จิตถึงธรรมธาตุแล้วไม่ตาย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 28 กรกฎาคม 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [​IMG]
    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖
    จิตถึงธรรมธาตุแล้วไม่ตาย



    เมื่อวานนี้ทองคำได้กิโลหนึ่ง ดอลลาร์ได้ ๖ ดอลล์ นั่งไม่มีอะไรก็ง่วงนอน อย่างเณรผองที่ว่านั่น เรายังจำชื่อมันได้ ชื่อเณรผอง อยู่กุฏิเล็ก ๆ อยู่ในกุฏิมันง่วง ว่างั้น นั่งภาวนาไปมันง่วงเลยออกมาข้างนอก เป็นเฉลียงเล็กๆ อีกเหมือนกัน อีกพักหนึ่ง ออกมาเฉลียงข้างนอกมาดัดสันดานมัน ดัดสันดานความง่วง เลยออกมานั่งข้างนอก นั่งหมิ่นๆ เลย เพื่อจะมันง่วงก็ให้มันตกลงนี้ ว่างั้น นึกว่ามันจะกลัวตก มันจะไม่ง่วงไปนั่งที่นั่น ฟังเสียงตุ๊บ เอ๊ มันยังไง เงียบๆ ทั้งๆ ที่เงียบๆ อยู่ที่ห้วยทราย เราก็นั่งอยู่คนเดียวเงียบๆ กลางคืนนั่งภาวนา เพราะฉะนั้นจึงได้ยิน เพราะมันสงัด เสียงตุ๊บ เอ๊ มันเสียงอะไรเหมือนอะไรตกน้า เราว่างี้ ไม่นานฟังเสียงพุมพิมๆ มันอะไรอีกนะ

    ได้ยินเสียงคน แล้วได้ยินเสียงไม่ขาดวรรคขาดตอน เอ๊ะ มันเรื่องอะไรน้า เราก็เลยลงจากกุฏิเราไป ด้อมๆ ไป ไปเงียบๆ ไม่มีไฟ มันทำอะไรกันนี่ รุมกันอะไรเราว่างั้น ที่มันตกกุฏิ เณรผอง นั่น เราเดินไป มันรุมกันอะไร มาทำอะไร ว่า เณรผอง ตกกุฏิ เพราะอะไรมันถึงตก นี่ละถึงได้ทราบเรื่องเณรผองดัดความง่วง ความง่วงก็ดัดเณรผอง คือเณรผองดัดความง่วง อยู่ในห้องมันง่วง ดัดความง่วงออกมานั่งอยู่ข้างนอก เพื่อมันจะได้กลัวตกมันไม่ง่วง มานั่งนั้นง่วง ความง่วงดัดเณรผองใส่เสียตุ๊บเลย

    อย่างนั้นละเวลามันง่วงมันง่วงจริงๆ นะ เวลาอายุยังหนุ่มยังน้อยนี้ง่วงมากกินมาก เพราะฉะนั้นนักภาวนาจึงต้องดัดทางร่างกายลงมากทีเดียว สำหรับเราเองนี้เด่นว่างั้นเถอะ คือร่างกายมันมีกำลัง พอร่างกายมีกำลังขึ้นมันก็ไปทางกิเลสไปเสีย มันไม่ไปเสริมธรรมนะ ถ้าร่างกายมีกำลังไม่เห็นเสริมธรรม พอมีกำลังก็แหวกแนวไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ดัดกันอยู่ตลอด ทีนี้พอร่างกายมันอ่อนลง ธรรมก็ค่อยขึ้นๆ นั่นเป็นอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นถึงยอมอดยอมทุกข์ยอมลำบาก เพราะผลที่ต้องการมีอยู่อย่างนั้น ธรรมดาใครจะอยากอด อดข้าวอดน้ำ มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น ก็จำต้องอดต้องทนเอา

    อาหารตามโลกเขานิยมกันว่าเป็นอาหารดิบดี มีแต่เครื่องเสริมทั้งนั้น เครื่องเสริมกิเลส ทีนี้เมื่อเวลามันเป็นอย่างนั้นแล้ว มันก็ต้องมีแต่เครื่องดัดกัน อาหารก็ต้องพอยังชีวิตให้เป็นไป เรื่องรสชาติจึงไม่สำคัญ สำหรับผู้ต้องการอรรถธรรมล้วน ๆ แล้ว จิตจะมุ่งต่อธรรม หนักอยู่ในธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างทนเพื่อธรรมๆ ทั้งนั้น มันก็พออดพอทนกันไป ทุกข์ยากขนาดไหนก็พอทน คือการอดอาหารนี้มันดีทางการหลับนอน ไม่ง่วง เริ่มตั้งแต่คืนแรกไปแล้วความง่วงรู้สึกจะเบา พอคืนที่สองมาเบามาก พอคืนที่สามแทบว่าไม่มี เงียบไปเลย นั่งเท่าไร ทำความเพียรเท่าไร ความง่วงก็ไม่กวน นี่มันก็เห็นผลอย่างนี้ สะดวกในการประกอบความเพียร แล้วก็สะดวกทางอารมณ์ด้านจิตใจไม่คิดมากไป เพราะมันฟังเสียงธรรม ธรรมตีเข้าๆ มันฟังเสียงธรรม

    มันได้ผลหลายทาง ความง่วงก็ไม่มี ถ้าลงได้อดสองคืนขึ้นไปแล้วไม่มีละความง่วง อดถึงสองวันไปแล้ว สามวันสี่วันไปแล้วไม่มีเลย ทั้งๆ ที่นอนมากนี่ พอเราอดอาหารมากๆ นี่นอนเพียง ๒ ชั่วโมงพอแล้วคืนหนึ่ง เท่านั้น ไม่ง่วงเลย ทีนี้สนุกทำความเพียร แน่ะมันก็ดีไปทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องทน ในวัยอายุยังหนุ่มยังน้อยนี้ต้องทนต้องฟัดกันเต็มเหนี่ยว ไม่เอาอย่างนั้นไม่ได้ ความอดนอนนี่มันดีทางสติด้วย สติก็เริ่มดีๆ ขึ้นเรื่อย สติดี เพราะสติเป็นพื้นฐานสำหรับรักษาจิตไม่ให้แย็บออก เป็นพื้นฐานรักษาจิต จิตเมื่อได้รับการรักษาแล้วก็ไม่มีภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ค่อยสงบเย็นลงๆ เป็นอย่างนั้นนะ

    เดี๋ยวก็แสดงขึ้นมาแปลกๆ ต่างๆ สงบลงไปแล้วยังมีแปลกๆ ต่างๆ พูดไม่ถูก แต่ก็รู้อยู่ในใจ มีสว่างไสวมีอะไรแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นมาเรื่อยๆ ละเอียดเท่าไรยิ่งแสดงความแปลกประหลาดจากใจดวงนี้นะ แต่ก่อนถูกปิดอยู่ด้วยมูตรด้วยคูถคือกิเลสตัณหา มันไม่มีเวลาจะแสดงความแวววาวออกมาได้ ก็มีแต่กิเลสแสดงฤทธิ์เดช ฤทธิ์เดชของกิเลสเราก็เห็นทั่วโลก เป็นยังไงดูเอา ใครว่าใครมีความสุขในโลกนี้ ชี้นิ้วเลย อย่างนี้ละเรา เอานี้ยันกัน พูดอย่างชัดๆ อย่างนี้ละเรา มันประจักษ์อยู่ในนี้จะให้พูดว่าอย่างไร ถ้าไม่พูดตามที่มันประจักษ์

    ลงอันนี้ได้เต็มเหนี่ยวแล้วหมด ทุกข์ในโลกนี้ไม่มีเลย ไม่มีที่ไหน ก็ไม่มีที่หัวใจทุกข์ที่ไหนจะมี มันทุกข์ที่หัวใจต่างหาก ทุกข์มากทุกข์น้อยมารวมอยู่ที่หัวใจ คับแคบตีบตันอยู่ที่หัวใจทั้งนั้น เพราะใจนี่มันกว้านเอาตั้งแต่เรื่องฟืนเรื่องไฟเข้ามาเผา ด้วยความคิดความปรุงต่างๆ เข้ามาเผาๆ เรื่อยๆ หาความสงบไม่ได้ ก็กวนตลอดเวลา เป็นทุกข์ตลอด ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะหรือฐานะสูงต่ำอะไรก็ตาม ไม่มีความหมายทั้งนั้น กิเลสเหยียบได้หมด แหลกไปหมด กิเลสเหยียบไม่ได้แต่ธรรม นั้นละธรรมจึงเหนือโลก ๆ ตลอดมา

    ทีนี้จิตของเรามันว้าวุ่นขุ่นมัวตลอดเวลา จึงไม่ทราบว่าความสุขอยู่ที่ไหน โลกกว้างแสนกว้าง จะหวังความสุขกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปที่ไหนมันก็ไม่มี เพราะใจมีแต่ความทุกข์ แล้วแสวงหาความทุกข์มาใส่ตัวเองอีกด้วย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้มีแต่เรื่องกองทุกข์ สุดท้ายโลกกว้างแสนกว้างก็มารวมอยู่ที่หัวใจดวงเดียว คับแคบตีบตันอั้นตู้อยู่ที่ใจดวงเดียว เป็นทุกข์ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน บางคืนนอนไม่หลับ ลงคิดมากๆ นอนไม่หลับ นั่นเห็นไหมล่ะมันกวนใจ มันอยู่ที่ใจ

    จำให้ดีนะ พุทธศาสนาสอนลงที่ใจ จุดแห่งมหันตทุกข์และจุดแห่งบรมสุขอยู่จุดเดียวคือใจนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องสอนให้ชำระจิตใจ อย่าไปชำระภายนอก ไม่มีอะไรเป็นความหมาย อันนั้นเพียงอาศัยไปวันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้นสิ่งภายนอก พอเยียวยากันไป ขอให้ใจได้รับการบำรุงด้วยอรรถด้วยธรรมเถิด สิ่งเหล่านั้นจะไม่มากวนเราเลย มีแต่ใจไปเที่ยวกวนต่างหากนะ พอใจได้อาหารหล่อเลี้ยงได้แก่ธรรมเครื่องหล่อเลี้ยงให้สงบแล้ว ใจก็ไม่ดีดไม่ดิ้น มันก็ไม่ออกไปหาฟืนหาไฟก็ไม่ทุกข์ ทีนี้ใจก็สงบเย็นเข้าๆ ที่รวมแห่งความทุกข์ทั้งหลายที่ว่ามันมีอยู่ทางโน้นทางนี้ มันมีจากใจนี้แหละไปเที่ยวคิดเที่ยวปรุงนะ พอใจหดเข้ามาทุกข์ก็หดเข้ามา หดเข้ามาทีนี้ก็มีความสงบ ความสงบก็เป็นสุขละซี เย็นอยู่ที่นั่น ทีนี้ก็ค่อยเด่นขึ้นๆ เออ ความสุขมันปรากฏที่นี่นะ แน่ะเอาแล้วนะเริ่มเห็นแล้ว เราก็หามาแทบล้มแทบตายตั้งแต่วันเกิดมา ก็ไม่เห็นความสุขที่เด่นชัดที่ไหน พึ่งมาปรากฏในเวลาจิตสงบนี้เท่านั้น นั่นเริ่มจับจุดได้ จากนั้นก็พยายาม

    เรื่องเบื้องต้นที่เราฝึกหัดนี้ เรื่องของกิเลสนี้รุนแรงมากนะ ให้พี่น้องทั้งหลายจำเอาไว้ มันจะไม่ยอมให้เราสงบ หรือเราบริกรรมคำนี้ๆ มันจะคอยตีออก คำบริกรรมที่เป็นน้ำดับไฟที่ไม่ให้ใจคิดมากนี่นะ คือคำบริกรรมนี้เอาไปทับไม่ให้มันคิดเรื่องกิเลส ให้คิดเรื่องของธรรม คิดเรื่องของธรรมก็เป็นน้ำดับไฟ จิตสงบลงๆ ทีนี้กิเลสมันตีออก มันอยากคิดอยากปรุงเป็นกำลัง ประหนึ่งว่าคับหัวอกโน่นนะ ฟังให้ดีคำนี้ คือมันดันเราถึงขนาดนั้น มันอยากคิดอยากปรุง ถ้าได้คิดแล้วเหมือนจะเหาะเหินเดินฟ้านะ คิดแล้วจม ทั้งๆ ที่คิดแล้วจมมันก็พอใจคิด เพราะกิเลสหลอกให้คิด อยากคิดอยากปรุง

    เราก็บังคับเอาอย่างหนัก เอ้ามันอยากคิดไปแค่ไหน ตั้งหน้าสู้ความอยากคิดที่นี่ ด้วยคำบริกรรมของเรา มันอยากคิดมากเท่าไร คำบริกรรมนี้ให้หนาแน่นเข้า ถี่ยิบเลย คำว่าถี่ยิบได้แก่สติจ่อปั๊บ ทีนี้เมื่อสติจ่อ สติมีกำลัง จิตก็คิดข้างนอกไม่ได้ก็สงบๆ นี่ละจิตเบื้องต้นที่ฝึก กระแสของความคิดปรุงนี้รุนแรงมากนะ ดังที่หลวงตาเคยพูดให้ฟัง น้ำตาร่วงๆ นั้นคือคิดปั๊บ คือตั้งสติปั๊บล้มผล็อยๆ เพราะอำนาจของอารมณ์ของกิเลสมันเอาล้มเลย คิดไปทางมันไปเงียบ นี่มันรุนแรงขนาดนั้น

    แต่อย่างไรก็อย่าลืมว่าไม่มีอะไรเหนือธรรม เอ้า กิเลสหนา ธรรมต้องหนา ซัดกัน มีวันหนึ่งเวลาหนึ่งจนได้จะเห็นพิษภัยของกัน และเห็นคุณค่าของการฝึกทรมาน ใจสงบ ต่อไปก็เห็นไปเรื่อยๆ พอจิตยุ่งเหยิงวุ่นวาย เอ๊ วันนี้จิตทำไมยุ่งมาก ต้องพักจิตให้ได้ เข้ามาพักจิต สงบอารมณ์ พอสบายแล้วประกอบหน้าที่การงานได้ เป็นอย่างนั้นนะ นี่ละการฝึกจิต จึงว่าจุดแห่งความทุกข์ทั้งหลายในสามแดนโลกธาตุมาอยู่ที่จิตแห่งเดียว สุขทั้งหลายก็เหมือนกัน มารวมอยู่ที่จิตแห่งเดียวนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ฝึกฝนอบรมจิต สิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงอาศัยเขาไป อย่าลืมเนื้อลืมตัวก็แล้วกัน ให้พยายามรักสงวนจิตใจของตนที่จะรับความสุขนี้ไว้ได้ ก็คือการรักสงวนจิตรักษาจิต แล้วความสุขจะเกิดขึ้น ถ้าไม่รักษา มีแต่ความทุกข์เผาตลอด

    เวลาฝึกไปๆ นานเข้าๆ ก็ฟังแต่ว่าฝึกไปเป็นไร บำรุงรักษาจิตตลอดเวลา ทีนี้ข้าศึกศัตรูที่มันจะเกิดขึ้นภายใน ผลักดันให้คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันก็สงบตัวลง เพราะธรรมตีมันไว้ๆ ต่อไปมันก็สงบ ทีนี้พอสงบพอเป็นรากเป็นฐานได้แล้วอยู่ที่ไหนสบายหมดนะ อยู่ไหนสบายเพราะจิตไม่คิดไม่ปรุงยิ่งกว่าธรรม ธรรมทำงานตลอดเวลา คิดเช่น บริกรรมพุทโธ ก็ให้อยู่กับพุทโธ เรานึกคำบริกรรมใดให้อยู่กับนั้นด้วยสติๆ ต่อไปก็เย็นไปเรื่อย เวลามันเย็นแล้วจิตมีที่อยู่ที่อาศัย อยู่ที่ไหนสบายหมดนะ นั่งอยู่ต้นไม้ ภูเขาที่ไหนเย็นไปหมด มันเย็นที่ใจไม่ได้เย็นอยู่ที่อื่น

    ให้จำไว้สำหรับการรักษาจิตใจเรา ต้องรักษาด้วยธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้น นอกนั้นไม่มีทาง เอาอะไรมารักษาฉิบหายหมดเลย เหมือนเอาไฟจ่อเชื้อไฟ เผาแหลกๆ เรื่องของจิตคิดนี่คิดเพื่อหาฟืนหาไฟทั้งนั้น ต้องให้คิดทางด้านอรรถด้านธรรมซึ่งเป็นน้ำดับไฟ แล้วก็สงบเย็นๆ เย็นมากเท่าไรทีนี้โลกกว้างแสนกว้างจะมาอยู่ที่นี่นะความสุข ที่ไหนไม่อยู่เลย มาอยู่ที่นี่ๆ ทีนี้พอความทุกข์ยิบแย็บขึ้นมานี้มันก็รู้ อ้าวนี่ความคิดขึ้นมากวนนี้แล้ว ขึ้นที่นี่ แน่ะมันก็รู้ที่นี่อีกแหละ ทีนี้มันก็ไม่ไปยุ่งกับอะไรภายนอก มันก็จ่อลงที่ข้าศึกเกิด แล้วก็สงบลง นี่วิธีการอบรม ให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้นะ

    นี้ได้ทำมาแล้วด้วยความแน่ใจทุกอย่าง การสอนจึงไม่มีคำว่าผิดพลาด คือไม่มีสงสัยในการสอนเลย ผิดก็เป็นครูเป็นอาจารย์สอนเรามาแล้ว สอนคนอื่นว่าสิ่งนั้นผิดอย่าทำ เพราะเราโดนมาแล้ว อะไรที่ผิดพูดออกมาปั๊บเตือนทันทีเลย อันนั้นผิด บอกแล้ว ทีนี้ทางนั้นก็ไม่ไป เข้ามาทางถูก เตือน เปิดทางถูกให้มันก็ไป เป็นอย่างนั้นนะ เรื่องครูอาจารย์สำคัญมาก จิตตภาวนาต้องเป็นครูเป็นอาจารย์ที่มีหลักมีเกณฑ์สั่งสอนเป็นอันดับหนึ่ง จากนั้นครูบาอาจารย์ที่พอได้หลักได้เกณฑ์บ้างแล้วสอนก็ไม่ค่อยผิดพลาด ไม่เหมือนคนที่ไม่รู้ แบกแต่คัมภีร์มาสอนเฉยๆ ไม่ว่าเขาว่าเราผิดพลาดได้ทั้งนั้น

    คนไข้วิ่งเข้ามาหา ไอ้เราไม่ได้เป็นหมอแต่เสกสรรปั้นยอตัวว่าเป็นหมอ ยกยาทั้งหีบทั้งตู้นั่นใส่คนไข้ เลยตายเลย ทีนี้หมอที่เรียนหลักวิชาความรู้มาเต็มภูมิของหมอแล้วนี้ พอคนไข้เข้ามาถามเรื่องอะไรๆ นี้ทราบทันที ไม่ต้องเอามาทั้งตู้ยา หยิบมาหลอดหนึ่งเข็มหนึ่ง เหมาะแล้วใส่ปั๊บเข้าไปเลยไม่เอามาก หายโรคเลย นี่ละวิธีการสอนเหมือนกันนี้เอง เหมือนหมอรักษาคนไข้นั่นแหละ ถ้าหมอสักแต่ชื่อว่าหมอ ทำให้คนไข้ตายได้ ยกยาทุ่มกันทั้งหีบทั้งตู้เลย ตายได้ ถ้าเป็นหมอแล้วยกมาเฉพาะที่จำเป็น พอฟังเสียงหรือตรวจดูเรียบร้อยว่านี้เป็นโรคอันนั้นๆ ใส่ปั๊บเข้าไปเลย หาย

    อันนี้พอผู้บำเพ็ญมาเล่าให้ฟังเท่านั้น จิตเป็นยังไงๆ นี้ อาจารย์นี่เท่ากับหมอแล้ว เล่าให้ฟังยังไงๆ แล้วคอยแนะไปทางที่ถูก อันไหนผิดบอก ๆ ๆ ก็ก้าวเดินเรื่อยไปได้ เป็นอย่างนั้น การแนะนำสั่งสอนทางด้านจิตตภาวนาจึงเป็นของสำคัญมากทีเดียว ด้วยเหตุนี้ผู้แนะนำสั่งสอนจึงควรมีหลักใจทางด้านจิตตภาวนา จะสอนภาวนาได้โดยถูกต้องเป็นลำดับลำดาไป เวลาสอนถูกต้องแล้วจิตก็ก้าวเดินได้สะดวก ราบรื่นๆ นั่นต่างกันอย่างนั้นนะ นี่สอนพูดจริงๆ พูดอย่างอาจหาญเลยเทียว ว่าที่สอนไปนี้ไม่ผิด ว่างั้นเลย เพราะทั้งผิดทั้งถูกเรามันสมบุกสมบันมาแล้ว ผิดถูกประการใดก็ได้รับคำตักเตือนจากครูบาอารจารย์มาแล้วมาปฏิบัติเป็นผลขึ้นมาๆ ทีนี้ความผิดก็เป็นครูอันหนึ่ง ความถูกก็เป็นครูอันหนึ่ง อันใดผิดสอนคนอื่นก็สอนได้ง่าย อันใดถูกสอนคนอื่นก็ง่าย เพราะเจ้าของผ่านมาทั้งสองแล้ว มีแต่สะดวกสบาย

    เออ พอพูดเรื่องนี้แล้วเราก็ระลึกได้ที่ว่า เณรผองแกตกกุฏิ ก็กุฏิหลังนั้นละมันจะเป็นยังไงไม่รู้นะ มีเณรหนึ่งภาวนาผาดโผนอยู่นะเณรนี่น่ะ ตอนนั้นเราไปพักห้วยทราย ไปพักชั่วเวลาไม่ได้นานนัก ประมาณสักอาทิตย์เราไปห้วยทราย พอไปนี้ก็เณรนั้นละขึ้นมากับพระองค์หนึ่งขึ้นมา ขึ้นมาหาเราเรามาถึงทีแรก มาก็มาเล่าเรื่องภาวนาให้ฟัง เล่านี้อาจหาญนะ

    นี่ละคำว่าอาจหาญคือมันเป็นขึ้นมาจากจิต จิตมันรู้มันก็อาจหาญละซิ มาเล่าให้ฟัง เล่าแปลก ๆ ต่าง ๆ พูดไปอย่างไม่สะทกสะท้านนะ พูดอย่างอาจหาญ เราก็นั่งฟัง ปล่อยให้แกเล่าไปเรื่อย คือแกจะขอเล่าภาวนาให้ฟัง เราก็เปิดทางแล้วให้แกเล่า ทีนี้เวลาแกเล่า แกเล่ายังไงเราก็ฟังละซิ เล่า โอ๋ย อย่างอาจหาญชาญชัยนะ ดีไม่ดีแกเล่าไปถึงคนนั้นปรารถนานั้นคนนี้ปรารถนานี้ เรื่องของคนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็รู้แปลก ๆ ต่าง ๆ ไป เอ้า เล่าให้จบ บอกแกให้แกเล่าให้จบ โอ๊ย.เล่าพิสดารมากอยู่นะ ถ้าหากว่าคนไม่เคยได้ฟังทั้งตื่นเต้นทั้งเชื่อด้วยโดยไม่มีข้อแม้ เชื่อทะลุไปเลย ถ้าตกหลุมก็ตกไปด้วยกันเลยว่างั้นเถอะน่ะ พอแกเล่าให้ฟังจบลงไปแล้ว

    หลวงตา เราได้บอก แล้วที่เป็นมาอย่างนี้มีใครคอยเสริมคอยเตือนอะไร ๆ ไหม เราถาม

    สามเณร ไม่มี

    หลวงตา มีผู้คอยเตือนตรงนั้นตรงนี้บ้าง แล้วเสริมว่าถูกต้องดีงามอย่างนั้นอย่างนี้มีไหม

    สามเณร อ๋อ ไม่มี

    หลวงตา นี่มันเป็นขึ้นด้วยจิตของเณรเองเหรอ

    สามเณร เป็นด้วยจิตของกระผมเอง แกว่า

    หลวงตา นี่ยังไม่เคยปรากฏเป็นความได้ความเสียอะไรขึ้นเหรอ ในการภาวนาอย่างนี้ เราว่าอย่างนั้นนะ แกอึกอัก ๆ ตอบยากๆ อยู่ พอแกตอบยาก ๆ เราก็เข้าใจทันทีเพราะเรื่องที่แกเล่าให้ฟังนี้มันบ่งบอกชัดเจนแล้ว เหมือนหนึ่งว่าทายไว้เลยก็ได้ เป็นแต่เพียงว่า เราซอกแซกถามไปเฉย ๆ พอแกอึกอักแล้วทีนี้เราก็เริ่มอธิบายให้แกฟัง นี่จิตวิธีนี้น่ะมันพาคนให้เป็นบ้ามาบ้างแล้วนะ ไม่บ้าน้อยก็บ้ามากมีอยู่ในจิตดวงนี้ เฉพาะอย่างยิ่งคือจิตที่ส่งแสงสว่างไสว แล้ววิ่งตามความสว่างไสวนี้ ดีไม่ดีมันจะพาวิ่งเข้าป่าเข้ารกโดยไม่รู้ตัวนะ เราว่าอย่างนั้น คือเจ้าของไม่รู้ ความสว่างไสวพาไปที่ไหนมันก็ไปทั้งนั้น เราว่าอย่างนี้

    แล้วต่อไปนี้ให้เณรระวังอันนี้ให้ดีนะ ถ้าหากว่ายังไม่เป็นอะไร ก็อันนี้ละให้ระวังให้ดี ถ้าไม่ระวังเป็นได้เสียได้เข้าป่าเข้ารก กลิ้งโครมคราม ๆ ไปหมดแล้ว เราก็เรียกว่า ธรรมพาไปเราก็บอกอย่างนี้ละ คือความสว่างพาไป ทำอะไรมีคนถาม หาอะไร วิ่งตามธรรม ธรรมพาไปจะว่าอย่างนั้นนะ เราว่าอย่างนี้ จากนั้นเราก็อธิบายอันไหนที่ถูกต้องก็อธิบายให้แกฟัง ส่วนที่ผิดก็เตือนแก สกัดด้วยไม่ให้ออกไปอย่างนั้น ๆ ด้วย พอลงไปแล้วพระองค์นั้นก็ทำท่าลงไปด้วยกันนั่นแหละ สักเดี๋ยวกลับมาพระองค์นั้นกลับมา ปุ๊บปั๊บขึ้นมาอีก แล้วมาอะไรอีก

    (พระองค์นั้น) โอ๊ย อยากมาเล่าเรื่องเณรนี้ให้ท่านอาจารย์ฟัง

    หลวงตา มันเป็นยังไง

    (พระองค์นั้น) อู๊ย ที่ท่านอาจารย์พูดนั้นเหมือนกันกับชี้หน้าเณรนี้เลย ว่างั้นนะ

    หลวงตา ชี้หน้ายังไง

    (พระองค์นั้น) ก็เณรนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่างั้นบอกว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ วิ่งเข้าในป่า ป่าสับปะรด เสียงตูมตาม ๆ โครมคราม ๆ หมู่เพื่อนนึกว่าเป็นเสียงอะไรตูมตาม ๆ หมู่เพื่อนวิ่งมา วิ่งหาอะไร (ถามเณร) วิ่งหาธรรม ธรรมพาเข้าป่า โครมคราม ๆ เข้าในป่าสับปะรด หมู่เพื่อนก็เลยไปจับแขนดึงไว้ อย่าไป ธรรมไหนก็ช่างเถอะ อย่าไป ธรรมอย่างนี้มีแต่ป่าแต่เขาเดี๋ยวชนต้นไม้ตายนะ แล้วไปดึงแขนลงมา เณรนี้หาธรรม แล้วท่านอาจารย์พูดทำไมมันถูกต้องเอานักหนา เมื่อสักอาทิตย์หนึ่งน่ะ เณรนี้วิ่งเข้าป่า วิ่งหาธรรมตามธรรมไปจนหมู่เพื่อนได้มาสกัดเอา แล้วทำไมจึงพูดถูกต้องเอานักหนา เราก็เฉยเสีย

    นี่เรื่องอย่างนี้เราคิดถึงเณรนั้น แล้วมันไปไหนแล้วเดี๋ยวนี้ เลยไม่ทราบก็ไม่ได้พบกันอีกเลยนะ แล้วเราก็ไม่ได้ถามถึงเณรนี้เลย หรือสึกไปแล้วหรือไปยังไงก็ไม่ทราบนะ แต่เราเอาตั้งแต่เรื่องราวของมันที่เกิดขึ้นจากใจ ถ้าใจมีความสว่างไสวอยากจะออกรู้ออกเห็นอะไรต่าง ๆ นานานี้ เพื่อส่วนรวมเอาไว้เลยว่า อย่าด่วนไปยินดีกับมัน มันออกรู้ทางโน้นสติอยู่กับเรา ให้สติตั้งกับตัวเองย้อนจิตเข้ามาปั๊บ เรื่องนั้นจะหายไป ให้พากันเข้าใจ อย่าไปเพลินกับมันในเบื้องต้นถ้ายังไม่เข้าใจ

    มันอาจจะมีรายใดรายหนึ่งได้ เพราะจริตนิสัยคนเราไม่เหมือนกัน ก็อย่างเณรนั้นเป็นไร วิ่งเข้าป่าสับปะรด วิ่งตามแสงสว่าง แสงสว่างมันดวงเท่านี้มันพาวิ่งเข้าไป วิ่งเข้าไปด้วยเลย ก็อย่างนั้นแหละมันเป็นได้ เวลามีครูบาอาจารย์คอยแนะ แล้วเจ้าของก็คอยปฏิบัติตาม พอได้ผลแล้วทีนี้จิตประเภทนี้ได้ผลมากนะ ผาดโผนโจนทะยาน การพิจารณาอะไรนี้คล่องตัว ๆ ผาดโผนด้วย ได้ผลดีมาก เมื่อมีผู้คอยแนะนำตักเตือนไปเรื่อย ๆ แล้วเจ้าของก็ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ให้รู้เหตุรู้ผลของมันแล้วก็ใช้ได้ผลดี

    นี้เรื่องของการภาวนา เพราะจริตนิสัยของคนเราไม่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับนิสัยเหมือนกันนะ ไอ้เรื่องความบริสุทธิ์เหมือนกันหมด ไม่ว่าพระพุทธเจ้าและสาวกองค์ใดถึงขั้นบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน อันนี้ท่านไม่ถามกัน แต่นิสัยวาสนาลึกตื้นหยาบละเอียดนี้ต่างกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงได้ยกสมณศักดิ์ให้ดีเด่นคนละทิศละทาง ก็เพราะนิสัยวาสนาไม่เหมือนกัน อันนี้เป็นกิ่งก้าน เช่น ต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ตะเคียนต้นเดียวกันก็ตาม ชนิดเดียวกันก็ตาม แต่ต้นไม้ต้นนี้กับไม้ตะเคียนต้นนั้น ต้นมันเป็นต้นตะเคียนแต่กิ่งก้านจะไม่เหมือนกันเข้าใจไหมล่ะ ถึงจะเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกันก็ตาม แต่กิ่งก้านของต้นไม้ต้นนั้นจะไม่เหมือนกัน มีหนามีบางมีมากมีน้อยต่างกัน ต่างอย่างนี้ละ

    นิสัยวาสนาของคนเราก็เหมือนกันอย่างนั้น เวลามันเป็นขึ้นมามันเป็นขึ้นกับเจ้าของนี่นะ ต้องมีผู้อื่นคอยแนะ พอแนะได้แล้วก็ทีนี้ได้ผลดี ๆ ต่อไปไม่ต้องมีใครแนะ รู้จักวิธีปฏิบัติพร้อมอยู่ในนั้นเสร็จเลย นั่นเป็นอย่างนั้น เราจึงอยากให้บรรดาพี่น้องชาวพุทธเรา ซึ่งได้ถือศาสนาชั้นเอกจากพระพุทธเจ้าแล้วมาปฏิบัติตนให้เข้าสู่จิตใจ อย่าปล่อยใจจนเกินไป อย่าลืมเนื้อลืมตัวจนกระทั่งวันตายหาความสุขไม่เจอ ความทุกข์โดนทั้งวัน แต่หาจุดที่ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเหตุไรก็ไม่เจออีกเหมือนกัน ถ้าลงได้หาในใจนี้แล้วจะเจอทั้งสอง ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งต้นเหตุของสุขและของทุกข์จะเจอที่ใจ จึงให้พยายามปฏิบัติกันอย่างนี้ นี่ได้ปฏิบัติมาแล้วมันรู้จริง ๆ พอมันรู้ขึ้นมานี้จะไม่ถามใครเลย ไม่มีอะไรแม่นยำกว่าที่รู้ ๆ นี้ นั่น

    ดังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ผางขึ้นมาเท่านั้น ไม่ทรงถามใครเลย สอนโลกทันที บรรดาสาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน สอนเต็มภูมิของตัวเองทันทีเลย ไม่ต้องไปทูลถามและไปขอความรู้วิชาจากพระพุทธเจ้ามาสอนโลก โดยที่ความรู้ของตัวเองไม่พอ ต้องไปขอพระพุทธเจ้าอีก ไม่เคยมีในสาวกองค์ใด ท่านรู้ของท่านเต็มภูมิของท่านแล้วท่านสอนของท่านจนกระทั่งวันนิพพาน ไม่ว่าองค์ใดท่านสอนเต็มภูมิของท่าน ๆ ไปเลย อันนี้ไม่ต้องถามใคร เป็นตามนิสัยวาสนาของใครของเรา ส่วนความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกันหมด ไม่ได้แปลกต่างกันอะไรเลย

    ให้พากันจำเอานะ ให้ยึดหลักพุทธศาสนาเอาไว้ พุทธศาสนานี้เท่านั้นชี้นิ้วเลย เราพิจารณาหมดแล้ว เราหายสงสัยเรื่องศาสนาพระพุทธเจ้านี้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้มากี่องค์นี้ ก็เคยพูดให้ฟังแล้วเหมือนเรายืนอยู่ในท่ามกลางน้ำมหาสมุทร มองไปที่ไหนก็เป็นมหาสมุทรแล้วสงสัยน้ำมหาสมุทรที่ไหนกัน เราก็นั่งอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร เราก็ไม่สงสัยเรา และไม่สงสัยน้ำมหาสมุทร ความบริสุทธิ์เหมือนกันนี้ของแต่ละองค์ ๆ เท่ากับท่ามกลางมหาวิมุตติมหานิพพาน ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางเดียวกัน พอผางขึ้นไปเท่านี้มันรู้หมดเลยให้ทำไง มันเป็นอย่างนั้นนะ ไม่ต้องไปถามใครเลย เหมือนเรานั่งอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร มองไปที่ไหนก็เป็นมหาสมุทรหมด สงสัยที่ไหน ทีนี้ความบริสุทธิ์นี้ผางขึ้นไปเป็นอันเดียวกันแล้ว มองไปมันก็เป็นความบริสุทธิ์เหมือนกันหมด แล้วจะถามกันที่ไหน

    ทีนี้พระพุทธเจ้ามีมากน้อยเพียงไหนดูเอาน้ำมหาสมุทร ดูน้ำมหาสมุทรเป็นยังไงกว้างแคบขนาดไหน นี้ยังน้อยไปนะน้ำมหาสมุทร ส่วนจิตตวิมุตติที่กลายเป็นธรรมธาตุแล้วนั้น ประมาณไม่ได้เลย นี่ละพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ตรัสรู้ผางขึ้นมาเป็นธรรมธาตุ ๆ ๆ ครอบโลกธาตุ เทียบกับน้ำมหาสมุทร แล้วท่านตรัสรู้มานานเท่าไร ถามอะไร มองปั๊บนี้มันจ้าหมด ครอบไปหมดแล้วถามหาอะไร ที่จะมาข้างหน้าก็เหมือนกับฝนตกลงมาไม่มีเวลาหยุด ตกลงมาเข้าในมหาสมุทร ๆ มหาสมุทรไม่เคยเต็มด้วยน้ำ นี้ธรรมธาตุไม่เคยเต็มด้วยธรรมธาตุด้วยกัน เหมือนกันนั้นแหละ จ้าอยู่อย่างนั้น

    นี่ละเป็นความแท้จริงไม่มีใครจะมาลบล้างได้เลย ธรรมธาตุหรือว่าธรรมมีอยู่นี้ลบล้างไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาก็มาสายเดียวกัน ๆ ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้าท่านก็มาตามสายของท่านไป ไปข้างหน้า มาตามสาย ๆ ไปด้วยกัน เรียกว่า สายของธรรม เป็นศาสนาคู่โลกคู่สงสาร คือพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์อย่างอื่นไม่รับรองไม่แน่ใจ อย่างนี้เรายันเลยจะว่ารับรองหรือไม่รับรองก็แล้วแต่ เรายืนยันในหัวใจของเรา เราไม่สงสัย นั่นละ พระพุทธเจ้าแม่นยำ ในหัวใจเราเองเราก็ไม่สงสัย ว่ายิ่งหย่อนกว่าพระพุทธเจ้าหรือธรรมธาตุดวงใดก็ไม่เคยสงสัย นั่น ไม่ยิ่งไม่หย่อน หรือไม่เหยียบย่ำทำลาย ไม่วัดรอย เอาความจริงออกมาพูดกันตามหลักประจักษ์ใจนี้เอง มันก็เป็นอย่างนั้นจะให้ว่ายังไง ใครรู้เข้าไปมันก็เหมือนกันหมด แน่ะ รู้ก่อนรู้หลังไม่สำคัญ เหมือนกันหมดเลย

    นี่ละ ธรรมแท้เป็นอย่างนั้น ถึงที่สุดของจิตดวงนี้ จิตดวงที่ว่าไม่ตาย ๆ เมื่อถึงธรรมธาตุแล้วเป็นอย่างนี้ ไม่มีคำว่าตาย ท่านจึงเรียกว่า นิพพานเที่ยง คือไม่มีคำว่า ตาย ถ้าเวลากิเลสตัวปลิ้นปล้อนหลอกลวงมันติดอยู่ในจิตนี้ มันก็พาให้จิตดวงนี้ ดวงที่ไม่ตายไปเกิดที่นั่นไปเกิดที่นี่ ให้จิตสูญไม่สูญ มันหากไสเข้าไปด้วยอำนาจแห่งกรรมดี กรรมชั่ว ถ้ากรรมชั่วมันก็ไสลงให้ไปเกิดในสถานที่ไม่พึงหวัง ถ้ากรรมดีก็หนุนขึ้น ๆ หนุนใจดวงนี้เองใจดวงไม่ตายนี้แหละ หนุนไปหนุนมากี่กัปกี่กัลป์หนุนอยู่อย่างนี้ตลอดไป เพราะธรรมชาตินี้ไม่เคยตาย เมื่อถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง ด้วยบารมีที่สร้างมาแล้วผางเดียวเท่านั้น ทีนี้นิพพานเที่ยงพูดเลยไม่มีอะไรหนุน ไม่มีอะไรกดขี่ หมดสมมุติทั้งปวงที่เป็นเครื่องส่งเสริม เครื่องกดถ่วงไม่มีแล้ว เรียกว่า นิพพานเที่ยง นี้จำให้ดี

    นี่ละที่ว่าจิตไม่ตาย ไม่ตายอย่างนี้เอง ให้มันเห็นอยู่ในหัวใจเจ้าของซิ เวลาไม่ตายมันเป็นยังไง มันไปเกิดนั้นเกิดนี้ ที่ว่าตายแล้วเกิด ๆ กับตายแล้วสูญต่างกันยังไง นั่น ตายแล้วสูญนี้ความหมายของกิเลสมันหลอกคน มันไม่ได้สูญ พอตายปั๊บร่างกายนี้ออกปั๊บมันก็หมุนไปแล้วนี่ มันสูญที่ไหนมันไปแล้ว ความดี ความชั่ว ไสไปแล้วมันสูญที่ตรงไหน มันไม่ได้สูญจิตดวงนี้ ไปเกิดที่นั่นเกิดที่นี่ ลงนรกอเวจีมีแต่บาปแต่กรรมไสลงไป ทีนี้ขึ้น สวรรค์ พรหมโลก จนกระทั่งนิพพานก็คือบุญคือกุศลไสเข้าไป จนถึงนิพพานแล้วขาดสะบั้นปึ๋งเลย กฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไม่ถึงแล้ว นั่นท่านเรียกว่า นิพพานเที่ยง ก็จิตดวงนี้เอง ดวงไม่สูญดวงไม่ตายนี้ละ

    ให้จำเอาไว้นะ หลวงตาตายแล้วจะไม่มีใครพูด หรืออย่าไปเข้าใจว่าหลวงตานี้คุย เอ้า จะเข้าใจก็เข้าใจเถอะ หลวงตาไม่เข้าใจอะไรว่าตามความเข้าใจอันนี้ เข้าใจไหม เราแน่อย่างนี้ เกิดมาแต่โคตรพ่อโคตรแม่หลวงตาบัวไม่เคยได้รู้ได้เห็นธรรมประเภทนี้ เวลามันรู้ขึ้นมานี้ จนกระทั่งอดย้อนไป อู๊ย ธรรมประเภทนี้ โคตรพ่อโคตรแม่กูก็ไม่เคยรู้เคยเห็น นี่ก็มีข้อแม้อันหนึ่ง เพราะท่านไม่เคยปฏิบัติ ก็เรารู้เราเห็นเราปฏิบัติ นี่มันยอมรับถึงขนาดว่ายังไง มันถึงใจไหมถึงอุทานออกมา ก็โคตรแซ่นั้นเป็นสิ่งที่มีน้ำหนัก มีคุณค่ามากยกออกมายังสู้ธรรมประเภทนี้ไม่ได้ ความหมายว่าอย่างนั้น

    นี่ละที่เรายกมา ไม่ได้ยกมาเพื่อเหยียบย่ำทำลาย ยกมาเพื่อเทียบว่าน้ำหนักอันนี้เลิศเลอ และมีคุณค่ามากกว่าโคตรของพ่อของแม่ของเรา เข้าใจไหม เอาละวันนี้พูดเท่านี้ละ พูดนานไป ๆ เดี๋ยวจะไม่มีคำพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ต้องไปเรียนอีกละวันหลัง เอาละพอ

    วันนี้ก็เทศน์นานอยู่นะ ว่าเทศน์ไม่นานมันก็ไปนานจนได้นั่นละ ทุกวัน นี่ไปวันละ ๒๐ ๆ กว่านาที บางทีถึง ๓๐ ส่วนมากจะอยู่ ๒๐-๒๕ ระหว่างนี้แหละ บางวันถึง ๔๐ นาทีก็มี เวลาพูดอย่างนี้แล้วเขาออกจากโน้นแล้ว เขาก็มาอ่านให้เราฟัง อ่านก็ไม่เห็นได้แก้ตรงไหน อ่านเฉย ๆ ไม่ได้แก้ตรงไหนเลย เพราะพูดออกจากความแน่ใจจะไปแก้ตรงไหนวะ

    คัดลอกมาจาก Luangta.Com -
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 28 กรกฎาคม 2012
  2. Allymcbe222

    Allymcbe222 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    547
    ค่าพลัง:
    +1,445
    "นี่ละที่ว่าจิตไม่ตาย ไม่ตายอย่างนี้เอง ให้มันเห็นอยู่ในหัวใจเจ้าของซิ เวลาไม่ตายมันเป็นยังไง มันไปเกิดนั้นเกิดนี้ ที่ว่าตายแล้วเกิด ๆ กับตายแล้วสูญต่างกันยังไง นั่น ตายแล้วสูญนี้ความหมายของกิเลสมันหลอกคน มันไม่ได้สูญ พอตายปั๊บร่างกายนี้ออกปั๊บมันก็หมุนไปแล้วนี่ มันสูญที่ไหนมันไปแล้ว ความดี ความชั่ว ไสไปแล้วมันสูญที่ตรงไหน มันไม่ได้สูญจิตดวงนี้ ไปเกิดที่นั่นเกิดที่นี่ ลงนรกอเวจีมีแต่บาปแต่กรรมไสลงไป ทีนี้ขึ้น สวรรค์ พรหมโลก จนกระทั่งนิพพานก็คือบุญคือกุศลไสเข้าไป จนถึงนิพพานแล้วขาดสะบั้นปึ๋งเลย กฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไม่ถึงแล้ว นั่นท่านเรียกว่า นิพพานเที่ยง ก็จิตดวงนี้เอง ดวงไม่สูญดวงไม่ตายนี้ละ"

    อนุโมทนาสาธุ
    นิพพานดวงจิตไม่สูญ
     
  3. บุคคลทั่วไป 3 คน

    บุคคลทั่วไป 3 คน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,938
    ค่าพลัง:
    +1,253


    สุญญสูตร

    [๑๐๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ฯลฯ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์
    ผู้เจริญ ที่เรียกว่าโลกว่างเปล่าๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรอานนท์ เพราะว่างเปล่า จากตนหรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า
    อะไรเล่าว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน

    จักษุแลว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน รูปว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน
    จักษุวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆตน จักษุสัมผัสว่างเปล่าจากตนหรือ
    จากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะ
    จักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฯลฯ

    ใจว่างเปล่าจากตนหรือจาก ของๆ ตน ธรรมารมณ์ว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ
    ตน มโนวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน มโนสัมผัสว่างเปล่าจากตน
    หรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขม สุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโน
    สัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างเปล่าจากตนหรือจาก ของๆ ตน

    ดูกรอานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า ฯ

    จบสูตรที่ ๒

    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
    หน้าที่ ๕๓/๔๐๒
     

แชร์หน้านี้

Loading...