ท่านพ่อลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พระธรรมเทศนาในวันวิสาขบูชา

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]ท่านพ่อลี ธมฺมธโร [/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ [/SIZE]</td> </tr> </tbody></table> <center> พระธรรมเทศนาในวันวิสาขบูชา </center> <center> นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส </center> <center> ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมนฺติ </center> ณ โอกาสนี้ จักได้แสดงธรรมีกถา พรรณนาในศาสนธรรมคำสั่งสอน ของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจะเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของพวกเราทั้งหลาย ที่ได้มาประชุมกัน สดับตรับฟังในวันนี้ ได้น้อมนำไปประพฤติปฎิบัติ เพื่อเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในธรรมสวนมัย วันวิสาขบูชา ซึ่งนับว่าเป็นวันที่สำคัญอย่างยิ่ง ในทางพระพุทธศาสนานี้ ก็คือ เป็นวันที่ พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงอุบัติบังเกิดมาในโลก ที่เราเรียกว่าวันประสูติ นั้นอย่างหนึ่ง กับเป็น วันที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยพระองค์เองอย่างหนึ่ง และทั้งเป็นวันที่ พระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ตาย ด้วยทั้ง ๓ กาลนี้ ปกติก็ตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน ๖ ซึ่งดาววิสาขฤกษ์ได้โคจรมาถึงพอดี ดังนั้น จึงได้ชื่อว่า "วันวิสาขบูชา"
    เมื่อโอกาสอันสำคัญ เช่นนี้ได้เวียนมาถึงคราวใด พวกเราเหล่าพุทธบริษัท ก็พากันมากระทำพิธีกราบไหว้สักการบูชา เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีการเสียสละในกิจส่วนตัวมา บำเพ็ญกุศล ได้แก่การรักษาศีล ฟังธรรม และให้ทานเป็นต้น อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นการบูชา คุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ในส่วนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับ "พ่อ" ของเรา พระธรรมของพระองค์ก็เปรียบเหมือน "แม่" เพราะ เป็นผู้ให้กำเนิดความรู้แก่พวกเราในทางพระพุทธศาสนา ขณะนี้พ่อของเราก็ได้ตายไปแล้ว เหลือ แต่แม่ของเรายังดำรงอยู่ท่านเป็นผู้ปกปักรักษาคุ้มครองเราทั้งหลาย ให้ได้รับความสุขร่มเย็น เป็นอิสรภาพสืบมาจนทุกวันนี้ จึงนับว่าท่านได้มีพระคุณแก่พวกเราเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเราจะต้อง ตอบแทนพระคุณของท่านให้สมกับความเป็นลูกด้วย.
    ตามธรรมดาคนเรานั้น ถ้าบิดามารดาตาย เขาก็จะต้องพากันเศร้าโศก มีการร้องไห้คร่ำครวญและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำเป็นต้น เพื่อเป็น การไว้ทุกข์ให้แก่ท่าน แต่สำหรับวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่ พ่อ ของเรา คือ พระพุทธเจ้า ได้ เสด็จดับขันธปรินิพพานนี้ พวกเราก็พากันมาแสดงความไว้ทุกข์ให้กับท่านเหมือนกัน แต่เป็นการ ไว้ทุกข์คนละอย่าง. การไว้ทุกข์อย่างที่พวกเราได้กระทำกันนี้ ก็คือ ปากของเราแทนที่จะร้องไห้ เราก็พากันมานั่งสวดมนต์ภาวนา กล่าวรำพันถึงพระคุณ ของ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ ร่างกายของเราแทนที่จะตกแต่งประดับประดาด้วยเครื่องหอม และเพชรนิลจินดา สวยๆ งามๆ เราก็ไม่แต่ง, ที่นอนเบาะฟูกอันอ่อนนุ่ม ซึ่งเราเคยชอบนอนด้วยความเป็นสุข เราก็ไม่ นอน อาหารที่เราเคยกินได้ตามใจชอบวันละ ๓ เวลา ๔ เวลา เราก็กินให้น้อยลงเหลือเพียง ๒ เวลา หรือ เวลาเดียว เราต้องเสียสละความสุขต่างๆ อันเคยชินกับนิสัยของเราเหล่านี้ จึงจะ เรียกว่าเป็นการไว้ทุกข์ถวายแด่พระพุทธเจ้า คือ พ่อ ของเราจริงๆ นอกจากนี้เราก็มีดอกไม้ ธูป เทียน และวัตถุสิ่งของต่างๆ นำมาเคารพสักการะใน พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อีก ซึ่ง เราเรียกกันว่า "อามิสบูชา" อย่างนี้เป็นการปฎิบัติทางกาย วาจา ภายนอก ได้แก่ "ทาน" และ "ศีล" เป็นต้น
    แต่ก็ยังไม่จัดว่าเป็นการบูชาอย่างดีเลิศ การบูชาอีกชนิดหนึ่ง คือ "ปฎิบัติบูชา" เป็นการบูชาอย่างดีเลิศ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า "ภาวนา" ได้ แก่การปฎิบัติจิตใจของตน ให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีภายใน โดยไม่ต้องเกี่ยวด้วยวัตถุ สิ่งของภายนอกเลย นี่แหละเป็นจุดสำคัญยิ่ง ที่พระองค์ทรงปรารถนาให้พวกเราได้กระทำกัน เป็นอย่างมาก เพราะการปฎิบัติโดยวิธีนี้ ได้ทำให้พระองค์บรรลุคุณธรรมอันสูงสุด จนได้สำเร็จ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายของพระองค์ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์มามาก แล้ว ดังนั้น เราทุกคนจึงควรที่จะต้องสนใจและตั้งใจกระทำตาม เพื่อดำเนินตามรอยของพ่อแม่ ที่ได้กระทำไว้ให้ดูเป็นตัวอย่างนั้น เราก็จะได้ชื่อว่า เป็นลูกที่ดี มีกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา เพราะเชื่อฟัง และประพฤติตามโอวาทคำสั่งสอนของท่านที่ให้ไว้.
    มงคลคาถาที่ยกมาไว้ในเบื้องต้นว่า "ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ" นั้น แปลความว่า "การบูชาซึ่งสิ่งที่ควรบูชา เป็นมงคลอย่างยิ่ง" การบูชานี้มีอยู่ ๒ อย่าง ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ "อามิสบูชา" กับ "ปฎิบัติบูชา" และ การบูชาทั้งสองประเภทนี้ บุคคล ก็ยังมีความมุ่งหมายไปในประโยชน์สุขเป็น ๒ ประการอีก คือ ปฎิบัติเพื่อความเวียนว่ายตาย เกิด ซึ่งเป็นความสุขอยู่ในโลกอย่างหนึ่ง เรียกว่า "วัฎฎคามินีกุศล" เช่น รักษาศีล ก็เพื่อจะ ให้ได้ไปเกิดเป็นคนมีรูปสวยรูปงาม หรือให้เป็นเทวบุตรนางฟ้าในสวรรค์บ้าง ทำทานก็เพื่อจะได้ ไม่ยากไม่จน ได้ไปเกิดเป็นคนมั่งมี เป็นเศรษฐี เป็นพระราชา เป็นต้น กุศลอย่างนี้เขาก็จะต้อง ได้เพียงมนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ วนเวียนอยู่ในโลกไม่ไปไหน อีกประการหนึ่ง ปฎิบัติเพื่อ ความพ้นทุกข์ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้อีก เรียกว่า "วิวัฎฎคามินีกุศล"
    จุดมุ่งหมายของผู้ปฎิบัติก็เพื่อต้องการความสุข แต่เป็นความสุขในโลกอย่างหนึ่ง กับความ สุขเหนือโลก หรือพ้นโลกอย่างหนึ่ง การปฎิบัติเพื่อบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้ ไม่ ใช่ว่าเราจะต้องเอาผลของการปฎิบัติของเราไปผลักดันให้ท่านเลิศลอย แท้จริงนั้นเป็นการกระทำ ความดีให้แก่ตัวของเราเองต่างหาก ฉะนั้นการที่จะแสวงหาคุณความดีให้แก่ตัวของเราเองนี้ ก็ จำเป็นต้องมีคติอีกข้อหนึ่ง ตามที่ท่านได้สอนไว้ด้วยว่า "อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา" ซึ่งแปลความว่า "อย่าส้องเสพคบหากับคนพาล ให้คบแต่นักปราชญ์บัณฑิต จึงจะเป็น มงคล และนำความสุขมาให้" ลักษณะของคนพาลนั้น ก็คือ คนที่มีจิตใจ และ ความประพฤติ ชั่วร้าย เช่น ทำชั่วทางกาย มีการฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ล่วงกาม, พูดปด, มักพูดส่อเสียด, มักพูด สับปลับกลับกลอกหลอกลวงคนอื่น ให้เกิดเป็นข้าศึกศัตรูแก่หมู่คนดีเขา, นั่นแหละชื่อว่าคนพาล. ถ้าเราคบบุคคลประเภทนี้ ก็เท่ากับให้เขาจูงเราเข้าไปในถ้ำ ซึ่งมีแต่จะพบกับความมืดอย่างเดียว ยิ่งเข้าไปลึกเท่าไรก็ยิ่งมืดมากขึ้น จนหาแสงสว่างไม่พบ ไม่มีทางออก เรายิ่งคบคนพาลคนเลว มากเท่าไร เราก็จะต้องโง่มากขึ้นทุกที, และมีแต่ทางไหลไปสู่กระแสของความทุกข์ถ่ายเดียว ถ้า เราคบกับท่านที่เป็นนักปราชญ์บัณฑิต ท่านก็จะนำเราไปสู่แสงสว่าง ซึ่งทำให้เราเกิดสติปัญญา มี ความรู้เฉลียวฉลาดขึ้น มีดวงตามองเห็นสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก เราก็จะมีหนทาง ช่วยตัวเองให้หลุดรอดหนีไปจากความทุกข์ ความยุ่งยากได้ และประสบแต่ความสุขความเจริญเยือก เย็น เหตุนั้น ท่านจึงสอนให้คบหาสมาคมแต่กับบุคคลที่ดี ไม่ให้คบคนชั่ว.
    การคบคนชั่วทำให้เราได้รับความทุกข์เดือดร้อน คบคนดีก็นำให้เรามีความสุข และเป็น มงคลแก่ตัวเรา การทำมงคลนี้ไม่จำกัดสถานที่ และเวลา เราทำมงคลที่ใดก็จะต้องได้รับมงคลใน ที่นั้น เราทำมงคลเวลาใด ก็ย่อมได้มงคลเวลานั้น, เหตุนั้น เราก็ควรจะทำแต่ความเป็นมงคล ทุกขณะ ทุกเวลา และ ทุกสถานที่ เพื่อเป็นสวัสดิมงคลและสวัสดิภาพแก่ตัวของเราเอง การบูชา สิ่งที่ควรบูชาด้วย "อามิส" ก็ดี หรือบูชาด้วย "การปฎิบัติ" ก็ดี ย่อมจัดว่าเป็นสิ่งที่นำความ เป็นมงคลมาให้แก่ตัวเรา ทั้ง ๒ อย่าง และเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขด้วย ความสุขที่เป็นไปใน โลก อันเนื่องด้วยบุคคล และ วัตถุภายนอกนั้น จะต้องมีการ เวียน ว่าย ตาย เกิด อยู่เสมอไป แต่ความสุขที่เป็นไปในธรรม เป็นความสุขภายในอันเนื่องด้วยจิตใจ เป็นความพ้นทุกข์ที่จะไม่ ต้องเวียนกลับมาเกิดในโลกอีก ทั้งสองอย่างนี้ก็เนื่องมาจาก ผลแห่งการกระทำใน "อามิสบูชา" และ ปฎิบัติบูชา" นี่แหละ ที่จะทำให้เรามาเกิดอีกก็ได้ และทำให้เราไม่มาเกิดอีกก็ได้ แต่ผิดกันอยู่นิดเดียวเท่านั้น ที่เราจะต้องการให้มาเกิดหรือไม่ต้องการให้มาเกิด ถ้าเรา ทำเหตุยาว ผลที่ได้รับก็ยาว ถ้าเราทำเหตุสั้น ผลที่ได้รับก็สั้น ผลยาว คือการต่อชาติก่อภพไม่มี ที่สิ้นสุด ได้แก่ดวงจิตที่มิได้ขัดเกลากิเลส มีตัณหา อุปาทาน ความยึดถือเข้าไปติดอยู่ในความดี ความชั่วแห่งการกระทำของบุคคล และวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก อย่างนี้ เมื่อตายไปแล้ว ก็ จะต้องกลับมาเกิดในโลกอีก การทำเหตุสั้น ได้แก่จิตที่มีการขัดเกลา ชำระกิเลส อันเกิดขึ้นในตน เอง หมั่นตรวจตราโทษ และ ความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระ ธรรมคุณ พระสังฆคุณ เป็นอารมณ์ และกัมมัฏฐาน ๔๐ ห้อง ตามที่ท่านกำหนดไว้ ทำความรู้ เท่าทันในสังขารที่เป็นไปตามสภาพธรรม คือ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็เสื่อมสลายไป ระลึก สั้นๆ แค่ตัวของเรา ร่างกายของเรา แต่ศีรษะจรดปลายเท้า ไม่เข้าไปติดไปยึดถืออยู่ในการกระทำ ดีกระทำชั่วของบุคคล และวัตถุสิ่งของใดๆ ทั้งหมดในโลก หาสถานที่ตั้งของดวงจิตให้มั่นคง แน่วแน่อยู่ภายในตัวของเราเองแห่งเดียวและไม่ยึดถือ แม้แต่ร่างกายของเราด้วย เช่น นี้ เมื่อเราตายไปก็จักไม่ต้องเวียนกลับมาเกิดในโลกอีก.
    การกระทำ "อามิสบูชา" ก็ดี หรือ "ปฎิบัติบูชา" ก็ดี ถ้าเรายกสถานที่ตั้งของจิต ดึงออกไปไว้ในการกระทำนั้นๆ คือเข้าไปยินดีพอใจติดอยู่ในการกระทำดีของเรา มีทาน และศีลเป็นต้น ก็เป็น "วัฎฎคามินีกุศล" จิตของเราจะไม่เป็นอิสรภาพ จะต้องตกเป็นทาสของ การกระทำนั้นๆ สิ่งนั้นๆ และอารมณ์นั้นๆ นี่เป็นเหตุยาว อันทำให้เราจะต้องเวียนกลับมา เกิดอีก ถ้าเรายกเอาผลของการกระทำดีในทาน และ ศีล ดึงเข้ามารวมไว้ในสถานที่ ตั้งของจิตให้มันหลบซ่อนอยู่ภายใน ไม่ยอมให้จิตของเราวิ่งออกไปสู่เหตุภายนอกได้ ก็จะทำให้ชาติภพของเราสั้นเข้า ไม่ต้องเวียนกลับมาเกิด นี่เป็น "วิวัฎฎคามินีกุศล" ข้อที่ผิดกัน ในเหตุสองอย่างมีอยู่ดังนี้.
    ดวงจิตของคนเรา เปรียบเหมือนผลมะตูม เมื่อมันสุกงอมเต็มที่แล้ว มันจะอยู่บนต้นต่อ ไปอีกไม่ได้ จะต้องร่วงหล่นลงมายังพื้นล่าง และแตกแยกจมลงไปในดิน ครั้นแล้วเมื่อถูกอากาศ และความชื้นแฉะเข้าจนได้ส่วน เมล็ดของมันจะค่อยๆ งอกออกเป็นลำต้น เป็นกิ่ง เป็นต้น เป็นใบ เป็นดอก และเป็นผลมะตูมอีกเหมือนพืชพันธุ์เดิมของมัน แล้วในที่สุดเมื่อแก่จัด ก็ตกลงมายัง พื้นดิน และงอกเป็นต้นใหม่อีก วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่สูญหายไปไหน ถ้าเราไม่ตัดเชื้อเมล็ดของ มันให้หมดยางที่จะเพาะได้แล้ว มันก็จะต้องสืบพืชพันธุ์ของมันอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ชั่วกัลปาวสาน ดวงจิตของบุคคลที่ต้องการจะพ้นทุกข์ ไม่เวียนกลับมาเกิดอีก ก็จะต้องทำให้มันหลุดกระเด็นออก ไปจากโลก ไม่ให้เป็นเหมือนผลมะตูมที่ตกลงมายังพื้นแผ่นดิน เมื่อจิตกระเด็นออกไปนอกโลกแล้ว มันก็ย่อมจะหาสถานที่รองรับ อันจะทำให้เกิดอีกไม่ได้ ดวงจิตนั้นก็จะลอยตัวอยู่เป็นอิสระเต็มที่ หมดความยึดถือใดๆ.
    คำว่า "อิสระ" คือ ความเป็นใหญ่ จิตที่มีอิสรภาพ คือมีความเป็นใหญ่ในตัวของมันเอง ไม่ขึ้นแก่ใคร และไม่ตกเป็นทาสของสิ่งใดๆ คนเราก็มีจิตกับกายเป็นของคู่กัน กายไม่ใช่ของ สำคัญนัก เพราะไม่ใช่ของถาวร เมื่อร่างกายตาย ธาตุทั้งสี่ซึ่งประกอบด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม เหล่านี้ ก็แตกสลายไปสู่สภาพเดิมของมัน ส่วนจิตเป็นของสำคัญเพราะเป็นสิ่งถาวร เป็นตัวธาตุ แท้ที่อาศัยอยู่ในรูปกาย เป็นตัวก่อชาติก่อภพ เป็นตัวเสวยสุขเสวยทุกข์ มิได้แตกสลายไปตาม ร่างกายด้วย ย่อมมีอยู่ ตั้งอยู่ในโลก แต่เป็นสิ่งอัศจรรย์ที่มองไม่เห็น เหมือนกับไฟเทียนหรือ ตะเกียงที่เราจุดไว้ เมื่อเทียนดับแล้วไฟก็ยังคงมีอยู่ แต่ไม่ปรากฏแสง ต่อเมื่อเราจุดเล่มใหม่ขึ้น เมื่อใด แสงไฟก็จะมาปรากฏขึ้นเมื่อนั้น ร่างกาย มีธาตุ ขันธ์ อายตนะ อาการ ๓๒ กับจิต ซึ่ง เป็นตัวรู้นี้ เมื่อเราย่อลงให้สั้นก็มีเพียง รูป กับ นาม รูปคือ กาย ที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ นามคือ จิต ซึ่งเป็นผู้อาศัย เป็นตัวธาตุกายสิทธิ์.
    การที่จะทำชาติภพของเราให้สั้น ก็คือให้ระลึกอยู่แต่ นาม กับ รูป ๒ สิ่งนี้ ให้เป็น ปัจจุบันธรรมว่า รูปร่างกายนี้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยอะไร มีได้ด้วยอาศัยลมหายใจ ฉะนั้นลมหายใจก็ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของชีวิต ถ้าลมหายใจหยุดเมื่อใด เราก็ต้องตาย ลมเข้าไม่ออก ก็ตาย ลมออก ไม่เข้า ก็ตาย นึกอยู่แต่ลมหายใจอย่างนี้ให้เสมอทุกขณะ ทุกเวลา ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่ ปล่อยให้หายใจทิ้งไปเปล่า คนที่ไม่รู้ลมหายใจของตนเอง เรียกว่า "คนตาย" คือคนที่ขาดสติ มีความประมาท ก็ย่อมเป็นทางแห่งความชั่วร้าย และอันตรายเข้ามาถึง เราจะต้องไม่ปล่อยให้จิต ของเราออกไปติดอยู่ในอารมณ์ภายนอก คือ สัญญา อดีต อนาคต ทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี ให้รู้ เฉพาะอยู่แต่ในปัจจุบัน คือ ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว ที่เรียกว่า "เอกัคคตารมณ์" ไม่ให้ ใจวอกแวกไปในสัญญาอารมณ์อื่นใดเลย สติของเราก็จะตั้งมั่นอยู่ในความรู้ ดวงจิตก็จะเกิดกำลัง กล้าแข็งที่จะต่อต้านกับอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ให้เกิดความรู้สึกดี ไม่ดี ชอบ ไม่ชอบ อัน เป็นตัวนิวรณ์ ที่จะมาทำให้ดวงจิตของเราเศร้าหมอง เราต้องทำความรู้ อยู่เฉพาะปัจจุบันอย่าง เดียว ทำความรู้เท่าทันในอารมณ์ที่เกิดดับ ปล่อยวางทั้งดีและชั่วไม่ยึดถือ จิตที่เพ่งเฉพาะอยู่แต่ ในอารมณ์อันเดียวนี้ก็จะเกิดเป็นสมาธิ จนเป็นญาณจักขุขึ้น มีหูทิพย์ ตาทิพย์ มองเห็นเหตุ การณ์ อดีต อนาคต ทั้งใกล้ และ ไกล มีบุพเพนิวาสญาณ รู้กรรมในอดีตชาติ รู้การเกิด การ ตาย การมา การไปของตัวเอง และบุคคลอื่น สัตว์อื่น ว่าเกิดมาแต่กรรมดี กรรมชั่วอย่างใด เป็นเหตุทำให้เราเกิดความสลดสังเวช เบื่อหน่ายในชาติภพ และตัดกรรมที่จะไม่ให้เราคิดกระทำ ความชั่วอีกได้ ความเบื่อหน่ายอันนี้เป็นของมีคุณ ไม่ใช่เป็นของมีโทษเหมือน เบื่อเมา เบื่อเมา นั้นมีลักษณะเหมือนกับคนที่กินข้าวอิ่มแล้ววันนี้ ก็รู้สึกเบื่อไม่อยากกินอีก แต่พอวันรุ่งขึ้นก็หาย เบื่อ และกลับกินอีกได้ ส่วนการเบื่อหน่ายนั้น เป็นการเบื่อที่เราจะไม่กลับยินดีทำในสิ่งนั้นอีก เช่นเราเห็นการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ เราก็ไม่อยากทำปัจจัยที่จะทำให้เราต้องกลับมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีก ดังนี้เป็นต้น.
    ข้อสำคัญของผู้ปฎิบัติ ที่ต้องการจะพ้นทุกข์นั้น ก็คือ ความเพียร และ อดทน เพราะ การกระทำความดีทุกอย่างย่อมจะต้องมีอุปสรรคมาคอยทำลาย แม้แต่พระพุทธองค์เมื่อทรงกระทำ ความเพียรอยู่ ก็ยังมีพวกพญามารตามมารบกวน เพื่อจะมิให้พระองค์ได้สำเร็จบรรลุในธรรม แต่ พระองค์ก็มิได้ทรงหวั่นไหว หรือ ท้อถอยละเลิกการกระทำของพระองค์เสีย ทรงใช้สัจจบารมีของ พระองค์ขับไล่กิเลสมารต่างๆ เหล่านั้น จนพ่ายแพ้ไปสิ้น พระองค์ทรงยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อ ต่อสู้กับพวกพญามาร ด้วยน้ำพระทัยอันมั่นคงองอาจกล้าหาญ ดังนั้นในที่สุดพระองค์ก็ทรงมีชัย ชนะอย่างงดงาม จนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าของเราอยู่บัดนี้ นี่ เป็นตัวอย่างอันสำคัญที่ "พ่อ" ของเราได้กระทำไว้ให้ลูกดูในเบื้องหลัง.
    เหตุนั้น การที่พวกเราทั้งหลายพากันตั้งใจปฎิบัติจิตใจกระทำคุณงามความดีนี้ ก็ย่อมจะ ต้องมีอุปสรรค และพวกมารมารบกวนเช่นเดียวกัน แต่เราก็ต้องฟันฝ่าต่อสู้จนสุดฝีมือด้วยความ อดทน ธรรมดาของดีนั้นก็ย่อมมีผู้อยากได้ เหมือนผลไม้ที่สุกหวานก็ย่อมมีหนอน หรือแมลงมา คอยกิน คนที่เดินไปเฉยๆ ตัวเปล่า ไม่มีสิ่งของมีค่าติดตัวไป หรือไม่มีสิ่งที่จะนำความสนใจให้แก่ ใคร เมื่อเดินผ่านไป คงไม่มีใครเพ่งเล็งมองดู แต่ถ้าเรามีของมีค่าติดตัวไป ก็ย่อมมีผู้อยากได้ หรือ คอยแย่งชิงปองร้าย เหมือนกับ หมา หรือ แมว ที่มันกระโดดขึ้นตะครุบมือของเรา ถ้าเรา ไม่มีอาหารดีๆ ถืออยู่ในมือ มันก็คงไม่กระโดดขึ้นตะครุบ ฉันใดก็ดี ผู้ปฎิบัติก็เช่นเดียวกัน เมื่อจะทำความดีก็ต้องต่อสู้กับอุปสรรค จึงจะมีความสำเร็จ เราจะต้องทำดวงจิตของเราให้กล้าแข็ง เหมือนกับเพขรหรือหินซึ่งใครจะนำไปเผาไฟก็ไม่ไหม้ แม้จะทุบแตกมันก็ยังคงแข็งแกร่งเป็นเพชร หรือหินอยู่นั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงกระทำดวงจิตของพระองค์ให้แข็งแกร่ง จนแม้พระสรีรธาตุ บางส่วนของพระองค์ก็ยังเผาไฟไม่ไหม้ ยังคงเป็นพระบรมสารีริกธาตุปรากฏให้เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ นี่ก็ด้วยอำนาจแห่งความบริสุทธิ์ และสัจจะความจริงของพระองค์นั่นเอง เหตุนั้น เราทั้งหลายก็ ควรจะพากันตั้งใจทำความบริสุทธิ์ให้แก่ กาย และ จิต ของเราจนเป็นธาตุแท้เผาไฟไม่ไหม้อย่าง พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านั้นบ้าง แม้จะทำไม่ได้ก็ให้เหมือนกับเมล็ดมะขามที่หุ้มอยู่ภายในฝักของมัน แม้จะมีตัวมอดมาเจาะกินเปลือกและเนื้อจนหมดแล้ว แต่มันก็ยังคงความแข็งแกร่ง ของเมล็ดในของมันไว้ได้.
    สรุปความแล้วก็คือ การตัดชาติภพ คือ การรวมความรู้ให้สั้นเข้า ต้องยกสถานที่ตั้ง ของจิตให้ปักแน่นอยู่ภายในร่างกาย โดยไม่ยึดถืออาการกิริยาใดๆ ภายนอกเลย ปล่อยวางทุกสิ่ง ทุกอย่างที่เป็นไปโดยสภาพธรรม อันมีการเกิดดับและเสื่อมสลายไปตามธรรมดา กระทำดีก็ไม่ให้ จิตวิ่งแล่นออกไปสู่ความดี ต้องให้ผลของความดีแล่นเข้ามาอยู่ในจิต ดึงทุกสิ่งทุกอย่าง ให้มันหลบซ่อนเข้ามาอยู่ภายในดวงจิตของเรา ไม่ปล่อยให้จิตแผ่ซ่านออกไปยินดียิน ร้ายกับผลของการกระทำ และวัตถุภายนอก เหมือนกับผลมะตูมที่มันเก็บ ลำต้น กิ่งก้าน และดอกใบของมัน ไว้ให้รวมคุดอยู่ภายในผลแห่งเดียว เมื่อตัดเชื้อภายนอกที่จะประสานต่อเชื่อม กับเชื้อภายในของมันแล้ว มันก็จะไม่ขยายกิ่งก้านให้แตกออกเป็นผลมะตูมอีกต่อไป.
    ผู้ใดกระทำได้ดังกล่าวมาแล้ว ก็จะเป็นการถวายบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของ เราอย่างถูกต้อง ผู้นั้นก็จะได้ถึงพร้อมด้วยความสวัสดิมงคล อันเป็นทางนำมาซึ่งความสุขตลอด กาลเวลา ได้แสดงมาในมงคลคาถาให้เป็นการเจริญปัญญาแห่งพวกเราทั้งหลาย ที่จะน้อมนำไป ประพฤติปฎิบัติ เพื่อสักการบูชาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ใน วันวิสาขบูชานี้ ก็พอสมควรแก่กาลเวลา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
    (เรียบเรียงโดยย่อตามเค้าที่ท่านอาจารย์ได้แสดงในวันวิสาขบูชา ณ วัดอโศการาม จ.ว. สมุทรปราการ ในวันที่ ๒๔ พ.ค. ๒๔๙๙)

    *********
     

แชร์หน้านี้

Loading...