ฉลอง 260 ปีพุทธนิกายสยามวงศ์ ธรรมทูตสานสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย aprin, 30 สิงหาคม 2013.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ในปี 2556 สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 260 ปี การสถาปนาพระพุทธศาสนาสยามนิกายในศรีลังกา หนึ่งในกิจกรรมเป็นการสัมมนานานาชาติ เรื่อง "การแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนานานาชาติในบริบทโลก" ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม ที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประเทศไทย ร่วมกับคณะสงฆ์สยามนิกาย ฝ่ายมัลวัตตา ฝ่ายอัสสคีรีและวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ศรีลังกา มีคณะสงฆ์และฆราวาสจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม อาทิ เนปาล พม่า ลาว จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คณะสงฆ์ไทยเข้าร่วม 80 รูป โดยพิธีเปิดอนุนายก ฝ่าย มัลลวัตตา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และ มิสเตอร์เอสบี ดิสสา นายก รมว.ศึกษาธิการ ศรีลังกาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส

    พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมจร. หัวหน้าคณะสงฆ์ไทย ที่เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า การสัมมนาใช้ 2 ภาษา มีภาษาบาลีและภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งเพื่อเดินตามรอยพระอุบาลีที่ใช้ภาษาบาลีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้วยการใช้ถ่านเขียนภาษาบาลีเป็นอักษรขอมลงบนผ้าไหมสีขาว มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ไม่เพียงแต่พระสงฆ์แม้แต่ฆราวาสศรีลังกาก็สื่อสารภาษาบาลีได้ด้วย ถือเป็นจุดแข็ง ส่วนไทยมีแต่การสอนและสอบเขียนภาษาบาลี ไม่มีการสนทนาภาษาบาลี ดังนั้นหากไทยจะสนทนาภาษาบาลีควรจะเริ่มที่มจร.ก่อน เพราะมีหลักสูตรภาษาบาลีในไทยต้องจัดการสนทนาภาษาบาลีเป็นหัวข้อหนึ่งในการสอบ และจัดสัมมนาเป็นภาษาบาลีด้วย

    ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากส่งเสริมให้ฆราวาสรู้ภาษาบาลี คือ 1. การศึกษา ซึ่งไม่เข้าถึงธรรมะ เพราะไม่ได้เรียนรากศัพท์ภาษาบาลี ทำให้ไม่เข้าใจธรรมะลึกซึ้ง 2. การสวดมนต์ สามารถสวดบทยากๆ ได้ และ 3.สามารถส่งเสริมให้มีการนำคัมภีร์เก่าๆ มาศึกษาหรือแต่งคัมภีร์ใหม่เป็นภาษาบาลี

    "นักวิชาการศรีลังกาบางท่านตั้งข้อสงสัยว่าศรีลังการับพระพุทธศาสนาจากพม่า ทำไมเน้นให้ความสำคัญเฉพาะประเทศไทย อาตมาก็ได้บอกไปว่าไทยและศรีลังกายังคงสานสัมพันธ์ด้วยกันมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันมาตลอดจนทุกวันนี้ ไม่ได้เริ่มในสมัยพระอุบาลีแล้วห่างหายจากกันไป ภายหลังเสร็จสิ้นได้รับเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องการให้จัดเช่นนี้ทุกปี อาจเป็นลักษณะปีนี้จัดที่ศรีลังกาปีหน้าจัดที่ไทยให้เกิดสมดุล เพื่อไทยและศรีลังกาจะแลกเปลี่ยนวิชาการ ในการแปลคัมภีร์ไบลานจากภาษาบาลีและสิงหลเป็นภาษาไทยที่ศรีลังกามีการเก็บรักษาไว้จำนวนมาก ซึ่งมจร.ทยอยแปล เช่น คัมภีร์ตำรายาต่างๆ คัมภีร์ชาดก" พระพรหมบัณฑิตกล่าว

    นายอำนาจ บัวศิริ รองผอ.พศ. กล่าวว่า ศรีลังกามีการเก็บคัมภีร์ พระสูตรต่างๆ ไว้อย่างดี ไทยควรจะศึกษาและเผยแพร่ต่อไป รวมถึงก่อนเริ่มงานจะรับศีล 5 เป็นสิ่งที่ไทยควรทำ โดยให้ระลึกศีล 5ด้วยตนเอง ที่น่าสนใจคือการเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในศรีลังกา โดยพ่อแม่จะพาเด็กมาส่งที่วัด ช่วงเที่ยงจะนำข้าวมาส่ง เด็กจะได้อยู่วัดทั้งวันหรือหากพ่อแม่ไม่ติดภารกิจจะอยู่ร่วมกับเด็ก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาของศรีลังกาเหนียวแน่น เหล่านี้เป็นสิ่งที่พศ.จะต้องประสานงานต่อในแง่ของวิชาการ

    ย้อนถึงจุดก่อเกิดของพระพุทธศาสนา "นิกายสยามวงศ์" ในประเทศศรีลังกา เริ่มสมัย "พระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์" แห่งอาณาจักรแคนดี้ราวพ.ศ.2282-2290 พระพุทธศาสนาในลังกาเสื่อม ทรงปรึกษาสามเณรสรณังกร ผู้รอบรู้ภาษาบาลีและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งได้เสนอให้ส่งพระธรรมทูตไปขอพระสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาที่มีพุทธศาสนาที่มั่นคงมาช่วยฟื้นฟู แต่ไม่สำเร็จ ครั้งแรกเรืออับปาง ครั้งต่อมาเดินทางปากน้ำกรุงสยามแต่กลับก่อนที่จะถวายพระราชสาสน์ต่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์สิ้นพระชนม์ กระทั่ง "สมัยพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์" ได้ส่งราชทูตและคณะ เชิญพระราชสาสน์มากรุงสยามอีกครั้ง และได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ วันที่ 29 ตุลาคม 2294

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้คณะสงฆ์และราชทูตเดินทางไปลังกา แต่พบคลื่นใหญ่ เสากระโดงหัก เกยตื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะมีการเดินทางอีกครั้งมีพระราชาคณะ 2 รูปเป็นผู้นำ คือ พระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระใช้เวลา 5 เดือน 4 วันและเดินทางต่อไปเมืองแคนดี พักที่กุฏิสร้างใหม่ที่วัดมัลวัตตะ โดยมีพระสงฆ์สืบต่อจากพระอุบาลี 2 รูปกลายเป็น 2 นิกายย่อย ได้แก่ ฝ่ายมัลลวัตตาและฝ่ายอัสสคีรี จนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2296 พระอุบาลีเป็นประธานทำการอุปสมบทสามเณรสิงหล จึงเป็นการเริ่มประดิษฐาน สยามวงศ์ในศรีลังกา

    ขณะนี้ถือเป็นนิกายใหญ่ที่สุดมีจำนวนพระสงฆ์ร้อยละ 80 ของพระสงฆ์ในศรีลังกาไทยและศรีลังกามีความร่วมมือด้านพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ศรีลังกาเปิดสถาบันวิชาการพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา (SIBA) ที่เมืองแคนดี เป็นสถาบันสมทบของมจร. ซึ่งในโอกาสเฉลิมฉลอง 260 ปี นิกายสยามวงศ์ ไทยให้ทุนพระสงฆ์ศรีลังกามาศึกษาในไทย รวม 26 ทุน เป็นทุนของมจร. 5 ทุน และทุนของพศ. 21 ทุน ในส่วนของมจร.เป็นทุนระดับปริญญา (ป.)ตรี 2 ทุน ป.โท 1 ทุน และป.เอก 2 ทุน ที่สำคัญสภามจร.ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พระพุทธศาสนาแก่พระมหานายกแห่งสยามนิกายฝ่ายอัสสคีรีและอนุนายกแห่งสยามนิกายฝ่ายมัลลวัตตา โดยพระมหานายกได้ถวายแล้ว

    ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ ขณะที่ในศรีลังกามีนิกายสยามวงศ์ สะท้อนถึงความร่วมมือที่ดีต่อกันมาอย่างช้านาน โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นดั่งทูตสร้าง กระชับ และสานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น เพราะทั้ง 2 ประเทศมีศาสนาประจำชาติเช่นเดียวกัน คือ "พระพุทธศาสนา"
    .........................................

    (ฉลอง 260 ปีพุทธนิกายสยามวงศ์ ธรรมทูตสานสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา : โดย...พวงชมพู ประเสริฐ )

    หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 256
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 สิงหาคม 2013

แชร์หน้านี้

Loading...