ทศพิธราชธรรม ธรรมของพระเจ้าอยู่หัว

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 6 เมษายน 2007.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ราชธรรม ๑๐ ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญมาโดยสม่ำเสมอ ได้แก่ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความเที่ยงธรรม ราชธรรม ๑๐ ประการนี้เรียกว่า "ทศพิธราชธรรม"

    อันประกอบไปด้วย

    1. ทาน
    2. ศีล
    3. บริจาค
    4. ความซื่อตรง
    5. ความอ่อนโยน
    6. ความเพียร
    7. ความไม่โกรธ
    8. ความไม่เบียดเบียน
    9. ความอดทน
    10. ความเที่ยงธรรม

    ======================================
    1.ทาน

    นับแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมีมากมายจนเหลือที่จะพรรณนาได้สุดสิ้น ครบถ้วนทั้งสองประการ คือ “ธรรมทาน” ซึ่งถือเป็นทานอันเลิศทางพระพุทธศาสนา สามารถแก้ความทุกข์ยากขาดแคลนทางจิตใจ ทำให้ใจเป็นสุขและตั้งอยู่ในความดีงาม โดยได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแฝงด้วยคติธรรมเป็นเครื่องเตือนใจในเรื่องต่าง ๆ แก่พสกนิกรตามสถานะและวาระโอวาทอยู่เสมอ ในท้องถิ่นที่ต้องการความรู้ ได้พระราชทานความรู้และตรัสแนะนำในสิ่งอันจะทำประโยชน์มาให้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่จะทรงช่วยดับทุกข์ความเดือดร้อนในจิตใจของประชาชนทั้งมวล

    นอกจากธรรมทานแล้ว “อามิสทาน” หรือ “วัตถุทาน” ก็ทรงมีพระเมตตาคุณในพระราชหฤทัยเป็นล้นพ้น ได้พระราชทานพระราชทรัพย์และวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เพื่อแก้ความทุกข์ยากขาดแคลนทางกายให้แก่พสกนิกรเสมอมา

    ในการบำเพ็ญทางบารมีนี้ ได้ทรงบำเพ็ญตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสองทุกประการ คือ ทรงบำเพ็ญครบถ้วนตามคุณสมบัติของทาน ๓ ประการ ได้แก่ คุณสมบัติของทานประการที่หนึ่ง คือ การพระราชทานให้แก่บุคคลที่สมควรได้รับการอนุเคราะห์โดยมิได้ทรงเลือกเชื้อชาติหรือศาสนา คุณสมบัติของทานประการที่สอง คือ ถึงพร้อมด้วยเจตนาโดยทรงมีพระเมตตาคุณเปี่ยมล้นในพระราชหฤทัยทั้งก่อนการพระราชทาน ขณะพระราชทาน และหลังการพระราชทานแล้ว คุณสมบัติประการที่สาม คือ วัตถุที่พระราชทานนั้นล้วนเป็นประโยชน์แก่ราษฎรผู้รับพระราชทาน ให้พ้นจากการขาดแคลนได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

    นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญทานให้เป็นบุญตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ คือ บำเพ็ญให้เป็นเครื่องชำระกิเลสอันมีความละโมบ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น “สวนหลวง ร.๙“ ซึ่งชาวไทยร่วมใจกันสร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นราชสักการะ ก็มิได้ทรงสงวนไว้สำหรับพระองค์แต่ได้พระราชทานให้เป็นสาธารณสถาน เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยทั้งมวล

    ส่วนโครงการหลวง โครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่มีอยู่นับพันโครงการทั่วประเทศ รวมทั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งโปรดให้ตั้งขึ้นในภาคต่าง ๆ เพื่อศึกษาพื้นที่และวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชผลให้เหมาะแก่ท้องถิ่น อันเป็นการแก้ไขต้นเหตุแห่งปัญหาเพื่อพัฒนาประเทศให้ได้ผลนั้น จัดเป็นการบำเพ็ญทานให้เป็นกุศล คือ เป็นกิจของคนดีคนมีปัญญา ถูกกาลสมัย เหมาะแก่ความต้องการของผู้รับ ไม่ทำให้พระองค์หรือผู้ใดเดือดร้อน การบำเพ็ญทานให้เป็นกุศลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงยังผลให้ไพร่ฟ้าหน้าใสได้โดยทั่วหน้ากัน

    2.ศีล

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ตลอดมาว่า ทรงเคร่งครัดในการรักษาศีล และทรงมีน้ำพระทัยนับถือพระพุทธศาสนาโดยบริสุทธิ์ ดังจะเห็นได้จากการเสด็จออกทรงผนวชรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ของพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จมาประทับรักษาศีลตามพุทธบัญญัติ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยประทับ ณ "พระตำหนักปั้นหย่า" แล้วจึงเสด็จมาประทับ ณ "พระตำหนักทรงพรต" ตามขัตติยราชประเพณี แม้เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ยังคงเสด็จมาประทับนั่งสมาธิกรรมฐานเป็นครั้งคราว ณ พระตำหนักทรงพรตนี้
    ตลอดระยะเวลาแห่งการทรงผนวช ทรงดำรงพระองค์ได้งดงามบริสุทธิ์ สมควรแก่การเป็นพุทธสาวก จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา แก่พสกนิกรโดยทั่วหน้า

    เมื่อทรงลาผนวชมาอยู่พระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราชแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงประพฤติอยู่ในศีลโดยบริสุทธิ์ กล่าวคือ ทรงประพฤติพระราชจริยาในทางพระวรกายและในทางพระวาจาให้สะอาดงดงามถูกต้องอยู่เป็นนิจ ไม่เคยบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นศีลในการปกครอง หรือศีลในทางศาสนาก็ตาม

    ในด้านศีลในการปกครอง คือ การประพฤติตามกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงามนั้น ไม่เคยปรากฎเลยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์เหนือกฎหมาย และไม่เคยมีแม้แต่สักครั้งเดียวที่จะทรงละทิ้งจารีตประเพณีอันดีงามของชาติและของพระราชวงศ์ พระเกียรติคุณในข้อนี้เป็นที่ซึมซาบในใจของชาวไทยเป็นอย่างดี นับจากกาลเวลาที่ล่วงผ่านมาตราบจนถึงทุกวันนี้

    ส่วนศีลในทางศาสนา อย่างน้อยคือศีลห้าอันเป็นศีลหรือกฎหมายที่ใช้ในการปกครองแผ่นดินมาตั้งแต่อดีตก่อนพุทธกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสมาทานรักษาอย่างเคร่งครัด และทรงสนับสนุนให้พสกนิกรของพระองค์สมาทานรักษาอย่างเคร่งครัด และทรงสนับสนุนให้พสกนิกรของพระองค์สมาทานรักษาเช่นเดียวกัน
    สำหรับผู้ที่มิได้นับถือพุทธศาสนา พระองค์ทรงสนับสนุนให้ยึดมั่นตามคำสอนแห่งศาสนาอันตนศรัทธา ด้วยทรงตระหนักว่าทุกศาสนามีหลักคำสอนที่นำไปสู่การประพฤติดี ศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันของชนหมู่มาก แม้บัดนี้ในการปกครองจะมีกฎหมายอยู่แล้วก็ยังต้องอาศัยศาสนาเป็นเครื่องอุปการะ ด้วยกฎหมายบังคับได้เพียงแค่กาย ส่วนศาสนาสามารถเข้าถึงจิตใจ น้อมนำไปปฏิบัติตามโดยไม่ต้องบังคับ

    การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปกครองบ้านเมืองด้วยกฎหมายและศาสนา ประกอบกับการที่ทรงสมาทานศีลอย่างเคร่งครัดดังปรากฎในที่ทุกสถาน ชาวไทยจึงมีความสุขสงบและวัฒนาด้วยศีลบารมีแห่งพระองค์
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    3.ปริจาคะ


    ในด้านการบริจาค ซึ่งหมายถึงการเสียสละสิ่งที่ไม่มีประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยกว่า เพื่อสิ่งที่มีประโยชน์ใหญ่ยิ่งกว่านั้น ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือประโยชน์และความเจริญของชาติ ศาสนา รวมทั้งประโยชน์สุขของพสกนิกร สำคัญยิ่งกว่าพระองค์เอง พระราชกรณียกิจนานัปการจึงเป็นไปเพื่อความวัฒนา และประโยชน์สุขของชาวไทยและสถาบันดังกล่าว

    ด้านการศาสนา ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภกศาสนาต่าง ๆ อันมีในประเทศไทย และได้พระราชทานทรัพย์เพื่อทะนุบำรุงไปเป็นจำนวนมาก โดยพระพุทธศาสนานั้นทรงมีคุณูปการเป็นอเนกอนันต์ ทั้งในการบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชียสถาน อันมีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น การสร้างถาวรวัตถุ เช่น "พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร." และ "พระพุทธนวราชบพิตร" เป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเสด็จไปพระราชทานด้วยพระองค์เองแก่ทุกจังหวัดทั่วประเทศนั้น ได้ทรงบรรจุที่ฐานด้วยพระพิมพ์ซึ่งทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ทั้งในพระองค์และจากจังหวัดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านอื่น ๆ อีกนานัปการ ด้วยศรัทธาและปริจาคะของพระองค์เช่นนี้ จึงไม่น่าสงสัยที่พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองจนประเทศไทยกลายเป็นแหล่งศึกษาพระธรรม ของชาวต่างประเทศและเป็นแหล่งส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระศาสนาในประเทศต่าง ๆ

    ในด้านการสงเคราะห์ ได้ทรงเสียสละพระราชทรัพย์และสิ่งของจำนวนมากมายจนสุดที่จะประมาณได้ เพื่อดับความทุกข์ยากของพสกนิกรในยามประสบภัยพิบัติและในถิ่นทุรกันดาร

    ทรงสละพระราชทรัพย์เพื่อพัฒนาการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย โดยโปรดให้มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนในถิ่นยากจนต่าง ๆ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน และทุนอานันทมหิดลเพื่อส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่างประเทศ เป็นต้น

    ทรงสละพระราชทรัพย์นับจำนวนไม่น้อย ในการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่มูลนิธิและสาธารณสถานต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของชาวไทย

    ทรงเสียสละพระราชทานที่นาของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในจังหวัดต่าง ๆ กว่า ๕๐,๐๐๐ ไร่ ให้เข้าอยู่ในโครงการปฏิรูปที่ดิน เมื่อปี ๒๕๑๘ เพื่อแบ่งปันที่ทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจน

    การที่ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ วัตถุสิ่งของและที่ดินจำนวนมหาศาล รวมทั้งการที่ทรงเสียสละปฏิบัติพระราชภารกิจทั้งนอกและในประเทศ พระราชภารกิจในโครงการพระราชดำรินับพัน ๆ โครงการทั่วประเทศนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดในความเสียสละอันใหญ่หลวงของพระองค์ ด้วยทรงเสียสละเวลา พระปรีชาสามารถ และความสำราญพระราชหฤทัยทั้งมวล ทรงยอมรับความเหน็ดเหนื่อยพระวรกายทุกประการเพื่อพสกนิกร อย่างไม่มีประมุขประเทศใดในขณะนี้ จะเสียสละได้เทียบเท่าที่พระองค์ทรงเสียสละให้แก่พสกนิกรไทยมาเนิ่นนานไม่น้อยกว่า 41 ปี

    4.อาชชวะ

    อันทศพิธราชธรรมข้อที่สี่ คือ อาชชวะ หรือความซื่อตรงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติอยู่นิจ สำหรับผู้ที่มีอายุคงจะจำกันได้ดีว่าหลังจากที่ได้ทรงดำรงสิริราชสมบัติแล้ว ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ อันเป็นวันกำหนดเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ ระหว่างประทับรถพระที่นั่งเพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปขึ้นเครื่องบินนั้น ได้มีเสียงร้องมาจากกลุ่มพสกนิกรที่เฝ้าส่งเสด็จว่า "อย่าทิ้งประชาชน" และได้มีพระราชดำรัสตอบในพระราชหฤทัยว่า "เราจะไม่ทิ้งประชาชน ถ้าประชาชนไม่ทิ้งเรา" การตั้งพระราชหฤทัยดังนี้เสมือนเป็นการพระราชทานสัจจะ ว่าจะทรงเป็นร่มบรมโพธิสมภารของพสกนิกรตลอดไป
    ครั้นต่อมาในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นวันที่ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้มีพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรทั่วประเทศว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" วันเวลาที่ล่วงผ่านไปเนิ่นนานจากวันนั้นถึงวันนี้ ๔๑ ปีเศษแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรักษาสัจจะที่ได้พระราชทานให้แก่พสกนิกรทั้งสองประการ มาอย่างสมบูรณ์สม่ำเสมอ พระองค์ไม่เคยทรงทอดทิ้งพสกนิกร ด้วยทรงถือเอาความทุกข์เดือดร้อนของพสกนิกรเป็นความทุกข์เดือดร้อนของพระองค์เอง เหตุนี้เมื่อเกิดความเดือดร้อนหรือภัยพิบัติในส่วนใดของประเทศ พระองค์จะเสด็จฝ่าไป ไม่ว่าระยะทางจะใกล้ไกล ทุรกันดารเพียงใด แดดจะแผดกล้าร้อนแรง หนทางจะคดเคี้ยวข้ามขุนเขา พงไพรจะรกเรื้อแฉะชื้นเต็มไปด้วยตัวทาก ฝนจะตกกระหน่ำจนเหน็บหนาว น้ำจะท่วมเจิ่งนอง พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อที่จะเสด็จไปประทับเป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรผู้ทุกข์ยาก เพื่อทรงดับความเดือดร้อนให้กลับกลายเป็นความร่มเย็น

    นอกจากนี้ยังทรงครองแผ่นดินด้วยธรรมานุภาพ ไม่ว่าการสิ่งใดอันจะยังความทุกข์สงบมาสู่พสกนิกร พระองค์จะทรงปฏิบัติ และการสิ่งใดที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรประพฤติปฏิบัติตาม จะพระราชทานกระแสพระราชดำรัสชี้แจงถึงเหตุและผลให้เข้าใจ พสกนิกรผู้ปฏิบัติจึงปฏิบัติด้วยเห็นประโยชน์แห่งผลของการปฏิบัตินั้น ปฏิบัติด้วยความเต็มใจและด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ มิใช่ด้วยความกลัวเกรงพระบรมเดชานุภาพ การครองแผ่นดินโดยธรรมของพระองค์จึงยังประโยชน์สุขมาสู่มหาชนชาวสยาม สมดังพระราชปณิธาน

    คงไม่มีความรู้สึกอันใดที่จะวาบหวานและซาบซึ้งใจชาวไทย ยิ่งไปกว่าความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พระผู้ทรงมีพระราชอัธยาศัยเปี่ยมไปด้วยอาชชวะคือความซื่อตรงต่อพสกนิกรและประเทศชาติ
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    5.มัททวะ

    ราชธรรมในข้อมัททวะหรือความอ่อนโยนนี้ เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรมาช้านานแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยนเพียบพร้อมทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนโยนในความหมายทางโลกหรือความหมายทางธรรม

    ความอ่อนโยนในความหมายทางโลก คือความอ่อนโยนต่อบุคคลอื่นในสังคม อันเป็นมารยาทที่บุคคลในสังคมจะพึงปฏิบัติต่อกันเพื่อผลดีในทางสังคม ความอ่อนโยนในความหมายนี้ย่อมชี้ให้เห็นชัดได้ด้วยพระราชจริยาวัตรต่าง ๆ ในที่ทุกสถาน

    ส่วนความอ่อนโยนในทางธรรมนั้น มีความหมายกว้างขวางมาก คือ หมายถึงความสามารถโอนอ่อนผ่อนตาม น้อมไป หรือเปลี่ยนไปในทางแห่งความดี ทำให้เกิดการผสมผสานกันอย่างดีในทางการงานและบุคคลแก่บุคคลทุกระดับชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าถึงธรรมะในข้อนี้เป็นอย่างดี และอย่างถ่องถ้วนทุกระดับขั้น

    ขั้นแรก คือ ความอ่อนโยนทางพระวรกาย ทุกพระอิริยาบถที่ปรากฎไม่มีที่จะแสดงถึงความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือถือพระองค์เลยจะมีก็แต่ความอ่อนโยน นิ่มนวล งดงาม เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์พระราชหฤทัย อันยังความชื่นชมโสมนัส และอบอุ่นใจให้เกิดแก่พสกนิกรโดยทั่วกัน

    ขั้นที่สอง คือ ความอ่อนโยนทางพระวาจา อันพึงเห็นได้จากการที่ทรงมีพระราชปฏิสังถารแก่ราษฎรซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่มารับเสด็จอย่างใกล้ชินสนิทสนม ไม่เคยมีพระวาจาที่กระด้าง มีแต่อ่อนโยนสุภาพละมุนละไม แม้จะทรงอยู่ในพระราชฐานะอันสูงสุด กลับทรงแสดงพระองค์เป็นธรรมดาอย่างที่สุด มิได้ทรงวางพระองค์ให้แตกต่างห่างไกลจากประชาชนที่ประกอบด้วยฐานะต่าง ๆ กัน ทางปฏิบัติพระองค์เป็นกันเอง เสมือนบิดาปฏิบัติต่อบุตรอันเป็นที่รัก ตรัสพระวาจาอ่อนหวานอันควรดื่มด่ำไว้ในหัวใจเป็นอย่างยิ่ง

    ขั้นที่สาม คือ ความอ่อนโยนนิ่มนวลทางจิตใจและสติปัญญา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุถึงมัททวะในขั้นนี้อย่างแท้จริง และทรงเข้าพระทัยในธรรมะของชีวิตอย่างลึกซึ้งว่า แต่ละชีวิตย่อมมีหน้าที่หลายอย่าง พระองค์จึงทรงวางพระทัยให้อ่อนโยน และทรงวางพระสติปัญญาให้โอนอ่อนไปตามสถานภาพได้อย่างเหมาะสม เช่นในพระราชฐานะต่าง ๆ ในพระบรมราชวงศ์ (ทั้งพระราชฐานะที่เป็นพระราชโอรส เป็นพระอนุชา เป็นพระบิดา เป็นอัยกา ฯลฯ)

    ในพระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราช ทรงมีสัมมาคารวะอ่อนน้อมแด่ผู้เจริญโดยวัยและเจริญโดยคุณ และมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอพระองค์และต่ำกว่า ไม่เคยทรงดูหมิ่น การที่ทรงวางพระองค์เช่นนี้จึงก่อให้เกิดความสุขความเจริญแก่บ้านเมือง และความปิติศรัทธาแก่ชาวไทยอย่างไม่มีอะไรจะเปรียบ

    6.ตบะ

    ราชธรรมข้อที่หก คือ ตบะ หรือความเพียร เป็นราชธรรมที่มีการตีความหมายกันไว้หลายประการ แต่ไม่ว่าจะตีความหมายโดยนัยอย่างใด การดำรงพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงอยู่ในขอบข่ายของพระมหากษัตริยาธิราชผู้ทรงบำเพ็ญตบะบารมีอยู่นั่นเอง
    ตบะในความหมายหนึ่งคือความเพียรเป็นเครื่องแผดเผาความเกียรคร้าน โดยความหมายนี้จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบด้วยพระราชอุตสาหะวิริยภาพเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ไม่โปรดที่จะประทับอยู่เฉย ทรงพอพระราชหฤทัยในการเสด็จพระราชดำเนินออกทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ แม้ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล ขวางกั้นด้วยผืนน้ำกว้างใหญ่ ป่าทึบ หรือเขาสูงสุดสายตาเพียงเพื่อให้ทรงทราบถึงความทุกข์สุขของราษฎร ด้วยพระเนตรพระกรรณของพระองค์เอง เมื่อทรงทราบแล้วก็มิได้ทรงนิ่มนอนพระราชหฤทัย แต่ได้ทรงมีพระราชดำริริเริ่มสิ่งต่าง ๆ เพื่อขจัดความทุกข์เดือดร้อนของราษฎรทั้งในด้านการอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย การศึกษาและอื่น ๆ ด้วยพระราชอุตสาหะ วิริยภาพเช่นนี้ พระองค์จึงทรงขจัดความขัดข้องความยากจนขัดสนทั้งหลายให้แก่ราษฎรได้โดยทั่วกัน

    ตบะ ในอีกความหมายหนึ่ง หมายถึงความตั้งใจกำจัดความเกียจคร้านและการกระทำผิดหน้าที่ มุ่งทำกิจอันเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ ซึ่งเป็นกิจที่ดีที่ชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญตบะในความหมายนี้ได้อย่างครบถ้วนเช่นเดียวกัน ในพระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราช ทรงมีหน้าที่ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ได้รับความร่มเย็น พระองค์ได้ทรงตั้งพระราชอุตสาหะวิริยภาพ ประกอบด้วยปัญโญภาส ปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปด้วยดีไม่มีข้อผิดพลาด ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรโดยไม่หยุดยั้ง โครงการพระราชดำริของพระองค์จึงมีนับพัน ๆ โครงการไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงติดตามกิจการที่ได้ทรงปฏิบัติหรือโปรดให้ปฏิบัติโดยใกล้ชิด โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะทรงลำบากยากพระวรกายเพียงไร แต่ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงพอพระราชหฤทัยที่จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจ ด้วยพระราชอุตสาหะวิริยภาพโดยไม่มีวันว่างเว้น และในวันหนึ่ง ๆ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้มายมายจนไม่น่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะสำหรับบุคคลโดยทั่วไปหากจะเป็นไปได้เช่นนั้น ก็คงต้องใช้เวลาหลายวันมิใช่วันเดียว ดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติ

    ตบะ ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเพียรในการละอกุศลกรรม เพียรอบรมกุศลบุญต่าง ๆ ให้บังเกิดขึ้น โดยความหมายนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเพียบพร้อมด้วยพระราชวิริยภาพที่จะทรงเอาชนะความชั่วต่าง ๆ ด้วยความดี ทรงมีพระตบะเดชะ เป็นที่เทิดทูนยำเกรงการสมาทานกุศลวัตรของพระองค์ จึงสามารถเผาผลาญกำจัดอกุศลกรรมให้เสื่อมสูญได้โดยสิ้นเชิง อาณาประชาราษฎร์ผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร จึงมีแต่ความสุขสวัสดิ์วัฒนาพ้นจากความเดือดร้อนนานาประการด้วยตบะเดชะบารมีแห่งพระองค์
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    7.อักโกทะ

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญอักโกธะบารมี หรือความไม่โกรธให้เป็นที่ประจักษ์ใจทั้งในหมู่ประชาชนชาวไทย และในนานาประเทศมาเป็นเวลาช้านาน แม้มีเหตุอันควรให้ทรงพระพิโรธยังทรงข่มพระทัยให้สงบได้โดยสิ้นเชิง อย่างที่ปุถุชนน้อยคนนักจะทำได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๐๕ และ ๒๕๑๐ เป็นต้น ซึ่งยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ตามเสด็จทุกคน
    วันนั้น…วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๐๕ เป็นวันแรกที่ทรงย่างพระบาทสู่ดินแดนออสเตรเลีย พร้อมด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการเสด็จเยือนมาสามประเทศแล้ว จากรถพระที่นั่ง…ขณะเสด็จไปยังที่ประทับพระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็น ชายคนหนึ่งชูป้ายเป็นภาษาไทยขับไล่พระองค์ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงหวั่นไหวด้วยทรงพิจารณาว่าเป็นการกระทำของคนเพียงคนเดียว มิใช่ประชาชนทั้งประเทศ จึงทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชนอื่น ๆ ที่โห่ร้องรับเสด็จไปตลอดทาง

    ต่อมาที่นครซิคนีย์เหตุการณ์อย่างเดียวกันได้เกิดขึ้นอีก โดยกลุ่มคนที่ได้รับการสนับสนุนจากลัทธิการเมืองที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลไทย เริ่มจากการชูป้ายข้อความขับไล่ผู้เผด็จการเมืองไทย ในทันทีที่รถพระที่นั่งแล่นเข้าสู่ศาลากลางเทศบาล ซึ่งจัดไว้เพื่อรับเสด็จ ติดตามด้วยใบปลิวมีข้อความขับไล่ผู้เผด็จการเมืองไทย และกล่าวหารัฐบาลไทยว่าเป็นฆาตกรฆ่าผู้บริสุทธิ์ ใบปลิวนี้โปรยลงมารอบพระองค์ขณะที่ตรัสตอบขอบใจนายกเทศมนตรี และประชาชนกลางเวที แต่พระองค์ยังคงตรัสต่อไป เสมือนมิได้มีสิ่งใดเกิดขึ้น

    เพียงเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเสด็จต่อไปยังเมืองเมลเบิร์นเพื่อทรงรับการถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พระองค์ยังทรงถูกโห่ฮาป่าจากกลุ่มนักศึกษาซึ่งไม่สุภาพ ทั้งท่าทางและการแต่งกาย และเมื่ออธิการบดีกล่าวสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ นักศึกษากลุ่มเดิมได้โห่ฮาป่ากลบเสียงสดุดีเสีย แม้เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเพื่อตรัสตอบ คนกลุ่มนี้ยังโห่ฮาป่าขึ้นอีก แต่พระองค์คงมีสีพระพักตร์เรียบเฉย ซ้ำยังทรงหันมาเปิดพระมาลาที่ทรงคู่กับฉลองพระองค์ครุยโค้งคำนับคนกลุ่มนั้นอย่างสุภาพ พร้อมกับตรัสด้วยพระสุรเสียงที่ราบเรียบมีใจความว่า “ขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมากในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อย ที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน” เสียงฮาป่าเงียบลงทันที นักศึกษากลุ่มนี้ได้พ่ายแพ้แก่อักโกธะ หรือความไม่โกรธของพระองค์โดยสิ้นเชิง…ครั้นถึงเวลาเสด็จกลับ ทุกคนในกลุ่มพร้อมใจกันยืนคอยส่งเสด็จด้วยสีหน้าเจื่อน ๆ บ้าง ยิ้มบ้าง โบกมือและปรบมือให้บ้างจนรถพระที่นั่งแล่นไปจนลับตา

    ต่อมาในปี ๒๕๑๐ อันเป็นปีที่ชาวอเมริกันเดินขบวนและหนังสือพิมพ์ลงข่าวโจมตีรัฐบาล เรื่องการส่งทหารมาช่วยรบและเสียชีวิตมากมายในเวียนนามใต้ ในภาวะอันวิกฤตนี้ทรงเกรงรัฐบาลอเมริกันจะล้มเลิกนโยบาลช่วยเหลือเอเชียอาคเนย์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของไทย จึงเสด็จไปทรงเจริญสัมพันธไมตรี

    ในการนี้จะทรงได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยวิลเลียมส์ ก่อนวันแจกปริญญาทรงทราบว่าบทความที่ได้รับรางวัลซึ่งจะอ่านในวันแจกปริญญา เป็นบทความคัดค้านนโยบาลของรัฐบาล ในการส่งทหารมาช่วยรบในเวียนนาม นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษายังเตรียมแจกใบปลิว และเตรียมเดินขบวนออกจากพิธีถวายปริญญาแก่พระองค์ด้วย…และแล้ววันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๐ วันอันน่าระทึกใจก็มาถึง เมื่อนักศึกษาอ่านบทความที่ได้รับรางวัลจบลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรบพระหัตถ์ให้กับการใช้ภาษาที่ถูกต้องและไพเราะ แม้จะไม่ทรงเห็นด้วยกับเนื้อหาก็ตาม จากนั้นพระองค์จึงตรัสขอบใจมหาวิทยาลัย และทรงเตือนสตินักศึกษา “ให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองดูเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อนที่จะมั่นใจเชื่ออะไรลงไป มิใช่สักแต่ว่าเชื่อเพราะมีผู้บัญญัติไว้” พระราชดำรัสนี้เป็นที่ชื่นชอบมากถึงกับทุกคนลุกขึ้นยืน และปรบมือถวายเป็นเวลานาน และเหตุการณ์ร้ายที่เกรงกลัวก็มิได้เกิดขึ้น

    การที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริยาธิราชผู้ทรงบำเพ็ญอักโกธะบารมี หรือความไม่โกรธได้อย่างมั่นคงเช่นนี้ จึงทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาสัมพันธไมตรีอันดีกับนานาประเทศไว้ได้ตลอดมา พระเกียรติคุณของพระองค์ในข้อนี้จึงเป็นที่ชื่นชมของชาวไทยและชาวต่างประเทศยิ่งนัก

    8.อวิหิงสา

    จากอดีตเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (๒๕๓๐) นับเป็นเวลาเนิ่นนานไม่น้อยกว่า ๔๑ ปี ที่ทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินไทยได้รับความร่มเย็นมีความเป็นอยู่อย่างสุขสงบ ภายใต้เบื้องพระยุคลบาทแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงบำเพ็ญอวิหิงสาบารมี คือ ไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นลำบาก ไม่ก่อทุกข์ยากให้แก่ผู้ใดแม้จนถึงสรรพสัตว์ ด้วยเห็นเป็นของสนุกเพราะอำนาจแห่งโมหะหรือความหลง ไม่ทำร้ายรังแกมนุษย์และสัตว์เล่นเพื่อความบันเทิงใจแห่งตน

    ในการบำเพ็ญอวิหิงสาบารมีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญได้โดยบริสุทธิ์ทุกสถาน ไม่ว่าจะเป็นทรงพระวรกาย พระวาจา พระราชหฤทัย และไม่ว่าจะเป็นการอันทรงปฏิบัติต่อมวลมนุษย์หรือสรรพสัตว์ใด ๆ แม้การนั้นจะยังความสะดวกสบายมาสู่พระองค์ หากเป็นความยากลำบากแก่ทวยราษฎร์แล้ว พระองค์จะทรงงดเว้นเสีย โดยทรงยอมลำบากตรากตรำพระวรกายของพระองค์เองแทน ดังเหตุการณ์อันเป็นที่เปิดเผยจากวงการตำรวจจราจรเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๐ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าตามปกติเวลาที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ใดเจ้าหน้าที่จราจรจะปิดถนนตลอดเส้นทางนั้นทุกครั้ง จึงทรงมีกระแสพระราชดำรัสว่า ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ปิดการจราจรเวลาเสด็จพระราชดำเนินไม่ว่าที่ใด หากการจราจรเกิดติดขัดก็มีพระมหากรุณาธิคุณที่จะทรงร่วมอยู่ในสภาวะแห่งการติดขัดนั้น เช่นเดียวกับพสกนิกรของพระองค์

    การบำเพ็ญอวิหิงสาอย่างยิ่งยวดของพระองค์นี้ แม้จะหยิบยกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดเพียงประการเดียวจากพระราชกรณียกิจอันมากมาย คงเพียงพอที่จะกล่าวได้ว่าไม่มีพระมหากษัตริยาธิราช หรือประมุขประเทศใดในโลกขณะนี้ที่จะเสมอเหมือนพระองค์

    ในส่วนที่เกี่ยวกับสรรพสัตว์ พระองค์ไม่เคยทรงกระทำการใดให้เป็นที่ทุกข์ยากเจ็บปวด ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่จะเสด็จออกประพาสป่าล่าสัตว์ตัดชีวิต จะมีก็แต่การพระราชทานชีวิตให้เท่านั้น ในรูปของโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์แหล่งน้ำและอนุรักษ์สัตว์ เช่น โครงการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า เป็นต้น

    การบำเพ็ญอวิหิงสาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแผ่ไพศาลไปทั่วทุกหนแห่ง จึงปกป้องคุ้มครองชีวิตไม่ว่ามนุษย์หรือสรรพสัตว์ทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินไทย จึงดำรงอยู่ได้ด้วยความสุขสงบและร่มเย็น
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    9.ขันติ

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริยาธิราช ผู้ทรงมีพระขันติธรรมเป็นยอดเยี่ยมอย่างหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ บางครั้งเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับพระองค์ที่จะทรงอดทนได้ แต่พระองค์ยังทรงอดทนรักษาพระราชหฤทัย พระวาจา พระวรกาย และพระอาการ ให้สงบเรียบร้อยงดงามได้ในทุกสถานการณ์

    ทรงอดทนต่อโทสะ จากการเบียดเบียนหยามดูหมิ่น ดังเช่น การถูกขับไล่โดยกลุ่มชนที่ไม่หวังดีต่อเมืองไทย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นต้น

    ทรงอดทนต่อโลภะ คือความอยากได้ทุกประการโดยสิ้นเชิง ดังจะเห็นได้ว่าพระองค์ได้เคยมีพระราชประสงค์สิ่งใดจากผู้ใด แม้สิ่งของที่นำมาถวายหากมากเกินไปก็มิได้ทรงรับ เช่น รัฐบาลในสมัยหนึ่งจะถวายรถพระที่นั่งคันใหญ่เป็นพิเศษเพื่อให้สมพระเกียรติยศ แต่พระองค์กลับมีพระราชดำริว่ารถพระที่นั่งน่าจะเป็นรถคันใหญ่พอประมาณและราคาไม่แพงนัก เพื่อจะได้สงวนเงินไว้พัฒนาประเทศได้อีกส่วนหนึ่ง เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังทรงอดทนต่อโมหะ คือความหลง โดยพระองค์มิได้ทรงติดข้องอยู่ในความสุขสำราญและความสะดวกสบายต่าง ๆ อันพึงหาได้ในพระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราช

    ทรงอดทนต่อความทุกขเวทนา ความลำบากตรากตรำพระวรกายต่าง ๆ เพื่อทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทุกแห่งหน

    ทรงอดทนต่อความหวาดหวั่นภยันตรายต่าง ๆ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๑๐ เป็นต้น ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ก่อการร้ายกำลังฮึกเหิมพระองค์ก็มิได้ทรงทอดทิ้งทหารตำรวจ ผู้ทำหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดินไทย โดยทรงมีวิทยุติดพระองค์เพื่อทรงรับฟังเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาทรงสอบถามเหตุการณ์ทางวิทยุอยู่เสมอ และหากทรงว่างจากพระราชภารกิจจะรีบเสด็จไปยังที่เกิดเหตุทันท ีเพื่อทรงสอบถามเหตุการณ์ด้วยพระองค์เอง หากทรงทราบว่ามีทหารตำรวจได้รับบาดเจ็บ จะทรงให้เฮลิคปอเตอร์รับผู้บาดเจ็บไปรักษาพยาบาลทันที ส่วนในที่บางแห่ง เช่นที่กุยบุรี จังหวัดประจวบศีรีขันธ์ ซึ่งขาดแคลนพาหนะในการตรวจท้องที่ทำให้ทหารตำรวจถูกลอบทำร้ายล้มตายกันเนือง ๆ หลังจากเสด็จไปทรงเยี่ยมทหารตำรวจแล้วทรงเห็นความจำเป็นจึงพระราชทานพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อรถจิ๊ปพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ๖ คัน เพื่อสงวนชีวิตเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไว้

    ในคราวเกิดเหตุปะทะที่ทุ่งช้าง จังหวัดน่าน อันขึ้นชื่อว่าเป็นสมรภูมิเลือดนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงกลัวเกรงภยันตรายใด ๆ ได้เสด็จขึ้นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปบินสำรวจเหนือจุดซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นจุดที่เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการเคยถูกยิงตกมาแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังทรงให้เฮลิคอปเตอร์รับทหารผู้บาดเจ็บออกมารับการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงทีด้วย พระองค์มิได้ทรงหวดหวั่นภยันตรายใด ๆ แม้ในแหล่งที่ผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง เช่น ลอบฆ่าข้าราชการและประชาชน (บ้านนาวง อ.เมือง จ.พัทลุง)

    และแม้ในขณะที่พายุฝนกระหน่ำอย่างหนัก พระองค์ยังคงเสด็จฝ่าสายฝนไปเพื่อทรงเยี่ยมทหารตำรวจ ในสภาวะอันวิกฤตนั้นด้วยขันติบารมีของพระองค์เช่นนี้ ทำให้ราษฎรไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะทุกข์ยากทุรกันดารหรือตกอยู่ในภยันตรายเพียงใด ยังเกิดความรู้สึกอยู่เสมอว่าเขามิได้ถูกทอดทิ้งให้ว้าเหว่ผจญชะตากรรมอยู่เพียงลำพัง หากยังมีองค์พระประมุขที่จะเสด็จมาประทับเคียงข้าง และแผ่พระบารมีคุ้มครองให้เขารอดพ้นจากภยันตรายทั้งมวล

    10.อวิโรทนะ

    นับเป็นบุญของชาวไทยเป็นอย่างยิ่งที่ได้อยู่ภายใต้เบื้องพระยุคลบาล แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริยาธิราช ผู้ทรงบำเพ็ญอวิโรธนะคือความเที่ยงธรรมได้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง ซึ่งความเที่ยงธรรมในที่นี้ หมายถึงความตรงตามความถูกต้อง หรือความไม่ผิดนั่นเอง

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระองค์ถูกต้องตามขัตติยราชประเพณีทุกประการ ไม่เคยทรงประพฤติผิดจากราชจรรยานุวัตรนิติศาสตร์และราชศาสตร์ ทรงปฏิบัติพระองค์ได้อย่างงดงามไม่มีความบกพร่องให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้เลย

    พระองค์ทรงรักษาพระราชหฤทัยได้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสทั้งมวล จึงมิได้ทรงหวั่นไหวต่ออำนาจแห่งอคติใด ๆ อันมีความรัก ความชัง ความโกรธ ความกลัว และความหลง เป็นต้น จึงไม่มีอำนาจใดที่อาจน้อมพระองค์ให้ทรงประพฤติทรงปฏิบัติไปในทางที่มัวหมองไม่สมควร หรือคลาดเคลื่อนไปจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องผู้ควรอุปถัมภ์ยกย่อง ทรงบำราบคนมีความผิดควรบำราบโดยทรงที่เป็นธรรม และในพระราชฐานะแห่งองค์พระประมุขของชาติไทยในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน พระองค์ได้ทรงดำริอยู่ในความยุติธรรม ทรงเป็นหลักชัยของพรรคการเมืองทุกพรรค

    ในด้านพระราชภารกิจต่าง ๆ ทรงปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่มีผิด้วยทรงสดับตรับฟัง ทรงศึกษา ทรงแสวงหาความรู้ความถูกต้องทั้งจากบุคคล ตำรา จากการที่ทรงสอบค้นด้วยพระองค์เอง และทรงนำมาประมวลใคร่ครวญด้วยพระปัญญา ความรู้ที่ทรงได้จึงเป็นความรู้ที่ชัดแจ้งและถูกต้อง ด้วยเหตุนี้พระราชกรณียกิจใด ๆ ที่ทรงมุ่งผลให้บังเกิดเป็นความผาสุกความเจริญแก่พสกนิกรอย่างใด ก็ย่อมสำเร็จเป็นความผาสุกและความเจริญอย่างนั้น แม้ว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างที่จะต้องแก้ไขอันเป็นธรรมดาของการทำงานทั้งปวง ก็ทรงปฏิบัติแก้ไขอย่างรอบคอบให้บังเกิดผลดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปด้วยลำดับ พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงมีแต่ความไม่ผิด ดังเช่น ในการพัฒนาประเทศทรงพัฒนาอย่างถูกต้อง คือทรงพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประชาชน โดยทรงแนะนำตรัสสอนด้วยพระองค์เองและผ่านทรงโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เป็นต้น

    นอกจากนี้ในการพัฒนาแต่ละท้องถิ่นพระองค์ยังได้ทรงศึกษาถึงภูมิประเทศ ลมฟ้าอากาศ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีความเป็นอยู่และความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นย่อมไม่เหมือนกัน การพัฒนาของพระองค์จึงเป็นการพัฒนาด้วยความเข้าใจ เหมาะสมและเหมาะแก่ความจำเป็นของท้องถิ่นนั้น ๆ การพัฒนาโดยวิธีทางที่ถูกต้องนี้เอง ทำให้การพัฒนาประเทศได้ผลไม่สูญเปล่า สามารถช่วยให้ไพร่ฟ้าหน้าใสได้โดยทั่วหน้ากันสมดังพระราชประสงค์ ทั้งนี้ก็ด้วยการบำเพ็ญอวิโรธนะของพระองค์นี้เอง


    จาก http://www.dhammajak.net/ratchathum/
     

แชร์หน้านี้

Loading...