ถาม–ตอบ ปัญหาการปฏิบัติ (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 21 พฤศจิกายน 2009.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    ถาม–ตอบ ปัญหาการปฏิบัติ
    โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


    1

    ถาม : ลืมตานั่งสมาธิได้ไหม

    ตอบ : ตามปกติสำนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ทั้งในไทย ในพม่า หรือในประเทศต่างๆ ก็สอนให้หลับตานั่งสมาธิ ถือเป็นหลักสากลทั่วไป แต่สำหรับพระในนิกายเซนประเทศญี่ปุ่น เวลานั่งสมาธิท่านห้ามหลับตา เพราะเวลานั่งสมาธิแล้วหลับตา อาจจะรู้สึกสงบและสบายก็จริง แต่ความง่วง หดหู่ มักจะเข้ามาครอบงำจิตได้ง่าย หรือบางทีก็ทำให้คิดปรุงแต่ง เคลิบเคลิ้ม เป็นฝันกลางวัน

    ข้อพิจารณาว่าการนั่งสมาธิควรหลับตา หรือลืมตา น่าจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของสถานที่ปฏิบัติเป็นสำคัญ หากมีสิ่งแวดล้อมที่จะดึงดูดความสนใจเรา ทำให้จิตใจวอกแวก เช่น นั่งปฏิบัติรวมกับผู้อื่น การหลับตาก็น่าจะเหมาะสมกว่า สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือ เมื่อหลับตานั่งสมาธิ อาจทำให้เกิดความสบายคล้ายๆ กับช่วงที่กำลังจะหลับ ดังนั้นเมื่อหลับตานั่งสมาธิ ต้องให้แน่ใจว่าจิตใจไม่มีนิวรณ์ โดยเฉพาะความง่วง หดหู่ เคลิบเคลิ้ม และฟุ้งซ่านครอบงำอยู่

    อย่างไรก็ตาม หากต้องการลืมตานั่งสมาธิ ก็ควรหาสถานที่ปฏิบัติที่เหมาะสม เช่นนั่งหันหน้าเข้าหาผนังสีขาว อย่าให้มีอะไรมาดึงความสนใจ นั่งลืมตาโดยกำหนดสายตาไว้ที่ปลายจมูก ลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งจะอยู่ในท่านั่งลืมตาเล็กน้อย การลืมตาให้มีแสงสว่างเข้าตาอยู่ตลอด จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกสบายๆ มากเกินไปจนเคลิ้มหลับ แต่จะทำให้มีสมาธิในการนั่ง กำหนดอารมณ์กรรมฐานได้ดี สังเกตความง่วงนอนได้ง่าย และขจัดความเคลิบเคลิ้มได้สะดวก

    ที่สุดของการทำสมาธิ ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร รู้สึกอย่างไร ให้ทำจิตตั้งมั่น เป็นสมาธินั่นแหละ

    2

    ถาม : การนั่งสมาธิ หากเราเปลี่ยนท่าบ่อยๆ มีผลต่อการทำสมาธิไหม

    ตอบ : การเปลี่ยนท่ามีผลเสียต่อการทำสมาธิเพื่อจิตตั้งมั่น ซึ่งเป็นสมาธิขั้นละเอียด แต่การปฏิบัติของเราเริ่มต้นด้วยการเจริญสติปัฏฐาน 4 คือการตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง ในที่นี้ คือมีความรู้สึกตัวชัดเจนในการนั่ง ในการหายใจ เข้า หายใจออก รู้ความรู้สึกนึกคิด รู้ตามอารมณ์ว่าเป็นพอใจ หรือไม่พอใจ รู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น พยายามไม่ยินดี ยินร้ายต่ออารมณ์ ถึงแม้ว่าทุกข์กาย ไม่สบายใจก็ตาม ให้อาศัยความอดทน อดกลั้น พยายามรักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นศีล ให้เรียบร้อย หากรู้สึกปวดเมื่อย ต้องการเปลี่ยนท่านั่ง ก็ทำได้ แต่ให้ค่อยๆ ทำอย่างมีสติ รู้สึกตัวทั่วพร้อม จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

    3

    ถาม : นอนกำหนดอานาปานสติจะหลับเลย ควรปฏิบัติอย่างไร

    ตอบ : ปกติการปรารถความเพียรก็ต้องอาศัยอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง ไม่ใช่นอน แต่ชีวิตของคนเราต้องนอนประมาณ 1 ใน 3 ส่วนในแต่ละวัน ดังนั้นเพื่อให้การเจริญอานาปานสติเป็นไปอย่างติดต่อกันตลอด สำหรับผู้สามารถปฏิบัติได้ควรทำทั้ง 4 อิริยาบถ หรืออย่างน้อยเวลานอน ก่อนที่จะหลับไปก็ให้พยายามกำหนดอานาปานสติเพื่อที่จะได้หลับอย่างมีสติ ไม่มีความกังวล ไม่ฝันร้าย หลับสบาย สำหรับคนนอนยากก็ช่วยให้ไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ การเจริญอานาปานสติในอิริยาบถนอน สามารถทำได้ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติ รู้สึกปวดเมื่อยมากๆ ไม่มีกำลังสำหรับการยืน เดิน นั่ง แต่ต้องการผักผ่อนอิริยาบถ ก็ให้นอนกำหนดอานาปานสติ เป็นการเจริญสติและรักษาสุขภาพใจดีไว้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษแต่อย่างใด

    การเจริญอานาปานสติใน อิริยาบถนอนจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วย ที่ต้องนอนเกือบตลอดเวลา เพราะจะช่วยบรรเทาทุกขเวทนาได้เป็นอย่างดี

    นอกจากนี้ โรคเจ็บไข้ได้ป่วยของคนเรา มากกว่า 1 ใน 3 ก็เกิดจากอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นการทำจิตใจให้สงบในอิริยาบถนอนแทนที่จะคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นประโยชน์ในการรักษาสุขภาพทั้งกายและใจ


    4

    ถาม : ปัจจุบันนี้ ชีวิตก็มีความสุขดีอยู่แล้ว ฐานะความเป็นอยู่ดี ไม่มีเรื่องทุกข์ใจไม่ได้เบียดเบียนใคร อยู่อย่างสบายๆ มีความจำเป็นต้องเจริญอานาปนสติไหม

    ตอบ : ความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่อยู่อย่างสบายนั้น เป็นของเก่า เป็นผลของทาน ศีล ภาวนา ที่ได้เคยบำเพ็ญมา ถึงแม้ความดีที่ได้ทำในชาติก่อนส่งผลดีแก่เราในชาตินี้ แต่เราไม่ควรประมาท เพราะชีวิตไม่แน่นอน อนาคตเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เมื่อหมดผลบุญแล้ว วิบากกรรมฝ่ายอกุศลส่งผล อาจจะตกต่ำไปเกิดเป็นมนุษย์ที่ลำบาก ขัดสน เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือไปเกิดในอบายภูมิอื่นก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น มารดาของพระโมคคัลลานะ เกิดในตระกูลดีก็ยังตกนรก

    พระพุทธเจ้าทรง สอนว่าไม่ให้ประมาท เพราะสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง แม้อานิสงส์ของทานและศีลจะทำให้เรามีชีวิตที่สมบูรณ์พรั่งพร้อม แต่เป็นความสุขจากกกามคุณที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงโทษความบกพร่องของความสุขแบบนั้น และทรงแสดงทางออก พร้อมอานิสงส์ของทางออกนั้น ที่เรียกว่า เนกขัมมานิสังสะ คือ การออกจากกาม และสุดท้ายแสดงอริยสัจ 4 อันเป็นทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

    ดังนั้น ถ้าเราเป็นผู้ไม่ประมาท ก็ควรเจริญ ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญสติปัฏฐาน 4 จนดวงตาเห็นธรรม ละความผิด อันได้แก่ สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส สำเร็จเป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน จึงจะแน่นอนว่า ชีวิตไม่ตกต่ำ ไม่มีทางไปเกิดในอบายภูมิได้อีก

    5

    ถาม : การเจริญอานาปานสติแตกต่างจากสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอย่างไร

    ตอบ : กรรมฐาน แปลว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ เป็นวิธีฝึกอบรมจิต มี 2 ประเภท ได้แก่ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

    สมถกรรมฐาน หมายถึง การฝึกอบรมจิตเพื่อให้จิตใจสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ

    วิปัสสนกรรมฐาน หมายถึง การฝึกอบรมจิตเพื่อให้เห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริง ของสภาวธรรม เกิดปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันทำให้ละความหลงผิดรู้ผิดในสังขาร

    อานาปานสติเป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน หมายถึงการเจริญสติโดยอาศัยการระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกจนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว จึงเพ่งพิจารณาสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม จนเห็นแจ้ง เห็นตรงตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีสิ่งใดควรแก่การยึดมั่นถือมั่น ทำให้จิตใจปล่อยวาง

    ที่สุดของอา นาปานสติ คือ “เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ ทุกลมหายใจเข้าออก” หมายความว่า ในอานาปานสติขั้นที่ 16 ซึ่งเป็นวิปัสสนาขั้นสุดท้ายของอานาปานสติ เราจะเป็นผู้เห็นความสลัดคืนในสิ่งที่เรายึดถืออยู่ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ถอนอุปาทานยึดมั่นถือมั่น จนไม่มีความยินดีในขันธ์ทั้ง 5 ไม่มีสิ่งใดที่ยึดถือเป็นของเราอีกต่อไป มีสติปัญญาระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา กาย สักแต่ว่ากาย เวทนา สักแต่ว่าเวทนา จิต สักแต่ว่าจิต ธรรม สักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา

    6

    ถาม : รู้สึกว่าการกำหนดลมหายใจเสียเวลาเปล่า อ่านหนังสือ ทำงาน หรือทำอย่างอื่น จะได้รับประโยชน์มากกว่า

    ตอบ : ภูมิจิต ภูมิปัญญาของคนเราแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง วันเสาร์อาทิตย์ โยมมีเวลาว่าง ไปเที่ยวพักผ่อนกับเพื่อนๆ ที่ต่างจังหวัด นั่งรถหลายๆ ชั่วโมง คุยกัน หาของอร่อยรับประทาน เหนื่อยแล้วก็หลับ เมื่อได้ไปเที่ยว ดูภูมิประเทศ ป่าไม้ ภูเขา ทะเล อยู่กับเพื่อนๆ กินเลี้ยงเฮฮา ร้องเพลง กลับบ้าน นอนหลับ ก็รู้สึกสบาย

    พอวันจันทร์ถึงศุกร์ก็ไปทำงาน กลับบ้านเหนื่อยก็นอน ดูทีวี พักผ่อน เวลาผ่านไปวันๆ เราก็รู้สึกปกติดี เพราะสิ่งที่เราทำเป็นไปตามกระแสสังคม กระแสโลก ทำตามกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจเรามาช้านาน แต่การเจริญสติสัมปชัญญะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิกับลมหายใจ เพื่อสร้างกำลังใจและเพื่อสุขภาพใจดี เรารู้สึกว่าเสียเวลาและทำได้ยาก เพราะมันเป็นการทวนกระแสสังคมทางโลก ต้านกระแสกิเลส เราจึงมักพอใจอยู่กับความสุขแบบฉาบฉวย ยังหลงติดยินดีพอใจในสุขภาพใจที่ไม่ดีของตัวเอง ขี้เกียจ ขี้ฟุ้งซ่าน ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้กลัว ขี้โกรธ เป็นต้น เราต้องมาทบทวนชีวิตของตัวเองด้วยปัญญาชอบว่า เป้าหมายสูงสุดที่แท้จริงในชีวิตของเรานั้นคืออะไร หากเป้าหมายการดำรงชีวิตของเรา เพื่อละความชั่ว ทำความดี และชำระจิตให้บริสุทธิ์แล้ว เราจะเห็นโทษของสุขภาพใจที่ไม่ดี (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) เห็นประโยชน์ในการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 และจะเกิดความพอใจในการเจริญอานาปานสติว่าเป็นความสุข เอาลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นกัลยาณมิตร เป็นวิถีทางแห่งความสงบสุขอย่างแท้จริง


    7

    ถาม : นั่งสมาธิแล้วง่วงนอนทำอย่างไร

    ตอบ : ให้ลืมตารับแสงอ่อนๆ เข้าตา จะช่วยแก้ง่วงนอนได้ กำหนดสติในท่านั่ง ตั้งสติกำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการนั่ง ถ้าปฏิบัติคนเดียว ให้เปลี่ยนเป็นอิริยาบถยืนกับเดินจงกรมให้มากๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีแก้ง่วงนอนแก่พระโมคคัลลานะ มี 8 ประการ ดังนี้

    1. ให้ตั้งสติ ระวังดูสัญญา ไม่ให้เข้าครอบงำจิตได้ ถ้าไม่หายง่วง

    2. ให้พิจารณาธรรมะ หมายความว่า ให้ใช้ความคิด พิจารณาธรรมะที่เคยได้ยินได้ฟังมา อาจจะหายง่วง ถ้าไม่หายง่วง

    3. ให้สวดมนต์สาธยายธรรมด้วยความตั้งใจ สวดไปๆ อาจหายง่วงได้ ถ้าไม่หาย

    4. ให้ยอนหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ามือ ถ้าไม่หายง่วง

    5. ให้ลุกจากที่นั่ง ไปล้างหน้า แหงนหน้า ดูฟ้า ดูดาว ดูพระจันทร์ ถ้าไม่หายง่วง

    6. ให้เจริญอาโลกสัญญา นึกถึงแสงสว่าง กำหนดหมายว่า “กลางวัน” ไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ถ้าไม่หายง่วง

    7. ให้เดินจงกรม สำรวมอินทรีย์ ตั้งใจเดิน ไม่ให้จิตคิดไปภายนอก เดินกลับไป กลับมา ถ้าไม่หายง่วง

    8. ให้เอนกายพักผ่อน นอนตะแคงขวา พยายามมีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจว่า เมื่อมีความรู้สึกตัวตื่นแล้ว จะลุกขึ้นปรารภความเพียรต่อไป

    8

    ถาม : นั่งสมาธิแล้วฟุ้งซ่านทำอย่างไร

    ตอบ : สงบหรือไม่สงบก็ไม่เป็นไร สงบเป็นกุศลธรรม ไม่สงบเป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมเสมอกัน เมื่อจิตไม่สงบก็กำหนดศึกษาความไม่สงบ การปฏิบัติที่ถูกต้องกับจิตไม่สงบก็มีอยู่ พยายามมีขันติอดทนอดกลั้นไว้ ทำใจเป็นกลางๆ วางเฉย รักษาใจให้ดีต่อจิตที่ไม่สงบ

    จิตที่ไม่สงบเป็น อุปมา เช่น ลูกของตัวเองที่ซุกซน ดื้อ เกเร อารมณ์ไม่ดี ไม่เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่ดีต้องรักษาสุขภาพใจให้ดี ให้มีเมตตาต่อลูกไว้ตลอด ต่อจิตที่ไม่สงบ...ก็เหมือนกัน ใจเป็นกลาง ใจดี ใจเมตตา ใจวางเฉย ต่อจิตไม่สงบ คิดไม่ดีสารพัดอย่าง รู้อยู่ว่าใจไม่สงบ แต่อย่ายินดี ยินร้าย อย่ายึดมั่นถือมั่น รู้แล้วปล่อย หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ พยายามเจริญสติสัมปชัญญะให้มีความรู้สึกตัว กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เมื่อเกิดสติสัมปชัญญะต่อลมหายใจ หรืออารมณ์กรรมฐานที่เรากำหนดแล้ว จิตที่ไม่สงบก็จะหายไปเอง อย่าเสียใจ เพราะจิตไม่สงบ อย่าดีใจเพราะจิตสงบ รู้เท่าทันสงบ-ไม่สงบ คือ การปฏิบัติให้ถูกต้อง

    การปฏิบัติสำหรับผู้ที่จิตไม่สงบ ฟุ้งซ่าน ให้ทำ 2 วิธี คือ ปล่อยวาง และพิจารณา

    1. ปล่อยวาง เมื่อได้สติรู้ตัวว่าฟุ้งซ่าน ก็โอปนยิโก กลับไปที่อารมณ์กรรมฐานที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ นึกคิดไปทางไหน ก็ให้กลับมาที่ลมหายใจของเรา

    2. พิจารณา หากใจไม่สงบ เพราะติดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้หยุดพักกำหนดอารมณ์กรรมฐาน เช่น อานาปานสติ แต่ให้ยกเอาอารมณ์ที่กำหนดอยู่มาทดแทน พิจารณาอสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนใจยอมรับ ปล่อยวางอารมณ์ แล้วจึงมากำหนดอานาปานสติต่อไป เมื่อใดที่จิตนึกคิดไปต่างๆ นาน ก็ให้พยายามกลับมาที่ลมหายใจ เมื่อใดที่ใจไม่สงบ พยายามปล่อยวาง ระลึกถึงอารมณ์กรรมฐาน ตั้งสติต่อเนื่องกัน ถ้าอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ยังเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ให้ใช้วิธีพิจารณาแล้วกลับไปที่ปล่อยวาง กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ช่วงเวลาที่ฟุ้งซ่านเพราะติดอารมณ์จะสั้นลง ในที่สุด ก็จะเหลือแต่วิธีที่ 1 ถ้าสงบเป็นสมาธิ ไม่สงบก็ปล่อยวาง

    9

    ถาม : ทำไมเวลานั่งเจริญอานาปานสติทุกครั้ง จะเกิดอาการหงุดหงิด หรือเครียด แต่ถ้านอนกำหนดจะรู้สึกว่าดีขึ้น ทำไมเป็นเช่นนี้ หรือว่าเพราะกิเลส

    ตอบ : จิตของเราเหมือนสัตว์ป่า ถ้าปล่อยไป มันก็สบายของมัน ถ้าจับสัตว์ป่า ขังไว้ในกรงเล็กๆ มันจะเครียดดิ้นรนอาละวาดได้ จิตของเราก็เหมือนกัน ตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เอาสติผูกจิตไว้กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกต่อเนื่องกัน ทำให้จิตที่ยังไม่เคยได้รับการฝึกดิ้นรนหงุดหงิด เครียดบ้าง ก็เป็นธรรมดา

    สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ อาการเครียดเพราะปฏิบัติเป็นสิ่งจำเป็น และต้องเป็นอย่างนั้น แต่ไม่เป็นไร ให้มีขันติ อดทน ปฏิบัติกาย วาจา ให้เรียบร้อย ดูอาการหงุดหงิด เครียด เพ่งพิจารณาเป็นไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เห็นอารมณ์เป็นอารมณ์ เราไม่ต้องตั้งใจกำหนดลมหายใจก็ได้ ปรับลมหายใจยาวๆ สบายๆ คล้ายกับว่ากดลมหายใจนิดหน่อย มีเสียงลมภายในเบาๆ กำหนดเสียง กำหนดความรู้สึกหายใจเข้าสบายๆ หายใจออกยาว สบายๆ จะเกิดสติสัมปชัญญะกับลมหายใจ ในที่สุด อาการหงุดหงิด เครียด จะหายไป ความรู้สึกสบายๆ จะปรากฏแทน



    10

    ถาม : มีวิธีการนั่งสมาธิอย่างไรที่จะไม่ทุกข์ ไม่ทรมานสังขาร

    ตอบ : ไม่ใช่ผิดเสมอไป ถ้าพิจารณาด้วยสติ อยู่ในอาการสงบ เป็นสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา รู้ตามความเป็นจริงแล้ว ทำให้เกิดประโยชน์ ก็ไม่ผิด ดีมากๆ ด้วย แต่เราต้องเข้าใจว่า เมื่อไร อย่างไร จึงจะเกิดผลดี เช่น กรณีที่เราติดอารมณ์ อาจจะเป็น นิวรณ์ 5 ข้อใดข้อหนึ่ง ก็ให้ยกธรรมะในนิวรณ์ 5 ข้อนั้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ให้พิจารณาโดยใช้หลัก อสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนใจยอมรับที่จะปล่อยวาง แล้วจึงกลับมาที่ลมหายใจ เจริญสติ จนเมื่อเกิดสติ สัมปชัญญะ เป็นสมถกรรมฐานแล้ว บางครั้งอาจรักษาความสงบให้ต่อเนื่องนานๆ เป็นการฝึกสติ สัมปชัญญะให้มั่นคง หรือบางครั้ง อาจฝึกวิปัสสนากรรมฐานโดยพิจารณาธรรม อาการ 32 ธาตุ 4 ดิน น้า ลม ไฟ พิจารณาอริยสัจ 4 ไตรลักษณ์ แล้วก็กลับไปสมถกรรมฐานอีก เพื่อให้สงบยิ่งๆ ขึ้น การเจริญสติโดยระลึกรู้ลมหายใจ และพิจารณาธรรมสลับกันไปมานี้ เปรียบเหมือนให้ร่างกายได้ทำงาน สลับกับพักผ่อน อย่างไรก็ตาม ต้องคอยสังเกตและระวังไม่ให้พิจารณามากเกินไป จนเกิดฟุ้งซ่าน

    การฝึกปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มีหลักสำคัญ คือ ต้องเป็นไปเพื่อความสงบ ปล่อยวาง ลดละกิเลส จึงจะปฏิบัติถูก

    11

    ถาม : ขณะที่นั่งสมาธิและเดินจงกรม ถ้าเราคิดทบทวนข้อธรรมะที่ได้รับฟังมาจะผิดไหมคือเราไม่ได้ตั้งสติอยู่ที่ลม หายใจเข้า-ออก หรือว่าเราทำผิดเวลา

    ตอบ : ไม่ใช่ผิดเสมอไป ถ้าพิจารณาด้วยสติ อยู่ในอาการสงบ เป็นสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา รู้ตามความเป็นจริงแล้ว ทำให้เกิดประโยชน์ ก็ไม่ผิด ดีมากๆ ด้วย แต่เราต้องเข้าใจว่า เมื่อไร อย่างไร จึงจะเกิดผลดี เช่น กรณีที่เราติดอารมณ์ อาจจะเป็น นิวรณ์ 5 ข้อใดข้อหนึ่ง ก็ให้ยกธรรมะในนิวรณ์ 5 ข้อนั้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ให้พิจารณาโดยใช้หลัก อสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนใจยอมรับที่จะปล่อยวาง แล้วจึงกลับมาที่ลมหายใจ เจริญสติ จนเมื่อเกิดสติ สัมปชัญญะ เป็นสมถกรรมฐานแล้ว บางครั้งอาจรักษาความสงบให้ต่อเนื่องนานๆ เป็นการฝึกสติ สัมปชัญญะให้มั่นคง หรือบางครั้ง อาจฝึกวิปัสสนากรรมฐานโดยพิจารณาธรรม อาการ 32 ธาตุ 4 ดิน น้า ลม ไฟ พิจารณาอริยสัจ 4 ไตรลักษณ์ แล้วก็กลับไปสมถกรรมฐานอีก เพื่อให้สงบยิ่งๆ ขึ้น การเจริญสติโดยระลึกรู้ลมหายใจ และพิจารณาธรรมสลับกันไปมานี้ เปรียบเหมือนให้ร่างกายได้ทำงาน สลับกับพักผ่อน อย่างไรก็ตาม ต้องคอยสังเกตและระวังไม่ให้พิจารณามากเกินไป จนเกิดฟุ้งซ่าน

    การฝึกปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มีหลักสำคัญ คือ ต้องเป็นไปเพื่อความสงบ ปล่อยวาง ลดละกิเลส จึงจะปฏิบัติถูก

    12

    ถาม : เมื่อเกิดความคิดฟุ้งซ่าน ขณะเดินจงกรมจะมีวิธีแก้อย่างไร

    ตอบ : การเดินจงกรมที่ถูกต้องที่สุด คล้ายๆ กับเด็ก 1 ขวบ เริ่มหัดเดิน เขาจะเอาใจใส่ในการเดิน จิตใจจดจ่อ ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างที่จะเดินไปแต่ละก้าวๆ เขาจะเอาใจใส่ในการเดิน จิตใจจดจ่อ ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างที่จะเดินไปแต่ละก้าวๆ เรียกว่ากายเดิน จิตใจก็เอาใจใส่ในการเดิน กายกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การเดินก็เดินตามธรรมชาติ แต่ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้สึกชัดเจนในการเดิน จิตใจสงบจากความคิดปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน เพียงเท่านี้ก็คือการเดินจงกรมที่ถูกต้อง

    อย่างไรก็ตาม ปกติจิตใจของเราไม่สงบอยู่แล้ว เดินจงกรมเป็นการเจริญสติ เพื่อให้เกิดสมาธิในการเดิน แต่เมื่อจิตไม่สงบ ก็อาจใช้อุบายต่างๆ ช่วยก็ได้ อุบายหนึ่งได้แก่ การนับก้าวเดิน ซึ่งจะเหมาะกับการเดินในทางเดินจงกรมยาวๆ มีวิธีการดังนี้

    ก่อนจะ เดินจงกรมให้ยืนตั้งสติก่อน โดยหายใจเข้าลึกๆ ให้เต็มปอด แล้วค่อยๆปล่อยลมหายใจออกยาวๆ พร้อมกับออกเดินโดยให้ใช้วิธีนับก้าว เพื่อเป็นอุบายที่จะช่วยไม่ให้จิตคิดฟุ้งซ่าน เช่นเมื่อเริ่มต้นออกเดิน เท้าขวาก้าวนับ 1 ซ้ายก้าวนับ 2 ขวาก้าวนับ 3 ซ้ายก้าวนับ 4 ขวาก้าวนับ 5 ซ้ายก้าวนับ 6 ไปเรื่อยๆ จนสุดลมหายใจออก สมมติว่าสุดลมหายใจออก เมื่อเท้าซ้ายก้าวนับ 6 เมื่อสูดลมหายใจเข้าก็นับต่อที่ขวาก้าวนับ 7 ซ้ายก้าวนับ 8 ขวาก้าวนับ 9 ซ้ายก้าวนับ 10 สมมติว่าสุดลมหายใจเข้าที่จังหวะซ้ายก้าวนับ 10 แล้วก็เริ่มต้นผ่อนลมหายใจออก โดยเริ่มนับ 1 รอบใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ให้ทำตามความรู้สึกพอดีๆ ของจังหวะหายใจที่เมื่อทำแล้วรู้สึกสบายๆ ไม่อึดอัด แม้จำนวนก้าวในแต่ละรอบ จะไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร รอบหายใจเข้า-ออก บางทีเท่ากับ 10 ก้าว บางทีเป็น 12 ก้าว 13 ก้าว หรือจะเป็นเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ไม่ต้องกังวล ที่สำคัญ คือ ให้รู้สึกว่าการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ที่ทำไปพร้อมๆ กับการนับก้าวของการเดินไปอย่างสบายๆ ตามธรรมชาติมากที่สุด และเมื่อจิตใจเริ่มสงบจากความคิดฟุ้งซ่านแล้ว ก็จะหยุดนับไปเองตามธรรมชาติ ปล่อยเดินไปตามธรรมดา เดินจงกรมตามปกติ คือมีสติสัมปชัญญะในการเดิน ให้กายกับใจเดินไปด้วยกัน มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเดินนั่นแหละ

    นอก จากนี้อีกวิธีหนึ่งที่มักจะสอนกัน ก็คือการบริกรรมพุทโธ คือเมื่อเท้าขวาก้าวบริกรรมในใจว่า พุท เท้าซ้ายก้าวบริกรรมในใจว่า โธ สลับกันไปมา หรือจะใช้วิธีกำกับในใจว่า ขวาก้าว ซ้ายก้าว ขวาก้าว ซ้ายก้าว แทนคำบริกรรมพุทโธก็ได้ เดินไปเรื่อยๆ เมื่อจิตใจสงบแล้ว จิตจะทิ้งคำบริกรรมไปเอง คือไม่จำเป็นต้องกำหนดคำบริกรรมอีก หรือบางสำนักก็สอนให้เดินจงกรโดยบริกรรม ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ไปพร้อมๆ กับอิริยาบถย่างเหยียบที่ค่อยๆ ทำอย่างช้าๆ ก็ได้ที่สำคัญคือให้มีความรู้สึกตัวชัดเจนในการเดิน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการกำหนดให้มีสติที่กายโดยตรง เมื่อมีสติสัมปชัญญะอยู่ที่กายก็ใช้ได้ การปฏิบัติไม่ว่าจะวิธีไหน ใช้คำบริกรรมอะไร จุดหมายปลายทางก็เพื่อให้มีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันอารมณ์ จิตปล่อยวางเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ใจสงบ เบา สบาย นั่นแหละปฏิบัติถูกต้อง

    13

    ถาม : หายใจยาวลึกประมาณ 3 นาที เมื่อเริ่มต้น รู้สึกเหนื่อยมาก ควรทำอย่างไร

    ตอบ : หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ปกติใช้ 3-4 ครั้งก็พอ ทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางกายก็ดี ทางใจก็ดี เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดก็ดี เพื่อตั้งต้นใหม่ โดยเรียกสติสัมปชัญญะกลับมา เป็นการตั้งหลักที่ถูกต้อง การหายใจยาวๆ มีประโยชน์ในการรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ เป็นการตั้งสติและรักษาสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัว เพราะฉะนั้น เมื่อหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ 3-4 ครั้ง จนเกิดสติสัมปชัญญะ จิตสงบแล้ว จึงค่อยๆ ปล่อยลมหายใจสบายๆ ตามธรรมชาติ แต่เริ่มต้นให้รักษาความยาวในการหายใจไว้ก่อน หาจุดพอดี สบายๆ ถ้าจิตสงบ สบายก็เป็นการปฏิบัติได้ถูกต้อง

    14

    ถาม : การจับลมหายใจ เข้า-ออก ควรดูตามธรรมชาติ หรือเป็นการบังคับลมหายใจ

    ตอบ : เริ่มต้นเป็นการบังคับลมหายใจ เพื่อตั้งสติ ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมอยู่ระหว่างกายกับใจ เพราะลมหายใจนี้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทางกายและทางใจ มีอิทธิพลต่อกายและใจ

    หายใจสั้น
    เมื่อกายร้อน กระสับกระส่าย ไม่สงบ
    เมื่อเจ็บไข้ ป่วย เป็นโรค
    เมื่อเหนื่อย
    เมื่ออารมณ์หงุดหงิด โกรธ
    เมื่อใจร้อน ตื่นเต้น เพราะกลัว ดีใจ เสียใจ

    หายใจยาว
    เมื่อกายได้พักผ่อน
    เมื่อกายสงบ เย็น เป็นปกติสุขภาพแข็งแรง
    เมื่ออารมณ์ดี
    เมื่อใจดี ใจสบาย

    การ บังคับหรือปรับเปลี่ยนลมหายใจ ด้วยการหายใจยาวๆ สบายๆ เป็นการแก้อาการต่างๆ ที่มีอยู่เมื่อหายใจสั้น เมื่อกายสงบสุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้น จึงหายใจตามธรรมชาติสบายๆ รักษาสติสัมปชัญญะ เตรียมพร้อมที่จะเจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานต่อไป

    15

    ถาม : อยากทราบว่า นักปฏิบัติธรรมจะเจริญได้อย่างไรในยุคโลกาภิวัฒน์ ในเมื่อนักปฏิบัติรู้จักพอ ไม่ทะเยอทะยาน ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง

    ตอบ : พอใจในที่นี้ หมายถึง ยินดีในสิ่งที่ได้และพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเกินเหตุ เกินฐานะของตน

    ไม่ ใช่วันนี้มีเท่าไร ก็ไม่หาเพิ่ม พระพุทธเจ้าสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านทรงทุ่มเททุกอย่างแม้แต่ชีวิตเพื่อเพิ่มบารมี แต่ไม่ใช่กิเลส ความโลภ สำหรบฆราวาสต้องหาเลี้ยงชีพ สร้างฐานะให้ดีขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ รู้ฐานะตนเอง และต้องอยู่ในขอบเขตของศีล ระมัดระวังอารมณ์ ความโลภและกิเลสอย่างอื่น ทำให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีสุขภาพใจดี

    ในการทำงาน ก็ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ตั้งใจทำดีที่สุด โดยใช้หลักอิทธิบาท 4 คือ

    ฉันทะ มีความพอใจในงานที่ทำ
    วิริยะ มีความพากเพียร
    จิตตะ ทำด้วยความเอาใจใส่
    วิมังสา หมั่นไตร่ตรองอยู่เสมอ

    ในการตั้งเป้าหมาย เราต้องรู้จักตนเองด้วยสติปัญญาให้พอเหมาะ พอดี อยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้ เช่น

    คนที่มี 1 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 2
    คนที่มี 10 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 20
    คนที่มี 100 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 200
    คนที่มี 1000 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 2000 เป็นต้น

    แต่ คนที่มี 1 คิดจะเอา 200 หรือ 2000 อาจจะเกินไป เป็นความโลภเกินตัว หรืออาจถึงขั้นอยากได้ของเขา คิดโกง คิดขโมย ถ้าทำด้วยความทะเยอทะยาน หรือความมักใหญ่ใฝ่สูง จะเป็นลักษณะของกิเลส ไม่มีเหตุผล และมักเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ระวัง ให้ละ

    ในทางธรรม ก็เช่นกัน เราต้องรู้จักตัวเอง และตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาคนให้ถูกต้องเหมาะสม เช่น คนที่มีนิสัยโกรธง่าย เริ่มต้นฝึกปฏิบัติธรรมแล้ว จะให้ไม่มีโกรธอีกต่อไป ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าตั้งใจว่าจะลดความโกรธให้น้อยลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง ก็น่าจะเป็นไปได้ คนที่ขี้ฟุ้งซ่าน อยากนั่งสมาธิเพื่อทำใจให้สงบ ก็เป็นไปได้ แต่จะให้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุอรหัตตผลเลย ก็จะเป็นการตั้งเป้าหมายเกินตัว เป็นต้น

    เมื่อตั้งเป้าหมายถูกต้อง แล้ว ก็ตั้งใจทำต่อไป โดยมีอิทธิบาท 4 ครบสมบูรณ์ ก็จะประสบความสำเร็จได้ทั้งในทางโลก และทางธรรม หรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ยอมรับตามความเป็นจริง ทำใจได้ และมีความสุขได้ในทุกสถานการณ์

    บาง คนเป็นผู้มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ความสามารถในการทำงาน ตนองไม่ได้ต้องการรับตำแหน่งสูงๆ แต่เหตุปัจจัยภายนอก ทำให้ก้าวหน้าทางโลกก็มีมาก

    เมื่อเราปฏิบัติถูกต้องได้สร้างเหตุ ให้ดีที่สุดแล้ว เราจะพอใจในหน้าที่ในปัจจุบัน ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม 8 คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ เราจะเป็นผู้ที่พอใจในตนเอง และมีความสุขใจในทุกสถานการณ์


    คัดลอกบางตอนมาจาก...
    หนังสือชั่วโมงแห่งความคิดดี
    โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก



    ที่มา ลานธรรมจักร • แสดงกระทู้ - ถาม–ตอบ ปัญหาการปฏิบัติ (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)
     

แชร์หน้านี้

Loading...