ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาฯ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 1 พฤศจิกายน 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ปัญญาสูตร
    [๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้
    ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์
    แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดา
    หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความ
    เกรงกลัว ความรักและความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย
    ข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
    เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่
    เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว
    เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความ
    แห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้
    ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่ง
    ปัญญาที่ได้แล้ว ฯ
    เธอฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบจิต
    ให้ถึงพร้อม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ
    เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ
    เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรมีปรกติเห็นภัย
    ในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุ
    เป็นปัจจัยข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯเพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ
    เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมากทรงจำไว้ คล่องปาก
    ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามใน
    ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ
    เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ
    เธอย่อมปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้
    มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย
    ข้อที่ ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ
    อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดง
    ธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ
    เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ
    อนึ่ง เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปเป็นดังนี้
    ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ...
    สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่ง
    วิญญาณเป็นดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอัน
    เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงาม ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์
    แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้
    อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไป
    ตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้าท่านผู้มีอายุผู้นี้
    ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ความเคารพ
    ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ
    อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ อาศัยพระ
    ศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย
    ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้าท่านได้เข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถาม
    เป็นครั้งคราวว่า ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร
    ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ทำให้แจ้ง และย่อมบรรเทา
    ความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการ แก่ภิกษุนั้น ท่านผู้มีอายุผู้นี้
    ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ...
    เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ
    อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ได้ฟังธรรมแล้ว
    ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบจิตให้ถึงพร้อม ท่านผู้มีอายุผู้นี้
    ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นไปเพื่อความรัก ...
    เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ
    อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นผู้มีศีล ...
    สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น
    เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ
    อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นพหูสูต ...
    แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ท่านผู้มีอายุนี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้
    แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ
    อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ปรารภ
    ความเพียร ... ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้
    ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ...
    เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ
    อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้เข้าประชุมสงฆ์ ...
    ไม่ดูหมิ่นความนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น
    เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ...เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ
    อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมพิจารณา
    เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ... ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
    ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็ย่อมเป็นไป
    เพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญเพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม
    เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
    ดูกรภิกษุทั้งหลายเหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นไป เพื่อได้ปัญญา
    อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงาม ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์
    แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ
    จบสูตรที่ ๒

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาบาลี) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๑๕๑/๔๘๗
     

แชร์หน้านี้

Loading...