คิริมานนทสูตร ( อุบายรักษาโรค ) : วิธีดับกิเลสตัณหา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย dreamlnw002, 23 มีนาคม 2012.

  1. dreamlnw002

    dreamlnw002 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    105
    ค่าพลัง:
    +11
    ตทนนฺตรํ ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ สิ่งที่ทำให้สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ทรมานทุกข์อยู่ในนรกและกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานแล้วๆ เล่าๆ ไม่รู้สิ้นสุด มิใช่สิ่งอื่นคือตัวกิเลสและตัณหาล่อลวงให้ดวงจิตของสัตว์ทั้งหลาย มิให้พ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร และมิให้ถึงพระนิพพานได้ ถ้าผู้ใดมิได้รู้กองแห่งกิเลสแล้ว ผู้นั้นก็จักประสบภัยได้รับทุกข์ภัยในอบายภูมิทั้ง ๔ มิได้มีเวลสิ้นสุดฯ

    ดูกรอานนท์ จงจับตัวตัณหาให้ได้ ถ้าจับได้แล้ว เมื่อตัวต้องทุกข์ก็จักเห็นได้ว่าตัวเป็นอนัตตา ถ้าจับไม่ได้ก็ เห็นตัวเป็นอนัตตาไม่ได้ บุคคคลทั้งหลายที่มาเป็นสานุศิษย์แห่งพระตถาคตนี้ ก็มีความประสงค์ด้วยพระนิพพาน การที่จะรู้ว่าดีหรือชั่วกว่ากัน ก็แล้วแต่กิเลสเป็นผู้ตัดสิน

    ด้วยว่าพระนิพพานเป็นที่ปราศจากกิเลสตัณหา ถ้าผู้ใดเบาบางจากกิเลสตัณหา ผู้นั้นก็เป็นผู้ดียิ่งกว่าผู้ยังหนาอยู่ด้วยกิเลสตัณหา ผู้ใดตั้งอยู่ในนิจศีล คือศีล ๕ ผู้นั้นชื่อว่ายังหนาอยู่ด้วยกิเลส แต่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บางจากกิเลสได้ชั้นหนึ่ง ถ้าตั้งอยู่ในอุโบสถศีล คือศีล ๘ ได้ชื่อว่าบางจากกิเลสได้ ๑๒ ชั้น ถ้ามาตั้งอยู่ในทศศีล คือ ศีล ๑๐ ผู้นั้นได้ชื่อวาบางจากกิเลสได้ ๓ ชั้น ผู้เข้ามาตั้งอยู่ในศีลพระปาติโมกข์ คือศีล ๒๒๗ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าบางจากกิลสได้ ๔ ชั้น ผลอานิสงส์ก็มีเป็นลำดับขึ้นไปตามศีลนั้น ผู้ที่มีศีลน้อยอานิสงก็น้อย ผู้ที่มีศีลมากก็มีอานิสงส์มากขึ้นไปตามส่วนของศีล

    บุคคลที่มิได้ตั้งอยู่ในศีล ๕ ถึงจะมีความรู้ความฉลาดมากมายสักเท่าใดก็ดี ก็ไม่ควรจะกล่าวคำประมาทก็ผู้ที่มีศีล ๕ ผู้ที่มีศีล ๕ ก็ควรยินดีแต่เพียงศีลของตน ไม่ควรที่จะกล่าวคำประมาทในผู้ที่มีศีล ๘ ผู้ที่มีศีล ๘ ก็ควรยินดีแต่เพียงศีลของตน ไม่ควรที่จะกล่าวคำประมาทในท่านผู้ที่มีศีล ๑๐ ผู้ที่มีศีล๑๐ ก็ควรยินดีอยู่ในศีลของตน ไม่ควรจะกล่าวคำประมาทในท่านที่มีศีลพระปาติโมกข์ ถ้าแลขืนกล่าวโทษติเตียนท่านที่มีศีลยิ่งกว่าตน ชื่อว่าเป็นคนหลง เป็นคนห่างจากทางสุขในมนุษย์ สวรรค์ และนิพพานแท้

    ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ไม่มีศีล ปราศจากการรักษาศีล ไม่ควรซึ่งคำประมาทแก่ท่านผู้มีศีล ตัวตั้งอยู่ภายนอกศีล แล้วมาเข้าใจว่าตัวเป็นผู้ดีกว่าท่านผู้มีศีล แล้วกล่าวคำสบประมาทดูหมื่นในท่านผู้มีศีล บุคคลจำพวกนั้นชื่อว่าเป็นเจ้ามิจฉาทิฏฐิใหญ่ ชื่อว่าเป็นคนหลงทาง เป็นผู้ห่างจากความสุขในมนุษย์และสวรรค์ฯ

    ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ตั้งอยู่ภายนอกศีลนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในระหว่างกิเลส ยังเป็นผู้หนาแน่นอยู่ด้วยกิเลส แม้จะเป็นผู้มีความรู้ความฉลาดมากมายสักปานใดก็ตาม ก็ไม่ควรจะถือตัวว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล เหตุว่าผู้ที่ไม่มีศีลนั้นยังห่างจากพระนิพพานมาก ผู้ที่มีศีลชื่อว่าใกล้ต่อพระนิพพานอยู่แล้ว ถึงจะไม่รู้อะไร รู้แต่เพียงศีลเท่านั้น ก็ยังดีกว่าผู้ไม่มีศีลอยู่นั่นเอง เพราะท่านเป็นผู้บางจากกิเลส บุคคลผู้ที่แน่นหนาไปด้วยกิเลสแม้จะเป็นผู้รู้มากแตกฉานใช้ข้ออรรถและข้อธรรมประการใดก็ตาม ก็ควรจะทำความเคารพยำเกรงในท่านที่มีศีล จึงจะถูกต้องตามคลองธรรมที่เป็นทางแห่งพระนิพพาน ถ้าให้ผู้มีศีลเคารพยำเกรงในผู้ที่ไม่มีศีลและผู้หนาแน่นด้วยกิเลส เป็นความผิด ห่างจากทางพระนิพพานยิ่งนัก

    ดูกรอานนท์ จะถือเอาความรู้และความไม่รู้เป็นประมาณทีเดียวไม่ได้ ต้องถือเอาการละกิเลสได้เป็นประมาณ เพราะว่าผู้จะถึงพระนิพพานต้องอาศัยการละกิเลสโดยส่วนเดียว เมื่อละกิเลสได้แล้ว แม้ไม่มีความรู้มากรู้แต่เพียงการละกิเลสได้เท่านั้น ก็อาจถึงพระนิพพานได้ อันจักพ้นทุกข์ในนรก และได้เสวยสุขในสวรรค์ และพระนิพพาน ก็เพราะละเสียได้ซึ่งกิเลสอย่างเดียว สิ่งที่ทำให้คนเราได้รับสุขและรับทุกข์อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะกิเลส ครั้นระงับดับกิเลสได้แล้ว เป็นเหตุให้ได้ประสบสุขและพ้นจากทุกข์เมื่อละกิเลสไม่ได้ สุขก็ไม่ได้ ทุกข์ก็ไม่พ้นฯ

    ดูกรอานนท์ การที่จะได้ประสบสุขก็เพราะละกิเลสต่างหาก ที่มีความรู้แต่มิได้ละเสียซึ่งกิเลส ย่อมไม่เป็นประโยชน์แม้แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่ผู้มีความรู้นั้น แม้จะรู้มากแสนพระคัมภีร์ หรือมีความรู้หาที่สุดมิได้ก็ตาม ก็รู้อยู่เปล่าๆ จะเอาประโยชน์อันใดอันหนึ่งไม่ได้ และจะให้เป็นบุญเป็นกุศลและได้เสวนสุขเพราะความรู้นั้นไม่มี เราตถาคตไม่สรรเสริญผู้ที่มีความรู้มากแต่ไม่มีศีล ผู้ที่มีความรู้น้อยแต่เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล เราสรรเสริญและนับถือผู้นั้นว่าเป็นคนดี ถ้าผู้ใดนับถือผู้ที่มีกิเลสว่าดีกว่าผู้ไม่มีกิเลส บุคคลผู้นั้นชื่อว่าถือศีลเอาต้นเป็นปลาย เอาปลายเป็นต้น เอาสูงเป็นต่ำ เอาต่ำเป็นสูง ถ้าถืออย่างนี้ผิดทางแห่งพระนิพพาน เป็นคนมิจฉาทิฏฐิ

    การที่นับถือบุคคลผู้หนาไปด้วยกิเลส ว่าดีกว่าผู้ปราศจากกิเลส เราตถาคตไม่สรรเสริญเลย บุคคลจำพวกที่บางเบาจากกิเลส ใกล้ต่อพระนิพพาน เราตถาคตสรรเสริญและอนุญาตให้เคารพนับถือ การที่ทำบุญทำทานทำกุศล ปรารถนาเพื่อจะให้บุญกุศลนั้นพาตนเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าไม่รู้ว่าบำเพ็ญบุญกุศลเพื่อให้ช่วยระงับดับกิเลส ก็เป็นอันบำเพ็ญเสียเปล่า ได้ชื่อว่าเป็นคนหลงโลกหลงทางแห่งพระนิพพาน การที่จะถึงพระนิพพานต้องละกิเลสเสียให้สิ้น ถ้ายังละมิได้ก็ไม่ถึงพระนิพพาน ถึงจะรู้มากสักเท่าใดก็ตาม ถ้ายังละกิเลสไม่ได้ก็รู้เสียเปล่าๆ เราตถาคตตั้งศาสนาไว้ไม่ได้หวังเพื่อให้ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งบำเพ็ญหาประโยชน์อย่างอื่น ตั้งไว้เพื่อประสงค์ให้บุคคลบำเพ็ญภาวนา เพื่อจะให้ระงับดับกิเลสตัณหาเท่านั้น การบำเพ็ญภาวนา เพื่อไม่คิดว่าจะให้ระงับดับกิเลสตัณหาแห่งตน ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนหลงโลกหลงทาง ส่วนกุศลที่เกิดจากการบำเพ็ญภาวนานั้น จะว่าไม่ได้ไม่มีเช่นนั้นก็ไม่ปฏิเสธ อันที่จริงก็หากเป็นบุญเป็นกุศลโดยแท้ แต่ว่าเป็นทางหลงจากพระนิพพานเท่านั้น มากน้อยเท่าใดก็ตาม ก็ให้รู้ว่าบำเพ็ญบุญกุศลและเจริญภาวนา เพื่อระงับดับกิเลสตัณหาของตนให้น้อยลง ให้พ้นจากกองกิเลสนั้น เช่นนี้ชื่อว่าเดินถูกทางพระนิพพานแท้ฯ

    ดูกรอานนท์ จงพากันประพฤติตามคำสอนที่เราแสดงไว้นี้ ถ้าผู้ใดมิได้ประพฤติตาม ก็พึงเข้าใจว่าผู้นั้นเป็นคนนอกพระศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสแต่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้ฯ แล้วจึงทรงแสดงต่อไปอีกว่า

    ดูกรอานนท์ เราตถาคตบัญญัติศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์ ไว้หลายประเภทนั้น ก็เพราะอยากให้สัตว์ยกตนออกจากกองกิเลส ถ้าบุคคลจำพวกใดตั้งอยู่ในศีล ๕ บุคคลจำพวกนั้นก็บางจากกิเลสชั้นหนึ่ง ตั้งอยู่ในศีล ๘ ก็บางจากกิเลสชั้น ๒ ตั้งอยู่ในศีล ๑๐ ก็บางจากกิเลสชั้น ๓ ตั้งอยู่ในศีลพระปาติโมกข์ ก็บางจากกิเลส ๔ ชั้นฯ

    ดูกรอานนท์ บุคคลผู้บำเพ็ญศีลน้อยศีลมากประเภทใดประเภทหนึ่งก็เพื่อให้รู้ซึ่งการละกิเลส และยกตนให้พ้นจากกิเลส เมื่อไม่รู้เช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนหลง ส่วนผลอานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญศีลนั้น เราตถาคตได้กล่าวอยู่ว่ามีผลอานิสงส์จริง แต่ว่มีอานิสงส์น้อยและผิดจากทางพระนิพพาน ถ้าเข้าใจว่าการรักษาศีลเพื่อจะยกตนให้พ้นจากกิเลส รักษาศีล ๕ ได้แล้ว จะเพียรพยายามรักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์เป็นลำดับไป เพื่อจะยกตนให้พ้นจากกองกิเลสทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับ เมื่อเราตั้งอยู่ในศีลประเภทใด ก็ตั้งใจรักษาโดยเต็มความสามารถ รู้ดังนี้จึงมีผลอานิสงส์มากไม่เป็นคนหลง และตรงต่อพระนิพพานโดยแท้ฯ

    ดูกรอานนท์ กุลบุตรผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นศิษย์แห่งเราตถาคตนี้ ก็หวังเพื่อความระงับดับกิเลส ไม่อยากเกิดในโลกสืบต่อไป เพราะกิเลสนั้นเป็นเชื่อสายสืบโลก บันดลบันดาลใจให้ยินดีไปในทางโลก ครั้นเกิดมาแล้วก็ให้เจ็บไข้ แก่ ตาย แลให้ฉิบหายพลัดพรากจากกัน ให้รัก ให้ชัง ให้อด ให้ตี ให้ด่า ให้อยาก ให้ทุกข์ ให้ยากเข็ญใจ อาการกิริยาแห่งกิเลสเป็ฯเช่นนี้ เราตถาคตจึงทรงอนุญาตให้บวชเพื่อความระงับดับกิเลส ไม่ให้เกิดมีเป็นเชื้อสายสืบโลกต่อไป เมื่อรู้อย่างนี้แล้วตั้งใจรักษาศีลเพื่อให้ดับกิเลส และตรึกตรองหาอุบายเพื่อทำลายกิเลสอันเป็นต้นเค้าให้ขาดสูญ

    การรักษาศีลพระปาติโมกข์ก็ดี การรักษาข้อวัตรในธุดงค์ ๑๓ นั้นก็ดี ก็เป็นอันประมวลลงในศีลนั้นทุกอย่าง มิใช่ว่าจะรักษามากมายหลายสิ่งหลายอย่างจนสิ้นจนหมดหามิได้ รักษาศีลพระปาติโมกข์ก็ดี รักษาธุดงควัตร ๑๓ ก็ดี ก็ไม่มีเพื่อประโยชน์อย่างอื่น เพื่อความระงับดับกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อรู้ว่ากิเลสเป็นเค้าเงื่อนแห่งกองทุกข์กองโทษ กองบาปกองกรรมเช่นนั้นแล้ว ข้อวัตรอันใดที่เป็นไปเพื่อจะยกตนออกจากกิเลสได้ก็จงกระทำข้อวัตรนั้นให้บริบูรณ์เถิด การรักษษศีลพระปาติโมกข์และรักษาธุดงควัตรทุกอย่าง เมื่อมิได้เข้าใจว่าเพื่อความระงับดับกิเลส ก็ชื่อว่าเป็นการรักษาเปล่าๆ เมื่อเรารู้ว่ารักษาเพื่อระงับกิเลส ไม่ได้รักษาเพื่ออย่างอื่นแล้ว แม้จะรักษาแต่เล็กแต่น้อยโดยเอกเทศ ไม่ครบตามจำนวนในพระปาติโมกข์ ในจำนวนแห่งธุดงควัตร ก็ได้ชื่อว่าเป็นอันรักษาครบทุกอย่าง เพราะจับต้นจับรากเหง้าแห่งกิเลสได้แล้ว เปรียบดังบุรุษตัดต้นไม้ ถ้าตัดเหล้าตัดรากแก้วขาดแล้ว กิ่งก้านสาขาเม้ไม่ต้องตัดก็ตายเอง ถ้าไปตัดรอนแต่กิ่งก้านสาขารากเหง้าไม่ได้ตัด ต้นไม้นั้นก็อาจงอกงามขึ้นได้อีกฯ
    ดูกรอานนท์ บุคค

    ดูกรอานนท์ คนที่บวชในพระศาสนานี้ ก็เปรียบเหมือนบุคคลที่ตัดต้นไม้ฉะนั้น การบวชมิใช่ว่ามุ่งเพื่อประโยชน์อย่างอื่น บวชเพื่อระงับดับกิเลสเท่านั้น ถ้าไม่หวังเพื่อความดับกิเลสแล้ว ไม่ต้องบวชดีกว่า การที่บวชโดยที่ไม่ได้มุ่งเพื่อการดับกิเลส แม้จะมีความรู้วิเศษสักปานใด ก็ได้ชื่อว่ารู้เปล่าๆ แต่ว่าการที่เป็นผู้มีความรู้ความฉลาดนั้น เรามิได้ติว่าเป็นผู้รู้ไม่มี ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศล ก็คงเป็นอันรู้อันดี เป็นบุญเป็นกุศลอยู่นั่นเอง แต่ว่าเป็นความรู้ที่ผิดจากทางพระนิพพานฯ

    ดูกรอานนท์ เราตถาคตเทศนาไว้โดยอเนกปริยายนั้น ก็เพื่อจะให้หมู่ปุถุชนคนเขลาเห็นเป็นอัศจรรย์ และเพื่อให้ได้รับความเชื่อความเลื่อมใสเมื่อพาลชนทั้งหลายไม่เห็นเป็นอัศจรรย์แล้ว ก็จักไม่มีความเชื่อความเลื่อมใสในคุณของพระตถาคต ถ้ากล่าวแต่น้อยพอเป็นสังเขปก็ไม่เข้าใจไม่เหมือนผู้ที่มีบุญวาสนา แม้จะกล่าวแต่เพียงเล็กน้อย ก็เข้าใจได้มากมายหลายอย่างหลายนัย ธรรมชาติผู้ที่มีปัญญาแท้ ไม่ต้องกล่าวอะไรเลยก็รู้ได้ด้วยปัญญาของตนเอง ไม่ต้องให้กล่าวเป็นการลำบาก เราตถาคตได้รับความลำบากเพราะพาลปุถุชนเท่านั้น ว่ากล่าวสั่งสอนแต่เพียงเล็กน้อยก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาถือว่าเขาดีเสียแล้ว แท้ที่จริงความรู้ของเหล่าพาลชนจะรู้ดีไปสักเท่าไร ก็ดีอยู่แต่เพียงมีลมอัสสาสะ-ปัสสาสะเท่านั้น ถ้าลมอัสสาสะ-ปัสสาสะขาดแล้ว ก็มีแต่เน่าเป็นเหยื่อนหนอนนอนกลิ้งเหนือแผ่นดิน จะหาสาระสิ่งใดไม่มีเลย มีแต่เครื่องอสุจิเต็มไปสิ้นทั้งนั้น จะถือแต่ว่าตัวมีความรู้ ความดี เมื่อมีความรู้ความดีแล้วจักไม่ตายหรือ จะมีความรู้มากรู้มายเท่าใดก็คงไม่พ้นตายไปได้ จะมีความรู้ดีวิเศษไปเท่าไร ก็รู้ไปหาตาย จะมีความรู้ความดีไปเท่าไร ก็รู้อยู่บนแผ่นดิน จะรู้จะดีให้ด้นแผ่นดินไปไม่ได้ เมื่อลมยังมีอยู่เหนือแผ่นดิน เมื่อลมออกแล้วก็คงอยู่เหนือแผ่นดินนั้นเอง จะพ้นจากแผ่นดินไปไม่ได้ และจะมาถือว่าตัวว่าตนอยู่นั้น เพื่อประโยชน์อะไรจากส่วนของเน่าของเหม็นมีอยู่เต็มตัวก็ไม่รู้ไม่เห็น เห็นแต่ว่าตัวรู้ตัวดี ถือเนื้อถือตัวอยู่ เราตถาคตเบื่อหย่ายความรู้ความดีของพาลปุถุชนมากนักฯ

    ดูกรอานนท์ ธรรมดาบุคคลผู้ที่เป็นนักปราชญ์มีปรีชาทั้งหลาย ย่อมไม่ถือเนื้อถือตัวเรารู้เราดีอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านจะมีความรู้มากมายเท่าใดก็มิได้ถือเนื้อถือตัวเหมือนอย่างพาลปุถุชน พวกพาลปุถุชนที่เขาห่างไกลจากพระนิพพาน ก็เพราะเหตุที่เขาถือเนื้อถือตัว การถือเนื้อถือตัวมีมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ห่างไกลจากพระนิพพานมากเท่านั้น เหตุว่าประตูเมืองพระนิพพานนั้นแคบนักหนา ผมเส้นเดียวผ่าออกเป็น ๓ เสี้ยว เอาแต่เสี้ยวเดียวไปแยงเข้าที่ประตูพระนิพพาน ก็ยังคับแคบเข้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี เป็นผู้ใหญ่เป็นผู้สูงศักดิ์กว่าท่าน ยิ่งถือตนถือตัวขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งให้คับประตูพระนิพพานเข้าเท่านั้นจึงว่าพาลปุถุชนทั้งหลายเป็นผู้ห่างไกลจากพระนิพพาน ด้วยเหตุที่เขามัวถือเนื้อถือตัวว่าตัวรู้ตัวดีอยู่ฯ
    ดูกรอานนท์ บุคคลที่เข้ามาบวชเป็นลูกศิษย์ของพระตถาคต แล้วยังมีปล่อยให้ตนได้รับความทุกข์อยู่ ผู้นั้นเรากล่าวว่าเป็นพาลปุถุชน คือเป็นคนโง่เขลา ผู้ที่ไร้ปัญญาเช่นนั้น จะเรียกว่าเป็นศิษย์ของตถาคตยังไม่ได้ เมื่อบวชแล้วประพฤติตัวให้เป็นสุขอยู่ทุกเมื่อนั้นแล จึงจะเป็นลูกศิษย์ของพระตถาคตแท้

    เราตถาคตหวังเพื่อความสุขจึงได้ออกบวช เมื่อบวชแล้วมาทำตนของตนให้เป็นทุกข์ บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาหาที่เปรียบมิได้ ถ้าบุคคลผู้มีปัญญาแล้ว จะไม่ทำตัวให้เป็นทุกข์เลย บุคคลผู้ไม่มีปัญญาจึงทำตัวให้เป็นทุกข์ ไม่เฉพาะแต่นักบวชจำพวกเดียว แม้คฤหัสถ์ถ้าหาปัญญามิได้ก็ได้รับความทุกข์ยากลำบากเหมือนกัน ปราชญ์ผู้มีปรีชาเมื่อออกบวชแล้ว ท่านย่อมพิจารณาเห็นแจ้งซึ่งประโยชน์และสิ่งซึ่งมิใช่ประโยชน์ ท่านพิจารณาเห็นแจ้งซึ่งศีลและข้อวัตรที่หนักและเบาแล้ว ท่านไม่ต้องรักษามากมายหลายอย่างหลายประมากนัก เลือกรักษาแต่เล็กแต่น้อย ก็ย่อมได้รับความสุขกายสบายใจ ผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญานั้น ย่อมรักษามากมายหลายอย่างต่างๆ นาน่ เพราะเหตุที่ต้องรักษามากเกินไปจึงเป็นทุกข์ ผู้ที่มีปัญญาแล้ว ย่อมเลือกรักษาแต่สิ่งที่จริงที่แท้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็ย่อมนำมาซึ่งความสุข

    เปรียบเหมือนบุคคลผู้ฉลาด ไปตัดไม้ในป่ามาทำกิจอย่างหนึ่ง เมื่อตัดได้แล้วก็ถากเปลือกและกระพี้ทิ้งเสีย เหลือไว้แต่ที่ต้องการ แล้ววัดตัดเอาแต่พอแก่การงานของตัวเท่านั้น ไม่ต้องลำบากแก่การแบกการหาม ส่วนบุคคลที่ไม่ฉลาด ไม่รู้เท่าต่อการงานที่จะพึงทำ เมื่อไปตัดไม้ได้แล้วจะถากเอาแต่ที่ต้องการก็กลัวจะเสีย เพราะตัวไม่เข้าใจการงาน ต้องแบกมาทั้งเปลือกทั้งกระพี้ทั้งส่วนยาว ได้รับความเหนื่อยหนักอย่างทวีคูณ ก็เพราะความที่ตัวเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาฯ

    ดูกรอานนท์ การที่รักษาแก้วไม่ดีไม่มีราคา แม้จะรักษามากมายหลายพันดวง ก็สู้ผู้ที่รักษาแก้วที่ดีมีราคาดวงเดียวไม่ได้ แก้วที่ไม่ดีไม่มีราคาจะขายก็ไม่ได้ จะเก็บไว้ก็ไร้ประโยชน์ ตกลงต้องรักษาไปเปล่าๆ ส่วนแก้วที่มีราคานั้น จะขายก็ได้เงินมาก หากจะเก็บไว้ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนแล การเรียนมนต์หรือเรียนคาถาที่ไม่ดีไม่ขลัง แม้จะเรียนตั้งร้อยตั้งพันบท ก็สู้มนต์คาถาที่ดีที่ขลังเพียงบทเดียวไม่ได้ แม้การที่รักษาพระวินัยบัญญัติและข้อวัตรก็เหมือนกันเช่นนั้น เมื่อรู้ประโยชน์แห่งศีลและข้อวัตรแล้ว ก็ไม่ต้องรักษามาก เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็รักษาพร่ำเพรื่อไปจนไม่มีเขตแดน จึงต้องได้รับความลำบาก เหมือนผู้ที่ไม่รู้การงาน ต้องแบกเอาทั้งเปลือกทั้งพระพี้ทั้งส่วนยาวไปเหล่าๆ ฉะนั้น ผู้มีปรีชาท่านรักษาวินัยและข้อวัตรไม่มาก แต่หากได้รับอานิสงส์เพียงพอ เหมือนอย่างผู้รักษาแก้วดีดวงเดียว หรือผู้ที่เรียนมนต์คาถาที่ดีที่ขลังบทเดียวเท่านั้น ก็ให้สำเร็จประโยชน์ได้เต็มที่ฉะนั้นฯ

    ดูกรอานนท์ การที่เราตถาคตต้องการให้บวชนั้น ก็เพื่อจะให้ได้บุญและกุศล อะไรชื่อว่าเป็นตัวบุญตัวกุศล ตัวบุญตัวกุศลนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่น คือ ความดับเสียซึ่งกิเลส การรักษากิจวัตรและพระวินัยอย่างไรก็ตาม ถ้าดับกิเลสได้มากก็เป็นบุญมาก ถ้าดับกิเลสได้น้อยก็เป็นบุญน้อย ถ้าดับกิเลสไม่ได้ก็ไม่ได้บุญเลย บาปอกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่น คือตัวกิเลสนั้นเอง กิเลสก็คือตัวตัณหานั้นเอง ดับกิเลสตัณหาได้เท่าใดก็เป็นบุญเท่านั้น ถ้าดับกิเลสตัณหาไม่ได้ก็เป็นอันไม่ได้บุญ ไม่ได้กุศลเลย ผู้ที่ไม่รู้จักบุญและบาปนั้นมาทำความเข้าใจว่าบวชรักษาข้อวัตรรักษาศีลเอาบุญ บุญนั้นมีอยู่นอกตนนอกตัว มีอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ เมื่อบวชได้รักษากิจวัตรแล้ว บุญนั้นจักเลื่อนลอยมาจากสถานที่ต่างๆ มีนภาลัยเวหาอากาศเป็นต้น มานำเอาตัวขึ้นไปสู่สวรรค์และพระนิพพาน เห็นไปโดยผิดทางเช่นนี้ ล้วยแต่เป็นคนหลงสิ้นทั้งนั้นฯ

    ดูกรอานนท์ ผู้ที่ไม่รู้จักบาป เข้าใจว่าบาปนั้นอยู่นอกตนนอกตัว เมื่อทำบาปแล้ว บาปนั้นก็จะลุกมาแต่นรกใต้พื้นดิน มาจับกุมคุมเอาตัวลงไปนรก การทำความเข้าใจอย่างนี้ย่อมเป็นคนหลงสิ้นทั้งนั้นฯ

    ดูกรอานนท์ สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี บาปบุญคุณโทษก็ดี ย่อมอยู่ที่เรา จะเข้าใจว่าบาปบุญอยู่ภายนอกตัว ทำบุญแล้วคอยท่า บุญจักมานำเอาตัวไปสู่สุคติ คิดอย่างนี้ตั้งร้อยชาติแสนชาติก็ไม่อาจได้ อันว่าบุญสุขบาปทุกข์ ย่อมไม่มี ณ ภายนอกตัว บุญกุศลและความสุขนั้นก็คือดวงจิต ส่วนบาปกรรมทุกข์โทษนั้นก็คือหมู่แห่งตัณหา ตัณหานั้นจักมี ณ ที่อื่นนอกจากตัวตนของเราแล้วไม่มี ตัวบุญและตัวบาปก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อตัวไม่ชอบทุกข์อยากได้ความสุข ก็จงพยายามแก้ใจของเรานั้นเถิอ ถ้าเราไม่เป็นผู้แสวงหาความสุขและให้พ้นจากทุกข์แล้ว ใครเขาจะมาช่วยตัวเราให้พ้นจากทุกข์ให้ได้รับความสุขได้เล่า เพราะสุขทุกข์อยู่ที่ตัวของเรา เมื่อเราหามิได้แล้วใครคนอื่นที่ไหนเขาจะหามาให้เราได้
     

แชร์หน้านี้

Loading...