"ญาณ ๑๖" ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นพระอริยะบุคคลระดับ "พระโสดาบัน"

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 8 สิงหาคม 2007.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    สำหรับผู้ที่เจริญสติในแบบ " สติปัฏฐาน ๔" นั้น เมื่อจิตตั้งมั่นแก่กล้าดีแล้ว จะเกิด "ญาณ ๑๖" ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นพระอริยะบุคคลระดับ "พระโสดาบัน" นั่นเอง

    *หมายเหตุ การที่จะได้มาซึ่ง "ญาณ ๑๖" นั้น จะต้องได้มาในขณะเจริญสติในแบบ "สติปัฏฐาน ๔" เท่านั้น ไม่ใช่มานั่งอ่านนั่งท่องเอา แล้วมาสำคัญตนเองผิดคิดว่าตนเองเป็น "พระโสดาบัน" นะครับ*

    *สติปัฏฐาน ๔ คือการกำหนดสติให้อยู่ที่ "กาย-เวทนา-จิต-ธรรม" ทุกขณะจิต

    ๑) "กาย" เรียกว่า "กายานุปัสนา" กำหนดสติให้อยู่ที่
    - ลมหายใจเข้าออก
    - อิริยาบท (ยืน-เดิน-นั่ง-นอน)
    - สัมปชัญญะ (อิริยาบทย่อย)
    - ปฏิกูล (ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง)
    - ธาตุ ๔ (ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ)
    - สิ่งที่มากระทบกายเช่น (เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว)
    ๒) "เวทนา" เรียกว่า "เวทนานุปัสนา" กำหนดสติให้อยู่ที่ ขณะนั้นจิตเสวยอารมณ์แบบใด "อารมณ์สุข-อารมณ์ทุกข์-อารมณ์เฉย"
    ๓) "จิต" เรียกว่า "จิตตานุปัสนา" กำหนดสติให้อยู่ที่ ขณะนั้นจิตเสวยอารมณ์แบบใด "อารมณ์โลภ-อารมณ์โกรธ-อารมณ์หลง-อารมณ์เฉย"
    ๔) "ธรรม" เรียกว่า "ธรรมมานุปัสนา" กำหนดสติให้อยู่ที่ สิ่งที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นแบบใด "รูปธรรม-นามธรรม"

    หมายเหตุ = การกำหนดสติแบบ "สติปัฏฐาน ๔" นั้น ไม่จำเป็นจะต้องกำหนดทั้ง "กาย-เวทนา-จิต-ธรรม" ทั้งหมด แต่ให้เราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราถนัด ที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุดคือ กำหนดสติให้อยู่ที่ "ลมหายใจเข้าออก" ทุกขณะจิต

    *วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ เห็นประจักษ์แจ้งซึ่ง ไตรลักษณ์ แห่งรูปนาม

    เมื่อเจริญสติในแบบ "สติปัฏฐาน ๔" นั้น จนจิตตั้งมั่นแก่กล้าดีแล้ว จะเกิด "ญาณ ๑๖" เกิดขึ้นตามลำดับ อย่างน่าอัศจรรย์

    "ญาณ ๑๖" หรือ "โสฬสญาณ"

    ญาณ ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นรูปเห็นนามว่าเป็นคนละสิ่งคนละส่วน ซึ่งไม่ได้ระคนปนกันจนแยกกันไม่ได้
    - การรู้จักจำแนกรูปและนาม อันเป็นสิ่งที่ถูกรู้หรือเป็นอารมณ์เครื่องระลึกของสติออกจากจิตผู้รู้

    ญาณ ๒. ปัจจยปริคคหญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นถึงปัจจัยที่ให้เกิดรูป เกิดนาม คือ รูปเกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร ส่วนนามเกิดจาก อารมณ์ วัตถุ มนสิการ
    - รู้ว่ารูปหรือนามปรากฏเป็นคราวๆ เมื่อจิตไปรู้มันเข้า

    ญาณ ๓. สัมมสนญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ คือ ความเกิดดับของรูปนาม แต่ที่รู้ว่ารูปนามดับไปก็เพราะ เห็นรูปนามใหม่เกิดสืบต่อแทนขึ้นมาแล้ว เห็นอย่างนี้เรียกว่า สันตติยังไม่ขาดและยังอาศัยจินตามยปัญญาอยู่ อีกนัยหนึ่งว่า สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์
    - รู้ว่ารูปนามทั้งปวงนั้นปรากฏเป็นคราวๆ เมื่อถูกรู้ และรูปนามทั้งปวงนั้นล้วนหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์

    ญาณ ๔. อุทยัพพยญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจน โดยสันตติขาด คือ เห็นรูปนามดับไปในทันทีที่ดับ และเห็นรูปนามเกิดขึ้นในขณะที่เกิด หมายความว่า เห็นทันทั้งในขณะที่เกิดและขณะที่ดับ อุทยัพพยญาณนี้ยังจำแนกได้เป็น ๒ คือ ตรุณอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่ยังอ่อนอยู่ และพลวอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่แก่กล้าแล้ว
    - รู้ว่ารูปนาม และปฏิกิริยาของจิตต่อรูปนามที่จิตไปรู้เข้า ล้วนแต่เกิดดับต่อเนื่องกันไป

    ญาณ ๕. ภังคญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นความดับแต่อย่างเดียว เพราะความดับของรูปนามเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นกว่าความเกิด
    - ต่อมาพอจิตมีปฏิกิริยาใดๆ ต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ถ้าสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ปฏิกิริยานั้นจะดับไปทันที

    ญาณ ๖. ภยญาณ บ้างก็เรียกว่า ภยตูปัฏฐานญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นภัย เป็นที่น่ากลัว เหมือนคนกลัวสัตว์ร้าย เช่น เสือ เป็นต้น
    - ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า ภพชาติทั้งปวง อันหมายถึงการที่จิตเข้าไปอิงอาศัยอารมณ์ต่างๆ นั้น เป็นของไม่ปลอดภัย เนื่องจากอารมณ์ทั้งปวงล้วนแต่เกิดดับ

    ญาณ ๗. อาทีนวญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นโทษ เหมือนผู้ที่เห็นไฟกำลังไหม้เรือนตนอยู่ จึงคิดหนีจากเรือนนั้น
    - ในระหว่างที่อิงอาศัยอารมณ์นั้น จิตไม่ได้มีความสุขจริง เพราะภพชาติทั้งปวงล้วนแต่มีทุกข์มีโทษในตัวของมันเอง

    ญาณ ๘. นิพพิทาญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า เกิดเบื่อหน่ายในรูปนาม เบื่อหน่ายในปัญจขันธ์
    - จิตคลายความเพลิดเพลินพึงพอใจในภพชาติต่างๆ

    ญาณ ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าใคร่จะหนีจากรูปนาม ใคร่จะพ้นจากปัญจขันธ์ เปรียบดังปลาเป็น ๆ ที่ใคร่จะพ้นจากที่ดอนที่แห้ง
    - จิตพยายามดิ้นรนแสวงหาทางออกจากภพ หรือการตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ต่างๆ

    ญาณ ๑๐. ปฏิสังขาญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นเพื่อหาทางที่จะหนี หาอุบายที่จะเปลื้องตนให้พ้นจากปัญจขันธ์
    - จิตพบว่าหนีจากอารมณ์หรือภพไม่ได้ เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา จึงจำเป็นต้องอยู่กับมัน

    ญาณ ๑๑. สังขารุเบกขาญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า จะหนีไม่พ้นจึงเฉยอยู่ไม่ยินดียินร้าย ดุจบุรุษอันเพิกเฉยในภริยาที่ทิ้งขว้างหย่าร้างกันแล้ว
    - จิตเป็นกลางต่ออารมณ์ เพราะเห็นแล้วว่ามันเป็นของเกิดดับ และหนีมันไม่ได้ ยิ่งพยายามไปปฏิเสธมัน ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น จิตจึงไม่ปฏิเสธอารมณ์ เป็นกลางต่ออารมณ์

    ญาณ ๑๒. อนุโลมญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นให้คล้อยไปตามอริยสัจจญาณนี้เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ ก็ได้
    - จิตปล่อยวางอะไรจะเกิดมันก็เกิด ไม่ได้ปรารถนาแม้กระทั่งมรรคผลนิพพาน

    ญาณ ๑๓. โคตรภูญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเป็นโคตรอริยชน
    - เมื่อจิตหมดความอยาก (ไม่มีตัณหา - พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละตัณหาอันเป็นตัวสมุทัย แล้วนิโรธจะปรากฏเอง) จิตก็ปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวง ถอยเข้าหาจิตผู้รู้อย่างอัตโนมัติ

    ญาณ ๑๔. มัคคญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน และตัดขาดจากกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร
    - สติ สมาธิ ปัญญา และธรรมฝ่ายการตรัสรู้ทั้งปวง รวมลงที่จิตดวงเดียวเป็นมรรคสมังคี กำลังของมรรคแหวกมโนวิญญาณซึ่งห่อหุ้มปิดบังธรรมชาติอันบริสุทธิ์ออก

    ญาณ ๑๕. ผลญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพานโดยเสวยผลแห่งสันติสุข
    - ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ปรากฏตัวขึ้น เป็นความว่าง สว่าง บริสุทธิ์ จิตหมดความปรุงแต่ง หมดการแสวงหา หมดกิริยาของจิต แต่ไม่ใช่หมดความรู้สึกอันเป็นการขาดสติสิ้นเชิง

    ญาณ ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ
    - ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นใน มัคคจิต,ผลจิต,นิพพาน, กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังคงเหลืออยู่ ตั้งแต่ญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ จนถึงญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ รวม ๑๐ ญาณ นี้เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เพราะสัมมสนญาณนั้น เริ่มเห็นไตรลักษณ์แล้วบางแห่งก็จัดว่า วิปัสสนาญาณ มีเพียง ๙ คือ นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ จนถึงญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ เพราะอุทยัพพยญาณเป็นญาณแรกที่รู้เห็นไตรลักษณ์ ด้วยปัญญาชนิดที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัย จินตามยปัญญาเข้ามาช่วย
    - ต่อมาสัญญาเกิดขึ้น จิตจะรู้ว่า เมื่อครู่นั้นเกิดอะไรขึ้น รู้จักพระรัตนตรัยที่แท้จริง รู้แล้วว่าทางปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นอย่างไร รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นแล้วต้องดับไปทั้งสิ้น เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อยังอยู่กับโลกก็ต้องอยู่อย่างสร้างเหตุดี เพื่อเอาผลของกรรมดีเป็นที่อาศัยอันสบาย

    *ตลอดสายของโสฬสญาณ ไม่มีเรื่องของนิมิตแปลกปลอมใดๆ เลย แต่ผู้ใดเจริญสติและสัมปชัญญะไม่ถูกต้อง หลงทำสมถะอยู่แล้วคิดว่าเป็นวิปัสสนา จะหลงไปเอานิมิตมาอธิบายเป็นวิปัสสนาญาณ และเห็นญาณต่างๆ ขาดจากกันเป็นท่อนๆ ไม่เห็นความสืบต่อเป็นสายโซ่ของญาณทั้ง ๑๖ ขั้นตอน

    พระอริยะบุคคลได้มี 4 ประเภท ดังนี้

    พระอริยะบุคคลประเภทที่ 1. พระโสดาบันบุคคล คือท่านผู้ที่เพียรปฏิบัติวิป้สสนากรรมฐาน จนวิปัสสนาญาณบังเกิดขึ้น ทั้ง 16 ญาณ
    เป็นครั้งแรก ทำให้กิเลสต่างๆ เบาบางอย่างมากมายและสามารถละกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง 3 ประการ ในสัญโญชน์ 10
    ประการ คือ
    1.1 สักกายทิฐิสัญโญชน์ คือการยึดถือเป็นตัวตนผิดๆ ในรูปนามนั้นๆ
    1.2 วิจิกิจฉาสัญโญชน์ คือความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือความสงสัยในสิ่งต่างๆ จนฟุ้งซ่าน
    จนควบคุมจิตใจไม่อยู่เป็นบ่อเกิดโรคจิต โรคนอนไม่หลับ โรคหวาดระแวงโดยไร้สาเหตุ โรควิตกกังวัลจนผิดปกติ
    รวมความแล้วคือสงสัยลังเลจนเลยเถิด
    1.3. สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ คือการถือข้อวัตรปฏิบัติผิดไม่ถูกทาง
    มากล่าวถึงคำว่าสัญโญชน์ 10 ก็คือกิเลสหรืออนุสัยกิเลสที่นอนสงบนิ่งอยู่ในจิต
    เมื่อมีสิ่งอื่นใดมากระตุ่นหรือกวนให้กิเลสนี้กระจายขึ้นมากลายเป็น ราตะ โทษะ และโมหะ ให้เห็นทั้งทางใจ ทางวาจา
    และทางร่างกาย มี 10 ประการดังนี้
    1 สักกายทิฐิสัญโญชน์ คือการยึดถือเป็นตัวตนผิดๆ ในรูปนามนั้นๆ
    2 วิจิกิจฉาสัญโญชน์ คือความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
    3. สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ คือการถือข้อวัตรปฏิบัติผิดไม่ถูกทาง
    ทั้ง 3 ประการข้างบนพระโสดาบัน ละได้อย่างเด็ดขาด
    4. กามราคะสัญโญชน์ คือการมีกามราคะ
    5. ปฏิฆะสัญโญชน์ คือความขุ่นเคือง ความโกรธ
    ทั้ง 5 ประการข้างบนพระอนาคามี ละได้อย่างเด็ดขาด
    6. รูปราคะสัญโญชน์ คือความยินดีในรูปภพ
    7. อรูปราคะสัญโญชน์ คือความยินดีในอรูปภพ
    8. มานะสัญโญชน์ คือความถือตัว
    9. อุทธัจจะสัญโญชน์ คือความที่จิตฟุ้งไป ไม่สามารถตั้งอยู่อารมณ์เดียวได้นาน
    10. อวิชชาสัญโญชน์ คือสภาพไม่รู้ ความมืดหลงของจิต หรือ โมหะ
    ทั้ง 10 ประการพระอรหัน ละได้อย่างเด็ดขาด
    เมื่อท่านทั้งหลายทราบถึง สัญโญชน์ 10 ประการแล้ว ก็จะมากล่าวถึงคุณวิเศษของพระโสดาบันต่อ ดังมีอยู่ในพระสูตรหนึ่ง
    พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบให้ทราบถึงกิเลส และความทุกข์ที่เหลือของพระโสดาบันกับปุถุชน ให้เข้าใจดังนี้
    มีอยู่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสบอกกับพระภิกษุว่า
    "ภิกษุทั้งหลายเธอจงหยิบเศษดินบนแผ่นดินมาหนึ่งกำมือ"
    เมื่อภิกษุหยิบเศษดินขึ้นมาหนึ่งกำมือแล้ว พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามว่า
    "เธอทั้งหลายจงเปรียบเทียบดูจำนวนเศษดินที่อยู่ในมือ กับแผ่นดินต่างกันมากใช่ไหม่?"
    พระภิกษุตอบว่า "ใช่ครับ" พระพุทธเจ้าจึงอธิบายให้ทราบ
    "เศษดินที่อยู่ในมือเธอเปรียบเสมือนกิเลสที่เหลืออยู่ของพระโสดาบันบุคคล
    แต่แผ่นดินนั้นเปรียบเสมือนกิเลสที่มีอยู่ของปุถุชนทั้งหลาย ดังนั้นความทุกข์เร้าร้อนที่พระโสดาบันได้รับ
    ย่อมน้อยกว่าปุถุชนมากมายจนประมาณไม่ได้"

    คุณวิเศษที่พระโสดาบันได้รับมีดังนี้
    1. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระโสดาบันได้
    2. จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ สัตว์เดรัชฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก อีกเลย เพราะกิเลสที่จะก่อให้เกิดทำอกุศลกรรม
    ที่ร้ายแรงที่ต้องให้ไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมไม่มีอีกแล้ว
    3. จะเกิดในภพมนุษย์ หรือ สวรรค์ หรือ พรหม ตามบุญกุศล หรือตามกำลังสมาธิ ของแต่ละท่าน
    4. จะมาเกิดในภพมนุษย์อย่างมากที่สุดไม่เกิด 7 ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันเข้าสู่พระนิพพาน

    ประเภทของพระโสดาบันบุคคลแบ่งได้ 3 ประเภท
    1. เอกพิชีโสดาบัน คือจะกับมาเกิดในโลกมนุษย์เพียงชาติเดียว แล้วปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อจนบรรลุเป็นพระอรหัน
    แล้วดับขันธ์ปรินิพพานในชาตินั้น
    2. โกลังโกละโสดาบัน คือท่านที่จะมาเกิดบนโลกมนุษย์อีก 2 ถึง 3 ชาติ แล้วมีโอกาศได้บรรลุเป็นพระอรหัน
    ดับขันธ์สู่พระนิพพาน
    3. สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน คือท่านที่จะมาเกิดบนโลกมนุษย์ มากกว่า 3 ชาติ แต่ไม่เกิน 7 ชาติ
    แล้วมีโอกาศบรรลุเป็นพระอรหัน ดับขันธ์นิพพาน

    พระอริยะบุคคลประเภทที่ 2. พระสกิทาคามี คือพระอริยะบุคคลที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครบ 16
    ญาณในรอบแรกแล้วแล้วยังเพียรกำหนดวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนวิปัสสนาญานบังเกิดขึ้นในรอบที่ 2 ตั้งแต่ญาณที่ 4
    อุทยัพพยญาณจนญานที่ 12 อนุโลมญาณ
    ชึ่งวิปํสสนาญาณนั้นเกิดขึ้นอย่างละเอียดอ่อนแจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณที่เคยฝ่านมาแล้ว และติดตามด้วย โวทานะ
    โวทานะแทนโคตรภูญาณ เพราะท่านเป็นอริยะบุคคลแล้ว หลังจากนั้นบรรลุถึงพระสกิทาคามีมรรค และเมื่อฝ่านตลอดทั้ง
    16 ญาณในรอบที่ 2 กิเลสที่มีอยู่จะเบาบางจากเดิมที่มีอยู่ในทันที่
    แต่ไม่สามารถละสัญโญชน์ทีเหลืออยู่ให้ตัวใดตัวหนึ่งขาดหายโดยสิ้นเชิ่ง
    แต่กิเลสของท่านเบาบางกว่าพระโสดาบันอย่างมาก ดำรงค์ฐานะเป็นพระสกิทาคามีบุคคล

    คุณวิเศษที่พระสกิทาคามีได้รับมีดังนี้
    1. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระสกิทาคามีได้
    2. จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ สัตว์เดรัชฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก อีกเลย เพราะกิเลสที่จะก่อให้เกิดทำอกุศลกรรม
    ที่ร้ายแรงที่ต้องให้ไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมไม่มีอีกแล้ว
    3. จะเกิดในภพมนุษย์ หรือ สวรรค์ หรือ พรหม ตามบุญกุศล หรือตามกำลังสมาธิ ของแต่ละท่าน
    4. จะมาเกิดในภพมนุษย์อย่างมากที่สุดเพียง 1 ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ดับขันธ์นิพพาน

    พระอริยะบุคคลประเภทที่ 3. พระอนาคามีบุคคล คือพระอริยะบุคคลที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครบ 16 ญาณในรอบที่ 2 แล้ว
    ก็ยังกำหนดวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนวิปัสสนาญานบังเกิดขึ้นในรอบที่ 3 ตั้งแต่ญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณจนญานที่ 12
    อนุโลมญาณ ชึ่งวิปํสสนาญาณนั้นเกิดขึ้นอย่างละเอียดอ่อนแจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณที่เคยฝ่านมาแล้ว และติดตามด้วย
    โวทานะ โวทานะแทนโคตรภูญาณ เพราะท่านเป็นอริยะบุคคลแล้ว ก็บรรลุถึงพระอนาคามีมรรค และเมื่อฝ่านตลอดทั้ง 16
    ญาณในรอบที่ 3 กิเลสที่มีอยู่จะเบาบางจากเดิมที่มีอยู่ในทันที่ และสามารถละสัญโญชน์ทีเหลืออยู่ได้อีก 2
    สัญโญชน์อย่างสิ้นเชิ่ง ได้แก่ กามราคะสัญโญชน์ และปฏิคะสัญโญชน์ ก็คือละกามและโทษะได้อย่างะเด็ดขาด
    ดำรงค์ฐานะเป็นพระอนาคามีบุคคล

    คุณวิเศษที่พระอนาคามีได้รับมีดังนี้
    1. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระอนาคามีได้ แต่ท่านที่เคยฝึกสมาธิถึงฌานที่ 4 ท่านสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้
    หรือบางท่านบังเกิดมีวิชา 3 อภิญญา 5 สามารถสำแดงฤทธิ์เดชได้
    2. ถ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันจะไปเกิดใน พรหมโลก ชั้นสุทาวาสพรหม อย่างเดียว จะไม่มาเกิดในมนุษย์โลกนี้อีกเลย
    แล้วจะบรรลุเป็นพระอรหันดับขันธ์นิพพานบนสุทาวาสพรหมนั้น
    ชั้นสุทาวาสพรหม เป็นชั้นของพระพรหมที่เป็นที่จุติของพระอนาคามีอริยะบุคคลในพระพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น
    ซึ่งสามารถแบ่งลำดับชั้นในสุทาวาสพรหมได้อีก 5 ชั้น จากลำดับล่างไปสู่ชั้นสูง ดังนี้
    1 ชั้นอวิหาภูมิ
    2.ชั้นอตัปปาภูมิ
    3.ชั้นสุทัสสาภูมิ
    4.ชั้นสุทัสสีภูมิ
    5.ชั้นอกนิฏฐกาภูมิ
    ซึ่งพระอนาคามีท่านจะไปจุติตามชั้นต่างๆ ตามกำลังพละ 5 ของท่านที่เด่นชัด

    พระอริยะบุคคลประเภทที่ 4. พระอรหันต์บุคคล คือพระอริยะบุคคลที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครบ 16 ญาณในรอบที่ 3 แล้ว
    ก็ยังกำหนดวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนวิปัสสนาญานบังเกิดขึ้นในรอบที่ 4 ตั้งแต่ญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณจนญานที่ 12
    อนุโลมญาณ ชึ่งวิปัสสนาญาณนั้นเกิดขึ้นอย่างละเอียดอ่อนแจ่มแจ้งเป็นที่สุดด้วยบารมีที่เต็มบริบูรณ์ และติดตามด้วย
    โวทานะ โวทานะแทนโคตรภูญาณ เพราะท่านเป็นอริยะบุคคลแล้ว ก็บรรลุถึงพระอรหัตมรรค
    สามารถตัดกิเลสทั้งหมดได้สิ้นเชิง และเมื่อฝ่านตลอดทั้ง 16 ญาณในรอบที่ 4
    กิเลสที่ตัดขาดโดยอรหัตมรรคได้แก่สัญโญชน์ที่เหลืออยู่ 5 อย่างคือ
    6. รูปราคะสัญโญชน์ คือความยินดีในรูปภพ
    7. อรูปราคะสัญโญชน์ คือความยินดีในอรูปภพ
    8. มานะสัญโญชน์ คือความถือตัว
    9. อุทธัจจะสัญโญชน์ คือความที่จิตฟุ้งไป ไม่สามารถตั้งอยู่อารมณ์เดียวได้นาน
    10. อวิชชาสัญโญชน์ คือสภาพไม่รู้ ความมืดหลงของจิต หรือ โง่ หรือ โมหะ

    คุณวิเศษของพระอรหันต์ได้รับมีดังนี้
    1. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระอรหันต์ได้
    2. ไม่มีกิเลสเหลือในจิตใจแม้แต่เพียงนิดเดียว
    3. เมื่อดับขันธ์ต้องปรินิพพานอย่างเดียว

    ประเภทพระอรหันต์ แบ่งตามกำลังสมาธิได้ 2 ประเภท
    1. เจโตวิมุติอรหันต์ ได้แก่ท่านผู้ที่ได้ฌานมาก่อนแล้วมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
    หรือท่านที่ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างเดียว แต่เมื่อพระอรหัตมรรคจะอุบัติขึ้นนั้น ฌานก็อุบัติขึ้นในขณะนั้นเอง
    ด้วยบารมีที่สังสมมา ท่านเหล่านี้เรียกว่า ฌานลาภีบุคคล คือสำเร็จฌานสมาบัติได้วิชา 3 อภิญญา 6
    มีคุณสมบัติแสดงฤทธิ์ทั้งหลายได้
    2. ปัญญาวิมุติอรหันต์ ได้แก่พระอรหันต์ที่ท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียวล้วนๆ และฌานไม่มีเกิดขึ้นเลย
    พระอรหันต์เหล่านี้มีชื่อว่า สุกขวิปัสสโก ไม่สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
    ประเภทพระอรหันต์ ยังแบ่งตามความแตกฉานได้ 2 ประเภทใหญ่
    1. ปฏิสัมภิทาปัตตอรหันต์ ได้แก่พระอรหันผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา
    เพราะเมื่อท่านบรรลุอรหัตมรรคอรหัตผลนั้นปฏิสัมภิทาญาณ ทั้ง 4 หรืออย่างหนึ่งอย่างใดบังเกิดขึ้น มีดังนี้
    - อรรถปฏิสัมภิทา คือแตกฉานในอรรถ
    - ธรรมปฏิสัมภิทา คือแตกฉานในธรรม
    - นิรุตติปฏิสมภิทา คือแตกฉานในภาษา
    - ปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือแตกฉานในปฏิภาน
    2. อัปปฏิสัมภิทาปัตตอรหันต์ ได้แก่พระอรหันต์ผู้ชึ่งไม่แตกฉานในปฏิสัมภิทาญานทั้ง 4
    ซึ่งพระอรหันเหล่านี้มีเชื่อเรียกอีกอย่างว่า มูคพระอรหันต์ คือพระอรหันต์ผู้ที่ไม่มีความรู้ในปริยัติธรรม
    การที่ท่านจะได้บรรลุพระอรหันประเภท เจโตวิมุติอรหันต์ มีวิชา 3 อภิญญา 6 หรือ ปฏิสัมภิทาปัตตอรหันต์
    เกิดจากท่านได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมาก่อนแต่ชาติปางก่อน และ/หรือ ท่านเคยตั้งจิตอธิฐานเมื่อประกอบกุศลต่างๆ
    โดยนัยว่า "เมื่อข้าพเจ้า ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์สาวกแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า
    ขอให้มัคคสิทธิฌานหรือพระปฏิสัมภิทาญาณจงบังเกิดขึ้นพร้อมกับได้บรรลุมรรคผลด้วยเถิด"
    เพราะเนื่องด้วยได้อธิฐานบารมีอย่างนี้ไว้ การสังสมบารมีก็จะถูกชักนำไปทาง ฌาน อภิญญา และ ปฏิสัมภิทา
    ตามฐานะจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ที่มีปฏิสัมภิทาพร้อมทั้งอภิญญา 6 ไม่ใช่ว่าพออธิฐานแล้วไม่ต้องทำอะไร
    รอเมื่อถึงเวลาก็จะได้เอง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนมาก
    เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่ต้องมีเหตุปัจจัยอันสมบูรณ์แล้วจะได้ผลอันสมบูรณ์

    ----------------------------------------------------------------------
    *"ญาณ ๑๖" ...อ้างอิงจาก
    -พระไตรปิฏก ในเล่ม ๖๘ ขุททกนิกายปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา หน้าที่ ๕๐ เป็นต้นไป
    -พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๐
     

แชร์หน้านี้

Loading...