ทศบารมีวิภาค - ทานบารมี .....พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย KK1234, 1 กันยายน 2010.

แท็ก: แก้ไข
  1. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ทศบารมีวิภาค - ทานบารมี
    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
    วัดบรมนิวาส กทม.
    สำเนาเทศน์เช้าวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑
    (๑๘/๗/๗๐)

    อิทานิ อฏฺฐมี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต, ทานปารมี สีลปารมี เนกฺขมฺมปารมี ปญฺญาปารมี วิริยปารมี ขนฺติปารมี สจฺจปารมี อธิฏฺฐานปารมี เมตฺตาปารมี อุเปกฺขาปารมีติ อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


    ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ แห่งกาฬปักษ์ พุทธบริษัทได้มายังสันนิบาต ประชุมกันเพื่อจะฟังพระธรรมเทศนาตามกาลนิยม และได้พร้อมกันกระทำสักการบูชาพระรัตนตรัย ด้วยอามิสและปฏิบัติ มียกขึ้นซึ่งดอกไม้ ธูปเทียน และไหว้พระสวดมนต์ อันเป็นบุรพกิจในเบื้องต้นเสร็จแล้ว

    บัดนี้ เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา จะได้นำมาซึ่งบารมีธรรม อันองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วสิ้นกาลยืดยาว นับแต่ได้รับพุทธทำนายว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่ง มีนามและโคตรชื่อนั้น ในกัลปชื่อนั้น ของพระพุทธเจ้าอันมีนามว่าทีปังกร ครั้งเป็นสุเมธดาบสได้สี่อสงไขยมหากัลปเศษแสนมหากัลปอีก จึงได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ได้เป็นพระบรมศาสดาของพวกเราทั้งหลาย มีพระธรรมวินัยเป็นพยานอยู่ ณ บัดนี้



    คำที่ว่า กปฺป ว่ากัลปนั้น ดูเป็นกาลยืดยาวนัก ตามที่ท่านนิยมไว้ ดังนี้ สํวฏฺฏกปฺป คือกำหนดด้วยเขตอายุของมนุษย์คราวเจริญตั้งแต่ ๑๐ ปี ทวีขึ้นไป ๑๐๐ ปีเติมเข้าปี ๑ จนอายุของมนุษย์ทวีขึ้นไปถึงอสงไขยปี นับเป็นกัลปหนึ่ง ชื่อว่า สํวฏฺฏกปฺป และกำหนดคราวเสื่อม คือ อายุของมนุษย์ทวีขึ้นไปถึงอสงไขยแล้ว ก็เสื่อมถอยลงมาตามลำดับ ๑๐๐ ปี ลดออกเสียปี ๑ จนอายุของมนุษย์ต่ำลงมาถึง ๑๐ ปี นับเป็นกัลปอันหนึ่ง ชื่อว่า วิวฏฺฏกปฺป


    สํวฏฺฏกปฺป (และ) วิวฏฺฏกปฺป ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ายุคหนึ่ง เป็น อันตรกัลป อันหนึ่ง ๖๔ ยุค คือ ๖๔ อันตรกัลปนี้เป็นมหากัลปอันหนึ่ง


    พระพุทธเจ้าสร้างพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนมหากัลปนี้ คิด ๆ ดูก็น่ารำคาญเหลือเกิน ที่เกิดของสัตว์ผู้ยังไม่แน่นอนมี ๒ สถาน คือ สุคติ ๑ ทุคติ ๑ มนุษย์และสวรรค์ชื่อว่า สุคติ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน ชื่อว่า ทุคติ ถ้าสัตว์ผู้แน่นอนแล้ว คือตั้งแต่บรรลุพระโสดาแล้วขึ้นไป แต่ยังไม่ถึงพระอรหันต์ มีแต่สุคติอย่างเดียว ถ้ายังไม่ถึงพระโสดา ชื่อว่า อนิยโต เป็นสัตว์ไม่แน่นอน อาจจักไปทุคติก็ได้ ถ้าได้สำเร็จอรหันต์แล้ว หมดคติ เสวยนิพพานสุข คือความสุขอันปราศจากอามิส เป็นชาติกายสิทธิ์ เป็นเอกันตบรมสุข คือเป็นความสุขอย่างสูงสุด สุขโดยส่วนเดียว อธิบายว่า เป็นความสุขเกินโลก เพราะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย พวกเราที่เป็นพุทธบริษัทควรจะวิจารณ์ให้มาก


    การเวียนว่ายตายเกิดในกำเนิดภพน้อยใหญ่นี้ เทียบกับความสุขด้วยกันดู เห็นว่าความสุขไม่พอแก่ความทุกข์แน่นอน แต่เพียงความป่วยไข้หรือความตายเท่านี้ ก็ลบล้างหักความสุขเสียสิ้น เพราะเหตุนั้น ท่านผู้เต็มไปด้วยมหากรุณา ได้พิจารณาเห็นกองทุกข์เหล่านี้ ว่าเป็นภัยอันสำคัญของสัตว์ในโลก จึงปรารถนาพุทธภูมิ สร้างพระบารมี บำเพ็ญพุทธการกธรรม เพื่อให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าสิ้นกาลนาน กำหนด ๔ อสงไขยบ้าง ๘ อสงไขยบ้าง ๑๖ อสงไขยบ้าง นับด้วยมหากัลป


    การที่สู้ทนทรมาน ฝ่าฝืนความลำบากอยู่ในสงสารวัฏเช่นนั้น ข้อสำคัญก็คือ ประสงค์ว่า เมื่อได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จักได้เป็นนายก นำเวไนยสัตว์ออกจากวัฏฏทุกข์ เหมือนอย่างพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมครูของพวกเราทั้งหลาย นับแต่ได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณแล้วก็ตั้งพระทัยประกอบพุทธกิจ เที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา คือพระธรรมและวินัยนี้สิ้นเขตอายุถึง ๔๕ พรรษา พระองค์ผู้เดียวทรงสั่งสอนวางระเบียบแบบแผนเป็นพระวินัยบ้าง เป็นพระสูตรบ้าง เป็นพระปรมัตถ์บ้าง มากมายจนพวกเราตรวจตราไม่ตลอดทั่วถึงได้ คน ๆ เดียวทำงานได้มากถึงเพียงนี้ จะเห็นว่า พระพุทธเจ้ามีความสุขในโลกอย่างไรได้ ท่านทรงเสวยความสุขในธรรมต่างหาก อาศัยพระมหากรุณาอันเต็มเปี่ยมในพระวรสันดาน ทรงประทานพระธรรมเทศนา ชักจูงผู้ยังไม่มีศรัทธา ให้มีศรัทธาขึ้น ผู้มีศรัทธาอยู่แล้ว ให้มีศรัทธายิ่งขึ้น จนให้ได้บรรลุพระอรหันต์เป็นที่สุด พุทธบริษัทก็ย่อมทราบอยู่ด้วยกันทุกคนว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ประสงค์จะให้พวกเราพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร ถ้าผู้เชื่อจริง ทำจริง ก็ได้สำเร็จจริงตามพระพุทธประสงค์จริงด้วย


    ก็พระธรรมที่พระองค์นำมาสั่งสอนนั้นคืออะไร ก็คือพระบารมีธรรมที่พระองค์ได้สร้างสมาแล้ว สิ้นโกฏิแห่งมหากัลปเป็นอันมากนั่นเอง เพราะพระธรรมเหล่านั้นมีเต็มที่บริบูรณ์ในพระองค์ เพราะพระองค์สร้างมา พระองค์เป็นผู้ไม่จน จึงทรงพระนามว่า ภควา ผู้มีภาคยธรรมเป็นส่วนแจก รวมลงก็ได้แก่พระบารมี ๑๐ ประการ คือ


    ทานบารมี บำเพ็ญทานให้เต็มรอบ ๑

    สีลบารมี บำเพ็ญศีลให้เต็มรอบ ๑

    เนกขัมมบารมี บำเพ็ญพรหมจรรย์ให้เต็มรอบ ๑

    ปัญญาบารมี บำเพ็ญทางปัญญาให้เต็มรอบ ๑

    วิริยบารมี บำเพ็ญความเพียรให้เต็มรอบ ๑

    ขันติบารมี บำเพ็ญขันติความอดทนให้เต็มรอบ ๑

    สัจจบารมี บำเพ็ญสัจจความจริงให้เต็มรอบ ๑

    อธิฏฐานบารมี บำเพ็ญอธิฏฐานให้เต็มรอบ ๑

    เมตตาบารมี บำเพ็ญเมตตาให้เต็มรอบ ๑

    อุเบกขาบารมี บำเพ็ญอุเบกขาให้เต็มรอบ ๑



    ธรรม ๑๐ ประการนี้ ชื่อว่า พุทธการกธรรม เป็นธรรมสำหรับพระพุทธเจ้า และชื่อว่า โพธิสัตตธรรม เป็นธรรมสำหรับโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ชื่อว่าโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญธรรม ๑๐ ประการนี้ให้เต็มรอบจึงจะได้สำเร็จ ข้อนี้ ถึงแม้พวกเราทั้งหลาย ผู้ปรารถนาจะสำเร็จโลกุตรธรรม มีพระอรหัตตผลเป็นที่สุด ก็นับในโพธิสัตว์ได้แผนกหนึ่งเหมือนกัน เพราะศัพท์ว่า โพธิสัตโต แปละว่า สัตว์ผู้ตรัสรู้อริยมรรค อริยผล ในพวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติตามพุทธโอวาทอยู่ทุกวันนี้ ก็ปรางค์จะให้สำเร็จโลกุตรธรรมด้วยกันทุกคนมิใช่หรือ จะเห็นไปว่า พระพุทธเจ้าท่านสร้างบารมีมาเป็นนักเป็นหนา ท่านจึงสำเร็จ คนเช่นเรา จะได้สร้างมาแล้วสักกี่มากน้อยก็ไม่รู้ ที่ไหนจักสำเร็จได้ อย่าคิดไปเช่นนั้น การสร้างบารมีใหญ่โตเช่นนั้น เป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าต่างหาก พวกเราเป็นแต่พุทธบริษัทรับแจกบริโภคเท่านั้น พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ให้ทาน การสร้างสมโภคทรัพย์มาก ๆ เป็นหน้าที่ของผู้ให้ทานต่างหาก พวกเราเปรียบเหมือนผู้รับทาน ไม่ต้องสร้างสมอะไร รับบริโภคเท่านั้นเป็นพอ ใน พระบารมี ๑ ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงแจกให้เป็นทานแก่พวกเราทั้งหลายนั้น ถ้าผู้ใดตั้งใจรับบริโภค คือ ทำจริง แต่อย่างเดียวก็อาจสำเร็จได้
    บัดนี้จักแสดงพระบารมีทั้ง ๑๐ นั้น คัดเอาแต่อย่างพอใจ ในพระบารมีประเภทหนึ่ง ๆ ซึ่งเห็นว่าพอจะทำตามได้ และอาจให้สำเร็จมรรคผลนิพพานได้จริงด้วย มาเรียงลำดับไว้เป็นกัณฑ์ ๆ ให้พุทธบริษัทเลือกคัดปฏิบัติให้ต้องตามนิสัยของตน ๆ


    วันนี้จักแสดง ทานบารมี ก่อน
    ทานํ นาม ชื่ออันว่า การให้ทานนี้ เป็นพุทธประเวณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้สร้างสมมาเต็มรอบแล้ว จึงได้นำมาแจกแก่พุทธบริษัท พุทธบริษัทผู้ได้รับแจกก็ได้ปฏิบัติสืบกันมา แต่ครั้งพุทธกาลจนบัดนี้ ล่วงกาลมานานถึง ๒๔๗๐ ปีแล้ว ทานนั้นก็ยังบริบูรณ์อยู่ในระหว่างแห่งพุทธบริษัท


    ทานนั้นจัดเป็น ๓ ประเภท อย่างต่ำ ๑ อย่างกลาง ๑ อย่างสูง ๑ อย่างต่ำนั้น คือ ต่ำเลวกว่าที่เราบริโภค อย่างกลางนั้น เสมอกับตนบริโภค อย่างสุนั้น ยิ่งกว่าที่ตนบริโภค วัตถุทานนั้นมี ๔ เรียกว่า ปัจจัย ๔ คือวัตถุเป็นเครื่องเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งร่างกาย จึงชื่อว่าปัจจัย ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช วัตถุทาน ย่นลงได้ ๔ เท่านี้


    คำที่ว่าให้จีวรเป็นทานนั้น พึงถือเอาเนื้อความดังนี้ การให้ผ้าเป็นทาน ไม่ว่าผ้าท่อนเล็ก ท่อนใหญ่ สุดแต่จะสำเร็จกิจนั้น ๆ ได้ ชื่อว่าเป็นจีวรทานทั้งสิ้น บิณฑบาตทานนั้น ให้อาหารเป็นทาน ไม่เลือกประเภทใด สุดแต่เป้นของสำเร็จอาหารกิจ ได้ชื่อว่าบิณฑบาตทานทั้งสิ้น เสนาสนทานนั้น คือให้ที่อยู่ที่อาศัยสำหรับ กันแดด กันฝน กันร้อน กันหนาว ตลอดไปถึง เตียงตั่ง มุ้งม่าน ฟูกเบาะ กระโถน กาน้ำ เครื่องใช้สำหรับเสนาสนะทั้งมวล ชื่อว่าเสนาสนทานทั้งสิ้น เภสัชทานนั้น คือให้ยาแก้โรคเป็นทาน สุดแท้แต่เป็นยาสำหรับแก้โรคประเภทใดได้ ตลอดถึงหมากพลูบุหรี่ ชื่อว่า เภสัชทานทั้งสิ้น


    ส่วนที่พรรณนามานี้ เป็นส่วนวัตถุทานภายนอก เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่พุทธศาสนา พระพุทธศาสนาตั้งมาได้สิ้นกาลยืดยาวถึงเพียงนี้ ก็อาศัยทานของทายกทายิกาที่ปฏิบัติสืบ ๆ กันมานั้นเอง ถึงเป็นวัตถุทานภายนอก ก็ให้เกิดความยินดีแก่ผู้ให้และผู้รับอย่างเบิกบาน ให้เจริญความสุขทั้งชาตินี้ชาติหน้าโดยแท้ จึงเป็นของควรทำ ส่วนบุรพบุรุษก็ได้พาทำมาแล้วโดยลำดับ สำเร็จด้วยกรุณาเจตนา และจาคเจตนา มีเจตนาเหมือนกันกับการรักษาศีล


    บัดนี้จักแสดงวัตถุทานภายในให้เข้าใจไว้ จะแสดงแต่ย่อ ๆ ให้พุทธบริษัทไปตรองเอาเอง ยกตัวอย่างเหมือนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ จะเป็นนักบวชประเภทใดก็ตาม ถ้ามีเมถุนวิรัติ ชื่อว่าได้บริจาคมหาทาน ๕ ประการ มหาทาน ๕ ประการนั้น คือ ชีวิตบริจาค ๑ อังคบริจาค ๑ ภริยาบริจาค ๑ ปุตตบริจาค ๑ ธนบริจาค ๑


    ชีวิตบริจาค นั้น คือสละชีวิตถวายพรหมจรรย์ ถึงแม้ชีวิตจะแตกดับไปก็ไม่ยอมให้เสียศีลเสียสัตย์ ชื่อว่า ชีวิตบริจาค
    อังคบริจาค นั้น คือสละอัตตภาพร่างกายแก่ที่เคารพของตน คือมอบกายถวายตัวเป็นข้าในวัตถุอันเป็นที่เคารพ เหมือนอย่างพุทธบริษัทมอบกายถวายตัวเป็นข้าพระรัตนตรัย เป็นตัวอย่าง ชื่อว่า อังคบริจาค
    ภริยาบริจาค นั้น พึงเข้าใจว่า เป็นบุรุษเป็นสตรี ต้องมีสามีภรรยาด้วยกันทุกคน ผู้ที่ตั้งเจตนา เว้นว่า เราจักไม่มีสามีภรรยาตลอดชีวิต ชื่อว่า ภริยาบริจาค
    ปุตตบริจาค นั้น เมื่อสละสามีภรรยาเสียแล้ว ก็เป็นปุตตบริจาคอยู่เอง
    ธนบริจาค นั้น ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ต้องเป็นห่วงด้วยโภคทรัพย์ คือ ตามธรรมดา มนุษย์เราคนหนึ่ง ๆ ต้องมีที่บ้านที่สวนที่นา หรือมีการค้าขายแผนกหนึ่งทุกคน ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ชื่อว่าได้ให้ที่สวนที่บ้านที่นา ให้โอกาสการค้าขายเป็นทาน ไม่ไปแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในหน้าที่นั้น จึงชื่อว่า ธนบริจาค


    จาคเจตนาทั้งหลายเหล่านี้นับเข้าในมหาทาน ถ้าผู้บำเพ็ญมหาทานเหล่านี้ให้เต็มรอบ ก็ชื่อว่าผู้รับแจกทานอันพระพุทธเจ้าได้ทรงแจก พระพุทธเจ้าได้เสวยความสุขฉันใด เราก็คงได้รับความสุขฉันนั้น ก็ยิ่งกว่านี้ยังมีอีก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ๓ อย่างเท่านี้ เป็นมูลแห่งอกุศล ถ้าผู้บริจาคได้เป็นยอดทานบารมี โลภะ โทสะ โมหะ จัดเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างหยาบ สละด้วยศีล อย่างกลาง สละด้วยสมาธิ อย่างละเอียด สละด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ พุทธบริษัทพึงเข้าใจว่า แต่ทานบารมีอย่างเดียวเช่นนี้ ก็อาจให้ผู้บำเพ็ญ สำเร็จมรรคผลนิพพาน โดยไม่ต้องมีความสงสัย ได้แสดงประเภทแห่งทานบารมี พอเป็นทางบำรุงสติปัญญาแห่งพุทธบริษัท พอสมควรแก่เวลาด้วยประการฉะนี้ ฯ
    --------------------------------------------------------------------------------------
    นำมาจาก
    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/pra-ubali/pra-ubali-20-01.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...