ตำนานเมืองลำพูนและพระธาตุหริภุญชัย

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 1 เมษายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b8a5e0b8b3e0b89ee0b8b9e0b899e0b981e0b8a5e0b8b0e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898.jpg

    จังหวัดลำพูนเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ เมืองแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน หรือ เมืองหริภุญไชย สร้างขึ้นเมืองปี พ.ศ.1439 ถือได้ว่านครหริภุญชัยเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นก่อนเมืองอื่นในอาณาจักรล้านนา

    b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b8a5e0b8b3e0b89ee0b8b9e0b899e0b981e0b8a5e0b8b0e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898-1.jpg

    ตามตำนานกล่าวว่า มีฤาษีสององค์คือวาสุเทพฤาษีและสุกันตฤาษีซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกัน วันหนึ่งฤาษีทั้งสององค์ได้เอาไม้เท้าขีดพื้นดินเป็นรูปหอยวงรีแล้วเนรมิตรให้เป็นเมืองขึ้นตั้งชื่อว่า “นครหริภุญชัย” หลังจากนั้นฤาษีทั้งสองจึงได้ไปอัญเชิญ พระนางจามเทวี ธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้จากเมืองลพบุรีขึ้นมาครองเมืองลำพูน พระนางจามเทวีได้เสด็จขึ้นมายังนครหริภุญชัยโดยทางเรือขึ้นมาตามลำน้ำปิงใช้เวลากว่า 4 เดือน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงยังเมืองหริภุญไชย ชาวเมืองได้จัดงานเฉลิมฉลองต้อนรับเป็นเวลาหลายวัน

    พระนางจามเทวี ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ที่ครองนครหริภุญไชย พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านการค้า ศาสนาศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านการบูรณะและสร้างวัดนั้นพระนางจามเทวีได้กระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะพระองค์ทรงมีความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ดังจะเห็นว่า เมื่อครั้งที่พระองค์เดินทางขึ้นมาครองนครหริภุญชัยนั้น พระองค์ได้นำบรรดาเจ้านาย พระสงฆ์และผู้ติดตามอีกอย่างละ 500 คน พระนางจามเทวีทรงปกครองเมืองหริภุญไชยอยู่นานกว่า 80 ปี พระองค์ได้ทรงสร้างวัดต่าง ๆ ไว้มากมาย จนเดี๋ยวนี้ชื่อเสียงของวัดต่าง ๆ เหล่านั้นปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน

    วัดหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และผู้คนมักจะนิยมเดินทางมากราบไหว้อยู่เสมอก็คือ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” ถึงแม้ว่าวัดนี้จะไม่ได้สร้างในสมัยของพระนางจามเทวี แต่ก็เป็นผลพวงของพระองค์ที่ได้ปูพื้นฐานของพระศาสนาในนครหริภุญไชยจนสืบต่อมาถึงกษัตริย์ในรุ่นหลัง ๆ

    พระธาตุหริภุญชัย เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่ใหญ่แห่งหนึ่งในอาณาจักรล้านนาไทย สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช (ราชวงศ์รามัญ) ซึ่งครองเมืองหริภุญชัยราว พ.ศ.1590 เพื่อให้เป็นหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา พระเจ้าอาทิตยราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ตอนแรกได้สร้างเป็นมณฑปขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุสูง 3 วา มีซุ้มทั้ง 4 ด้าน ครอบโกศทองคำสูง 3 ศอก บรรจุพระธาตุไว้ภายใน เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เสริมพระบรมธาตุสูงขึ้นอีกเป็น 23 วา เอาทองจังโกฏก์ (ทองแดงปนนาคทำเป็นแผ่น) หุ้มตลอดทั่วทั้งองค์ตั้งแต่ฐานถึงยอด สิ้นทองจังโกฏก์ 15,000 แผ่น

    b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b8a5e0b8b3e0b89ee0b8b9e0b899e0b981e0b8a5e0b8b0e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898-2.jpg

    ตำนานวัดพระธาตุหริภุญชัย ได้กล่าวถึงการสร้างพระบรมธาตุแห่งนี้ว่า เมื่อครั้งพุทธกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกได้เสด็จมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ พระองค์ได้เสด็จมายัง ณ หมู่บ้านปาทรคาม ลุ่มแม่น้ำพิงค์ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวลัวะ (บางตำนานก็ระบุว่าเป็นชาวเม็ง) ครั้นเมื่อชาวบ้านทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดจึงพากันนำผลสมอ (บะนะ) มาถวาย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จฉันท์ผลสมอแล้วจึงนำผลสมอฝังไว้ ณ ดินแดนผืนนี้พร้อมกับให้คำทำนายว่า ในอนาคตกาลภายหน้าจะมีมหาราชองค์หนึ่งมาก่อพระเจดีย์สีทองขึ้น ลัวะได้ฟังดังนั้นจึงทูลขอพระเกศาธาตุจากพระพุทธองค์แล้วนำใส่กระบอกไม้รวกฝังไว้ลงดิน มีพญากาเผือกคอยบินวนเวียนอารักขาอยู่

    กาลเวลาผ่านไปนานถึง 16 ศตวรรษ ชาวลัวะผู้นั้นเกิดเป็นพญาอาทิตยราช พระองค์ได้สร้างหอพระบังคนไว้ โดยทุกครั้งที่พระองค์จะเข้าไปทรงพระบังคน พญากาเผือกก็จะถ่ายลงมาใส่หัวพระองค์ทุกครั้ง ต่อมาพญาอาทิตยราชเกิดความสงสัยจึงได้นำทารกแรกเกิด 7 วันไปอยู่กับพญากาเผือกสลับกับอยู่มนุษย์คราวละ 7 วัน เป็นเวลานาน 7 ปี เพื่อเรียนรู้ภาษากา กระทั่งทราบว่า ณ บริเวณใต้ดินห้องพระบังคนเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าและต่อมาได้มีการขุดพระเกศาขึ้นและได้ก่อเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ศรีหริภุญชัยขึ้น
    ในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระมหาธาตุนี้อีกได้เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านได้ 225,000 บาทเอาไปซื้อทองแดงและทองคำแผ่นหุ้มบุองค์พระเจดีย์ จนกระทั่งถึง พ.ศ.2348 พระเจ้ากาวิละจึงโปรดให้เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น) และเจ้าศรีบุญมา ผู้น้องนำบริวาร 1,000 คนและครอบครัวไปตั้งที่เมืองลำพูน ซึ่งเป็นเมืองร้างเนื่องจากถูกพม่าเข้าครอบครองเป็นเวลากว่า 200 ปี จากนั้นจึงได้มีการบูรณะองค์พระธาตุนี้เรื่อยมา

    b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b8a5e0b8b3e0b89ee0b8b9e0b899e0b981e0b8a5e0b8b0e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898-3.jpg

    พระมหาธาตุองค์นี้เป็นจอมเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งในจำนวน 8 องค์ของประเทศไทยที่มีอายุล่วงเกินกว่าหนึ่งพันปี และในตำนานพระธาตุประจำปีเกิดของนักปราชญ์ทางเมืองเหนือกล่าวว่า คนเราเกิดมาในโลกนี้เมื่อสิ้นอายุขัยแล้ว ดวงวิญญาณจะไปสถิตอยู่ตามพระธาตุเจดีย์ต่าง ๆ ตามปีเกิด และเมื่อขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หากได้ไปนมัสการยังพระธาตุประจำปีเกิดแล้ว ถือว่าได้บุญกุศลและทำให้มีอายุยืนนาน พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีระกา หรือ ปีไก่

    ในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย ยังมาโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งเช่น เจดีย์กู่คำ ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเขตพระราชฐาน เจดีย์กู่คำ หรือ สุวรรณเจดีย์ หรือ ปทุมวดีเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่นางปทุมวดีเทวี พระมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา เจดีย์องค์นี้มีลักษณะคล้ายสุวรรณจังโกฏเจดีย์ หรือ เจดีย์วัดกู่กุดของวัดจามเทวีมาก กล่าวกันว่า พระนางปทุมวดี ทรงจำลองแบบสุวรรณจังโกฏไปสร้าง แต่ย่อขนาดให้เล็กลง ภายในเจดีย์นี้บรรจุพระพิมพ์ที่มีชื่อของลำพูนอยู่ด้วยคือ “พระเปิม” หรือ “พระเปิน”
    บริเวณทิศเหนือกลางลานติดกับวิหารหลวง เป็นที่ตั้งของ “หอกังสะดาน” ฆ้องใบใหญ่นี้หล่อขึ้นที่วัดพระสิงห์ เมื่อปีวอก โทศก จุลศักราช 1222 ตรงกับ พ.ศ.2402 นอกจากนั้นยังมีจารึกติดอยู่ที่กังสะดานเป็นตัวอักษรไทยเหนือแบบฝักขามว่า

    b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b8a5e0b8b3e0b89ee0b8b9e0b899e0b981e0b8a5e0b8b0e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898-4.jpg

    “สร้างหละกังสะดานหน่วยนี้ แต่เมื่อสักราช 1222 ตัวปีกัดสัน เดือน 9 ออก 3 ค่ำวันอังคาร หล่อกันจะนะมหาเถร วัดป่าเมิงแพร่ เป็นเค้าแก่สัทธาภายใน เจ้าหลวงเมิงเจียงใหม่เป็นเค้าแก่สัทธาภายนอก พร้อมสร้างหล่อในวัดพระสิงห์ เวียงเจียงใหม่มาไว้เป็นเครื่องปูจาทานกับพระธาตุเจ้า อันตั้งไว้ในเมิงหริภุญไชยที่นี่ 5,000 พระวัสสาแล”

    หอกังสะดานในอดีตจะมีเสาไม้เตี้ย ๆ สองต้นแล้วมีไม้ท่อนหนึ่งวางพาดอยู่ ไม้ท่อนนี้คือไม้ที่สำหรับใช้ตีฆ้อง ปัจจุบันทางวัดได้สร้างเป็นมณฑปขึ้นอย่างสวยงามสำหรับเก็บรักษาฆ้องให้อยู่ในสภาพดี
    ด้านทิศใต้ของวิหาร มีหอไตรศิลปะล้านนา คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยหลัง ด้านหน้าหอไตรมีเขาพระสุเมรุซึ่งจำลองมาจากป่าหิมพานท์ ที่ซุ้มประตูหน้ามีรูปสิงห์ขนาดใหญ่เฝ้าอยู่ 2 องค์เป็นศิลปกรรมแบบล้านนาเช่นกัน

    วัดพระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นพระอารามหลวงสำคัญชั้นเอกของเมืองลำพูน ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเที่ยวชมศิลปกรรมและความสวยงามของวัดพระธาตุหริภุญชัย ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยรูปลักษณะทางศิลปกรรมที่งดงาม โดยเฉพาะองค์พระธาตุซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำจึงทำให้องค์พระธาตุกลายเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปกรรมของล้านนา

    บทความโดย
    จักรพงษ์ คำบุญเรือง

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/959817
     

แชร์หน้านี้

Loading...