ดูกรอุปทานะ เพราะฉะนั้นแล เธอจงทรงจำธรรมปริยายนี้ไว้เถิดว่า "ปาสาทิกะ" ดังนี้เทียว ฯ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 28 กันยายน 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ๖. ปาสาทิกสูตร (๒๙)
    [๙๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทในสวนอัมพวันของพวก ศากยะ มีนามว่า
    เวธัญญา ในสักกชนบท ก็สมัยนั้นแล นิครณฐ์นาฏบุตร ทำกาละแล้วที่เมืองปาวาไม่นานนัก
    เพราะกาลกิริยาของนิครณฐ์นาฏบุตรนั้น พวกนิครณฐ์แตกกัน เกิดแยกกันเป็นสองพวก เกิดบาด
    หมางกัน เกิดทะเลาะวิวาทกัน ขึ้นเสียดแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรม
    วินัยนี้ ข้าพเจ้า รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ทั่วธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้า
    ปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควร จะกล่าวก่อน
    ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผัน
    แปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้า ข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย
    มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ คงมีแต่ ความตายเท่านั้น จะเป็นไปในพวกสาวกของนิครณฐ์
    นาฏบุตร พวกสาวกของ นิครณฐ์นาฏบุตรแม้เหล่าใด ที่เป็นคฤหัสถ์ผู้นุ่งขาวห่มขาว พวกสาวก
    แม้เหล่านั้น มีอาการเบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอย ในพวกสาวกของนิครณฐ์นาฏบุตร
    โดยเหตุที่ธรรมวินัยอันนิครณฐ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรม ที่จะนำผู้
    ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่าน ผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ
    ประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งพาอาศัย ฯ
    [๙๕] ครั้งนั้น สามเณรจุนทะอยู่จำพรรษาในเมืองปาวา ได้เข้าไปหา ท่านพระอานนท์ซึ่ง
    อยู่ในสามคาม ครั้นกราบไหว้ท่านพระอานนท์แล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้
    กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครณฐ์นาฏบุตร ทำกาละแล้วที่เมืองปาวาไม่นาน
    นัก เพราะกาลกิริยาของนิครณฐ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครณฐ์แตกกันแล้ว เกิดแยกกันเป็นสอง
    พวก ฯลฯ โดยเหตุ ที่ธรรมวินัยอันนิครณฐ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรม
    วินัยที่ จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมวินัยที่ ท่านผู้
    เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่
    พึ่งพาอาศัย ฯ
    เมื่อสามเณรจุนทะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะสามเณรจุนทะว่า อาวุโส
    จุนทะ มีมูลเหตุแห่งถ้อยคำนี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าละ อาวุโส จุนทะ มาเถิด เราจักเข้า
    ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นแล้ว พึงทูลบอกเรื่องนี้ แด่พระผู้มีพระภาค สามเณร
    จุนทะรับคำของท่านพระอานนท์ แล้ว
    ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์และสามเณรจุนทะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
    ประทับ ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
    ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะนี้ ได้บอก
    อย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครณฐ์นาฏ บุตรทำกาละแล้วที่เมืองปาวาไม่นานนัก เพราะกาล
    กิริยาของนิครณฐ์นาฏบุตรนั้น พวกนิครณฐ์นาฏบุตรแตกกัน เกิดแยกกันเป็นสองพวก ฯลฯ
    โดยเหตุที่ธรรมวินัย อันนิครณฐ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัยที่จะนำ
    ผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมวินัยที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัม
    พุทธะประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งพาอาศัย
    ดังนี้ ฯ
    [๙๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจุนทะ ข้อนี้ย่อมมีได้อย่างนั้น ใน ธรรมวินัยที่
    ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัยที่จะนำผู้ ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่
    เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมวินัย ที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ อย่างนี้แล
    ดูกรจุนทะ ศาสดาในโลกนี้ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมก็เป็นธรรมอันศาสดานั้นกล่าวไว้
    ไม่ดี ประกาศ ไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความ
    สงบระงับ ไม่ใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ แต่สาวกไม่ เป็นผู้ปฏิบัติธรรม
    สมควรแก่ธรรม ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่เป็นผู้ประพฤติตามธรรม และย่อมประพฤติหลีก
    เลี่ยงจากธรรมนั้น สาวกนั้นเป็นผู้อันใครๆ พึงกล่าว อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภของท่าน
    นั้นละ ท่านนั้นได้ดีแล้ว ศาสดาของท่านไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมเล่าก็เป็นธรรมที่
    ศาสดานั้นกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศ ไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่
    เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ แต่ท่านไม่เป็นผู้
    ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่เป็นผู้ประพฤติตามธรรมและ ย่อม
    ประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น ด้วยเหตุดังนี้แล จุนทะ แม้ศาสดาก็เป็นผู้ควร ติเตียนในธรรม
    นั้น แม้ธรรมก็ควรติเตียนในธรรมนั้น ส่วนสาวกควรสรรเสริญใน ธรรมนั้นอย่างนี้ ดูกรจุนทะ
    ผู้ใดแลพึงกล่าวกะสาวกเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านจงมาปฏิบัติตามธรรมที่ศาสดาของท่านแสดง
    แล้ว บัญญัติไว้แล้วเถิด ผู้ที่ชักชวน ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วย่อมปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น
    คนทั้งหมดนั้นจะประสบสิ่งที่ ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรจุนทะ เพราะว่า
    ข้อนี้ย่อมมีใน ธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัยที่จะนำผู้ปฏิบัติให้
    ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมวินัยที่ท่านผู้เป็น สัมมาสัมพุทธะ
    ประกาศไว้ อย่างนี้แล ฯ
    [๙๗] ดูกรจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ และ ธรรมเล่าก็เป็น
    ธรรมอันศาสดานั้นกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะ นำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์
    ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่าน ผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ และสาวก
    ก็เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมสมาทานธรรม
    นั้นประพฤติ สาวกนั้นเป็นผู้อันใครๆ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ไม่เป็นลาภของท่านนั้น
    ท่านนั้นได้ไม่ดีแล้ว ด้วยว่า ศาสดาของท่านไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมเล่าก็เป็นธรรมที่
    ศาสดานั้นกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติ ให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่
    เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมา สัมพุทธะประกาศไว้ ทั้งตัวท่านก็เป็นผู้
    ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมสมาทานธรรมนั้น
    ประพฤติ ด้วยเหตุดังนี้แล จุนทะ แม้ศาสดาก็เป็นผู้ควรติเตียนในธรรมนั้น แม้ธรรม
    ก็ควรติเตียนในธรรมนั้น แม้สาวกก็เป็นผู้ควรติเตียนในธรรมนั้น อย่างนี้ ดูกรจุนทะ ผู้ใดแล
    พึงกล่าวกะสาวกเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมอันควรรู้ จักยังธรรมอันควรรู้
    ให้สำเร็จได้โดยแท้ ผู้ที่สรรเสริญ ผู้ที่ได้รับสรรเสริญ ผู้ที่ได้รับสรรเสริญแล้ว ปรารภความเพียร
    โดยประมาณยิ่ง คนทั้งหมดนั้น จะประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร
    ดูกรจุนทะ เพราะว่าข้อนี้ย่อมมีในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัย
    ที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมวินัยที่ท่านผู้เป็น
    สัมมาสัมพุทธะ ประกาศไว้ อย่างนี้แล ฯ
    [๙๘] ดูกรจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรม เล่าก็เป็นธรรม
    อันศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้
    เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ท่านผู้เป็น สัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ แต่สาวกไม่เป็นผู้
    ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมประพฤติ
    หลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น สาวกนั้นเป็นผู้อันใครๆ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ไม่เป็นลาภ
    ของท่านนั้น ท่านนั้นได้ไม่ดีแล้ว ด้วยว่าศาสดาของท่านเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ และธรรม
    เล่าก็เป็นธรรมอันพระศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะ นำผู้ปฏิบัติให้
    ออกไปจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ท่านผู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้
    แต่ว่าตัวท่านไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่เป็นผู้ประพฤติตาม
    ธรรม และย่อมประพฤติหลีก เลี่ยงจากธรรมนั้น ด้วยเหตุดังนี้แล จุนทะ แม้ศาสดาก็ควร
    สรรเสริญในธรรมนั้น แม้ธรรมก็ควรสรรเสริญในธรรมนั้น แต่ว่าสาวกควรติเตียนในธรรมนั้น
    อย่างนี้ ดูกรจุนทะ ผู้ใดแลพึงกล่าวกะสาวกเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านจงมาปฏิบัติตามธรรมที่
    พระศาสดาของท่านแสดงแล้ว บัญญัติแล้วเถิด ผู้ที่ชักชวน ผู้ที่ถูกชักชวน ผู้ที่ถูกชักชวนแล้ว
    ย่อมปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น คนทั้งหมดนั้น จะประสบบุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุ
    ไร ดูกรจุนทะ เพราะว่าข้อนี้ย่อมมีในธรรมวินัย ที่ศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว
    เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไป จากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ท่านผู้
    เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ประกาศไว้อย่างนี้แล ฯ
    [๙๙] ดูกรจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมเล่าก็เป็นธรรม
    อันศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้
    เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันท่านผู้เป็น สัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ ทั้งสาวกก็เป็นผู้
    ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมสมาทานธรรม
    นั้นประพฤติ สาวก นั้นเป็นผู้อันใครๆ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภอย่างยิ่งของ
    ท่านนั้น ท่านนั้นได้ดีแล้ว ด้วยว่าพระศาสดาของท่านก็เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
    พระธรรมเล่าก็เป็นธรรมอันพระศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้
    ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรม ที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ
    ประกาศไว้ ทั้งตัวท่านก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นผู้ประพฤติ
    ตามธรรม ย่อมสมาทานธรรมนั้น ประพฤติ ด้วยเหตุดังนี้แล จุนทะ แม้ศาสดาก็ควรได้รับ
    สรรเสริญในธรรมนั้น แม้ธรรมก็ควรได้รับสรรเสริญในธรรมนั้น แม้สาวกเล่าก็ควรได้รับ
    สรรเสริญใน ธรรมนั้นอย่างนี้ ดูกรจุนทะ ผู้ใดแลพึงกล่าวกะสาวกเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่าน
    เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมอันควรรู้ จักยังธรรมอันควรรู้ให้สำเร็จได้โดยแท้ ผู้ที่สรรเสริญ ผู้ที่ได้
    รับสรรเสริญ ผู้ที่ได้รับสรรเสริญแล้วย่อมปรารภความเพียรโดย ประมาณยิ่ง คนทั้งหมดนั้นจะ
    ประสบบุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรจุนทะ เพราะว่าข้อนี้ย่อมมีในธรรมวินัยที่
    ศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ เป็นไป
    เพื่อความสงบระงับ เป็นธรรม ที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ อย่างนี้แล ฯ
    [๑๐๐] ดูกรจุนทะ ศาสดาผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะเกิดขึ้นแล้ว ในโลกนี้ และ
    ธรรมอันพระศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่ นำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจาก
    ทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ แต่ว่าสาวก
    ทั้งหลายของศาสดานั้น เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง อรรถในพระสัทธรรมและพรหมจรรย์อันบริบูรณ์สิ้นเชิง
    เป็นปาพจน์อันศาสดาของ สาวกเหล่านั้นทำให้แจ้งแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว ทำให้มีบทอันรวบรวมไว้
    พร้อมแล้วทำให้มีปาฏิหาริย์พอที่เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ด้วยดีแก่สาวกเหล่านั้น ครั้น
    ต่อมา ความอันตรธานย่อมมีแก่ศาสดาของสาวกเหล่านั้น ดูกรจุนทะ ศาสดาเห็น ปานนี้แล
    เป็นผู้ทำกาละแล้ว ย่อมเป็นเหตุเดือดร้อนในภายหลังแก่สาวกทั้งหลาย ข้อนั้นเพราะเหตุไร
    เพราะว่าศาสดาผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะได้เกิดแล้ว ในโลก และธรรมเล่าก็เป็นธรรม
    อันศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่นำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ เป็น
    ไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรม ที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ แต่ว่าเราทั้งหลายไม่ได้
    เป็นผู้รู้แจ้งอรรถใน พระสัทธรรม และพรหมจรรย์อันบริบูรณ์สิ้นเชิง ไม่ได้เป็นปาพจน์อันเราทั้ง
    หลาย ทำให้แจ้งแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว ทำให้มีบทอันรวบรวมไว้พร้อมแล้ว ทำให้มีปาฏิหาริย์ พอที่
    เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ด้วยดี ครั้นต่อมา ความอันตรธานย่อมมีแก่ ศาสดาของเราทั้งหลาย
    ดูกรจุนทะ ศาสดาเห็นปานนี้แล ทำกาละแล้วย่อมเป็นเหตุเดือดร้อนในภายหลังแก่สาวกทั้งหลาย ฯ
    [๑๐๑] ดูกรจุนทะ อนึ่ง พระศาสดาผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ เกิดขึ้นแล้วใน
    โลกนี้ และธรรมเล่าก็เป็นธรรมอันพระศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้วเป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออก
    ไปจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้
    และสาวกทั้งหลายของศาสดานั้นเป็นผู้รู้แจ้งอรรถในสัทธรรม และพรหมจรรย์อันบริบูรณ์สิ้นเชิง
    เป็นปาพจน์อัน ศาสดานั้นทำให้แจ้งแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว ทำให้มีบทอันรวบรวมไว้พร้อมแล้ว ทำ
    ให้มีปาฏิหาริย์ พอที่เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ด้วยดี แก่สาวกเหล่านั้น ครั้นต่อมา
    ความอันตรธานย่อมมีแก่ศาสดาของสาวกเหล่านั้น ดูกรจุนทะ ศาสดา เห็นปานนี้แล ทำกาละ
    แล้ว ย่อมไม่เป็นเหตุเดือดร้อนในภายหลังแก่สาวกทั้งหลาย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า
    แม้ศาสดาผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะก็เกิดขึ้น แล้วในโลก และธรรมเล่าก็เป็นธรรมอันพระ
    ศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ เป็น
    ไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ และเราทั้งหลายก็ได้
    เป็นผู้รู้แจ้ง อรรถในสัทธรรม ทั้งพรหมจรรย์อันบริบูรณ์สิ้นเชิง ก็เป็นปาพจน์อันเราทั้งหลายทำ
    ให้แจ้งแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว ทำให้มีบทอันรวบรวมไว้พร้อมแล้ว ทำให้มีปาฏิหาริย์ พอที่เทพดา
    มนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ด้วยดี ครั้นต่อมา ความอันตรธาน ย่อมมีแก่ศาสดา ดูกรจุนทะ
    ศาสดาเห็นปานนี้แล ทำกาละแล้ว ย่อมไม่เป็นเหตุเดือดร้อนในภายหลังแก่สาวกทั้งหลาย ฯ
    [๑๐๒] ดูกรจุนทะ แม้ถ้าพรหมจรรย์ ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ ศาสดาไม่ได้
    เป็นเถระ ไม่เป็นผู้รู้ราตรีนาน ไม่เป็นผู้บวชนาน ไม่เป็นผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว
    อย่างนี้ พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ดูกรจุนทะ เมื่อใดแล แม้ถ้าพรหมจรรย์
    ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือศาสดาเป็นเถระ เป็นผู้รู้ราตรีนาน เป็นผู้บวชนาน เป็นผู้ล่วงกาล
    ผ่านวัยมาโดยลำดับ อย่างนี้ พรหมจรรย์นั้น บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เมื่อนั้น ฯ
    [๑๐๓] ดูกรจุนทะ แม้ถ้าพรหมจรรย์ ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือศาสดา เป็นเถระ
    เป็นผู้รู้ราตรีนาน เป็นผู้บวชนาน เป็นผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ แต่ว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็น
    สาวกของศาสดานั้นไม่เป็นเถระ ไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่เป็นผู้ได้รับแนะนำ ไม่เป็นผู้แกล้วกล้า
    และไม่บรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ ไม่สามารถเพื่อจะกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ ไม่
    สามารถเพื่อแสดงธรรมให้มี ปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปปวาทที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วยดี โดยชอบธรรม
    พรหมจรรย์นั้น ย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้ ดูกรจุนทะ ในกาลใดแล แม้ถ้าพรหมจรรย์
    ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือศาสดาเป็นเถระ เป็นผู้รู้ราตรีนาน เป็นผู้บวชนาน เป็นผู้ล่วง
    กาล ผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว และภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของศาสดานั้น ก็เป็นเถระ เป็นผู้
    เชี่ยวชาญ เป็นผู้ได้รับแนะนำแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า และเป็นผู้บรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจาก
    โยคะแล้ว สามารถเพื่อจะกล่าวพระสัทธรรมได้ โดยชอบ สามารถเพื่อแสดงธรรมให้มีปาฏิหาริย์
    ข่มขี่ปรับปวาทที่เกิดขึ้นแล้วด้วยดี โดยชอบธรรมอย่างนี้ พรหมจรรย์นั้นย่อมบริบูรณ์ด้วยองค์
    นั้น ฯ
    [๑๐๔] ดูกรจุนทะ แม้ถ้าพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้คือ ศาสดา เป็นเถระ
    เป็นผู้รู้ราตรีนาน เป็นผู้บวชนาน เป็นผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ และภิกษุทั้งหลายผู้เป็น
    สาวกของศาสดานั้นก็เป็นเถระ เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้ได้รับแนะนำแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า
    เป็นผู้บรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะแล้ว สามารถเพื่อจะกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ
    สามารถเพื่อแสดงธรรมให้มี ปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปปวาทอันบังเกิดขึ้นแล้วด้วยดี โดยชอบธรรม
    แต่ภิกษุทั้งหลาย ที่เป็นสาวกของศาสดานั้นที่เป็นผู้ปานกลางไม่มี หรือภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกผู้
    ปานกลางมีอยู่ แต่ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของศาสดานั้นที่เป็นผู้ใหม่ไม่มี ภิกษุณีทั้งหลายผู้
    เป็นสาวิกาของศาสดานั้นเป็นผู้ใหม่มีอยู่ แต่ภิกษุณีทั้งหลายที่เป็นสาวิกา ของศาสดานั้นที่เป็นเถรี
    ไม่มี หรือภิกษุณีทั้งหลายที่เป็นสาวิกาของศาสดานั้นที่เป็น เถรีมีอยู่ แต่ภิกษุณีทั้งหลายที่เป็น
    สาวิกาของศาสดานั้นที่เป็นผู้ปานกลางไม่มี หรือภิกษุณีทั้งหลายผู้เป็นสาวิกาของศาสดานั้นที่เป็น
    ผู้ปานกลางมีอยู่ แต่ภิกษุณีทั้งหลาย ผู้เป็นสาวิกาของศาสดานั้นที่เป็นผู้ใหม่ไม่มี หรือภิกษุณีทั้ง
    หลายผู้เป็นสาวิกาของ ศาสดานั้นที่เป็นผู้ใหม่มีอยู่ แต่อุบาสกทั้งหลายผู้เป็นสาวกของศาสดานั้น
    ที่เป็น คฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาวประพฤติพรหมจรรย์ไม่มี หรืออุบาสกทั้งหลายผู้เป็นสาวกของศาสดา
    นั้น ที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาวประพฤติพรหมจรรย์มีอยู่ แต่อุบาสก ทั้งหลายผู้เป็นสาวกของ
    ศาสดานั้น ที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาวบริโภคกามไม่มี หรืออุบาสกทั้งหลายผู้เป็นสาวกของ
    ศาสดานั้น ที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาวบริโภคกามมีอยู่ แต่อุบาสิกาทั้งหลายผู้เป็นสาวิกาของ
    ศาสดานั้น ที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาวประพฤติพรหมจรรย์ไม่มี หรืออุบาสิกาทั้งหลายที่เป็น
    สาวิกาของศาสดานั้น ที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาวประพฤติพรหมจรรย์มีอยู่ แต่อุบาสิกาทั้งหลาย
    ผู้เป็นสาวิกาของศาสดานั้น ที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาวบริโภคกามมีอยู่ แต่พรหมจรรย์ ของ
    ศาสดานั้น มิได้เป็นพรหมจรรย์สำเร็จผลแพร่หลายกว้างขวาง ชนเป็นอันมาก รู้ได้ เป็นปึกแผ่น
    พอที่เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ด้วยดี หรือพรหมจรรย์ของศาสดานั้น เป็นพรหมจรรย์สำเร็จ
    ผลแพร่หลายกว้างขวาง ชนเป็นอันมากรู้ได้เป็นปึกแผ่นพอที่เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศได้
    ด้วยดี แต่พรหมจรรย์นั้นไม่เป็น พรหมจรรย์ถึงความเลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศอย่างนี้ พรหม
    จรรย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
    ดูกรจุนทะ เมื่อใดแล พรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือศาสดาเป็นเถระ เป็น
    ผู้รู้ราตรีนาน เป็นผู้บวชนาน เป็นผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสาวก
    ของศาสดานั้นก็เป็นเถระเชี่ยวชาญ ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า บรรลุธรรมเป็นแดนเกษม
    จากโยคะแล้ว สามารถเพื่อจะกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ สามารถเพื่อแสดงธรรมให้มีปาฏิ
    หาริย์ข่มขี่ปรัป ปวาทที่เกิดขึ้นแล้วเสียได้ด้วยดี โดยชอบธรรม ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของ
    ศาสดานั้น ที่เป็นผู้ปานกลางก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของศาสดานั้น ที่เป็นผู้ใหม่ก็มีอยู่
    ภิกษุณีทั้งหลายผู้เป็นสาวิกาของศาสดานั้นที่เป็นเถรีก็มีอยู่ ภิกษุณีทั้งหลายผู้เป็นสาวิกาของศาสดา
    นั้นที่เป็นผู้ใหม่ก็มีอยู่ อุบาสกทั้งหลายที่เป็นสาวกของศาสดานั้น ที่เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว
    ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีอยู่ อุบาสกทั้งหลายผู้เป็นสาวกของศาสดานั้น ที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว
    บริโภคกามก็มีอยู่ อุบาสิกาทั้งหลายที่เป็นสาวิกา ของศาสดานั้นที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว
    ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีอยู่ อุบาสิกาทั้งหลาย ผู้เป็นสาวิกาของศาสดานั้นที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว
    บริโภคกามก็มีอยู่ และพรหมจรรย์ของศาสดานั้นก็เป็นปาพจน์สำเร็จแพร่หลายกว้างขวาง ชน
    เป็นอันมาก รู้ได้ เป็นปึกแผ่นพอที่เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ด้วยดี และถึงความเลิศด้วย
    ลาภ เลิศด้วยยศแล้วอย่างนี้ พรหมจรรย์นั้นย่อมบริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เมื่อนั้น ฯ
    [๑๐๕] ดูกรจุนทะ ก็บัดนี้ เราแลเป็นศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ เกิดขึ้นแล้ว
    ในโลก ธรรมเล่าก็เป็นธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ประกาศดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออก
    จากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันเราผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ประกาศไว้แล้ว
    สาวกทั้งหลายของเราเล่า ก็เป็นผู้รู้แจ้งอรรถในสัทธรรม และพรหมจรรย์อันบริบูรณ์สิ้นเชิงเล่า
    ก็เป็นพรหมจรรย์ อันเราทำให้แจ้งแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว ทำให้มีบทรวบรวมไว้พร้อมแล้ว ทำให้มี
    ปาฏิหาริย์พอที่เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ด้วยดีแก่เหล่าสาวกแล้ว ดูกรจุนทะ ก็บัดนี้
    เราแลเป็นศาสดาผู้เถระ ผู้รู้ราตรีนาน ผู้บวชนาน ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ ฯ
    [๑๐๖] ดูกรจุนทะ ก็บัดนี้ ภิกษุสาวกของเราเป็นเถระ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ได้รับแนะนำ
    แล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า บรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะแล้ว สามารถเพื่อจะกล่าวพระสัทธรรม
    ได้โดยชอบ สามารถเพื่อจะแสดงธรรมให้มี ปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปปวาทที่เกิดขึ้นแล้วเสียได้ด้วยดี
    โดยชอบธรรมมีอยู่ ดูกรจุนทะบัดนี้ ภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นเถระก็มีอยู่ ผู้ปานกลาง
    ก็มีอยู่ ผู้ใหม่ก็มีอยู่ ดูกรจุนทะ บัดนี้ ภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายของเราผู้เป็นเถรีก็มีอยู่ ผู้ปานกลาง
    ก็มีอยู่ ผู้ใหม่ก็มีอยู่ ดูกรจุนทะ อุบาสกสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว
    ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีอยู่ บริโภคกามก็มีอยู่ ดูกรจุนทะ บัดนี้ อุบาสิกา สาวิกาทั้งหลายของเรา
    ผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาวประพฤติพรหมจรรย์ก็มีอยู่ บริโภคกามก็มีอยู่ ดูกรจุนทะ อนึ่ง
    ในบัดนี้ พรหมจรรย์ของเราก็สำเร็จผลแพร่หลาย กว้างขวาง ชนเป็นอันมากรู้ได้ เป็นปึกแผ่น
    พอที่เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศไว้ ด้วยดีแล้ว ฯ
    [๑๐๗] ดูกรจุนทะ เท่าที่ศาสดาทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในโลก ในบัดนี้เราไม่พิจารณาเห็น
    ศาสดาอื่นสักผู้หนึ่งผู้ถึงความเลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศเหมือนเรา ดูกรจุนทะ อนึ่ง เท่าที่สงฆ์
    หรือคณะเกิดขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เราไม่พิจารณาเห็นสงฆ์หรือคณะสักหมู่หนึ่งหรือคณะหนึ่ง
    ซึ่งถึงความเลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศเหมือนภิกษุสงฆ์เลย ดูกรจุนทะ บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบ
    พึงกล่าว พรหมจรรย์นั้นใดว่า เป็นพรหมจรรย์สมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง
    ไม่หย่อนไม่ยิ่ง อันศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว บริบูรณ์สิ้นเชิง ประกาศไว้ดีแล้ว ดังนี้ บุคคลเมื่อ
    กล่าวโดยชอบ พึงกล่าวพรหมจรรย์นั้นนี้แหละว่า เป็นพรหมจรรย์สมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง
    บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง อันศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว บริบูรณ์สิ้นเชิง ประกาศ
    ไว้ดีแล้ว ดังนี้ ฯ
    ดูกรจุนทะ ได้ยินว่า อุทกดาบสรามบุตรกล่าววาจาอย่างนี้ว่า บุคคลเห็นอยู่ ชื่อว่าย่อม
    ไม่เห็น บุคคลเห็นอยู่ซึ่งอะไร จึงชื่อว่าย่อมไม่เห็น บุคคลเห็นพื้น แห่งมีดโกนอันลับดีแล้ว
    แต่จะไม่เห็นคมแห่งมีดโกนนั้น ดูกรจุนทะ ข้อนี้อันอุทกดาบสรามบุตรกล่าวว่า บุคคลเห็นอยู่
    ชื่อว่าย่อมไม่เห็น ดูกรจุนทะ ก็คำนี้นั้นแล อันอุทกดาบสรามบุตรกล่าวแล้ว เป็นคำเลว เป็น
    ของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะหมายเอา
    มีดโกนเท่านั้น ดูกรจุนทะ บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบพึงกล่าวคำนั้นใดแลว่า บุคคลเห็นอยู่
    ชื่อว่าย่อมไม่เห็นดังนี้ บุคคลเห็นอยู่ซึ่งอะไร จึงชื่อว่าย่อมไม่เห็น บุคคลเห็นอยู่อย่างนี้ว่า
    พรหมจรรย์อันสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง อันศาสดา
    กล่าวไว้ดีแล้ว บริบูรณ์สิ้นเชิง เป็นพรหมจรรย์อันท่านผู้เป็นศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว ดังนี้
    ด้วยเหตุดังนี้แล ในคำนั้น บุคคลพึงนำคำนี้ว่า บุคคลย่อมไม่เห็นนั้น ออกเสีย บุคคลเห็นอยู่
    ซึ่งพรหมจรรย์ นั้นอย่างนี้ว่า พรหมจรรย์ที่บริสุทธิ์กว่า พึงมี ดังนี้ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลพึงนำ
    คำนี้ว่า บุคคลย่อมไม่เห็นนั้นเข้าไว้ในคำนั่น บุคคลเห็นอยู่ซึ่งพรหมจรรย์นั้น อย่างนี้ว่า พรหมจรรย์
    ที่บริสุทธิ์กว่าพึงมี ดังนี้ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลชื่อว่า ย่อมไม่เห็นพรหมจรรย์นั่น นี้แหละเรียก
    ว่า บุคคลเห็นอยู่ ชื่อว่าย่อมไม่เห็น ดูกรจุนทะ บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวพรหมจรรย์
    อันสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง อันศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว
    บริบูรณ์สิ้นเชิง เป็นพรหมจรรย์อันศาสดาประกาศดีแล้วดังนี้ บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบพึงกล่าว
    พรหมจรรย์นั่นนี้ว่า พรหมจรรย์อันสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ไม่หย่อน
    ไม่ยิ่ง อันศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว บริบูรณ์สิ้นเชิง เป็นพรหมจรรย์อันศาสดาประกาศดีแล้ว ดังนี้ ฯ
    [๑๐๘] เพราะเหตุดังนี้นั่นแหละ จุนทะ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นใด อันเราแสดงแล้วด้วยปัญญา
    อันยิ่ง บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะ
    ด้วยพยัญชนะ ในธรรมเหล่านั้น โดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงเป็นไปตลอดกาลยืดยาว ตั้งมั่นอยู่สิ้น
    กาลนาน พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชน
    เป็นอันมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความ สุขแก่เทพดา
    และมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรจุนทะ ก็ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น อันเราแสดงแล้วด้วยความรู้ยิ่งเป็นไฉน
    ที่บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วย
    พยัญชนะ โดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ตลอดกาลยืดยาวตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์
    นั้นจะพึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์
    แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย คืออะไรบ้าง
    คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค
    มีองค์ ๘ ดูกรจุนทะ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล อันเราแสดง แล้วด้วยความรู้ยิ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่
    บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วย
    พยัญชนะ โดยวิธีที่พรหมจรรย์ นี้จะพึงตั้งอยู่ตลอดกาลยืดยาว ตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์
    นั้นจะพึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่
    ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
    [๑๐๙] ดูกรจุนทะ ก็บริษัทเหล่านั้นแล พึงพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานกัน ไม่วิวาทกัน
    ศึกษาเถิด สพรหมจารีสงฆ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงกล่าวธรรม หากว่าในภาษิต ของสพรหมจารีนั้น คำ
    อย่างนี้พึงมีแก่เธอทั้งหลายว่า อาวุโส ท่านผู้มีอายุนี้แล ถือเอาอรรถนั่นแหละผิด และยกขึ้นซึ่ง
    พยัญชนะทั้งหลายผิด ดังนี้ เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านต่อสพรหมจารีนั้น ครั้นแล้ว
    สพรหมจารีนั้นอันพวกเธอ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส พยัญชนะเหล่านี้หรือพยัญชนะเหล่านั้น
    ของอรรถนี้ เหล่าไหนจะสมควรกว่ากัน อรรถนี้หรืออรรถนั่นของพยัญชนะเหล่านี้ อย่างไหน
    จะสมควรกว่ากัน หากว่าสพรหมจารีนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส พยัญชนะเหล่านี้แหละ
    ของอรรถนี้สมควรกว่า และอรรถนี้แหละของพยัญชนะเหล่านี้สมควร กว่าสพรหมจารีนั้นอัน
    พวกเธอไม่พึงยินดี ไม่พึงรุกราน ครั้นแล้วสพรหมจารี นั้นแหละ อันพวกเธอพึงให้รู้ด้วยดี
    เพื่อไตร่ตรองอรรถนั้นและพยัญชนะเหล่า นั้น ฯ
    [๑๑๐] ดูกรจุนทะ ถ้าสพรหมจารีสงฆ์แม้อื่นอีก พึงกล่าวธรรม หากว่าในภาษิตของ
    สพรหมจารีนั้น คำอย่างนี้พึงมีแก่เธอทั้งหลายว่า ท่านผู้มีอายุนี้แล ถือเอาอรรถเท่านั้นผิด ยกขึ้นซึ่ง
    พยัญชนะทั้งหลายชอบ ดังนี้ เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านต่อสพรหมจารีนั้น ครั้นแล้ว
    สพรหมจารีนั้นอันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส อรรถนี้หรืออรรถนั่นของพยัญชนะ
    เหล่านี้อย่างไหนจะสมควกว่ากัน หากว่าสพรหมจารีนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส อรรถนี้แหละ
    ของพยัญชนะเหล่านี้สมควรกว่า สพรหมจารีนั้น อันพวกเธอไม่พึงยกย่อง ไม่พึง รุกราน
    ครั้นแล้วสพรหมจารีนั้นแหละ อันพวกเธอพึงให้รู้ด้วยดี เพื่อไตร่ตรอง อรรถนั้น ฯ
     
  2. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [๑๑๑] ดูกรจุนทะ ถ้าสพรหมจารีสงฆ์แม้อื่นอีก พึงกล่าวธรรม หากว่าในภาษิตของ
    สพรหมจารีนั้น คำอย่างนี้พึงมีแก่เธอทั้งหลายว่า ท่านผู้มีอายุนี้แล ถือเอาอรรถเท่านั้นชอบ
    ยกขึ้นซึ่งพยัญชนะทั้งหลายผิด ดังนี้ พวกเธอทั้งหลาย ไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านต่อสพรหมจารีนั้น
    สพรหมจารีนั้นอันพวกเธอพึงกล่าว อย่างนี้ว่า อาวุโส พยัญชนะเหล่านี้เทียว หรือว่าพยัญชนะ
    เหล่านั้นของอรรถนี้ เหล่าไหนจะสมควรกว่ากัน หากว่าสพรหมจารีนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พยัญชนะ
    เหล่านี้แหละ ของอรรถนี้แล สมควรกว่า สพรหมจารีนั้นอันพวกเธอไม่พึงยกย่อง ไม่พึงรุกราน
    ครั้นแล้วสพรหมจารีนั้นแหละ อันพวกเธอพึงให้รู้ด้วยดี เพื่อไตร่ตรองพยัญชนะเหล่านั้นนั่นเทียว ฯ
    [๑๑๒] ดูกรจุนทะ ถ้าสพรหมจารีสงฆ์แม้อื่นอีก พึงกล่าวธรรม หากว่าในภาษิตของ
    สพรหมจารีนั้น คำอย่างนี้พึงมีแก่เธอทั้งหลายว่า ท่านผู้มีอายุนี้แล ถือเอาอรรถนั่นแหละชอบ
    ยกขึ้นซึ่งพยัญชนะทั้งหลายก็ชอบ ดังนี้ เธอทั้งหลายพึงชื่นชม พึงอนุโมทนาภาษิตของสพรหม
    จารีนั้นว่า ดีแล้ว สพรหมจารีนั้น อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส เป็นลาภของเราทั้งหลาย
    อาวุโส พวกเราได้ดีแล้วที่จักระลึกถึงท่านผู้มีอายุ ผู้เป็นสพรหมจารีเช่นท่าน ผู้เข้าถึงอรรถ
    ผู้เข้า ถึงพยัญชนะอย่างนี้ ดังนี้ ฯ
    [๑๑๓] ดูกรจุนทะ เราไม่แสดงธรรมเพื่อเป็นเครื่องปิดกั้นอาสวะทั้งหลายที่เป็นไป
    ในปัจจุบันแก่พวกเธออย่างเดียวเท่านั้น ดูกรจุนทะ อนึ่ง เราไม่ได้ แสดงธรรมเพื่อเป็นเครื่อง
    กำจัดอาสวะทั้งหลาย ที่เป็นไปในสัมปรายภพอย่างเดียวเท่านั้น ดูกรจุนทะ แต่เราแสดงธรรมเพื่อ
    เป็นเครื่องปิดกั้นอาสวะทั้งหลายที่เป็น ไปในปัจจุบันด้วย เพื่อเป็นเครื่องกำจัดอาสวะทั้งหลายที่
    เป็นไปในสัมปรายภพด้วย ดูกรจุนทะ เพราะฉะนั้นแล จีวรใดอันเราอนุญาตแล้วแก่พวกเธอ
    จีวรนั้นควรแก่พวกเธอ เพียงเพื่อเป็นเครื่องบำบัดหนาว บำบัดร้อน บำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ
    ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อเป็นเครื่องปกปิดอวัยวะอันยังความละอายให้กำเริบ
    บิณฑบาตใดอันเราอนุญาตแล้วแก่พวกเธอ บิณฑบาตนั้นควรแก่พวกเธอ เพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้
    แห่งกายนี้ เพื่อยังกายนี้ให้เป็นไปได้ เพื่อจะให้ความลำบากสงบ เพื่อจะอนุเคราะห์พรหมจรรย์
    ด้วยคิดว่า เราจักบรรเทาเวทนาแก่ จักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น ด้วยประการดังนี้ และความ
    เป็นไป แห่งชีวิต ความเป็นผู้ไม่มีโทษและความอยู่สำราญ จักมีแก่เรา เสนาสนะใด อันเราอนุญาต
    แล้วแก่พวกเธอ เสนาสนะนั้นควรแก่พวกเธอ เพียงเพื่อเป็นเครื่องบำบัดหนาว บำบัดร้อน
    บำบัดสัมผัสเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อเป็นเครื่องบรรเทาอันตราย
    อันเกิดแต่ฤดู เพื่อความยินดีในการหลีกออก เร้นอยู่ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารใดอันเราอนุญาต
    แล้วแก่พวกเธอ คิลานปัจจัย เภสัชบริขารนั้น ควรแก่พวกเธอ เพียงเพื่อเป็นเครื่องกำจัดเวทนา
    ทั้งหลายอันเกิด แต่อาพาธต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีความลำบากเป็นอย่างยิ่ง
    ดังนี้ ฯ
    [๑๑๔] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึง
    กล่าวอย่างนี้ว่า พวกสมณศากยบุตรเป็นผู้ขวนขวายในการประกอบตนให้ติดเนื่องในความ
    สุขอยู่ ดังนี้ ดูกรจุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้กล่าวอยู่อย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าว
    อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส การประกอบตนให้ติดเนื่อง ในความสุขนั้นเป็นไฉน เพราะว่า
    แม้การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขมี มากหลายอย่างต่างๆ ประการกัน ดูกรจุนทะ
    การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ อย่างเหล่านี้ เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน
    เป็นของปุถุชน มิใช่ของ พระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย
    เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
    เพื่อพระนิพพาน ๔ อย่างเป็นไฉน ดูกรจุนทะ คนพาลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์แล้ว ยังตน
    ให้ถึงความสุข ให้เอิบอิ่มอยู่ ข้อนี้ เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๑ ดูกรจุนทะ
    ข้ออื่นยังมีอีก คนพาลบางคนในโลกนี้ถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว ยังตนให้ถึงความสุข
    ให้เอิบอิ่มอยู่ ข้อนี้ เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๒ ดูกรจุนทะข้ออื่นยังมีอีก
    คนพาลบางคนในโลกนี้ กล่าวเท็จแล้ว ยังตนให้ถึงความสุขให้เอิบอิ่มอยู่ ข้อนี้เป็นการประกอบ
    ตนให้ ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๓ ดูกรจุนทะ ข้ออื่นยังมีอีก คนพาลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้
    เพรียบพร้อมพรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นการประกอบตน ให้ติดเนื่องในความ
    สุขข้อที่ ๔ ดูกรจุนทะ การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้ เป็น
    ของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน มิใช่ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็น
    ไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง
    เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน ฯ
    [๑๑๕] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึง
    กล่าวอย่างนี้ว่า พวกสมณศากยบุตรเป็นผู้ขวนขวายในการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔
    อย่างเหล่านี้อยู่ ดังนี้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น อันพวกเธอพึงกล่าวว่าพวกท่านอย่า
    กล่าวอย่างนี้เลย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อจะกล่าวโดยชอบพึงกล่าวกะพวกเธอ
    หามิได้ พวกปริพาชกอัญญ เดียรถีย์เหล่านั้นพึงกล่าวตู่พวกเธอด้วยสิ่งที่ไม่มีไม่เป็นจริงก็หามิได้
    ดูกรจุนทะ การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความ
    หน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
    เพื่อพระนิพพานโดยส่วนเดียว ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรจุนทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม
    สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้อนี้
    เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่อง ในความสุขข้อที่ ๑ ดูกรจุนทะ ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุบรรลุทุติยฌาน
    มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
    มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ ข้อนี้เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ข้อที่ ๒ ดูกร
    จุนทะ ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยกายเพราะปีติสิ้นไป
    บรรลุตติยฌานที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่
    ข้อนี้เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่อง ในความสุข ข้อที่ ๓ ดูกรจุนทะ ก็ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุบรรลุ
    จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขา
    เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ข้อนี้เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๔ ดูกรจุนทะ
    การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย
    เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
    เพื่อพระนิพพานโดยส่วนเดียว ดูกรจุนทะ ก็ฐานะนี้แลย่อมมีได้ คือการที่พวกปริพาชกอัญญ
    เดียรถีย์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกสมณ ศากยบุตรเป็นผู้ขวนขวาย ในการประกอบตนให้ติดเนื่อง
    ในความสุข ๔ ประการ เหล่านี้แล ดังนี้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อจะกล่าว
    กะพวกเธอ พึงกล่าวได้โดยชอบ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น พึงกล่าวตู่พวกเธอ
    ด้วยสิ่งไม่มีจริงไม่เป็นจริง หามิได้ ฯ
    [๑๑๖] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์พึง
    กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ก็เมื่อพวกท่านประกอบตนให้ติดเนื่อง ในความสุข ๔ ประการ
    เหล่านี้อยู่ ผลกี่ประการ อานิสงส์กี่ประการ อันท่านทั้งหลายพึงหวังได้ ดูกรจุนทะ พวก
    ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เมื่อพวกเรา
    ประกอบตนให้ติดเนื่องในควาสุข ๔ ประการเหล่านี้แลอยู่ ผล ๔ ประการ อานิสงส์ ๔ ประการ
    อันพวกเราพึง หวังได้ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรอาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้จะเป็นพระโสดาบัน
    มีอันไม่ต้องตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในภายหน้าเพราะสังโยชน์สามสิ้นไป
    ข้อนี้เป็นผลประการที่ ๑ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุจะเป็น
    พระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะสังโยชน์สามสิ้นไป
    และเพราะความที่ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางข้อนี้เป็นผลประการที่ ๒ เป็นอานิสงส์ประการ
    ที่ ๒ ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุจะเป็นอุปปาติกะ [เป็นพระอนาคามี] ผู้จะปรินิพพาน
    ในภพนั้น เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ทั้ง ๕ สิ้นไป
    ข้อนี้เป็นผลประการที่ ๓ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุทำให้แจ้งซึ่ง
    เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง
    ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็นผลประการที่ ๔ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ ดูกรอาวุโส เมื่อ
    พวกเราเป็นผู้ประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้แลอยู่ ผล ๔ ประการ
    อานิสงส์ ๔ ประการเหล่านี้ อันพวกเราพึงหวังได้ ดังนี้ ฯ
    [๑๑๗] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์พึง
    กล่าวอย่างนี้ว่า พวกสมณศากยบุตรเป็นผู้มีธรรมไม่ตั้งมั่นแล้วอยู่ ดังนี้ ดูกรจุนทะ พวกปริพา
    ชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า มีอยู่แลอาวุโส ธรรมทั้งหลาย
    อันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ทรงบัญ
    ญัติแล้ว แก่สาวกทั้งหลาย เป็นธรรมอันพวกสาวกไม่ควรก้าวล่วงตลอดชีวิต ดูกรอาวุโส เสาเขื่อน
    หรือเสาเหล็กมีรากอันลึก อันบุคคลปักไว้ดีแล้วเป็นของไม่หวั่นไหว ไม่สะเทื้อน แม้ฉันใด
    ดูกรอาวุโส ธรรมทั้งหลายอันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ ทรงเห็น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ทรงแสดงแล้ว ทรงบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เป็นธรรมอันพวกสาวกไม่ควรก้าวล่วงตลอดชีวิต
    ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูกรอาวุโสภิกษุนั้นใด เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
    มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงที่แล้วโดยลำดับ มีสังโยชน์
    ในภพหมดสิ้นแล้ว เป็นผู้พ้นพิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อประพฤติล่วง
    ฐานะ ๙ ประการ ดูกรอาวุโส ภิกษุผู้เป็นขีณาสพเป็นผู้ ไม่ควรเพื่อจงใจปลงสัตว์จากชีวิต
    เป็นผู้ไม่ควรเพื่อถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนขโมย เป็นผู้ไม่ควรเพื่ออันเสพ
    เมถุนธรรม เป็นผู้ไม่ควรเพื่ออันกล่าวคำเท็จทั้งรู้ เป็นผู้ไม่ควรเพื่ออันบริโภคกามที่ทำความสั่งสม
    เหมือนอย่างที่ตนเป็นผู้ครองเรือนในกาลก่อน เป็นผู้ไม่ควรเพื่ออันถึงฉันทาคติ เป็นผู้ไม่ควร
    เพื่ออันถึงโทสาคติ เป็นผู้ไม่ควรเพื่ออันถึงโมหาคติ เป็นผู้ไม่ควรเพื่ออันถึงภยาคติ ดูกรอาวุโส
    ภิกษุนั้นใด เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจ ที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
    ปลงภาระได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้วโดยลำดับ มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว เป็นผู้
    พ้นพิเศษแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นเป็นผู้อันไม่ควรแท้เพื่อประพฤติล่วงฐานะ ๙ ประการ
    เหล่านี้ ฯ
    [๑๑๘] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึง
    กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถกาลนานที่เป็นอดีต บัญญัติญาณทัสนะอันไม่มีฝั่ง แต่หา
    ได้ปรารภกาลนานที่เป็นอนาคต บัญญัติญาณทัสนะที่ไม่มีฝั่งไม่ การที่ทรงบัญญัติเช่นนั้น เป็น
    เพราะเหตุไร การที่ทรงบัญญัติเช่นนั้น เป็นอย่างไรเล่า พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น
    ย่อมสำคัญสิ่งที่พึงบัญญัติอันไม่ใช่ญาณทัสนะ ซึ่งเป็นอย่างอื่น ด้วยญาณทัสนะซึ่งเป็นอย่างอื่น
    เหมือนคนพาลทั้งหลายผู้ไม่เชี่ยวชาญฉะนั้น ดูกรจุนทะ สตานุสาริญาณปรารภกาลนานที่เป็น
    อดีตแล ย่อมมีแก่ตถาคต ตถาคตนั้นย่อมระลึกได้ตลอดกาลมีประมาณเท่าที่ตน จำนงและญาณ
    อันเกิดแต่ความตรัสรู้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ตถาคต เพราะปรารภกาลนาน ที่เป็นอนาคตว่า ชาตินี้เป็น
    ชาติมีในที่สุด บัดนี้ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้ ฯ
    [๑๑๙] ดูกรจุนทะ แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอดีต ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบ
    ด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์สิ่งนั้น ดูกรจุนทะ แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอดีต เป็นของจริง
    เป็นของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์ แม้สิ่งนั้น ดูกรจุนทะ แม้หาก
    ว่าสิ่งที่เป็นอดีต เป็นของจริง เป็นของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้กาล
    ในสิ่งนั้น เพื่อพยากรณ์ปัญหานั้น ดูกรจุนทะ แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอนาคตไม่เป็นจริง ไม่แท้
    ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์สิ่งนั้น ดูกรจุนทะ แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอนาคต
    เป็นของจริง เป็นของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์แม้สิ่งนั้น
    ดูกรจุนทะ แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอนาคต เป็นของจริง เป็นของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์
    ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้กาลในสิ่งนั้น เพื่อพยากรณ์ปัญหานั้น ดูกรจุนทะ แม้หากว่าสิ่งที่เป็นปัจจุบัน
    ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตย่อมไม่พยากรณ์สิ่งนั้น ดูกรจุนทะ แม้
    หากว่าสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เป็นของจริง เป็นของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่
    พยากรณ์แม้สิ่งนั้น ดูกรจุนทะ แม้หากว่า สิ่งที่เป็นปัจจุบัน เป็นของจริง เป็นของแท้ ประกอบ
    ด้วยประโยชน์ ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้กาลในสิ่งนั้น เพื่อพยากรณ์ปัญหานั้น ด้วยเหตุดังนี้แล
    จุนทะ ตถาคต เป็นกาลวาที เป็นสัจจวาที เป็นภูตวาที เป็นอัตถวาที เป็นธรรมวาที เป็นวินัย
    วาที ในธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ชาวโลก จึงเรียกว่า
    ตถาคโตด้วยประการดังนี้แล ฯ
    [๑๒๐] ดูกรจุนทะ ก็สิ่งใดแล อันโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก อัน
    หมู่สัตว์พร้อมสมณพราหมณ์ เทพดามนุษย์ เห็นแล้ว ฟังแล้ว ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว บรรลุแล้ว
    แสวงหาแล้ว ตรองตามแล้วด้วยใจ สิ่งนั้น ตถาคตได้ตรัสรู้ยิ่งแล้วโดยชอบ เพราะฉะนั้น
    ชาวโลกจึงเรียกว่า ตถาคโต ดูกรจุนทะ ตถาคตย่อมตรัสรู้อนุตรสัมโพธิญาณ ในราตรีใดก็ดี
    ย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในราตรีใดก็ดี ตถาคตย่อมกล่าว ย่อมร้องเรียก ย่อมแสดง
    ซึ่งสิ่งใดในระหว่างนี้ สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมเป็นอย่างนั้นทีเดียว ย่อมไม่เป็นโดยประการอื่น เพราะฉะนั้น
    ชาวโลกจึงเรียกว่า ตถาคโต ดูกรจุนทะ ตถาคตเป็นผู้กล่าว อย่างใดทำอย่างนั้น เป็นผู้ทำอย่าง
    ใดกล่าวอย่างนั้น ด้วยเหตุดังนี้ ตถาคตชื่อว่า เป็นผู้กล่าวอย่างใดทำอย่างนั้น หรือเป็นผู้ทำอย่างใด
    กล่าวอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ตถาคโต ตถาคตเป็นผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ไม่มีผู้เป็น
    ใหญ่ยิ่งกว่า เป็นผู้เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
    ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ เพราะเหตุนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่าตถาคโต ดังนี้ ฯ
     
  3. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [๑๒๑] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญ เดียรถีย์พึง
    กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมี สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า
    หรือหนอแล ดังนี้ ดูกรจุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ผู้มีวาทะอย่างนี้แล อันพวกเธอพึง
    กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคมิได้ ทรงพยากรณ์ไว้ว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ
    สัตว์ย่อมมี สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริ
    พาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าว อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ก็เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมไม่มี สิ่งนี้
    แหละจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ดังนี้ ดูกรจุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้
    อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส แม้ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า
    เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมไม่มี สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะ
    มีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าว อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ก็เบื้องหน้าแต่มรณะ
    สัตว์ย่อมมีด้วย ย่อมไม่มีด้วย สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ดังนี้ ดูกรจุนทะ พวกปริพา
    ชกอัญญเดียรถีย์ ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส แม้ข้อนี้พระผู้มี
    พระภาค ก็มิได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมีด้วย ย่อมไม่มีด้วย สิ่งนี้
    แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์
    พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ก็เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมีหามิได้ ย่อมไม่มีก็หาไม่
    สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ดังนี้ ดูกรจุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้
    อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส แม้ข้อนี้พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า เบื้อง
    หน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมีก็หามิได้ ย่อมไม่มีก็หาไม่ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ฯ
    [๑๒๒] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึง
    กล่าวอย่างนี้น่า ดูกรอาวุโส ก็เพราะเหตุไร ข้อนี้พระสมณโคดม จึงไม่ได้ทรงพยากรณ์ไว้เล่า
    ดูกรจุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส
    เพราะว่าข้อนี้ไม่ประกอบด้วยอรรถไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็น
    ไปเพื่อความหน่ายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง
    เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน ฉะนั้น ข้อนั้นพระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงพยากรณ์ไว้ ดูกรจุนทะ
    ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าว พระสมณโคดม
    ทรงพยากรณ์ไว้อย่างไรเล่า ดูกรจุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสผู้มีวาทะ
    อย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ว่า นี้ทุกข์ ดูกรอาวุโส
    พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ว่า นี้ทุกขสมุทัย ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ว่า นี้ทุกข
    นิโรธ ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้แล ฯ
    ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ พึงกล่าวอย่าง
    นี้ว่า ดูกรอาวุโส ก็เพราะเหตุไร ข้อนี้พระสมณโคดมจึงได้ทรงพยากรณ์ไว้เล่า ดูกรจุนทะ
    พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เพราะว่า
    ข้อนี้เป็นสิ่งที่ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม ข้อนี้เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ย่อม
    เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง
    เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพานโดยส่วนเดียว ฉะนั้นข้อนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรง
    พยากรณ์ไว้ดังนี้ ฯ
    [๑๒๓] ดูกรจุนทะ ทิฐินิสัยแม้เหล่าใด อันประกอบด้วยส่วนเบื้องต้น ทิฐินิสัย
    แม้เหล่านั้นแล เราได้พยากรณ์ไว้แล้ว ทิฐินิสัยเหล่านั้น เราพึงพยากรณ์ ด้วยประการใด และ
    เราไม่พึงพยากรณ์ด้วยประการใด ไฉนเราจักพยากรณ์ทิฐิ นิสัยเหล่านั้นกะพวกอัญญเดียรถีย์
    เหล่านั้นในข้อนั้นเล่า ดูกรจุนทะ ทิฐินิสัยแม้เหล่าใด อันประกอบด้วยส่วนเบื้องปลาย
    ทิฐินิสัยแม้เหล่านั้น เราได้พยากรณ์แล้วกะพวกเธอ ทิฐินิสัยเหล่านั้น เราพึงพยากรณ์ด้วย
    ประการใด และเราไม่พึง พยากรณ์ด้วยประการใด ไฉนเราจักไม่พยากรณ์ทิฐินิสัยเหล่านั้น
    กะพวกเธอ ในข้อนั้นเล่า ดูกรจุนทะ ทิฐินิสัยทั้งหลายอันประกอบด้วยส่วนเบื้องต้น ที่เราได้
    พยากรณ์กะพวกเธอ โดยประการที่เราพึงพยากรณ์ และโดยประการที่เราไม่พึง พยากรณ์เป็นไฉน
    ดูกรจุนทะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้มีทิฐิอย่างนี้ว่า อัตตาและโลก
    ไม่เที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ... อัตตาและโลกเที่ยงด้วยไม่เที่ยงด้วย ... ... อัตตาและโลก
    เที่ยงก็หามิได้ไม่เที่ยงก็หามิได้ ….อัตตาและโลก สัตว์ทำได้เอง ... ... อัตตาและโลกผู้อื่นทำให้ ... ...
    อัตตาและโลก สัตว์ ทำได้เองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ... ... อัตตาและโลก สัตว์มิได้ทำเอง และ
    ผู้อื่นมิได้ทำ เกิดขึ้นลอยๆ ... ... สุขและทุกข์เที่ยง ... ... สุขและทุกข์ไม่เที่ยง ... ... สุขและทุกข์
    เที่ยงด้วยไม่เที่ยงด้วย ... ... สุขและทุกข์เที่ยงก็หามิได้ ไม่เที่ยงก็หามิได้ ... ... สุขและทุกข์ สัตว์
    ทำได้เอง ... ... สุขและทุกข์ ผู้อื่นทำให้ ... ... สุขและทุกข์ สัตว์ทำได้เองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย สุข
    และทุกข์สัตว์มิได้ทำเองด้วย ผู้อื่นมิได้ทำให้ด้วย เกิดขึ้นลอยๆ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้ ฯ
    [๑๒๔] ดูกรจุนทะ ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะอย่างนี้
    ผู้มีทิฐิอย่างนี้ว่า อัตตาและโลกเที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ เราเข้าไปหา
    สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส มีอยู่หรือหนอแล คำนี้อันท่านทั้งหลาย
    กล่าวว่า อัตตาและโลกเที่ยงดังนี้ และสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำใดอย่างนี้ว่า สิ่งนี้
    แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ เราย่อมไม่คล้อยตามคำนั้นของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้อนั้น
    เพราะเหตุไร ดูกรจุนทะ เพราะว่า ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สัตว์จำพวกหนึ่งแม้เป็นผู้มี
    สัญญาเป็นอย่างอื่นมีอยู่ ดูกรจุนทะ ด้วยบัญญัติแม้นี้แล เราไม่พิจารณาเห็นผู้สม่ำเสมอตนเลย
    ผู้ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งในบัญญัติที่เป็น อธิบัญญัตินี้โดยแท้แล ฯ
    [๑๒๕] ดูกรจุนทะ ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีวาทะ
    อย่างนี้ เป็นผู้มีทิฐิอย่างนี้ว่า อัตตาและโลกไม่เที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ... ... อัตตา
    และโลกเที่ยงด้วย ไม่เที่ยงด้วย ... ... อัตตาและโลกเที่ยงก็หามิได้ไม่เที่ยงก็หามิได้ ... ... อัตตาและ
    โลก อันสัตว์ทำได้เอง ... ... อัตตาและโลก ผู้อื่นทำให้ ... ... อัตตาและโลกสัตว์ทำได้เองด้วยผู้อื่นทำ
    ให้ด้วย ... ... อัตตาและโลก สัตว์มิได้ทำเอง และผู้อื่นมิได้ทำให้เกิดขึ้นลอยๆ ... ... สุขและทุกข์เที่ยง
    ... ... สุขและทุกข์ไม่เที่ยง ... ... สุขและทุกข์เที่ยงด้วยไม่เที่ยงด้วย ... ... สุขและทุกข์เที่ยงก็ หามิได้
    ไม่เที่ยงก็หามิได้ ... ... สุขและทุกข์ สัตว์ทำได้เอง ... ... สุขและทุกข์ผู้อื่นทำให้ ... ... สุขและทุกข์สัตว์
    ทำได้เองด้วย ให้ผู้อื่นทำให้ด้วย ... ... สุขและทุกข์สัตว์มิได้ทำเองด้วย ผู้อื่นมิได้ทำให้ด้วย เกิด
    ขึ้นลอยๆ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว กล่าวอย่างนี้
    ว่า มีอยู่หรือหนอแล คำนี้อันท่านทั้งหลายกล่าวว่า สุขและทุกข์ สัตว์มิได้ทำเองด้วย ผู้อื่นมิ
    ได้ทำให้ด้วย เกิดขึ้นลอยๆ และสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำใดแลอย่างนี้ว่า สิ่งนี้ แหละ
    จริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ เราย่อมไม่คล้อยตามคำนั้น ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะ
    เหตุไร ดูกรจุนทะ เพราะว่าในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สัตว์จำพวกหนึ่ง แม้เป็นผู้มีสัญญา
    เป็นอย่างอื่นมีอยู่ ดูกรจุนทะ ด้วยบัญญัติแม้นี้แล เราไม่พิจารณาเห็นผู้สม่ำเสมอตนเลย ผู้ยิ่ง
    กว่าจักมีแต่ที่ไหน เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งในบัญญัติที่เป็นอธิบัญญัติโดยแท้แล ฯ
    ดูกรจุนทะ ทิฐินิสัยอันประกอบด้วยส่วนเบื้องต้นเหล่านี้แล ที่เราได้ พยากรณ์กะพวก
    เธอ โดยประการที่เราพึงพยากรณ์ และโดยประการที่เราไม่พึงพยากรณ์ ไฉนเราจักพยากรณ์
    ทิฐินิสัยเหล่านั้นกะพวกเธอ ในข้อนั้นเล่า ฯ
    [๑๒๖] ดูกรจุนทะ ทิฐินิสัยทั้งหลายอันประกอบด้วยส่วนเบื้องปลาย ที่เราได้พยากรณ์
    กะพวกเธอ โดยประการที่เราพยากรณ์แล้ว และโดยประการที่เราไม่พึงพยากรณ์ เป็นไฉน
    ดูกรจุนทะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้มีทิฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ
    อัตตามีรูป หาโรคมิได้ สิ่งนี้ แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ดูกรจุนทะ มีสมณพราหมณ์พวก
    หนึ่ง ผู้มีวาทะ อย่างนี้ ผู้มีทิฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ อัตตาไม่มีรูป ... ... อัตตามีรูปด้วย
    ไม่มีรูปด้วย ... ... อัตตามีรูปก็หามิได้ ไม่มีรูปก็หามิได้ ... ... อัตตามีสัญญา ... ... อัตตาไม่มีสัญญา
    ... ... อัตตามีสัญญาด้วยไม่มีสัญญาด้วย ... ... อัตตามีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ ... ... อัตตา
    ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มี สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ดูกรจุนทะ ในสมณ
    พราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีวาทะอย่างนี้ เป็นผู้มีทิฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้า
    แต่มรณะ อัตตามีรูป หาโรคมิได้ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ เราเข้าไปหา สมณ
    พราหมณ์เหล่านั้นแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส มีอยู่หรือหนอแล คำนี้อันท่านทั้งหลาย
    กล่าวว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ อัตตามีรูป หาโรคมิได้ และสมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวคำใด
    แล อย่างนี้ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้ เราย่อมไม่คล้อยตามคำนั้น ของสมณพราหมณ์
    เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรจุนทะ เพราะว่า ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สัตว์พวก
    หนึ่งแม้เป็น ผู้มีสัญญาเป็นอย่างอื่นมีอยู่ ดูกรจุนทะ ด้วยบัญญัติแม้นี้แล เราไม่พิจารณาเห็น
    ผู้สม่ำเสมอตนเลย ผู้ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งในบัญญัติที่เป็นอธิบัญญัตินี้
    โดยแท้แล ฯ
    [๑๒๗] ดูกรจุนทะ ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีวาทะ
    อย่างนี้ เป็นผู้มีทิฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ อัตตาไม่มีรูป ... อัตตามีรูปด้วย ไม่มีรูป
    ด้วย ... อัตตามีรูปก็หามิได้ ไม่มีรูปก็หามิได้ ... อัตตามีสัญญา ... อัตตามีสัญญาด้วย ไม่มีสัญญา
    ด้วย ... อัตตามีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ ... เบื้องหน้าแต่มรณะ อัตตาย่อมขาดสูญ
    ย่อมพินาศ ย่อมไม่มี สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว
    กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส มีอยู่หรือหนอแล คำนี้อันท่านทั้งหลายกล่าวว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ
    ตนย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มี และสมณพราหมณ์ เหล่านั้นกล่าวคำใดแลอย่างนี้ว่า
    สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ เราไม่คล้อยตามคำนั้นของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้อนั้น
    เป็นเพราะเหตุไร ดูกรจุนทะ เพราะว่า ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สัตว์พวกหนึ่งแม้เป็นผู้มี
    สัญญาเป็นอย่างอื่นมีอยู่ ดูกรจุนทะ ด้วยบัญญัติแม้นี้แล เราไม่พิจารณาเห็นผู้สม่ำเสมอตนเลย
    ผู้ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งในบัญญัติที่เป็นอธิบัญญัตินี้ โดยแท้แล ดูกรจุนทะ
    ทิฐินิสัยอันประกอบด้วยส่วนเบื้องปลายเหล่านี้แล ที่เราได้พยากรณ์กะพวกเธอ โดยประการ
    ที่เราพึงพยากรณ์ และโดยประการที่เราไม่พึงพยากรณ์ เพราะฉะนั้น ไฉนเราจักพยากรณ์ทิฐิ
    นิสัยเหล่านั้นกะพวกเธอในข้อนั้นเล่า ฯ
    [๑๒๘] ดูกรจุนทะ สติปัฏฐาน ๔ ประการ อันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วอย่างนี้
    เพื่อละ เพื่อก้าวล่วงซึ่งทิฐินิสัย อันประกอบด้วยส่วนเบื้องต้นเหล่านี้ด้วย ซึ่งทิฐินิสัยอัน
    ประกอบด้วยส่วนเบื้องปลาย เหล่านี้ด้วย ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรจุนทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
    ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด
    อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเนืองๆ อยู่
    มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ย่อมพิจารณาเห็น
    จิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก
    เสียได้ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
    พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ดูกรจุนทะ สติปัฏฐาน ๔ ประการเหล่านี้ อันเรา
    แสดงแล้ว บัญญัติแล้วอย่างนี้เพื่อละ เพื่อก้าวล่วงซึ่งทิฐินิสัยอันประกอบด้วยส่วนเบื้องต้น
    เหล่านี้ด้วย ซึ่งทิฐินิสัยอันประกอบด้วยส่วนเบื้องปลายเหล่านี้ด้วย ดังนี้แล ฯ
    [๑๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พระอุปทานะผู้มีอายุ ยืนถวายอยู่งานพัด พระผู้มีพระภาค ณ
    เบื้องพระปฤษฎางค์ ครั้งนั้นแล พระอุปทานะผู้มีอายุ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า น่า
    อัศจรรย์พระเจ้าข้า ไม่เคยมีแล้ว พระเจ้าข้า ธรรมปริยายนี้ น่าเลื่อมใสนัก พระเจ้าข้า ธรรม
    ปริยายนี้ น่าเลื่อมใสดีนัก พระเจ้าข้า ธรรมปริยายนี้มีนามว่ากระไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค
    จึงตรัสว่า ดูกรอุปทานะ เพราะฉะนั้นแล เธอจงทรงจำธรรมปริยายนี้ไว้เถิดว่า "ปาสาทิกะ"
    ดังนี้เทียว ฯ
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว พระอุปทานะผู้มีอายุ ยินดี ชื่นชมพระภาษิต
    ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดังนี้แล ฯ
    จบ ปาสาทิกสูตร ที่ ๖

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๙๑/๒๘๘
     

แชร์หน้านี้

Loading...