เนื้อความก็มีอยู่ว่า เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ ในวันนั้น องค์สมเด็จพระบรมครู ไปทรงกล่าวกับบรรดาท่านพุทธบริษัทว่า.... “ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัพเพ สัตตา มริสสันติ มรณันตัง หิ ชีวิตัง คนเราเกิดมาเท่าไร ตายหมดเท่านั้น” หมายความว่า คนทุกคน และสัตว์ทุกประเภท ที่เกิดมาแล้ว มันก็ต้องตาย และต่อมาภายหลังจากนั้นไซร้ เมื่ออายุ 80 ปี องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เสด็จดับขันธ์ คือ ตาย ในตอนนี้ไซร้ ก็ปรากฏว่า มีอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย พยายามรวบรวมคำสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เทศน์ไว้ อยากจะทราบว่า เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เคยเทศน์ไว้ว่า.... คนที่มีการคล่องใน อิทธิบาท 4 คือ.... ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ การจดจ่อ การเพียรในกิจการงานที่ทำ วิมังสา การใคร่ครวญการงานที่ทำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคล่องในอิทธิบาท 4 ในด้านของการปฏิบัติธรรม ผู้ที่คล่องจริง ๆ ในอันดับต้น ได้แก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าที่คล่องรองลงมาก็คือบรรดา พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ท่านทั้งสองประเภทนี้ คือพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี ถ้ามีอิทธิบาทไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ จะบรรลุ คือ ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ไม่ได้ แต่ว่า ทำไมองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ทรงเคยกล่าวไว้ว่า ผู้ที่เคยคล่องใน อิทธิบาท 4 ประเภทนี้ สามารถจะอธิษฐานตน ให้อยู่ได้ถึงกัปหนึ่ง หรือกัลป์หนึ่ง ก็ได้ และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับมา นิพพาน เมื่อระหว่างอายุของพระองค์ได้ 80 ปี ตอนนี้ พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็มีความสงสัย แต่ทว่าบรรดาพระอรหันต์ตั้งแต่ปฏิสัมภิทาญาณ ก็ดี ได้อภิญญาหก ก็ดี วิชชาสาม ก็ดี ท่านทั้งหลายเหล่านี้ ไม่สงสัย รู้ด้วยอำนาจของ อตีตังสญาณ แต่ทว่า สำหรับพระอรหันต์ขั้นสุกขวิปัสสโก นี้ ต้องสงสัย เพราะว่า ไม่ได้ญานวิเศษ จึงต้องค้นคว้าคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ในที่สุดก็พบว่า สมเด็จพระนราสภ คือ.... องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แทนที่จะมีอายุ 1 กัป อย่างที่กล่าวไว้ แต่ทว่าการที่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา ต้องมีอายุ 80 ปี เหตุผล ก็เป็นมาอย่างนี้ ตามที่องค์สมเด็จพระชินศรี ทรงกล่าวว่า.... อตีเต กาเล ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย.... ในอดีตกาล ตถาคตเสวยพระชาติเป็นหน่อพระบรมโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมีเพื่อจะได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถอยหลังจากชาตินี้กลับไปหลายพันชาติ เวลานั้นสมเด็จพระบรมโลกนาถ ทรงบำเพ็ญบารมี ใกล้จะถึง ปรมัตถบารมี พระวรกายของพระองค์นี้ มีส่วนพิเศษอยู่จุดหนึ่ง คือ.... เท้าทั้งสอง ในอุ้งระหว่างกลางเท้าทั้งสองนี่ มีรูปกงจักรอยู่ด้วย เป็นสีแดง ในเวลานั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดเป็นลูกคนจน ทำมาหากินอยู่ในป่า ต่อมาท่านบิดาก็ตาย เหลือแต่มารดาผู้เดียว ท่านก็ปฏิบัติตน เป็นคนประกอบไปด้วย ความกตัญญูรู้คุณ หาเช้ากินค่ำ หรือหาค่ำกินเช้า นำเอาอาหารมาเลี้ยงมารดาเป็นที่รัก คือว่าท่านเป็นคนป่า ก็ตัดฟืนขาย เข้าป่าก็แต่เช้า กลับมาจนบ่าย จนเย็น อาบน้ำ อาบท่า กินน้ำ บริโภคอาหาร เสร็จแล้ว ก็นำฟืนเอาไปขาย ได้เงินมาเท่าไร ก็มามอบให้แก่มารดา มารดาก็จัดเงินทั้งหลายเหล่านี้ จัดอาหารมาเลี้ยงดูกัน เป็นอันว่า รายได้ขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา เวลานั้น ก็เต็มไปด้วยการฝืดเคืองมาก ในคราวนั้น พระราชามีความลำบาก ด้วยยักษ์ตนหนึ่ง ที่เขาเรียกว่า “รากษส” นี่มีสภาพเหมือนยักษ์ แต่เป็นยักษ์ที่อยู่ในโพรง และอุโมงค์ใต้ดิน น่ากลัวจะเป็นยักษ์ปลาไหล เพราะอยู่ในโพรง และใต้ดินมันมีบ่ออยู่ แต่ทว่าทางขึ้น ก็ทำเป็นปล่องขึ้น การขุดอุโมงค์อยู่ใต้ดิน เจ้า รากษส ตัวนี้ ปรากฏว่า ถึงเวลาฤดูหนึ่ง ถ้าเปรียบเทียบกับเวลา ตรุษสงกรานต์ เป็นงานเกี่ยวกับนักขัตฤกษ์ประจำปี เจ้า รากษส ตัวนี้ ก็ขึ้นมาจับคนเอาไปกินเป็นอาหาร ทำอย่างนี้ เป็นเวลา 2 – 3 ปี ในแดนไกล ต่อมา พระราชาทรงทราบจากบรรดาประชาชนทั้งหลาย ว่า.... เจ้า รากษส ขึ้นมาอาละวาด เจ้า รากษส ตัวนี้ขึ้นมาเป็นเวลากาล ถ้าถึงฤดูนั้น ถึงเดือนนั้น วันนั้น มันก็ขึ้นมาจับคนกินเป็นอาหาร เพื่อเป็นเสบียงกรัง ทำอย่างนี้ เป็นเวลา 2 – 3 ปี จนเป็นที่แน่ใจของประชาชนทั้งหลายว่า วันนี้แหละเจ้า รากษส จะขึ้นมาจับคนไปกิน จึงไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชา ก็ให้ป่าวประกาศหาคนดีมีฝีมือ ให้ไปสู้กับ เจ้า รากษส ไปดักอยู่ปากปล่องของ รากษส ที่จะขึ้นมา ถ้า รากษส ขึ้นมา ก็จะฆ่า รากษส ให้ตาย แต่ว่าบรรดาผู้ฟังทั้งหลาย รากษส มีสภาพเป็นยักษ์ มีความดุร้าย มีกำลังมาก แทนที่คนทั้งหลายที่รับอาสาพระราชา จะไปฆ่า รากษส ก็กลายเป็นอาหารของ รากษส อย่างดี คือ รากษส ไม่ต้องไปหากินไกล จับคนทั้งหลายที่จะไปฆ่าเขา นำกลับไปกินเป็นอาหาร ต่อมาพระราชา เห็นว่า คนทั้งหลายไม่สามารถสู้ รากษส ได้ การประกาศให้บรรดาคนที่มีฝีมือทั้งหลาย ภายในขอบเขตของพระราชฐาน หรือใกล้พระราชฐาน ก็ไม่มีใครรับอาสาไปปราบ รากษส พระราชาได้ประชุมอำมาตย์ ข้าราชบริพารว่า.... เราไม่สามารถปราบ รากษส นี้ ได้เพียงใด ความเป็นพระราชาของเราก็ไม่อาจจะคงอยู่ เพราะเราไม่สามารถจะให้ความปลอดภัยกับบรรดาประชาชนได้ แล้วอาศัยที่พระราชาพระองค์นี้ ใช้ ทศพิธราชธรรม อันดี เป็นที่รักของปวงชนทั้งหลาย บรรดาอำมาตย์ ข้าราชบริพารจึงประชุมกันว่า ถ้าหากพวกเราไม่สามารถฆ่า รากษส ได้ พระราชาก็จะสละราชสมบัติ แล้วคนที่มาใหม่ จะดีเท่าองค์นี้ หรือไม่ดี ก็ยังไม่แน่นัก จึงปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรดี จะให้พระราชาครองราชย์ต่อไป ในที่ประชุม ก็กล่าวกันว่า ทางที่ดีควรประกาศให้บรรดาประชาชนทั้งหลายทั่วประเทศ ที่มีความสามารถ เข้าใจตรงกันว่า พระราชามีบุญญาธิการอย่างนี้ และมีความเดือดร้อนอย่างนี้ ราษฎรจนที่ไหน พระองค์ก็ทรงจนด้วย ราษฎรลำบากที่ไหน พระองค์ก็ทรงลำบากด้วย หาทางช่วยราษฎรให้เป็นสุข พระราชาอย่างนี้ หาได้ยาก ถ้ากระไรก็ดี ก็ควรกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ ว่า.... คนในประเทศของเรา ไม่มีเท่าที่เห็น เพราะอยู่ในแดนไกล ในขอบเขตต่าง ๆ มีมากมาย ควรจะประกาศให้บรรดาประชาชนทั้งหลายที่มีความสามารถ แต่ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระราชา ที่จะรับอาสาฆ่า รากษส ในที่สุดเขาก็กราบทูลให้พระราชาทรงทราบ แล้วก็ทำตามนั้น มอบทองคำ เท่าลูกฟัก สำหรับผู้รับอาสา ต่อมา พระราช ก็ส่งคนไปประกาศว่า ถ้าบุคคลใดสามารถจะฆ่า รากษส ให้ตายได้ ในช่วงแห่งการรับอาสาจะมอบทองคำเท่าลูกฟัก หนักเท่าตัวบุคคลผู้รับอาสา ให้เป็นทุนสำรองไว้ก่อน ทั้งนี้ ก็เผื่อว่า ไปพลาดพลั้งถูก รากษส ฆ่าตาย ทางบ้านก็จะได้ใช้ทองคำนี้ จับจ่ายใช้สอย เป็นการประทังชีวิตให้มีความสุขสบายแทนผู้ตาย ถ้าบุคคลใดฆ่า รากษส ตาย แล้วตัวเองก็ไม่ตาย ทองคำก็ได้เป็นสิทธิ์อยู่แล้ว แต่เมื่อเวลาที่กลับมาประเทศเขตพระนคร พระราชาจะให้เป็นมหาอุปราช คือไปมีตำแหน่งรองจากพระราชา วันนั้น ก็ปรากฏว่า หน่อพระบรมโพธิสัตว์ จะเข้าป่าไปหาฟืน แต่ยังไม่ทันจะเข้า เดินออกจากบ้าน ก็ได้ยินเสียงประกาศจจจากอำมาตย์ ข้าราชบริพารว่า ถ้าบุคคลผู้ใดรับอาสาฆ่า รากษส ได้ พระราชาจะประทานทองคำเท่าลูกฟัก หนักเท่าตัวคนผู้อาสา เป็นเดิมพัน แต่ถ้าฆ่า รากษส ไม่ได้ ต้องตายไป ทองคำนี้ก็จะเลี้ยงครอบครัว และถ้าฆ่าได้ ก็จะแถมรางวัลพิเศษ คือ ให้เป็นมหาอุปราช หน่อพระบรมโพธิสัตว์ จึงคิดว่า เราเป็นลูกคนเดียวของแม่คนเดียว หาเช้ากินค่ำ ทรัพย์สมบัติที่หามาได้ ก็พอกินบ้าง ไม่พอกินบ้าง มีความลำบาก ถ้าหากว่าเราจะยอมเสี่ยงชีวิตของเรา ตายแต่เพียงผู้เดียว ให้แม่ได้มีโอกาสรับทองคำเท่าลูกฟัก หนักเท่าตัวเรา แม่ก็จะกินอยู่แบบสบาย ๆ แม้กระทั่งตาย ทองคำก็ยังไม่หมด เมื่อหน่อพระบรมโพธิสัตว์ กำหนดอย่างนี้แล้ว จึงได้ขันรับอาสา แล้วก็รับทองคำมามอบให้แก่แม่ ตอนนี้ แม่คัดค้านอย่างหนัก ไม่อยากจะให้ลูกตาย ในที่สุด ก็ต้องจำยอม เพราะตกลงกับเขาแล้ว จึงได้มอบทองคำให้แม่ ตัวเองก็ไปเฝ้าพระราชาพร้อมกับอำมาตย์ เข้าไปเฝ้าแล้ว.... พระราชาถามถึงผลของความต้องการ เธอสามารถแน่ใจที่จะฆ่า รากษส ได้หรือ พระโพธิสัตว์ก็บอกว่า มั่นใจ ต่อไปพระราชา ถามว่า เจ้าต้องการทหารเท่าไร ต้องการอาวุธอะไรบ้าง จะไปฆ่า รากษส หน่อพระบรมโพธิสัตว์ ก็ตอบว่า “ไม่ต้องการอะไรอะไรทั้งหมด ต้องการฆ่า ด้วยมือเปล่า” พระราชาก็หนักใจ แต่ว่า เขาขันรับอาสาตามนั้น ก็ต้องปล่อยไป เขาก็นำไปส่งที่ปล่องของ รากษส หน่อพระบรมโพธิสัตว์ ขึ้นไปคอยอยู่ประมาณ 2 วัน พระราชาทรงให้ทหารไปเป็นเพื่อน นำอาหารไปบริโภค ไปคอยอยู่ที่ปากปล่องที่ รากษส จะขึ้น ต่อมา เมื่อถึงวันนั้น คือวันกำหนดที่ รากษส จะขึ้นมา มีเวลาเป็นประจำ ก็ขึ้นมาพอดี พอ รากษส ขึ้นมา ไม่ทันจะพ้นปล่อง หัวขึ้นมาพ้นปล่อง หน่อพระบรมโพธิสัตว์ ยกเท้าขึ้นหวังจะกระทืบ คือจะกระทืบให้ รากษส คอหักตาย รากษส แหงนหน้าขึ้นมา เห็นอุ้งเท้าของหน่อพระจอมไตรบรมโพธิสัตว์ มีกงจักร ในระหว่างท่ามกลางฝ่าเท้า ก็คิดว่า คราวนี้เราตายแน่ เราสู้ไม่ได้ เพราะคนนี้ต้องเป็นหน่อพระบรมโพธิสัตว์ เพราะกลางระหว่างเท้า มีกงจักรสีแดง จึงได้พูดว่า.... ช้าก่อน ท่านอย่าพึ่งฆ่าเรา ท่านนี่เป็นหน่อพระบรมโพธิสัตว์ จะได้ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าในอีกไม่นานนัก เพราะว่ากลางเท้าของท่านมีกงจักร หากท่านฆ่าเรา เราก็ตาย ถ้าท่านฆ่าเราไซร้ ท่านจะมีอายุสั้น ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตามธรรมดาพระพุทธเจ้า จะต้องมีอายุ สองหมื่นปีบ้าง ถึงสี่หมื่นบ้างก็มี อีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าสามารถจะอธิษฐานตนให้มีอายุถึงกัปหนึ่ง ก็ได้ หากว่า ท่านฆ่าเราตาย ในเวลานี้ เวลานี้เรามีอายุ 80 ปี ถ้าหากว่าท่านฆ่าเราตายในเวลานี้ เมื่อท่านเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ต้องมีอายุ 80 ปี เท่านั้น การประกาศพระศาสนาของท่าน จะไม่มีผลตามความประสงค์ หน่อพระบรมโพธิสัตว์ ก็กล่าวว่า.... “เจ้าเป็นสัตว์ที่มีความดุร้ายมาก ไล่พิฆาต เข่นฆ่าคนเป็นอาหาร ถึงแม้นว่าเราจะบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า มีอายุแค่ 80 ปี เราพร้อม ยอมตามนั้น” ในที่สุด หน่อพระบรมโพธิสัตว์ ก็กระทืบศรีษะยักษ์ รากษส ยักษ์ก็คอหักตาย
เคยเห็นแต่เรื่องนี้ เรื่องภิกษุมีภัณฑะมาก [๑๑๔] ข้อความเบื้องต้น พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้มีภัณฑะมาก๑- ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น นคฺคจริยา" เป็นต้น. ____________________________ ๑- สั่งสมสิ่งของ. กุฎุมพีเตรียมเครื่องใช้ก่อนบวช ได้ยินว่า กุฎุมพีชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง มีภรรยาทำกาละแล้ว จึงบวช. เขาเมื่อจะบวช ให้สร้างบริเวณเรือนไฟและห้องเก็บภัณฑะเพื่อตน บรรจุห้องเก็บภัณฑะแม้ทั้งหมดให้เต็มด้วยวัตถุทั้งหลาย มีเนยใสและน้ำมันเป็นต้นแล้ว จึงบวช. ก็แล ครั้นบวชแล้วให้เรียกพวกทาสของตน มาหุงต้มอาหารตามที่ตนชอบใจ แล้วบริโภค. ได้เป็นผู้มีภัณฑะมาก และมีบริขารมาก. ผ้านุ่งผ้าห่มในราตรีมีชุดหนึ่ง กลางวันมีอีกชุดหนึ่ง อยู่ในวิหารหลังสุดท้าย. ถูกพวกภิกษุต่อว่าแล้วนำตัวไปเฝ้าพระศาสดา วันหนึ่ง เมื่อภิกษุนั้น ตากจีวรและผ้าปูที่นอนอยู่. ภิกษุทั้งหลายเดินเที่ยวจาริกไปตามเสนาสนะ๑- เห็นแล้ว จึงถามว่า "ผู้มีอายุ จีวรและผ้าปูที่นอนเหล่านี้ของใคร?" เมื่อเขาตอบว่า "ของผมขอรับ" ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า "ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตจีวร (เพียง) ๓ ผืน, ก็ท่านบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้มีความปรารถนาน้อย๒- อย่างนี้ (ทำไม) จึงเป็นผู้มีบริขารมากอย่างนี้" ดังนี้แล้ว ได้นำภิกษุนั้นไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้เป็นผู้มีภัณฑะมากเหลือเกิน." พระศาสดาตรัสถาม (ภิกษุนั้น) ว่า "ได้ยินว่า เป็นอย่างนั้น จริงหรือ? ภิกษุ" เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า "จริง พระเจ้าข้า" จึงตรัสว่า "ภิกษุ ก็เหตุไร เธอ เมื่อเราแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยแล้ว จึงกลับเป็นผู้มีภัณฑะมากอย่างนี้เล่า?" ภิกษุนั้นโกรธแล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านั้นแล คิดว่า "บัดนี้ เราจักเที่ยวไป โดยทำนองนี้" ดังนี้แล้ว ทิ้ง (เปลื้อง) ผ้าห่ม มีจีวรตัวเดียว๓- ได้ยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัท. ____________________________ ๑- เสนาสนจาริกํ อาหิณฺฑนฺตา. ๒- มังคลัตถทีปนี ทุติยภาค หน้า ๒๗๑ แก้ศัพท์นี้ว่า ไม่มีความปรารถนา. ๓- คือ เหลือสบงตัวเดียว เพราะ ติจีวรํ ย่อมหมายถึงผ้า ๓ ผืน. พระศาสดาให้เธอกลับมีหิริและโอตตัปปะ ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงอุปถัมภ์ภิกษุรูปนั้น จึงตรัสว่า "ภิกษุ ในกาลก่อน เธอแสวงหาหิริและโอตตัปปะ แม้ในกาลเป็นรากษสน้ำ ก็แสวงหาหิริโอตตัปปะอยู่ (ถึง) ๑๒ ปี มิใช่หรือ? (แต่) บัดนี้ เธอบวชในพระพุทธศาสนาที่เคารพอย่างนี้แล้ว เปลื้องผ้าห่ม ละหิริและโอตตัปปะ ยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เพราะเหตุไร?" ภิกษุนั้นฟังพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว กลับตั้งหิริและโอตตัปปะขึ้นได้ ห่มจีวรนั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลายทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อให้ทรงประกาศเนื้อความนั้น. ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า :- บุรพกรรมของภิกษุนั้น "ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี. ในวันขนานพระนามของพระโพธิสัตว์นั้น ชนทั้งหลายขนานพระนามของพระองค์ว่า "มหิสสาสกุมาร"๑- พระกนิษฐภาดา๒- ของพระองค์ได้มีพระนามว่าจันทกุมาร. เมื่อพระชนนีของพระราชกุมารทั้งสองนั้น สิ้นพระชนม์แล้ว พระราชาก็ทรงสถาปนาสตรีอื่นไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี. พระนางแม้นั้นประสูติพระราชโอรส (พระองค์หนึ่ง). ชนทั้งหลายขนานพระนามของพระโอรสนั้นว่า "สุริยกุมาร." พระราชาทอดพระเนตรเห็นสุริยกุมารนั้นแล้ว ก็ทรงพอพระทัย ตรัส (พระราชทานพร) ว่า "เราให้พรแก่บุตรของเธอ." ฝ่ายพระเทวีนั้นแลกราบทูลว่า "หม่อมฉันจักรับเอา ในเวลาที่ต้องการ" ดังนี้แล้ว ในกาลที่พระราชโอรสเจริญวัยแล้ว จึงทูลพระราชาว่า "ขอเดชะสมมติเทพ พระองค์ได้พระราชทานพรไว้แล้ว ในเวลาบุตรของหม่อมฉันประสูติ ขอพระองค์โปรดพระราชทานราชสมบัติแก่บุตรของหม่อมฉันเถิด." ____________________________ ๑- แปลว่า กุมารผู้ซัดไปซึ่งลูกศรใหญ่ ฉบับยุโรปและสิงหลว่า มหิงฺสกกุมาโร. ๒- แปลว่า น้องชาย. พระโพธิสัตว์ต้องเดินไพร พระราชาแม้ทรงห้ามว่า "บุตรทั้งสองของเรากำลังรุ่งเรืองดุจกองไฟ เที่ยวไป, เราไม่อาจให้ราชสมบัติแก่สุริยกุมารนั้นได้ (แต่) ทรงเห็นพระนางยังขืนอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ จึงทรงดำริว่า "นางนี้จะพึงทำแม้ความฉิบหายแก่บุตรของเรา" ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งให้เรียกพระราชโอรสทั้งสองมา ตรัสว่า "พ่อทั้งสอง พ่อได้ให้พรไว้ในเวลาสุริยกุมารประสูติ, บัดนี้ มารดาของเขาทูลขอราชสมบัติ พ่อไม่อยากจะให้แก่เขาเลย. มารดาของเขาจะพึงทำแม้ความฉิบหายแก่เจ้าทั้งสอง เจ้าจงไปอยู่ในป่าแล้ว ค่อยกลับมารับราชสมบัติโดยกาลที่พ่อล่วงไป" ดังนี้แล้ว ทรงส่งไป. สุริยกุมารเล่นอยู่ที่พระลานหลวง เห็นพระราชกุมารทั้งสองนั้น ถวายบังคมพระราชบิดาแล้วลงจากปราสาท ทราบเหตุนั้นแล้ว จึงออกไปกับพระราชกุมารเหล่านั้นด้วย. พระราชกุมารทั้งสองถูกรากษสจับไว้ ในกาลที่พระราชกุมารเหล่านั้น เข้าไปสู่หิมวันตประเทศ พระโพธิสัตว์เสด็จแยกออกจากทาง นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง แล้วตรัสกะสุริยกุมารว่า "แน่ะพ่อ เจ้าจงไปสู่สระนั่น อาบน้ำและดื่มน้ำแล้ว จงเอาใบบัวนำน้ำมาเพื่อพี่ทั้งสองบ้าง." ก็สระนั้น เป็นสระที่รากษส๑- น้ำตนหนึ่งได้จากสำนักแห่งท้าวเวสวัณ. ก็ท้าวเวสวัณรับสั่งกะรากษสน้ำนั้นว่า "เว้นชนผู้รู้เทวธรรมเท่านั้น ชนเหล่าอื่นลงสู่สระนี้, เจ้าย่อมได้เพื่อเคี้ยว กินชนเหล่านั้น." ตั้งแต่นั้นมา รากษสน้ำนั้นถามเทวธรรมกะคนผู้ลงแล้วๆ สู่สระนั้น ย่อมเคี้ยวกินคนผู้ไม่รู้อยู่. ฝ่ายสุริยกุมารมิทันพิจารณาสระนั้น ลงไป และถูกรากษสนั้นถามว่า "ท่านรู้เทวธรรมหรือ?" ก็ตอบว่า "พระจันทร์และพระอาทิตย์ชื่อว่าเทวธรรม." ลำดับนั้น รากษสกล่าวกะสุริยกุมารนั้นว่า "ท่านไม่รู้เทวธรรม" แล้วก็ฉุดลงน้ำไปพักไว้ในภพของตน. ส่วนพระโพธิสัตว์เห็นสุริยกุมารนั้นช้าอยู่ จึงส่งจันทกุมารไป แม้จันทกุมารนั้นถูกรากษสนั้นถามว่า "ท่านรู้เทวธรรมหรือ?" ก็ตอบว่า "ทิศ ๔ ชื่อว่า เทวธรรม" รากษสน้ำก็ฉุดแม้จันทกุมารนั้นลงน้ำ ไปพักไว้อย่างนั้นเหมือนกัน. ____________________________ ๑- ปทานุกรม กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๔๗๐ ว่า รากษส (รากสด) ยักษ์ ผีเสื้อน้ำ เป็นชื่อพวกอสูรอย่างเลว มีนิสัยดุร้าย ชอบเที่ยวตามป่า ทำลายพิธีและกินคน. พระโพธิสัตว์แสดงเทวธรรมแก่รากษส พระโพธิสัตว์ แม้เมื่อจันทกุมารนั้นเช้าอยู่ จึงคิดว่า "อันตรายจะพึงมี" ดังนี้แล้ว จึงไปเอง เห็นรอย (เท้า) ลงแห่งกุมารแม้ทั้งสองแล้ว ก็ทราบว่า "สระนี้มีรากษสรักษา" จึงสอดพระขรรค์ไว้ ถือธนูได้ยืนแล้ว. รากษสเห็นพระโพธิสัตว์นั้นไม่ลง (สู่สระ) จึงแปลงเพศเป็นชายชาวป่า มากล่าวปราศรัยว่า "ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านเดินทางอ่อนเพลีย ทำไม จึงไม่ลงสู่สระนี้ อาบน้ำ ดื่มน้ำ เคี้ยวกินเหง้าบัว ประดับดอกไม้แล้ว จึงไปเล่า?" พระโพธิสัตว์พอเห็นบุรุษนั้นก็ทราบได้ว่า "ผู้นี้เป็นยักษ์" จึงกล่าวว่า "ท่านจับเอาน้องชายทั้งสองของข้าพเจ้าไว้หรือ?" ยักษ์. เออ ข้าพเจ้าจับไว้. โพธิสัตว์. จับไว้ทำไม ? ยักษ์. ข้าพเจ้าย่อมได้ (เพื่อกิน) ผู้ลงสู่สระนี้. โพธิสัตว์. ก็ท่านย่อมได้ทุกคนเทียวหรือ? ยักษ์. เว้นผู้รู้เทวธรรม คนที่เหลือ ข้าพเจ้าย่อมได้. โพธิสัตว์. ก็ท่านมีความต้องการด้วยเทวธรรมหรือ? ยักษ์. ข้าพเจ้ามีความต้องการ. โพธิสัตว์. ข้าพเจ้าจักกล่าว (ให้ท่านฟัง). ยักษ์. ถ้ากระนั้น ขอท่านจงกล่าวเถิด. โพธิสัตว์. ข้าพเจ้ามีตัวสกปรก ไม่อาจกล่าวได้. ยักษ์ให้พระโพธิสัตว์อาบน้ำ ให้ดื่มน้ำอันควรดื่ม ตบแต่งแล้ว เชิญขึ้นสู่บัลลังก์ ในท่ามกลางมณฑปอันแต่งไว้ ตัวเองหมอบอยู่แทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์นั้น. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์บอกกะยักษ์นั้นว่า "ท่านจงฟังโดยเคารพ" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า นักปราชญ์ เรียกคนผู้ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นดีแล้วในธรรมขาว เป็นผู้สงบ เป็นสัตบุรุษใน โลกว่า ‘ผู้ทรงเทวธรรม. ยักษ์ฟังธรรมเทศนานี้แล้วเลื่อมใส กล่าวกะพระโพธิสัตว์ว่า "ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อท่านแล้ว จะให้น้องชายคนหนึ่ง จะนำคนไหนมา?" โพธิสัตว์. จงนำน้องชายคนเล็กมา. ยักษ์. ท่านบัณฑิต ท่านรู้เทวธรรมอย่างเดียวเท่านั้น, แต่ท่านไม่ประพฤติในเทวธรรมเหล่านั้น. โพธิสัตว์. เพราะเหตุไร? ยักษ์. เพราะท่านให้นำน้องชายคนเล็กมา เว้นคนโตเสีย ย่อมไม่ชื่อว่าทำอปจายิกกรรม๑- ต่อผู้เจริญ. ____________________________ ๑- กรรมคือการทำความอ่อนน้อม. พระโพธิสัตว์ทั้งรู้ทั้งประพฤติเทวธรรม พระโพธิสัตว์ตรัสว่า "ยักษ์ เรารู้ทั้งเทวธรรม ทั้งประพฤติในเทวธรรมนั้น เพราะเราอาศัยน้องชายคนเล็กนั่น พวกเราจึงต้องเข้าป่านี้ เหตุว่า มารดาของน้องชายนั่น ทูลขอราชสมบัติกะพระราชบิดาของเราทั้งสอง เพื่อประโยชน์แก่น้องชายนั้น ก็พระบิดาของเราไม่พระราชทานพรนั้น ทรงอนุญาตการอยู่ป่า เพื่อประโยชน์แก่การตามรักษาเราทั้งสอง กุมารนั้นไม่กลับ มากับพวกเรา แม้เมื่อข้าพเจ้าจะกล่าวว่า ‘ยักษ์ตนหนึ่งในป่าเคี้ยวกินน้องชายคนเล็กนั้น’ ดังนี้ ใครๆ ก็จักไม่เชื่อ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าผู้กลัวต่อภัยคือการครหา จึงให้นำน้องชายคนเล็กนั้นผู้เดียวมาให้." ยักษ์เลื่อมใสต่อพระโพธิสัตว์ สรรเสริญว่า "สาธุ ท่านบัณฑิต ท่านผู้เดียวทั้งรู้เทวธรรม ทั้งประพฤติในเทวธรรม" ดังนี้แล้ว จึงได้นำเอาน้องชายแม้ทั้งสองคนมาให้. พระโพธิสัตว์ได้ครองราชสมบัติ ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสพรรณนาโทษในความเป็นยักษ์แล้ว ให้ยักษ์นั้นดำรงอยู่ในศีล ๕. พระโพธิสัตว์นั้นเป็นผู้มีความรักษาอันยักษ์นั้นจัดทำด้วยดีแล้ว อยู่ในป่านั้น ครั้นเมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พายักษ์ไปยังกรุงพาราณสี ครอบครองราชสมบัติแล้ว พระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่จันทกุมาร พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่สุริยกุมาร โปรดให้สร้างที่อยู่ในรัมณียสถานแก่ยักษ์. (และ) ได้ทรงทำโดยประการที่ยักษ์นั้นจะถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ. พระศาสดาทรงย่อชาดก พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า รากษสน้ำนั้นในกาลนั้น ได้เป็นภิกษุผู้มีภัณฑะมาก, สุริยกุมาร เป็นพระอานนท์, จันทกุมาร เป็นพระสารีบุตร, มหิสสาสกุมาร ได้เป็นเรานี่เอง. พระศาสดา ครั้นตรัสชาดกอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุ ในกาลก่อน เธอแสวงหาเทวธรรม ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะเที่ยวไปอย่างนั้น. บัดนี้ เธอยืนอยู่โดยทำนองนี้ ในท่ามกลางแห่งบริษัท ๔ กล่าวอยู่ต่อหน้าเราว่า "ฉันมีความปรารถนาน้อย" ดังนี้ ชื่อว่าได้ทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว เพราะว่า บุคคลจะชื่อว่าเป็นสมณะ ด้วยเหตุสักว่า ห้ามผ้าสาฎกเป็นต้น ก็หามิได้" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า ๘. น นคฺคจริยา น ชฏา น ปงฺกา นานาสกา ตณฺฑิลสายิกา วา รโชชลฺลํ อุกฺกุฏิกปฺปธานํ โสเธนฺติ มจฺจํ อวิติณฺณกงฺขํ. การประพฤติเป็นคนเปลือย ก็ทำสัตว์ให้บริสุทธิ์ไม่ได้, การเกล้าชฎาก็ไม่ได้, การนอนเหนือเปือกตมก็ไม่ได้, การไม่กินข้าวก็ดี การนอนบนแผ่นดินก็ดี ความเป็นผู้มี กายหมักหมมด้วยธุลีก็ดี ความเพียรด้วยการนั่งกระหย่ง ก็ดี (แต่ละอย่าง) หาทำสัตว์ผู้ยังไม่ล่วงสงสัยให้บริสุทธิ์ ได้ไม่. แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นานาสกา ตัดบทเป็น น อนาสกา. ความว่า การห้ามภัต. การนอนบนแผ่นดิน ชื่อว่า ตณฺฑิลสายิกา ธุลีที่หมักหมมอยู่ในสรีระ โดยอาการคือดังฉาบทาด้วยเปือกตม ชื่อว่า รโชชลฺลํ, ความเพียรที่ปรารภแล้ว ด้วยความเป็นผู้นั่งกระหย่ง ชื่อว่า อุกฺกุฏิกปฺปธานํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายคำนี้ว่า "ก็สัตว์ใดเข้าใจว่า เราจักบรรลุความบริสุทธิ์ กล่าวคือการออกจากโลก ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้’ ดังนี้แล้ว พึงสมาทานประพฤติวัตรอย่างใดอย่างหนึ่ง ในวัตรมีการประพฤติเป็นคนเปลือยเป็นต้นเหล่านี้, สัตว์นั้นพึงชื่อว่าเจริญความเห็นผิด และพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากโดยส่วนเดียว. ด้วยว่า วัตรเหล่านั้นที่สัตว์สมาทานดีแล้ว ย่อมยังสัตว์ที่ชื่อว่าผู้ยังไม่ล่วงความสงสัยอันมีวัตถุ ๕ อันตนยังไม่ก้าวล่วงแล้วให้หมดจดไม่ได้." ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล. เรื่องภิกษุผู้มีภัณฑะมาก จบ.