ชั่วโมงเซียน "หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน

ในห้อง 'วิธีดูพระเครื่อง-เครื่องรางของขลัง' ตั้งกระทู้โดย อดุลย์ เมธีกุล, 16 มีนาคม 2008.

  1. อดุลย์ เมธีกุล

    อดุลย์ เมธีกุล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กันยายน 2007
    โพสต์:
    7,363
    ค่าพลัง:
    +11,795
    ชั่วโมงเซียน : หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน)


    [​IMG] หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน หรือ วัดอัมพวัน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ท่านเป็นพระเกจิ อาจารย์อีกรูปหนึ่งที่มีวิชาพุทธาคมอันเข้มขลังอยู่ระดับแนวหน้าของประเทศไทย กล่าวกันว่า พระเครื่องของหลวงพ่อโหน่งมีพุทธคุณเด่นทางเมตตา มหานิยมมากและแคล้วคลาด จากอันตราย เป็นเลิศ จึงเป็นที่เสาะหาของบรรดานักสะสม เพื่อเอาไว้ใช้ติดตัวเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ มาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
    วัดคลองมะดัน เป็นวัดโบราณไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง อยู่กลางทุ่งนา ในสมัยก่อนมีลำคลองผ่าน หน้าวัดและมีต้นมะดันขึ้นอยู่ชุกชุมมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า วัดคลองมะดัน แม้ว่าภายหลังได้มีการ เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอัมพวัน แต่ชาวบ้านและคนใน จ.สุพรรณบุรี ทั่วๆ ไปยังนิยมเรียกชื่อเก่าว่า วัดคลองมะดัน เหมือนเดิม
    หลวงพ่อโหน่ง ท่านเป็นพระปฏิบัติทางธรรม มุ่งแสวงหาเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทำให้แจ้งในพระนิพพาน ชอบอยู่แต่ในป่าช้า นั่งภาวนาเรื่อยไป ท่านจึงได้ธรรมชั้นสูงแต่จะถึงขั้นไหนยังไม่เคยมีใครไปถามท่านดู รู้กันแต่ว่า หลวงพ่อโหน่ง มีหูทิพย์ ตาทิพย์ สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำราวกับตาเห็น ไม่มีการผิดพลาด เป็นเรื่องที่เล่ากล่าวขานกันในบรรดาศิษย์และผู้ที่ใกล้ชิดอยู่เสมอ
    โยมบิดาของหลวงพ่อโหน่งชื่อ นายโต โยมมารดาชื่อ นางจ้อย นามสกุล โตงาม ท่านเกิดปีขาล ตรงกับวันอาทิตย์ พ.ศ. ๒๔๐๘ ณ หมู่บ้านท้ายบ้าน ต.ต้นตาล อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนฝั่งคลองสองพี่น้อง ฝั่งเดียวกับวัดสองพี่น้อง หลวงพ่อโหน่งมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๙ คน โดยท่านเป็นลูกคนที่ ๔
    เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ ท่านอายุครบ ๒๔ ปี จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง โดยมีพระอธิการจันทร์ วัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌายะ พระอธิการดิษย์ วัดทุ่งคอกเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสุด วัดท่าจัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌายะว่า อินทสุวณฺโณ
    [​IMG] หลังจากอุปสมบทแล้วได้จำพรรษา อยู่ที่วัดทุ่งคอก ๒ ปี เพื่อเรียนหนังสือกับพระอุปัชฌายะ และต่อมาได้ย้ายมาอยู่วัดสองพี่น้องซึ่งใกล้บ้าน ท่านมีความสนใจในเรื่องวิปัสสนาธุระและคันถธุระเป็นอย่างมาก ต่อมาได้มาขอฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อยู่หลายปี
    เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านก็เป็นศิษย์ในสำนักหลวงพ่อเนียมวัดน้อย เช่นเดียวกันแต่ หลวงพ่อปานเป็นศิษย์รุ่นน้องมีเรื่องเล่ากันว่า ก่อนหลวงพ่อเนียมจะมรณภาพ ท่านได้กล่าวกับหลวงพ่อปานว่า "ถ้าข้าตาย แล้วหากสงสัยอะไรให้ไปถามท่านโหน่ง วัดคลองมะดัน เขาพอจะแทนข้าได้"
    แสดงว่าหลวงพ่อโหน่งเรืองวิชามาก จนได้รับการยกย่องจากหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่
    นอกจากนี้ยังมีหลักฐานปรากฏว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ หลวงพ่อโหน่ง อายุ ๔๑ ปี จำพรรษาอยู่ ที่วัดสองพี่น้อง พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) วัดปากนํ้า ได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้องและ พระสงฆ์ที่มีส่วนร่วมในการอุปสมบทในครั้งนั้นคือ หลวงพ่อโหน่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และต่อมาหลวงพ่อสดก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโหน่งเช่นกัน
    วัตถุมงคล หลวงพ่อโหน่งท่านได้สร้างไว้เป็นจำนวนมาก คาดว่าเริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นมา และสร้างต่อมาเรื่อยๆ น่าจะไม่ตํ่ากว่า ๘๔,๐๐๐ องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อดินทั้งหมด มีมากมาย หลายพิมพ์ ไม่ตํ่ากว่า ๔๐ พิมพ์ ทุกพิมพ์จะได้รับความนิยมแตกต่างกันออกไป มีทั้งเนื้อละเอียด และเนื้อหยาบคล้ายๆ พระกรุตระกูลกำแพงเพชร ส่วนด้านหลังขององค์พระมีทั้งหลังเรียบและจารอักขระ
    พระหลวงพ่อโหน่งที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ พิมพ์ซุ้มกอ ซึ่งออกเป็นพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ค่านิยมก็แตกต่าง กันไปตามสภาพ
    นอกจากนี้ พระพิมพ์ขุนแผนหน้าค่าย ก็ได้รับความนิยมเช่นกันแบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ฐานมีบัว และพิมพ์ฐานไม่มีบัว
    ส่วนพระพิมพ์อื่นๆ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ พระลีลาหรือพระกำแพงนิ้ว พระสมเด็จฐานคู่ และอีกหลายๆ พิมพ์ที่ไม่ได้เอ่ยนามไว้ ณ ที่นี้ ต่างได้รับความนิยมทุกๆ พิมพ์ตามสภาพความงามของพระองค์นั้นๆ
    การปลุกเสกพระของหลวงพ่อโหน่งนั้นท่านปลุกเสกเดี่ยวเพียงองค์เดียวเท่านั้น และท่านจะปลุกเสกตลอด ไตรมาสในช่วงเข้าพรรษา พอออกพรรษาแล้วก็จะมีการ ฉลองสมโภชพระที่สร้างใหม่ โดยอาราธนาพระสงฆ์ ในวัดคลองมะดันมาสวดพระพุทธมนต์ ส่วนตัวท่านเป็นประธานพิธี พอเสร็จพิธีในการสวดพุทธมนต์แล้ว ท่านจะขึ้นธรรมาสน์เทศนาสั่งสอนผู้คนที่มารับแจกพระจากมือท่าน
    [​IMG]ข่าวหลวงพ่อโหน่งสร้างพระและแจกพระแพร่กระจาย ออกไปมีประชาชนทั้งใกล้ และไกลมารับแจกพระจากท่านเป็นจำนวนมาก ทุกๆ วัน หลวงพ่อโหน่งต้องเพิ่มกิจวัตร ในการแจกพระเป็นเวลานาน
    นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อโหน่งยังได้นำพระอีกส่วนหนึ่ง ไปบรรจุไว้ที่ปูชนียสถาน หลายแห่งภาย ในวัดคลองมะดัน และที่วัดทุ่งคอกด้วย ส่วนที่เหลือก็แจกให้แก่ ผู้ที่มาขอตลอดอายุขัยของท่าน
    เมื่อหลวงพ่อโหน่งมรณภาพแล้ว พระก็ยังเหลืออยู่ อาจารย์ฉวย ปัญญารตนะ เจ้าอาวาส รูปต่อมาก็ได้ทำตามเจตนารมณ์ ของหลวงพ่อโหน่งทุกประการ คือ แจกพระหลวงพ่อโหน่งให้แก่ผู้ที่มาทำบุญเรื่อย มาจนอาจารย์ฉวยมรณภาพลง พระที่แจกก็ยังไม่หมด
    อาจารย์หนำ ยะสะสี เจ้าอาวาสรูปต่อมา ก็ได้แจกพระหลวงพ่อโหน่ง ตามเจ้าอาวาสรูปก่อน พระหลวงพ่อโหน่ง จึงได้หมดไปในที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระหลวงพ่อโหน่งสร้างไว้หลายพิมพ์และมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีใคร ทราบจำนวนที่แท้จริงว่าสร้างมากเท่าไร จะรู้เพียงว่าสร้างด้วยเนื้อดินเผาทั้งหมด
    นอกจากพระเครื่องชนิดเล็กๆ สำหรับห้อยคอติดตัวแล้ว หลวงพ่อโหน่ง ยังได้สร้างพระขนาดใหญ่เพื่อเอาไว้บูชาตั้ง ไว้ในบ้านอีกด้วย เช่น พระกำแพงศอกเนื้อดินเผาและพิมพ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระรูปเหมือนหลวงพ่อโหน่ง แบบลอยองค์แบบพระบูชา เนื้อทำด้วยปูน เป็นต้น โดยท่านจะเขียนคำอวยพรไว้ด้านหลังองค์พระเป็นภาษาไทยไว้ด้วย
    ส่วนการสร้างพระของบรรดาศิษย์และผู้ใกล้ชิดสร้างขึ้นไว้เป็น สมบัติส่วนตัวโดยเฉพาะโดยได้ขออนุญาตให้หลวงพ่อโหน่ง ปลุกเสกให้ แต่มีจำนวนน้อยมากยากที่จะเสาะหาในปัจจุบัน เนื่องจากพระหลวงพ่อโหน่งมีของเทียมมาก เช่าหาโปรดจงระวัง
    หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๕ ธ.ค. ๒๔๗๗ อายุ ๖๙ ปี พรรษา ๔๖ โดยท่านมรณภาพในปางไสยาสน์แบบอาจารย์ของท่านคือ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย
    นับว่าหลวงพ่อโหน่งเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษท่านหนึ่งของประเทศไทย


    ที่มา - คมชัดลึก
     
  2. มันตรัย

    มันตรัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    8,346
    ค่าพลัง:
    +8,190
    ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูลดีๆ
     
  3. นายวัชพล

    นายวัชพล Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มกราคม 2008
    โพสต์:
    18
    ค่าพลัง:
    +27
    ขอบคุณพี่อดุลย์มากครับ ที่นำข้อมูลมาฝากอีก
     

แชร์หน้านี้

Loading...