จะทรงมีพระราชอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
    แต่ลักษณะการใช้พระราชอำนาจของแต่ละยุคแต่ละสมัย
    ไม่ได้เป็นไปเพื่อกดขี่ข่มเหงรังแกประชาชนแม้แต่น้อย

    • สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี

    ก็ทรงใช้อำนาจแบบพ่อปกครองลูก
    ให้ความยุติธรรมแก่ราษฎรอย่างเสมอหน้า
    ให้สิทธิเสรีภาพในการค้าขาย
    และส่งเสริมให้ราษฎรคนไทยมั่นคงในพระพุทธศาสนา

    • สมัยอยุธยาเป็นราชธานี

    แม้จะมีอิทธิพลของวัฒนธรรมในลัทธิพราหมณ์ที่หลั่งไหลมาจากเขมร
    คือ วัฒนธรรมเทวราชา หรือ เทพสมมติ
    ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงกดขี่ข่มเหงรังแกประชาชน
    กลับนำประชาชนให้มีความเข้มแข็ง และขยายพระราชอาณาจักรออกไป
    และทรงใช้พระราชอำนาจอยู่ในกรอบของธรรมะ

    ทั้งลัทธิ “ธรรมศาสตร์” และ “ราชศาสตร์”
    อันได้แก่ กฎมณเฑียรบาล
    จำกัดการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
    ป้องกันการกดขี่ข่มเหงใช้อำนาจรังแก
    และลงโทษประชาชนให้รอบคอบ รัดกุม


    ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนามาเข้มแข็งขึ้นในหมู่คนไทย
    ก็หันมาใช้อำนาจแบบพระธรรมราชาและจักรพรรดิราชา
    ภายใต้ทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ และจักรวรรดิวัตร ๑๒


    • สมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์

    แม้พระมหากษัตริย์จะยังเป็นเจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน
    ก็มิได้ทรงใช้อำนาจกดขี่รังแกประชาชนคนไทยแต่อย่างใด
    กลับนำคนไทย ต่อสู้ข้าศึกศัตรูกอบกู้บ้านเมืองขึ้นมาจนได้รับการยกย่อง
    เชื่อถือและถึงกับกราบบังคมทูลให้ทั้ง ๒ พระองค์ขึ้น
    เป็นพระมหากษัตริย์ในวาระเวลาที่ต่างกัน

    ได้เกิดวัฒนธรรมอำนาจใหม่ขึ้นมาเป็น
    อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ มาถึงปัจจุบัน


    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัตร
    ในวันที่โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช



    ด้วยความยึดมั่นในพระพุทธศาสนาและปรัชญาการปกครองต่างๆ
    ที่มุ่งต่อความมั่นคงของชาติบ้านเมืองและความอยู่ดีมีสุขของราษฎร
    มิได้มุ่งสั่งสมทรัพย์ศฤงคาร ความร่ำรวย
    หรือความสุขสบายเหมือนพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นๆ
    จึงทำให้คนไทยมีความยึดมั่นจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
    และแยกจากกันไม่ออก.....
    [​IMG]

    [​IMG] [​IMG] [​IMG]

    (ที่มา “เจ้าชีวิต-เจ้าแผ่นดิน” : http://www.watraja.org)
    ::
     
  2. Liverpat

    Liverpat เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    3,825
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
     

แชร์หน้านี้

Loading...