ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 30 กรกฎาคม 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี


    พระธรรมเทศนาโดย

    พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)

    วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

    วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ



    ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นัตถิ สันติ ปะรัง สุขขัง ติ อิมัสสะ ธัมมะปะริยายัสสะ
    อัตโถ สาธายัสสะมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ


    โอกาสต่อนี้ไป ขอเชิญชวนท่านพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา อันเป็นโอวาท คือธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพ การฟังธรรมประจำวันธรรมสวนะเป็นของจำเป็นกับพวกเราชาวพุทธที่เราจะหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องปฏิบัติ และจะต้องรักษาเพื่อยังพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและถาวรสืบต่อไป และเพื่อยังคุณภาพของธรรมมะนั้นให้ได้ปรากฏแก่ชาวโลก หรือว่าแก่ตนของตนด้วย


    การฟังธรรมเราก็อย่าคิดแต่ว่าฟังอย่างเดียว การฟังนั้นเราก็ได้ฟังกันมาเป็นประจำจะเป็นวันพระก็ตามไม่เป็นวันพระก็ตาม ที่เราฟังกันมาตลอดเราก็อย่าฟังกันโดยที่ให้มันไร้ประโยชน์ หวังประโยชน์ในการฟังของตัวเองบ้าง ประโยชน์ที่มันจะเกิดขึ้นสำหรับการฟังนั้นในอานิสงผลเบื้องต้น ก็หมายถึงว่า อานิสงส์ผล คือผลของการฟังธรรมในวันธรรมสวนะ คือการฟังธรรมในวันสำคัญก็ย่อมมีอานิสงส์ ตามหลักของนักปราชญ์บัณฑิต ท่านกล่าวเอาไว้เราก็คงทราบกันอยู่แล้ว


    ส่วนอานิสงส์อันหนึ่ง ซึ่งเหนือไปกว่านั้นอีกก็ได้แก่ ความสงบ อันความสงบนี้มันเป็นของจำเป็นกับพวกเราชาวพุทธทั้งบรรพชิต และทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ มันเป็นของจำเป็นที่เราจะต้องควรที่จะกระทำ แต่ความสงบนั้นเราจะหมายเอาเฉพาะแต่ภายนอกก็หาใช่ไม่ ส่วนภายนอกมันก็ของทำได้ง่ายคือเราไม่ทำอะไรมันเสียเลยมันก็ได้ เราไม่พูดอะไรเลยมันก็ได้ อันนี้มันเป็นของภายนอก แต่สำหรับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นท่านมุ่งประเด็นภายในนั้นเป็นส่วนมาก ส่วนภายนอกมันเป็นของธรรมดาของสามัญชนอยู่แล้ว แต่ส่วนภายในที่พระพุทธองค์ ท่านมุ่งประเด็นกับชาวพุทธทั้งบรรพชิต และคฤหัสน์นั้นเป็นส่วนมาก เพราะความสงบภายในยังความสำเร็จประโยชน์ได้มาก


    ถ้ามีความสงบแล้ว การกระทำอะไรหรือการปฏิบัติอะไรมันเป็นไปได้ง่าย และเป็นไปด้วยความสะดวกของการปฏิบัติตลอดถึงความเป็นอยู่เราจะอยู่ตรงไหนมันก็สงบ จะทำอะไรมันก็สงบ จะพูดจาวาทีอะไรมันก็สงบเพราะมันมีความสงบ ความสงบภายในย่อมมีอานิสงส์มากยิ่งกว่าอานิสงส์อะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธและสำนักการปฏิบัติของเรา ควรที่จะสงวนเป็นอย่างยิ่ง และควรที่จะสนใจเป็นอย่างยิ่ง


    ความสงบนั้นมันก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ก็เป็นแต่เพียงนั่งกำหนดจิตของเราเท่านั้น และก็รักษาจิตของเราเท่านั้น เพื่อรักษาความฟุ้งซ่าน ให้สกัดความฟุ้งซ่าน ให้สกัดความคิดและก็ให้ตั้งข้อสังเกตแห่งความคิด ความปรุงความแต่ง อะไรต่างๆ นานาประการ ซึ่งมันปรุง มันแต่ง มันเกิดขึ้นในจิตในใจของตัวเอง เราพยายามตั้งข้อสังเกตอันนั้น แต่อย่ามาตั้งข้อสังเกตภายนอก ให้ตั้งข้อสังเกตภายใน คือในดวงใจ คือในหัวใจของเรา คือในตัวรู้ที่มันจะป้อนอะไรออกมา


    อะไรมันจะผุดขึ้นมาเราพยายามดู และพยายามสังเกตและมันจะมีอะไรซึ่งจะมาหลอกให้จิตของเรานั้นออกจากความสงบ เราพยายามดูแลด้วยสติและสัมปชัญญะแล้วเราจะบริกรรมอะไรก็ได้ แต่โดยมากเราที่ใช้กันมา และปฏิบัติกันกับสำนักเราก็ได้แก่พุทโธ เรากำหนดพุทโธเท่านั้นนอกเหนือไปจากพุทโธ หรือนอกเหนือจากคำบริกรรมแล้วเราก็อย่าได้ไปสนอะไร นอกจากคำบริกรรม กับคำที่เรารู้ ซึ่งเราตั้งข้อสังเกตเอาไว้มันจะพลิกแพลงและเป็นไปในทางไหน และมันจะแลบไปทางไหนและมันจะเอาอะไรมาปรุงมาคิด เราก็ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ถ้าผิดเพี้ยนไปจากพุทโธ เราก็อย่าไปคำนึง


    ถึงเราจะนั่งฟังอยู่นี้ก็ตาม เราก็อย่ามุ่งแต่การฟังอย่างเดียว เราก็ต้องกำหนดจิตของเราตามไปด้วย ต่อเมื่อมันมีความสงบ มันก็ไม่ได้สนอะไรกับเสียง เสียงที่เราพูดอยู่ก็ตาม เสียงที่เราเทศน์อยู่ก็ตาม เสียงอะไรมันก็ตาม ถ้าลงมันสงบแล้วมันไม่ได้สนหรอก มันไม่ได้มาเกี่ยวข้องมันสงบของมันไปโดยลำพัง มันสงบของมันไปโดยอัตโนมัติ มันสงบของมันโดยส่วนตัวของเขา เขาไม่ได้ออกมายุ่ง


    เกี่ยวกับของภายนอก แล้วเรามีความรู้อยู่ ณ ภายใน แต่ส่วนภายในนั้นเขารู้แต่เขาไม่ได้รับรู้ภายนอกส่วนภายในนั่นมันจะเกิดอะไรขึ้นเขารู้หมด และเขาก็เห็นหมดถ้ามันมีความสงบในตัว


    เรื่องของคำบริกรรมนั้น ต่อเมื่อมันสงบแล้วดูเหมือนมันไม่ได้เกี่ยวกัน คือมันวาง วางคำบริกรรม ตอนมันสงบ แม้กระทั่งถึงลมที่เราหายใจเข้าออก จิตมันก็วาง คือมันไม่ได้มาสนกับพวกนี้หรอก จะมารู้ลมอยู่ตลอด มันก็เป็นไปไม่ได้ มันจะมาบริกรรมอยู่ตลอด มันก็เป็นไปไม่ได้หรอกต่อเมื่อมันสงบแล้วมันไม่ได้เกี่ยวกัน ถึงจะมีก็อยู่ส่วนลึกคือพุทโธก็ลึกนิดเดียวเท่านั้น นอกนั้นเขาไปทำงานของเขา จะเป็นองค์ฌานเราก็ว่าได้ก็เรื่องของวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา มันพร้อมที่อยู่ ในความสงบนั้นหมด จะว่าเป็นองค์ฌาณในนั้นก็ได้ จะว่าเป็นสมาธิก็ได้ จะว่าความ สงบมันก็ได้ ก็แล้วแต่เราจะว่านะ


    แต่เมื่อไปแล้ว มันไม่ได้ว่าอะไร มันไม่ได้เกี่ยวอะไร แม้แต่ว่าขณิกะ อุปจาระ อัปปนา มันไม่ได้เกี่ยวกัน เวลามันลงไป มันสงบ มันไม่ได้บอกว่านี่ ขณิกะ นี่อุปจาระ อัปปนา มันก็ไม่ว่า แต่มันเป็นหลักของการศึกษา หลักของปริยัติ มันก็ต้องมีเป็นข้อๆ เอาไว้บ้างเพื่อเป็นการศึกษาและความเข้าใจในหลักของธรรมะเท่านั้น ต่อเมื่อจิตมันลงไปแล้วนี่มันไม่ได้เกี่ยวกันหรอก มันไปรู้ของมันโดยอัตโนมัติ ส่วนวิตกวิจารณ์มันก็หายไปมันก็เหลือปีติ แล้วมันก็สุข มันสุขแล้วมันก็เป็นหนึ่ง


    ที่นี้จะพูดถึงฌาน มันมีอะไร ฌานมันก็วิตก มีวิจาร ปีติ สุขเอกัคตา เมื่อจิตมันมีแล้ว มันมีความสุขในตัว เราจะว่าแต่สมาธิหรือว่าความสงบ แต่ฌานยังไม่มี หรือฌานยังไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ มันมาเป็นคู่กันมาในนั้น แล้วแต่เราจะเรียก แล้วแต่เราจะคิด และจะเปรียบเทียบในจิตของตัวเองกับธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะมีสติปัญญาของเรา จะทำความเข้าใจในเรื่องของธรรมมะกับจิต จิตกับธรรมมะ ในหลักของปริยัตินั้นก็แล้วแต่เราจะเปรียบเทียบเอา เมื่อเราเปรียบเทียบให้มันถูกต้องและเจนจัดในจิตของตัวเองแล้วมันชัดเจนในจิตตัวเองแล้ว มันหายสงสัย คือมันไม่ได้มาคำนึงกับพวกนี้ดอก


    พวกที่ว่าเดี๋ยวฌานนั้น เดี๋ยวฌานนี้ เดี๋ยวญาณนั้นบ้าง เดี๋ยวญาณนี้บ้าง มันก็ไม่ได้ มาสงสัยหรอก มีแต่มันทำความสงบให้มาก และยังความมั่นคงของจิต และยังจิตของตัวเองให้มีความมั่นคง เมื่อจิตมั่นเกิดความมั่นคงเรียกว่า สมาธิ


    แปลว่าตั้งใจมั่น มันมั่นจนไม่มีอะไรที่จะมาทำลายได้ อะไรจะมาหลอก ก็หลอกไปซิ ตามันเห็นรูปสวยๆ รูปงาม ๆแต่งตัวแบบไหนมา จะทำอะไรมาก็ตาม จะทำประเจิดประเจ้ออะไรก็ตามแต่มันก็รู้ แต่ว่าความสำนึกในดวงจิตอันตั้งมั่นนั้น มันหาได้หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านั้นไม่ แม้กระทั้งถึงเสียงมันจะเพราะขนาดไหนก็เพราะไป มันก็ไม่ได้วิ่งตามเสียง กลิ่นก็เหมือนกัน รสมันก็เหมือนกัน สัมผัสก็เหมือนกันก็มันมั่นแล้วมันยังจะไปไหวกับพวกนี้อยู่ มันก็จะว่าสมาธิตั้งใจมั่นได้อย่างไร


    ถ้ามันมั่นแล้วมันไม่ได้หวั่นไหว และมันไม่ได้ไหวหวั่นกับอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งของภายนอก ทั้งของภายใน ไม่ได้หวั่นไหวหรอก มันอยู่ยงคงที่ เมื่อจิตมันอยู่ยงคงที่แล้วมันไม่หนีไปไหน อะไรมันจะเกิด ก็เราหาอะไร เราทำความสงบเพื่ออะไร ทำสมาธิเพื่ออะไร ก็เพื่อธรรมะ ก็ธรรมะมันจะเกิดขึ้น ธรรมะมีอะไรบ้าง ก็ธรรมะก็ทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ และอะไรมันจะเกิดขึ้นมันก็เป็นเรื่องของธรรมะ มันจะเกิดอะไรก่อนก็เรื่องของมัน ก็นับตั้งแต่พวกกรรมพวกเวร พวกกิเลสก็โดยมากกิเลสทั้งหลายมันเกิดก่อน มันจะมาเป็นรูปธรรมก่อน มาเป็นภาพ เป็นนิมิต หรือเป็นสี เป็นแสง เป็นอะไรมันก็แล้วแต่มันจะเป็นมันก็เป็นไปเป็นอย่าง ๆ เป็นอัน ๆ ไป แล้วมันก็เลิกกันไปมันก็มาเรื่อยไปเรื่อยไป แล้วมันก็ผ่านไปๆ แล้วมันก็หายมันไปเอง ทำทีหลังอย่างอื่น มันก็เกิดไป แม้กระทั้งพวกถึง ภูต ผี ปิศาจ มันก็ไม่ใช่ ภูต ผี ปิศาจเหมือนกับเราที่สมมติกันหรอก มันก็เกี่ยวกับดวงวิญญาณนั่นล่ะ ก็วิญญาณก็คือพวกที่มันตายไปก่อน ตายไปเมื่อวานนี้ก็ตาม เมื่อวานซืนก็ตาม เดือนสองเดือน สามเดือน ปีสองปี สามปี เก้าปี สิบปีก็ตาม ร้อยปี พันปีหมื่นปีก็ตาม ก็วิญญาณมันไม่ได้ไปไหนแล้ว มันก็ยังข้องเกี่ยวข้องแวะ เสวยกรรมมันก็มาแสดงตัวกรรม ก็เอากรรมนั่นแหละมาสอนเราอีกว่า ข้านี่เป็นอย่างนั้นได้ผลกรรมอย่างนั้น ทรมานอย่างนั้น แต่ก่อนเคยทำอย่างนั้นแล้วมันมาเป็นทุกข์อย่างนี้ และมีความอดอยากอย่างนี้


    อันนี้มันอะไร มันก็เรื่องธรรมะนั่นล่ะ ก็เขามาเสนอ สนอง มาบอกเรื่องราวโทษของการประพฤติผิด ในเรื่องการปฏิบัติในทางศีลธรรมที่มันเป็นทุสาจริตไปแล้วเกิดเป็นมนุษย์ ก็เมื่อมันมาบอกอย่างนั้น เราก็จะไม่ได้ยกเอาอันนั้นมาเป็นธรรมะบ้างหรือ ว่ามันทำไปแล้ว มันได้ผลอย่างนั้น มาให้ผลอย่างนี้ ก็แล้วแต่มันจะมาปรากฏ ที่มันจะมาแสดงให้เราเห็นในจิต ในนิมิต คือจิตมันเห็น เห็นในความสงบ มันสว่างในตัวแล้วมันก็เหมือนกับตาเรามันลืมขึ้น มันก็ต้องมองเห็นอะไรอยู่ข้างหน้า เมื่อจิตมันสงบแล้ว มันมีความสว่างในตัวเองแล้ว มันรู้มันเห็นของมันแล้ว จะไปทำยังไง จะไม่ให้มันเห็นอะไรเลย จะไปเอาอะไรในความสงบนั้นในธรรมะ ในจิตนั้น จิตมันจะเกิดธรรมะอะไรขึ้นมา เราจะไปเอาอะไร ถ้าไม่เอาอย่างนี้ถ้าไม่มีอย่างนี้



    ถ้ามันเห็นอย่างนั้น ความสังเวชในตัวเอง และความเกรงกลัวบาปหิริมันก็ต้องเกิด มันก็ละอายต่อบาป โอตตัปปะมันก็ต้องเกิด มันทั้งละอายและมันทั้งกลัว กลัวอะไร กลัวว่าตัวเองจะไปเป็นอย่างนั้น เพราะได้เห็นเขาเป็นตัวอย่างแล้วเมื่อเขาได้เสวยนั้น เขามาบอกเราในทางจิต เมื่อจิตของเราไม่รับรองตัวเอง และก็ไม่รับทราบตัวเอง ก็จะไปให้เทวดาที่ไหนให้อินทร์ ให้พรหม ยม ยักษ์ที่ไหน จะมารับก็ตัวเองเห็น ตัวเองรู้ตังเองไม่รับรองตัวเอง และก็ไม่เชื่อตัวเองและแล้วจะไปเชื่อ และจะให้ใครมาเชื่อ ก็ต่อเมื่อมันรู้เอง เห็นเอง มันก็ต้องเชื่อตัวเองสิ ถึงได้เรียกว่าสันทิฏฐิโก



    สันทิฏฐิโก ก็หมายถึงว่า ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ย่อมรู้เอง เห็นเอง ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมรู้กับคนอื่นเห็นกับคนอื่น มันแปลไปอย่างนั้นหรือ รู้เพราะการที่ได้ฟังคนอื่น เห็นเพราะบุคคลอื่นเอามาให้ดู มันแปลอย่างนั้นหรือ ที่ว่าสันทิฏฐิโก มันไม่ได้แปลอย่างนั้นนะ แปลว่าผู้ปฏิบัติดีแล้วย่อมรู้เองและเห็นเอง ก็ต่อเมื่อมันรู้เอง เห็นเอง ยังไม่รับรองตัวเอง ยังไม่รับรองความเห็นของตัวเอง ก็ไม่รู้ว่าจะไปรับรองที่ไหน และจะให้ใครเขามารับรอง จะให้หมอเขามาดูให้ พอหมอเขารับรองแล้วตัวเองก็เลยดีใจเข้าใจว่าตัวเองได้นั่นหรือ จะเอาลักษณะนั้นหรือ เป็นการปฏิบัติธรรม มันก็ไม่ถูกกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า หลักคำสอนพระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่าให้เป็นผู้รู้เอง เห็นเอง และก็ปัจจัตตัง ก็เฉพาะตน ท่านก็บอกตรงไว้แล้ว ก็เฉพาะตนน่ะคนอื่นจะไปเห็นจะไปร่วมด้วย มันก็เป็นของที่เป็นไปได้ยาก มันเห็นเฉพาะตน และมันก็ได้เฉพาะตน


    นี้ถ้าผลของมันเกิดขึ้นและมันเกิดขึ้นในความสงบ ถ้าเราไม่ต้องการความสงบ เราก็ยืดเยื้อไปซิ ไปปีไหนล่ะ ไปเดือนไหนล่ะ ไป พ.ศ. ไหนล่ะ หมด พ.ศ.นี้ ขึ้น พ.ศ. ใหม่มันก็อายุมันก็หมดไปด้วยก็ต่อเมื่อมันตายมันก็เลยไม่รู้ว่า สันทิฏฐิโกเป็นยังไง เลยไม่รู้เรื่อง รู้ได้แต่เมื่อเวลาเราแปล แปลน่ะได้ กับว่าเราเอามาสวดนะได้ ไอ้เรื่องสวดน่ะมันง่าย เรื่องแปลมันก็ง่ายแต่เรื่องที่ได้เวลาไหน เราจะคอยเวลาไหน จะเอาเวลาไหน ชาวพุทธทั้งหลายจะปล่อยให้ชีวิตมันล่วงเลยไปโดยตามกาลเวลา แล้วอายุของเรามันก็หมดไปด้วย จะเอาแบบนี้หรือ แล้วส่วนที่ดีล่ะ ก็จะไม่ให้มันมีบ้างหรือตัวเราก็เป็นคนๆ หนึ่งเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์


    คำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องศีล สมาธิ พระองค์ก็ไม่ได้เอาไปด้วย พระอริยสงฆ์สาวกท่านก็ไม่ได้เอาไปด้วย ท่านเอาไว้ให้พวกเรา ท่านไม่ได้เอาหนีนะ สิ่งเหล่านี้อยู่กับเราทั้งสิ้น สันทิฏฐิโก คุณค่าของศีล สมาธิปัญญา มันอยู่กับเรา ก่อนที่จะรู้ว่าอยู่กับเราน่ะ ควรจะทำอย่างไร ก็มุ่งประเด็นสิ ประเด็นเดียว อย่าไปอะไรมันมาก คือความสงบ พุทโธเข้าไปยังพุทโธให้เกิดเท่านั้น พระพุทธเจ้าให้เกิดเท่านั้น จะฟังอะไรก็ฟังไปเถอะฟังเทศน์น่ะจะฟังไปซักกี่ปีกี่ชาติก็ฟังไปเถอะ มันก็ได้แค่ฟัง ถ้ามันมีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิในจิตของตัวเองแล้ว เราจึงจะรู้คุณค่าของการปฏิบัติธรรม และจะรู้ธรรมะคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประโยชน์กับเรา และเราก็เป็นประโยชน์กับคำสอนของพระพุทธเจ้า


    โดยลักษณะอย่างนี้ๆ เราก็จะได้เข้าใจสิ ถ้าเราทำความเข้าใจอย่างนี้ การปฏิบัติของเรามันง่าย เพราะมันไม่ได้มีอะไรมาก มีแต่หัวใจดวงเดียวเท่านั้น แล้วเราศึกษาหัวใจตัวเอง ศึกษาวิญญาณของตัวเองให้มากว่ามันออกจากนี้แล้วมันจะไปไหน และมันมาจากไหน แล้วมานี่ และมันมีอะไรที่จะไปข้างหน้า เดี๋ยวนี้มันมีอะไรให้ศึกษาอยู่ และก็เทียบเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็เทียบเอง แต่ให้มันสงบก่อน


    ถ้ามันสงบแล้วจะเทียบอะไรมันก็เทียบได้ จะวางอะไรมันก็วางได้ ถ้าจิตมันเข้าไปสู่ฐานที่ตั้งของความสงบแล้ว กิเลส คือเจ้าโลโภก็ดี เจ้าโทโสก็ดี เจ้าโมโหก็ดี กำลังวังชาของมันลด มันลดเองโดยไม่มีใครบอก ก็เมื่อคุณธรรมมันเข้าไปตั้งแล้ว เมื่อจิตมันตั้ง มันมั่นแล้ว มันจะหลงไปกับพวกโลภอยู่หรือ มันจะหลงไปกับพวกโกรธ พวกโมโหอยู่หรือ มันจะหลงไปกับพวกอารมณ์ต่างๆ มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วมันไม่ได้หลงอยู่กับพวกนี้ เมื่อมันไม่หลง และมันไม่ได้ตาม พวกนี้มันก็ลดกำลังมันลงสิ ความโลภมันก็ลดลงมา แต่มันยังไม่ละหรอก อย่าเข้าใจว่ามันละได้ง่าย ๆ ความโกรธมันก็ลดลง ความหลงมันก็ลดลง มันรู้ทันมันก็รู้ในตัวของมัน เมื่อมันรู้อย่างนี้แล้วมันก็ลดกำลังของมันลง กำลังมันลดลง ธรรมะมันก็หนาแน่นขึ้นความสงบนั้นมันก็มีฐานที่ตั้งมั่นคงขึ้น พวกนั้นมันก็ถอนกำลังออก มันก็ลดกำลังลง มันเป็นการละไปในตัวของมันเองไม่ต้องไปบอกว่าให้ละอย่างนั้น ละอย่างนี้ ไปบอกเถอะ บอกมันก็ไม่ละดอก มันไม่มีทางละ แล้วก็ยังไม่แล้วนะ ตระหนี่ มัจฉริยะล่ะ มันเหนียวเท่าไหร่ มันยึดมั่นถือมั่น มันไม่มีอะไรที่จะไปละได้ ถ้าจิตใจของเรามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิเท่านั้น มันมีส่วนลดแม้กระทั่งถึงเวรกรรมเล็กๆน้อยๆ นี้มันก็จะต้องเป็นอโหสิกรรม ก็เพราะจิตมันเป็นธรรมแล้วมันจะมาเสนอสนองและใช้กรรม ที่มันจะมาอาฆาตผูกอาฆาต ที่จะทำให้เราผู้เป็นเจ้าของน่ะมันเป็นทุกข์ ก็คุณธรรมเหนือมันแล้ว แล้วกรรมจะเข้ามาได้อย่างไรกรรมเล็กๆ น้อยๆ มันก็อภัย มันเป็นอโหสิกรรมไป เพราะมันได้รับส่วนกุศลจากจิตที่อันมันเป็นคุณธรรมนั้น มันเหนือมันแล้ว และมันก็เลยได้รับความสุข จากจิตอันที่เราเป็นธรรมนั้น ที่ธรรมมันเกิดขึ้น มันก็ไม่ได้ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเสียเคราะห์สะเดาะลาง ไปให้หมอดูหมอเดาเขาโกหกอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่โกหกมันก็พูดไปตามหลักของมัน มันก็มีหลักเกณฑ์ของเขา เขาก็พูดไปตามหลักเกณฑ์ แต่เมื่อจิตของเรามันเหนือไปแล้วไม่จำเป็นนะ เดี๋ยวไปสังฆทานให้คนนั้น เดี๋ยวสังฆทานแก้เคล็ดอันนั้นสังฆทานให้เจ้ากรรมนายเวรบ้างอะไรบ้าง ก็เพราะอะไรก็เพราะจิตของเรามันต่ำกว่าเขา ธรรมะเรามันไม่เหนือเขา ตกลงก็เลยเป็นทาสของเขาอีกแล้วนั้นล่ะมันต้องใช้อย่างนั้น มันต้องให้ผลอย่างงั้น


    ถ้าจิตเรามีคุณธรรม เรายึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก และฐานที่ตั้งก็คือความสงบได้แก่ความมั่นคง คือความเป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วมันไม่ได้บอกยากหรอก ไม่ได้ว่าพุทโธอะไรยากหรอก เพราะมันมีในตัวเราแล้ว เพราะจิตมันไม่ได้ขยับเขยื้อน เคลื่อนไปไหนแล้ว แล้วมันรู้หลักและรู้ที่อยู่ของตัวเองแล้ว มันจะไปไหนล่ะ มันมีแต่ความสุข ปิติ เอกัคตามันก็มีทั้งปีติ มันก็มีทั้งสุข ถ้ามันสุขแล้ว ไม่พอใจกับความสุขหรือ หรือว่ามันเสียหาย


    บางคนก็หาว่ามันไปติดสุข คล้ายๆ กับว่าสุขนี่มันเป็นของที่ชั่วร้ายคล้ายๆ กับว่าสุขนี่มันเป็นของให้โทษ ก็เลยเข้าใจไปอย่างนั้น ตกลงเลยไม่มีใครได้อะไรเลย พอมีความสุขน้อยหนึ่งหาว่าไปติดสุข พอมีความสงบไปอีกน้อยหนึ่ง ก็หาว่าติดสงบ เอาไปเอามาคนนั้นมันก็เลยเลิกทำและก็ไม่ทำต่อ ก็เลยไม่มีใครได้อะไรเลย ก็ได้แต่ธรรมดาๆ อยู่เสมอกันเออ ! อันนั้นมันยอมรับกัน ถ้ามันจะมีความสงบแล้ว ถ้ามันติดสงบ หรือว่าไปโทษว่ามันติดสงบ เหมือนกับความสงบมันเป็นของเลวร้าย หรือว่าเป็นของที่หาง่าย สุขก็เหมือนกับว่ามันเป็นของที่หาง่าย มันไม่ใช่เป็นของง่ายนะก่อนที่จะทำความสงบในตัวเองได้ มันไม่ใช่เป็นของง่าย และก่อนมันจะสุขในตัวเองได้มันก็ไม่ใช่เป็นของง่าย ก็ขอให้มันติดเถอะ กลัวอย่างเดียวคือมันไม่ติด มันไม่มีให้ติด ถ้ามันติดให้มันติดเถอะ ติดให้มากๆ แล้วมันจะเป็นอะไรในข้างหน้าจึงค่อยว่ากันทีหลังนั้นดีกว่า ดีกว่าว่าเรากลัวว่าจะไปติด ให้มันติดไปเถอะ มันจะติดไปแค่ไหน ก็ให้มันติดไป แล้วมันจะมีโทษยังไงในข้างหน้า เราจึงค่อยว่ากันทีหลัง และค่อยแก้กันทีหลัง


    เห็นแต่มันพอใจนี่ ไม่มีอะไรได้แก้ทั้งนั้นล่ะ มีแต่ความพอใจ ใครได้ก็เห็นแต่พอใจแหละมีความสุข ความสบายไม่เดือดร้อน ไม่ปวดประสาทอะไรเลย สมองมันโล่งโปร่งไปหมด ถ้ามันได้มันไม่มีความเสียหาย มันผิดปกติอยู่อย่างหนึ่ง คือ มันไม่อยากพูด และมันไม่อยากสังคม การพูดการจาสังคมกับคน มันไม่ค่อยจะสนอะไรเท่าไหร่ เพราะมันรักษาจิตมันกลัวจิตว่ามันจะเฟ้อ กลัวจิตมันจะฟุ้งซ่าน มันต้องรักษาเสียก่อนครั้งแรกก็จะผิดปกติตรงนี้ คนจะกล่าวโทษว่าเป็นบ้า เป็นเพราะว่ามันไม่เหมือนเขามันมีความสำรวม ถ้านานๆ เข้า พอเขารู้เท่านั้นน่ะ เขาก็พลอยยินดีตามหลัง โดยมากมันเป็นลักษณะนั้น ได้ความสงบครั้งแรกเขาจะต้องกล่าวตู่เสียก่อน แต่อย่าหวั่นไหวกับคำที่เขาพูด ทำไปก่อน


    แล้วอย่าไปกลัวว่ามันเป็นบ้า ถ้าเรารู้อยู่มันไม่เป็นหรอก ถ้าเราไม่กลัวไม่เป็นนะ แต่กลัวไม่รับรองนะ ถ้ากลัวว่านิมิตอะไรต่างๆ มันมาอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้มันชักจะประสาทมันจะเสีย ถ้าเราไม่กลัวเท่านั้น ตายในพระพุทธ ตายในพระธรรม ตายในพระสงฆ์ คือว่าทิ้งตายลงไปคำเดียวเท่านั้นไม่มีอะไรกลัว คำว่าบ้าไม่มี ถ้าเรากลัว พอมันไปเห็นอะไรก็คล้าย ๆกับว่ามันจะมาหลอกเราอยู่เสมอ นี้มันกลัวอย่างนั้น มันมาแล้วอย่างนี้ลักษณะนี้เขาเรียกว่าบ้าภาวนา ถ้าเราไม่กลัวเราจะไม่สงสัย แล้วมันกินได้กินไปเลย ยกให้มันเลย ตายเลย หายเหมือนปลิดทิ้ง ไม่มีอะไรเลย นี่วิธีการแก้ ภาวนาบ้า มันไม่มีหรอก ถ้าเขาไม่กลัวละไม่มี ถ้าเรากลัวไม่รับรองเท่านั้น


    เพราะฉะนั้นความสงบนั้นเป็นเส้นทางของพระอริยเจ้า ผู้ที่จะได้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน ที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มันก็ต้องอาศัยความสงบและก็จะต้องเป็นไปด้วยความสงบ และดำเนินไปตามหนทางแห่งความสงบ มีความสงบเท่านั้นเป็นทางของพระอริยเจ้า แต่เรามีความสงบอย่าคิดว่าเราจะสำเร็จ อย่าเอาความสำเร็จมาให้ตัวได้โดยง่าย มันจะรู้ของมันเองจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันรู้ของมันเองหรอก มันไม่ได้พูดตามความสำเร็จเรื่องสำเร็จมันไม่ได้พูด เพราะมันรู้ของตัวมันอยู่แล้ว กิเลสมันเห็นกันแล้วมันรู้กันแล้ว ว่าตัวเองมีกิเลสน้อย มากยังไง มันรู้แล้ว เพราะตัวเองมันยังไม่หมด มันไม่ได้กล้าพูดหรอก มันรู้ดียิ่งกว่าที่เรายังไม่ได้ทำเลย


    ต่อเมื่อจิตมันเป็นไปแล้ว โทษของศีลห้า นี่รู้ทันที รู้จักรักษาศีลห้าตรงเปรี๊ยะ พอผิดศีลเท่านั้นมันให้โทษ และมันก็รู้อีก รู้โทษของศีลที่เราทำผิดไป จะเป็นศีลอะไรก็ตาม ถ้ามันเห็นในตัวเองแล้ว ถ้ามันมีความสงบแล้วรู้ง่าย ศีลห้ามันก็บริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าเราจะมารับศีลแล้วจะถือว่าเราเป็นผู้มีศีล และศีลนั้นจะเป็นผู้บริสุทธิ์โดยการรับ นี่มันเป็นไปได้ยากนะแต่มันเป็นประเพณีที่เราควรรักษาเท่านั้น ถ้าจะเอาความบริสุทธิ์จริง ๆ แล้วรับก็ตามไม่รับก็ตาม ถ้ามันมีความสงบรู้ในตัวเองแล้ว ศีลนั้นย่อมมารักษาไม่ใช่ว่าเราไปรักษาศีล ครั้งแรกเรารักษาศีลต่อเมื่อเราทำศีลให้มีคุณค่ากลับมารักษาเราห้ามไม่ให้เราไปตกอบายภูมิ นั้นจึงเรียกว่าเป็นศีลแท้


    เพราะฉะนั้นเรานักปฏิบัติทั้งหลาย ขอเรามีความมั่นใจกันในเรื่องของความสงบเป็นฐานที่ตั้งและเป็นที่อยู่ ของพวกเรานักปฏิบัติทั้งหลาย และก็ไม่เลือกว่า ฆราวาส หรือบรรพชิตจะเอาแต่เฉพาะบรรพชิต นักบวชฆราวาสเป็นไปไม่ได้ ก็ใช้ไม่ได้ แต่โดยมากฆราวาสนั้นมันสงบไว พอนำพาเท่านั้น พาทำเท่านั้น นั่งสักครั้งสองครั้งมันสงบไว เพราะอะไร มันทุกข์เขาทุกข์มาก เรียกว่าเรื่องอะไรต่าง ๆ ซึ่งมันประดังมา มันบีบหัวใจเขามันไม่มีทางจะไปแล้ว ถ้าไม่มีทางจะไป พอมันไปถูกจังหวะกับเราอยู่เท่านั้นเราพยายามประคองเท่านั้น คือเราดักหน้าดักหลังความคิดของเขาในขณะเขานั่ง มันสงบไม่รู้ตัวเหมือนกันหายไปเลยละทุกข์


    เราจะต้องแก้เขาง่าย ๆ นะ เอาคนต้องเอาให้ทัน ถ้าเอาไม่ทันนะมันก็ยากเหมือนกันนะ มันจะไม่เชื่อ คนที่มันทิฏฐิแรงมันไม่เชื่อ ถ้าเราเอาเอาแบบนั้น เราทรมานแบบนั้น ถ้าธรรมดาก็ปล่อยกันไปเรื่องของเขา ถ้ามันหนักมากจริงๆ เอามันซะก่อน พอให้มันได้รู้รสของพระศาสนาแล้วจากนั้นมันยอมเชื่อ จิตมันก็ดำเนินไปเลย มันก็ได้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง นี่ฆราวาสเขาก็ได้นะแต่ทางพระสงฆ์ของเรานั้น เพราะถือว่าเป็นนักบวช เราก็บวชเป็นพระแล้ว จะได้ไม่ได้ก็อยู่ของเราไปเรื่อย ๆ แต่จะเอาความสงบจริง ๆ มันก็ยังไม่เพียบพร้อมเท่าไหร่ เพราะมันเป็นห่วง ห่วงกับชีวิตของตัวเองที่มันจะเป็นไปข้างหน้า แต่ส่วนฆราวาสเขาผ่านมาหมดแล้ว เขารู้หมดแล้ว อะไร ๆ ดีชั่วเขารู้หมดแล้ว มันมีแต่ตัวทุกข์บีบบังคับหัวใจเขา เขาจะหาหนทางที่จะแก้ทุกข์เขาเท่านั้นล่ะ แก้หัวใจของเขาเท่านั้น ผลักมันเข้าไปหาความสงบเท่านั้น พอได้รับความสงบเท่านั้น หายหมด ก็งานมันก็ทำได้เพราะใจมันสงบแล้ว แล้วมันก็รักษาจิตของมันไปตามหน้าที่ของมันเท่าที่จะต้องรักษาได้ แต่จิตนี้ถ้ามันสงบครั้งหนึ่งเท่านั้นครั้งสองมันก็ง่าย สามมันก็ง่าย ต่อไปก็ชำนาญ เอาความสงบก่อนสิไอ้ความสำเร็จเอาไว้นั่นก่อน มันจะไปแค่ไหนก็ค่อยว่ากันทีหลัง พอเขาได้สบาย รู้จักศีล รู้จักธรรม รู้จักบาปบุญคุณโทษ มันใช้ได้แล้ว ถ้าเขามีเวลาโอกาสออกบำเพ็ญภาวนา เขาก็ไปได้ไกล แต่มันไม่มีโอกาสให้เขาเขาก็ได้รักษาจิตแค่นั้น เท่านั้นก็ยังเป็นประโยชน์กับเขา และต่อไปเมื่อเขาอายุอานามมันมากแล้ว เขาออกไปปฏิบัติมันก็ง่าย เพราะไม่ต้องไปขอใครไม่ต้องไปอะไรกับใคร จะทำยังไงเอาอารมณ์อะไรไม่ได้เกี่ยวหรอก จิตมันเป็นอยู่แล้วนี้มันไปทำนองนั้น ในเรื่องของฆราวาสเขาก็อยู่ฆราวาสนั่นแหละแต่มันก็ทำได้


    อันนี้เหมือนท่านพ่อนำตั้งแต่สมัยก่อน ลูกศิษย์ลูกหาท่านมาฟังดูซิเขาก็พูดของเขาในเรื่องจิต เรื่องนิมิตอะไรต่าง ๆ สมัยก่อนมันเป็นอย่างนั้น สมัยนี้ไม่มี มีแต่เอาเรื่องคนอื่นมาพูด เรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างนั้นอย่างนี้ คนนั้นเป็นนั่นมันไปทำนองนั้น ไม่เอาเรื่องภาวนาพูด ไม่ได้พูดเรื่องจิตกันเลย ตกลงก็เราไม่รู้ว่า สำนักปฏิบัติอย่างไรก็ไม่รู้ เลยไม่มีผลและไม่มีคุณอะไรเลยในทางจิต แต่ภายนอกนี้มันมีอยู่ การปฏิบัติการทำนี่มันดีอยู่ แต่การภายในนั้นเราท่านทั้งหลาย ควรจะสำเหนียกและควรจะสงวนรื้อฟื้นอะไรสักอย่างขึ้นมาบ้างในเส้นทางแห่งความสงบ แล้วจะเป็นประโยชน์แก่สำนักของเรา และเราก็จะได้พลอยที่จะเป็นการที่อำนวย สามารถที่จะจูงสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆขึ้นมา เขาก็จะได้ความสุข และเขาก็จะได้มีศีล เห็นคุณค่าของศีลธรรมคุณค่าของพระศาสนา


    เราจะไปหวังแต่ทานอย่างเดียว ทานน่ะ มันง่ายหวังแต่สมาทานศีลอย่างเดียวมันก็ง่าย แต่ว่าคุณของทาน ผลของการให้ทาน และผลของการสมาทานศีล และรักษาศีลล่ะมันมันเป็นยังไง อันนี้ควรที่จะให้เขารับทราบด้วยตนเองของเขาบ้าง แล้วมันก็จึงจะพูดกันง่ายในทางการปฏิบัติ และทางบุญทางกุศล ถ้ามิฉะนั้นมันก็เลยจะจางไป ๆ หมดไป ๆ หมดรุ่นไปก็รุ่นใหม่มา ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เอาไปเอามา ก็เลยหมดไปแล้ว ใครจะเอาอะไรมาทำกัน หลงกันไปอีกแล้ว งมงายกันไปอันนี้ละมันจะเสียสำนัก แล้วก็เสียผลประโยชน์ของเรานักปฏิบัติ


    วันนี้ก็ได้ถือโอกาสมาแสดงให้ฟัง ก็เพราะด้วยความบังเอิญ ก็ได้เดินทางมาก็ถือโอกาสมาพักอยู่นี่คืนหนึ่ง ก็พอดีตรงกับวันพระ ถึงอย่างไรก็ตาม วัดอโศการามนี่ ก็เคยมาอยู่แล้วละ จะมาเวลาไหนมันก็มาได้ จะมาเทศน์เวลาไหนมันก็ได้ เพราะเรามันเป็นกันเองอยู่แล้ว รู้กันอยู่แล้วว่าใคร จังหวะท่าทียังไง มันเข้าใจกันอยู่แล้วมันไม่มีพิษมีภัย และมันไม่ได้โทษซึ่งกันและกัน ทำอะไรมันก็สะดวกกันทั้งนั้น แต่ว่ามันมายาก ทุกวันนี้ก่อนที่จะมาได้ อันนี้มันมาทางไกล เข้าในกรุงเทพฯ กว่าจะมาถึงก็ ๓ – ๔ ชั่วโมง เลยเบื่อมา เรื่องมันเป็นอย่างนั้น


    แต่นี่ก็เลยถือโอกาสมา แล้วก็ได้มามีโอกาสที่จะชี้แจงแสดงธรรมให้แก่สำนักของพวกเราซึ่งเคยปฏิบัติและมีชื่อเสียงมา เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติของพวกเรา แล้วก็จะได้เป็นประโยชน์ต่อไปในข้างหน้า ถ้าหากว่ามีโอกาสในข้างหน้า ก็ต้องมา ก็มาอยู่เรื่อยๆ แล้วแต่โอกาส ถ้ามาและถ้ามีโอกาสก็ขึ้นให้ ถ้าไม่มีโอกาสก็แล้วไป เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่ได้อยู่เฉย ๆ มีแต่ไปเทศน์โน่น เทศน์นี่ตลอด เทศน์ทางไกลทั้งนั้น แต่ทางใกล้ก็ไม่ค่อยได้เทศน์ เทศน์ก็ไม่ได้เทศน์ทางอื่น เทศน์แต่เรื่องความสงบทางจิตใจ จะไปเอาอันโน้นมา อันนี้มา มันไม่มีแล้ว มันเทศน์ไม่ค่อยได้ดอกเทศน์ทางอื่น แต่เทศน์ทางจิตทางใจ ทางภาวนาน่ะได้หมด มันคล่อง มันสะดวก ถ้าเรื่องภาวนามันเป็นอย่างนั้น


    เพราะฉะนั้น การที่ได้มาชี้แจงแสดงธรรมะให้แก่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มีทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ที่ชี้แจงแสดงไปพอให้เป็นข้อคติสำหรับเตือนใจที่จะนำเอาไปเป็นข้อคิดพิจารณา เมื่อพิจารณาได้เห็นความจริงแจ้งโดยประการใดแล้ว ก็ขอให้บรรดาท่านทั้งหลายจงตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เมื่อประพฤติปฏิบัติ ดัด กาย วาจา จิต ของตัวเองให้เป็นไป ก็ให้ได้ดังความประสงค์ของท่าน ทุก ๆ ท่าน ดังที่ได้แสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้...


    คัดลอกจาก ชมรมพระพุทธศาสนา เอไอเอ
    http://www.aia.or.th/luangpor_boonpeng_92.htm

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 กรกฎาคม 2012

แชร์หน้านี้

Loading...