เรื่องเด่น ญาณวิปัสสนาอันละเอียด (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 16 พฤษภาคม 2013.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    เรื่อง ญาณวิปัสสนาอันละเอียด

    (เริ่มทำสมาธิ)

    ญาติโยมทั้งหลายตั้งใจที่จะทำความสงบกันต่อไป
    ให้เป็นปฏิบัติบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ในเบื้องต้นนี้อาตมาจะนำ ให้ว่าตามทุกคน

    "ข้าพเจ้าระลึกถึง คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์
    คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์
    จงมาดลบันดาลให้ใจของข้าพเจ้าจงรวมลงเป็นสมาธิ
    พุทโธ ธัมโม สังโฆ (๓ ครั้ง) พุทโธ พุทโธ พุทโธ"

    นึกไว้ในใจ นั่งขัดสมาส ขาขวาทับขาซ้าย
    มือขวา หงายทับมือซ้าย วางไว้บนตัก หลับตานึกพุทโธในใจ
    กำหนดใจไว้ที่ใจ ไม่ให้ส่ายแส่ไปในทางอื่น
    ไม่ให้มีอารมณ์ พยายามที่จะกำจัดมันออกไป
    เราต้องคิดว่า เราเกิดมาคนเดียว ตายไปคนเดียว ไม่มีใคร
    เมื่อเราหลับตา เหลือแต่ใจ มองไม่เห็นอะไร นอกจากใจดวงเดียว

    ที่เราพากันเห็น ก็คือสัญญาอุปาทานเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไร
    จริงๆ เมื่อหลับตาก็มองเห็นแต่ความรู้
    มีความรู้อันเดียว เมื่อหลับตาไปแล้วเป็นอย่างนั้น
    เพราะฉะนั้นให้ทำจิตคือทำจิตให้มีอารมณ์อันเดียว
    เมื่อมีอารมณ์อันเดียวย่อมจะเป็นสมาธิ

    การเป็นสมาธิของจิตนั้น ย่อมจะเกิดปีติ ความเอิบอิ่ม
    ย่อมจะต้องเกิดความสุข คือความสบาย
    ย่อมจะต้องเกิดความเบาตัว แล้วก็มีความละเอียดละมุนละไม
    นั่นคือจิตสงบแล้ว และจิตเป็นสมาธิแล้ว
    จิตที่เป็นสมาธินั้น มีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น
    ไม่เหมือนกันกับที่เราอยู่โดยปรกติ

    ถ้าเราอยู่โดยปรกติที่ไม่เป็นสมาธินั้น มันมีจิตรกรุงรัง
    หรือคิดโน่น คิดนี่ มีความฟุ้งซ่านต่างๆ
    นั่นคือความปรกติของจิตใจ แต่พอเวลาเป็นสมาธิ
    จิตนี้จะ ผิดจากปรกติเดิมธรรมดา มาอยู่ในฐานะหนึ่ง
    คือมาอยู่ในฐานะอีกฐานะหนึ่ง ฐานะนี้เป็นฐานะที่เรียกว่า ฌาน
    ฌานนั้นมีอยู่ ๔ ด้วยกัน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน

    ฌานที่มี ๔ คือ ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา
    วิตก วิจารณ์ นั้น คือการนึก พุทโธๆ เรียกว่า วิตก วิจารณ์
    พอปีติ เมื่อนึกพุทโธแล้ว จิตก็อยู่ที่พุทโธ ปีติ คือ ความขนพองสยองเกล้า
    รู้สึกมันหวิวๆ อะไรอย่างนี้ เรียกว่า ปีติ วิตก วิจารณ์ ปีติ
    สุข ก็คือ ความสบาย เอกัคคตานั้นคือความเป็นหนึ่ง นี้เรียกว่าปฐมฌาน

    ทุติยฌานนั้น ก็มีอยู่องค์ ๓ วิตก วิจารณ์ตัดออกไป
    การนึกพุทโธนั้นไม่ต้องนึกแล้ว เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา
    เหลือแต่ความเอิบอิ่ม และความสบาย และความเป็นหนึ่ง
    ตติยฌานนั้น เหลืออยู่องค์สอง ตัดวิตก วิจารณ์ออกไป ตัดปีติออกไป
    เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา มีแต่ความสบายและความเป็นหนึ่ง

    จตุถฌานที่ ๔ สุดท้ายนั้น ก็มีองค์สองเช่นเดียวกัน
    คือมีแต่อุเบกขา และเอกัคคตา เรียกว่าวิตกวิจารณ์ตัดออกไป
    ความเอิบอิ่มตัดออกไป ความสุข ความสบายก็ตัดออกไป
    เหลือแต่ความวางเฉยกับความเป็นหนึ่ง ฌานทั้ง ๔ นี้เรียกว่ารูปฌาน

    เมื่อรูปฌานนี้ ได้รับการพัฒนา หรือทำให้ยิ่ง
    รูปฌานนั้น จะกลับกลายเป็นอรูปฌาน คือจิตจะละเอียดลงไป
    จิตละเอียดลงไปนั้น ก็กลับกลายเป็นอากาศว่างเปล่า ไม่มีอะไร
    เรียกว่า "อากาสานัญจายตนฌาน"

    เมื่อจิตนี้ได้รับการฝึกฝน ละเอียดยิ่งขึ้นไปแล้ว ก็เหลือแต่ความรู้
    ไม่มีอะไร เหลือแต่ความรู้ เรียกว่า "วิญญานัญจายตนฌาน"

    เมื่อได้รับการฝึกฝนจนกระทั่งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
    ไม่มีอะไรแล้ว อารมณ์อะไร ความสุข ความอะไรก็ไม่มีหมด
    เรียกว่า "อากิญจัญญายตนฌาน"

    ในที่สุดถึงที่สุด ฌานของอรูปฌาน ๔ นั้น คือ
    จะว่าสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ไม่ใช่ เรียกว่าไม่มีอะไรเอาเลย
    นั้นเรียกว่า "เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน"

    ทั้งหมดนี้ เรียกว่า รูปฌาน และ อรูปฌาน

    ฌานทั้งหมดนี้นั้น เป็นฌานที่เรียกว่า ฌานโลกีย์
    ฌานโลกีย์ ผู้ที่บำเพ็ญฌานเหล่านี้ได้แล้ว
    ก็จะไปเกิดในชั้นพรหมโลก เลยชั้นสวรรค์ไปก็ไปเกิดในชั้นพรหมโลก
    จากพรหมธรรมดา จนกระทั่งถึงมหาพรหม อย่างนี้คือผู้บำเพ็ญฌาน

    ฌานเหล่านี้นั้นมิใช่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดได้ง่ายๆ
    ผู้ที่บำเพ็ญฌานที่เป็นรูปฌานและอรูปฌานนั้น
    ต้องใช้เวลาอันยาวนาน บางทีหมดชีวิตก็ไม่ได้
    บางทีพวกฤาษีไปอยู่ในป่าคนเดียว บำเพ็ญฌานก็ยังไม่ค่อยจะสำเร็จถึงขั้นนี้

    ฌานพวกนี้ ถ้าทำสำเร็จขึ้นมาแล้ว สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้
    เหาะเหินเดินอากาศได้ มองดูจิตใจของคนได้ ระลึกชาติหนหลังได้
    อย่างนี้ถือว่าได้สำเร็จฌาน แต่ฌานเหล่านี้นั้น
    ไม่สามารถที่จะกำจัดกิเลสได้ กิเลสก็ยังอยู่
    เพราะว่าไม่ใช่วิปัสสนา เป็นแต่เพียงสมถกรรมฐาน

    (มุ่งพ้นทุกข์)

    สมถะนั้นถ้าเราบำเพ็ญฌานไปโดยสม่ำเสมอ
    อานิสงส์แห่งฌาน ก็ทำให้ไปบังเกิดเพียงแค่ชั้นพรหม
    ชั้นพรหมนั้น อายุยาวนานกว่าชั้นสวรรค์ถึง ๒๐ เท่า
    เมื่อไปอยู่ที่นั่นแล้วก็ลืม มีความสบายจนลืม
    แต่ที่สุดถึงที่สุด ก็ต้องกลับมาในมนุษยโลกอีก
    นั่นคือ เรียกว่า ยังเวียนว่ายตายเกิด

    ผู้ที่ไม่ต้องการที่จะเวียนว่ายตายเกิดอีก
    หมายความว่าเมื่อบำเพ็ญฌานได้แล้ว เขาก็ยกอรูปฌานออกเสีย
    เอาแค่รูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน
    เอาแค่ฌาน ๔ นี้ เอาฌาน ๔ นี้มาเป็นกำลัง หันหน้าเข้าสู่วิปัสสนา

    เมื่อหันหน้าเข้าสู่วิปัสสนา
    ก็จะไปพบ ไตรลักษณ์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัส
    ไตรลักษณ์นั้น มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น
    ศาสนาอื่นไม่มี เพราะฉะนั้น ในศาสนาทุกศาสนาจึงไม่มีวิปัสสนา
    มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะทุกคนนั้นปรารถนาแค่เพียงสวรรค์
    ปรารถนาแค่เพียงความสุขในเมืองมนุษย์

    แต่ว่าการที่สำเร็จฌานเหล่านั้น บางทีก็เกิดความเสื่อม
    เมื่อเกิดความเสื่อมแล้วก็ไปทำความชั่ว สามารถไปตกนรกได้
    สามารถไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ เพราะว่ายังไม่ใช่นิยตบุคคล เป็นอนิยตบุคคล
    ดังนั้นการเวียนว่ายตายเกิด รึว่าการแปรเปลี่ยน ย่อมมีแก่ผู้บำเพ็ญฌาน

    แต่ว่าถ้าผู้ใดหันเข้ามาสู่วิปัสสนานั้น
    วิปัสสนาเป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำคนให้พ้นทุกข์
    คือ พ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายนี้ได้
    ดังนั้นในวิปัสสนา พระพุทธองค์จึงทรงตรัสให้เกิดเป็นไตรลักษณ์

    ไตรลักษณ์นั้น คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
    อนิจจังคือความไม่เที่ยง ทุกขังคือความเป็นทุกข์
    อนัตตาคือความไม่ใช่ตัวตน

    อย่างนี้ทั้งสามประการนี้ ถ้าพิจารณาได้ก็ถือว่า เราได้เริ่มวิปัสสนาแล้ว

    พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า

    สัพเพ สังขารา อนิจจา ติ สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
    ย ดา ปัญญา ย ปัสสติ เมื่อใดบุคคลผู้ใดทำให้เกิดปรากฏขึ้นแล้ว
    อัตถ นิพพินติ ทุกเข จากนั้นผู้นั้นจะเกิดความเบื่อหน่าย
    เอสะ มัคโค วิสุทธิยา นี้คือหนทางไปสู่พระนิพพาน

    สัพเพ สังขารา อนิจจา ติ สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
    ย ดา ปัญญา ย ปัสสติ เมื่อใดผู้ใดทำให้ปรากฏ
    อัตถ นิพพินติ ทุกเข เมื่อนั้นบุคคลผู้นั้นจะเกิดความเบื่อหน่าย
    เอสะ มัคโค วิสุทธิยา นี่คือหนทางพระนิพพาน

    สัพเพ ธัมมา อนัตตา ติ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน
    ย ดา ปัญญา ย ปัสสติ บุคคลผู้ใดทำให้ปรากฏขึ้นแล้ว
    อัตถ นิพพินติ ทุกเข บุคคลผู้นั้นย่อมจะบังเกิดความเบื่อหน่าย
    เอสะ มัคโค วิสุทธิยา นี่คือหนทางพระนิพพาน

    พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสยืนยันเช่นนี้
    ต้องการที่จะให้พุทธบริษัทพ้นไปจากทุกข์เสีย
    ไม่ต้องมาพากันเวียนว่ายตายเกิดลำบากลำบนกันอยู่ในเมืองมนุษย์นี่
    เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้ยกวิปัสสนาขึ้น เพื่อให้พากันพิจารณา
    การพิจารณาทุกข์ การพิจารณาความไม่เที่ยง
    การพิจารณาถึงความไม่ใช่ตัวตนนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องใช้ฌาน
    เราจะพิจารณาโดยที่ไม่มีฌานนั้น ย่อมไม่ได้

    (การเดินจิตเปรียบเหมือนการแล่นเรือใบ)

    เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ตามก็ต้องบำเพ็ญฌานอยู่ดี
    แต่ไม่จำเป็นต้องบำเพ็ญถึงอรูปฌาน
    บำเพ็ญแต่เฉพาะรูปฌานเท่านั้นก็พอแล้ว
    แล้วก็เปลี่ยนมาพิจารณา การพิจารณานั้นท่านให้พิจารณา
    เปรียบเหมือนกันกับผู้ที่เดินเรือใบ เมื่อเวลาเดินเรือใบไปในกลางทะเล
    เมื่อเวลาลมจัด ต้องลดใบ เมื่อเวลาลมพอดีก็กางใบ
    แล้วเรือก็จะแล่นไปตามความประสงค์
    หากว่ามีคลื่น ก็ทอดสมอ อย่างนี้เป็นต้น

    ฉันใดก็ฉันนั้น บุคคลผู้ที่จะบำเพ็ญวิปัสสนา ต้องพิจารณา
    แต่ว่าการพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้น
    ไม่ใช่ว่าจะให้พิจารณาไปตลอด ก็เหมือนกันกับเรือใบที่แล่นไปในทะเลนั้น
    ต้องไม่แล่นไปตลอด เมื่อเจอลมสลาตัน หรือลมใหญ่ ต้องลดใบทันที
    มิฉะนั้นเรือจะคว่ำ ถ้าหากว่าเมื่อเวลาจอดไม่ทอดสมอ ถูกคลื่นตีมา เรือก็คว่ำ

    เพราะฉะนั้น จึงเปรียบเหมือนกันกับผู้บำเพ็ญวิปัสสนา
    ผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาแล้ว
    และกลับคืนมาหาความสงบ เมื่อจิตสงบแล้ว ก็ยกออกไปพิจารณาสักครู่หนึ่ง
    แล้วก็ย้อนกลับคืนมาทำความสงบใหม่ ไม่ให้พิจารณาไปตลอด เวลานั่งสมาธิ

    เมื่อพิจารณาเช่น พิจารณาถึง "ความไม่เที่ยง"
    ร่างกายของคนเรานี้เกิดมาก็หนุ่มสาว เกิดมาแล้วทีนี้ก็แก่ไป
    เมื่อแก่ไปแล้ว เนื้อก็เหี่ยว หนังก็ยาน ในที่สุดก็เกิดโรคภัยไข้เจ็บป่วยขึ้น
    นี่เค้าเรียกว่าเปลี่ยนแปร เปลี่ยนแปลง ต่อจากนั้นก็สิ้นลมหายใจ ก็เรียกว่า ตาย
    ก็เรียกว่าอนิจจัง มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ตายไป อย่างนี้คือการพิจารณาวิปัสสนา

    เมื่อพิจารณาอย่างนี้สักครู่หนึ่ง ก็วางเฉย
    คือหมายความถึงว่า เราจะต้องตั้งต้นร่างกายอันนี้ไปตั้งแต่เด็ก
    แล้วก็เป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วก็แก่ชรา แล้วก็มีโรคภัยเบียดเบียนแล้วก็ตายไป
    การพิจารณาอย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา แต่ต้องพิจารณาเพียงชั่วระยะ
    เหมือนกันกับเรือแล่นไปในมหาสมุทร เรือใบเมื่อถึงเวลาลมแรงก็ลดใบลง
    ถึงเวลาอันสมควรก็ทอดสมอ อย่างนี้เป็นต้น

    เมื่อพิจารณาอย่างนี้ แล้วก็ มาพิจารณาถึง "ความทุกข์"
    ความเกิดนั้นก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์
    ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ อย่างนี้
    เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว เราก็ พิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปว่า มันทุกข์อย่างไร
    เช่น เมื่อเวลาเจ็บป่วยขึ้นมานี่มันทุกข์แค่ไหน
    เมื่อเวลาไม่มีสิ่งที่เราต้องการมันเกิดความทุกข์แค่ไหน
    เมื่อเราต้องการสิ่งใด ไม่สมความปรารถนา มันทุกข์แค่ไหน
    ในเมื่อเวลาที่ คนรัก คนชอบของเราต้องตายไป เราทุกข์แค่ไหน
    อย่างนี้เค้าเรียกว่าทุกขัง คือความเป็นทุกข์ ย่อมจะต้องเกิดขึ้น

    เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว
    ก็ชื่อว่าเป็นวิปัสสนาอีกส่วนหนึ่ง "อนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตนนั้น"
    เราต้องพิจารณาว่า อันร่างกายของเรานี้ มันเป็นเพียงธาตุทั้ง ๔
    ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น ส่วนที่เป็นลักษณะแข็ง ก็เรียกว่าดิน
    ส่วนที่เป็นลักษณะอ่อน เหลว ก็เรียกว่าน้ำ ส่วนที่พัดไปพัดมาก็เรียกว่าลม
    ส่วนที่ทำร่างกายให้อบอุ่น ก็เรียกว่าไฟ มันเป็นธาตุทั้ง ๔ จึงไม่ใช่ตัวตนแต่อย่างใด

    (การทวนกระแสจิต)

    ทั้งสามประการนี้ มันเป็นเรื่องของ การทวนกระแสจิต
    คนเรานั้น รักสวยรักงาม คนเรานั้น ไม่อยากพูดถึงกองทุกข์
    คนเรานั้น ถือว่าเป็นตัวเป็นตนจริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่ใช่ตัวตน นี่เราถือกันมา
    แล้วเราก็รู้จักกันมาโดยนัยนี้ แต่วิปัสสนานั้นเป็นส่วนที่ทวนกระแส
    คือ ทวนกระแสของโลก เมื่อเค้าว่าตัวตน วิปัสสนาก็ว่าไม่ใช่ตัวตน
    เมื่อเขาว่าเที่ยง วิปัสสนาก็ว่าไม่เที่ยง
    เมื่อเขาว่าเป็นสุข วิปัสสนาก็ว่าเป็นทุกข์ อย่างนี้

    ถ้าผู้ที่มาบำเพ็ญ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า
    เรียกว่าพิจารณาหลายครั้งเหลือเกิน ครั้งแล้วก็ครั้งเล่า
    มันก็จะเกิดสิ่งหนึ่งขึ้นมา สิ่งนั้นก็คือวิปัสสนา
    วิปัสสนานั้นมี ๙ ประการ นับไปตั้งแต่
    นิพพิทาญาณ มุญจิตุกามยตาญาณ ภังคญาณ เป็นต้น
    ญาณนั้น คือความหยั่งรู้
    หรือสิ่งที่พอเพียงแห่งความต้องการแล้วเกิดขึ้น เรียกว่า ญาณ

    ในการที่พิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นนั้น
    ความเบื่อหน่าย เค้าเรียกว่า "นิพพิทาญาณ"
    ถ้าญาณใดเกิดขึ้นเหมือนกับ นกกระทาที่อยู่ในกรง
    พยายามที่อยากจะเจาะรูกรง เรียกว่า สักกรงอยู่เรื่อย
    นั้นเค้าเรียกว่า "มุญจิตุกามยตาญาณ" หรือ วิปัสสนาญาณหนึ่ง ที่เกิดขึ้นนั้น
    เห็นความเสื่อมสลายหมดเกลี้ยง ไม่มีอะไรเหลือ อย่างนี้ เรียกว่า "ภังคญาณ"

    ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็วิปัสสนาก็เกิดขึ้นกับเราแล้ว
    แต่วิปัสสนาที่เกิดขึ้นนั้น พึงเข้าใจว่า ไม่ใช่สำเร็จ ยังไม่สำเร็จ
    วิปัสสนานั้นเรียกว่าเป็นเพียง การกระทำอันหนึ่ง
    เพื่อที่จะให้เป็นการขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์ขึ้นตามลำดับ
    แต่ยังไม่ใช่ถึงขั้นสำเร็จ ถ้าขั้นสำเร็จนั้นจะต้องบำเพ็ญวิปัสสนาไปอีก
    ให้เกิดนิพพิทาญาณนั้น นับครั้งไม่ถ้วน

    เมื่อบำเพ็ญจิตให้เกิดความเบื่อหน่าย
    หรือมีจิตที่คิดอยากออกเหมือนนกกระทาที่สักกรงอยู่
    หรือเหมือนกันกับ มองเห็นหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง
    อย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนา
    ถ้าเกิดอย่างนี้ขึ้นมาก็จะต้อง ให้เกิดอย่างนี้ขึ้นไปตลอด

    มองเห็นซึ่งสัจธรรมบังเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายขึ้นมาแล้ว
    เห็นจริงแจ้งประจักษ์ เพราะฉะนั้น ความสงสัยจึงตัดไปได้เลย
    จึงเรียกว่า "กังขาวิตรนวิสุทธิ"

    ญาณวิสุทธิ คือ ความหยั่งรู้ ความหยั่งรู้นั้น คือ นิพพิทาญาณ
    นิพพิทาญาณที่เกิดขึ้นนั่นแหละ คือ ความหยั่งรู้ คือ ตัวญาณ เรียกว่าญาณวิสุทธิ
    ไม่ใช่ไปคิดเบื่อเอา หรือไม่ใช่ไปคิดเดาเอาว่าชั้นจะเบื่อหน่าย
    หรือไปคิดเอาเอาว่า โอ้ โห…ชั้นนี่ เป็นทุกข์ ไม่อยากจะ…อยากออก อะไรแล้ว
    หรือจะไป ฉันนี่คิดเอาว่า โห…ฉันพ้นทุกข์แล้ว ไม่ใช่คิดเอา
    แต่ว่าญาณนี้จะต้องเกิดขึ้นเอง เมื่อญาณเกิดขึ้นแล้ว
    ก็เป็นความบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นญาณนึก ญาณคิด

    (ปรมัตถธรรม)

    ญาณทัศนะ นอกจากที่ว่าจะมีความหยั่งรู้แล้ว ก็ยังมีความเห็น
    คือนอกจากจะรู้แล้วก็เห็นด้วย หลับตาลงไปเห็นสัจธรรมไปเลย
    ในที่สุดท้ายคือ ปฏิปทาญาณะ
    ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ทำด้วย รู้ด้วย เห็นด้วย ทั้ง ๓ ประการเกิดขึ้นพร้อมกัน

    อย่างนี้เรียกว่า "วิสุทธิ ๗ ประการ"
    อันเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงผู้นั้น ได้ดำเนินวิปัสสนาเป็นผลสำเร็จขึ้นแล้ว
    ในเรื่องของสมถะก็ดี ในเรื่องของวิปัสสนาก็ดี
    ในเรื่องของ วิสุทธิ ๗ ประการก็ดี
    ทั้งหมดนี้จะไปรวมกันกลับกลายเป็น "องค์แห่งการตรัสรู้"

    องค์แห่งการตรัสรู้นั้นมีอยู่ ๗ ประการ คือ โพชฌงค์ ๗
    โพชฌงค์ คือ องค์แห่งการตรัสรู้
    นับไปตั้งแต่ โพชฌงค์ คือ สติโพชฌงค์ สติโพชฌงค์
    ปีติโพชฌงค์ ปัสสัทธิโพชฌงค์ วิริยโพชฌงค์
    ไปจนกระทั่งถึง อุเบกขาโพชฌงค์
    โพชฌงค์ คือ องค์แห่งการตรัสรู้นั้น ต้องมีสติเรียกว่าความมั่นคงแห่งสติ

    ความมั่นคงแห่งสตินั้น สติจะต้องกำหนดอยู่ในอนิจจัง ในทุกขัง ในอนัตตา
    คือ สตินั้นจะกำหนดอยู่ในไตรลักษณ์ตลอดเวลา
    เมื่อสติกำหนดอยู่ในไตรลักษณ์ตลอดเวลา ก็เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
    อันนี้เรียกว่าเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
    องค์แห่งการตรัสรู้นั้น คือการ ภาวิโต พหุลีกโต (ภาษาบาลียาวมาก…ฟังไม่ทัน)
    ที่พระท่านสวดโพชฌงค์นั่นแหละ

    นั่นแหละคือองค์แห่งการตรัสรู้ เรียกว่า
    เมื่อเป็นวิปัสสนาแล้ว ก็เข้ามาถึงโพชฌงค์
    สตินั้นจะต้องอยู่กับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ตลอด
    และเป็นผู้ที่วางอุเบกขาได้ ในเมื่อมีสิ่งที่มารบกวนจะเป็นสิ่งที่มาหลอกหลอน
    ว่าเราได้สำเร็จบ้าง หลอกหลอนว่าเราได้ชั้นนั้น ชั้นนี้บ้าง
    สิ่งหลอกหลอนเหล่านี้มาหลอกหลอนไม่ได้
    เพราะว่าเป็นอุเบกขาโพชฌงค์เสียแล้ว

    เพราะฉะนั้นในการปฏิบัตินั้น ย่อมจะมีหนทางที่ทำให้เรารู้
    ที่แสดงมานี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา เรียกว่า ปรมัตถธรรม
    ปรมัตถธรรมที่แสดงมาในวันนี้นั้น เป็นธรรมะชั้นสูง
    เรียกว่าสูงสุดของพระพุทธศาสนา และ ก็เป็นธรรมที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง

    ถ้าเรายังไม่เข้าใจ เราก็พยายามฟังให้บ่อยๆ แล้วเกิดความเข้าใจ
    เมื่อเข้าใจธรรมะปรมัตถ์นี้เมื่อไร จิตนั้นก็ถือว่าสูงแล้ว
    บุคคลผู้นั้นจะเป็นบุคคลที่ไม่มีการตกต่ำเป็นธรรมดา
    เรียกว่าปิดอบายภูมิได้โดยสิ้นเชิง

    การปิดอบายภูมิ อบายภูมิก็คือ นรก เปรต อสุรกาย
    สัตว์เดรัจฉาน ๔ ประการนั้นเรียกว่าอบายภูมิ
    ผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนาเข้าขั้นแห่งปรมัตถ์นั้น ย่อมปิดอบายภูมิทั้ง ๔ นี้ได้

    ต่อไปก็นั่งสมาธิกันอีกซักพักต่อไป

    ที่มา แสดงกระทู้ - ญาณวิปัสสนาอันละเอียด (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) • ลานธรรมจักร
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 พฤษภาคม 2013
  2. lufhtiaf

    lufhtiaf Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กรกฎาคม 2012
    โพสต์:
    12
    ค่าพลัง:
    +37
    ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าเขียนได้กี่แบบ แต่จากหนังสือที่ผมเคยอ่านจะเขียนว่า ธรรมวิจยะ คือการพิจารณาใคร่ครวญ ในธรรมต่างๆ
     
  3. manopk36

    manopk36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มกราคม 2013
    โพสต์:
    68
    ค่าพลัง:
    +193
    กราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ลูกศิธย์ได้ปฏิบัติตามดำสอนของหลวงพ่อ โดยสมำเสมอ สาธุ นิพพานัง ปัฌชโย โหตุ
     
  4. ฉลาดน้อย

    ฉลาดน้อย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +1,721
    อนุโมทนาเจ้าของกระทู้ และกราบหลวงพ่อวิริยังค์ด้วยครับ
     
  5. theopera

    theopera เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กุมภาพันธ์ 2013
    โพสต์:
    146
    ค่าพลัง:
    +218
    กราบนมัสการพระอาจารย์
     
  6. _nnn_123

    _nnn_123 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2011
    โพสต์:
    320
    ค่าพลัง:
    +567
    กราบนมัสการพระคุณเจ้า
    อนุโมทนาสาธุ ดิฉันอ่านไปด้วยน้ำตาไหลไปด้วยคะ สาธุ คะ อยากจะบอกว่าเข้าใจในบทความของพระคุณเจ้าทั้งหมด
     
  7. นะมัตถุ โพธิยา

    นะมัตถุ โพธิยา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    618
    ค่าพลัง:
    +2,269
    หลับตาลงไปเห็นสัจธรรมไปเลย

    = หลวงพ่อวิริยังค์ ท่านหมายถึง
    ต้องถึงฌานที่๔ + เกิดตาทิพย์+ใช้ตาทิพย์มองเข้ามาในกาย เห็นตับไตไส้พุงชัดเจน(หลับตาก็เห็นเหมือนลืมตา)
     
  8. OrbLink

    OrbLink สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 มิถุนายน 2013
    โพสต์:
    4
    ค่าพลัง:
    +5
    อ่านแล้วน้ำตาไหลเลยครับ ชัดเจนมาก ๆ
    กราบอนุโมทนาหลวงพ่อวิริยังค์ และขอบพระคุณเจ้าของกระทู้ที่นำมาเผยแพร่ครับ :cool:
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,270
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
  10. สตธศร

    สตธศร Namo Amithapho

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    707
    ค่าพลัง:
    +1,537


    โมทนาสาธุค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...