ทางสายเอก(สติปัฏฐาน ๔)..............โดย พระครูภาวนาวิสุทธิ์

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 23 มกราคม 2007.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    การบำเพ็ญจิตภาวนาตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้าของเรานี้ วิธีปฏิบัติเบื้องต้นต้องยึดแนวหลักสติเป็นตัวสำคัญ
    สติปัฏฐาน ๔ มีอยู่ ๔ ข้อ สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมใหม่ จงท่องความหมายนี้ไว้ก่อน


    ข้อที่ ๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลตามศัพท์ว่า พิจารณากายในกาย นี้สักแต่ว่ากาย ไม่มีตัวตนบุคคลเราเขา แต่โดยวิธีปฏิบัติแล้ว ให้เอาสติ เอาจิตเพ่งดูกาย ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา จะคู้แขนเหยียดขาต้องติดตามดู คือใช้สตินี่เอง ดูร่างกายสังขารของเรา อันนี้เรารู้ไว้เป็นเบื้องต้นก่อนสำหรับข้อหนึ่ง



    ข้อที่ ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาเป็นสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ บัญชาการไม่ได้ ต้องเป็นตามสภาพนี้ และเป็นไปตามธรรมชาติเหล่านี้ เวทนามีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา
    ทั้งสามประการนี้ จุดมุ่งหมายก็ต้องการจะให้สติไปพิจารณาเวทนานั้น ๆ เช่น ฝ่ายสุขก็มีทั้งสุขกาย สุขใจ อันนี้เรียกว่า สุขเวทนา แล้วก็ทุกข์กายทุกข์ใจ หรือจะว่าทุกข์ทางด้านกายและใจก็ได้ เรียกว่า ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ก็คือไม่สุขไม่ทุกข์ จิตใจมักจะเลื่อนลอยหาที่เกาะไม่ได้ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา

    วิธีปฏิบัติต้องใช้สติกำหนด คือตั้งสติระลึกไว้ ดีใจก็ให้กำหนด กำหนดอย่างไรหรือ กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ จากจมูกถึงสะดือให้ได้ หายใจขึ้นลงยาว ๆ กำหนดว่า ดีใจหนอ ดีใจหนอ


    ทำไมต้องปฏิบัติ เช่นนี้เล่า เพราะความดีใจและสุขกายสุขใจนั้น เดี๋ยวก็ทุกข์อีก สุขเจือปนด้วยความทุกข์อย่างนี้เพื่อความไม่ประมาทในชีวิตของเรา จะต้องรู้ล่วงหน้า รู้ปัจจุบันด้วยการกำหนด จึงต้องกำหนดที่ลิ้นปี่ บางคนบอก กำหนดที่หัวใจ ถูกที่ไหน หัวใจอยู่ที่ไหนประการใด อันนี้ผู้ปฏิบัติยังไม่ต้องรับรู้วิชาการ ทิ้งให้หมด ปฏิบัติตรงนี้ให้ได้ ลิ้นปี่เป็นขั้วแบตเตอรี่ชาร์ทไฟฟ้าเข้าหม้อ ทุกคนไปแปรธาตุการปฏิบัตินี้ไม่ใช่การวิจัย ไม่ใช่ประเมินผล แต่เป็นการให้ผุดขึ้นมาเองโดยปกติธรรมดานี่แหละ ให้มันใสสะอาด รู้จริงรู้จัง รู้ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิ ให้รู้ขึ้นมาเอง



    คำว่ารู้เองนี้ทำยาก รู้วิชาการทำง่าย อ่านหนังสือท่องได้ก็ได้ แต่รู้เองให้ใสสะอาดขึ้นมารู้ยาก ทำไมจะรู้ได้ง่ายต้องปฏิบัติขึ้นมา ดีใจ เสียใจ มีความสุขกายสุขใจ อย่าประมาทเลินเล่อนัก เราต้องตั้งสติทุกอิริยาบถตามกำหนด การกำหนดจิตนี้หมายความว่า ให้ตั้งสติ เป็นวิธีปฏิบัติ สัมปชัญญะมีความรู้ตัวอยู่ตลอดปัจจุบัน อย่างนี้เป็นต้น อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอา ให้เอาปัจจุบันที่มันเกิดขึ้น ให้ปฏิบัติอย่างนี้ โดยข้อปฏิบัติง่าย ๆ ถ้าเสียใจ มีความทุกข์ใจ มันอยู่ในข้อนี้ จึงต้องกำหนดที่ลิ้นปี่ เสียใจหนอ ๆ หายใจลึก ๆ ยาว ๆ เสียใจเรื่องอะไร เป็นการป้อนข้อมูลไว้ให้ถูกต้อง

    สตินี่ระลึกได้ หมายถึงตัวแจงงาน หาเหตุที่มาของทุกข์ ตัวสัมปชัญญะเป็นตัวบอกให้รู้ ให้มีความเข้าใจเรียกว่า ปัญญา รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันนั่นเอง คนเรานี่จึงต้องกำหนดที่เวทนานี้

    ปวดเมื่อยเป็นเวทนาทางกาย แต่จิตไปเกาะ อุปาทานยึดมั่น ก็ปวดใจไปด้วย เช่นเราเสียใจ ร่างกายไม่ดี สุขภาพไม่ดี เป็นโรคภัยไข้เจ็บ จิตมันก็เกาะที่เจ็บนั้น จึงต้องให้กำหนดด้วยความไม่ประมาท เป็นวิธีฝึกปฏิบัติก็กำหนดเวทนานั้น ปวดหัวเข่าที่ไหนก็ตามต้องตามกำหนด กำหนดเป็นตัวปฏิบัติเป็นตัวระลึก เอาจิตไปสู่จุดนั้น เป็นอุปาทานยึดมั่นก่อน เพราะเราจะก้าวขึ้นบันไดก็ต้องเกาะยึด เราจะก้าวต่อไปก็ต้องปล่อย นี่อุปาทาน ถ้าใหม่ ๆ นี้เรียกว่า สมถะ สมถะยึดก่อนแล้วปล่อยไปก็เป็นวิปัสสนา เป็นต้น เราจะทราบความจริงถึงจะเป็นวิปัสสนาขึ้นมาต่อภายหลัง

    เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจอย่างนี้ ต้องกำหนด ส่วนใหญ่ไม่กำหนดกัน จึงไม่รู้เรื่องรู้ราวอย่างนี้เป็นต้น มีความสุขทางไหนก็ตาม เดี๋ยวจะทุกข์อีก นี่มันแก้ไม่ได้เพราะอย่างนี้เกิดที่ไหนต้องแก้ที่นั่น ไม่ใช่ไปแก้กันที่อื่น หาเหตุที่มาของมัน คือ สติ สติเป็นตัวกำหนด เป็นตัวหาเหตุ เป็นตัวแจงเบี้ย บอกให้รู้ถึงเหตุผล ตัวสัมปชัญญะรู้ทั่วรู้นอก รู้ใน นั่นแหละคือตัวปัญญา ความรู้มันเกิดขึ้น

    ตัวสมาธิ หมายความว่า จับจุดนั้นให้ได้ เช่น เวทนา ปวดเมื่อย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติมาก จึงต้องให้กำหนด ไม่ใช่ว่ากำหนดแล้วมันจะหายปวดก็หามิได้ ต้องการจะใช้สติไปควบคุมดูจิตที่มันปวด เพราะปวดนี่เราคอยยึดมัน จิตก็ไปปวดด้วย เลยก็กลับกลายให้เกิดทุกข์ใจขึ้นมา เพราะอุปาทานไปยึดขึ้นมาอย่างนี้เป็นต้น จุดมุ่งหมายก็ต้องการให้เอาสติไปดู ไปควบคุมจิตว่ามันปวดมากแค่ไหนประการใด

    โอกาสบัดนี้ อาตมาภาพจะแสดงพระธรรมเทศนา ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณาทานอุทิศถวายแด่พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) ท่านได้มรณภาพไปสู่สัมปรายภพ ปรารภ ๖ ปีในปีนี้แล้ว คณะญาติ ศิษยานุศิษย์มี ท่านอาจารย์มหาสุภาพ เขมรํสี พระมหาบุญชิต ญาณวีโร พร้อมทั้งคณะ อุบาสก อุบาสิกา ถือว่างานนี้เป็นงานอุทิศถวายแด่พระเดชพระคุณ ครูบาอาจารย์ที่เคารพสักการะอย่างสูง ในวันนี้ ท่านสาธุชนศิษยานุศิษย์ทั้งหลายโปรดสำนึกสมัญญาในการบูชาคุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ว่า


    อุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ใจก็ลอยหาที่เกาะไม่ได้ ใจลอยเหม่อมองไปแล้ว เห็นคนเป็นสองคนไป จึงต้องกำหนดเวทนา กำหนดที่ไหน กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ ลึก ๆ สบาย ๆ แล้วก็ตั้งสติระลึกก่อน กำหนดรู้หนอ ๆๆๆ ถ้าเราสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมาได้ครบ ป้อนข้อมูลเข้าไป รู้หนอ ๆ เดี๋ยวสติรวมยึดมั่นในจิต จิตก็แจ่มใส ความทุกข์นั้นก็จะหายไปn อุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ส่วนใหญ่จะประมาทพลาดพลั้ง จึงต้องกำหนดทุกอิริยาบถดังที่กล่าวนี้





    ข้อที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องท่องให้ได้ ทำไมเรียก จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฐานของจิตต้องยึดในฐานทัพนี้ จิตเป็นธรรมชาติที่คิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เหมือนเทปบันทึกเสียง จิตเกิดที่ไหน ผู้พัฒนาจิตต้องรู้ที่เกิดของจิตอีกด้วย จิตเกิดทางอายตนะ ธาตุอินทรีย์นี่เอง จะพูดเป็นภาษาไทยให้ชัด ตาเห็นรูปเกิดจิตที่ตา หูได้ยินเสียงเกิดจิตที่หู จมูกได้กลิ่นเกิดจิตที่จมูก ลิ้นรับรสเกิดจิตที่ลิ้น กายสัมผัสร้อนหรือหนาว อ่อนหรือแข็งที่นั่งลงไป เกิดจิตทางกาย เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน วิธีปฏิบัติทำอย่างไร ให้ทำอย่างนี้ ที่มาของจิตรู้แล้วเกิดทางตา ตาเห็น เห็นอะไรก็ตั้งสติไว้ จับจุดไว้ที่หน้าผาก อุณาโลมา..... กดปุ่มให้ถูก เหมือนเรากดเครื่องคิดเลข บวกลบคูณหารมีครบ กดปุ่มให้ถูกแล้วผลลัพธ์จะตีออกมาอย่างนี้

    เห็นหนอ ๆ เห็นอะไร เห็นรูป รูปอยู่ที่ไหน สภาวะรูปนั้นเป็นอย่างไร สภาพผันแปรกลับกลอกหลอกลวงได้ เยื้องย้ายได้ทุกประการ เรียกว่า รูป เป็นเรื่องสมมติ และเป็นเรื่องทำลายได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวนดับไป คือรูป ต้องกำหนด นักปฏิบัติอย่าทิ้งข้อนี้ไม่ได้ ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธรรมชาติของจิตเกิดที่ตา เกิดแล้วกำหนด ไม่ใช่ว่าเราแส่ไปหากำหนดข้างนอก ตาเห็นอะไรก็กำหนดว่า เห็นหนอ ทำไมต้องกำหนดด้วย เพราะจิตมันเกิด ตาสัมผัสกับรูปเกิดจิต ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เห็นของเหล่านั้น เรายังไม่มีปัญญา


    เราชอบไหม ชอบเป็นโลภะ ไม่ชอบเป็นโทสะ เราไม่ใช้สติเลยกลายเป็นคนโมหะ รู้ไม่จริงรู้แค่ตาเนื้อ ไม่รู้ตาใน ดูด้วยปัญญาไม่ได้ เลยดูด้วยโมหะ คนเราจึงได้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปดังที่กล่าวแล้ว ต้องใช้สติ นี่ข้อจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธรรมชาติของจิตต้องพัฒนาตรงนี้ ต้องกำหนดทุกอาการ ทุกอิริยาบถ หูได้ยินเสียง หูกับเสียงอย่างไร ไกลแค่ไหนอย่างไร ไม่ต้องไปประเมินผล ไม่ต้องวิจัย ห้าม! ห้ามเพราะเหตุใด เพราะมันเป็นวิปัสสนึกไป นึกขึ้นมาก็วิจัยตามวิชาการ มันจะไม่ได้ผล เราก็ตั้งสติไว้ที่หู ฟังเสียงหนอ เราฟังเฉย ๆ ไม่ได้หรือ ทำไมต้องกำหนดด้วย

    ถ้าเราไม่กำหนด เราจะขาดสติ ถ้ากำหนดก็เป็นตัวฝึกสติ ให้มีสติอยู่ที่หู จะได้รู้ว่าเสียงอะไร เสียงหนอ ๆ กำหนดเสียงเฉย ๆ ได้ไหม ได้! แต่ไม่ดี เพราะเหตุใด หนอ ตัวนี้เป็นการรั้งจิตให้มีสติดี มีความหมายอย่างนั้น คำว่าหนอนี้ เป็นภาษาไทย หนอดีมาก เราจะบอกว่าเสียงหนอ มันรั้งจิตได้ดีมาก มีสติดีในการฟัง ระลึกหนอว่าเสียงเขาด่า เสียงเขาว่า หรือเสียงเขาสรรเสริญเยินยอ ประการใด

    สัมปชัญญะ ตัวรู้ว่าเสียงนี้ของนาย ก. เสียงนี้ของ นาง ข. มาพูดเรื่องอะไร ตัวสติจะแจงเบี้ยหาเหตุที่พูด ทำไมเขาจึงพูดเช่นนั้น ตัวสัมปชัญญะก็บอกกับเราว่า อ๋อ เขาพูดนี่ เพราะอิจฉาเรา เขาด่าเรา มาว่าเรา สติบอก สัมปชัญญะเป็นตัวคิด ปัญญาก็แสดงออก คอมพิวเตอร์ตีออกมาว่า เสียงนี้ไร้ประโยชน์ เกิดขึ้นตั้งอยู่ก็วูบดับไปทันทีที่หู เลยก็ไม่ต่อเนื่องเข้ามาภายในจิต เราก็ไม่มีการเศร้าหมองใจ เพราะข้อคิดนี้ เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติ ต้องกำหนดตรงนี้ ไม่ใช่เดินจงกรมนั่งปฏิบัติ พองหนอยุบหนอให้ได้ ไม่ใช่ตรงนั้น ตรงนั้นเป็นตัวสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มีพลังจิต ในข้อคิดของวิปัสสนาญาณอีกประการหนึ่งต่างหาก


    ผู้ปฏิบัติต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณาดูจิต จิตเกิดทางหู ถ้าเราสร้างเครื่องได้ดีแล้ว ป้อนข้อมูลถูก สร้างระบบถูก ข้อมูลในจิต คือ อารมณ์ที่เราเก็บเอาไว้นานนักหนาแล้ว คลี่คลายไม่ออกแฝงไว้ในอารมณ์คือ โลภะ โทสะ โมหะ ทำให้จิตเศร้าหมองมาช้านาน ไม่ผ่องใสจึงต้องกำหนดอย่างนี้

    เสียงหนอ ๆ ไม่ใช่เท่านี้เลยนะ เสียงเขาด่า ใช่แล้วถ้าเรามีสมาธิดี สะสมหน่วยกิตสติปัฏฐานสูตรไว้ชัดเจน เสียงหนอ ก็รู้แล้ว อ๋อเขาด่าเรา ด่าเราตรงไหน มีตัวตนตรงไหนบ้าง ที่เราจะถูกด่า แล้วเจ็บช้ำน้ำใจเช่นนี้ เราก็ใช้ปัญญานี้เอง ฟัง อ๋อเขาด่า ด่ามาโดยสมมติว่าด่าเรา คิดว่าอย่างนั้น แต่เราอยู่ตรงไหน ก็หาตัวเราไม่ได้ ตัวเราไม่มี อย่างนี้คือ ปัญญา ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคล แต่เป็นโดยสมมติขึ้นมาที่เขาด่าเท่านั้น แล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงสภาพของมันแล้วก็หลุดไป ดับวูบไปที่หู อันนั้นก็หมดสิ้นไป นี้เรียกว่า ตัวปัญญา

    นักปฏิบัติต้องกำหนดทุกอิริยาบถในการฝึก เป็นการดัดนิสัยให้เข้าสู่จุดมุ่งหมายของผู้มีปัญญา เป็นความเคยชินจากการปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่พูดอย่างนี้ใครก็ทำได้ ใครก็รู้แต่ปฏิบัติจริง ๆ ไม่ได้ เพราะไม่เคยกำหนดเลย ปล่อยเลยไปหมด เข้ามาถึงจิตใจภายใจจิต คือ ประตูทั้ง ๖ ช่อง เข้ามาถึงห้องใน ที่นอนของเรา จนแต้มจนด้วยเกล้า จนด้วยปัญญา แก้ไขปัญญาไม่ได้เลย เพราะมันอยู่ในจุดนี้เป็นจุดสำคัญ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเอาไปทิ้งหมด ไม่เคยปฏิบัติจุดนี้เลย มีแต่ จะจ้องเดินจรงกรม จ้องท้องพองหนอยุบหนออย่างเดียว เป็นไปไม่ได้ ไม่ครบสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติในข้อจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานสูตร ข้อนี้เป็นข้ออินทรีย์หน้าที่การงานที่จะต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องกำหนดเสียงหนอ ๆ ถ้ากำหนดไม่ทัน มันเลยเป็นอดีตไปแล้ว เกิดเข้ามาในจิตใจเกิดโทสะ เกิดโกรธขึ้นมาทันทีทำอย่างไร ไปเสียงหนออีกไม่ได้ ต้องกำหนดตัวสัมปชัญญะ กำหนดที่ไหน กำหนดที่ลิ้นปี่ บางทีไปสอนไม่เหมือนกันเสียแล้ว หลับหูหลับตาว่าส่งเดชไป จะถูกจุดได้อย่างไร กดเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ถูก กดไม่ถูกจุด แล้วมันจะออกมาอย่างที่เราต้องการไม่ได้ นี้สำคัญ


    ผู้ปฏิบัติเน้นในข้อนี้ให้มากต้องกดที่ลิ้นปี่ แต่อรรถาธิบายอย่างไรนั้น จะไม่อธิบายในที่นี้ ขอให้ท่านโง่ไว้ก่อน อย่าไปฉลาดตอนปฏิบัติเดี๋ยวจะคิดเอาเอง เกิดขึ้นมาเดี๋ยวท่านจะได้ของปลอมไปนะ จะได้ของไม่จริงไปอย่างนี้ กำหนดที่เลยเป็นอดีตแล้ว ต้องกำหนดอยู่อย่างเดียวคือ รู้หนอ ไว้ก่อน รู้ว่าเรื่องอะไรก็ยังบอกไม่ได้ ทำไมจะรู้จริง ทุกสิ่งต้องกำหนดทั้งนั้น ที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ หายใจอย่างไร ต้องตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ สูดลมหายใจจากจมูกถึงสะดือ แล้วก็ตั้งสติที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ รู้หนอ ๆ เพราะมันเลยไปแล้วเป็นอดีต กำหนดปัจจุบันไม่ได้ ต้องกำหนดตัวรู้ อย่างนี้เป็นต้น รับรองได้ผลแน่





    ข้อที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมในธรรม หมายความว่า เรามีสติปัญญาจะรู้แยกจิตของเราว่า คิดเป็นกุศลหรืออกุศล ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จะตัดสินอยู่ที่ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในข้อที่ ๔ นี้ ข้าพเจ้าทำงานนี้ไปเป็นกุศลหรืออกุศล เดี๋ยวจะรู้ตัวตนขึ้นมาทันทีที่มีปัญญา เรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อาตมาหมายความถึงปฏิบัติการ ไม่ใช่วิชาการ วิชาการจะไม่อธิบายอย่างนี้ เป็นการปฏิบัติการในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมในธรรม ทำนอกทำใน ธรรมกับทำมันต่างกัน ทำไปแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ทั้งทางโลกทางธรรม มันอยู่ร่วมกันนี่ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรียกว่าทำนอก ทำใน ทำจิต ทำใจ ทำอารมณ์ แสดงออกเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ส่วนใหญ่เราจะเข้าข้างตัวเอง เลยคิดว่าตัวเองน่ะคิดถูก ทำถูกแล้ว


    ถ้าเรามานั่งเจริญกรรมฐานแก้ไขปัญหา กำหนดรู้หนอ ๆ คือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเรายังไม่รู้จริง รู้หนอ หายใจยาว ๆ รู้หนอ ๆๆ เดี๋ยวรู้เลย ว่าที่เราทำพลาดผิดเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศลมวลเป็นอกุศลกรรมจากการกระทำทางกาย วาจา ใจ ก็ถ้าแสดงออกเป็นอกุศล นี่ธรรมานุปัสสนาเชิงปฏิบัติการ ไม่ใช่วิชาการนะ บางคนบอกหลวงพ่อวัดอัมพวันอธิบายผิดแล้ว ใช่ มันผิดหลักวิชาการ แต่มันถูกปฏิบัติการ มันจะรู้ตัวเลยว่า เราทำไปนั่นเป็นกุศล ผลงานส่งผลคือเป็นบุญ เป็นความสุข สิ่งนี้ที่ข้าพเจ้าทำเป็นอกุศลกรรม ทำแล้วเกิดความทุกข์ นี่ง่าย ๆ ทางเชิงปฏิบัติการ วิชาการ เขาอธิบายละเอียดกว่านี้ ถ้ามีกิจกรรมทำได้ไม่ยากเลย อยู่ตรงนี้เอง รู้หนอ! อ๋อ รู้แล้วไปโกรธมันทำไม ไปโกรธรูปนาม หรือไปโกรธใคร ตัวโกรธอยู่ที่คนโน้นทำให้เราโกรธหรือ ตัวโกรธไม่ใช่อยู่ที่คนโน้น อยู่ที่เรา อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจ อยู่ที่จิตเก็บความโกรธเข้าไว้



    ท่านจะมีแต่ความเป็นโทษ มีแต่ความเศร้าหมองใจตลอดเวลา ท่านจะไม่เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้แก้ปัญหาไม่ได้เลย ก็สร้างปัญหาด้วยโทสะ สร้างปัญหาด้วยผูกเวร สร้างปัญหาด้วยผูกพยาบาท น้อยไป! ดูถูกเรา นี่ท่านจะต้องสร้างปัญหาแน่อย่างนี้เป็นต้น การปฏิบัติเป็นการแก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหาเหมือนอย่างที่ท่านเข้าใจ และมีปัญญาเห็นอารมณ์เรา ดูอารมณ์จิตของเรา ดูจิตใจของเราต่างหาก อย่างนี้เป็นต้นสำคัญมาก บางคนไปสอนกันไม่ถูก โกรธหนอ ๆๆ เอาจิตตั้งตรงไหน เอาสติไว้ตรงไหน ไปกดไม่ถูก กดเครื่องคอมพิวเตอร์ผิด มันก็เลยออกมาแบบอย่างนั้นเอง จะวางจิตไว้ตรงไหน ก็ไม่รู้นี่สำคัญนะ


    เห็นหนอ อย่าลืมนะ ส่งกระแสจิตไว้ที่หน้าผาก ไม่ใช่หลับตาว่ากันส่ง ถ้าท่านทำดังที่อาตมาแนะแนว รับรองได้ผลทุกคน เห็นหนอ ก็ต้องส่งกระแสจิตจากหน้าผากออกไป เพราะว่าเราจะสังเกตตัวเองได้ทุกคน ความรู้สึกจะมารวมที่หน้าผากหมด ภาษาจีนเรียกว่า โหวงเฮ้ง มันจะมีแสงที่หน้าผากนะ ตอนนี้ไม่อรรถาธิบาย จิตท่านสูงท่านจะเห็นเองว่าดูหน้าคนดูตรงไหน อย่าลืม ที่อาตมาพูดหลายครั้ง ยังไม่มีใครตีปัญหาได้เลย อุณาโลมา....มันเป็นการส่งกระแสจิตได้ดีมากในจุดศูนย์สมาธิ นี่หละจะเกิดปัญญาได้ สำหรับตัวตนบุคคลปฏิบัติ ไม่ใช่มานั่งเห็นนิมิต ถามกันไม่พักเลย หลวงพ่อคะ ฉันมีนิมิตอย่างนี้ ฝันว่าอย่างนี้จะได้แก่อะไร ไม่ต้องมาถามแล้ว ฝันปลอมก็มีจิตอุปาทานยึดมั่นก็ฝันได้ ถ้าจิตท่านโกรธ ผูกพยาบาทเก่ง จะฝันร้าย จะฝันหนีโจร เป็นนิมิตที่เลวร้าย เพราะจิตมันไม่ดี

    ถ้าสติดี มีปัญญาดี จะฝันเรื่องจริงได้ ฝันแล้วเป็นเรื่องจริง ถ้าจิตเก๊ ก็ฝันเก๊ ๆ จิตปลอมก็ฝันปลอมออกมาอาจารย์สอบอารมณ์บางคนชอบถามว่า "เห็นอะไรหรือยัง เห็นโน่นเห็นนี่ไหม" ไม่ต้องไปถามเขาอย่างนั้นนะ ถามว่า กำหนดหรือเปล่า เวทนาเกิดขึ้นกำหนดอย่างไร ต้องถามอย่างนี้จะถูกต้องมากกว่า ไม่ต้องถามเห็นอะไรไปแนะแนวเขาทำไมอย่างนั้น มีความหมายในการปฏิบัติมาก
     

แชร์หน้านี้

Loading...