ที่นั่งที่นอน ของพระอริยะ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 11 มกราคม 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    เวนาคสูตร
    [๕๐๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
    เป็นอันมาก เสด็จถึงพราหมณคามแห่งชาวโกศลชื่อ เวนาคปุระพราหมณ์คฤหบดีชาวเวนาคปุระ
    ได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากยสกุลแล้ว เสด็จมาถึงเวนาคปุระ
    โดยลำดับ ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะ
    เหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
    พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่ง
    ของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม
    พระองค์ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้นไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศ
    พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์
    ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล ครั้งนั้นแล พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวนาคปุระ
    ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง ณ ที่ควร
    ส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป
    แล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมมือไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งลง ณ
    ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวก
    นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พราหมณ์วัจฉโคตรชาวเวนาคปุระ ได้กราบทูลพระผู้
    มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญไม่เคยมีมาแล้ว
    อินทรีย์ของท่านพระโคดมผ่องใสยิ่งนัก พระฉวีวรรณของท่านพระโคดมบริสุทธิ์ผุดผ่อง ข้าแต่
    พระโคดมผู้เจริญ อินทรีย์ของท่านพระโคดมผ่องใส พระฉวีวรรณของท่านพระโคดมบริสุทธิ์ผุด
    ผ่อง เหมือนกับผลพุทราสุกที่มีในสรทกาลอันเป็นของบริสุทธิ์ผุดผ่อง ฉะนั้น ข้าแต่พระโคดม
    ผู้เจริญ อินทรีย์ของท่านพระโคดมผ่องใส พระฉวีวรรณของท่านพระโคดมบริสุทธิ์ผุดผ่อง เหมือน
    ผลตาลสุกที่หลุดจากขั้วอันเป็นของบริสุทธิ์ผุดผ่อง ฉะนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อินทรีย์ของ
    ท่านพระโคดมผ่องใส พระฉวีวรรณของท่านพระโคดมบริสุทธิ์ผุดผ่อง เหมือนกับแท่งทองชมพู
    นุชที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันหลอมดีแล้ว อันนายช่างทองผู้ฉลาดบุดีแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลเหลือง
    ส่องแสงประกาย สุกสะกาว ฉะนั้นข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่เห็นปานนี้
    คือ เตียงมีเท้าเกิน ---ประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วย
    ขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อ
    ดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะ อันวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น
    เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดมีขนแกะข้างเดียวเครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่อง
    ลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คนยืนรำได้ เครื่องลาดหลังช้าง
    เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่อง
    ลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง ท่านพระโคดมได้ที่นอน
    ที่นั่งสูงใหญ่เห็นปานนี้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากเป็นแน่พระผู้มีพระภาค
    ตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ที่นอนที่นั่งอันสูงใหญ่เหล่านั้น คือเตียงมีเท้าเกินประมาณ ...
    เครื่องลาดมีหมอนข้าง บรรพชิตหาได้ยาก และที่ไดแล้วก็ไม่ควรใช้สอย ดูกรพราหมณ์ ที่นั่ง
    ที่นอนอันสูงใหญ่ ๓ ชนิดนี้ ทุกวันนี้เราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ที่นั่ง
    ที่นอนอันสูงใหญ่ ๓ ชนิด เหล่าไหน คือ ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ที่เป็นของทิพย์ ๑ ที่นั่งที่นอน
    อันสูงใหญ่ที่เป็นของพรหม ๑ ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ที่เป็นของพระอริยเจ้า ๑ ดูกรพราหมณ์
    ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ๓ ชนิดนี้แล ทุกวันนี้ เราได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ฯ
    วัจฉ. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ที่เป็นของทิพย์ ซึ่งทุกวันนี้
    ท่านพระโคดมได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก เป็นไฉน ฯ
    พ. ดูกรพราหมณ์ เราอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดในโลกนี้อยู่ เวลาเช้าเรานุ่งแล้ว
    ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคมแห่งนั้นแหละเวลาหลังอาหารกลับจากบิณฑบาต
    แล้ว เข้าไปยังชายป่า กวาดหญ้าหรือใบไม้ซึ่ง มีอยู่ ณ ที่นั้นเป็นกองแล้ว นั่งคู่บัลลังก์ ตั้งกาย
    ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าเราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก วิจาร
    มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
    ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจาร สงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติ
    สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ
    ว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เข้าจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะ
    ละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกร
    พราหมณ์ ถ้าเราผู้เป็นเช่นนี้เดินจงกรมอยู่ ที่เดินจงกรมในสมัยนั้นของเรา ชื่อว่าเป็นทิพย์
    ถ้าเราผู้เป็นเช่นนี้ยืนอยู่ ที่ยืนในสมัยนั้นของเรา ชื่อว่าเป็นทิพย์ถ้าเรา ผู้เป็นเช่นนี้นั่งอยู่ ที่นั่งใน
    สมัยนั้นของเรา ชื่อว่าเป็นทิพย์ ถ้าเราผู้เป็นเช่นนี้นอน อยู่ ที่นอนอันสูงใหญ่ในสมัยนั้นของเรา
    ชื่อว่าเป็นทิพย์ ดูกรพราหมณ์ที่นั่งที่นอน อันสูงใหญ่อันเป็นของทิพย์นี้แล ทุกวันนี้ เราได้ตาม
    ความปรารถนาได้โดย ไม่ยาก ไม่ลำบาก ฯ
    วัจฉ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว
    เพราะใครคนอื่นยกเว้นท่านพระโคดมเสีย จักได้ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ที่เป็นของทิพย์เห็นปาน
    ดังนี้ ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ส่วนที่นั่งที่นอน
    อันสูงใหญ่ที่เป็นของพรหม ซึ่งทุกวันนี้ท่านพระโคดมได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
    ไม่ลำบาก เป็นไฉน ฯ
    พ. ดูกรพราหมณ์ เราอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดในโลกนี้อยู่ เวลาเช้าเรานุ่งแล้ว
    ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคมแห่งนั้นแหละเวลาหลังอาหาร กลับจากบิณฑ
    บาตแล้ว เข้าไปยังชายป่า กวาดหญ้าหรือใบไม้ซึ่งมีอยู่ ณ ที่นั้นเข้าเป็นกองแล้ว นั่งคู้บัลลังก์
    ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒
    ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก
    ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่
    หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วย
    มุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน
    ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน
    ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร
    ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ดูกรพราหมณ์ ถ้าเรานั้นเป็นผู้เช่นนี้เดินจงกรมอยู่ ที่เดินจงกรม
    ในสมัยนั้นของเรา ชื่อว่าเป็นของพรหม ถ้าเราผู้เป็นเช่นนี้ยืนอยู่ ... นั่งอยู่ ... นอนอยู่ ที่นอน
    อันสูงใหญ่ในสมัยนั้นของเรา ชื่อว่าเป็นของพรหม ดูกรพราหมณ์ ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
    ที่เป็นของพรหมนี้แล ทุกวันนี้เราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ฯ
    วัจฉ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว
    เพราะใครอื่นยกเว้นท่านพระโคดมเสีย จักได้ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ที่เป็นของพรหมตามความ
    ปรารถนา จักได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ส่วนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ที่
    เป็นของพระอริยเจ้า ซึ่งทุกวันนี้ ท่านพระโคดมได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก
    เป็นไฉน ฯ
    พ. ดูกรพราหมณ์ เราอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดในโลกนี้อยู่ เวลาเช้านุ่งแล้ว ถือบาตร
    และจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคมแห่งนั้นแหละ เวลาหลังอาหาร กลับจากบิณฑบาต
    แล้ว เข้าไปยังชายป่า กวาดหญ้าหรือใบไม้ซึ่งมีอยู่ ณ ที่นั้น รวมเข้าเป็นกองแล้ว นั่งคู้บัลลังก์
    ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เรารู้ชัดอย่างนี้ว่า ราคะเราละได้ขาดแล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว
    ทำให้เป็นเหมือน ตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา โทสะ ... โมหะ
    เราละได้ขาดแล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้น
    อีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรพราหมณ์ ถ้าเราผู้เป็นเช่นนี้เดินจงกรมอยู่ที่เดินจงกรมในสมัยนั้น
    ของเรา ชื่อว่าเป็นของพระอริยะ ถ้าเราผู้เป็นเช่นนี้ยืนอยู่นั่งอยู่ ... นอนอยู่ ที่นอนอันสูงใหญ่
    นั้น สมัยนั้นของเรา ชื่อว่าเป็นของพระอริยะ ดูกรพราหมณ์ ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ที่เป็นของ
    พระอริยเจ้านี้แล ทุกวันนี้เราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ฯ
    วัจฉ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว
    เพราะใครอื่นยกเว้นท่านพระโคดมเสีย จักได้ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ที่เป็นของพระอริยเจ้า
    เห็นปานดังนี้ตามความปรารถนา จักได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของ
    พระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม
    ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทาง
    แก่คนผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้นข้าแต่
    พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็น
    สรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
    จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๗๒/๒๙๐
     

แชร์หน้านี้

Loading...