ทำอย่างไรเมื่อใจเป็นทุกข์

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย กรานต์, 26 มีนาคม 2009.

  1. กรานต์

    กรานต์ สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    4
    ค่าพลัง:
    +0
    [​IMG]

    ทำอย่างไรเมื่อใจเป็นทุกข์

    หากจะตั้งคำถามว่าอะไรมีคุณค่าที่สุดในชีวิต แต่ละคนคงจะมีคำตอบที่แตกต่างกันไป แต่คงจะมีคนเป็นจำนวนมากตอบว่าชีวิตคือสิ่งมีค่ามากที่สุด ที่เราแต่ละคนดิ้นรนต่อสู้กับปัญหารอบตัว เช่น การทำงาน ความเจ็บป่วย การศึกษา เพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อให้มีชีวิตที่ดีและ มีความสุข ที่สำคัญก็คือต้องสุขใจด้วย ชีวิตของใครก็ควรจะต้องดูแลกันให้ดี แล้วก็พยายามที่จะเผื่อแผ่ดูแลไปยังคนใกล้ชิด เพื่อนฝูง หรือคนอื่นๆ ด้วย ทั้งเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนนักศึกษา เพราะตัวเราเองยามที่มีความทุกข์เราก็ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นครั้งคราวด้วยเช่นกัน
    นอกจากพยายามดูแลตัวเองแล้ว เวลาที่ทุกข์ใจเราก็ต้องการเพื่อนคลายทุกข์เพื่อช่วยขจัดปัดเป่าปัญหาให้เบาบางลง หรืออย่างน้อยก็รับฟังเราบ้างเป็นครั้งคราว ฉะนั้น ถ้าตัวเองหรือคนรอบข้างมีความทุกข์ก็อย่าลืมดูแลกัน ไม่มีใครที่อยากจมอยู่ในกองทุกข์เพียงลำพัง บางครั้งอาจจนแต้มคิดอะไรไม่ออกจนอยากทำร้ายตัวเองขึ้นมา ถ้าช่วยเขาได้เราจะภูมิใจ แถมยังได้บุญอีกด้วย
    ความทุกข์ถือเป็นของคู่กันกับมนุษย์ทุกคน ไม่เลือกเพศ เลือกวัย เลือกฐานะ การศึกษา เด็กก็ทุกข์ตามประสาเด็ก ผู้ใหญ่ก็ทุกข์ตามประสาผู้ใหญ่ คนแก่ก็ทุกข์ตามประสาคนแก่ อยู่ที่ว่าจะทุกข์มาก ทุกน้อยเท่านั้นเอง แล้วอยู่ที่ว่าจะมองความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไรและมองเห็นทางแก้ไขผ่อนคลายได้หรือไม่
    โดยปกติแล้วคนทุกคนเมื่อมีทุกข์ก็จะพยายามแก้ไขความทุกข์ที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง แต่บางครั้งอาจแก้ปัญหาเองไม่ได้ จะทนรับต่อไปก็ไม่ไหวจึงจำเป็นที่คนใกล้ตัวต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือบ้าง อย่าให้คนที่คุณรักเผชิญปัญหาเพียงลำพัง หรือเขาไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือเพราะอาย หรือเกรงใจ เมื่อเกิดความทุกข์ลองพยายามแก้ด้วยตนเองก่อน ถ้าเหลือป่ากว่าแรงทนไม่ไหวจริงๆ ก็อย่าอายที่จะรับความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดเลย บ่อยครั้งที่มีผงบังตาเรามอง ไม่เห็น แต่คนอื่นมองเห็นได้ชัดกว่าแต่ขั้นแรกเราควรพยายามแก้ทุกข์ด้วยตนเองก่อน

    1. ปัญหาทุกข์ในผ่อนคลายและป้องกันได้
    ที่มาของความทุกข์ส่วนใหญ่มาจากคนใกล้ตัวของเรานั่นเอง ซึ่งได้แก่ครอบครัว ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน คนรัก สามี ภรรยา บุตรธิดา หรือในทางธรรมะก็อธิบายว่าเกิดจากตัวเราเองร่วมด้วย อันได้แก่ ความรัก โลภ โกรธ และหลง หรือเป็นคนจริงจังในชีวิตมากเกินไป รวมทั้งสุขภาพไม่ดีก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นตัวกิเลสตัณหาที่ตัวเรายึดมั่นถือมั่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวสร้างปัญหาหรือนำความทุกข์มาให้เราทั้งสิ้น เพราะความทุกข์ที่ทับถมลง ในใจ โดยไม่ถูกปลดปล่อยให้หลุดพ้นออกไปบ้าง เปรียบเสมือนการแบกของหนักไว้บนบ่าตลอดเวลา ทำให้ร่างกายปวดเมื่อยอ่อนล้า เช่นเดียวกับคนที่มีความทุกข์กดดันจิตใจมักจะมองไม่เห็นทางออก ไม่ว่าทุกข์นี้จะมีสาเหตุมาจากอะไรก็ตาม
    เมื่อเกิดความทุกข์ไม่ว่าจากสาเหตุใดๆ คนส่วนใหญ่จะเฝ้าคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องที่ทำให้ทุกข์ใจ คิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นผลให้หนักอึ้ง หดหู่ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต และความรู้สึกเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ถ้าทุกข์ที่แบกรับอยู่ไม่สามารถแก้ไขได้ อาจบานปลายถึงขั้น ทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ เช่น กินเหล้า เที่ยวหัวราน้ำ ติดยาเสพติด กินยานอนหลับ หรือฆ่า ตัวตาย หรือไม่ก็ทำร้ายผู้อื่นทางจิตใจด้วยวาจา หรือใช้กำลังทำให้เสียหายเจ็บปวด
    จงคิดเสียว่าทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรเที่ยงแท้ ย่อมมีเกิดมีดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีความสุขย่อมมีความทุกข์เป็นของคู่กัน ไม่มีอะไรยั่งยืนอย่าเอาความทุกข์นั้นมาเป็นอารมณ์จนเสียสุขภาพกายและจิตไปเลย อย่ายึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู ของกู อันที่จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นของเรา ทุกอย่างล้วนแต่สมมติขึ้นทั้งนั้น จงหัดปล่อยวาง อย่าแบกทุกข์เรื่องที่ทำให้ทุกข์ พยายามเดิน สายกลางโดยยึดหลักพอดีๆ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไปในทุกๆ เรื่อง รวมทั้งพยายามนำหลักธรรมะ และปฏิบัติธรรมบ้างเมื่อมีโอกาส เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติตัวเองให้ใจเย็นลง มองทุกอย่างด้วยความเป็นจริง

    ทางออก ...
    - ให้เลือกคบเพื่อนหรือคนสนิทที่ดีๆ ไว้ใจได้ เราจะได้ไว้วางใจ ปรึกษาหารือในเรื่องสำคัญๆ ได้
    - ให้ทำตัวง่ายๆ อย่าตั้งกำหนดกฎเกกณฑ์ในชีวิตไว้มากมายเกินไปนัก จะได้ผ่อนคลายความกดดันต่างๆ ลงไป
    - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จิตใจที่แข็งแกร่งจะอยู่ภายใต้ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเสมอ สารเอ็ดดอร์ฟินที่เกิดจาการออกกำลังกายจะช่วยให้มีความสุขสดชื่น ลืมความทุกข์ได้
    - ไม่คิดหนีปัญหา แต่ตั้งใจแน่วแน่ที่จะต่อสู้กับปัญหาด้วยความมีสติรอบคอบ และเชื่อมั้นเสมอว่าเราต้องผ่านมันไปให้ได้
    - อดทน ใช้ความคิดและสติให้มากกว่าการใช้อารมณ์ จำไว้ว่าปัญหาทุกปัญหามีทางออกเสมอ ควรรู้สึกสนุกกับการสู้ชีวิต

    2. การขจัดทุกข์ด้วยตัวเอง
    เมื่อเกิดความทุกข์มากๆ ผลที่ตามมาไม่ได้มีต่อจิตใจหรืออารมณ์เท่านั้น แต่จะมีผลกระทบต่อเนื่องมาถึงร่างกายและความเป็นอยู่ของเราด้วยจนทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือในทางตรงกันข้าม บางคนอาจจะกินมากขึ้น นอนมากกว่าปกติ ไม่อยากพูดกับใคร ไม่อยากทำงาน หรือทำงานอย่างไม่มีคุณภาพ กลุ้มมาก ควรจะขจัดความทุกข์นั้นออกไปอย่างรวดเร็วที่สุด อย่าไปสะสมไว้จนกลายเป็นทุกข์เรื้อรัง ในที่สุดก็เป็นโรคซึมเศร้า เบื่อหน่ายตัวเองและสังคม

    ทางออก ...
    - หาสาเหตุของความทุกข์นั้นให้เจอ
    - ระบายความทุกข์ออำมาบ้าง โดยการพูดคุยกับเพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง จะทำให้เราเห็นทางออกของปัญหาได้ง่ายขึ้น ดีกว่าเก็บความทุกข์ไว้คนเดียว
    - หากิจกรรมทำเพื่อให้เหนื่อยและดึงความสนใจนั้นออกไปเพื่อหลุดจากวังวนความคิดกังวลออกไป เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกีฬา วาดรูป เรียนดนตรี ทำเบเกอรี่
    - ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ จากเดิม เพื่อให้รู้สึกสบายใจขึ้น จัดห้องใหม่ แต่งตัวสไตล์ใหม่
    - หาคนสนับสนุนทางด้านจิตใจที่ดี หากปรึกษาเพื่อน ญาติสนิทแล้วไม่ดีขึ้น ควรพบผู้ที่มีความสามารถด้านนี้โดยตรง เช่น จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์

    3. แก้ปัญหาได้หายทุกข์
    สาเหตุของความทุกข์ใจมาจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ระดับของความทุกข์ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของปัญหา ในช่วงที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ จะรู้สึกเครียดมาก ทุกข์มาก เมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว ความเครียด ความทุกข์ใจ ก็จะหมดไป เราจึงต้องเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะความคิดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราเกิดความทุกข์ คิดมากก็ทุกข์มาก หากรู้จักคิดให้เป็นก็จะช่วยลดความทุกข์ไปได้มาก

    ทางออก ...
    - อย่าแก้ปัญหาแบบวู่วามใช้อารมณ์เป็นใหญ่ เมื่อเจอปัญหาพยายามสงบสติอารมณ์ ลองหายใจลึกๆ สัก 4-5 ครั้ง หรือนับ 1-10 ก่อนจะพูดหรือโต้ตอบอะไรออกไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ
    - อย่าหนีปัญหาด้วยการสร้างปัญหาใหม่ เช่น การกินเหล้า สูบบุหรี่ ติดการพนัน ยาเสพติด เพราะนั่นเป็นเรื่องความสบายใจเพียงครั้งคราวที่ต้องแลกด้วยความทุกข์ที่ยาวนาน ยิ่งกว่า อย่าผัดวันประกันพรุ่งในการแก้ปัญหา เพราะความเครียดจะสะสมทวีคูณ
    - อย่าคิดแต่จะพึ่งพิงคนอื่นตลอดเวลา ให้ถือคติตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการแก้ปัญหา จะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองได้มากกว่า
    - อย่าเอาแต่ลงโทษตัวเอง คนเราทำผิดพลาดกันได้ พลาดแล้วให้พลาดไป จงให้โอกาสตัวเองในการเริ่มต้นใหม่ แต่พยายามอย่าทำผิดพลาดซ้ำ
    - อย่าโยนความผิดให้คนอื่น จงรับผิดชอบในสิ่งที่ทำร่วมกัน การปัดความรับผิดชอบให้คนอื่นไม่ใช่การแก้ปัญหา มีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นเท่านั้นเอง
    - จงแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ คิดหาสาเหตุของปัญหาด้วยใจเป็นธรรม ไม่เข้าข้างตัวเอง คิดหาทางออกหลายๆ วิธี ลงมือแก้ปัญหาตามที่คิดไว้ แล้วประเมินผลดูว่าวิธีที่ใช้ได้ผลหรือไม่ จะได้เปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น

    4. คิดในเชิงบวก
    เพราะความคิดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราเกิดความทุกข์ คิดมากก็ทุกข์มาก หากรู้จึกคิดให้เป็นก็จะช่วยลดความทุกข์ไปได้มาก คิดให้เหมาะสม อย่าเข้าข้างตัวเองมากเกินไป

    ทางออก ...
    - คิดให้ยืดหยุ่นมากขึ้น อย่าเข้มงวด จับผิด ตัดสินถูกผิดให้ตัวเองและผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จงละวาง ลดทิฐิมานะ รู้จักให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง หัดทำเป็นลืมๆ เสียบ้าง
    - คิดอย่างมีเหตุผล อย่าด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ แล้วเก็บมาเป็นกังวล ใช้เหตุผลสอบหาความจริงให้รอบคอบเสียก่อน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อให้ใครหลอกได้ง่ายๆ
    - คิดหลายๆ มุก ทั้งด้านดีและด้านลบ เพราะไม่ว่าใครหรือเหตุการณ์ณ์ใดๆ มักมีสองด้านเสมอ มีทั้งดีและไม่ดีประกอบกันทั้งนั้น ควรคิดในมุมของคนอื่นบ้างเพื่อจะได้เข้าใจคนอื่น คิดถึงอกเขาอกเราเปิดใจให้กว้าง รับรู้เรื่องของคนอื่น ใส่ใจเรื่องของคนอื่นบ้าง เพื่อที่จะรู้ว่าปัญหาของคุณไม่ได้ใหญ่โต คนอื่นก็มีทุกข์ มีเรื่องใหญ่ในชีวิตด้วยเหมือนกัน
    - คิดแต่เรื่องดีๆ ที่มีความสุข ความสำเร็จที่ผ่านมา อย่าจำแต่เรื่องเลวร้าย จะช่วยให้เราสบายใจมากขึ้น จำไว้ว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก ค่อยๆ ฃคิดอย่างมีสติ เสียอะไรเสียได้ แต่อย่าให้เสียกำลังใจ ใจนั้นสำคัญและมีค่ามากที่สุด


    .....................................
    .........................
    สุขทุกข์ในโลกย่อมไม่จีรัง...
     

แชร์หน้านี้

Loading...