ครู .... หลวงพ่อชา สุภัทโธ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย paang, 20 มกราคม 2007.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    [​IMG]


    กิตติศัพท์ของพระธุดงค์กรรมฐานในดงป่าพงเริ่ม ถูกกล่าวขวัญ ในหมู่ชนทั่วไป ทำให้มี ผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อมากขึ้นตามลำดับ

    หลวงพ่อได้ถือหลักการ "สอนคน ด้วยการทำให้ดู... ทำเหมือนพูด... พูดเหมือนทำ" ท่านจะเป็นผู้นำในการประพฤติข้อวัตรต่างๆ เพื่อให้ศิษย์ได้เห็นเป็นแบบอย่าง

    ข้อวัตรปฏิบัติของวัดหนองป่าพงยุคนั้น เริ่มต้นวันใหม่เวลาสามนาฬิกา ระฆังจะถูกตีดังก้องกังวาน ปลุกพระและสามเณรให้รีบลุก แล้วนำบริขารมาไว้ที่ศาลา พร้อมกับไปรับเอาบาตร และกาน้ำของครูบาอาจารย์มาจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย

    เมื่อทุกคนเข้าสู่ศาลา มักพบหลวงพ่อนั่งสมาธิอยู่ก่อนเสมอ ช่วงเช้ามืดพระเณรส่วนใหญ่ จะถูกความง่วงครอบงำ แต่หลวงพ่อจะนั่งตัวตรงสงบนิ่ง ไม่เคยโยกเยกให้ศิษย์ได้เห็น เมื่อรู้ว่า ใครนั่งสัปหงกท่านจะเตือนด้วยเสียงอันดังๆ แล้วบอกอุบายแก้ไขให้

    กิจวัตรต่างๆ เช่น ตีสามทำวัตรเช้า บ่ายสามโมงทำความสะอาดสถานที่ หกโมงเย็นทำ วัตรเย็น ฟังหลวงพ่ออ่านหนังสือบุพสิกขาฯ อบรมเรื่องพระวินัย และการประพฤติปฏิบัติ วันพระ งดนอน นั่งสมาธิเดินจงกรมตลอดทั้งคืน กิจวัตรเหล่านี้ หากใครขาดถึงสามครั้ง จะถูกลงโทษด้วย วิธีต่างๆ เช่น ให้กราบสงฆ์ในที่ประชุมทุกรูป เพื่อสารภาพผิด...

    หลวงพ่อเข้มงวดต่อตนเองและศิษย์มาก ท่านนำพระเณรปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้หลีกเลี่ยง การคลุกคลี มีธุระจำเป็นจริงๆ จึงพูดกัน ขณะพูดต้องมีสติใช้เสียงเบาที่สุด เมื่อเข้าใจกันแล้ว หยุดเงียบ การทำกิจวัตรร่วมกัน จึงมีแต่เสียงที่เกิดจากการทำงานเท่านั้น

    การทำกิจวัตรทุกอย่าง พอระฆังดังขึ้น หลวงพ่อไปถึงที่ทำกิจก่อนเสมอ ท่านทำงาน ทุกอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกศิษย์ เริ่มจากตักน้ำในบ่อขึ้นมาใช้ กวาดลานวัด ทำความสะอาด ศาลาโรงฉัน เสร็จจากกิจส่วนรวม ก็กลับไปเดินจงกรมที่กุฏิ ท่านเดินทั้งกลางวันกลางคืน จนทาง จงกรมลึกลงไปคล้ายร่องน้ำ

    เมื่อถึงวันพระ หลวงพ่อจะนั่งสมาธิตลอดคืน หากมีใครแอบหลบไปนอน รุ่งขึ้นต้องถูก อบรมไม่ยอมให้กลับกุฏิ ถึงเวลาทำกิจอย่างอื่นให้ทำต่อไปโดยไม่ต้องพักผ่อน หากวันไหนมีเสียง ตักน้ำหรือสับแก่นขนุนต้มน้ำซักผ้าผิดเวลา ตกเย็นมาหลวงพ่อจะเทศน์อบรมจนดึกดื่น บางทีถึง ตีสาม ฟังเทศน์จบทำวัตรเช้าต่อเลย
    พระเณรจึงต้องคอยสกิดเตือนกันตลอดเวลา เพราะต่างขยาดเทศน์กัณฑ์ใหญ่ ใครจะทำ อะไร มีกิจจำเป็นขนาดไหน ก่อนลงมือทำ ต้องกราบเรียนหลวงพ่อก่อน จะทำไปโดยพละการไม่ได้ หากรู้ว่าใครทำอะไรผิด ท่านไม่ยอมปล่อยให้ข้ามวันข้ามคืน ต้องเรียกตัวมาตักเตือน หรือไม่ก็ อบรมเป็นส่วนรวม ดังนั้น ทุกคนจึงต้องสำรวมระวังเพราะกลัวว่า จะต้องทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย
    แม้แต่การเดินเข้ามาในที่ประชุม การวางย่ามวางบริขาร ต้องทำให้เบาที่สุด ใครเผลอสติ ทำสียงดัง เป็นถูกดุ เพราะเสียงจะไปรบกวนคนอื่น เสียมารยาทนักปฏิบัติ

    หลวงพ่อย้ำเตือนพระเณรอยู่เสมอว่า "อย่าให้ผู้อื่นต้องคอยมาบังคับในการทำความดี"
    การประพฤติปฏิบัติในสมัยนั้น ดำเนินไปอย่างราบรื่น และอยู่ร่วมกันด้วยความเห็นอก เห็นใจ เมื่อมีสิ่งใด จะมากหรือน้อยก็แบ่งปันกันอย่างทั่วถึง หลวงพ่อให้คติเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

    "ภิกษุสามเณรเรา ถ้าใครมีความเห็นแก่ตัว คิดจะเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นละก้อ ผมว่า... เรา นี่มันโง่ มันเลวกว่าชาวบ้านเขานัก พวกโยมเขาหาเงินองมาด้วยความยากลำบาก ด้วยหยาดเหงื่อ แรงงานของเขาเอง แต่เขายังเสียสละทรัพย์ซื้ออาหาร และเครื่องใช้ไม้สอยมาถวายพระได้ พระเรา นี่ได้มาโดยไม่ต้องออกแรงอะไร เมื่อได้มาแล้วไม่อยากจะแบ่งปันพื่อน เก็บไว้ใช้ไว้กินคนเดียว ผมว่ามันน่าอายโยมเขานะ"

    ดังนั้น สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่าง เมื่อได้มาจะถูกรวมไว้ในเรือนคลังสงฆ์ โดยหลวงพ่อเป็นผู้แจกเอง และของทุกชิ้นที่รับไป จะต้องถูกใช้จนหมดสภาพจริงๆ จึงจะมาขอใหม่ได้

    ส่วนเรื่องอาหาร เมื่อบิณฑบาตกลับมา ให้นำอาหารทุกอย่างมารวมกัน แล้วปั้นข้าวเนียว เป็นก้อนขนาดพออิ่มเก็บไว้ในบาตร ที่เหลือนอกนั้นส่งไปโรงครัว เพื่อให้แม่ชีพิจารณาก่อนว่า ควรแก่พระหรือไม่ แล้วจึงจัดใส่สำรับส่งคืนถวายพระ

    การแจกอาหาร เริ่มแจกจากพระเถระลงไปตามลำดับ จนถึงสามเณรและปะขาว เหลือ นอกนั้นจึงเป็นของแม่ชี ดังนั้นอาหารบางอย่างจึงแบ่งได้ไม่ทั่วถึง มีพระพรรษาน้อยรูปหนึ่ง เวลาฉันจะนั่งอยู่ท้ายแถว ไม่ค่อยได้อาหารมากนัก วันหนึ่งกลับจากบิณฑบาต จึงใช้ข้าวเหนียวหุ้มไข่ต้มจนมิดแล้วซ่อนไว้ในบาตร

    วันนั้น ก่อนแจกอาหารพระเณรทุกรูปแปลกใจ ที่เห็นหลวงพ่อลงจากอาสนะ แล้วเดินตรวจบาตรทุกใบไปเรื่อยๆ พอมาถึงบาตรของพระรูปนั้น ท่านหยุดเพราะเห็นก้อนข้าวปริออก มีไข่ขาวๆ ซ่อนอยู่ข้างใน หลวงพ่อจึงถามขึ้น... "ก้อนข้าว ใครฟักไข่ ! ?"

    พระเณรในโรงฉันหันไปมองยังจุดเดียวกัน พระรูปนั้นนั่งตัวสั่น หน้าซีดด้วยความกลัว และละอาย นับแต่นั้นมาก็เข็ดขยาดหลาบจำไม่ทำอีก

    หลวงพ่อมีอุบายแยบคายสอนศิษย์ บางคนพูดเรียบ ๆ ให้ฟังธรรมะเข้าไม่ถึงใจ ต้องทำให้ กลัวหรือละอายเสียก่อนจึงได้ผล บางทีท่านก็เร่งเร้าให้กล้า คือกล้าแกร่งในการทำดี เพียรประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อถอดถอนกิเลสออกจากใจ บางครั้งสอนให้กลัว... คือกลัวการกระทำความชั่วที่ผิดศีล ผิดธรรม และที่เน้นมาก ซึ่งท่านกล่าวอยู่เสมอคือ "การปล่อยวาง"

    พระรูปหนึ่ง ซาบซึ้งคำสอนเรื่องปล่อยวางมาก จึงพยายามวางเฉยต่อทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ลม พัดหลังคากุฏิตกไปข้างหนึ่ง ท่านก็เฉย ฝนรั่วแดดส่องท่านก็ขยับหนี ไปทางนั้นที ทางนี้ที ท่านคิด ในใจว่า หลังคารั่วเป็นเรื่องภายนอก จะรั่วก็รั่วไป... ปล่อยวาง ไม่ใส่ใจ เรื่องของเราคือการทำจิตใจ ให้สงบและว่างเท่านั้น

    ตามปกติ หลวงพ่อจะเดินตรวจกุฏิทุกหลังเป็นประจำ เพื่อสอดส่องการกระทำของศิษย์ พระเณรมักทิ้งร่องรอยความประพฤติไว้ที่กุฏิเสมอ เช่น ดูได้จากทางจงกรม ความสะอาดของกุฏิ ทางเข้าออก การตากผ้า การรักษาบริขาร การปิดเปิดประตูหน้าต่าง และจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ

    บ่ายวันหนึ่ง หลวงพ่อเดินไปพบหลังคากุฏิตกลงมา จึงถามว่า "เอ... นี่กุฏิใคร?"
    "กุฏิผมเองครับ" พระรูปที่กำลังฝึกปล่อยวาง กราบเรียน

    "หลังคาตกลงมากองอยู่นี่ ทำไมไม่ซ่อมแซมมันล่ะ?"

    "ก็หลวงพ่อสอนให้ปล่อยวางไม่ใช่หรือครับ ผมก็เลยไม่สนใจมัน" พระรูปนั้นตอบ แล้วนึกสงสัย จึงเรียนถามท่านอีกว่า "ผมไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางถึงขนาดนี้ ยังไม่ถูกหรือครับ?"

    "การปล่อยวางไม่ใช่เป็นอย่างนี้ ที่ท่านทำอย่างนี้ เรียกว่าปล่อยทิ้ง เป็นลักษณะของคน ไม่รู้เรื่อง ฝนตกหลังคารั่ว ต้องขยับไปทางโน้น แดดออกขยับมาทางนี้ ทำไมต้องขยับหนีล่ะ ทำไม ไม่ปล่อย ไม่วางอยู่ตรงนั้น"

    ในการสอนศิษย์นั้น หลวงพ่อทุ่มเทอย่างจริงใจ ด้วยหวังให้ศิษย์เข้าถึงความเป็นสมณะ ที่แท้จริง ท่าจึงพยายามฝึกฝนพระเณรในหลายรูปแบบทั้งดุด่า ปลอบประโลม และบางครั้งก็ เคี่ยวเข็นแบบเอาเป็นเอาตาย ดังคำพูดของท่านที่ว่า "ไม่ดีก็ให้มันตาย ไม่ตายก็ให้มันดี" แต่ ท่านไม่เพียงแต่สอนด้วยวาจาเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่แนะนำพร่ำสอนออกไป หลวงพ่อจะปฏิบัติ ให้ปรากฏเป็นแบบอย่างทุกคราวไป

    สำหรับการรับกุลบุตรเข้าร่วมสำนัก หลวงพ่อได้วางระเบียบไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อทดสอบ ศรัทธาก่อน เบื้องแรกต้องบวชปะขาวถือศีลแปด เรียนรู้และฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติก่อนหนึ่งปี จากนั้นก็บวชเป็นสามเณรอีกหนึ่งปีแล้วจึงได้บวชพระ ทั้งนี้เพื่อกลั่นกรองเอาเฉพาะผู้ตั้งใจมาปฏิบัติจริงๆ สานุศิษย์ที่ผ่านการฝึกสอนจากหลวงพ่อ จึงล้วนแต่มีความมั่นคงในข้อวัตรปฏิบัติ และได้กลายเป็นขุมกำลังที่สืบสานเจตนารมณ์ของหลวงพ่อในปัจจุบัน
    <CENTER> </CENTER>
     

แชร์หน้านี้

Loading...