ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 66

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 27 พฤศจิกายน 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 66

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    โดย ไต้ ตามทาง



    2.10 ชาดก รวมเรื่องชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสเฉพาะที่เป็นคาถาเท่านั้น ที่มีนิทานประกอบ พระอรรถกถาจารย์แต่งไว้ เรียกว่า ชาตกัฏฐกถาชาดก แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้เกิด" หมายถึง เล่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิดในชาติต่างๆ ในอดีตมากมาย โดยแสดงถึงความพยายามในการทำคุณความดีมากบ้างน้อยบ้าง ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งบำเพ็ญได้สมบูรณ์ในชาติสุดท้าย ชาดกกล่าวกันว่ามี 550 เรื่อง (นับจริงๆ แล้วมีเพียง 543 เรื่อง) จัดเป็นนิบาต ตั้งแต่เอกนิบาตจนถึงมหานิบาต

    ที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธก็คือ มหานิบาตชาดก (ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือที่โบราณเรียกว่าทศชาติ) มีทั้งหมด 10 เรื่องด้วยกันคือ

    1.เตมิยชาดก เรื่องพระเตมียกุมาร บำเพ็ญเนกขัมมบารมี (การออกจากกาม)

    2.มหาชนกชาดก เรื่องมหาชนก บำเพ็ญวิริยบารมี

    3.สุวัณณสามชาดก เรื่องสุวรรณสาม บำเพ็ญเมตตาบารมี

    4.เนมิราชชาดก เรื่องเนมิราชกุมาร บำเพ็ญอธิษฐานบารมี

    5.มโหสธชาดก เรื่องมโหสธ บำเพ็ญปัญญาบารมี อรรถกถาเขียน "มโหสถ"

    6.ภูริทัตตชาดก เรื่องภูริทัตนาคราช บำเพ็ญศีลบารมี

    7.จันทกุมารชาดก เรื่องจันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี

    8.นารทชาดก เรื่องพระพรหมนารทะ บำเพ็ญอุเบกขาบารมี

    9.วิธุรชาดก เรื่องวิธุรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจบารมี

    10.เวสสันดรชาดก เรื่องพระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี

    วิธีจำง่าย ให้จำคำย่อดังนี้

    เต. (เตมีย์) เน. (เนกขัมมะ)

    ช. (มหาชนก) วิ. (วิริยะ

    สุ. (สุวรรณสาม) เม. (เมตตา)

    เน. (เนมิราช) อ. (อธิษฐาน)

    ม. (มโหสธ) ปัญ. (ปัญญา)

    ภู. (ภูริทัต) สี. (สีล)

    จ. (จันทกุมาร) ขัน. (ขันติ)

    นา. (นารทะ) อุ. (อุเบกขา)

    วิ. (วิธุร) สัจ. (สัจจะ)

    เว. (เวสสันดร) ทา. (ทาน)

    2.11 นิเทศ เป็นนิพนธ์ของพระสารีบุตรเถระแบ่งเป็น 2 คือ

    1.มหานิเทศ อธิบายความของพระสูตร 16 สูตร ในอัฏฐกวรรค สุตตนิบาต เริ่มตั้งแต่กามสูตรถึงสารีปุตตสูตร

    2.จูฬนิเทศ อธิบายความของพระสูตรอีก 16 สูตร ในปารายนวรรค และขัคควิสาณสูตรในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต

    2.12 ปฏิสัมภิทาวรรค เป็นภาษิตของพระสารีบุตรเถระ อธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ อย่างพิสดาร วิธีอธิบาย ถ้ามีพุทธภาษิตว่าด้วยเรื่องนั้น ก็นำมาตั้งแล้วอธิบายความอีกต่อหนึ่ง ถ้าไม่มีพุทธภาษิตอธิบายไว้โดยตรง ท่านก็จะตั้งบทขึ้นเอง แล้วขยายอย่างละเอียด

    3.13 อปทาน เป็นคาถาประพันธ์แสดงประวัติในอดีตของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวก ที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่พระสารีบุตรเถระ รวมประวัติพระเถระทั้งหมด 550 รูป ต่อจากนั้นก็เล่าประวัติพระเถรีอรหันต์อีก 40 รูป บางรูป (ประมาณ 16 รูป) ไม่ปรากฏในที่อื่น ประวัติไม่เป็นที่รู้จักกัน ยกเว้นในที่นี้

    2.14 พุทธวังสะ เป็นคาถาประพันธ์ แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต 24 พระองค์ ที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเคยได้เฝ้า และได้รับพยากรณ์ รวมทั้งประวัติของพระองค์เอง รวมเป็นพระพุทธเจ้า 25 พระองค์

    2.15 จริยาปิฏก แสดงพุทธจริยาในอดีต รวม 35 เรื่อง ซ้ำกับชาดกข้างต้น (ในข้อ 2.10) โดยแยกแสดงว่าเป็นการบำเพ็ญทานบารมี 10 เรื่อง ศีลบารมี 10 เรื่อง เนกขัมมบารมี 6 เรื่อง เมตตาบารมี 2 เรื่อง อุเบกขาบารมี 1 เรื่อง รวม 15 เรื่อง ตอนท้ายได้ประมวลไว้ว่า เรื่องไหนเป็นบารมี (บารมีหรือการบำเพ็ญความดีขั้นต้น) เรื่องไหนเป็นอุปบารมี (บารมีขั้นรองหรือจวนจะสูงสุด) และเรื่องไหนเป็นเรื่องปรมัตถบารมี (บารมีขั้นสูงสุด)

    3.ข้อสังเกตบางประการและจุดที่ควรเน้น

    3.1 ขุททกนิกายนี้นักปราชญ์บางท่านตั้งข้อสังเกตว่าถูกเพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง พระสุตตันตปิฎกเดิมแบ่งเป็น 4 นิกายเท่านั้น เหตุผลข้อหนึ่งก็คือ พระไตรปิฎกของฝ่ายสาวกยานอื่นๆ มีเพียง 4 นิกาย ซึ่งเขาเรียกกันว่า "อาคม 4" (ทีรฆาคม มัธยมาคม สังยุกตาคม และเอโกตตราคม) ไม่มีขุททกนิกาย จะมีก็เฉพาะนิกายสรวาสติวาทินเท่านั้นที่มี "กษุทราคม" แต่เนื้อหาก็ไม่เหมือนกับขุททกนิกายของเถรวาท มีบางเรื่องบางข้อเท่านั้นที่ตรงกัน นี่เป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น เป็นเรื่องที่ผู้รู้จะพึงศึกษาวิเคราะห์ต่อไป

    3.2 พึงกำหนดว่า ธรรมบท กับอรรถกถาธรรมบท หรือที่เรียกชื่อเต็มว่า ธัมมปทัฏฐกถานั้นคนละอย่างกัน ชาวไทยมักเรียกว่า "ธรรมบท" เหมือนกัน ทำให้สับสนในแง่วิชาการและการอ้างอิง

    มีข้อพึงสังเกต ดังนี้

    (1) คาถาธรรมบท เป็นพุทธวจนะ แสดงหลักธรรมอันบริสุทธิ์ ส่วนอรรถกถาธรรมบท แต่งเสริมความ พร้อมทั้งยกนิทานมาประกอบ ทำให้เข้าใจตัวคาถาง่ายขึ้น แต่บางครั้งก็ทำให้ความตัวคาถาเดิมหดหายไป หรือเบี่ยงเบนไปจากจุดมุ่งหมายเดิม ยกตัวอย่างเช่น ในคาถาบทที่ 1 พุทธวจนะตรัสว่า "ใจเป็นผู้นำทุกสิ่งทุกอย่าง ใจเป็นใหญ่ ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ ถ้าคนเรามีใจชั่ว จะทำ จะพูดก็พลอยชั่วไปด้วย เพราะพูดชั่ว ทำชั่วนั้น ทุกข์ย่อมตามสนองเขา เหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยโค" เป็นการแสดงหลักธรรมล้วนๆ แต่อรรถกถาได้แต่งนิทานเรื่องพระจักขุบาลป่วยเป็นโรคตา ตาทั้งสองบอดสนิทในที่สุด พระพุทธเจ้าได้เล่าบุพกรรมของเธอว่า ชาติก่อนจักขุบาลเป็นหมอรักษาตาของสตรีนางหนึ่งหาย แต่สตรีนั้นแกล้งทำเป็นไม่หาย จึงเอายาอีกขนานหยอดจนตาเธอบอด สิ่งที่อรรถกถาเน้นมากคือ แนวความคิดเรื่องสังสารวัฏ กฎแห่งกรรม แง่ข้ามภพข้ามชาติ




    ref.http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud18201149&day=2006/11/20
     

แชร์หน้านี้

Loading...