ที่แสวงบุญ"อัฐวินายัค" รัฐมหาราช...อินเดีย

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 31 มีนาคม 2007.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,175
    [​IMG]

    [​IMG]ถ้าการไปสังเวชนียสถานคือความใฝ่ฝันของพุทธศาสนิกชน

    อัฐวินายัค (Ashtavinayaka) ก็คล้ายคลึงกัน...เพราะเป็นเทวสถาน 8 แห่งที่ชาวฮินดูผู้นับถือพระพิฆเนศ ต้องไปให้ได้สักครั้งในชีวิต

    หลบร้อนจากเมืองไทยมุ่งไปอินเดีย มี ยุวดี บุญครอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เทเลวิชั่น แอนด์มีเดีย จำกัด เป็นหัวหน้าคณะพาไปบูชา พระพิฆเนศ ถึงถิ่นต้นกำเนิดศาสนาฮินดู เพื่อนำมวลสารกลับมาจัดสร้างพระพิฆเนศรุ่น "นวมหาราช" ที่เมืองไทย

    ระยะทางที่ห่างกันนับพันกิโลเมตรไม่ได้ทำให้แดดที่มหาราช-รัฐทางตะวันตกของอินเดียร้อนน้อยกว่ากรุงเทพมหานครแต่อย่างใด

    ตรงกันข้าม กลับเพิ่มดีกรีความร้อนขึ้นจนแสบผิว หากเข้าสู่หน้าร้อนแบบจริงจัง อุณหภูมิสามารถไต่ขึ้นไปถึง 40 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

    ถือกันว่าพระพิฆเนศเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการ เป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรคและเป็นเทพแห่งความสำเร็จจนมีคำกล่าวว่า

    "ที่ใดมีความสำเร็จ ที่นั่นมีพระพิฆเนศ ที่ใดมีพระพิฆเนศ ที่นั่นมีความสำเร็จ"

    พระพิฆเนศมีหลายสี แต่ละสีมีความหมายต่างกัน อย่าง สีขาว หมายถึงความหลุดพ้น สีแดง หมายถึงการเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บ สีเขียว หมายถึงมีคุณสมบัติอันมหาศาล สีดำ หมายถึงความตาย ฯลฯ

    ปัจจุบันการบูชาพระพิฆเนศตามสีไม่ปรากฏมากเหมือนในอดีต จะพบเห็นจนชินตาก็พระพิฆเนศองค์ส้ม เพราะเป็นสีของศาสนาฮินดู

    คนอินเดียไม่ได้เรียก "พิฆเนศ" หรือ "พิฆเนศวร" (Vigneshwar) เหมือนคนไทย แต่นิยมเรียก "คเณชา" (Ganesha) "คณปติ" (Ganapati) หรือ "วินายัค" (Vinayaka) และมักเติมคำว่า "ศรี" (Shri/Shree) ลงไปหน้านามเพื่อแสดงความยกย่องนับถือ

    กิน-หลับ-คุย เป็นวงจรฆ่าเวลาของการเดินทางที่ต้องใช้เวลานานๆ

    แต่ถ้าจะให้ครบรสต้องบวกการเล่าสู่กันฟังถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเมืองนั้น ประเทศนั้นเข้าไปด้วย

    ระหว่างนั่งรถจากเมืองมุมไบสู่เมืองปูเน่เพื่อพักเอาแรงก่อนออกเดินทาง "แสวงบุญ" ในวันรุ่ง

    ปัณฑร ทีรคานนท์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ จ.เชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมเดินทาง เล่าถึงการนับถือเทพเจ้าของคนอินเดียว่า

    นับถือกันใน 3 ลักษณะ คือ เทพประจำตัว เทพประจำตระกูล และเทพประจำหมู่บ้าน

    เทพทั้ง 3 ไม่ต้องเป็นองค์เดียวกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของแต่ละบุคคล

    ถ้าแบ่งตามภูมิภาค คนอินเดียตอนเหนือมักนับถือพระศิวะ ทางตะวันออกนับถือเจ้าแม่กาลี (พระอุมาในภาคดุร้าย)

    ส่วนทางตะวันตกนับถือพระพิฆเนศ-เข้มข้นเป็นพิเศษในรัฐมหาราช

    แต่ละบ้าน แต่ละอาคารจะมีรูปบูชาของพระพิฆเนศ เทวสถานของพระพิฆเนศก็ปรากฏอยู่ทั่วไป มีพื้นที่ตั้งแต่เพียงไม่กี่ตารางเมตรไปจนถึงหลักสิบหลักร้อยตารางเมตร

    ด้วยระบบวรรณะซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของดินแดนแห่งนี้ ทำให้เกิดเทวสถานซึ่งเป็นของแต่ละวรรณะ

    แต่ถึงที่สุด วรรณะก็แพ้สิ่งที่เรียกว่า "ความศรัทธา" เพราะเทวสถานส่วนใหญ่ ผู้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าไปสวดมนต์อ้อนวอนขอพรต่อเทพเจ้าได้เหมือนกันหมด

    เมื่อถึงช่วง คเณศจตุรถี (Ganesh Chaturthi) อันเป็นวันที่เชื่อว่าพระพิฆเนศถือกำเนิดขึ้น มีพิธีบูชาพระพิฆเนศที่เฉลิมฉลองกันประมาณ 10 วัน ในราวเดือนสิงหาคม-กันยายน ชาวฮินดูที่นับถือพระพิฆเนศจะหลั่งไหลมาที่รัฐมหาราชเพื่อร่วมงาน และออกเดินทางไปยัง อัฐวินายัค เพื่อบูชาพระพิฆเนศ

    ถึงตอนนั้นเทวสถานทั้ง 8 จะเรืองรองเปล่งปลั่งไปด้วยศรัทธาของผู้บูชาพระพิฆเนศที่มีเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน

    เทวสถานทั้ง 8 แห่ง ตั้งกระจายอยู่ในรัฐมหาราช หลายคนยึดเอาเมืองปูเน่หรือเมืองมุมไบเป็นศูนย์กลาง แล้วค่อยออกเดินทาง

    คำนวณว่าหากเชื่อมแต่ละแห่งเข้าด้วยกันจะมีระยะทางเกือบพันกิโลเมตร จึงไม่จำเป็นว่าแสวงบุญครั้งเดียวต้องให้ครบทั้ง 8 ที่ หรือกำหนดว่าต้องเริ่มแสวงบุญจากที่ไหนก่อน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนมากกว่า

    ปีนี้มีเวลาว่างแค่บูชาแห่งเดียว ปีหน้าเตรียมความพร้อมมาดีค่อยไปยังเทวสถานจุดที่เหลือ

    บางคนศรัทธากล้าแกร่ง ไปอัฐวินายัคหลายครั้งในชีวิตก็มี

    ที่ทำให้อัฐวินายัคเป็นเทวสถานศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเชื่อว่าทุกแห่งล้วนเกี่ยวพันกับการปรากฏองค์ของพระพิฆเนศทั้งสิ้น

    เริ่มตั้งแต่เทวสถาน ศรีวรทาวินายัค (Shri Varadavinayak) ที่ มะฮัด (Mahad) เป็นที่ซึ่งเชื่อว่าพระพิฆเนศปรากฏให้สานุศิษย์ที่บูชาพระองค์ได้เห็น และได้ให้พรอันประเสริฐแก่ผู้บูชาทั้งหลาย เทวสถาน ศรีบัลลาเลศวร (Shri Ballaleshwar) ที่ ปาลี (Pali) เล่ากันว่าศิษย์ชื่อ "มัลราด" บูชาพระพิฆเนศอย่างไม่รู้เดือนปี พระพิฆเนศเกิดความพอใจจึงบันดาลให้เกิดรูปบูชาของพระองค์ขึ้น

    เทวสถาน ศรีมหาคณปติ (Shri Maha Ganapati) ที่ รันชันกาวน์ (Ranjangaon) อสูรตนหนึ่งได้รับพรจากพระพิฆเนศให้มีพลังกล้าแกร่ง มีเพียงพระศิวะเท่านั้นที่ปราบได้ ต่อมาอสูรเหิมเกริม พระศิวะจึงบูชาพระพิฆเนศแล้วทำการปราบจนสำเร็จ จากนั้นพระศิวะจึงสร้างเทวสถานแห่งนี้ขึ้น

    เทวสถาน ศรีมยุเรศวร (Shri Mayureshwar) ที่โมเรกาวน์ (Moregaon) เชื่อว่าเป็นสถานที่กำเนิดพระพิฆเนศ มองไกลๆคล้ายมัสยิด เพราะสร้างเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำลายจากพวกมูฆัลซึ่งเป็นมุสลิม

    เทวสถาน ศรีจินดามณี (Shri Chintamani) ที่ เธอูร์ (Theur) พราหมณ์ชื่อ กบิล ดูแลจินดามณีอยู่ แต่คณราชาต้องการครอบครองจึงแย่งไปจากกบิล พราหมณ์จึงบูชาพระพิฆเนศ พระองค์จึงลงมาช่วยปราบคณราชา เทวสถาน ศรีสิทธิวินายัค (Shri Siddhivinayak) ที่ สิทธาเดก (Siddhatek) เล่าสืบมาว่า พระวิษณุบูชาพระพิฆเนศก่อนปราบอสูร

    เทวสถาน ศรีคีรีจัดมัจ (Shri Girijatmaj) ที่ เลนยาทรี (Lenyadri) เป็นที่เดียวซึ่งตั้งอยู่บนเขา ต้องเดินขึ้นบันไดหินพิสูจน์ศรัทธาราว 300 ขั้น จึงจะถึงตัวเทวสถานที่แกะสลักเข้าไปในหิน

    เชื่อกันว่า ศรีคีรีจัดมัจ เป็นสถานที่ซึ่งพระนางปารวตีทำพิธีขอโอรส กระทั่งเกิดเป็นพระพิฆเนศขึ้น

    ไม่ต้องสงสัยว่าทำไม ศรีคีรีจัดมัจและศรีมยุเรศวรจะเป็นสถานที่กำเนิดพระพิฆเนศทั้ง 2 แห่ง ทั้งนี้ เป็นเพราะให้น้ำหนักกับคัมภีร์ต่างเล่มกันนั่นเอง

    สุดท้าย เทวสถาน ศรีพิฆเนศวร (Shri Vighneshwar) ที่ โอซฮาร์ (Ozhar) เล่าสืบมาว่า พระพิฆเนศมีชัยเหนืออสูร ณ ที่แห่งนี้

    การเดินทางไปยังเทวสถานแต่ละแห่งไม่ลำบากยากเย็นนัก เพียงแต่ต้องอาศัยความอดทนในการนั่งรถเป็นชั่วโมงเท่านั้น

    ถนนในตัวเมืองแต่ละแห่งลาดยางอย่างดี ตึกรามบ้านช่องอยู่ชิดติดกันไป ประสาทำเลทอง แต่ออกนอกตัวเมืองเมื่อไหร่...คนละเรื่อง

    ทิวทัศน์ส่วนใหญ่คือทุ่งข้าวเจ้าข้าวสาลีไกลจนชิดติดตีนเขา ตึกหลายชั้นแปรไปเป็นบ้านหลังเล็กแคบชั้นเดียว หลายหลังมีแผ่นมูลควายวางทับหลังคาไว้กันปลิว

    คนอินเดียนิยมเลี้ยงควาย เพราะเลี้ยงง่ายและมีความอึดเป็นยอด ซื้อขายควายกันตกตัวละ 5,000-8,000 รูปี (4,000-6,400 บาท) ถ้ามีลูกติดในท้องราคาเพิ่มไปเป็นราว 10,000 รูปี (8,000 บาท) นมควายนำมาทำเป็นโยเกิร์ต เนย ส่วนมูลควายเอาไปผสมฟางทำเป็นผนังบ้าน ก๊าซที่ได้จากการหมักมูลควายนำไปขายเป็นรายได้อีกทาง

    ส่วนถนนลาดยางจะกลายสภาพเป็นดินแดง ล้อเบียดพื้น-ฝุ่นก็คลุ้ง คนในรถก็นั่งโยกเยกไปตามจังหวะที่รถตกหลุมบ่อ ผิดกับชาวบ้านซึ่งอาศัยวัวเทียมเกวียนเป็นพาหนะหลัก ที่ดูไม่อนาทรร้อนใจกับพื้นถนนขรุขระระดับน้องๆ ผิวพระจันทร์

    ร้อนนักพักสักหน่อย ดื่มน้ำอ้อยที่คั้นกันสดๆ บีบมะนาวลงไปนิดหลายคนบอกว่ารสชาติหวานๆ เปรี้ยวๆ ราคาแก้วละ 5-10 รูปี (4-8 บาท) เครื่องคั้นน้ำอ้อยมีกระดิ่งผูกติดอยู่ด้วย เริ่มคั้น-กระดิ่งก็ดังกรุ๋งกริ๋งเพลินหู

    ไม่ชอบน้ำอ้อย? อย่างนั้นต้องลอง "ชา" มีให้เลือกหลายอย่าง ทั้งใส่ผงขิง ใส่นมควาย แปลกลิ้นแต่อร่อย

    รอบๆ เทวสถานเป็นร้านรวงขายของที่ระลึก และจำหน่ายเครื่องบูชาพระพิฆเนศ ที่เห็นเยอะคือ ดอกชบาสีแดง หมายถึงความรุ่งเรือง นำมาร้อยเป็นสายยาวเกือบ 1 เมตร

    หรือจะซื้อเป็นชุด ประกอบด้วย ดอกชบา หญ้าแพรก ใบพลู หมากเป็นลูก มะพร้าว และขนมหวานเรียกว่า "ลัดดู้" สีออกเหลืองขมิ้น เพราะทำจากแป้ง เนย ขมิ้น และน้ำตาล ทั้งหมดใส่ไว้ในถาดให้นำเข้าไปไหว้อย่างสะดวก

    แต่ละวันเทวสถานทั้ง 8 แห่ง ต้อนรับผู้คนมากมาย มีตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดง หนุ่มสาววัยกลางคนไล่ไปจนถึงแก่เฒ่า มักมากันเป็นครอบครัว จึงเปิดตั้งแต่เช้าแล้วไปปิดตอนค่ำมืด ถ้าเป็นช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี อาจเปิดถึงเที่ยงคืนเลยทีเดียว

    จะเข้าไปในตัวเทวสถานต้องถอดรองเท้าก่อน บางคนล้างมือ ล้างหน้า หรือชำระล้างร่างกายให้สะอาดแล้วจึงเข้าไปบูชาพระพิฆเนศ

    ตรงประตูมีระฆังแขวนไว้ คนที่เข้าไปต้องสั่นกระดิ่ง จากนั้นไปเข้าแถวเพื่อรอบูชาพระพิฆเนศ บางครั้งแถวยาวเหยียดเป็นกิโลฯ จึงต้องทำแผงกั้นคดเคี้ยวไปมาเพื่อความเป็นระเบียบ

    เมื่อเข้าไปข้างในแล้ว พระพิฆเนศจะอยู่ในห้องเล็กๆ อีกชั้นหนึ่ง เทวสถานบางแห่งอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปสัมผัสองค์ได้ แต่โดยมากไม่อนุญาต พราหมณ์ที่ประจำอยู่ตรงประตูจะเป็นผู้นำของไหว้เข้าไปบูชาพระพิฆเนศ แล้วนำออกมาคืนแก่เจ้าของ

    สิ่งของที่ได้กลับมาอย่างขนมลัดดู้ คนฮินดูนำมาทานเพื่อความเป็นมงคล ส่วน มะพร้าวนำมาเจาะแล้วนำน้ำหรือเนื้อมะพร้าวไปประกอบอาหาร

    ขั้นตอนต่อไปพราหมณ์จะเจิม "ติกะ" สีแดงให้ที่หว่างคิ้ว บูชาเสร็จแล้วก็เดินออกทางด้านข้างของเทวสถาน เพราะเชื่อว่าไม่ควรหันด้านหลังให้เทพเจ้า

    เมื่อกลับออกมาใบหน้าของทุกคนดูอิ่มสุข ด้วยถือว่าพระพิฆเนศได้ยินคำบูชาของตนแล้ว

    "อินเดียเป็นยังไงบ้าง" ใครบางคนถามขึ้น

    "ทึ่ง" เป็นคำตอบอย่างสั้น

    ทึ่ง-ที่แม้กระแสโลกาภิวัตน์จะถั่งโถมเข้าสู่อินเดียมากเท่าไหร่ แต่ก็ไม่สามารถสั่นคลอนศรัทธาในศาสนาที่หยั่งรากลึกลงไปในจิตใจของชาวอินเดียได้

    ตลอด 3 วันของการเดินทางไปยังอัฐวินายัค แต่ละแห่งจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัย...ถือเป็นเรื่องปกติของที่นั่น

    ทึ่ง-ที่วิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในอินเดียผูกพันกับศาสนาถึงเพียงนี้

    เป็นมากกว่า "อินเครดิเบิ้ล อินเดีย" คำขวัญชี้ชวนให้ไปท่องเที่ยวอินเดียของทางการแดนภารตะเสียอีก!
     
  2. ง้วนดิน

    ง้วนดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    2,362
    ค่าพลัง:
    +11,047
    อ่านแล้วอยากไปม่างจัง
     
  3. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494

    ไฟล์ที่แนบมา:

  4. ง้วนดิน

    ง้วนดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    2,362
    ค่าพลัง:
    +11,047
    ขยันจัง.....หนูรินนน....
    (แกล้งเรียกผิดอะ)
     
  5. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    vbvb..
    ไม่เป็นไรค่ะ..เรียกผิดเป็นคนสวย ๆ...ตาชอบ
    ฮ่าๆ..แสดงว่าเรา..ก้อ....อาจจาใกล้เคียง
     
  6. ง้วนดิน

    ง้วนดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    2,362
    ค่าพลัง:
    +11,047
    แล้วครายว่า "หนูตา" ไม่สวยอะจ๊ะ
    ป้าจาไปขอบคุณมาน

    โอ๋...โอ๋...ย้อเย่นนนนนนนน
     
  7. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    boydd <<

    ฮ่าๆ ใส่ไฟๆ จริงๆก็ใช่แหล่ะ ตาคนนั้นล่ะป้า..

    (การสนทนาเราเริ่มห่างจากที่แสวงบุญอีกแล้วเน๊าะ อิอิ)
     
  8. toottoo

    toottoo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 เมษายน 2006
    โพสต์:
    720
    ค่าพลัง:
    +3,255
    อนุโมทนาด้วยครับ
    ขอบารมีพระเคณศสถิตย์อยู่กัยทุกท่าน
    ให้ชีวิตปราศจากอุปสรรค และประสบความสำเร็จทุกประการ
     

แชร์หน้านี้

Loading...