จิตตภาวนาเป็นมหากุศล หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 2 มีนาคม 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดเขาน้อยสามผาน จันทบุรี


    เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๓


    จิตตภาวนาเป็นมหากุศล



    วันนี้ ท่านนักใจบุญทั้งหลายได้มารวมกันเป็นจำนวนมาก ทั้งฝ่ายพระก็เพิ่มฝ่ายประชาชนก็เพิ่มขึ้นมาก กรุณาฟังให้เกิดประโยชน์ ธรรมของพระพุทธเจ้าล้วนแต่มีประโยชน์โปรดสัตว์ให้พ้นจากความเขลาเมามัว และความทุกข์ทรมานทั้งนั้น จนถึงประโยชน์มหาศาลไม่นอกเหนือจากธรรมนี้เลย ธรรมจึงเป็นพื้นฐานของโลกที่ใฝ่ใจให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน บรรดาผู้มีความสนใจในธรรมนับแต่ส่วนย่อยจนถึงส่วนใหญ่ ทั้งฝ่ายประชาชนและฝ่ายพระผู้มีความหนักแน่นในธรรมมากเพียงไร ยิ่งมีความสุขความสงบเย็นใจมากเพียงนั้น


    ธรรม นั้นกระเทือนโลกมาแล้วประมาณ ๒๕๐๐ กว่าปีในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของเรา คือ ธรรมนี้เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ดั้งเดิมมาตลอดกาล แต่ไม่มีใครสามารถฉลาดรู้และรื้อฟื้นธรรม ซึ่งเป็นของมีอยู่แล้วขึ้นมาให้โลกได้กราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจ จึงเหมือนกับธรรมไม่มี แม้ไม่ใช่สมัยที่เป็นสุญญกัปที่ไม่มีศาสนาก็ตาม


    คำ ว่าสุญญกัปจะหมายถึง ความว่างเปล่าจากคำว่า บุญ บาป นรก สวรรค์ นิพพาน เพราะไม่มีผู้มาแนะนำบอกสอนก็ตาม แต่ธรรมเหล่านี้มีอยู่ดั้งเดิม เป็นเพียงในระยะนั้นไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถขุดค้นธรรมซึ่งเป็นของมีอยู่ นั้นขึ้นมา เพราะสมัยนั้นเป็นช่วงที่จิตใจของโลกไม่สนใจใฝ่ธรรมเลย นอกจากสนใจในสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟเผาลนกันให้ฉิบหายป่นปี้โดยถ่ายเดียวเท่า นั้น จึงกลายเป็นสัญญีสัตว์ในสมัยนั้น


    คำ ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ ก็หมายถึงศาสนาไม่มีในหัวใจมนุษย์เลยนั่นแล สมัยใดหรือขณะใดก็ตามถ้าไม่มีศาสนา ความระลึกถึงบุญและบาปภายในใจ ท่านเรียกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ได้ แม้ศาสนามีอยู่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าไม่สนใจอรรถธรรมภายในใจและความประพฤติเพื่อคุณงามความดี ละบาปบำเพ็ญบุญอะไรบ้างแล้ว ถ้าจะเทียบกับรถ ก็เรียกว่ารถไม่มีเบรกหรือเบรกแตก มีแต่คันเร่งอย่างเดียว เร่งไม่หยุดไม่ถอยเร่งเสียจนลงคลอง รถก็จมไป คนก็ตาย แต่รถยกขึ้นมาได้ ซ่อมแซมขับขี่ไปมาได้อีก ส่วนคนไม่มีทางซ่อมแซมได้เหมือนรถ ตายไปเลย คำว่าเหยียบคันเร่งก็หมายถึงภยันตรายที่มนุษย์ผู้มีจิตใจใฝ่ต่ำสนใจทำกันไม่ หยุดยั้งนั่นแล


    ถ้า จิตใจหาอรรถหาธรรมไม่ได้ ย่อมจะเป็นไปตามความอยาก ไม่มีขอบมีเขต ไม่มีเหตุมีผลเป็นเครื่องยับยั้งชั่งตวงบ้างเลย ส่วนมากจะต้องเป็นไปในทางที่ต่ำเสมอ เช่นเดียวกับน้ำย่อมไม่ไหลขึ้นสู่ที่สูง นอกจากถูกผลักดันขึ้นไปเท่านั้นน้ำถึงจะขึ้นที่สูงได้ ตามธรรมดาต้องไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ จิตใจที่มีธรรมชาติอันต่ำและมีน้ำหนักมากกดถ่วงภายในอยู่แล้ว กิริยาแห่งการแสดงออกทางกาย วาจา ใจ ย่อมจะเป็นไปในทางต่ำเสมอ ด้วยอำนาจแห่งสิ่งที่กดถ่วง หรือผลักดันอยู่ภายในพาให้เป็นไป


    ที่ ว่าศาสนาเกิดขึ้นในโลกก็เพราะท่านผู้รู้ ท่านผู้เฉลียวฉลาด คือพระพุทธเจ้าสมัยปัจจุบันของเราทรงขุดค้นขึ้นมา และนำมาประกาศสอนโลกได้ ๒๕๐๐ ปีกว่านี้ ประหนึ่งว่าธรรมพึ่งมี ความจริงธรรมมีอยู่ตลอดกาลเช่นเดียวกับวัตถุแร่ธาตุๆ ซึ่งมีอยู่ในพื้นแผ่นดินนี้ เราไม่มีความเฉลียวฉลาดเหยียบย่ำไปมาอยู่สักกี่กัปกี่กัลป์ ก็ไม่สามารถจะยังแร่ธาตุต่างๆ นั้นให้ปรากฏขึ้นสู่สายตา และนำไปทำประโยชน์ต่างๆ ตามคุณภาพของมันได้ ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เปรียบเหมือนแร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในแผ่นดินนั่นแล แต่ไม่มีใครเฉลียวฉลาดในการขุดค้นธรรมขึ้นมาเป็นประโยชน์แก่โลกได้ มีพระพุทธเจ้าเป็นที่หนึ่ง สาวกอรหัตอรหันต์เป็นที่สอง ในการอบรมสั่งสอนคนให้ดีและดีเยี่ยมเต็มภูมิจิตภูมิธรรม


    เบื้อง ต้นพระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนพระองค์ให้เป็นคนดีก่อน เมื่อเป็นคนดีอย่างเต็มที่หรือเป็นคนดีสุดยอด แล้วก็นำธรรมที่ทรงบำเพ็ญมานั้นมาสั่งสอนบรรดาสัตว์ เริ่มมีสาวกขึ้นมาองค์ที่หนึ่ง ที่สองจนถึงจำนวนมาก ก็เนื่องจากได้สดับธรรมจากพระพุทธเจ้า เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้มุ่งต่อความจริงอยู่แล้วอย่างเต็มใจ ในสมัยศาสดาของเราตรัสรู้ทีแรกก็มีเบญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นปฐมสาวก ท่านเหล่านี้เมื่อได้สดับธรรมจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น จิตซึ่งยิ้มแย้มแจ่มใสคอยจะรับธรรมอันมีค่าอยู่แล้ว ก็เข้ากันได้อย่างสนิทโดยไม่ยากเย็นอะไรนักเลย จึงปรากฏสาวกขึ้นมาห้าองค์ จากนั้นพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายก็ช่วยกันนำธรรมนี้ออกแนะนำสั่งสอนโลก จนกว้างขวางไปโดยลำดับกระทั่งพระพุทธเจ้าปรินิพพาน สาวกทั้งหลายก็ช่วยกันทำหน้าที่แทนเรื่อยมา และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้


    เพราะ ฉะนั้น คำว่านายช่างนี้จึงสำคัญมากทีเดียว ไม่ว่าช่างอะไรก็ตาม ช่างบ้าน ช่างเรือน ช่างเหล็ก ช่างปูน ช่างก่อสร้างต่างๆ ไม่มีประมาณ ช่างมีความชำนาญเท่าไรย่อมสามารถทำให้วัตถุสิ่งก่อสร้างนั้นๆ มีความสวยงามมั่นคงขึ้นได้มากเท่านั้น ไม่สักแต่ว่าช่างเฉยๆ นี่คำว่าครูอาจารย์ ก็ได้แก่พระพุทธเจ้าเป็นบรมครู บรมก็หมายถึงเยี่ยม เป็นครูที่เยี่ยม สาวกทั้งหลายก็เยี่ยมรองลำดับพระพุทธเจ้าลงมา ท่านที่กล่าวมาสองรัตนะนี้ได้แก่ พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก ท่านเป็นนายช่างวิเศษ ตามลำดับจากพระพุทธเจ้าลงมา เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้ได้ผ่านมาแล้วทั้งฝ่ายเหตุ คือการประพฤติปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมอันยอดเยี่ยม ทั้งผลก็ได้ปรากฏเป็นที่พึงพอใจมาอย่างประจักษ์ใจของสาวกทั้งหลายแล้ว จึงนำธรรมเหล่านั้นมาสั่งสอนทั้งอุบายวิธีละวิธีถอดถอน ทั้งวิธีบำเพ็ญ ให้เป็นขึ้นภายในใจในบรรดากุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งควรจะเกิดได้ภายในใจโดยเฉพาะ ไม่มีที่อื่นเป็นที่เกิดของธรรม พระสาวกทั้งหลายท่านแนะนำสั่งสอนประชาชนโดยถูกต้องแม่นยำแทนศาสดาเรื่อยมา ผู้เชื่อและนับถือศาสนาจึงถึงใจไม่มีที่สงสัย และปฏิบัติเต็มสติกำลังความสามารถพร้อมทั้งผลคือการบรรลุธรรมตามๆ กันมาไม่ขาดวรรคขาดตอน


    การ ฟังธรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนให้รู้วิธีฟัง ให้เกิดผลประโยชน์ในขณะที่ฟัง คืออานิสงส์หรือผลที่จะได้รับในขณะที่ฟัง ท่านกล่าวไว้ห้าประการ นี่จะกล่าวเพียงประการสุดท้ายก่อนว่า จิตผู้ฟังย่อมสงบผ่องใสนี่เป็นข้อที่ ๕ ข้อที่๑ ที่ ๒ ท่านว่าไปโดยลำดับดังนี้


    ๑. จะได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง


    ๒. สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วจะทำสิ่งนั้นให้แจ่มแจ้งขึ้นโดยลำดับ


    ๓. จะบรรเทาความสงสัยเสียได้


    ๔. จะทำจิตให้ตรงต่อความจริงตามหลักธรรมที่ท่านสอนนั้น


    ๕. จิตผู้ฟังย่อมมีความสงบผ่องใส นี่จึงหมายถึงใจล้วนๆ ในบรรดาธรรมทั้งหลายที่จะพึงสัมผัสต้องสัมผัสที่ใจ ไม่มีที่อื่นเป็นที่สัมผัสรับรู้ธรรมทั้งหลาย มีใจดวงเดียวเท่านั้นเป็นคู่ควรของธรรมทั้งปวง


    เพราะ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว กายนั้นเป็นแต่เพียงผู้รับบัญชาเป็นเครื่องมือของใจ การส่อแสดงในกิริยามารยาทออกมาในท่าต่างๆ ผิดถูกชั่วดีประการใด จึงขึ้นอยู่กับใจซึ่งเป็นหัวหน้า เป็นนายงาน ดังนั้นใจจึงควรได้รับการอบรมให้ถูกต้องดีงามเพื่อจะได้ระบายออกมาหรือใช้ เครื่องมือ ได้แก่กายวาจานี้ให้ถูกต้องตามเหตุตามผล ตามหน้าที่การงาน ให้ได้รับผลประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นไม่มีประมาณ ไม่ทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้า พูดแบบสุ่มสี่สุ่มห้าเพราะการไม่ได้อบรมศึกษามาด้วยดีก่อน


    ใน ครั้งพุทธกาล เราเคยได้ยินอยู่เสมอตามตำรับตำราว่า ผู้ฟังธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้บรรลุธรรมนับตั้งแต่ขั้นโสดาขึ้นไปโดยลำดับ จนถึงอรหัตบุคคล มาสมัยนี้ นี่เหมือนกับการบรรลุธรรมเหล่านี้จะเลยความเชื่อ เลยความสามารถของเราทั้งหลายเสียเหลือเกิน เหมือนกับว่าเรานี้ไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่ง พระพุทธเจ้าผู้ทรงสั่งสอนสัตว์โลกก็เหมือนไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่ง ผู้ฟังทั้งหลายในครั้งนั้นก็เหมือนเทวดามาฟัง พวกเราทั้งหลายในครั้งนี้เหมือนกับไม่ใช่มนุษย์ ความจริงก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน


    พระ พุทธเจ้าท่านก็เกิดขึ้นมาในท่ามกลางกิเลสตัณหาอาสวะ คือความโลภ โกรธ หลง มีเต็มพระทัยเช่นเดียวกับพวกเรา พระสาวกทั้งหลายที่เป็นสรณะที่สามของพวกเรา ซึ่งได้เปล่งวาจาถึงท่านอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้ ท่านก็เกิดในท่ามกลางแห่งกิเลส พ่อกับแม่ท่านเป็นคนมีกิเลส องค์ท่านเองก็เป็นคนมีกิเลส เป็นเครื่องยืนยันพาให้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลสเหมือนอย่างเรา เป็นแต่ท่านได้ยินได้ฟังพระโอวาทจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสดาองค์เอก ธรรมะที่ทรงสอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนแม้แต่บทเดียวบาทเดียว ผู้ฟังจึงได้บรรลุผลเป็นที่พอใจ ดังนี้ก็เป็นเหตุผลที่ควรฟังได้ ถ้าเป็นผลไม้ก็เป็นประเภทหัวปีที่ได้รับการบำรุงส่งเสริมอย่างถูกต้องดีงาม ประกอบกับดินฟ้าอากาศก็อำนวย


    แต่ อย่าลืมว่า กิเลสครั้งพุทธกาลกับกิเลสครั้งนี้เป็นภัยแก่สัตว์โลกเช่นเดียวกัน และต้องแก้ต้องถอดถอนด้วยธรรมเหมือนกัน นอกจากคนสมัยนั้นชอบธรรม ปฏิบัติธรรม แต่คนสมัยนี้เบื่อธรรม ชอบกิเลสตัวพิษภัยและสั่งสมกิเลส จึงไม่ค่อยสนใจและไม่สนใจบำบัดรักษาตัวด้วยธรรม แล้วก็ไปทิ้งมรรคผลนิพพานให้คนสมัยโน่นครอง แต่คนสมัยนี้คว้าเอากิเลสความเบื่อธรรมมาแบกหาม ผลจึงต่างกันดังที่รู้ๆ เห็นๆ อยู่ ถ้าเป็นผู้สนใจในธรรมและปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว กิเลสต้องบรรลัยด้วยธรรมเหมือนครั้งพุทธกาลไม่อาจสงสัย ความจริงจึงอยู่ตรงนี้


    การ สร้างบารมี เราทุกคนก็สร้างด้วยกัน การให้ทาน เราพูดได้เต็มปากว่าชาวพุทธเรานี้เป็นนักทานมาแต่ดึกดำบรรพ์ ปู่ ย่า ตา ยาย พาให้ทานมาเป็นประจำ พวกเราเองก็ให้ทานเป็นประจำทุกวัน รู้สึกว่าไม่ขาดเลย การรักษาศีลก็มี แม้จะมีจำนวนไม่มาก.....ก็มี ส่วนการเจริญเมตตาภาวนาเพื่อความสงบเห็นประจักษ์ใจนั้นอาจมีจำนวนน้อย แต่ก็มีเป็นคู่เคียงกันไปกับทานกับศีล จึงไม่ควรน้อยใจว่าตนมีบุญวาสนาน้อย ทั้งนี้เพราะบุญบารมีเราทั้งหลายสร้างมาเป็นประจำ วันหนึ่งอาจมองเห็นบุญบารมีของเราที่สร้างไว้แล้วเต็มอยู่ในทำนบใหญ่คือ จิตตภาวนาไม่อาจสงสัย จึงกรุณาภูมิใจในบุญวาสนาของตน แม้จะยังไม่เห็นประจักษ์เวลานี้ แต่ก็พร้อมจะเห็นในวาระต่อไป


    อย่าง ไรก็ตาม คุณงามความดีนั้นเมื่อเราทำอยู่แล้วย่อมเป็นความดีเสมอไป ท่านจึงสอนให้อบรมทางด้านจิตตภาวนา ซึ่งเหมือนกับการสร้างทำนบใหญ่เอาไว้ เวลาน้ำไหลมาจากที่ต่างๆ ไม่ว่าทางด้านไหนๆ ก็ไหลลงมารวมที่ทำนบใหญ่นั้นให้ปรากฏเต็มด้วยน้ำ เป็นที่อาบดื่มใช้สอยอย่างสะดวกสบาย นี่จิตตภาวนาจึงเป็นเหมือนทำนบใหญ่ สำหรับรวมแห่งคุณงามความดีทั้งหลาย จะมาจากทานที่เคยบำเพ็ญมากี่ปีกี่เดือนกี่กัปกี่กัลป์ก็ตาม จะมารวมที่ใจดวงนี้ ซึ่งเป็นภาชนะใหญ่และสำคัญ ศีลรักษามามากน้อย ตลอดเราเคยเจริญเมตตาภาวนา ก็มารวมอยู่ที่จิตตภาวนานี้แห่งเดียว เพราะจิตตภาวนาเป็นที่รวมแห่งกุศลทั้งมวล


    พระ พุทธเจ้าก็เหมือนกัน การสร้างพระบารมีมามากน้อย พระองค์ยังไม่ทรงทราบว่าเคยสร้างมามากน้อยเพียงไร แต่พอได้สร้างทำนบอันใหญ่โตรโหฐานนี้สำเร็จลงด้วยจิตตภาวนาอย่างสมบูรณ์แล้ว จึงปรากฏพระทัยเต็มด้วยน้ำ คำว่าน้ำหมายถึงมหากุศลอันอัศจรรย์เต็มอยู่ในพระทัยของพระพุทธเจ้า จึงสามารถแจกจ่ายบรรดาสัตว์ไม่มีวันบกบางสิ้นเปลืองไปเลย เต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา


    กระทั่ง วาระสุดท้ายจะปรินิพพาน ก็ประทานพระโอวาทแก่บรรดาสงฆ์สาวกและประทานศาสนธรมไว้สำหรับพวกเราทั้งหลาย ได้อาบดื่มลืมตาอ้าปากพูดศีลพูดธรรมได้จนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งนี้ได้แก่การประพฤติปฏิบัติตามธรรมท่านอย่างมีแบบมีฉบับ เช่นการให้ทาน ตามธรรมดาเราก็ไม่ทราบว่ามีผลอย่างไร แต่เมื่อมีธรรมะเป็นเครื่องแสดงบอกอยู่แล้ว เราก็เข้าใจว่าการให้ทานมีผลเช่นนั้น การรักษาศีลมีผลเช่นนี้ การเจริญเมตตามีผลเช่นนั้นๆ เราได้อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ประทานไว้ด้วยพระเมตตาสุดส่วนไม่มีใคร เสมอในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าเมตตาแล้วพระพุทธเจ้าเป็นที่หนึ่ง จึงพอลืมตาอ้าปากได้ ไม่ถูกกิเลสมันปิดให้มืดมิดเสียทีเดียว


    การ แนะนำสั่งสอนสัตว์โลกกว้างแคบขนาดไหน ใครจะมีภาระมากยิ่งกว่าศาสดา ในหลักธรรมท่านกล่าวไว้มี ๕ ประการว่าเป็นพุทธกิจ คืองานประจำของพระพุทธเจ้ามีถึง ๕ ประการในวันคืนหนึ่ง ๆ คือ


    ข้อ ๑. สายเณฺห ธมฺมเทสนํ ตอน บ่ายสามโมงสี่โมงเย็นลงไปแล้ว ประทานพระโอวาทแก่ประชาชน นับแต่พระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี กุฎุมพี ตลอดพ่อค้าประชาชนคนธรรมดาลงมาโดยลำดับ ทางฝ่ายฆราวาส


    ถัดจากนั้นไปก็ ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ ประทาน โอวาทแก่บรรดาพระสงฆ์เป็นประจำ ตามแต่พระสงฆ์เหล่านั้นจะมีภูมิอรรถภูมิธรรมสูงต่ำขนาดไหน สอนตั้งแต่ธรรมพื้นๆ ขึ้นไปจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไม่มีอัดมีอั้น เพราะมีเต็มอยู่ในพระทัยหมดแล้วบรรดาธรรมทั้งหลายที่นำมาสอนโลก พระองค์ได้บรรจุไว้แล้วด้วยความรู้แจ้งแทงตลอดไม่มีบกบาง จึงทรงนามว่าเป็นศาสดาเอกของโลก


    อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ ตั้งแต่ หกทุ่มล่วงไปแล้ว ทรงแก้ปัญหาและเทศนาสอนเทวบุตรเทวดา อินทร์พรหมทั้งหลายที่มาจากชั้นต่างๆ ทรงแก้ทั้งปัญหาการไต่ถามของเทวดาทั้งหลาย ทั้งประทานพระโอวาทให้เทวดาทั้งหลายได้รับประโยชน์ทั่วถึงกัน


    พอตอนปัจฉิมยามล่วงไปแล้ว ท่านกล่าวไว้เป็นบทบาลีว่า ภพฺพาภพฺเพ วิโลกานํ ทรง เล็งญาณดูสัตวโลกผู้มีอุปนิสัยปัจจัยที่ควรจะได้รู้อรรถรู้ธรรม คือบรรลุธรรมเฉพาะอย่างยิ่งอรหัตธรรม แต่ชีวิตอันตรายจะถึงตัวผู้นั้นในไม่ช้า เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาพระองค์ก็เสด็จไปโปรดคนนั้นก่อน เพราะจะขาดผลประโยชน์อันใหญ่หลวงและอัศจรรย์เกินโลกไปเสียที่เกิดมาเป็น มนุษย์ทั้งชาติ พอที่จะรับผลประโยชน์อันอัศจรรย์ภายในจิตใจ ก็พอดีอันตรายคือความตายนี้จะเข้ามาถึงเสียก่อน หากพอแก้ไขได้ พระพุทธเจ้าก็รีบเสด็จไปโปรดคนนั้นก่อน จนได้สำเร็จอรหัตมรรคอรหัตผลเต็มภูมิแล้ว ก็ปล่อยไปตามสภาพแห่งสังขารธรรมซึ่งเป็นกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เช่นเดียวกับโลกทั่วๆ ไป นี่เป็นข้อที่ ๔.


    ปุพฺพเณฺห ปิณฺฑปาตญฺจ ตอน เช้าก็เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ในครั้งพุทธกาลนั้นท่านโปรดสัตว์จริงๆ ไปไม่มีความมุ่งหวังปัจจัยไทยทานโลกามิสใดๆ กับบรรดาประชาชน ทรงโปรดสัตว์ด้วยพระเมตตาสงสารทางน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้าจริงๆ แม้สาวกท่านก็เป็นแบบเดียวกัน มีความสงสารสงเคราะห์เพื่ออนุเคราะห์เขา เขาได้ให้ทานมากน้อย เขาได้พบได้เห็นท่านชั่วกาลชั่วเวลาที่เรียกว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ การ เห็นสมณะเป็นมงคลอันสูงสุด ในขณะนั้นเขาก็ได้เห็นสมณะผู้เป็นมงคลอันสูงสุด เป็นสมณะที่สูงสุดด้วยได้แก่สมณะที่สี่ คืออรหัตบุคคลหรืออรหัตภิกขุ


    คำ ว่าสมณะนั้นมีอยู่สี่ สมณะที่ ๑ คือพระโสดา สมณะที่ ๒ คือ พระสกิทาคา สมณะที่ ๓ คือพระอนาคา สมณะที่ ๔ คือพระอรหัตบุคคล เขาทั้งได้เห็นทั้งได้ยินการรับสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งจากพระพุทธเจ้า ทั้งได้ให้ทานแก่สมณะผู้สงบกาย วาจา ใจ เป็นผู้ลอยบาปเสียแล้วโดยสิ้นเชิงภายในใจ มีใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ


    ท่านไปบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์จริงๆ อนุเคราะห์เขาจริงๆ เขาให้ทานมากน้อยเพียงไรก็เป็นผลเป็นประโยชน์แก่เขา เพราะท่านเป็น ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็น เนื้อนาบุญของสัตว์โลกอย่างแท้จริง ไม่มีเนื้อนาบุญใดยิ่งไปกว่า ครั้งพุทธกาลท่านทำจริงจังอย่างนั้น จนเห็นผลเป็นที่พึงพอใจ พระพุทธเจ้าของเราท่านทรงบำเพ็ญพระองค์ต่อสัตว์โลกโดยสม่ำเสมอคือพุทธกิจห้า ไม่ทรงละ นอกจากจะทรงงดตามเหตุการณ์อันควรงดในบางกาลเท่านั้น


    ความ ลำบากลำบนใครจะเกินพระพุทธเจ้า นับตั้งแต่การบำเพ็ญจนกระทั่งตรัสรู้ก็เป็นความลำบากทรมานมากอยู่แล้ว พอได้ตรัสรู้ถึงขั้นความเป็นศาสดาของโลกแล้ว ก็ทรงทำหน้าที่แห่งความเป็นศาสดาด้วยพระเมตตาสั่งสอนสัตว์โลกทั้งใกล้ทั้ง ไกล สามโลกธาตุพระองค์เป็นครูสั่งสอนทั้งนั้น


    ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พระ พุทธเจ้าทรงเป็นครูทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คำว่าเทวดาก็ตั้งแต่ชั้นต้น รุกขเทวดาขึ้นไปจนถึงท้าวมหาพรหม ในแหล่งโลกธาตุนี้เป็นลูกศิษย์ของตถาคตทั้งสิ้น ไม่มีใครที่สามารถเป็นครูของศาสดาได้ เพราะฉะนั้น ในพุทธคุณบทนี้จึงประกาศให้เราทั้งหลายได้เห็น ได้ยินอย่างเด่นชัด ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นครูทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย


    คน สามารถที่จะเป็นครูแห่งเทวดาอินทร์พรหมทั้งหลายได้ จะเป็นคนประเภทใดถ้าไม่เป็นคนประเภทเหนือโลกเหนือไตรภพ คือพระพุทธเจ้า ทรงบรรลุโลกุตรธรรมที่เป็นธรรมเหนือโลกแล้วจึงเป็นบุคคลเหนือโลก ทรงสามารถสั่งสอนโลกได้อย่างเต็มภูมิเรื่อยมา นี่พูดถึงความลำบาก พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยในความลำบากยิ่งกว่าอยากให้สัตว์โลกทั้งหลาย ได้รับผลประโยชน์จากพระองค์เท่าที่เขาจะสามารถรับได้ และเท่าที่พระกำลังของพระองค์จะอำนวยทางสุขภาพ บรรดาสาวกทั้งหลายก็ดำเนินตามแบบนั้นเรื่อยมา


    ศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงไว้ก็ดี พระสาวกทั้งหลายทรงไว้ก็ดี เป็นศาสนาแท้ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีบิ่น สมบูรณ์เต็มที่ในศาสนธรรม ดังที่ว่าไปบิณฑบาตนั้นแหละโปรดสัตว์โลกโปรดจริงๆ ไม่มีความคิดทางโลกามิสของโลกแฝงขึ้นมาภายในจิต


    ดัง มีในตำนาน จะเล่าให้ฟังเป็นข้อประกอบเพียงย่อๆ ว่า มีภิกษุองค์หนึ่ง ท่านยังไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ แต่จิตใจของท่านมีภูมิธรรมน่าชมเชย ขณะที่จะก้าวออกจากสถานที่ที่บำเพ็ญไปบิณฑบาต จิตรู้สึกแย็บขึ้นมาว่า วันนี้ประชาชนเขาจะเอาอาหารอันประณีตบรรจงอย่างไรใส่บาตรให้เราบ้าง เมื่อจิตใจเพียงแย็บขึ้นมาสัมปยุตด้วยความโลภ อันเป็นกิริยาของคนละโมบโลภมาก ไม่ใช่กิริยาของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อกำจัดกิเลสอาสวะ ท่านทราบทันที ท่านเลยหยุดและกลับในขณะนั้น ไม่ไปบิณฑบาตเลย ท่านดัดกิเลสตัวโลภตัวนี้โดยไม่ไปบิณฑบาต วันนั้นท่านไม่ฉัน วันหลังจะเริ่มไปบิณฑบาต ท่านคอยสังเกตกิเลสตัวโลภมากไม่มีเมืองอิ่มพอนี้จะแสดงขึ้นอย่างไรหรือไม่ กิเลสตัวนี้ก็เลยหมอบไม่กล้าแสดงตัว ท่านจึงไปบิณฑบาตด้วยความเป็นธรรมทั้งไปทั้งกลับตลอดสาย นี่แลท่านบิณฑบาตในครั้งนั้นท่านโปรดสัตว์จริงๆ


    มาสมัย ทุกวันนี้มันตรงกันข้าม เลยกลายเป็นสัตว์โปรดพระเสียแล้ว เพราะเหตุไร เราไม่ทำเป็นจริงเป็นจังตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า มันก็กลายเป็นโลกไปเสีย ผู้ทรงศาสนากลายเป็นโลกมันร้ายกว่าโลกไปอีก ฉะนั้น เราผู้ปฏิบัติจึงต้องทำจริงทำจังตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ผลที่พึงได้รับนั้นไม่ต้องสงสัย คำกล่าวไว้ในธรรมว่า อกาลิโก นั่นไม่มีกาลเวลา พร้อมแสดงผลแก่ผู้ปฏิบัติจริงอยู่เสมอไม่มีกาลสถานที่


    ในธรรมคุณท่านกล่าวไว้ว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระ ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว คำว่าชอบ ชอบทุกแง่ทุกมุมในข้ออรรถข้อธรรมทุกขั้นทุกตอน ตั้งแต่ธรรมขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุดวิมุตติพระนิพพาน เป็นเข็มทิศทางเดินอันถูกต้องถึงจุดที่หมายปลายทางได้ด้วยกันหมด เพราะ สวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบนี้


    ผู้ปฏิบัติตามจึงกลายเป็น นิยยานิกธรรม นำ กิเลสตัณหาอาสวะที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในจิตใจของตนออกพ้นจากตัวไปได้โดยลำดับ จนกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ พ้นจากทุกข์ไปได้โดยสิ้นเชิงเพราะ นิยยานิกธรรม ในบทธรรมคุณท่านกล่าวไว้อย่างนี้


    สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ ปฏิบัติธรรมจะพึงรู้เห็นเองภายในใจของตน เพราะใจเป็นผู้ปฏิบัติใจเป็นผู้บงการในการปฏิบัติ ใจเป็นผู้บงการในการต่อสู้กับกิเลสประเภทต่างๆ ในการละการถอนกิเลสประเภทต่างๆ ใจเป็นผู้ละ ใจเป็นผู้ถอน ใจเป็นผู้ต่อสู้ ใจเป็นผู้อดทน เมื่อต่อสู้ไม่ท้อถอยปล่อยวาง กิเลสหมดไปมากน้อย ใจจึงเป็นผู้ทราบ กิเลสหมดไปมากน้อย ธรรมก็ปรากฏขึ้นในขณะเดียวกัน พอกิเลสสงบตัวลงไปหรือหมดลงไปโดยลำดับ ธรรมก็ปรากฏขึ้นโดยลำดับ พอกิเลสหมดไปโดยสิ้นเชิง ธรรมก็แสดงขึ้นเต็มที่ภายในใจอย่างเต็มดวง จึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก รู้อยู่ที่ใจนี้ ไม่ได้รู้อยู่ในกาลนั้นในสมัยนี้


    ธรรม ไม่มีกาลไม่มีสมัย เป็นความจริงอยู่ตลอดเวลาภายในจิตใจ เช่นเดียวกับกิเลสซึ่งมีอยู่ในหัวใจคน ไม่ขึ้นอยู่กับกาลกับสมัย ไม่ขึ้นอยู่กับคำว่าหญิงว่าชาย ความโลภ ต้องเป็นความโลภในหัวใจ ความโกรธต้องเป็นความโกรธในหัวใจ ความหลงต้องเป็นความหลงในหัวใจ ราคะตัณหาความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมต้องเป็นกิเลสประเภทนั้นๆ อยู่ภายในจิตใจ ไม่มีวันมีคืนยืนเดินนั่งนอน เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อแก้กิเลสปฏิบัติเมื่อไร แก้เมื่อไร ต่อสู้กันเมื่อไร ก็เรียกว่าเราขึ้นสนามรบเพื่อชัยชนะเมื่อนั้น ด้วยเครื่องมือคือหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมอบให้แล้วโดยถูกต้องแม่นยำ เหมาะสมกับการปราบปรามกิเลสทุกประเภทให้สิ้นซากภายในหัวใจ เป็น สนฺทิฏฺฐิโก เต็มภูมิจิตภูมิธรรมขึ้นมา


    อกา ลิโก ไม่ต้องไปเลือกกาลไม่เลือกสมัย อย่าให้กิเลสมันหลอกลวงว่า สมัยโน้นท่านตรัสรู้ธรรมบรรลุธรรมจำนวนมากน้อยเท่านั้นๆ มาสมัยนี้ธรรมไม่มี มีแต่ศาสนธรรม มีแต่ชื่อของธรรมเท่านั้น องค์ธรรมไม่มี อย่างนี้เป็นความเข้าใจผิดตามกิเลสและเป็นเรื่องหลอกลวงจากกิเลสโดยตรง ในการจะบำเพ็ญความดี


    แต่ การสั่งสมกิเลส กิเลสไม่เห็นบอกว่าเวลานี้กิเลสหมดสมัยไปแล้ว เหมือนกับธรรมที่หมดสมัยไปแล้วแต่ครั้งพุทธกาลโน้น ในครั้งนี้กิเลสก็ไม่มี ธรรมก็ไม่มี เพราะหมดสมัยไปตามๆ กัน อย่างนี้กิเลสไม่เห็นบอกไว้เลย กิเลสคงเป็นกิเลสวันยังค่ำ ความโลภถ้าเกิดขึ้นภายในใจ ก็แสดงความกระวนกระวายให้เดือดร้อนไปหมด หาความอิ่มพอไม่ได้ คนนั้นตายด้วยความหิวความโหย เพราะความอยากนั่นแหละมันฆ่าตัวเอง ความโกรธก็ตัวดำตัวแดงขึ้น ทั้งครั้งนั้นครั้งนี้เหมือนกัน เป็นไฟได้ด้วยกันทั้งครั้งนั้นทั้งครั้งนี้


    เรา จึงไม่ควรเลือกกาลที่จะปฏิบัติต่อกิเลสประเภทต่างๆ ชำระกิเลสประเภทต่างๆ ด้วยอรรถด้วยธรรมของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นอกาลิกธรรม หากาลหาเวลาไม่ได้ ใครนำมาใช้เมื่อไรต้องได้ผลได้ประโยชน์ตลอดไปไม่เลือกกาลสถานที่


    เอหิปสฺสิโก ธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปทั้งภายนอกทั้งภายใน ให้เห็นได้อย่างชัดเจน ท่านจึงบอกว่า เอหิ ท่านจงน้อมจิต ย้อนจิตเข้ามาสู่ภายในตัวของท่านนี้ เอหิ นั่นน่ะ


    ให้พิจารณาดูเรื่อง ชาติปิ ทุกฺขา, ชราปิ ทุกฺขา, มรณมฺปิ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ชาติ ความเกิดก็อยู่ที่กายนี้ ชราความแก่ก็อยู่ที่กายนี้ มรณะ ความเจ็บไข้ได้ป่วยถึงขั้นตายมันก็มีอยู่ภายในกายนี้ ให้เห็นสิ่งที่เป็นภัยต่อตัวเอง อย่าได้เพลิดได้เพลินลืมเนื้อลืมตัวจนไม่รู้จักยับยั้งชั่งตวงกระทั่งวันตาย ตายไปด้วยความหิวความโหย ด้วยอำนาจกิเลสฉุดลากไปจนถลอกปอกเปิกหาที่ยับยั้งไม่ได้ ตายแล้วก็หาที่อยู่ที่อาศัยไม่ได้ เพราะตนไม่ได้สร้างคุณงามความดีอันเป็นที่ยึดที่เกาะไว้ เนื่องจากเชื่อกิเลสเสียจนเกินไป จนหมดเนื้อหมดตัว บทถึงคราวจำเป็นกิเลสมันไม่เหลือบมองเลย ปล่อยให้จมไปเพราะพิษของมัน เอหิปสฺสิโก ควรพิจารณาย้อนเข้ามาสู่ตัวเราดังที่อธิบายมานี้ จะตรงกับความจริงซึ่งมีอยู่ในตัวเราอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว


    ในทางปริยัติท่านกล่าวไว้ว่า เอหิปสฺสิโก สามารถ ประกาศคนอื่นให้มาดูธรรมของจริงได้ เมื่อพูดให้ถึงใจ จะไปประกาศใครให้มาดูธรรมของจริงได้ล่ะ ธรรมของจริงที่คนอื่นจะควรเชื่อได้อยู่ที่ไหนเวลานี้ ถ้าเอาให้จริงให้จังก็ตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติ พระพุทธเจ้าแสดงว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ มี อยู่ที่ไหน ถ้าไม่อยู่กายกับใจของคนเวลานี้ ของเราเวลานี้ ไม่ดูที่กายที่ใจของตนที่แสดงทุกข์ขึ้นมาตลอดเวลาจะดูที่ไหน และจะประกาศธรรมของจริงที่ไหนให้คนอื่นทราบให้คนอื่นเชื่อได้ เพราะธรรมเป็นนามธรรม ไม่ใช่วัตถุพอจะนำออกโชว์แบบโลกๆ โชว์กันนี่นา เอหิปสฺสิโก ให้ ย้อนจิตของท่านเข้ามาดูธรรมของจริงที่กายที่ใจนี้ ธรรมท่านมุ่งบอกตัวเราเองผู้ปฏิบัติให้ย้อนจิตเข้ามาดูตัวเองนี่นา จงจับปลาในสุ่ม คือกาย คือใจนี้ซิ ไปประกาศลมๆ แล้งๆ ที่ไหน เดี๋ยวเขาจะ หาว่าบ้าศาสนาจะว่าไม่บอก


    ความ ลำบาก ความทรมานกายใจ ก็เพราะสาเหตุได้แก่ สมุทัย คือตัวกิเลส ผลิตผลขึ้นมาให้ได้รับความเป็นทุกข์ทรมานต่างๆ เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องดับมันให้สิ้นซากไป นอกจากธรรมแล้วไม่มี จงนำมรรคเข้ามา มคฺค อริยสจฺจํ มาดับ ทุกฺขํ อริย สจฺจํ และ สมุทัย อริยสจฺจํ ดับด้วยมรรค ได้แก่ทาน ศีล ภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อเข้าไปได้แก่สติกับปัญญาเป็นสำคัญ


    แก้ ทุกข์กับสมุทัยแก้ที่ตรงนี้ มันท้าทายอยู่นี่ ทุกข์ก็ปรากฏอยู่อย่างเต็มตัว ให้รู้อย่างชัดเจน ไม่ว่ากลางวันกลางคืน จุดตะเกียงดูไม่ดูก็รู้ กลางวันก็รู้ได้ กลางคืนก็รู้ได้ เจ็บขึ้นที่กายตรงไหน อวัยวะส่วนใด ความทุกข์เกิดขึ้นภายในจิตใจ เกิดขึ้นขณะใดมากน้อยเพียงไร เกิดขึ้นเพราะเหตุผลกลไกอันใด มันก็เกิดที่ใจ ไม่จำเป็นต้องจุดไต้หรือเปิดไฟฟ้าดูมันก็เห็น เพราะทุกข์สมุทัยแสดงตัวทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีเวล่ำเวลา มันเป็นอกาลิโกของมันอยู่อย่างนั้น ดูเวลาไหนก็เห็นอย่างชัดเจน ถ้าสนใจดูด้วยความอยากรู้ อยากละ ต้องเห็น ต้องรู้ ต้องละได้ เพราะเป็นสิ่งที่ควรรู้ได้ เห็นได้และละได้ตลอดไป ไม่งั้นพระพุทธเจ้าไม่สอนให้ดูให้รู้ให้ละ


    ท่านจึงสอนว่า เอหิปสฺสิโก ให้ ย้อนจิตเข้ามาดูความจริงที่เป็นอยู่กับกายกับใจของเราทุกวันเวลาด้วยสติ ปัญญา จะสามารถรู้แจ้งแทงทะลุความจริงทั้งหลายนี้ด้วยอำนาจแห่งสติปัญญา พ้นไปไม่ได้เลย เมื่อสติปัญญามีความสามารถแก่กล้าเต็มที่แล้ว ย่อมสามารถตัดตัวสมุทัยอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ให้ขาดไปโดยลำดับ นิโรธ คือความดับทุกข์ จะดับไปตามลำดับแห่งมรรคที่มีกำลังตัดกิเลสขาดไปเป็นตอนๆ เมื่อมรรคมีกำลังเต็มที่แล้วก็สามารถดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ที่เรียกว่า นิโรธ เต็มภูมิ


    นั่นแหละท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก เห็นเอง ก็เห็นที่นี่ เอหิปสฺสิโก ให้ย้อนจิตเราเข้ามาดูที่นี่ จะสามารถประกาศธรรมของจริงที่รู้เห็นอยู่กับใจนี้ให้คนอื่นเข้าใจและเชื่อได้สนิทใจ เอหิปสฺสิโก ท่าน จงมาดูธรรมของจริง ธรรมของจริงนั้นอยู่ที่ไหน แม้ตัวเองก็ยังงงงันอั้นตู้เหมือนไก่ตาแตก ใครจะมาดูธรรมของจริงได้ เดี๋ยวเขาจะหาว่าบ้าไปนั่น เดินไปไหนไปบิณฑบาตก็ว่า มาดูนะ ธรรมของจริงอยู่กับอาตมา อาตมารู้ธรรมของจริงแล้ว อย่างนี้เขาจะเรียกว่าพระนี่วิปริตไปแล้วนี่ เขากำลังจะใส่บาตรก็จะเผ่นหนีกันหมดแหละ เพราะพระประกาศให้เขามาดูธรรมของจริงที่มีอยู่ในตัว ทั้งๆ ที่ตัวก็ยังไม่รู้ ตัวก็ยังไม่เห็นธรรมของจริงนั้น จะประกาศคนอื่นให้เขามาดูธรรมของจริงในตัวได้ยังไง


    เพื่อ ความเหมาะสมกับความจริงแห่งธรรม ตัวเองต้องย้อนจิตเข้ามาดูตัวของตัว สมกับว่า เอหิ ๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนสาวก และธรรมนี้เป็นเครื่องสอนคน ตนเป็นผู้สอนตนก็สอนว่า ท่านจงย้อนจิตเข้ามาหาตัวเอง เป็นคำเตือนเจ้าของให้ย้อนจิตเข้ามาดูจุดที่ธรรมมีอยู่ ทั้งสมุทัย ทั้งทุกข์ ทั้งนิโรธ ทั้งมรรค มีอยู่ในกายในใจของตนนี้ ดูที่ตรงนี้จะรู้แจ้งแทงตลอดในสถานที่เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและสาวกทั้ง หลายทรงรู้เห็นมาแล้ว ไม่ผิดกันแม้กระเบียดหนึ่งเลย อกาลิโกก็ได้กล่าวแล้ว


    ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ บรรดา ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นที่ใจนี้โดยเฉพาะ ใจเป็นภาชนะอันเหมาะสมอย่างยิ่งกับธรรมทั้งหลาย ธรรมจะปรากฏขึ้นมากน้อย ปรากฏขึ้นที่ใจ พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกท่านนำธรรมออกมาจากใจของท่านมาสั่งสอนพวกเรา เพราะฉะนั้น จงดัดแปลงภาชนะของตนให้ดี ได้แก่ใจ จะเป็นที่สมมักสมหมาย ธรรมทั้งหลายจะปรากฏขึ้นมาที่ใจนั้นแห่งเดียว ไม่ปรากฏในที่อื่นใด


    สมาธิ ธรรมซึ่งเคยได้ยินแต่ชื่อ ก็จะปรากฏเป็นความสงบขึ้นมาที่ใจของนักปฏิบัติ ไม่ว่าสมาธิขั้นใด ขณิกสมาธิก็ดี อุปจารสมาธิก็ดี อัปปนาสมาธิก็ดี จะปรากฏขึ้นที่ใจของผู้นั้นให้ได้ชมด้วยข้อปฏิบัติของตน ปัญญาขั้นใดก็ตามตั้งแต่ตรุณวิปัสสนาได้แก่ปัญญาขั้นอ่อน พิจารณาความเกิดแก่เจ็บตายซึ่งมีอยู่ในร่างกายของตน และทั่วโลกธาตุเป็นอย่างเดียวนี้หมด พิจารณาตรงไหนก็ได้ประสับประสานกันทั้งข้างนอกข้างใน จนถึงปัญญาขั้นแก่กล้าสามารถจะปรากฏเป็นตัวจริง ความจริงขึ้นมาที่ใจนี้


    ดังสติปัฏฐานสี่ท่านกล่าวไว้ว่า อชฺฌตฺตา วา พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อย่าง นี้เป็นต้น พิจารณาทั้งภายนอก พิจารณาทั้งภายในด้วยสติปัญญาอันแหลมคมย่อมจะสามารถทราบได้ หรือรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลายซึ่งมีอยู่ภายในตัวของเรานี้ด้วยปัญญา หนีปัญญาไปไม่พ้น


    ผู้ ปฏิบัติทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งภิกษุผู้ปฏิบัติ จึงควรสนใจกับสมาธิและปัญญาให้มีความเท่าเทียมหรือเสมอกันนั่นแลเป็นของ สำคัญ นั่งอยู่ก็ให้มีความเพียร เดินอยู่ก็ให้มีความเพียร อย่าสักแต่ว่าเดิน เดินจงกรม เดินวันยังค่ำก็ตาม ถ้าหาสติหรือปัญญาความรู้ความพินิจพิจารณา สติความระลึกรู้ตัวอยู่ในขณะนั้นไม่ได้แล้ว จะเดินทั้งวันทั้งคืนก็สักแต่ว่าเดินเหมือนกับโลกเขาเดินกัน เขามีแข้งมีขาเขาเดินกันได้ทั้งนั้นแหละ ยิ่งสุนัขด้วยแล้วมันมีตั้งสี่ขา ไม่ว่าแต่เพียงเดิน มันวิ่งก็ได้....สุนัขน่ะ ยังไม่เห็นมันประเสริฐอะไร ยังเป็นสุนัขอยู่นั่นแล เพราะมันเดินตามภาษาสุนัข วิ่งตามภาษาสุนัข เราเดินจงกรมตามภาษาของคนไม่มีสติก็จะเกิดผลเกิดประโยชน์อะไร


    คำ ว่าความเพียร พระพุทธเจ้าทรงมุ่งถึงสติกับปัญญาที่จดจ่อต่อหน้าที่การงานของตนและพิจารณา ด้วยปัญญาอยู่โดยสม่ำเสมอ ตามกาลอันควรที่จะนำปัญญามาพิจารณา ท่านจึงเรียกว่าความเพียร ความเพียรประเภทนี้แลเป็นความเพียรที่จะปราบปรามกิเลสให้หมดไปจากจิตใจได้ ไม่ใช่ความเพียรสักแต่ว่าเดินจงกรม เดินไปเดินมาจิตใจไม่จดจ่อกับงานของตนเลย นั่งก็นั่งเถ่อ นั่งหลับ นั่งสัปหงกงกงัน อย่างนี้ใครก็นั่งได้สัปหงกงกงันได้ มีเต็มไปหมดในวงนักปฏิบัติภาวนาเราอย่าเข้าใจว่าจะไม่มีเลย นี่ยิ่งจะมีมากกว่าเวลาตั้งสติ มีปัญญาพิจารณาเสียอีกในขั้นเริ่มแรกแห่งการฝึกหัดภาวนา ผมเองก็เคยเป็นมาแล้วนี่ จึงได้นำมาพูดให้เพื่อนฝูงฟังเพื่อระวังตัวให้ดี อย่าให้กิเลสตัวเหล่านี้มาแย่งไปกินหมด ยังเหลือแต่ร่างพระกรรมฐาน


    ถ้า หากว่าความสัปหงกงกงันมันเป็นมรรค หรือมันเป็นเครื่องสังหารกิเลสตายได้แล้ว ใครๆ กิเลสก็ตายไปด้วยกันทั้งนั้น เพราะพอจะเริ่มนั่งภาวนามันก็เริ่มสัปหงกไปด้วยกันนะคนเรา เวลานั่งฟังเพลง ดูลิเก ละคร สิ่งที่เพลิดเพลินนั้น โอ๊ย ทั้งร้องทั้งฮายุ่งไปหมดยิ่งกว่าเสียง.....ลืมเนื้อลืมตัว ลืมเป็นลืมตาย พอจะนั่งภาวนาให้จิตมีความสงบเย็นบ้าง ก็ง่วงเหงาหาวนอนสัปหงกงกงันไปเสีย เมื่อสติไม่มีมันก็ต้องสัปหงก หลังจากนั้นมันก็หลับเท่านั้นเอง มันจะพาไปสวรรค์นิพพานที่ไหนนอกจากเสื่อกับหมอนน่ะ


    ความ ไม่มีสติในการภาวนาจึงไม่จัดว่าเป็นความเพียร จะเดินจงกรมอยู่ก็สักแต่ว่าเดิน นั่งภาวนาอยู่ก็สักแต่ว่านั่ง อิริยาบถต่างๆ ถ้าไม่มีสติปัญญาเป็นผู้กำกับงานอยู่แล้วไม่เรียกว่าความเพียร ความเพียรของพระพุทธเจ้าที่ประทานไว้นั้นคือ ความเพียรที่สัมปยุตด้วยสติและปัญญา เป็นความเพียรที่จะทำกิเลสให้เหือดแห้งไปจากจิตใจได้จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าความเพียร สักแต่ว่าชื่อ สักแต่ว่าขนบประเพณีเฉยๆ


    เพราะ ศาสนาไม่ใช่ศาสนาประเพณี ไม่ใช่ศาสนาสักแต่ว่า เป็นศาสนาออกมาจากพระพุทธเจ้าองค์วิเศษอย่างแท้จริง การสั่งสอนพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอย่างแท้จริง ผู้ปฏิบัติจะมาทำเพียงลุ่มๆ ดอนๆ เพียงเป็นประเพณี เพียงเป็นกิริยาเท่านั้น เข้ากันกับหลักศาสนธรรมไม่ได้เลย


    ด้วย เหตุนี้การแก้กิเลสทุกประเภทจงแก้ด้วยความจงใจ มีสติเป็นสำคัญมาก เราจะกำหนดจิตให้สงบ ก็ให้มีสติ หลังจากการใช้ทางสมถะเพื่อเป็นความสงบของใจ จะใช้คำบริกรรมใดก็ให้มีความแน่วแน่ มีสติจดจ่อต่อคำบริกรรมนั้น ก็พ้นความสงบไปไม่ได้ เพราะใจนี้ที่วอกแวกคลอนแคลนก็ด้วยอำนาจของกิเลสฉุดลากไปทางโน้นฉุดลากไปนี้ เมื่อธรรมเข้าระงับดับกันหรือต่อสู้ต้านทานกัน จิตใจมีที่ยึดกับอรรถกับธรรมก็เข้าสู่ความสงบร่มเย็นได้ นี่เรียกว่า สมาธิ เป็นผลขึ้นแล้วภายในใจของเรา แต่ก่อนเคยได้ยินแต่ชื่อตามตำรับตำรา หาตัวจริงของสมาธิแท้ไม่เจอ แล้วก็มาเจอที่ใจเรานี้เป็นสมาธิ คือความสงบแน่วแน่ภายในจิตใจ หรือมีรากฐานอันสำคัญมั่นคงอยู่ภายในใจ เรียกว่าสมาธิ


    ปัญญา ได้แก่การคลี่คลายพิจารณา เฉพาะอย่างยิ่ง คลี่คลายดูรูปกายรูปธาตุของเรานี้แหละ รูปธาตุรูปขันธ์อันนี้เป็นเบื้องต้นแห่งวิปัสสนา พิจารณาดูตั้งแต่ความเกิดตกออกมาจากท้องแม่ แม้แต่อยู่ในท้องก็เป็นทุกข์อยู่แล้ว ถูกขังอยู่นั้นเก้าเดือนสิบเดือนคนเราจะไม่เป็นทุกข์อย่างไร อย่างนักโทษ มันกว้างขนาดไหนสถานที่อยู่ของเขา เขายังได้รับความทุกข์ความลำบากมากมาย เราอยู่ในท้องของแม่มาเป็นเวลาเก้าเดือนสิบเดือนนี้ทุกข์หรือไม่ทุกข์ใครจะ กล้าปฏิเสธได้ เพราะเป็นความจริงเต็มที่ด้วยกันทุกราย ถ้าจะพิจารณาย้อนหลังให้เห็นตามความจริงของตัวเองที่เป็นมา ต้องเห็นความจริงโดยปิดไม่อยู่ อยู่ในท้องแม่กว้างขนาดไหน ท้องแม่ของเรานั่นน่ะ ใครก็เกิดมาจากท้องแม่ด้วยกัน


    ดู ซิ ความทุกข์เป็นยังไงเวลาอยู่ในท้องแม่นั้นน่ะ ทุกข์ขนาดไหน เวลาตกคลอดออกมาก็ออกมาจากช่องแคบจนสลบไสล พ้นจากความสลบไสลเรียกว่ารอดตายขึ้นมาแล้ว เราจึงได้มาเป็นคน แต่คนอื่นที่มองดูก็ดีอกดีใจว่าลูกของเจ้าเกิด ลูกของแกเกิด ลูกของท่านเกิด แหมดีอย่างนั้นอย่างนี้ ดีนั้นน่ะมันมองแต่เผินๆ มองดูแบบแหงนหน้าขึ้นบนฟ้าโน้น ไม่ได้มองดูแม่ผู้ทำการคลอดและทารกผู้ตกคลอด ซึ่งกำลังจะตายไปด้วยกันในขณะนั้น ผู้ที่รอดความตายออกมานั้นน่ะ บางรายตายในท้องก็มี บางรายตายในช่องแคบก็มี นอกจากนั้นก็สลบไสลออกมา ไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่นมันทุกข์ขนาดไหน นี่พูดถึง ชาติปิ ทุกฺขา มัน ทุกข์อย่างนี้ มันรอดตายด้วยกันทั้งแม่ทั้งลูก บางรายแม่ตาย ลูกไม่ตาย บางรายลูกตาย แม่รอดตาย บางรายตายไปด้วยกันทั้งแม่ทั้งลูก นี่มันทุกข์ขนาดไหนพิจารณาซิ


    ถ้า เราพิจารณาให้เห็นตามหลักของปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงรู้จริงเห็นจริงสอนไว้ ก็จะต้องเห็นภัยแห่งความเกิด แห่งการตกคลอดออกมาอย่างถึงใจ และเข็ดหลาบไปตามๆกัน ไม่มีใครจะกล้าหาญต่อความเกิดแหละ และไม่มีใครกล้าหาญอยากเข้าไปนอนขดโขแบกความทุกข์ทรมานอยู่ในท้องแม่ได้อีก หลังจากผ่านช่องแคบจนรอดตายมาแล้ว แม้แต่แม่เองก็ไม่กล้าจะให้ลูกๆ ทั้งหลายกลับเข้ามานอนอยู่ในท้องแม่อีก เพราะความเข็ดหลาบคาบเส้นหญ้าอย่างถึงใจด้วยกัน


    แม้ เกิดมาแล้ว ตั้งแต่วันเกิดมาเป็นยังไง ต้องเยียวยารักษากันตลอดเวลา ปัจจัยทั้งสี่ละไม่ได้เลย เครื่องนุ่งห่มต้องปกปิดให้ตั้งแต่ขณะตกคลอดออกมา ยาแก้โรคแก้ภัย อาหารมีนมแม่เป็นต้น ดื่มมากินมาตั้งแต่บัดนั้นตลอดมาจนเติบโตและกระทั่งบัดนี้ปล่อยไม่ได้ ตายจริงๆ ถ้าปล่อย คนๆ หนึ่งหมดไปกี่ล้านกี่แสนถ้าคิดเป็นเงินเป็นทอง เพราะปัจจัยทั้งสี่ได้แก่เครื่องนุ่งห่มใช้สอยเสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ และอาหารการบริโภคเครื่องอุปกรณ์การใช้ของแต่ละคนๆ มีมากมายและหมดมากน้อยเพียงไร ล้วนแต่เอามาเยียวยากองทุกข์ให้พออยู่ได้นั้นเอง ไม่งั้นมันตายไปนานแล้ว ตายแต่ขณะแรกเกิดโน่นแล ใครจะมีธาตุขันธ์เหนือโลกมาจากไหนกันพอจะทนทานได้


    ถ้า เราจะเทียบความทุกข์ที่เราบรรเทาทุกข์อยู่ทุกวัน ก็เหมือนกับคนที่เอาถ่านไฟที่เต็มไปด้วยไฟวางไว้บนฝ่ามือ ถ้าวางไว้บนฝ่ามือนานๆ ฝ่ามือก็จะต้องถูกลวกร้อนเป็นกำลังทนไม่ไหว จึงต้องโยนขึ้นบนอากาศบ้างแล้วปล่อยให้ตกลงมาบ้าง พอได้บรรเทาชั่วขณะๆ จนกระทั่งถึงสถานที่ปลงที่ทิ้งถ่านไฟนั้น นี่ร่างกายของเราก็ต้องรับประทานบ้าง พูดง่ายๆ ก็ว่าต้องกิน ต้องนอน ต้องขับ ต้องถ่าย ต้องเดิน ต้องนั่ง เปลี่ยนอิริยาบถอยู่ตลอดเวลาอยู่อย่างนั้นตลอดมา ซึ่งเหมือนกับโยนถ่านไฟขึ้นบนฟ้าพอได้บรรเทา บรรเทาด้วยการหลับนอน บรรเทาด้วยการรับประทาน ระงับความหิวโหยมันบังคับ บรรเทา ด้วยหยูกด้วยยาเพราะโรคมันบังคับเสียดแทงในร่างกายส่วนต่างๆ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเหมือนกับเราโยนถ่านไฟขึ้นบนอากาศแล้วตกลงมาฝ่ามือที่ เก่านั่นแล โรคภัยไข้เจ็บก็เบาบางไปจากร่างกายชั่วขณะๆ แล้วโรคนั้นเกิดขึ้นมา โรคหิวเกิดขึ้นมา โรคง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นมา เจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นมา เจ็บหัวตัวร้อนเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เยียวยากันอยู่เรื่อยๆ ตลอดมา นี่คือการพิจารณาความทุกข์ ชาติปิ ทุกฺขา ในตัวเรา


    ชราปิ ทุกฺขา เรื่อง ชราเราก็ทราบแล้วเป็นยังไง คนแก่เดินยังไง คนแก่อยู่ในสภาพใด นั่งอยู่เป็นยังไงสภาพของคนแก่ เดินเป็นยังไงสภาพของคนแก่ กำลังรับประทานเป็นยังไงสภาพของคนแก่ นอนอยู่สภาพของคนแก่เป็นยังไง ล้วนแต่กอดทุกข์อยู่ทั้งนั้น ทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา ยิ่งหนาแน่นมากกว่าคนธรรมดาที่หนุ่มสาวนี่เสียอีก แน่ะ นี่ละท่านจึงว่า ชราปิ ทุกฺขา มันเป็นทุกข์อย่างนี้


    มรณมฺปิ ทุกฺขํ ขณะ ที่จะตายนี้ก็กระวนกระวาย กระเสือกกระสนเช่นเดียวกับเวลาตกคลอดออกมานั่นแหละ ยิ่งไม่มีสติสตัง ไม่มีอรรถมีธรรมเป็นเครื่องบังคับเป็นเครื่องเยียวยารักษา ประคับประคองจิตใจด้วยแล้ว หาสติไม่ได้เลย ทึ้งเนื้อทึ้งตัวตายไปกับความไม่มีสตินั่นแล ไม่เป็นของดีเลย


    ท่าน จึงให้พิจารณาความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ ด้วยความมีสติ ด้วยความมีปัญญา จนจิตใจมีความแก่กล้าสามารถ พิจารณาสิ่งเหล่านี้ได้อย่างช่ำชองด้วยความองอาจกล้าหาญ และปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดไปได้เป็นวรรคเป็นตอน นี่เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาวิปัสสนาของนักภาวนา


    ลำดับ ที่ ๒ ก็คือ เมื่อพิจารณาร่างกายเหล่านี้แล้วเล่า ซ้ำๆ ซากๆ วกไปเวียนมาจนเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว จิตย่อมปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานแห่งรูปกายอันนี้เสียได้ ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นก็เป็นอีกอันหนึ่งที่เรียกว่าขันธ์ห้าเหมือนกัน นั้นเป็นนามขันธ์ ก็พิจารณาความทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นที่ไหนภายในร่างกายนี้ ตลอดถึงเกิดขึ้นภายในจิตใจ ก็ต้องพิจารณาแยกแยะออกจากใจให้เห็นด้วยความชัดเจนทางปัญญา


    ทุกข์ เป็นทุกข์ เกิดขึ้นมาที่ไหนก็เป็นทุกข์ที่นั่น มันเป็นความจริงอันหนึ่งของมัน มันพึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปตามสภาพ จิตเป็นของมีอยู่ดั้งเดิมภายในร่างกายของเรานี้ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่ทุกข์ กายไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่กาย แยกแยะกันให้เห็นตามความจริงของมันจนชัดแจ้งด้วยปัญญาแล้ว จิตก็ถอนตัวออกจากเวทนาอันนั้น อย่าเพียงแต่พูดว่าทุกขเวทนาที่มันบีบคั้นซึ่งเราไม่ปรารถนากันเลย แม้แต่สุขเวทนาจิตก็แยกออกได้ ถ้าปัญญามีความฉลาดแหลมคมพอแล้ว แยกได้ทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนาจากใจ


    สัญญา สังขาร วิญญาณ ความจำได้หมายรู้ ความคิดความปรุง ก็เป็นอาการอันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากจิต เกิดแล้วดับไปๆ เช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าคิดดีคิดชั่วดับไปด้วยกันทั้งนั้น สติปัญญาพิจารณาหยั่งทราบตลอดทั่วถึง ย่อมสลัดออกจากจิตใจได้ไม่ยึดไม่มีสิ่งใดเหลือ นี่ท่านเรียกว่าวิปัสสนา อย่างนี้แหละ


    พระ พุทธเจ้าก็ดี สาวกก็ดี ท่านทรงดำเนินอย่างนี้ และท่านปล่อยวางภาระทั้งห้าอันใหญ่หลวงคือภูเขาภูเราซึ่งเป็นอยู่ภายในร่าง กายและจิตใจนี้ออกได้โดยลำดับจนกระทั่งไม่มีสิ่งใดเหลือ เหลือตั้งแต่จิตกับกิเลสอันละเอียดสุด ซึ่งเป็นเชื้อที่จะพาให้เกิดให้ตายอยู่ภายในใจโดยเฉพาะเท่านั้น ปัญญาก็สามารถแทงทะลุเข้าไปในจุดนั้นจนไม่มีเหลือเช่นเดียวกัน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ขาดกระเด็นออกไปจากใจ เหลือแต่ใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นั่นแลคือใจที่เป็นธรรมทั้งดวง นั้นแลธรรมที่บรรจุกับใจทั้งดวงบรรจุกันที่ตรงนั้น


    ความ รู้แจ้งแทงตลอด ก็รู้แจ้งแทงตลอดตรงที่เคยลุ่มๆ หลงๆ มืดๆ ดำๆ แต่ก่อนภายในหัวใจดวงนั้นแล เช่นเดียวกับสถานที่นี่ เวลาไม่มีไฟเป็นยังไง มืดแปดทิศแปดด้าน แต่เวลาเปิดไฟขึ้นแล้วมันกระจ่างแจ้งขึ้นในสถานที่มืดๆ นี้แล กิเลสมันจะเคยมืดหนากำตามานานเท่าไรก็ตาม ไม่สำคัญ พอปัญญาได้เกิดขึ้นเท่านั้น แสงสว่างจ้าภายในดวงใจของเราก็รอบตัวทันที


    กิเลส ทุกประเภทซึ่งเป็นจอมมืดจอมบอดสลายไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ นั่นแลท่านว่าเห็นธรรม เห็นใจตัวเอง ทั้งฝ่ายกิเลสก็ได้เห็นอย่างชัดเจนได้แก้ไขกิเลส ต่อสู้กับกิเลสด้วยวิธีการใดๆ ก็ทราบกันอย่างเต็มที่เต็มฐานภายในจิตใจ เรียกว่าสนฺทิฏฺฐิโก รู้เองเห็นเองทั้งกิเลสและธรรม รู้เองเห็นเองทั้งการต่อสู้กับกิเลสด้วยกลอุบายวิธีใด หนักเบาประการใด รู้ด้วยตนเองเห็นด้วยตนเอง กิเลสขาดสะบั้นไปจากใจก็รู้ด้วยตนเองเห็นด้วยตนเอง เมื่อกิเลสหมดไปจากใจไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว เหลือตั้งแต่ธรรมทั้งแท่งภายในจิตใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วก็ทราบด้วยสนฺทิฏฺฐิโกว่า ใจได้หมดสิ้นเรื่องทั้งปวงแล้ว เรื่องความเกิดแก่เจ็บตายเพราะอำนาจของกิเลสแทรกสิงเป็นเชื้ออยู่ภายในใจให้ พาเกิดตายได้สิ้นซากไปหมดแล้ว บัดนี้ความเกิดอีกหาไม่แล้ว นั่นแจ้งชัดเอง ไม่ต้องถามใคร


    การ พิสูจน์เรื่องความเกิดความตาย ให้พิสูจน์ทางด้านปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าจะไม่สงสัยตัวเอง พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปนานเพียงไรก็ตาม ความจริงคงเส้นคงวาไม่ได้ไปตามพระพุทธเจ้า มีความจริงอยู่ตลอดเวลากับบุคคลแต่ละคน ผู้ถือความจริงคือหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเพื่อรู้ความจริงด้วยการปฏิบัติ ต้องรู้ได้เห็นได้จริงได้ด้วยกัน ไม่ขึ้นอยู่กับผู้หนึ่งผู้ใด เพราะพระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาดในเรื่องมรรคผลนิพพาน ที่ผู้ปฏิบัติจะพึงได้รับตามกำลังแห่งความสามารถของตน นี่การพิสูจน์เรื่องความเกิดความตาย พิสูจน์ลงที่ตรงนี้


    เพียง ความคาดความหมายว่าตายแล้วไปเกิดที่ไหน เราเกิดมากี่ภพกี่ชาติไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่เราเป็นนักเกิดนักตาย นักท่องเที่ยว เราจะรู้ได้ยังไงเมื่อสิ่งที่ปกปิดกำบังเรามันมีอยู่ อนาคตกาลข้างหน้าเราจะรู้ได้ยังไงเพราะปัจจุบันมันมืดบอดอยู่แล้ว เมื่อแก้ปัจจุบันตัวมืดบอดนี้ให้สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาภายในตัวแล้ว อดีตก็ตัวนี้แหละเป็นผู้รู้ เป็นตัวเกิด อนาคตก็ตัวนี้แหละ จิตดวงเดียวนี้แหละที่จะพาไปเกิด เกิดเป็นภพใดชาติใดกำเนิดใดก็ตาม ก็ตัวนี้แหละเป็นตัวการไม่สงสัย เมื่อธรรมชาติที่จะพาให้เกิดได้สิ้นซากลงไปแล้ว เหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เท่านั้น ผู้นี้แลเป็นผู้หมดภัย ผู้นี้แลเป็นวิวัฏจักร ไม่เป็นวัฏจักรเหมือนแต่ก่อน กลับมาเป็นวิวัฏจักร หยุดแล้วซึ่งความหมุนเวียน เหลือแต่วิวัฏจักรคือไม่ต้องหมุน ไม่ต้องมีสิ่งใดมายุแหย่ก่อกวน มีแต่ความสุขล้วนๆ ภายในใจ


    ร่าง กายจะแตกก็แตกไป เพราะเป็นเหมือนโลกทั่วไป อันนี้เราหยิบยืมสมบัติของโลกมาใช้ จะให้คงเส้นคงวาอยู่ได้อย่างไร ดิน น้ำ ลม ไฟ มาผสมกันเข้ามีจิตเข้าไปยึดครองกลายเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา เราก็ยึดถือดิน น้ำ ลม ไฟ ว่าเป็นเราเป็นตัวของเรา หากเราไม่รอบคอบเมื่อสิ่งนี้วิกลวิการไปเราก็เดือดร้อนเสียใจ เป็นโรคภายในใจขึ้นอีก หนักยิ่งกว่าโรคภายในกายเกิดขึ้นในเบื้องต้นเป็นไหนๆ


    เมื่อ รู้แจ้งแทงทะลุสิ่งเหล่านี้แล้ว ถึงกาลจะไปก็ไป เมื่อยังไม่ไปก็เยียวยารับผิดชอบกันไป เมื่อถึงกาลแล้วปล่อยวางลงตามเป็นจริง เพราะตาข่ายคือญาณความรู้แจ้งแทงตลอดนั้น ได้รอบไปหมดแล้วกับสภาพเหล่านี้ จะตายเมื่อไรก็ตายได้ไม่เสียดาย จะยังอยู่ก็ไม่เป็นกังวลยึดถือสิ่งใด


    ความ ตายก็ดี ความยังมีชีวิตอยู่ก็ดีของพระขีณาสพทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสแล้ว จึงมีน้ำหนักเท่ากัน ตายไปท่านก็ไม่ได้มีข้อหนักใจ จะยังอยู่ท่านก็ไม่มีข้อหนักใจ เพราะตายไปก็ไม่มีอะไรเสีย ความบริสุทธิ์ของท่านไม่ใช่ความตาย เรื่องความตายความสลายเป็นเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ต่างหาก จิตที่บริสุทธิ์เป็นจิตที่นอกจากขันธ์แล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียกันอีก ท่านจะไปเสียใจกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไรกัน ท่านจึงไม่เสียใจ มีชีวิตอยู่ท่านก็ไม่หวังเอาอะไรเพิ่มอีกจากธาตุขันธ์นั้น ให้ยิ่งไปกว่าความบริสุทธิ์นั้น


    เพราะ ฉะนั้น ความเป็นอยู่กับความตายไปของพระอรหันต์ ถ้าไม่แยกแยะออกไปสู่ประโยชน์ของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ท่านมีน้ำหนักเท่ากัน ถ้าแยกแยะความเป็นอยู่เพื่อประโยชน์ประชาชนนั้น ความเป็นอยู่มีน้ำหนักมากกว่า คือท่านมีชีวิต ความเป็นอยู่นานเพียงไร โลก ก็ได้รับผลประโยชน์จากท่านด้วยการแนะนำสั่งสอน เขากราบไหว้บูชาทำบุญให้ทาน เขาก็ได้รับผลประโยชน์จากเนื้อนาบุญอันวิเศษวิโสจากท่าน ท่านจึงถือว่า การยังมีชีวิตอยู่มีน้ำหนักมากกว่าการตายไปเสีย ทั้งนี้ท่านเพื่อประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อท่าน ตายไปก็คือธาตุ สลายไปก็คือธาตุ ยังมีชีวิตอยู่นี้ก็คือดิน น้ำ ลม ไฟ ใจก็คือใจที่บริสุทธิ์รู้รอบขอบชิดแล้ว ไม่ยึดไม่ถือ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นไม่มี จึงเป็นเหมือนกับตายหรือไม่ตายก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน


    นี่ การประพฤติปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าดำเนินตามหลักแห่งความจริงที่ธรรมสอนไว้แล้วจะไม่เป็นอย่างอื่น เฉพาะอย่างยิ่ง ภิกษุผู้ปฏิบัติพึงทำหน้าที่ของตน ให้สมบูรณ์ด้วยการประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี่คืองานของพระโดยแท้จริง งานนอกนั้นเป็นงานก่อความกังวล ถ้าเลยความพอดีไปแล้วกลายเป็นความกังวล พระบวชมาจากคน คนเขามีบ้านมีเรือน พระต้องมีกุฏิ มีที่อยู่ที่อาศัยเป็นธรรมดา แต่ให้พออยู่พอเป็นพอไป พอได้หลับได้นอนปกปิดความเย็นความร้อนความหนาวดินฟ้าอากาศ ป้องกันสิ่งเหล่านี้ไปพอประมาณ เช่นเดียวกับประชาชนเขาอาศัยบ้านเรือนนั้นไม่เสียหาย แต่ความหนักแน่นทางการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ของตนให้ยิ่งยวดขึ้นไป นั้นเป็นงานของพระโดยตรง ให้ทำความหนักแน่นมั่นคงต่องานนี้ อันใดจะขาดตกบกพร่องไปมากน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่การสมาธิภาวนาขาดตกบกพร่องไปมากน้อยก็ขาดทุนตัวเองไปจริงๆ ได้ก็ได้ตัวเองจริงๆ งานนี้จึงเป็นงานสำคัญมาก พระพุทธเจ้าทรงสอนเน้นหนักลงในงานนี้มากกว่างานอื่นใดสำหรับนักบวช


    ขอ ให้ทุกๆ ท่านมีความสนใจต่องานของตน คืองานเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี่คืองานของพระแท้ ครั้งพุทธกาลท่านมีงานอย่างนี้เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นชีวิตจิตใจฝากเป็นฝาก ตาย ไม่ได้มายุ่งเหยิงวุ่นวายกับการก่อสร้างนั้นก่อสร้างนี้แข่งขันกันสร้าง วัตถุแข่งขันกันเลย เพราะสิ่งเหล่านั้นออกไปจากอิฐ จากปูน จากทราย จากเหล็ก ก่อขึ้นกี่หมื่นกี่พันกี่แสนชั้น มันก็คือหิน คือปูน คืออิฐ คือทราย แข่งขันกันทำไม แผ่นดินทั้งโลกมันมีอิฐ มีปูน มีหิน มีทรายทั้งนั้นแข่งขันกันไปหาประโยชน์อะไร เราอยู่กันเวลานี้ก็เต็มไปด้วยอิฐ ปูน หิน ทราย ดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่แล้ว ดิ้นรนหาอะไรกันอีก นอกจากธรรมอันเลิศที่เรายังไม่มีเท่านั้นที่ควรสนใจใฝ่ฝันอย่างยิ่ง


    แข่ง ขันกับกิเลสนี้ดีกว่า กิเลสมันต่อสู้กับเรา เหยียบย่ำทำลายเราทุกวันหาเวลาชนะมันไม่ได้ เอ้าต่อสู้ให้ชนะมัน เอาชนะกิเลสแล้ววิเศษวิโส สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นของวิเศษ เพียงอาศัยไปชั่วกาลเวลาเท่านั้น นี่เป็นหลักใหญ่ของผู้ปฏิบัติทางด้านภิกษุเรา ขอให้ทุกท่านได้นำไปประพฤติปฏิบัติอย่างหนักแน่นมั่นคง


    เอา ให้หนัก ให้กิเลสมันได้หงายท้องขึ้นฟ้าดูให้เห็นต่อหน้าต่อตาเราสักทีเถอะน่า แต่ไม่อยากเห็นที่ว่าพระหงายท้องขึ้นฟ้าหลับครอกๆ บนหมอน เพราะกิเลสตัวขี้เกียจอ่อนแอ ท้อแท้เหลวไหล ต่อยเอา เราไม่อยากเห็น เพราะเบื่อเห็นมาพอแล้ว เลยนี้ก็อกแตกตาย


    เอาละ ขอยุติเพียงเท่านี้ ไฟแดงเริ่มขึ้นแล้ว


    (โรคหัวใจเริ่มตื่นนอน เริ่มแสดงลวดลาย)


    คัดลอกจาก http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=2289&CatID=2

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 มีนาคม 2012

แชร์หน้านี้

Loading...