คาถากันผีบทไหนไม่ศักดิ์สิทธิ์ลองบทนี้บ้าง

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 17 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,611
    คอลัมน์ ร่มรื่นรมยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก



    เล่ากันมาว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการทำทางรถไฟผ่านดงพญาไฟ ท่านผู้อ่านทราบไหม "ดงพญาไฟ" สมัยโน้นก็คือ "ดงพญาเย็น" สมัยนี้ ที่สมัยโน้นเรียกว่า ดงพญาไฟ ก็เพราะในดงทึบแห่งนี้เต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆ นานา ไม่ผิดกับเดินเข้ากองไฟ

    พูดง่ายๆ ว่าคนที่เดินทางผ่านดงแห่งนี้ น้อยรายจะรอดชีวิต ไม่เสียชีวิตเพราะไข้ป่า ก็เพราะถูกสัตว์ร้ายเช่นเสือสิงห์กระทิงแรดกัดจนสิ้นชีวิต

    ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือผีครับ ผีดุเอามากๆ เล่าว่า เจ้าหน้าที่และคนงานที่สร้างทางรถไฟ ถูกผีหลอกหลอนเป็นไข้หัวโกร๋นตามๆ กัน

    เจ้าหน้าที่และคนงานก็หาวิธีแก้เคล็ดคือ เอาพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 5 มาตั้งไว้แล้วประกาศว่า ที่นี่คือแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวนะครับ พวกเราได้รับพระบรมราชานุญาตมาสร้างทางรถไฟ เพราะฉะนั้น เมื่อเจ้าฟ้าและเจ้าแผ่นดินท่านสั่ง ก็ไม่ควรขัดขืน หรือทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพระองค์ นั่นแหละครับ ค่อยสะดวกขึ้นอีกหน่อย แต่ก็อย่างว่า พวกผีพวกเปรตที่เป็น "มิจฉาทิฐิ" หรือพูดง่ายๆ ว่า พวกอันธพาล ก็ยังรบกวนอยู่ ไม่เกรงกลัวต่อราชอาชญา

    เล่ากันอีกนั้นแหละ กระทาชานายหนึ่ง ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว เป็นคนงานสร้างทางรถไฟคนหนึ่ง ถูกพวกผีหลอกในยามค่ำคืน จึงสวดมนต์เป็นการใหญ่ แต่ยิ่งสวดก็ยิ่งยุให้มันมามากขึ้น ไม่มีทีท่าจะกลัวอะไรเลย พลันนึกขึ้นมาได้ว่า สมัยบวชได้สวดคาถาบังสุกุลบ่อย จึงสวดคาถานั้นดังๆ

    เท่านั้นแหละครับ ผีทั้งหลายที่กำลังย่างสามขุมเข้ามา ก็แตกฮือหนีไปเลย เป็นที่อัศจรรย์ ตั้งแต่นั้นต่อมา เหล่าคนงานสร้างทาง จึงเรียนคาถาบังสุกุลจากพี่ทิดคนนี้ นำไปสวดโดยทั่วกัน

    คาถานี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า อนิจจา จึงเรียกโดยทั่วไปว่า คาถาอนิจจา ความเต็มมีดังนี้ครับ

    อะนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข

    แปลว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบสังขารเหล่านั้นได้เป็นความสุข

    ความหมายก็คือ สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต มีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครอง ซึ่งทางพระท่านเรียกว่า

    "สังขาร" เหมือนกันหมด

    สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปตามธรรมดา ต่อเมื่อคนเราบรรลุพระนิพพาน ซึ่งเรียกว่าดับสังขารเหล่านั้นได้ นั้นแหละเป็นความสุข

    พูดอีกนัยหนึ่ง ผู้ดับสังขารได้ คือผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงนั้นเอง ผู้ที่ดับกิเลสได้หมด ย่อมมีความสุขอย่างยิ่ง สุขแค่ไหน ผมไม่รู้ครับ เพราะยังดับกิเลสไม่ได้หมด ดับได้หมดแล้วจะบอกครับ

    ไม่ชาตินี้ ก็ชาติหน้าตอนบ่ายๆ แหละน่า

    ที่มาของคาถาบทนี้น่าสนใจครับ เมื่อพระพุทธ

    เจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน (ป่าไม้สาละ) ของเหล่ามัลลกษัตริย์ พระอินทร์ หรือที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า "ท้าวสักกเทวราช" เป็นผู้กล่าวคาถานี้ แสดงความไว้อาลัยแก่พระพุทธเจ้า

    ก็เห็นจะต้องเล่าย้อนหลังไปอีกนิดหน่อย เพื่อความเข้าใจชัดเจน เมื่อพระชนมายุครบ 80 ปี หลังออกพรรษาที่สุดท้ายแล้ว พระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนาของพญามารให้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรง "ปลงอายุสังขาร" (คือกำหนดวันตาย ว่าอย่างนั้นเถอะ) เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหว

    พระอานนท์จึงเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ว่าเกิดอะไรขึ้น พระองค์ตรัสว่า แผ่นดินไหวด้วยสาเหตุ 8 ประการ หนึ่งใน 8 นั้นคือเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร

    พระอานนท์ก็รู้ทันทีว่า พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขารแล้ว จึงทูลอ้อนวอนให้ทรงต่อพระชนมายุไปอีกหน่อยหนึ่งเถิด พระองค์ตรัสว่า สายไปแล้ว เราได้แสดงนิมิตโอภาส (บอกใบ้) ให้เธอตั้งหลายครั้ง แต่เธอไม่ "เก็ต" เอง

    จากนั้นพระองค์ก็เสด็จมุ่งตรงไปยังเมืองกุสินารา สถานที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรงเสวยภัตตาหารมื้อสุดท้าย คือ "สูกรมัททวะ" ที่ นายจุนทะ กัมมารบุตรถวาย อาพาธก็กำเริบหนักแทบจะสิ้นพระชนม์ทีเดียว แต่ทรงระงับได้ด้วยพลังสมาธิ

    เสด็จมุ่งตรงไปยังเมืองกุสินารา ถึงป่าสาลวโนทยาน อันเป็นสถานที่เสด็จประพาสของเหล่ามัลลกษัตริย์ รับสั่งให้พระอานนท์ปูอาสนะใต้ร่มสาละทั้งคู่ ระหว่างนั้นทรงโปรดสุภัททปริพาชก

    ที่เข้ามาถามปัญหาข้อข้องใจ แล้วประทานอุปสมบท (คือบวชให้) แก่สุภัททะ ด้วยวิธีเอหิภิกขุ นับเป็นการบวชโดยพระพุทธเจ้าครั้งสุดท้าย หลังจากพระองค์ทรงงดการบวชเองมานาน ทรงมอบให้พระสงฆ์ทำการแทน สุภัททะ จึงนับเป็นสาวกรูปสุดท้ายของพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ทรงสงบนิ่ง ทรงเข้ารูปฌานที่หนึ่ง สอง สาม สี่ จนถึงอรูปฌานขั้นสูง (เนวสัญญานาสัญญายตนะ) แล้วทรงถอยลงมายังรูปฌานที่หนึ่งอีก แล้วก็เข้ารูปฌานที่สอง สาม สี่ ขณะจะก้าวพ้นรูปฌานที่สี่ ก้าวสู่อรูปฌาน ก็ในระหว่างรูปฌานและอรูปฌานนั้นแล

    ที่เรารู้ว่าพระองค์เข้าฌานอะไร ไปถึงไหนจึงดับสนิทนั้น เพราะพระอนุรุทธเถระ ได้เข้าฌานตามพระพุทธองค์ แล้วได้บอกแก่พุทธบริษัททั้งหลายในภายหลัง

    เมื่อพระพุทธองค์ "ทรงดับสนิท" แล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวชว่า

    "สัตว์ทั้งปวงทอดทิ้งร่างไว้ในโลก แม้พระบรมศาสดา ผู้ไม่มีใครเปรียบปาน ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ยังดับสนิทแล้ว"

    พระอนุรุทธะกล่าวคาถาว่า พระพุทธเจ้าผู้มั่นคง คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงหมดลมหายใจแล้ว พระมุนีเจ้าทรงทำกาละ (คือตาย) อย่างสงบแล้ว ระงับเวทนาได้ พระหทัยหลุดพ้น ทรงดับสนิทดุจเปลวประทีปดับฉะนั้น

    พระอินทร์ได้กล่าวคาถาว่า "อนิจจา วะตะ สังขารา" เป็นต้น ดังกล่าวข้างต้น

    ต่อมาในวงการพระศาสนาได้นำเอาคาถาบทนี้ มาเป็นคาถาพิจารณาบังสุกุล พูดง่ายๆ เป็นคาถาสำหรับ "ปลง" นั้นแหละครับ

    แล้วก็มีผู้ค้นพบโดยบังเอิญว่า คาถานี้ปราบผีได้ชะงัดนักแล

    คาถากันผีบทไหนไม่ศักดิ์สิทธิ์ลองบทนี้บ้าง : มติชนออนไลน์
     
  2. janya

    janya เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    82
    ค่าพลัง:
    +109
    สิ่งทั้งหลายในโลกมี้ ไม่ว่าสิ่งที่เราชอบ หรือไม่ชอบ ก็ล้วนตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง.....เป็นทุกข์ และไม่ใช่...ตัวตน
    (ค่ายพุทธบุตร)
     
  3. SP6580

    SP6580 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    518
    ค่าพลัง:
    +1,550
    ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าครับ
    "อนิจจาเอ๋ย ผีคนตาย หรือจะสู้ผีคนเป็น นะโมพุทธายะ"
    จากหนังสือโลกทิพย์ ฉบับ ๕๑๕ ล่าสุด (อ้างอิง)
     
  4. Unlimited Indy

    Unlimited Indy เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    1,228
    ค่าพลัง:
    +803
    ขอบคุณครับเป็นเรื่องราวที่ดีมาก
     

แชร์หน้านี้

Loading...