ด้วยการเพ่งโทษคนอื่นมีวิบากกรรมอย่างไร?

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Lukhgai, 17 ธันวาคม 2010.

  1. Lukhgai

    Lukhgai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    3,000
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +8,240
    ถาม – รู้สึกไม่สบายใจ เพราะหน้าที่การงานซึ่งทำอยู่เหมือนต้องคอยจับจ้องข้อผิดพลาดของผู้อื่น จะถือเป็นกรรมว่าด้วยการเพ่งโทษหรือไม่? มีวิบากอย่างไร?

    ตอบ

    ปัญญาทางโลกแบบที่ต้องคอยสังเกตสังกาหรือตรวจสอบการกระทำของผู้อื่นนั้นมีหลายแบบครับ ลองดูแล้วกันว่าของคุณเข้าข่ายแบบใด

    ๑) การตรวจสอบแบบที่มีเจตนาป้องกัน หรือระงับยับยั้งความเสื่อมเสียของตัวเขาเอง หรือลดความเสียหายของส่วนรวม โดยมีสติ มีเหตุผล ปราศอคติชอบชังเป็นส่วนตัว อย่างนี้บางทีเมื่อต้องตักเตือนก็อาจทำให้เกิดเวรต่อผู้เจ็บใจก็จริง เพราะคนเราไม่ชอบถูกใครว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการรายงานหรือบันทึกความประพฤติที่ผิดพลาดเอาไว้ ก็จะเป็นเหมือนการไปสร้างบาดแผลไว้กลางใจคนที่โดน

    อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้มีหน้าที่ตรวจสอบในแนวทางนี้ตายไปก็จะไม่ไปอบายเพราะกรรมที่ต้องตรวจสอบผู้อื่นโดยสุจริต และแม้เกิดใหม่ก็จะไม่ไปอยู่ในบ้านหรือที่ทำงานที่ราวีกันอย่างไร้เหตุผล ภัยเวรที่อาจมีบ้างก็จะมาในรูปของการเจรจาแก้ปัญหากันด้วยสันติวิธี มีเหตุผล ถ้าเจอคู่เวรแบบที่ต้องพบกันประจำก็มักเป็นประเภทมีทิฐิมานะน้อย ไม่เอาชนะกันด้วยวิธีสกปรก (ใช่จะไม่มีสิทธิ์เจอคนประเภทพยายามเอาชนะด้วยวิธีสกปรกเสียเลย เพียงแต่จะไม่ใช่คู่กัดถาวร ไม่ต้องทนทู่ซี้อยู่กับเขาเป็นปีๆ)

    ๒) การตรวจสอบแบบที่มีเจตนาหาจุดอ่อนของคู่แข่งเพื่อนำมาสร้างอาวุธทำลายล้างกัน กรรมข้อนี้นับเป็นการก่อเวรอย่างชัดเจน เหมือนเกมที่ต้องเอาชนะกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์ บุคคลละความชนะและความแพ้เสียแล้ว จึงสงบระงับ นอนเป็นสุข คนที่ต้องทำงานหรือทำกิจกรรมแบบจ้องชิงชัยหักล้างกันย่อมทราบผลกรรมอันเป็นปัจจุบันได้อยู่แล้ว

    หากการเอาชนะเป็นประเภทคอขาดบาดตาย จัดเป็นกรรมที่ยืนพื้นอยู่บนโทสะ สังเกตง่ายๆว่าถ้าแพ้จะโกรธฉุนเฉียว ถ้าชนะจะสะใจสมน้ำหน้าคู่แข่ง เมื่อละจากโลกนี้อาจได้ไปอบาย เพราะอบายเป็นสถานที่รองรับกรรมซึ่งยืนอยู่บนพื้นกิเลส (คือราคะ โทสะ โมหะ) แต่ถ้ามีกรรมดีอื่นอุ้มไว้ก็อาจไม่ตกต่ำลงถึงอบาย ทว่าถึงคราวกลับมาเป็นมนุษย์อีกก็จะเข้ามาอยู่ในวังวนภัยเวรวงจรเดิมๆ มีแพ้มีชนะ มีการก่อเวร มีการนอนอมทุกข์ และมักเจอะเจอคนใกล้ชิดที่ชวนให้ระหองระแหงง่าย ต่างฝ่ายต่างชอบเอาชนะ แม้จะเป็นพ่อแม่ลูกกันแท้ๆก็ตาม ประเภทขิงก็ราข่าก็แรง เมื่อทำงานก็มักเจอแต่ภาระประเภทต้องเอาหอกดาบจริงๆไปทิ่มแทง หรือเอาขวานในปากไปจามแก้วหูผู้อื่น

    ๓) การตรวจสอบแบบที่มีอคติ มีความเกลียดชัง มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกประมาณว่าเพื่อด่าเอามัน พูดง่ายๆว่าแกพูดหรือทำอะไรมาฉันด่าแหลก จับผิดลูกเดียว เที่ยวไปโพนทะนาให้เจ็บใจโดยไม่มีความปรารถนาดีต่อกันอยู่เลย

    ตายจากชาติปัจจุบันมีสิทธิ์ไปอบายมากกว่าข้ออื่น เพราะกรรมยืนพื้นอยู่บนโทสะและโมหะอย่างแรง คือคนเราต้องมีโทสะมากถึงเกลียดกันได้ขนาดทำอะไรมาด่าหมด และจะต้องมีโมหะ (หลงสำคัญผิด) ห่อหุ้มจิตมืดมิดยิ่งถึงไม่เห็นความดีของเขาเลย คล้ายม้าโดนครอบให้เห็นลู่วิ่งทางเดียว พุ่งไปในทางเดียว ไม่มีมุมมองอื่นที่แตกต่างไปจากนั้น

    หากมีสิทธิ์เกิดเป็นมนุษย์ใหม่ในคราวหน้า ก็อาจระเห็จไปอยู่ในบ้านที่ญาติๆจ้องแต่จะหาแพะรับบาป จะรู้เห็นเรื่องการโยนโทษให้คนอื่นมาตั้งแต่เด็กๆ โยนผิดได้เป็นโยน ไม่เผื่อใจไว้เห็นความผิดตัวเองบ้างเลย พอโตขึ้นก็จะมองโลกในแง่ร้ายเสียมาก ความดีชัดๆของคนอื่นมองไม่ค่อยเห็น เห็นแต่ความเลวแม้เพียงเล็กน้อยของเขา

    โลกนี้ไม่มีคนปราศจากอคติ แต่ก็มีการฝึกฝนอบรม ขัดเกลานิสัยให้อคติน้อยลงได้ ปัจจุบันชั้นเรียนประถมของบางโรงเรียนก็สอนให้หาที่ติของเพื่อนๆ รวมทั้งฝึกให้ยอมรับเสียงติติงจากคนอื่น นี่ก็เป็นแนวทางลดความลำเอียงลงได้มาก

    ในทางพุทธมีข้อธรรมประการหนึ่งคือในพรหมวิหาร ๔ คือพระพุทธเจ้าสอนให้มองผู้อื่นอย่างมีเมตตา เมื่อมีเมตตาก็ยากขึ้นที่เราจะอยากก่อเวรแม้ด้วยความคิดกับเขา แต่เมื่อต้องทำงานร่วมกัน จำเป็นต้องตักเตือนหรือบันทึกความผิดของผู้อื่นตามหน้าที่ ก็จะมีความเป็นกลาง เป็นอุเบกขา คือไม่ได้ตักเตือนหรือบันทึกความผิดของเขาด้วยอคติหรือมีเจตนาประทุษร้าย ทว่าเห็นกรรมหรือข้อบกพร่องของเขาตามจริง และทราบว่าที่ต้องเตือนหรือบันทึกความผิดไว้นั้น จัดเป็นการที่เขาต้องเสวยผลที่เขาทำมาเอง อย่างนี้ได้ชื่อว่าเราสานเวรไว้น้อยที่สุดหรือไม่มีเวรเลย (ถ้าเขาไม่ผูกใจเจ็บ)

    อยู่ในโลกมนุษย์นั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กระทบกระทั่งกัน แม้แต่ในวินัยของพระ ยังมีบัญญัติว่าถ้าเห็นพระด้วยกันทำผิดแล้วไม่ตักเตือนจัดเป็นอาบัติเลยทีเดียว สิ่งที่ควรคำนึงก็มีแต่ว่าจะคิดอย่างไร ตั้งจิตไว้อย่างไรจึงตักเตือนหรือบันทึกความผิดผู้อื่นโดยปราศจากการครอบงำของอคติและความชิงชังเท่านั้น

    ถาม – ไม่ค่อยมีใครเชื่อถือมาตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นก็ขาดความมั่นใจ ทั้งที่พยายามสร้างความมั่นใจด้วยวิธีต่างๆ บางทีก็ดีขึ้น แต่ก็กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก อาชีพการงานก็ไม่ก้าวหน้าเพราะเจ้านายไม่เชื่อมือเป็นหลัก อย่างนี้เพราะกรรมเก่าหรือเปล่า?

    ตอบ

    พระพุทธเจ้าตรัสว่าทานที่ถวายพระสงฆ์หรือนักบวชด้วยความเคารพ คือทั้งเคารพในบุคคลผู้รับซึ่งอยู่ในฐานะเหนือกว่า และเคารพในบุญกิริยาของตน จะทำให้ลูกเมีย เจ้านาย และคนตอบตัวทั้งหลายให้ความยำเกรง เป็นคนพูดจาน่าเชื่อถือ ใครต่อใครยินดีเงี่ยหูฟังอย่างเต็มใจ

    ฉะนั้นในทางตรงข้าม หากเราเคยเป็นผู้ให้ทานด้วยใจกระด้าง ขาดความเคารพ ถวายของพระแบบเสือกๆส่งๆ ให้ของใครต่อใครเหมือนเห็นเขาเป็นขี้ข้ารับส่วนบุญ แม้โยนกระดูกให้หมาก็แกล้งขว้างใส่ตัวมันด้วยจิตคิดดูถูก อย่างนี้เรียกว่าเป็นกรรมกึ่งขาวกึ่งดำ คือขาวเพราะให้ แต่ดำเพราะใจหยาบ ผลกรรมคือกลายเป็นผู้ไม่มีคนเคารพยำเกรง หรือไม่เชื่อถือเอาเสียเลย

    หากสำรวจตัวเอง ไม่พบว่ามีใจเช่นนั้น คือเป็นผู้เห็นการให้ว่าน่าจะทำด้วยความเคารพกัน แม้จะหย่อนเศษสตางค์ลงขันขอทานก็โน้มตัวลงไปใส่ดีๆด้วยน้ำใจอ่อนโยน อย่างนี้ก็ขอให้ลองสำรวจศีล โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยการพูดจา

    พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพูดพล่ามเพ้อเจ้อเก่งๆจะทำให้ไม่มีคนเชื่อถือ การก่อวจีทุจริตข้ออื่นๆก็เช่นกัน ทั้งในแง่โกหก นินทา และพูดหยาบคายเป็นนิตย์ ต่างมีส่วนเป็นเหตุแห่งความไม่น่าเชื่อถือ แต่ต้องว่าการพล่ามเพ้อเจ้อนั้นส่งผลตรงและแรงสุด เพราะพิสูจน์ได้ตั้งแต่ในชาติปัจจุบันทีเดียว

    ในแง่ของจิต คนพล่ามเพ้อเจ้อ หรือเป็นผู้มักพร่ำเพ้อรำพันง้องแง้งนั้น จะมีลักษณะจิตที่ปั่นป่วน คนอยู่ใกล้แล้วรู้สึกสับสน วิงเวียน หรือพร่ามัวตาม คลื่นจิตดังกล่าวที่มารบกวนความรู้สึกคนเห็นหรือคนฟังให้พลอยมัวมน จะทำให้ใครต่อใครรู้สึกว่าเราเป็นคนไม่มีหลัก ไม่มีความชัดเจน ไม่ให้ความรู้สึกด้านดี แม้การประพฤติตัวโดยทั่วไปจะอยู่ในศีลในธรรมอย่างไรก็ตาม

    และจิตที่ปั่นป่วนมัวมนดังกล่าวนี้ก็เป็นของติดตัวข้ามภพข้ามชาติได้ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ในช่วงต้นๆวัยจะมีคลื่นสมองที่ทำงานไม่เป็นระเบียบ คิดแบบกระโดดไปกระโดดมา ทำให้จับเรื่องไม่เป็นเรื่องมาเป็นสาระ แล้วก็ดลใจให้ฝักใฝ่ไปในทางเพ้อเจ้ออีก

    หากสำรวจทั้งในแง่ของทานและศีลแล้ว ก็ไม่พบว่าเรามีความเป็นเช่นนั้น นั่นไม่ใช่นิสัยติดตัวของเรา คราวนี้ก็คงต้องดูความมีวินัย เราพูดแล้วทำได้ตามที่พูดไหม รับปากแล้วเป็นไปตามที่รับปากไหม ความสามารถรักษาสัญญากับตนเองก็สำคัญ คนที่ไม่อาจนับถือตนเอง ไม่อาจเชื่อใจตัวเองว่าจะทำงานเสร็จตามกำหนดเวลา ไม่สามารถเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ไม่แน่ใจว่าจะทำตามปณิธานได้แค่ไหน ก็จะมีบุคลิกลักษณะเก้ๆกังๆ ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกน่าเชื่อถือขึ้นมาได้เช่นกัน

    อีกประการหนึ่ง คนในโลกนั้นถือเครดิตก็เป็นเรื่องสำคัญ คุณต้องประสบความสำเร็จในเรื่องหนึ่งๆ มีผลงานเป็นรูปธรรมที่คนอื่นแลเห็น หรืออย่างน้อยมีความพากเพียรทำกิจอย่างสม่ำเสมอ จึงจะมีแรงส่งไปกระทบความรู้สึกของคนอื่น

    คนมีประสบการณ์มากจะมีรายละเอียดข้อมูลในหัวอยู่มาก คิดได้มาก พูดได้มาก และลงมือทำให้กิจการงานลุล่วงเป็นรูปเป็นร่างได้มาก ถ้าเป็นเช่นนี้แค่ขยับตัว ยังไม่ทันพูดอะไร ก็พร้อมจะมีคนเงี่ยหูฟังเราแล้วครับ สรุปในแง่ทางโลกคือขยันทำงานให้มากเข้าไว้ เดี๋ยวข้อมูลเต็มกระบะสมองแล้วดีเอง

    ที่มามณีทิพย์ ธรรมะบันเทิง : บุญ บาป นรก สวรรค์ กฏแห่งกรรม บทความธรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...