ตามรอย 130 ปี นักบุญล้านนา "ครูบาศรีวิชัย" "ชีวิต-คำสอน-ศรัทธา-สถาปัตย์"

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 25 มิถุนายน 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    ตามรอย 130 ปี นักบุญล้านนา "ครูบาศรีวิชัย" "ชีวิต-คำสอน-ศรัทธา-สถาปัตย์"

    โดย พิมผกา



    [​IMG]

    ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เป็นปูชนียบุคคลที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในภาคเหนือตอนบน

    บารมีของครูบาศรีวิชัย ยังไม่มีพระสงฆ์องค์ใดเสมอได้ ทั้งในยุคสมัยของท่าน จนมาถึงปัจจุบัน

    เนื่องจากคำสอนและแรงศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนที่เคารพ นับถือครูบา คนในภาคเหนือยังให้ความเคารพนับถืออยู่เสมอ

    รวมทั้งยังปรากฏสถาปัตยกรรมในอัตลักษณ์รูปแบบของครูบาศรีวิชัย ในวัดที่มีชื่อเสียงทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และแพร่ เป็นต้น

    ปี 2550 เป็นปีครบรอบ 130 ปี ครูบาศรีวิชัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จ.ลำพูน ได้จัดการแสดงนิทรรศการพิเศษ "ครูบาเจ้าศรีวิชัย ชีวิต คำสอน ศรัทธา สถาปัตย์" ขึ้น โดยจะจัดแสดงตั้งแต่บัดนี้ ไปสิ้นสุดเดือนเมษายน 2551

    เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติบุคคลสำคัญของล้านนา ที่ไม่เคยจางหายไปจากจิตใจของชาวล้านนา

    ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่ออินทร์เฟือน เกิดวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2421 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรคนที่ 3 ใน 5 ของนายควาย และนางอุสา ครอบครัวเป็นชาวนายากจน อยู่ที่ บ้านปาง ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน ต้นตระกูลเป็นหมอคล้องช้าง ของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7

    เมื่ออายุ 18 ปีได้บวชเป็นสามเณรภายหลังอุปสมบท ได้รับฉายาว่า "สิริวิชโยภิกขุ" หรือพระสีวิไช

    ครูบาศรีวิชัย มีความสนใจด้านวิปัสสนา ปฏิบัติตามแบบอย่างของพระวัดป่าอย่างเคร่งครัด ถือสันโดษ มักน้อย

    อัตลักษณ์ของครูบา เวลาไปไหนมาไหนจะถือพัดใบลานและสวมลูกประคำเสมอ

    ชีวิตความเป็นสงฆ์ ฉันอาหารมื้อเดียว คือ มื้อเช้า ถ้าเป็นวันพระจะไม่ฉันอาหารเลย อาหารที่ฉันเป็นมังสวิรัติ และมัชชวิรัต เว้นจากของเสพติดทั้งหมด ไม่ยึดติดกับวัตถุปัจจัย วัตถุที่มีคนถวายทานโดยเฉพาะเงิน จะไม่จับต้องเลย ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=1><TBODY><TR bgColor=#ffe9ff><TD>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>

    อีกทั้งการออกธุดงควัตรของครูบา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีบทบาทและมีความสัมพันธ์กับครูบาศรีวิชัยมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

    ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเขต อ.แม่สะเรียง และ อ.ลี้ ขนานนามครูบาศรีวิชัยว่า "กระแฉ่บั้ง" ซึ่งคำว่า "กระแฉ่" หมายถึงผู้วิเศษที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติและเหนือวิญญาณหรือผีอื่นๆ ส่วนคำว่า "บั้ง" หมายถึง สีเหลือง คือสีจีวรที่นุ่งห่ม

    ครูบาศรีวิชัย ได้จาริกแสวงบุญไปทั่วทุกสารทิศ และได้บูรณะวัดไว้มากมาย จนได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหมวดอุปัชฌาย์ จึงทำให้มีลูกศิษย์จำนวนมาก ช่วยเสริมบารมีท่านให้แก่กล้า กระทั่งเป็นที่จับตาของคณะสงฆ์มณฑลพายัพ จึงถูกอธิกรณ์ระยะแรกจากคณะสงฆ์ล้านนา มีการดำเนินคดีความเป็นช่วงระยะเวลายาวนาน เกือบ 30 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.2451-2479

    ส่วนระยะที่ 2 เจ้าคณะเมืองเชียงใหม่และเจ้าคณะมณฑลพายัพ กล่าวโทษว่าตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่มีใบอนุญาต และไม่อยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้าคณะสงฆ์ รวมทั้งมีเวทมนตร์ล่อลวงประชาชน ซ่องสุมผู้คน เป็นเหตุให้ประชาชนหลงนิยม ทำให้ครูบาต้องถูกลงโทษจำกัดบริเวณ ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน

    อธิกรณ์ระยะที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงที่มีการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ คณะสงฆ์ผู้ปกครองเชียงใหม่ ไม่พอใจที่ครูบาศรีวิชัยดำเนินการโดยลำพังกับพระลูกศิษย์ และมีคณะสงฆ์บางคณะที่เห็นชอบ ขอแยกตัวมาอยู่ในการปกครองของครูบาถึง 90 วัด

    ในอธิกรณ์ครั้งที่ 3 ครูบาศรีวิชัยถูกจับกุมไปกรุงเทพฯ และยอมให้รับคำรับรองต่อคณะสงฆ์ ว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณ์ปกครองสงฆ์ทุกประการ แต่ข้อขัดแย้งกลับไม่ยุติยังคงดำเนินบทบาทต่อเนื่องมาจนถึงยุคสมัยลูกศิษย์คนสำคัญ คือ พระอภิชัยขาวปี หรือครูบาขาวปี

    แต่ผลจากการอธิกรณ์เหล่านี้ กลับสร้างบารมีให้แก่ครูบา จนมีคำกล่าวว่า "มาร บ่ มี บารมี บ่ แก่กล้า"

    ที่สุดแล้ว ไม่มีใครทำอะไรท่านได้ เพราะท่านมีลูกศิษย์ที่เป็นแนวร่วมและพร้อมจะปกป้องคุ้มครองครูบา จนทำให้เกิดภาพลักษณ์ของความเป็น "ตนบุญแห่งล้านนา" มาจนถึงปัจจุบัน

    "ยุพิน เข็มมุกด์" อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงปี 2477 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยโด่งดังไปทั่ว คือการตกลงเป็นประธานการสร้างทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ จากการติดต่อขอความช่วยเหลือของ หลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่

    ซึ่งการขึ้นดอยสุเทพไปนมัสการพระธาตุสมัยก่อนเป็นไปอย่างยากลำบาก ในสมัยของพระองค์เจ้าบวรเดช อุปราช มณฑลพายัพ เคยมีความคิดจะสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ โดยใช้งบประมาณ 2 แสนบาท แต่ทางการไม่มีงบประมาณให้

    ถนนขึ้นดอยสุเทพ มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 เดือน 22 วัน ทำพิธีเปิดทางเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478 โดยครูบาศรีวิชัยนั่งรถเถ้าแก่โหงว จากต้นทาง คือ ห้วยแก้ว ไปถึงเชิงพระธาตุดอยสุเทพ นับเป็นความยิ่งใหญ่ที่ทางการทำไม่ได้

    ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ ครูบาศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์ วัดวาอาราม เจดีย์ จำนวนมาก และยังได้บูรณะหอไตรเพื่อไว้เก็บคัมภีร์ที่ท่านจารขึ้น สร้างวิหารครอบพระนอน รวมถึงบูรณะซ่อมแซมอุโบสถอีกด้วย

    ระยะเวลา 18 ปี ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ในภาคเหนือ คือในจังหวัดลำพูนมีประมาณ 24 แห่ง เชียงใหม่ 33 แห่ง เชียงรายและพะเยา 22 แห่ง ลำปาง 24 แห่ง สุโขทัย คือวัดกลางดง

    ทุ่งเสลี่ยม ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน คือวัดน้ำรูและวัดแม่ปิง จังหวัดตาก คือวัดพระธาตุแก่งสร้อย รวมประมาณ 74 แห่ง

    ขณะพำนักอยู่ที่วัดจามเทวี จ.ลำพูน ครูบาศรีวิชัยยังได้เป็นประธานสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ระหว่างอำเภอหางดง จ.เชียงใหม่กับลำพูน

    ก่อนที่ครูบาศรีวิชัยจะละสังขารท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์คนใกล้ชิดว่า ท่านอยากกลับไปตายที่บ้านปาง สถานที่เกิด และสั่งให้เอาน้ำผึ้ง 1 ขวด กรอกใส่ปากท่าน เมื่อท่านสิ้นอายุขัย ศพจะได้ไม่เน่าเปื่อย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 ท่านได้มรณภาพลง

    เมื่อข่าวการมรณภาพของครูบาศรีวิชัยแพร่กระจายออกไป ทั้งชาวลำพูนและชาวเชียงใหม่ต่างต้องการจะนำศพท่านไปประกอบพิธีกรรม แต่ด้วยสัจวาจาที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า "ตราบใดที่แม่ปิงบ่ไหลล่องขึ้นเหนือ จะบ่ขอเหยียบย่างแผ่นดินเชียงใหม่อีก" ทำให้ชาวเชียงใหม่ยอมจำนน

    ดังนั้น เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนจึงได้ประกอบพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ 15 วัน 15 คืน ที่วัดจามเทวี ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเคยบูรณะและสร้างวิหารไว้

    หลังงานพระราชทานเพลิงศพ ได้มีการแบ่งธาตุของท่านออกเป็น 6 ส่วน ไว้ที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ และวัดบ้านปาง จ.ลำพูน

    ในโอกาสครบรอบ 130 ปี ครูบาศรีวิชัย คณะศิษยานุศิษย์ ประชาชนอำเภอลี้ ได้สร้างรูปเหมือนครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุด ขนาดหน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 19 เมตร เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วัดบ้านปาง และได้จัดสร้างวัตถุมงคล ครูบาศรีวิชัย รุ่น "ถิ่นกำเนิด" บรรจุเกศาครูบาศรีวิชัยไว้ทุกองค์

    วัตถุมงคลครูบาศรีวิชัยรุ่นนี้ เปิดให้บูชาในราคาองค์ละ 399 บาท โดยเงินรายได้จะนำเป็นปัจจัยสมทบทุนจัดสร้างรูปเหมือนครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุด รวมทั้งนำมาใช้ในการบูรณะซ่อมแซมหุ้มทองเจดีย์บรรจุอัฐิของครูบาศรีวิชัย และจัดสร้างพระธาตุทองคำ เจติยาพุทธานุภาพ

    ความเลื่อมใสศรัทธาในตัวตนของครูบาไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลาศาสนสถาน คำสั่งสอน ลูกหลานได้กราบไว้และยึดถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ นับเป็น "ตนบุญ" อมตะคู่แผ่นดินล้านนา

    ----------------
    ที่มา:มติชน
    http://www.matichon.co.th/matichon/...g=01pra02250650&day=2007/06/25&sectionid=0131
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...