จิต....คืออะไร?

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย สันโดษ, 29 พฤศจิกายน 2008.

  1. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    จิต....เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ คือ ได้รับอารมณ์อยู่เสมอ จึงเรียกว่า รู้อารมณ์
    ดังพระบาลีที่ว่า อารมฺมณํ จินฺเตตีติ - จิตฺตํ ธรรมชาติใด ย่อมรู้อารมณ์อยู่เสมอ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า จิต
    อารมณ์ เป็นธรรมชาติที่ถูกจิตรู้ มี ๖ อย่างคือ....
    ๑. รูปารมณ์ ได้แก่ รูปสี ถูกจิตรู้ด้วยการ เห็น
    ๒. สัททารมณ์ ได้แก่ เสียง ถูกจิตรู้ด้วยการ ได้ยิน
    ๓. คันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่น ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้กลิ่น
    ๔. รสารมณ์ ได้แก่ รส ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้รส
    ๕. โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ แข็ง อ่อน เย็น ร้อน หย่อน ตึง ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้สัมผัส
    ๖. ธรรมารมณ์ ได้แก่ จิต เจตสิก ปสาทรูป* สุขุมรูป** นิพพาน บัญญัติ ถูกจิตรู้ด้วยการ คิด นึก
    การรู้อารมณ์ มี ๓ แบบ คือ....
    ๑. การรู้แบบสัญญารู้ คือ การรู้โดยอาศัยการกำหนดจดจำเอาไว้ เช่น จำได้ว่า สีขาว สีดำ ผู้หญิง ผู้ชาย เป็นต้น
    ๒. การรู้แบบปัญญารู้ คือ การรู้เหตุผลตามความเป็นจริง เช่น รู้บาป บุญ คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ หรือรูป-นามตามความเป็นจริง เป็นการรู้เพื่อทำลายกิเลส รู้เพื่อทำลายความเห็นผิด เป็นต้น เรียกว่า "ปัญญารู้"
    ๓. การรู้แบบวิญญาณรู้ คือรู้ว่า ได้มีการรับอารมณ์อยู่เสมอ ตามทวารต่างๆ ได้แก่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สึกถูกต้อง และรู้คิด
    (* ปสาทรูป ๕ ได้แก่ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท และกายปสาท)
    (** สุขุมรูป หมายถึง รูปที่ละเอียด รู้ได้ยาก)
     
  2. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    การรู้อารมณ์ของจิต จึงเป็นการรู้แบบวิญญาณรู้ นั่นเอง เพราะคำว่า "จิต" หรือ "วิญญาณ" มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน ในปฏิสัมภิทาพระบาลีมหาวรรค ได้แสดงไว้ว่า จิตมีชื่อต่างๆใช้เรียกขานกันถึง ๑๐ ชื่อ ดังแสดงว่า....
    ยํ จิติตํ หทยํ มานสํ ปณฺฑรํ มนายตนํ มนินฺทฺริยํ วิญฺญาณํ วิญฺญาณกฺขนฺโธ ตฺชชา มโนวิญฺญาณธาตุ อิทํ จิตฺตํ อัฏฐสาลินีอรรถกถาธิบายไว้ว่า
    ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "จิต"
    ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "มโน"
    จิตที่รวบรวมไว้ภายในนั่นแหละ ชื่อว่า "หทัย"
    ธรรมชาติฉันทะ คือความพอใจที่มีอยู่ในใจนั้น ชื่อว่า "มานัส"
    จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงชื่อว่า "ปัณฑระ"
    มนะที่เป็นอายตนะ คือเครื่องต่อ จึงชื่อว่า "มนายตนะ"
    มนะที่เป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า "มนินทรีย์"
    ธรรมชาติใดที่รู้อารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า"วิญญาณ"
    วิญญาณที่เป็นขันธ์ จึงชื่อว่า"วิญญาณขันธ์"
    มนะที่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์ จึงชื่อว่า "มโนวิญญาณธาตุ"
     
  3. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    สามัญลักษณะของจิต
    จิตเป็นสังขตธรรม คือ เป็นธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่ง โดยอำนาจแห่งปัจจัย มีอารัมณปัจจัย อนันตรปัจจัย (ปัจจัยที่เกิดขึ้นอุปการะติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น)เป็นต้น จิตจึงมีสภาวะที่เป็นสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณะ คือ....
    อนิจจลักษณะ คือ สภาพความไม่เที่ยง แปรปรวน
    ทุกขลักษณะ คือ สภาพความทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นเบียดเบียน
    อนัตตลักษณะ คือ สภาพความไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นแก่นสาร ที่เหนืออำนาจการบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใดๆได้
    เพราะจิตมีสภาพที่เป็นไตรลักษณ์ดังกล่าวนี้ จิตจึงมีอาการเกิด-ดับสืบต่อเนื่องกันไปเป็นสาย และการเกิด-ดับสืบต่อนี้รวดเร็วมาก มีอนุมานว่า ชั่วลัดนิ้วมือเดียว "จิตเกิด-ดับถึงแสนโกฏิขณะ"
    สังขตธรรมอื่น คือ เจตสิกและรูป ก็มีสามัญลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉนั้น การที่จะเข้าใจสภาวะลักษณะอันแท้จริงของจิตนั้นได้ จะต้องพิจารณาจากวิเสสลักษณะ คือลักษณะพิเศษประจำตัวของจิต ๔ ประการ ที่เรียกว่า "ลักขณาทิจตุกะ"ของจิต คือ....
    วิชานนลกฺขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
    ปุพฺพงฺคทรสํ มีการเป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
    สนฺธานปจฺจุปฏฺฐานํ มีการเกิดสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฏ
    นามรูปปทฏฺฐานํ มีนาม-รูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
    ในธรรมบทภาคสอง ได้แสดงถึงสภาพของจิตไว้ดังนี้
    ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ
    เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
    แปลว่า ชนทั้งหลายใดจักระวังจิต ซึ่งไปไกล ไปเดี่ยว ไม่มีสรีระ ไม่มีคูหาเป็นที่อาศัยไว้ได้ ชนทั้งหลายนั้น จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร
    จากคาถาธรรมบทนี้ แสดงสภาพของจิต ให้ได้ทราบไว้หลายนัย คือ.....
     
  4. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    ในธรรมบทภาค ๒ ได้แสดงถึงสภาพจิตไว้ ดังนี้....
    ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ
    เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
    แปลว่า ชนทั้งหลายใดจักระวังจิต ซึ่งไปไกล ไปเดี่ยว ไม่มีสรีระ ไม่มีคูหาเป็นที่อาศัยไว้ได้ ชนทั้งหลายนั้น จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร (กิเลส)
    จากคาถาธรรมบทนี้ แสดงสภาพของจิต ให้ได้ทราบไว้หลายนัย คือ....
    จิต เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไปได้ไกล (ทูรงฺคมํ) หมายถึงจิตสามารถน้อมเอาอารมณ์ที่อยู่ไกลแสนไกล ที่เคยพบเห็นมาแล้ว เอามานึกคิดได้ ไม่ใช่จิตออกจากร่างไปท่องเที่ยวได้ไกล
    จิต เป็นธรรมที่ไปเดี่ยว หรือไปดวงเดียว (เอกจรํ) หมายถึงจิตรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง จิตขณะหนึ่งจะรู้อารมณ์หลายอย่างพร้อมกันไม่ได้ จิตขณะหนึ่งรู้อารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากจิตเกิด-ดับรวดเร็วมาก จึงเหมือนกับสามารถรู้อารมณ์ได้หลายอย่างในคราวเดียวกันได้ จิตขณะหนึ่งๆ ย่อมรู้อารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น
    จิต เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐานให้รู้ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น มีสภาวะเป็นอรูปธรรม จึงไม่อาจแสดงรูปร่างสัณฐานให้ปรากฏได้ (อสรีรํ)
    จิต เป็นธรรมชาติที่ต้องมีวัตถุเป็นที่เกิดและที่อาศัย (คุหาสยํ) สำหรับสัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ คือภูมิที่มีรูปนามขันธ์ ๕ วัตถุที่อาศัยของจิตมี ๖ แห่ง ได้แก่ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทัยวัตถุ โดยสภาวะปรมัตถธรรม ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทัยวัตถุรูป ๑ จิตจะล่องลอยออกไปนอกวัตถุที่อาศัยไม่ได้ แม้เวลาตาย จิตก็ดับลงพร้อมกับความดับของหทัยวัตถุรูป นั่นเอง
    จิตของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากจิตของพระอรหันต์ ย่อมถูกอาสวะกิเลส ผูกพันอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่รู้ความจริงของรูปนาม คือทุกขสัจจะ จึงเกิดความสำคัญผิดว่า รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวเรา ปรารถนาความสวย ความสุข ความเที่ยง วิปลาสไปจากความเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะเหตุนั้น พระพุทธองค์จึงให้ระวังรักษาจิต ให้พ้นจากเครื่องผูกของมาร (กิเลส) โดยจะต้องเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็น"ทางสายเอกทางเดียว" ที่จะทำให้หมดจดจากกิเลส แจ้งพระนิพพาน และพ้นจากสังสารทุกข์ได้
    ฉะนั้น จึงไม่มีจิตของใคร ที่เกิดมาพร้อมความบริสุทธิ์ได้ ต้องถูกกิเลสมารผูกพันไว้อยู่ทั่วหน้ากัน จึงจำเป็นต้องฟังธรรม และปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธองค์เท่านั้น จึงจะสามารถหลุดพ้นจากกิเลส เครื่องผูกแห่งมารได้
     
  5. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    อำนาจจิต....
    จิต....นอกจากจะมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะแล้ว ยังมีกิจหรือหน้าที่เป็นประธานในธรรมทั้งปวง คือ ทำให้สำเร็จในการงานทั้งหลาย ทางกาย วาจา ใจ ดังในธรรมบทกล่าวว่า
    มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา
    มนสา เจ ปทุฏเฐน ภาสติ วา กโรติ วา
    ตโตนํ ทุกฺเนวฺติ จกฺกวํ วทโต ปทํ
    ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใดมีใจชั่วแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไป ดุจล้อหมุนตามรอยเท้าแห่งโค ที่นำแอกไปอยู่ ฉะนั้น
    มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา
    มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา
    ตโตนํ สุขมาเนวฺติ ฉายาว อนุปายินี
    ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใดมีใจดีแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความดีนั้น สุขย่อมตามบุคคลนั้นไป ดุจเงาติดตามตน ฉะนั้น
    แสดงว่า การงานต่างๆของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำบาป ทำบุญ อย่างไรก็ตาม ล้วนสำเร็จได้ด้วยจิตใจทั้งสิ้น ถ้าไม่มีจิตแล้ว ก็ไม่อาจทำกรรมอะไรได้เลย จิตจึงมีอำนาจกระทำความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ให้วิจิตรต่างๆ ดังวจนะว่า....
    จิตีกโรตีติ - จิตฺตํ แปลความว่า ธรรมชาติใด ทำความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตร ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "จิต"
    ฉะนั้น จิตจึงมีอำนาจ ทำให้ธรรมชาติทั้งหลาย เป็นไปโดยวิจิตร ประมวลความวิจิตรของจิตไว้ ๖ ประการ คือ..........
     
  6. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    จิตฺตีกโรตีติ - จิตฺตํ แปลความว่า ธรรมชาติใด ทำความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตร ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "จิต"
    ฉะนั้น จิตจึงมีอำนาจทำให้ธรรมชาติทั้งหลายเป็นไปโดยวิจิตร ประมวลความวิจิตรของจิตไว้ ๖ ประการ คือ....
    ๑. วิจิตรโดยการกระทำ หมายความว่า วัตถุสิ่งของทั้งหลาย ที่ปรากฏอยู่ในโลก และความประพฤติเป็นไปของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมมีทั้งงดงาม แปลกประหลาด น่าพิศวง และน่าสยดสยองนั้น ล้วนสำเร็จได้ด้วย จิต
    ๒. วิจิตรด้วยตนเอง หมายถึงสภาพของจิตนั้น มีความเป็นไปอย่างน่าพิศวงนานาประการ มีทั้งจิตที่เป็นอกุศล กุศล วิบาก อภิญญา และกิริยา เช่นจิตที่มีราคะ จิตมีโทสะ และจิตที่มีศรัทธา อภิญญา ปัญญา และจิตที่สงบ เป็นต้น
    ๓. วิจิตรในการสั่งสมกรรม และกิเลส หมายถึง กรรม คือการกระทำ และกิเลส เครื่องทำให้จิตเศร้าหมอง ที่ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย อยู่เป็นประจำนั้น เพราะมีการสั่งสมไว้ในจิตมาแล้วแต่อดีต ครั้นมาได้รับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบัน ก็สนับสนุนกรรมและกิเลสให้ปรากฏขึ้นมาใหม่ และจะเก็บสั่งสมไว้ต่อไปอีก
    ๔. วิจิตรในการรักษาวิบากที่กรรมและกิเลสได้สั่งสมไว้ หมายถึงกรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่จิตก่อให้เกิดขึ้น ผลของกรรมคือ วิบาก ย่อมไม่สูญหายไปใหน แม้กรรมนั้นจะเล็กน้อย หรือได้กระทำมาแล้วช้านานปานใดก็ตาม ผลแห่งกรรมคือ วิบากนั้น จะติดตามไปให้ต้องได้รับผล เมื่อถึงโอกาศ
    ๕. วิจิตรในการสั่งสมสันดานตนเอง หมายถึงจิตที่ก่อให้เกิดการกระทำอย่างใดขึ้นก็ตาม เมื่อได้กระทำอยู่เสมอๆเป็นนิตย์แล้ว ย่อมจะติดเป็นนิสัยสันดาน ทำให้เกิดความชำนาญในการกระทำอย่างนั้นเรื่อยๆไป จิตดวงเก่าที่ดับไปนั้น ย่อมส่งมอบกิจการงาน ให้จิตดวงใหม่โดยไม่ขาดสาย ในลักษณะที่เป็น อนันตรปัจจัย และอาเสวนปัจจัย (ปัจจัยที่เกิดขึ้นอุปการะติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น) เป็นต้น
    ๖. วิจิตรด้วยอารมณ์ต่างๆ หมายถึง จิตย่อมรับอารมณ์ต่างๆอยู่เสมอ คือประเดี๋ยวเห็น ประเดี๋ยวได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส เป็นต้น สับเปลี่ยนเวียนวนอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปารมณ์บ้าง สัททารมณ์บ้าง คันธารมณ์บ้าง เป็นต้น..
     
  7. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า สิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตทั้งหมดที่วิจิตรพิศดารนั้น เพราะอำนาจแห่งจิต คือมีจิตเป็นผู้กระทำให้วิจิตร ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต ก็ได้แก่วัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลก และในสิ่งที่มีชีวิต ก็ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย
    สัตว์ทั้งหลายที่วิจิตรนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร กำเนิดวิจิตรเพราะการกระทำ (อกุศล กุศล)วิจิตร การกระทำวิจิตรเพราะตัณหา คือความยินดีติดใจในวิจิตร ตัณหาวิจิตรเพราะสัญญาวิจิตร สัญญาวิจิตรเพราะจิตสั่งสมวิจิตร ดังบาลีในปรมัตถทีปนีฏีกา แสดงว่า..
    จิตฺตวิจิตฺตตาย สญฺญาวิจตฺตตา สญฺญาวิจิตฺตตาย ตณฺหาวิจิตฺตตา.
    ตณฺหาวิจิตฺตตาย กมฺมานิ วิจิตฺตานิ กมฺมวิจิตฺตตา โยนิโย วิจิตฺตตา.
    โยนิวิจิตฺตตาย เตสํ ติรัจฺฉานคตานํ วิจิตฺตตาเวทิตพฺพา
    แปลว่า ความวิจิตรของสัตว์ทั้งหลายนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร กำเนิดวิจิตรเพราะการกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร. การกระทำทางกาย วาจา ใจวิจิตร เพราะตัณหา คือความพอใจวิจิตร. ตัณหาวิจิตรก็เพราะสัญญา คือความจำเรื่องราวต่างๆ วิจิตร. สัญญาวิจิตรก็เพราะจิตวิจิตร
    รวมความแล้ว จิต ทำให้วิจิตรทั้งภายใน และภายนอกสันดานของตน คือทำให้สัตว์ทั้งหลายวิจิตร และทำให้วัตถุภายนอกวิจิตร
    จำนวนจิต
    เมื่อกล่าวตามสภาวะลักษณะของจิตแล้ว จิตมีจำนวนเพียง ๑ เท่านั้น เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ขณะใดจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นการรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้น จะห้ามการรู้อารมณ์ไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ สภาวะลักษณะของจิต เมื่อกล่าวโดยทั่วไป จึงเป็นการรู้อารมณ์อย่างเดียว เมื่อนับจำนวนโดยสภาวะลักษณะแล้ว จึงมีเพียง ๑ แต่จะกล่าวถึงลักษณะที่รู้อารมณ์พิเศษของจิตแล้ว จิตจะมีความสามารถในการรู้อารมณ์ไม่เหมือนกัน โดยอำนาจการปรุงแต่งของเจตสิก ที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีที่อาศัย และมีอารมณ์อันเดียวกันกับจิต จึงทำให้จิตมีความสามารถในการรูอารมณ์พิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น รู้ในเรื่องที่เป็นบุญ เป็นบาป รู้ในการสงบระงับจากกาม คือรู้ในเรื่องรูปฌาณ อรูปฌาณ และรู้อารมณ์นิพพาน
     
  8. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    แสดงกิจของจิต ๑๔ อย่าง....
    หน้าที่ของจิต-เจตสิก ที่ทำกิจการงานทั้งหมดนั้น มีอยู่ ๑๔ อย่าง คือ......
    ๑. ปฏิสนธิกิจ ทำหน้าที่สืบต่อภพใหม่
    ๒. ภวังคกิจ ทำหน้าที่รักษาองค์แห่งภพ
    ๓. อาวัชชนกิจ ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏใหม่
    ๔. ทัสสนกิจ ทำหน้าที่เห็น
    ๕. สวนะกิจ ทำหน้าที่ได้ยิน
    ๖. ฆายกิจ ทำหน้าที่รู้กลิ่น
    ๗. สายนกิจ ทำหน้าที่รู้รส
    ๘. ผุสนกิจ ทำหน้าที่รู้ถูกต้อง-สัมผัส
    ๙. สัมปฏิจฉนกิจ ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์ (อารมณ์ ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย)
    ๑๐. สันตีรณกิจ ทำหน้าที่ไต่สวนปัญจารมณ์
    ๑๑. โวฏฐัพพนกิจ ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์
    ๑๒. ชวนะกิจ ทำหน้าที่เสพอารมณ์
    ๑๓. ตทาลัมพนกิจ ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ
    ๑๔. จุติกิจ ทำหน้าที่ดับสิ้นไปจากภพ
     
  9. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    อธิบาย กิจของจิต ๑๔ อย่าง....
    ๑. ปฏิสนธิ คือ หน้าที่ของจิต ที่ทำหน้าที่เกิดขึ้นสืบต่อไปในภพใหม่ เป็นขณะจิตแรกที่ปรากฏขึ้นในภพใหม่นั้น และจะปราฏกขึ้นเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น ในภพชาติหนึ่งๆ
    ๒. ภวังคจิต คือ จิตที่ทำหน้าที่ รักษาองค์แห่งภพ หมายความถึง รักษากรรมวิบากของรูปธรรม นามธรรม สืบต่อจากปฏิสนธิวิบากจิต และปฏิสนธิกัมมชรูป(รูปที่เกิดจากกรรม) ให้ดำรงอยู่ได้ในภพนั้นๆ ตราบเท่าอำนาจแห่งชนกกรรม(กรรมที่นำเกิด)จะส่งผลให้เป็นไปเท่าที่อายุสังขาร จะพึงตั้งอยู่ได้ ภวังคจิตนี้ เป็นหน้าที่ตามธรรมดาของจิต ที่จะต้องทำกิจนี้อยู่เสมอ จิตจะหยุดทำกิจนี้ ก็ต่อเมื่อขณะที่มีอารมณ์ใหม่ ในปัจจุบันมาคั่นตอนให้จิตขึ้นวิถี รับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันเสียเท่านั้น พ้นจากการขึ้นวิถี รับอารมณ์ใหม่แล้ว จิตจะต้องทำหน้าที่ในการรักษาองค์แห่งภพนี้ อยู่เสมอตลอดเวลา
    ๓. อาวัชชนกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ๖ ที่มาถึงตน ทั้งทางปัญจทวาร(ทวาร ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย)หรือทางมโนทวาร(ทางใจ) เป็นจิตขณะแรกที่ทิ้งจากภวังคกิจ แล้วจะต้องทำหน้าที่ อาวัชชนกิจนี้ทันที หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นจิตที่ทำหน้าที่ต้อนรับอารมณ์ใหม่ ในปัจจุบันภพ กล่าวได้ว่า เป็นจิตดวงที่ขึ้นวิถีรับอารมณ์ใหม่.
     
  10. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    ๔. ทัสสนกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่เห็นรูปารมณ์(รูป) จิตนี้มีชื่อเรียกว่า จักขุวิญญาณจิต เพราะอาศัยจักขุวัตถุ รู้เห็นรูปารมณ์ ถ้าไม่มีจักขุปสาท ทำหน้าที่เป็นจักขุวัตถุแล้ว ทัสสนกิจ คือ จิตที่ทำหน้าที่เห็น จะเกิดขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่เห็นนี้ ในวิถีจิตหนึ่งๆ ทัสสนกิจ จะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือ ขณะที่จักขุวิญญาณจิต เกิดขึ้นในจักขุทวารวิถีเท่านั้น
    ๕. สวนะกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่ได้ยินสัททารมณ์(เสียง) จิตนี้มีชื่อเรียกว่า โสตวิญญาณจิต เพราะอาศัยโสตวัตถุเกิด เพื่อรู้ได้ยินสัททารมณ์ ถ้าไม่มีโสตปสาททำหน้าที่เป็นโสตวัตถุแล้ว สวนะกิจ คือ จิตที่ทำหน้าที่ได้ยิน จะเกิดขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่ได้ยินนี้ ในวิถีจิตหนึ่งๆ สวนะกิจจะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือขณะที่โสตวิญญาณจิตเกิดขึ้นในโสตทวารวิถี
    ๖. ฆายนกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่รู้กลิ่นคันธารมณ์(กลิ่น) จิตนี้มีชื่อเรียกว่า ฆานวิญญาณจิต เพราะอาศัยฆานวัตถุ รู้กลิ่นคันธารมณ์ ถ้าไม่มีฆานปสาททำหน้าที่ เป็นฆานวัตถุแล้ว ฆายนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รู้กลิ่น ก็มีขึ้นไม่ได้ และกิจที่ทำหน้าที่รู้กลิ่นนี้ ในวิถีจิตหนึ่งๆ ฆายนกิจ จะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือขณะที่ฆานวิญญาณจิตเกิดขึ้นในฆานทวารวิถี
     
  11. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    ๗. สายนกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่รู้รสารมณ์(รส) จิตนี้เรียกว่า ชิวหาวิญญาณจิต เพราะอาศัยชิวหาวัตถุรู้รสารมณ์ ถ้าไม่มีชิวหาปสาท ทำหน้าที่เป็นชิวหาวัถุแล้ว สายนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รู้รสารมณ์ ก็จะมีขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่รู้กลิ่นนี้ ในวิถีจิตหนึ่งๆ สายนกิจ จะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือชิวหาวิญญาณจิต ที่เกิดในชิวหามวารวิถี
    ๘. ผุสนกิจ คือ จิตที่ทำหน้าที่รู้การกระทบโผฏฐัพพารมณ์(ถูกต้อง-สัมผัส) จิตนี้ชื่อว่า กายวิญญาณจิต เพราะอาศัยกายวัตถุ เพื่อทำกิจรู้การกระทบถูกต้องสัมผัสโผฏฐัพพารมณ์ ถ้าไม่มีกายปสาท เพื่อทำหน้าที่เป็นกายวัตถุแล้ว ผุสนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รู้การกระทบโผฏฐัพพารมณ์ ก็จะมีขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่ผุสนกิจนี้ ในวิถีจิตหนึ่งๆ ผุสนกิจจะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือขณะกายวิญญาณจิตเกิด ในกายทวารวิถีเท่านั้น
    ๙. สัมปฏิจฉนกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์(อารมณ์ ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ต่อจากทวิปัญจวิญญาณจิต ในปัญจทวารวิถีหนึ่งๆ สัมปฏิจฉนกิจ จะเกิดขึ้นเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น
    ๑๐. สันตีรณกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่ไต่สวนปัญจารมณ์ ต่อจากสัมปฏิจฉนกิจ ในปัญจทวารวิถีวิถีจิตหนึ่งๆ สันตีรณกิจจะเกิดขึ้นขณะจิตเดียวเท่านั้น
     
  12. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    ๑๑. โวฏฐัพพนกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ โดยความเป็น กุศล อกุศล เป็นต้น จิตนี้ ชื่อว่า มโนทวาราวัชนจิต ทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวารวิถี ในวิถีจิตที่สมบูรณ์ วิถีจิตหนึ่งๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ขณะจิตเดียว ในวิถีจิตที่ไม่สมบูรณ์ คือในโวฏฐัพพนวาระ อาจเกิดได้ ๒-๓ ขณะ
    ๑๒. ชวนะกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่เสพอารมณ์ ๖ ด้วยกุศลจิต อกุศลจิต สเหตุกกิริยาจิต และโลกุตตรวิบากจิต ในวิถีจิตหนึ่งๆ ที่เป็นกามวิถีแล้ว ส่วนมากเกิดติดต่อกัน ๗ ขณะ และในอัปปนาวิถี อาจเกิดได้มากมาย จนประมาณมิได้ก็มี
    ๑๓. ตทาลัมพนกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะจิตเสพแล้ว ในกามอารมณ์ ทั้ง ๖ ที่มีกำลังแรง ในวิถีจิตที่รับ อติมหันตารมณ์(ปัญจารมณ์ที่มีกำลังแรงมากที่สุด) หรือวิภูตารมณ์(อารมณ์ ๖ ที่ปรากฏชัดเจนทางใจมากที่สุด) ซึ่งมีจิตที่ชื่อว่า ตทาลัมพนจิต แล้วจะทำตทาลัมพนกิจ และเป็น ๒ ขณะจิตสุดท้าย ในวิถีจิตที่เป็นตทาลัมพนวาระ
    ๑๔. จุติกิจ คือ จิตที่ ทำหน้าที่สิ้นจากภพปัจจุบัน เป็นจิตดวงสุดท้าย ที่จะปรากฏในภพชาตินั้น และจะปรากฏได้เพียงขณะจิตเดียว ในภพชาติหนึ่ง คล้ายคลึงกับปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำหน้าที่จุตินี้ เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต และภวังคจิตนั่นเอง
     
  13. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    อารัมมณสังคหะ
    การแสดงการรวบรวมจิตและเจตสิก โดยประเภทแห่งการรับอารมณ์ ชื่อว่า "อารัมมณสังคหะ"
    อารมณ์ คือ ธรรมชาติ อันเป็นที่น่ายินดีของจิตและเจตสิก หรือเป็นธรรมชาติ อันเป็นที่ยึดหน่วงของจิต และเจตสิกทั้งหลาย ดังวจนัตถะว่า...
    อา อภิมุขํ รมนฺติ เอตฺถาติ อารมฺมณํ
    จิต และเจตสิกทั้งหลายมายินดี พร้อมหน้ากันในธรรมชาติใด ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อารมณ์.
    จิตฺตเจตสิเกหิ อาลมฺพิยตีติ - อาลมฺพนํ
    ธรรมชาติใด ย่อมยึดหน่วงจิต และเจตสิกทั้งหลาย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาลัมพนะ.
    ฉะนั้น ธรรมชาติใด ที่ทำให้จิต และเจตสิกข้องติดอยู่ โดยอาการเป็นที่น่ายินดี หรือเป็นที่ให้ยึดหน่วงอยู่ได้ ธรรมชาตินั้นเรียกว่า อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ ซึ่งได้แก่ อารมณ์ ๖ อย่าง คือ...
    อารมณ์ ๖ ประเภท
    ๑. รูปารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ วัณณรูป คือ สีต่างๆ
    ๒. สัททารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ สัททรูป คือ เสียงต่างๆ
    ๓. คันธารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ คันธรูป คือ กลิ่นต่างๆ
    ๔. รสารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ รสรูป คือ รสต่างๆ
    ๕. โผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ ปฐวี (ดิน) อ่อน - แข็ง
    เตโช (ไฟ) เย็น - ร้อน
    วาโย (ลม) หย่อน - ตึง
    ๖. ธรรมารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ จิต๘๙ เจตสิก๕๒ รูป๒๑ นิพพาน บัญญัติ
     
  14. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    อธิบาย อารมณ์ ๖ ประเภท
    ในบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายนั้น ถ้าไม่มีอารมณ์เป็นที่อาศัยยึดเหนี่ยวแล้ว จิต และเจตสิกแห่งสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ อุปมาเหมือนคนชรา หรือทุพพลภาพ ย่อมต้องอาศัยไม้เท้า หรือราวเชือก เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ ให้ทรงตัวลุกขึ้นเดินไปได้ ฉันใด จิตและเจตสิกทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ต้องมีอารมณ์เป็นเครื่องอาศัยยึดเหนี่ยว ให้ปรากฏขึ้นได้ฉันนั้น
    ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงอารมณ์ ย่อมต้องผูกพันไปถึงจิต และเมื่อจะกล่าวถึงจิต ก็ต้องมีอารมณ์เช่นเดียวกัน จิตใดที่จะไม่มีอารมณ์นั้น ไม่มีเลย
    อารมณ์อันเป็นอาหารของจิตนั้น เมื่อจำแนกตามความสามารถ ในการรับอารมณ์ต่างๆ โดยอาศัยผ่านทางทวารนั้น มีอยู่ ๖ ประการ คือ.....
    ๑. รูปารมณ์ หมายถึง รูป เป็นอารมณ์ รูปในความหมายนี้ ได้แก่ วัณณรูป คือ สี ต่างๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต และเจตสิก ได้ทางทวาร ตา
    ๒. สัททารมณ์ หมายถึง เสียง เป็นอารมณ์ ได้แก่ สัททรูป อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต และเจตสิก ทางหู
    ๓. คันธารมณ์ หมายถึง กลิ่น เป็นอารมณ์ ได้แก่ คันธรูป เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต และเจตสิก ทางจมูก
    ๔. รสารมณ์ หมายถึง รส เป็นอารมณ์ ได้แก่ รสรูป อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต และเจตสิก ทางลิ้น
     
  15. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    ๕. โผฏฐัพพารมณ์ หมายถึง การกระทบถูกต้อง-สัมผัสกาย เป็นอารมณ์ ได้แก่ รูป ปฐวี เตโช วาโย คือ ความแข็ง-อ่อน เย็น- ร้อน หย่อน- ตึง เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต และเจตสิก ทางกาย
    ๖. ธรรมารมณ์ หมายถึงสภาพธรรมที่รู้ได้เฉพาะมโนทวาร (ทางใจ) ได้แก่สภาพธรรม ๖ ประการ คือ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ปสาทรูป ๕(ตา หู จมูก ลิ้น กาย) สุขุมรูป ๑๖(รูปที่ละเอียด) นิพพาน และบัญญัติ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต แลเจตสิก ทางใจ
    รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐฐัพพารมณ์ อารมณ์ทั้ง ๕ นี้เรียกว่า ปัญจารมณ์ ซึ่งเป็น รูปธรรม
    ส่วนธรรมารมณ์นั้น เป็นอารมณ์ที่ ๖ องค์ธรรมได้แก่ จิต เจตสิก และนิพพานนั้น เป็น นามธรรม สำหรับปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นั้น เป็น รูปธรรม เฉพาะ บัญญัติ ไม่เป็นทั้ง รูปธรรม และ นามธรรม คงเป็นแต่ บัญญัติธรรม เท่านั้น
    ปัญจารมณ์ และธรรมารมณ์ รวมเรียกว่า อารมณ์ ๖ หรือ ฉอารมณ์
    ในอัฏฐสาลินี และวิสุทธิมรรคอรรถกถา ได้อุปมาทวาริกจิตทั้ง ๖ ไว้ว่า....
    ตา...เหมือนงู ชอบซอกซอนไปในที่ลี้ลับ อยากเห็นสิ่งที่ปกปิดไว้
    หู...เหมือนจรเข้ ที่ชอบวังน้ำวนที่เย็นๆ หูก็ชอบฟังถ้อยคำที่อ่อนหวาน
    จมูก...เหมือนนก ที่ชอบโผผินไปในอากาศ จมูกก็ชอบสูดดมกลิ่นหอม ที่ลอยลมโชยมา
    ลิ้น...เหมือนสุนัขบ้าน ที่ชอบให้น้ำลายไหลอยู่เสมอ ลิ้นก็อยากจะลิ้มชิมรสอยู่เสมอ เช่นเดียวกัน
    กาย...เหมือนสุนัขจิ้งจอกที่ชอบเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ ในป่าช้าผีดิบ กายก็ชอบอบอุ่น ชอบสัมผัสทางกาย
    ใจ...เหมือนลิงที่ชอบซุกซนไม่หยุดนิ่ง ใจก็ชอบดิ้นรน กลับกลอกไปในอารมณ์ต่างๆ ที่ไม่อยู่นิ่งเหมือนกัน
     
  16. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    อำนาจของอารมณ์
    ในอารมณ์ ๖ นี้ เมื่อจำแนกโดยกำลังของอารมณ์แล้ว อาจแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ..
    ๑. สามัญอารมณ์ คือ อารมณ์ ๖ ชนิดที่เป็นธรรมดาสามัญทั่วๆไป ไม่มีกำลังแรงเป็นพิเศษ ที่เหนี่ยวน้อมเอาจิต และเจตสิก ไปสู่อารมณ์นั้นๆได้
    ๒. อธิบดีอารมณ์ เป็นอารมณ์ชนิดพิเศษ มีกำลังอำนาจแรงมาก สามารถทำให้นามธรรม คือ จิต และเจตสิกเข้ายึดอารมณ์นั้นๆไว้อย่างหนักหน่วง อารมณ์ที่มีกำลังแรงมากเช่นนี้ เรียกว่า "อารัมมณาธิปติ" หรืออธิบดีอารมณ์ อารมณ์ที่เป็นอธิบดีได้นี้ ก็ต้องเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา คือ "อิฏฐารมณ์" (อารมณ์ที่ดี)
    อิฏฐารมณ์ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
    สภาวอิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่น่ายินดีโดยธรรมชาติ หรือโดยสภาวะ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(ถูกต้อง-สัมผัส)เหล่านี้ เป็นต้น ที่เป็นที่น่ายินดีแก่บุคลลทั่วไป
    ปริกัปปอิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่น่ายินดีชอบใจ เฉพาะบุคคล ไม่ใช่ทั่วไปแก่สัตว์ทั้งหมด อารมณ์ชนิดนี้ ไม่ใช่อารมณ์ที่น่ายินดีโดยธรรมชาติ หรือโดยสภาวะ ซึ่งไม่เป็นที่น่าปรารถนาของบุคคลส่วนมาก แต่เป็นอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจของบุคคล หรือสัตว์บางจำพวก หรือเฉพาะตนเท่านั้น
    สภาวะอิฏฐารมณ์ หรือปริกัปปอิฏฐารมณ์นี้ เมื่อสามารถทำให้นามธรรมเกิดขึ้นได้ โดยอาการยึดหน่วงอารมณ์นั้นเป็นพิเศษแล้ว ก็ได้ชื่อว่า เป็นอธิบดีอารมณ์ ดังวจนัตถะว่า
    จิตฺตเจตสิเก อาลมฺพตีติ อาลมฺพนํ
    แปลว่า ธรรมชาติใด ย่อมยึดหน่วงเหนี่ยวจิต และเจตสิกทั้งหลาย ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาลัมพนะ ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่เป็นอธิบดี
     
  17. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    อารมณ์ ๖ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธรรมารมณ์ เมื่อสงเคราะห์โดยกาลแล้ว แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ.....
    ๑. เตกาลิกอารมณ์ คือ อารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวด้วยกาลทั้ง ๓ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต องค์ธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป
    จิต เจตสิก รูป ที่เป็นอดีตอารมณ์นั้น หมายถึง จิต เจตสิก รูป ที่เป็นอารมณ์เหล่านี้ผ่านพ้นไปแล้ว คือ ได้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ได้รู้รสแล้ว ได้ถูกต้องสัมผัสแล้ว และได้คิดนึกถึงอารมณ์ที่ผ่านมาแล้วนี้ เรียกว่า อดีตอารมณ์
    จิต เจตสิก รูป ที่เป็นปัจจุบันอารมณ์นั้น หมายถึง จิต เจตสิก รูป ที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์อยู่เฉพาะหน้า คือกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังถูกต้องสัมผัส และกำลังคิดในอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ ยังไม่ดับไป เหล่านี้เรียกว่า ปัจจุบันอารมณ์
    จิต เจตสิก รูป ที่เป็นอนาคตอารมณ์นั้น หมายถึงอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป เหล่านี้ จะมาปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ จะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะรู้รส จะถูกต้องสัมผัส และเป็นอารมณ์ให้คิดนึกทางใจเหล่านี้ ชื่อว่า อนาคตอารมณ์
    อารมณ์ที่ปรากฏขึ้นโดยกาลทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า เตกาลิกอารมณ์
    ๒. กาลวิมุตตอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาลทั้ง ๓ ได้แก่ นิพพาน และบัญญัติอารมณ์ เพราะธรรมทั้ง ๒ พวกนี้ เป็นอสังขตธรรม ไม่ได้ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ฉะนั้น การบังเกิดขึ้นของธรรมทั้ง ๒ พวกนี้ เพราะปัจจัยปรุงแต่งจึงไม่มี เมื่อไม่มีการเกิดแล้ว ก็กล่าวไม่ได้ว่า นิพพาน หรือบัญญัติเหล่านี้ เป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต เมื่อไม่เป็นไปในปัจจุบัน อดีต และอนาคต เช่นนี้แล้ว ก็เรียกว่า กาลวิมุตตอารมณ์
     
  18. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    อารมณ์ ๖ ที่มาปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาปกตินั้น ไม่เรียกว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์ หรืออารมณ์ ๖ ที่ปรากฏแก่พระอรหันต์ เมื่อเวลาจะนิพพาน ก็ไม่เรียกว่า กรรม กรรมนิมิต คตินิมิตอารมณ์ เช่นเดียวกันเพราะไม่มีการเกิดอีกต่อไปแล้ว
    สัตว์ทั้งหลายที่ยังต้องมีการเกิด - ตาย เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ (เว้นอสัญญสัตตพรหม) จะต้องมีกรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ ปรากฏขึ้น เมื่อใกล้ตายเสมอ
    กรรมอารมณ์
    กรรมอารมณ์ ได้แก่ ธรรมมารมณ์ที่เกี่ยวกับ กุศลกรรม อกุศลกรรม ที่เป็นคุรุกรรม(กรรมหนัก หรือเป็นกรรมที่มีกำลังแรง) อาจิณณกรรม(กรรมที่ได้กระทำอยู่เสมอ เป็นนิตย์) อาสันนกรรม(กรรมที่ได้กระทำในเวลาใกล้ตาย) หรือกฏัตตากรรม(กรรมที่ได้ทำไปแล้ว เป็นกรรมอย่างสามัญ กรรมเล็กน้อย) ซึ่งจะส่งผลให้ปฏิสนธิในภพหน้า ที่เป็นเหมือนกับการแสดงตัวให้เด่นชัดเฉพาะหน้าปรากฏในมโนทวาร(ทางใจ) หรือกุศลกรรม อกุศลกรรม ที่ให้เกิดปฏิสนธินั้น ย่อมปรากฏทางใจด้วยอำนาจทำตนให้เหมือนกับเกิดขึ้นใหม่ๆ การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ จึงมี ๒ อย่าง....คือ...
     
  19. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    กรรมอารมณ์
    ๑. กรรมอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นโดยกุศลกรรม อกุศลกรรม แสดงตัวให้เด่นชัด"อภิมุขีภูตํ" เป็นการปรากฏขึ้นด้วยอำนาจแห่ง"ปุพเพกตสัญญา" คือ อดีตสัญญาที่จิตใจจดจำเรื่องภายในตน ที่เป็นมาแล้วในกาลก่อน
    เช่นกุศลกรรมของตน ที่เคยเกิดปีติโสมนัส ในขณะทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เมื่อ ๑๐ - ๒๐ ปีล่วงมาแล้ว มาบัดนี้ยังระลึกจำกุศลปีติโสมนัสนั้นๆได้อยู่
    หรืออกุศลกรรมที่ตนเคยเสียอกเสียใจ ในขณะประสบภัย หรือถูกโกงเมื่อ ๑๐ -๒๐ ปีล่วงมาแล้ว หรือที่เคยโกรธแค้นผู้ใดในกาลก่อน ครั้งถึงเวลาใกล้จะตาย ก็หวนระลึกจำความเสียใจ หรือความโกรธแค้นในอดีตขึ้นมาได้
    ข้อนี้ อุปมาเหมือนผู้ใหญ่ที่มีอายุมากแล้ว นึกถึงความเยาว์วัยของตน เมื่อครั้งเป็นหนุ่มสาว มีความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างไร ก็ยังนึกจำความเบิกบานสนุกสนานในครั้งกระนั้นได้ การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ ตามปุพเพกตสัญญา ก็เป็นฉันนั้น...
    ส่วนผู้ใกล้จะตาย ที่จดจำเรื่องภายนอกตน มีกิริยาอาการ วัตถุสิ่งของ สิ่งแวดล้อมต่างๆ มีนิมิตเครื่องหมายอย่างนี้ อย่างนั้น เหล่านี้ จัดว่า เป็นกรรมนิมิตอารมณ์ (ไม่ใช่กรรมอารมณ์)
     
  20. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    กรรมอารมณ์
    ๒. กรรมอารมณ์ ที่ปรากฏขึ้นโดยกุศลกรรม อกุศลกรรม ทำตนให้เหมือนกับการเกิดขึ้นใหม่ๆ คือ ปรากฏขึ้นด้วยอำนาจ "สันปติกตสัญญา" คือ สัญญาความจำเรื่องราวภายในตน เป็นไปคล้ายๆกับว่า กำลังกระทำอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น กุศลกรรมที่ตนเคยปีติโสมนัส ในขณะทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
    หรืออกุศลกรรมที่เคยเสียใจเพราะภัยพิบัติ หรือไฟใหม้บ้าน หรือถูกโกงจนล้มละลาย หรือเคยโกรธแค้นผู้หนึ่งผู้ใด เป็นเวลาล่วงมาหลายปีแล้ว ครั้นเมื่อเวลาใกล้ตาย ปีติโสมนัสก็เกิดขึ้น คล้ายกับว่า ตนกำลังทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอยู่
    หรือความโกรธแค้นเกิดขึ้น คล้ายๆว่า เรากำลังทะเลาะวิวาทอยู่กับใครสักคน ข้อนี้ อุปมาเหมือนหนึ่ง ความสนุกสนานที่เกิดขึ้นในใจ แก่ผู้ที่กำลังหลับในเวลากลางคืน เนื่องจากฝันไป เพราะเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน จากที่ได้ดูหนัง ดูละคร ดูกีฬา มาเมื่อตอนเย็น
    กรรมอารมณ์ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ปรากฏได้เฉพาะมโนทวาร(ทางใจ)จะไม่ปรากฏทางปัญจทวาร(ตา หู จมูก ลิ้น กาย)เลย กรรมอารมณ์นี้ ย่อมคิดถึงการกระทำที่ล่วงมาแล้ว เป็น อดีตอารมณ์
    ถ้ากรรมอารมณ์เป็นกุศลกรรม ย่อมนำไปสู่สุคติ
    ถ้ากรรมอารมณ์เป็นอกุศลกรรม ย่อมนำไปสู่ทุคติ
     

แชร์หน้านี้

Loading...