ความหมาย ความมุ่งหมาย ประวัติ และอานิสงส์ของการกรวดน้ำ

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Jeerachai_BK, 5 กุมภาพันธ์ 2011.

  1. Jeerachai_BK

    Jeerachai_BK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    318
    ค่าพลัง:
    +821
    การกรวดน้ำ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมกระทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ 'กรวดน้ำ' เป็นคำที่มาจากคำเขมร จฺรวจ กับคำว่า น้ำ

    ในภาษาเขมร คำว่า 'จรวจทึก' แปลว่า กรวดน้ำ เป็นอาการเทน้ำลงดินเพื่อให้แม่พระธรณีนำบุญกุศลที่ได้กระทำแล้ว แผ่ไปสู่ญาติพี่น้องผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่นเดียวกับการกรวดน้ำของไทย

    ความหมาย
    การกรวดน้ำ หมายถึง การเทน้ำสะอาดลงดินโดยไม่ต้องเอานิ้วรอง พร้อมกับกล่าวคำอุทิศผลบุญที่ตนได้กระทำให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แก่เจ้าเวรนายกรรม และแก่สรรพสัตว์ที่ได้รับความทุกข์อยู่ เป็นต้น การกรวดน้ำจะกระทำในขณะที่พระภิกษุกล่าวคาถาว่า

    ยถา วาริวหา ปูรา ปริ ปูเรนฺติ สาครํ
    เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ
    อิจฺฉิตํ ปตฺกิตํ ตุยฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
    สพฺเพ ปุเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา
    มณิ โชติรโส ยถา


    แปลความว่า

    ห้วงน้ำที่เต็ม (ย่อมไหลบ่า) ไปทำทะเลให้เต็มฉันใด ทานที่ญาติ (อุทิศ) ให้จากโลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน ขอความต้องการ (และ) ความปรารถนาของท่านจงสำเร็จโดยพลันเถิด ขอความดำริ (ความคิด) ทุกอย่างจงเต็มเปี่ยม (สำเร็จ) เหมือนพระจันทร์วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (ที่เต็มดวง) (และ) เหมือนแก้วมณีโชติรส (มีรัศมีรุ่งเรือง) ทำให้เจ้าของได้สมปรารถนา

    เมื่อพระภิกษุกล่าวคำจบลงที่คำว่า
    มณีโชติ รโส ยถา ต้องเทน้ำให้หมด เนื่องจากคำที่พระภิกษุจะกล่าวต่อไปเป็นคำพรที่ให้แก่ผู้ทำบุญนั้น

    ความมุ่งหมาย
    มีอยู่ ๓ ประการ คือ
    ๑. เป็นการแสดงกิริยายกให้ของบางอย่าง ถ้าเป็นของใหญ่โตไม่สามารถหยิบยกให้กันได้ ก็นิยมกรวดน้ำให้กัน เช่น พระเจ้าพิมพิสารถวายวัดเวฬุวันแก่พระพุทธเจ้า ก็ใช้หลั่งน้ำลงแทนน้ำพระทัย เป็นต้น
    ๒. เป็นการตั้งความปรารถนา เช่น พระภิกษุปรารถนาพระนิพพาน หรือตอนที่พระนเรศวรตั้งความปรารถนาตัดขาดไมตรีจากพม่า ก็ทรงหลั่งน้ำลงสู่พื้นดิน เป็นต้น
    ๓. เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ข้อนี้เป็นข้อที่ชาวพุทธไทยนับถือกันมาก ว่าน้ำที่ใสบริสุทธิ์เปรียบเหมือนน้ำใจใสบริสุทธิ์ของคนเรา อาการที่หลั่งน้ำลงเปรียบเหมือนสายใจที่หลั่งไหลออกมาให้ปรากฎแก่คนทั้งหลาย การกรวดน้ำจึงเป็นนิมิตหมายแห่งน้ำใจอันบริสุทธิ์ที่ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะเป็นผู้อาวุโสกว่าหรือต่ำกว่าก็ตาม เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านเหล่านั้น

    ประวัติ
    การกรวดน้ำนี้ได้กระทำกันมาแต่ครั้งพุทธกาล คือเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารตามที่พระเจ้าพิมพิสารเคยทูลขอไว้ ว่าถ้าได้ตรัสรู้แล้ว ขอจงกลับมาโปรดพระองค์ด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงพระเจ้าพิมพิสารทรงปีติโสมนัสเป็นที่ยิ่ง ได้ถวายเวฬุวัน (ป่าไผ่) เป็นที่ประทับ โดยหลั่งน้ำลงสู่พื้นดินเป็นการแสดงกิริยายกให้ ต่อมาที่ประทับนี้เรียกว่า "วัดเวฬุวัน" หรือ "เวฬุวนาราม" นับเป็นวัดแรกในพระบวรพุทธศาสนา

    อานิสงส์
    ในครั้งหนึ่ง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มีพราหมณ์ผู้หนึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น มีทรัพย์สมบัติอยู่ ๘๐ โกฎิ พราหมณ์ผู้นั้นมีบุตรชายอยู่คนหนึ่ง เป็นที่รักมากเพราะมีบุตรคนเดียว พอบุตรชายมีอายุได้ประมาณ ๑๗ ปี ก็เกิดโรคาพยาธิมาเบียดเบียน ก็ถึงซึ่งความตายไป พราหมณ์ผู้เป็นพ่อและแม่บังเกิดความทุกขเวทยาโทมนัสเศร้าโศกเสียใจ เพราะอาลัยรักในบุตรที่ตายไปอย่างยิ่ง จึงให้สั่งคนใช้ที่เป็นบริวาร นำเอาศพไปเผาในป่าช้าและสั่งให้ปลูกศาลาขึ้นหนึ่งหลัง มีเสื่อสาดอาสนะ แล้วจัดทาสคนหนึ่งไปคอยปฏิบัติรักษาอยู่ในป่าช้านั้น เพื่อจะได้ส่งข้าวน้ำอาหารเช้าและเย็นให้แก่ลูกชายของตนทุกๆ วันมิได้ขาด ทำเหมือนกับบุตรชายของตนมีชีวิตอยู่ ทาสผู้นั้นก็ทำตามคำสั่งอยู่เสมอมิได้ขาดเลยสักวันเดียว

    อยู่มาวันหนึ่ง บังเอิญฝนตกหนักมาก น้ำก็ท่วมหนทางที่จะไปนั้น ทาสผู้นั้นจะข้ามไปก็ไม่ได้ จึงกลับมา ในระหว่างทางพบพระภิกษุรูปหนึ่งมาบิณฑบาต ก็เลยเอาอาหารนั้นใส่บาตรให้เป็นทานแก่พระภิกษุ แล้วก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญนั้นส่งให้แก่ผู้ตาย ลูกชายที่ตายไปนั้นมานิมิตฝันให้พราหมณ์ผู้เป็นพ่อว่า ข้าพเจ้าได้ตายไปนานแล้ว ไม่เคยได้กินข้าวเลยสักวันเดียว เพิ่งจะมาได้กินข้าวแต่วันนี้วันเดียวเท่านั้น

    ครั้นพราหมณ์ผู้เป็นพ่อได้นิมิตฝันอย่างนี้ ก็ใช้ให้คนไปตามทาสผู้ไปคอยเฝ้าปฏิบัติมาไถ่ถามดู ทาสผู้นั้นก็ตอบว่าข้าพเจ้าไปส่งข้าวทุกๆ วัน แต่วันนี้ข้าพเจ้าไปไม่ได้ ฝนตกหนัก น้ำท่วม ก็กลับมาพบพระภิกษุรูปหนึ่งมาบิณฑบาต ข้าพเจ้าก็เลยเอาข้าวนั้นใส่บาตรแก่ภิกษุรูปนั้น แล้วอุทิศส่วนบุญนี้ไปให้บุตรของท่าน บุตรของท่านก็คงจะได้กินข้าวแต่วันนี้วันเดียวดังนี้แล ครั้นพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้วก็คิดว่าเราจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเสียก่อน จะทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างไร พราหมณ์ก็ถือดอกไม้ธูปเทียนของหอมเข้าไปสู่สำนักพระพุทธเจ้า แล้วบูชาเครื่องสักการะนั้น แล้วนั่งที่สมควรแก่ตน ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า คนหญิงชายทั้งหลายในโลกนั้น ครั้นเขาตายไปปรโลกแล้ว ผู้อยู่ภายหลังได้แต่งข้าทาสชายหญิงให้ไปปฏิบัติแล้วปลูกศาลาไว้ให้ เอาเสื่อ อาสนะ ช้าง ม้า วัว ควาย ไปในป่าชั้นนั้น จะเป็นอานิสงส์แก่ผู้ภายไปนั้นหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า

    องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสพระธรรมเทศนาว่า ดูก่อนพราหมณ์ จะให้เป็นอานิสงส์แก่ผู้ตายนั้น ควรถวายสังฆทานให้แก่พระภิกษุสงฆ์สามเณร กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลที่ตนได้กระทำนั้นให้แก่ผู้ตาย จึงจะเป็นผลอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาล ผู้ที่ตายไปแล้วนั้นครั้นได้รับส่วนอุทิศอันให้แล้ว ก็จะพ้นทุกข์ทั้งมวลนั้นได้อย่างแน่แท้

    ครั้นพราหมณ์ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ก็ชื่นชมยินดีอย่างมาก แล้วทูลอาราธนาพระพุทธเจ้ากับทั้งพระภิกษุสงฆ์ไปสู่บ้านเรือนของตนเพื่อฉันภัตตาหาร ครั้นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จ ได้ถวายปัจจัย ๔ มีจีวร เป็นต้น แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปให้แก่ลูกชายของตน องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาว่า ดูก่อนพราหมณ์ ตั้งแต่นี้ต่อไปอย่าได้ไปปฏิบัติอยู่ในป่าช้านั้นอีกเลย ท่านจงรักษาศีลภาวนาอย่าได้ขาด บุตรของท่านก็จะได้พ้นทุกข์ ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาจบลงแล้ว บุตรชายของพราหมณ์ผู้ตายไปแล้วนั้นก็พ้นจากเปรตวิสัย ได้ไปอุบัติบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีวิมานทองสูง ๑๒ โยชน์ มีนางฟ้าเทพอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร พราหมณ์ผู้เป็นบิดาก็ตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ ตราบเท่าสิ้นชีวิต แล้วได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีปราสาททองและเทพกัญญาหนึ่งหมื่นเป็นบริวาร

    กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ใคร?
    การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลนั้นเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้แก่ญาติสายโลหิตและมิตรสหายที่ล่วงลับไปเกิดเป็นปรทัตตูปชีวีเปรต

    วิธีกรวดน้ำ
    การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลต้องคำนึงถึงประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลด้วย วิธีที่นิยมคือเริ่มต้นเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะไว้พอสมควร

    พอพระเริ่มอนุโมทนาขึ้นบทว่า “ยถา วาริวหา...” ก็เริ่มกรวดน้ำ (รินน้ำ) ลงในภาชนะรอง โดยมือขวาจับภาชนะรินน้ำ ใช้มือซ้ายประคอง และตั้งใจนึกอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลตามแบบบทกรวดน้ำทั่วไป เมื่อพระว่าจบและขึ้นบทว่า สัพพีติโย…. พร้อมกัน ผู้กรวดน้ำพึงหยุดกรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพร เสร็จแล้วจึงนำน้ำที่กรวดนั้นไปเทลงบนดินที่สะอาด หรือที่โคนต้นไม้ก็ได้

    การหลั่งน้ำกรวด ถ้าเป็นพื้นดิน ควรหลั่งลงในที่สะอาดหมดจด ถ้าอยู่บนเรือนหรือสถานที่ที่มิใช่พื้นดิน ต้องหาภาชนะที่สมควร เช่น ถาดหรือขันน้ำมารองน้ำที่กรวดไว้ แล้วจึงนำไปเทลงบนพื้นดินตรงที่สะอาด อย่าใช้ภาชนะที่สกปรกและไม่ควรเป็นอันขาด เพราะน้ำที่กรวดเป็นสักขีพยานในการทำบุญ

    คำกรวดน้ำ ที่นิยมว่ากันทั่วไปมีอยู่สามแบบ คือแบบสั้น แบบย่อ และแบบยาว มีดังนี้

    คำกรวดน้ำแบบสั้น
    อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ (กล่าวสามหน)
    หากจะเติมพุทธภาษิตว่า "
    สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย" ก็ได้

    ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด
    "ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด"

    คำกรวดน้ำแบบย่อ (เรียกว่า คาถาติโลกวิชัย)
    ยงฺกิญฺจิ กุสลํ กมฺมํ กตฺตพฺพํ กิริยํ มม
    กาเยน วาจามนสา ติทเส สุคตํ กตํ
    เย สตฺตา สญฺญิโน อตฺถิ เย จ สตฺตา อสญฺญิโน
    กตํ ปุญฺญผลํ มยฺหํ สพฺเพ ภาคี ภวนฺตุ เต
    เย ตํ กตุํวิทิตํ ทินฺนํ ปุญฺญผลํ มยา
    เย จ ตตฺถ น ชานนฺติ เทวา คนฺตวา นิเวทยุํ
    สพฺเพ โลกมฺหิ เย สตฺตา ชีวนฺตาหาร เหตุกา
    มนุญฺญํ โภชนํ สพฺเพ ลภนฺต มม เจตสา

    กุศลกรรมที่เป็นกิริยาควรทำอันหนึ่งด้วยกาย วาจา ใจ อันจะเป็นเหตุนำไปให้เกิดในสวรรค์ชั้นไตรทศเทพ ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ขอสัตว์ซึ่งมีสัญญาและไม่มีสัญญาทุกหมู่เหล่า จะเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้วนั้น เหล่าสัตว์ที่ไม่รู้ผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว ขอจงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้าอุทิศให้ ในบรรดาสรรพสัตว์จำพวกใดไม่รู้ข่าวถึงบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ขอเทพพยาดาทั้งหลาย จงนำไปบอกแก่สัตว์จำพวกนั้น ขอสัตว์ทุกหมู่ในชีวโลก ซึ่งเสพอาหารเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ จงได้เสวยซึ่งโภชนะอันพึงใจ ด้วยอำนาจเจตนาอุทิศของข้าพเจ้านี้เถิด

    คำกรวดน้ำแบบยาว
    อิมินา ปุญฺญกมฺเมน อุปชฺฌายา คุณุต์ตรา อาจริยูปการา จ มาตา ปิตา จ ญาตกา (ปิยา มมํ)
    สุริโย จนฺทิมา ราชา คุณวนฺตา นราปิ จ
    พฺรหมมารา จ อินฺท จ โลกปาลา จ เทวตา
    ยโม มิตฺตา มนุสฺสา จ มชฺฌตฺตา เวริกาปิ จ
    สพฺเพ สตฺตา สุขี โหนฺตุ ปุญฺญานิ ปกตานิ เม
    สุขญฺจ ติวิธํ เทนฺตุ ขิปปํ ปาเปถ โว มตํ
    อิมินา ปุญฺญกมฺเมน อิมินา อุทฺทิเสน จ
    ขิปฺปาหํ สุลเภ เจว ตณฺหุปาทานเฉทนํ
    เย สนฺตาเน หินา ธมฺมา ยาว นิพฺพานโต มมํ
    นสฺสนฺตุ สพฺพทา เยว ยตฺถ ชาโต ภเว ภเว
    อุชุจิตฺตํ สติปญฺญา สลฺเลโข วิริยมฺหินา
    มารา ลภนฺตุ โนกาสํ กาตุญฺจ วิริเยส เม
    พุทฺธาธิปวโร นาโถ ธมฺโม นาโถ วรุตฺตโม
    นาโถ ปจฺเจพุทฺโธ จ สงฺโฆ นาโถตฺตโร
    เตโสตฺตมานุภาเวน มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา

    ด้วยผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำนี้ ขอพระอุปัชฌาย์ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาล อีกทั้งอาจารย์ผู้ได้สั่งสอนข้าพเจ้ามา ทั้งมารดาบิดาและคณาญาติทั้งสิ้น ตลอดจนพระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ในเอกเทศแห่งเมทนีดล และนรชนผู้มีคุณงามความดีทั้งหลายทุกถิ่นฐาน อีกท้าวมหาพรหมกับหมู่มาร และท้าวมัฆวานเทวราช ทั้งเทพเจ้าผู้รักษาโลกทั้งสี่ทิศ และพญายมราช อีกมวลมิตรสหาย ทั้งผู้ขวนขวายวางตนเป็นกลาง และผู้เป็นศัตรูของข้าพเจ้าทุกๆ เหล่า จงมีความเกษมสุขนิราศภัย ขอบุญที่ข้าพเจ้ากระทำไว้ด้วยไตรทวาร จงบันดาลให้สำเร็จไตรพิชสุข ถึงความเกษมปราศจากทุกข์ คือพระอมตมหานฤพานโดยพลัน อีกโสตหนึ่งนั้น ด้วยกรรมนี้และอุทิศเจตนานี้ ขอให้ข้าพเจ้าบรรลุทันทีซึ่งการตัดขาดตัณหา อุปาทาน ธรรมอันชั่วในสันดานจงพินาศไปหมด จนตราบเท่าถึงนิพพานสิ้นกาลทุกเมื่อ แม้ว่าข้าพเจ้ายังท่องเที่ยวไปเกิดในภพใดๆ ก็ขอให้มีจิตซื่อตรงดำรงสติปัญญาไวชาญฉลาด ให้มีความเพียรกล้า สามารถขัดเกลากิเลสให้สูญหาย ขอหมู่มารเหล่าร้าย อย่าได้กล้ำกรายสบโอกาสเพื่อทำให้ข้าพเจ้าพินาศคลายความเพียรได้ อนึ่งไซร้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งอันยิ่งอย่างประเสริฐ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันล้ำเลิศยิ่งประมาณ พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันไพศาล และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันอุดมยิ่งประมาณของข้าพเจ้านี้ ด้วยอานุภาพอันอุดมดี พิเศษสูงสุดของพระรัตนตรัย ขออย่าให้หมู่มารได้โอกาสทุกเมื่อไป เทอญ

    นอกจากคำกรวดน้ำทั้ง ๓ แบบ ตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีคำกรวดน้ำอีกแบบหนึ่ง เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ เรียกว่า ปัตติทานกถา ดังนี้

    ปุญฺญสฺสิทานิ กตสฺส ยานญฺญานิ กตานิ เม
    เตสญฺจ ภาคิโน โหนฺตุ สตฺตานนฺตาปฺปมาณกา
    เย ปิยา คุณวนฺตา จ มยฺหํ มาตาปิตาทโย
    ทิฏฺฐา เม จาปฺยทิฏฺฐา วา อญฺเญ มชฺฌตฺตเวริโน
    สตฺตา ติฏฺฐนฺติ โลกสฺมึ เตภุมฺมา จตุโยนิกา
    ปญฺเจกจตุโวการา สํสรนฺตา ภวาภเว
    ญาตํ เย ปตฺติทานมฺเม อนุโมทนฺตุ เต สยํ
    เย จิมํ นปฺปชานนฺติ เทวา เตสํ นิเวทยุํ
    มยา ทินฺนาน ปุญฺญานํ อนุโมทนเหตุนา
    สพฺเพ สตฺตา สทา โหนฺตุ อเวรา สุขชีวิโน
    เขมปฺปทญฺจ ปปฺโปนฺตุ เตสาสา สิชฺฌตํ สุภา

    สัตว์ทั้งหลายไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ จงเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญอันข้าพเจ้าทำแล้ว ณ บัดนี้ และแห่งบุญทั้งหลายอื่นอันข้าพเจ้าทำแล้วด้วย ชนเหล่าใดเป็นที่รักและมีคุณ มีมารดาและบิดาของข้าพเจ้าเป็นต้น ที่ข้าพเจ้าเห็นแล้ว หรือแม้ที่ข้าพเจ้าไม่ได้เห็น แล้วเหล่าอื่น ที่เป็น ผู้มัธยัสถ์เป็นปานกลางและเป็นผู้มีเวร สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในโลก เป็นไปในภูมิสาม เป็นไปในกำเนิดสี่ มีขันธ์ห้า มีขันธ์หนึ่ง มีขันธ์สี่ ท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยและภพใหญ่ การให้ส่วนบุญของข้าพเจ้าอันสัตว์ทั้งหลายเหล่าใดรู้แล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจงอนุโมทนาเองเถิด ส่วนสัตว์ทั้งหลายเหล่าใดยังไม่รู้ซึ่งการให้ส่วนบุญของข้าพเจ้านี้ ขอเทพยดาทั้งหลายพึงบอกแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นให้รู้ (แล้วอนุโมทนา) เพราะเหตุคืออนุโมทนาซึ่งบุญทั้งหลายอันข้าพเจ้าได้ให้แล้ว ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร เป็นผู้ดำรงชีพโดยสุขทุกเมื่อเถิด จงถึงซึ่งบทอันเกษม (คือพระนิพพาน) ขอความปรารถนาที่ดีงามของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงสำเร็จเถิด

    ที่มา:
    ๑. กรวดน้ำ
    ๒. หมวดปกิณกพิธี

     

แชร์หน้านี้

Loading...