ตามรอยต้นธารพุทธศิลป์ เยือนถิ่น ‘คันธาระ’

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 16 เมษายน 2007.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,896
    [​IMG]ตากห์บายห์
    "ปากีสถานนี่นะ มีอะไรให้เที่ยว" เป็นคำถามที่ได้ยินแทบทุกครั้งหลังจากบอกใครๆ ว่าจะไปปากีสถาน
    อาจเพราะความเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐในเรื่องการทำสงครามกับการก่อการร้าย และข่าวคราวจากต่างประเทศที่ได้ยินได้ฟังผ่านสื่อ ทำให้ใครๆ คิดว่าปากีสถานคงเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และอันตราย เกินกว่าที่จะนึกถึง เมื่อคิดจะเลือกเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
    ความจริงแล้วปากีสถานไม่ได้อันตรายและน่าหวาดกลัวอย่างที่หลายคนคิด แถมประเทศนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจตั้งมากมาย
    [​IMG]อาทิตย์อัสดง ณ ลุ่มน้ำสวาท
    ที่ตั้งของปากีสถานถือว่ามีความสำคัญมาแต่อดีต เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมที่เชื่อมเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกันมาแต่ครั้งโบราณ
    แม้แต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาซีโดเนีย ที่สามารถยึดครองดินแดนทั้งในยุโรปและเอเชีย ก็เคยกรีฑาทัพผ่านเข้ามายังดินแดนนี้เช่นกัน
    เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ คือการเที่ยวชมแหล่งอารยธรรม "คันธาระ" ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือในรัฐนอร์ธเวสต์ฟอนเทียร์ และบางส่วนของรัฐปัญจาบของปากีสถาน ไปจนถึงพื้นที่บางส่วนทางตะวันออกของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน
    [​IMG]เซอร์แกบ อโครโปลิสแห่งคันธาระ
    *คันธาระ* ถือเป็นแหล่งกำเนิดแห่งพุทธศิลป์ ค่าที่ว่านี่คือที่แรกในโลกที่มีการสร้างสรรค์พระพุทธรูปขึ้นเพื่อการเคารพบูชา จากเดิมที่ชาวพุทธจะบูชาเพียงสัญลักษณ์ที่มีความหมายแทนพระพุทธองค์ อาทิ รอยพระพุทธบาท ธรรมจักร หรือต้นโพธิ์
    พุทธศิลป์ ในยุคคันธาระถือว่ามีความงดงามเป็นเอกลักษณ์อย่างไม่มีที่ใดเสมอเหมือน เพราะเชื่อกันว่าช่างศิลป์ที่สร้างพระพุทธรูปเพื่อการเคารพขึ้นในยุคแรก คือช่างชาวกรีกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เนื่องเพราะชาวกรีกนิยมสร้างเทวรูปแทนเทพเจ้าต่างๆ เพื่อเคารพบูชา จึงอดไม่ได้ที่จะนำเอารูปแบบของการสรรค์สร้างศิลปะแทนเทพเจ้าในร่างมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีความสมบูรณ์และสวยงามเหนือจริงมาใช้ในการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ด้วย
    พระพุทธรูปที่สลักจากหินและปูนปั้นในยุคคันธาระ จึงมีพระพักตร์สมบูรณ์ดังเทพเจ้า เส้นพระเกศาเป็นมุ่นเกล้างดงาม ผ้ากาสาวพัสตร์พริ้วไหวและมีรอยกลีบโค้งงามดังผ้าจริง
    นอกจากนี้ ยังมีรูปสลักของพระโพธิสัตว์ที่แต่งองค์ด้วยเครื่องทรงกษัตริย์ ปล่อยพระเกศายาวสวย และมีพระมัสสุ (หนวด) งามเหนือเรียวปาก ที่ทำเอาถึงกับทึ่งเมื่อได้เห็นเป็นครั้งแรก
    [​IMG]พิพิธภัณฑ์ตักศิลา
    คันธาระยังเป็นที่สำหรับจาริกแสวงบุญของพุทธมามกะมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เพราะเรื่องเล่าที่เกี่ยวเนื่องกับการเสวยชาติต่างๆ ของพระโพธิสัตว์เพื่อสะสมบุญบารมี ตั้งแต่พระเวสสันดร ที่เชื่อว่าเคยประทับอยู่ที่ชาบาซ การ์ฮี ที่ซึ่งเราจะพบจารึกพระเจ้าอโศกฯถูกสลักอยู่บนก้อนหิน
    ความสำคัญของดินแดนนี้ทำให้นักธรรมจาริกคนสำคัญของจีน อย่างพระภิกษุฮวบเฮี้ยน หรือ ฟาเหียน (พ.ศ.924-พ.ศ.957) และพระภิกษุเฮี่ยงจัง หรือพระถังซัมจั๋ง (พ.ศ.1172-พ.ศ.1188) เดินทางออกจากประเทศจีนแม้จะต้องใช้เวลาถึง 10 กว่าปี เพื่อมาแสวงบุญในดินแดนแถบนี้
    ดังจะเห็นจากบันทึกการจาริกแสวงบุญที่จดจารไว้ และเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญสำหรับการศึกษาอารยธรรมคันธาระในปัจจุบัน
    การเดินทางไปเที่ยวชมอารยธรรมคันธาระ ควรเริ่มจาก *กรุงอิสลามาบัด* เมืองหลวงของปากีสถาน ซึ่งเดี๋ยวนี้การเดินทางไม่ได้ลำบากและสิ้นเปลืองเวลาเหมือนเมื่อก่อน ใช้เวลาบินแค่ 5 ชั่วโมงกับการบินไทยก็ถึงที่หมายแล้ว
    [​IMG]พระพุทธเจ้าทรงบิณฑบาตกับจีวรพริ้วไหว
    สถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกที่ต้องไปเยือนและอยู่ไม่ไกลจากอิสลามาบัด คือ *ตักกสิลา* ชื่อที่คุ้นเคยกันดี มีสถานะเป็นนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ หนึ่งใน 16 แคว้นของชมพูทวีป
    ตักกสิลาเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่ก่อนพุทธกาล และยังเป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดสำหรับการศึกษาในยุคโบราณสำหรับกษัตริย์และคนในวรรณะสูง มีการสอนศาสตร์ที่ถือว่าจำเป็นสำหรับผู้ปกครองในอดีตทั้งสิ้น 18 สาขา อาทิ การยิงธนู และการปกครอง
    ยิ่งคิดย้อนไปถึงศิษย์ตักกสิลาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีสำหรับชาวพุทธ ตั้งแต่องคุลิมาล ไปจนถึงหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์เพียงผู้เดียวซึ่งเคยถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้า ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความขลังของตักกสิลาเข้าไปใหญ่ ด้วยความสำคัญเช่นนี้ทำให้ตักกสิลาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2523
    ปัจจุบันพระพุทธรูปสำคัญที่พบในพื้นที่ถูกนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีที่พิพิธภัณฑ์ตักกสิลา ขณะที่แหล่งโบราณคดีในตักกสิลาส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมไปมากแล้ว เราจะได้เห็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมในอดีตของสถูปและอารามสงฆ์ ที่สร้างขึ้นจากการเรียงหิน ขึ้นเป็นอาคารแข็งแรงอย่างจูเลียน วัด และอารามสงฆ์ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา เพื่อความสงบสำหรับพระภิกษุผู้ปฏิบัติธรรม ที่นี่ยังมีงานปูนปั้นพระพุทธรูปงามๆ หลงเหลือให้ได้ดูกันอีกหลายชิ้น
    จุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดชม คือ *เซอร์แกบ* เมืองที่ถูกเรียกว่า "อโครโปลิสแห่งคันธาระ" เพราะรูปแบบการวางผังเมืองเป็นตารางหมากรุกเช่นเดียวกับรูปแบบเมืองของกรีกในยุคเดียวกัน เนื่องจากยุคหนึ่งตักกสิลาเคยถูกปกครองโดยกษัตริย์เดมิทริอุสแห่งบากเตรียซึ่งมีเชื้อสายกรีก
    [​IMG]อารามสงฆ์บนยอดเขาที่จูเลียน
    จากตักกสิลาเราเดินทางต่อไปยัง *สวาทวัลลี* ที่ราบลุ่มแม่น้ำสวาทอันอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ จนได้รับการขนานนามว่าแคว้นอุทยานในอดีต และถูกยกย่องว่าเป็นดังสวิตเซอร์แลนด์ของปากีสถานในปัจจุบัน
    ที่ราบลุ่มแม่น้ำซึ่งทอดยาวเคียงข้างแนวเทือกเขาสูงไปจนจรดยอดเขาซึ่งยังมีหิมะปกคลุมตรงหน้า ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินกับงานสร้างสรรค์อันงดงามจากธรรมชาติ อากาศที่สวาทวัลลียังเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปีทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งพักผ่อนสำคัญแห่งหนึ่งของปากีสถานในปัจจุบัน
    [​IMG]พระโพธิสัตว์กับพระมัสสุเรียวงาม
    สาเหตุที่พุทธศาสนารุ่งเรืองในสวาทวัลลี และมีอารามสงฆ์อยู่ไม่น้อยกว่า 1,400 แห่ง ก็เพราะพระเจ้ากนิษกะที่ 2 กษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการอันใหญ่หลวงในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อจากพระเจ้าอโศกมหาราช ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นราชสำนักซึ่งพระองค์จะเสด็จฯมาประทับในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง
    ศาสนสถานที่น่าสนใจในพื้นที่นี้คือ *สถูปชิงการ์ธาร์* ที่ปัจจุบันยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ สถูปแห่งนี้ถูกเล่าขานว่าสร้างขึ้นเพื่อครอบช้างเผือกของอุตรเสนะราชา ที่ล้มลงและกลายเป็นหิน ขณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาจากเมืองกุสินารา หลังเสร็จสิ้นการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพาน
    หลังนมัสการสถูปชิงการ์ธาร์แล้วเราเดินทางต่อไปยังศาสนสถานที่ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุดในยุคคันธาระ และเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดการเยี่ยมชมคือ *ตากห์บายห์* ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมาร์ดานและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีเดียวกับตักกสิลา
    [​IMG]เศียรพระจากปูนปั้น
    คำว่า "ตากห์บายห์" หมายถึงน้ำพุบนที่ราบเชิงเขา ซึ่งยังคงพบเห็นอยู่ทางทิศตะวันตกในปัจจุบัน ศาสนสถานแห่งนี้กินอาณาบริเวณกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่บนเนินเขาหลายลูกที่ลดหลั่นกันไป แต่แค่สิ่งที่หลงเหลือให้เห็นอยู่ในขณะนี้ก็มากพอที่จะทำให้เราจินตนาการถึงความรุ่งเรืองในอดีตของพุทธศาสนาในดินแดนนี้ได้ไม่ยากนัก ถึงอากาศก่อนเข้าฤดูร้อนของที่นี่จะทะลุ 40 องศาเซลเซียส แต่รับรองว่าสิ่งที่ได้เห็นคุ้มค่ากับการเดินฝ่าเปลวแดดแน่นอน
    ที่ยังเสียดายไม่หายคือหลังกลับจากปากีสถานแล้วถึงรู้ว่าที่เมืองเปชาวาร์ของปากีสถานในปัจจุบัน หรือเมืองปุรุษปุระในอดีต เคยเป็นที่ประดิษฐานของบาตรอันเป็นพุทธบริโภคของพระพุทธเจ้าอีกด้วย
    ถึงจะมีเวลาไม่มากพอให้ชื่นชมความงามของศิลปะคันธาระทั้งหมดในปากีสถานได้ แต่เท่าที่ได้เห็นก็ต้องชื่นชมรัฐบาลปากีสถานที่อนุรักษ์และดูแลศาสนสถานทั้งหมดเป็นอย่างดี แม้ว่าปัจจุบันชาวปากีสถานจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธก็ตามที
    สิ่งที่น่าสนใจในปากีสถานไม่ได้มีแต่ธรรมชาติและอารยธรรมเท่านั้น สำหรับบรรดาขาช็อป ปากีสถานก็น่าสนใจไม่น้อยกว่าที่ไหน ของฝากยอดนิยมอย่างผ้าคลุมไหล่ ไปถึงหินสีสวยๆ หลากชนิด สามารถหาซื้อได้ในราคาถูกเงินและถูกใจ ถ้ามีรสนิยมวิไลและกระเป๋าหนักพอ คุณก็สามารถเป็นเจ้าของพรมเปอร์เซียผืนงามได้ในราคาไม่แพงด้วย
    [​IMG]ของว่างริมทาง แตงกวาจิ้มเกลือ.jpg
    สำหรับคนที่สนใจและอยากเห็นพุทธศิลป์ในยุคคันธาระแต่ยังไม่มีเวลาเดินทาง ขอแนะนำให้รอชมพระพุทธรูปล้ำค่าแสนงดงามจากปากีสถาน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอิสลามาบัด ได้ประสานงานกับรัฐบาลปากีสถานเพื่อนำมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชมในราวเดือนตุลาคมนี้ที่กรุงเทพฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทิดพระเกียรติเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 60 ปีของการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    อย่างน้อยตอนนี้คงพอรู้แล้วใช่ไหมว่า "ปากีสถาน" มีอะไรดี





     

แชร์หน้านี้

Loading...