ถ้าเรารู้จักทำใจให้เฉย เราจะไม่เหนื่อยอกเหนื่อยใจ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วิญญาณนิพพาน, 17 ธันวาคม 2015.

  1. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,878
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,021
    [​IMG]

    ถ้าเรารู้จักทำใจให้เฉย เราจะไม่เหนื่อยอกเหนื่อยใจกัน ที่เหนื่อยกันก็เพราะไม่ทำใจให้เฉย ชอบไปวุ่นกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็เลยเหนื่อย แต่ถ้าทำใจให้เฉยเหมือนดูละคร ก็จะไม่เหนื่อย ถ้าดูละครแต่ไม่ทำใจให้เฉยก็เหนื่อยได้เหมือนกัน ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ใจไม่นิ่งกัน ใจอ่อนไหวไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ใจไปสัมผัสรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่นิ่งเพราะไม่มีกำลังทำให้ใจนิ่ง เหมือนม้าไม่มีบังเหียน เราจึงต้องสร้างกำลังใจกัน คุณธรรมที่ทำให้ใจมีกำลังก็คืออินทรีย์ ๕ ถ้าได้รับการพัฒนาก็จะเป็นพละ ๕ พวกเรามีอินทรีย์ ๕ ที่มีกำลังพอสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีกำลังที่จะหยุดจิต ไม่ให้ว้าวุ่นขุ่นมัวไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เราจึงต้องพัฒนาอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕ ต้องพัฒนาศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ให้มีพลังไว้ควบคุมใจให้สักแต่ว่ารู้ ไม่ให้ไปมีอารมณ์กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ปล่อยวาง รู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ไปจุ้นจ้านกับเขา เขาจะดีจะชั่วจะสุขจะทุกข์ ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเราก็คือให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้น ถ้ามีพละ ๕ ก็จะทำใจได้ พละ ๕ ที่สำคัญก็คือ สติ สมาธิ ปัญญา ที่มีศรัทธาและวิริยะเป็นผู้สนับสนุนให้เจริญเติบโตขึ้นมา

    ในเบื้องต้นต้องมีศรัทธา ความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นผู้ที่ได้พิสูจน์แล้วว่า พละ ๕ นี้เป็นเครื่องมือที่จะเสริมสร้างกำลังให้แก่ใจ ให้ใจสามารถรับรู้กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ถ้ามีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะมีวิริยะ ความอุตสาหะพากเพียรที่จะศึกษา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าท่านสอนให้ปฏิบัติอย่างไร เพื่อทำให้ใจมีพลังที่จะรับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์ทรมานใจ เราจึงศึกษาด้วยการเข้าหาผู้รู้ หาครูบาอาจารย์ ศึกษาจากหนังสือธรรมะที่คัดมาจากพระไตรปิฎก จากหนังสือของครูบาอาจารย์ ของพระสุปฏิปันโนที่ได้ปฏิบัติผ่านมาแล้ว ผู้รู้วิธีพัฒนาอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้เป็นพละ ๕ ขึ้นมา พอได้ศึกษาแล้วก็จะรู้ว่าต้องพัฒนาสติ สมาธิ และปัญญา

    สติเป็นปัจจัยหลักของการปฏิบัติ ต้องเจริญสติก่อน สติเป็นเหมือนเชือกที่จะผูกใจดึงใจเอาไว้ ให้อยู่นิ่ง ไม่ให้ไปเพ่นพ่านตามที่ต่าง ๆ ใจเป็นเหมือนลิง ถ้าไม่มีเชือกผูกคอไว้แล้วโยงไว้กับเสา ลิงจะไม่อยู่เฉย ๆ จะต้องไปเพ่นพ่านทั่วไปหมด เวลาจะจับลิงเข้ากรง ก็จะไม่สามารถจับได้ แต่ถ้าเราผูกมันไว้กับเสา พอถึงเวลาจับเข้ากรง ก็จะลากมันเข้าไปในกรงได้อย่างง่ายดาย นี่คือสติ ที่เป็นเหมือนเชือกที่จะดึงจิตไม่ให้ไปเพ่นพ่านตามที่ต่าง ๆ เวลาจะจับจิตเข้ากรงเข้าสมาธิ ให้จิตรวมลงเป็นหนึ่งเป็นเอกัคตารมณ์ ถ้ามีเชือกคือสติดึงจิตเข้าไปในกรง ก็จะไม่ยากเย็น ถ้าไม่มีเชือกก็จะไม่มีทางที่จะจับจิตเข้ากรงได้ เหมือนใช้มือเปล่าจับลิง ลิงมันเร็วกว่าเราหลายร้อยเท่า จิตมันเร็วกว่าเราหลายร้อยเท่า มีสติเท่านั้นที่จะปราบมันได้ ถ้าอยากจะมีสมาธิมีปัญญาก็ต้องมีสติก่อน การเจริญสติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญสมาธิปัญญา และวิมุตติการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง.

    กัณฑ์ที่ ๔๑๔ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ เล่มที่ ๒๒)
    “ทำใจให้เฉย” : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
    https://www.facebook.com/Suchart.Abhijato

    รวมคำสอน “พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต”
    แสดงกระทู้ - รวมคำสอน “พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต” • ลานธรรมจักร

    แสดงกระทู้ - ถ้าเรารู้จักทำใจให้เฉย เราจะไม่เหนื่อยอกเหนื่อยใจ • ลานธรรมจักร
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 1.jpg
      1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      53.3 KB
      เปิดดู:
      809

แชร์หน้านี้

Loading...