ทำบุญให้ทานไปเพื่ออะไร

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NUI, 14 มกราคม 2007.

  1. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="94%" align=center border=0><TBODY><TR><TD class=postbody vAlign=top>
    [​IMG]

    ทำบุญให้ทานไปเพื่ออะไร


    ในสังคมเราชาวพุทธมีหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องการทำบุญให้ทานในพระพุทธศาสนา บางคนไม่เข้าใจว่าทำบุญเพื่ออะไร? ทำไปทำไม? ทำบุญนั้นคืออะไร?

    บางคนก็ทำบุญโดยสักแต่เหมาเอาเพื่ออยากได้บุญ , เห็นเขาทำก็ทำเหมือนเขาเพราะเขาบอกว่าทำแล้วได้บุญ ถึงเทศกาลงานทำบุญใหญ่ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น หลายคนกลัวไม่ได้ใส่บาตรพระหรือใส่บาตรไม่ทันพระเดิน ก็ชุลมุนเบียดเสียดแย่งกันเข้าไปใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งกับพระภิกษุสงฆ์กันวุ่นวาย เพราะกลัวตนไม่ได้บุญ , บางคนก็สักแต่ว่าทำบุญโดยไม่รู้ว่าเอาบุญไปทำอะไร ,บางคนทำบุญเพื่อปรารถนาทางโลก อธิษฐานในภพหน้าชาติหน้าชาติต่อๆไป เช่น ขอให้รวยๆ ขอให้สวย เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลสไปโดยไม่เข้าใจ

    บางคนมีอุปทานในบุญ เพื่อได้ไปสวรรค์ มีวิมานสวยๆ , บางคนทำบุญเอาหน้าทำบุญอวดคนก็มี อุปมาเหมือนปิดทองเฉพาะหน้าพระอย่างเดียว และบางคนไม่เข้าใจเรื่องการทำบุญ ทำบุญโดยผิดศีล เมื่อมีงานบุญใหญ่ เช่น ทำบุญผ้าป่า ทำบุญบ้าน ทำบุญงานศพ เป็นต้น เป็นอันต้องได้ล้มวัวล้มควายมาเลี้ยงกันในงานบุญ (มักพบในต่างจังหวัด)

    ถ้าทำบุญโดยไม่เข้าใจอย่างนี้แล้วจะเป็นการเพิ่ม กิเลส ตัณหา อุปาทาน มีอวิชชา ( ความโง่ , ความหลง ) ครอบงำได้ ทำให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะอย่างไม่สิ้นสุด

    บางคนก็มีอคติกับการทำบุญสุนทานอยู่ในใจ และไม่ชอบการทำบุญเพราะมองว่าเป็นความเชื่อ ขาดปัญญาและงมงาย เมื่อเห็นคนศรัทธาในการทำบุญมากๆ บริจาคเงินมากๆก็ว่าคนหลงบุญเบาปัญญา เหมือนคนโง่งมงายเอาเงินไปทำบุญกันทำไม เงินทองนั้นหามายาก....กว่าจะเก็บจะออมได้ และยิ่งเห็นพวกคนจนๆแต่ศรัทธาสูง แล้วยังจะเจียดเงินที่ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว อุตสาห์ไปหาซื้ออาหารมาใส่บาตรพระภิกษุอีก (เห็นแล้วก็สมเพชพวกคนจนๆเหล่านี้จริงๆ ไม่คิดถึงตนเองที่มัวงมงายขาดปัญญา มีแต่ศรัทธาอย่างเดียว เป็นต้น)

    บางคนก็มองว่าการทำทานนั้นไม่ใช่เรื่องที่สำคัญของพระพุทธศาสนานักจึงไม่ให้ความสำคัญ แต่จริงๆแล้วพระพุทธองค์ท่านสอนให้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา(ปัญญา)ไปควบคู่กัน โดยไม่ให้ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป เพราะถ้าทำแต่ทานไม่มีศีลก็จะมีโอกาสทำชั่วมาก ตกนรกภูมิเวียนวนชดใช้กรรมในวัฏสงสาร และไม่เจริญภาวนาสู่ปัญญาก็ไม่มีปัญญาหาทางเข้าสู่นิพพาน พ้นทุกข์ไม่ได้

    เมื่อมีแต่ศีลหรือเจริญภาวนาอย่างเดียวในชาตินี้ (และยังไม่สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ในชาตินี้) ถ้าไม่ทำทานก็เกิดมาอดอยากมีชีวิตลำบากโอกาสผิดศีลในชาติต่อไปย่อมมีมากกว่าคนที่มีฐานะดี ทำให้อาจทำกรรมชั่วได้ง่ายเพราะความจน และไม่มีเวลามาสนใจในการภาวนาเพราะลำพังความจนก็ทุกข์ทรมานหิวโหยอยู่แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมานั่งภาวนาเพราะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งต่างกับคนมีฐานะดี ยิ่งเป็นเศรษฐีแม้ไม่ต้องทำงานก็มีทรัพย์จุนเจือกินใช้ไม่หมดในชาตินี้ มีเวลาสามารถมาเจริญภาวนาสู่ปัญญาได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องเงินทอง เป็นต้น

    ดังนั้นผู้พิมพ์จึงได้รวบรวมข้อมูลในเรื่องทานนี้จากหนังสือทาน ,จากนิยามคำสอนของหลวงปู่มั่น ,และคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ มารวบรวมเรียบเรียงให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจในเรื่องทานมากยิ่งขึ้น


    ทาน : การให้ , สิ่งที่ให้ ,ให้ของที่ควรให้แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา , สละให้ปันสิ่งของของตน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
    ทานแบ่งเป็น ๒ หมวด ดังนี้
    ทานหมวดที่๑.ได้แก่
    - อามิสทาน คือให้สิ่งของ เป็นเครื่องบริหารกาย
    - ธรรมทาน คือให้ธรรมะ เป็นเครื่องบริหารใจ
    ทานหมวดที่ ๒ ได้แก่
    - สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม
    - ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ

    พุทธศาสนิกชนถ้าไม่บำเพ็ญทานเลย ภิกษุทั้งหลายย่อมอยู่ไม่ได้ เมื่อภิกษุไม่มีเสียแล้ว พระพุทธศาสนาจะตั้งอยู่อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ได้อย่างไร
    ขอแต่ว่าผู้บำเพ็ญทานอยู่เป็นประจำแล้ว อย่าได้ย่ำเท้าอยู่กับที่ ขอให้รักษาศีลและเจริญภาวนาร่วมด้วย มิฉะนั้นท่านก็ไม่อาจที่จะรับอานิสงส์แห่งพระพุทธศาสนาได้ครบวงจร

    การทำบุญนั้นทำเพื่อบูชาคุณท่าน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เพื่อกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียว หรือความเห็นแก่ตัว เมื่อทำบุญอย่าหวังเพื่อขอให้เกิดมารวย ขอมีวิมานในสวรรค์สวยๆ มีบริวารมากมาย เป็นต้น เพราะเป็นการเพิ่มกิเลสตัณหา อุปาทาน เป็นเหมือนการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทน ทำให้ผลแห่งทานนั้นไม่บริสุทธิ์ และมีอานิสงส์อ่อน ไม่ขัดเกลากิเลส เพิ่มตัณหา เป็นไปเพื่อวัฏฏะ ไม่พ้นทุกข์

    เมื่อเราทำบุญทำทานไว้แล้ว ตราบใดที่เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เราต้องได้รับอานิสงส์แห่งบุญนั้นอยู่แล้ว ดังเช่นพระพุทธพจน์กล่าวไว้ในอันนสูตร ๑๕/๔๒ ว่า “ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสแล้ว ให้อาหารนั้นด้วยศรัทธา อาหารนั้นย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงนำความตระหนี่ให้ปราศจากไป พึงข่มความตระหนี่ซึ่งเป็นตัวมลทินเสียแล้วจงให้ทาน เพราะบุญทั้งหลายเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า” ถึงแม้จะไม่ปรารถนา ผลแห่งทานนั้นก็มีอานิสงส์ให้อยู่แล้ว ถ้าจะปรารถนาก็ควรที่จะปรารถนาสิ่งที่สูงสุด คือปรารถนาพระนิพพาน แต่ไม่ใช่ปรารถนาอย่างเดียวต้องทำเหตุร่วมด้วยจึงจะสมบูรณ์

    พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่าเมื่อเราได้ทำบุญให้ทาน ย่อมมีอานิสงส์อยู่ในตัวแล้ว ดังเช่นที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงทักขิณาวิภังคสูตร ได้แสดงธรรมเรื่องทานนี้แก่พระอานนท์ เพื่อจำแนกอานิสงส์ในลักษณะแห่งการให้ทานเฉพาะบุคคล และการให้ทานแก่พระสงฆ์ทั่วไป (สังฆทาน) ดังจะยกตัวอย่าง ลักษณะดังนี้

    ดูก่อนอานนท์ทักษิณาเป็นปาฏิบุคลิกทานมี๑๔ประการ (ยกตัวอย่างมาเพียงบางประการ ให้พอเข้าใจ)
    “ - บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้เป็นร้อยเท่า
    -ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า
    - ให้ทานผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
    - ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า
    - ให้ทานในผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปใยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำพระสกทาคามิผล ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหันตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธ และในตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธ”

    “ดูก่อนอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น”
    “ดูก่อนอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่ามีผลนับไม่ได้ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิบุคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆเลยฯ”

    คือในสมัยปัจจุบัน เราอาจพบเจอพระที่ไม่อยู่ในศีลในธรรม ที่เป็นข่าวให้เราๆได้ทราบกันและที่ยังไม่เป็นข่าวให้ทราบ แต่พระผู้มีพระภาคท่านแสดงธรรมให้รู้ว่าถึงแม้เราจะทำบุญกับพระประเภทนี้ก็จริง แต่ให้เราอุทิศในการทำบุญนั้นให้เป็นสังฆทานคือทำเพื่อสงฆ์ ก็จะมีอานิสงส์หาประมาณมิได้เช่นกัน
    ตถาคตกล่าวว่า “สังฆทานนั้นมีอานิสงส์มากกว่าการให้ทานเฉพาะบุคคล (ปาฏิบุคลิกทาน)”
    และพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญธรรมทานและสังฆทานว่าเป็นทานอันเลิศ

    ทานเป็นชื่อการให้ และสิ่งที่ให้ คนที่ให้ทานท่านเรียกว่า “ทานบดี” (ทานนะบอดี) เจ้าของทาน คือเป็นเจ้าของแห่งทานนั้นตลอดไป ใครจะมาแย่งชิงเอาไปไม่ได้
    การทำบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้ ย่อมเป็นของเราตลอดไปไม่มีใครจะมาแย่งเอาไปได้ ถ้าพอมีโอกาสและไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ขอให้รีบทำไว้อย่ารอไว้เมื่อนั้นเมื่อนี้ เพราะชีวิตไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่มีหลักประกัน

    เพราะการทำบุญนั้นเปรียบเหมือนเราเตรียมเสบียงไว้ ในขณะที่เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ เรายังไม่สามารถหนีออกจากกองทุกข์หนีออกจากวัฏสงสารได้สำเร็จคือเข้าสู่พระนิพพานยังไม่ได้ในชาตินี้ (ยกเว้นนอกจากผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำบุญเพื่อภพชาติต่อไป เพราะได้จบได้สิ้นภพชาติแล้วในชาตินี้) แต่เมื่อเรายังไม่สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ เรายังต้องวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติตามวิบากกรรมของแต่ละคน เพราะยังขจัดกิเลสให้สิ้นซากยังมิได้ กว่าจะเข้าสู่พระนิพพานได้ เราจึงจำเป็นต้องใช้บุญกุศลที่ทำไว้เป็นฐานเสบียงเป็นที่พึ่งที่อาศัย เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในภพภูมิต่อไปที่ต้องไปเกิดใหม่

    จะยกตัวอย่างเหตุผู้ที่ไม่เคยทำบุญทำทานมาแต่ก่อน แล้วมาการเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ เมื่อต้องมาเกิดในครอบครัวที่ยากจนหาเช้ากินค่ำย่ำแย่ ไม่พอกินไม่พอใช้ หิวโหย ขัดสนไม่มีเงินไม่มีของใช้ดีๆอย่างที่คนอื่นเขามี เมื่อเห็นคนอื่นมีกินมีใช้ดีๆก็อยากได้อย่างเขาบ้างตามกิเลสตัณหาของตน เมื่ออยากได้มากเข้าๆๆ ก็เกิดความโลภ ความโลภสามารถทำให้คนทำชั่วหรือผิดศีลได้ เช่นลักขโมย , ฉกชิงวิ่งราว (ผิดศีลข้อ๒) บางคนก็ฆ่าเจ้าของทรัพย์ ปิดปาก หรือเจ้าของทรัพย์ขัดขืนก็ทำร้ายและฆ่าเจ้าของทรัพย์ด้วยโทสะ(ผิดศีลข้อ๑) การทำผิดครั้งนี้ทำด้วยโลภะและโทสะทำให้ผิดศีลทั้งสองข้อ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวได้ก็อาจพูดปฏิเสธโกหกว่าตนไม่ได้ทำ (ผิดศีลข้อ๔) อีกข้อ เป็นการสร้างกรรมชั่วผิดศีลธรรมเพราะเกิดมาจน เป็นต้น

    เราไม่สามารถตัดกิเลสความโลภนี้ได้ขาด ถ้าเราไม่ได้เดินทางสู่วิปัสสนา เราจึงมีความโลภมากโลภน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ว่าแต่ละบุคคลได้เก็บบรรจุกันมาหรือระงับสะสางออกไปเท่าใดนั่นเอง แต่ศีลนั้นเป็นด่านแรกที่จะช่วยยับยั้งการก่อกรรมชั่วได้ถ้าคนนั้นตั้งใจที่จะรักษาศีลจริงเช่นกัน และศีลนั้นช่วยไม่ให้ก่อกรรมทำเข็ญทำให้ไม่มีวิบากกรรมชั่วไม่มีเจ้ากรรมนายเวรตามรังคราญ

    หรือบางคนยากจนก็จริงแต่ไม่ใช่คนที่เป็นทาสของความโลภมาก ไม่คิดทำกรรมชั่วที่ร้ายแรง แต่เกิดมาจนไม่ค่อยมีเงิน เมื่อปากท้องหิวโหยจำเป็นต้องหาอะไรใส่ปากใส่ท้อง หนทางที่ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อกับข้าว จะทำอย่างไร?...ก็ต้องตกปลามาทำอาหารกิน เลี้ยงไก่ไว้ก็เชือดคอไก่กินเอง เป็นต้น (มักพบในต่างจังหวัดมาก) นี่เป็นเหตุที่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ (ผิดศีลข้อ๑) เพื่อมาดำรงชีวิตให้อยู่รอดไปวันๆ ถ้าคนมีเงินมีฐานะก็ไม่ต้องฆ่าสัตว์กินเองไปซื้อหาอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วมาเลี้ยงชีวิตโดย ไม่ต้องผิดศีลธรรม (ยกเว้นพวกที่ตั้งใจทำโดยไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องศีลไม่เชื่อเรื่องบาปกรรม ถึงจะมีฐานะดีก็จริง แต่รักสนุกชอบใช้เวลาว่างไปตกกุ้งตกปลา เป็นต้น )

    เป็นอันว่าการเกิดมาเป็นคนจนนี้สามารถทำกรรมชั่วผิดศีลธรรมได้ง่ายกว่าคนมีฐานะดี เมื่อตายลงไปสู่อบาย ก็ยังหาโอกาสเข้าสู่พระนิพพานได้โดยยาก เพียงแค่เกิดมาจน แต่ใช่ว่าคนรวยจะไม่มีโอกาสทำกรรมชั่ว คนรวยที่ไม่มีศีลมีธรรมประจำใจย่อมผิดศีลทำบาปได้เหมือนกัน แต่เราจะกล่าวถึงเฉพาะคนที่เกิดมาจนและมีความจำเป็นของความจนที่บีบคั้นให้ต้องทำบาปเพื่อปากท้อง เป็นต้น

    อีกหนึ่งตัวอย่าง เช่นบางคนก็มีวิบากกรรมต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดียรฉาน เช่นเป็นสุนัข แต่ถ้าเคยทำบุญสุนทานไว้ก็เกิดเป็นสุนัขพันธ์ดีเป็นที่ชื่นชมของผู้เลี้ยง มีอาหารการกินอยู่ดี มีเสื้อผ้าสุนัขสวยๆใส่ เจ้าของดูแลเอาใจใส่ มีกินมีที่อยู่ในบ้านคนรวยดีกว่าคนจนๆหลายๆคนเสียอีกที่หาเช้าไม่พอค่ำ และต่างกับคนที่ไม่เคยทำบุญสุนทานมา ถ้ามีวิบากกรรมต้องเกิดเป็นสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หากินอดๆอยากๆ ไม่มีที่อยู่ประเภทสุนัขจรจัด เป็นต้น เนื่องจากบุพกรรมของสัตว์นั้นมีมาต่างกัน

    นี่คือตัวอย่างว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องทำบุญให้ทาน และการให้บุญให้ทานบ่อยๆโดยใจที่บริสุทธิ์ไม่หวังผลตอบแทนในทางเป็นไปเพื่อวัฏฏะ จะช่วยลดคลายความตระหนี่ถี่เหนียว ความละโมบโลภมากได้ไม่มากก็น้อยตามปัญญาของแต่ละบุคคล ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องบำเพ็ญทานเพราะเหตุดังนี้

    พุทธวจนะในสุมนสูตร ๒๒/๓๒ แสดงไว้ว่า
    “ ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะ แม้แก่เทวดา มนุษย์ และบรรพชิต”

    การทำบุญไว้กับมือของตนเองนี่แหละดีที่สุด แน่นอนที่สุด การมัวประมาทรอไว้ให้ญาติทำให้เมื่อตายไปแล้ว โอกาสที่จะได้รับนั้นยาก เพราะอาจไปเกิดในภูมิที่รับไม่ได้(เช่นนรกภูมิ ,สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น) หรือพอจะรับได้แต่เขาไม่ทำบุญอุทิศไปให้ก็อดอีก จงอย่าประมาททำบุญด้วยตนเองดีกว่ารอผู้อื่นทำให้เมื่อตายแล้ว มีน้อยทำน้อย มีมากทำมาก ทำตามกำลังทรัพย์ ตามกำลังศรัทธา โดยไม่ให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

    ทานสูตร ๒๒/๓๔๖ มีว่า
    “ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมากเพราะตน(ผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น(ผู้รับทาน)
    ทายกผู้มีปัญญามีศรัทธา เป็นบัณฑิตมีใจพ้นจากความตระหนี่ ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ไม่มีความเบียดเบียน”

    หลักการทำกรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว ท่านเน้นที่เจตนาเป็นใหญ่ ถ้าเจตนาแรง กรรมที่ทำลงไปย่อมมีผลมาก ถ้ามีเจตนาอ่อน กรรมที่ทำลงไปย่อมมีผลน้อย นอกจากจะเน้นที่เจตนาแล้ว ในการทำความดีต่างๆยังต้องรักษาจิต ให้มีศรัทธาคือความเชื่อและปสาทะคือความเลื่อมใส ในขณะที่ทำ กำลังทำ และหลังจากทำแล้วด้วยจึงจะได้อานิสงส์แรง ยิ่งมีปิติซาบซ่ามีความอิ่มเอิบใจปลื้มใจด้วย ก็ยิ่งเสริมให้บุญจริยานั้นๆมีอานิสงส์แรงยิ่งขึ้น

    ดังนั้นในการประกอบการกุศลต่างๆในแต่ละครั้ง มีเงื่อนไขที่ทำให้อานิสงส์มากดังนี้
    ได้แก่ วัตถุต้องบริสุทธิ์ , ผู้ให้มีศีลบริสุทธิ์ , ผู้รับมีศีลบริสุทธิ์ , ต้องประคองจิตให้เป็นกุศลตลอดเวลาคือก่อนให้ทาน ขณะกำลังให้ทาน หลังจากให้แล้วไม่เสียดาย พยามรักษาจิตให้ศรัทธา กับ ปสาทะ(เลื่อมใส) เดินคู่กันไป จงกำจัดความลังเลสงสัยออกให้หมดเมื่อทำทาน

    แต่ต้องมีปัญญาร่วมด้วย คือในการประกอบการบุญกุศลทุกประเภท ก่อนทำควรพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่ทำนั้นมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ถูกต้องตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่
    มิฉะนั้นอาจจะเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาติดตามมา เช่น
    ก. ส่งเสริมโจรปล้นศาสนาให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น
    ข. ให้กำลังแก่คนชั่ว ได้มีโอกาสก่อกวนสังคมมากขึ้น
    ค. จะเกิด “วิปฏิสารใจ” ว่าไม่ควรทำเลย


    หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้แสดงธรรมถึงเรื่องทานไว้ว่า

    “ทานคือเครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ผู้มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ ด้วยการให้ทานเสียสละแบ่งปันมากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทานแขนงต่างๆก็ตาม ที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิหวังค่าตอบแทนใดๆ นอกจากกุศลคือความดีที่เกิดจากทานนั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กัน ในเวลาอีกฝ่ายผิดพลาดหรือล่วงเกิน

    คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชน ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาก็เคารพรัก จะตกทิศใดแดนใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลนหากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ไม่อับจนทนทุกข์
    แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตารู้ได้อย่างเต็มใจว่า ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม และบุคคลทุกชั้นไม่มีใครรังเกียจ

    อำนาจทาน ทำให้ผู้มีใจบริจาคเกิดความเคยชินต่อนิสัยจนกลายเป็นผู้มีฤทธิ์ บันดาลไม่ให้อดอยากในภพที่เกิด กำเนิดที่อยู่นั้นๆ ฉะนั้นทานและคนที่มีใจเป็นนักให้ทานเสียสละ จึงเป็นผู้ค้ำจุนโลกให้เฟื่องฟูตลอดไป โลกที่มีการสงเคราะห์กันอยู่ ยังจัดเป็นโลกที่มีความหมายตลอดไป

    ทานจึงเป็นสาระสำคัญสำหรับตัวและโลกทั่วๆไป ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นและหนุนโลกให้ชุ่มเย็น ไม่เป็นบุคคลและโลกที่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป”


    ท่านพุทธทาสภิกขุได้แสดงธรรมเรื่องทานไว้ว่า

    “การให้ทานกับการรบพุ่งสงครามเสมอกันอย่างไร? การให้ทานคือการรบกันกับกิเลส รบกันกับความยึดมั่นถือมั่น การให้ทานที่แท้จริงนั้นไม่ใช่แลกเอาสวรรค์ ไม่ใช่แลกเอาความสวยความรวย การให้ทานที่แท้จริงนั้นเป็นการรบพุ่งกับกิเลส รบกับความเห็นแก่ตัว รบกับความยึดมั่นว่าตัวกู –ของกู รบให้กิเลสเหล่านั้นพ่ายไป นั่นแหละเรียกว่าการให้ทาน

    ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า การให้ทานกับการรบนี้เสมอกัน หรือเป็นสิ่งเดียวกันอย่างนี้ก็ได้ หรือถ้าจะพูดให้ยืดเยื้อออกไป ก็จะพูดได้เหมือนกันว่า การให้ทานนั้นก็มีข้าศึก ต้องมีการตระเตรียม ต้องมีการฝึกฝน ต้องมีการสะสมอาวุธ สะสมเครื่องปัจจัยในการรบพุ่งแล้วจึงจะไปรบกัน

    การให้ทานนี้ก็เหมือนกันต้องมีการตระเตรียมที่ถูกต้องจึงจะเป็นการให้ทานที่ดี เมื่อให้ไปได้เท่าไหร่มันก็ชนะเท่านั้น เหมือนการรบที่ชนะเท่าไหร่มันก็ชนะเท่านั้น ถ้าให้ไม่ดีคือรบไม่ดี มันก็พ่ายแพ้ คือถอยหลังไปเห็นแก่ตัว เป็นการลงทุนชนิดหนึ่งไปคือทำบุญหวังผลนั่นเอง
    จงระวังให้ดี จงทำบุญให้ได้รับประโยชน์ ให้เป็นประโยชน์ คือให้เป็นประโยชน์อันแท้จริง เป็นบุญที่แท้จริง ( ตัดความตระหนี่ , ความโลภลงได้และไม่หวังผลทางโลกียะ) อย่าได้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย”

    </TD></TR><TR><TD></TD></TR></TBODY></TABLE>
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 14 มกราคม 2007
  2. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    เจริญในธรรมค่ะ
     
  3. toya

    toya เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2006
    โพสต์:
    186
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,010
    การทำทานเป็นเส้นทางองค์ 3 ที่จะนำเราเข้าไปสู่ความหลุดพ้นแห่งทุกข์ เราทำทานเพื่อลดความตระหนี่ ลดความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมให้มากขึ้น การให้ทานต้องมีจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ ทั้งขณะก่อนให้ทาน ขณะให้ทาน และหลังให้ทานแล้ว พร้อมทั้งมีความยินดีในการให้ จึงจะเรียกว่าทานบริสุทธิ์ ซึ่งมีอานิสงส์มากมายนัก แต่ก็ยังน้อยกว่าการรักษาศีล และยังน้อยกว่าการเจริญสมาธิ เพราะฉะนั้นเราควรจะรักษาศีลและเจริญสมาธิพร้อม ๆ กับการให้ทานด้วยจึงจะครบองค์ 3 ครับผม
     

แชร์หน้านี้

Loading...