ก่อนศึกษากรรมฐาน อ่านที่หมายจากพระไตรปิฏกซักนิด

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย วิษณุ12, 22 มกราคม 2009.

  1. วิษณุ12

    วิษณุ12 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    5,337
    ค่าพลัง:
    +6,846
    นิพพาน อันปรากฎแก่ผู้สิ้นตัณหา

    ต่อไปนี้ เป็นเนื้อความ ในธัมมัตถาธิบาย ขยายคำในพระพุทธอุทาน ต่อจากอรรถกถาออกไปอีก
    เพื่อให้เป็นที่เข้าใจแก่ผู้ใฝ่ใจทั้งหลาย กล่าวคือ ในพระพุทธอุทานนั้นมีเนื้อความว่า
    สิ่งที่ไม่มีเครื่องน้อมไปเป็นของที่เห็นได้ยากของจริงไม่ใช่เป็นของที่เห็นได้ง่าย
    เครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้แทงตลอดตัณหาแล้วรู้อยู่เห็นอยู่ ดังนี้ คำเหล่านี้พระอรรถกถาจารย์
    ได้แก้ทุกคำแล้ว คือ คำว่า เห็นได้ยากนั้น พระอรรถกถาจารย์แก้ไขไว้ว่า ผู้ที่ไม่ได้สะสมญาณบารมี
    ไม่อาจเห็นได้ เพราะนิพพานเป็นของลึก ตามสภาพ เป็นของละเอียดสุขุมอย่างยิ่ง ดังนี้
    คำของพระอรรถกถาจารย์นี้ เป็นคำปฏิเสธว่า ไม่เห็นเสียเลย ไม่ใช่ว่าเห็นได้ยาก

    นัยที่ ๒ พระอรรถกถาจารย์แก้ไขไว้ว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงการบรรลุนิพพานได้ยาก
    ด้วยคำว่าเห็นได้ยาก โดยอ้างเหตุว่า การอบรมสิ่งที่ไม่มีปัจจัย ไม่ใช่เป็นของที่สัตว์โลกทั้งหลายจะทำได้
    ง่ายโดยเหตุว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ได้อบรมสิ่งที่มีปัจจัยด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น ซึ่งเป็นของทำปัญญา
    ให้ทุผลภาพเสียกำลังดังนี้ ฯ ได้ใจความตามนัยที่ ๒ นี้ว่า ที่ว่าเห็นได้ยากนั้น คือ สำเร็จได้ยาก ฯ
    โดยเหตุนี้ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้เถิดว่า คำว่าเห็นได้ยากนั้น พระอรรถกถาจารย์ว่าไว้ ๒นัย

    นัยที่๑ ว่า ผู้ไม่ได้สะสมญาณบารมีไว้ไม่อาจเห็นได้ นัยนี้ชี้ให้เห็นว่า เห็นไม่ได้ทีเดียว ฯ

    นัยที่ ๒ ว่าสำเร็จได้ยาก ฯ นัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ต่อเมื่อไรได้สำเร็จจึงจะเห็นได้ การสำเร็จนั้นย่อมเป็นการสำเร็จได้ยากฯ

    ขยายคำข้อนี้ออกไปอีกชั้นหนึ่งว่า การจะเห็นพระนิพพานนั้น ต้องเห็นได้ด้วยปัญญาจักษุ
    อันเป็นปัญญาที่ประเสริฐ ปัญญาจักษุนั้น เป็นของที่ทำให้เกิดขึ้นได้แสนยาก ด้วยเหตุว่า ต้องอบรมบารมี
    มีทาน ศีล ภาวนาเป็นต้น อยู่จนตลอดกาลนาน จึงอาจทำปัญญาจักษุ คือ ดวงปัญญาอันประเสริฐ
    ให้เกิดขึ้นได้ ขอให้ดูแต่พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายเป็นตัวอย่างเถิด คือพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย
    พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญบารมี มาตลอด ๔ อสงไขยกับอีกแสนมหากัลป์ นับแต่ได้พุทธพยากรณ์มาแล้ว

    ก่อนแต่ยังไม่ได้พุทธพยากรณ์มานั้น พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญมาแล้วตลอดกาลนานคือ ทรงบำเพ็ญในเวลา
    ที่ตั้งความปรารถนาในใจว่า จะเป็นพระพุทธเจ้านั้นอีก สิ้น ๙ อสงไขย จึงได้พุทธพยากรณ์จาก
    สำนักพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๔ พระองค์มี พระทีปังกรเป็นต้น รวมเวลาบำเพ็ญบารมีทั้ง ๓ ตอน เข้าด้วยกัน
    ก็เป็น ๒๐ อสงไขย เศษแสนมหากัลป์ จึงจะทำพระปัญญาจักษุอันประเสริฐให้เกิดขึ้นแต่ถึงอย่างนั้น
    พระองค์ก็ยังทรงทำได้แสนยากต้องทนลำบากพระองค์บำเพ็ญทุกขกิริยาอยู่ถึง ๖ พรรษาเพื่อแสวงหา
    ดวงจักษุ คือ ปัญญาอันประเสริฐจึงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเห็นพระนิพพานแจ่มแจ้งด้วยพระองค์เอง โดยไม่เกี่ยวกับทุกขกิริยาที่ทรงกระทำมานั้น ไม่ใช่เป็นหนทางให้พระองค์ได้ตรัสรู้
    ส่วนหนทางที่ให้พระองค์ตรัสรู้นั้น ได้แก่ อัฏฐังกิมรรค ๘ ประการ มีสัมมาทิฐิเป็นต้น มีสัมมาสมาธิ
    เป็นปริโยสาน ที่พระองค์ทรงทำให้เกิดขึ้นด้วยทรงเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน คือ ทรงตั้งพระหฤทัย
    กำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ เมื่อพระองค์ทรงบ่ม อานาปานสติ การกำหนด ลมหายใจเข้าออก
    นั้นให้แก่กล้านั้นก็เกิดเป็นสมาธิชั้นที่ ๑ ที่๒ ที่๓ ที่๔ ซึ่งเรียกตามบาลีว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
    จตุตถฌาน เมื่อ จตุตฌานเกิดขึ้นแล้ว พระหฤทัยของพระองค์ดำรงมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส ปราศจากเครื่องเศร้าหมอง อ่อนโยน ละมุนละไม ตั้งอยู่ในฐานะที่จะบังคับได้ดังประสงค์ ดำรงมั่นไม่หวั่นไหวแล้ว

    พระองค์ก็ทรงน้อมพระหฤทัยไป เพื่อให้เกิด บุพเพนิวาสญาณ ให้ระลึกการหนหลังได้ ในลำดับนั้น พระองค์ก็ทรงระลึกกาลหนหลังได้ ตั้งแต่ ชาติหนึ่งเป็นต้นไป จนกระทั่งถึงปลายกัลป์ หากำหนดมิได้ พร้อมทั้งอาการและอุเทศ คือทรง ระลึกได้ว่า ในชาติโน้น พระองค์มีพระนาม และโครต ผิวพรรณ วรรณะ
    อาหาร สุขทุกข์ อายุ อย่างนั้นๆ จุติจากชาตินั้นแล้ว ได้มาเกิดในชาติโน้น ทรงระลึกได้อย่างนี้
    เป็นลำดับมา จนกระทั่งชาติปัจจุบันนั้น บุพเพนิวาสญาณ การระลึกชาติหนหลังนี้ ได้เกิดมีแก่พระองค์ในปฐมยาม ฯ ในปฐมยามนั้น พระองค์ทรงพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมจนตลอดแล้ว ก็ทรงเปล่ง
    อุทานขึ้น ดังที่แสดงมาแล้วในกัณฑ์ ที่ ๑ โน้น เมื่อถึง มัชฌิมยาม พระองค์น้อมพระหฤทัยไปเพื่อให้รู้
    การจุติ และอุบัติของสัตว์โลกทั้งหลาย พระองค์ก็ได้ทรงเห็นสัตว์โลกทั้งหลายที่จุติ และเกิดได้ทุกจำพวก
    คือจำพวกที่เลวและดี ทั้งพวกที่มีผิวพรรณดีและไม่ดี ทั้งจำพวกที่ไปดีและไปไม่ดีด้วยทิพพจักษุญาณ

    คือพระองค์ทรงทราบว่าพวกที่ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า
    เป็นมิจฉาทิฐิ ถือมั่นมิจฉาทิฐิทำกาลกิริยาตายแล้ว ก็ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก การที่พระองค์
    ทรงทราบนั้น คือ ทรงเล็งเห็นด้วย ทิพพจักษุ เหมือนกับบุคคลยืนอยู่บนปราสาทซึ่งเล็งเห็นผู้ที่อยู่รอบ
    ปราสาทฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงได้ทิพพจักษุอันเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าจตูปปาตญาณแล้ว พระองค์ก็ทรง
    พิจารณา ปฏิจจสมุปบาทในฝ่ายปฏิโลม แล้วทรงเปล่งอุททานเป็นครั้งที่ ๒ ดังที่แสดงมาแล้ว ในกัณฑ์
    ที่ ๒ โน้น เมื่อพระหฤทัยของพระองค์บริสุทธิ์ดังที่แสดงมาแล้วในกัณฑ์ที่ ๓ โน้น ฯ ในขณะที่พระองค์
    ทรงไว้ อาสวักขยญาณอันทำให้สิ้น อาสวะกิเลสนั้น สรรพปรีชาญาณทั้งสิ้น คือ เวสารัชชญาณ ๔
    ทศพลญาณ ๑๐ และสัพพัญญุตญาณเป็นต้น ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ฯ เป็นอันว่าในขณะนั้น พระองค์ได้ตรัสรู้
    พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก เป็นอันว่าพระปัญญาจักษุ
    คือ ดวงปัญญาอันวิเศษ ซึ่งเป็นเหตุให้เห็นพระหฤพาน ก็เกิดมีขึ้นแก่พระองค์ พร้อมทั้ง
    พระพุทธจักษุพระสมันตจักษุ ทิพพจักษุทุกประการ ฯ เท่าที่สังวัณณนาการแล้วนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า
    พระนฤพานนั้น เป็นของที่เห็นได้แสนยาก เพราะเหตุว่า เป็นของละเอียดลึกซึ้งไม่มีสิ่งจะเทียมถึง
    โดยเหตุนี้ ควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะอุตสาหะบำเพ็ญ บารมีทั้ง ๑๐ ประการ
    คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี
    เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี อันกล่าวโดยย่อว่า ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ บรรพชา ปัญญา วิริยะ ขันติ
    สัจจะ อธิฐาน เมตตา อุเบกขา ตามกำลังสามารถของตน ตามภูมิชั้นของตน ๆ ที่ปรารถนาเป็น สาวก
    สาวิกา หรือเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามโอกาส บริสุทธิ์ มาด้วยบุพเพนิวาสญาณ และ จุตูปปญาณ ในปฐมยาม และมัชฌิมยามดังนี้แล้ว พระหฤทัยของพระองค์ก้ผ่องแผ้วยิ่งขึ้น
    พระองค์จึงทรงน้อมพระหฤทัยไปเพื่อให้เกิดอาสวักขยญาณ ทำให้สิ้น อาสวะจากสันดานของพระองค์ ฯ

    พระองค์ก็ทรงทราบตามความเป็นจริงว่า สิ่งไรเป็นทุกข์ สิ่งไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งไรเป็นความดับทุกข์
    สิ่งไรเป็นทางดับทุกข์ฯ พระองค์ก็ทรงทราบตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอาสวะ เป็นเหตุ
    ให้เกิดอาสวะ เป็นความดับอาสวะ เป็นทางให้ดับอาสวะ ฯ เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นอย่างนั้น พระหฤทัย
    ของพระองค์ก็หลุดพ้นจาก กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ เมื่อพระหฤทัยของพระองค์หลุดพ้นจาก
    อาสวะ ทั้ง ๓ อย่างนั้นแล้ว ก็เกิดพระปรีชาญาณขึ้นว่า พระหฤทัยของเราหลุดพ้นแล้ว พระองค์สิ้นความ
    เวียนตายเวียนเกิดอยู่ในกำเนิด ๔ คติ ๕ สัตตาวาส ๙ อันนับเข้าในสงสารเสร็จแล้ว พระองค์สำเร็จ
    พรหมจรรย์แล้ว ได้ทรงทำสิ่งที่ควรทำ สำเร็จแล้ว ลำดับนั้น พระองค์ก็ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท
    กลับไปกลับมาทั้งฝ่าย อนุโลมและปฏิโลม แล้วทรงเปล่งอุทานขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ดังที่ได้ ที่ควรกระทำ

    เมื่อผู้ใดพยายามบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ มีทานเป็นต้น ตามสมควรแก่เวลาแล้ว ผู้นั้นก็ใกล้ต่อการเห็นนิพพาน
    ไปโดยลำดับ ด้วยเหตุว่า จิตใจของผู้นั้น จะผ่องใสไปโดยลำดับ เหมือนกับทองที่ช่างทองได้ไล่ขี้ไป
    โดยลำดับฉะนั้น ฯ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ทรงสอนไว้ว่า บุคคลผู้มีปัญญา ควรกำจัด
    มลทินของตนไปทีละน้อยๆ ไปตามขณะสมัย ในเวลาอันสมควร ให้เหมือนกับช่างทองไล่สนิมทองฉะนั้น
    ดังนี้ ฯ


    แต่ขอเตือนท่านทั้งหลายอีกอย่างหนึ่งว่า ท่านทั้งหลายอย่าท้อใจว่า กว่าจะได้เห็นนิพพานนั้นต้อง
    บำเพ็ญบารมีอยู่ตลอดกาลนาน เพราะเหตุว่าเมื่อเราทำไป วันเวลาเดือนปี ก็สิ้นไปตามลำดับ
    เมื่อเราดับจิตแล้ว เราก็เกิดชาติใหม่ เมื่อเราเกิดชาติใหม่แล้วเราก็ลืมชาติเก่า เรานึกไม่ได้ว่าเราได้
    บำเพ็ญบารมีมานานแล้ว เมื่อเราเกิดอยู่ในชาติใด เราก็นึกได้แต่เพียงชาตินั้น อันนี้ไม่เป็นเหตุให้เรา
    เบื่อหน่าย ท้อทอยต่อการบำเพ็ญบารมี ถ้าเราไม่ลืมชาติหนหลัง เหมือนดั่งเราเดินทาง แล้วไม่ลืมระยะทาง
    ที่เดินมาแล้วในวันก่อนๆนั้นแหละ จึงจักทำความหนักใจท้อถอยให้แก่เรา อีกประการหนึ่ง การเดินทางนั้น
    ย่อมทำให้เกิดความเหนื่อยมากในวันแรก และวันที่ ๒ ที่ ๓ เท่านั้น สำหรับวันต่อๆไป ความเหนื่อยนั้น
    ก็คลายลงไปทีละน้อยๆ ด้วยเหตุว่า ความคุ้นเคยต่อการเดินทางนั้น ย่อมมีขึ้นกับเท้าและแข้งขาของเรา
    การบำเพ็ญบารมี ก็ทำให้เรามีความชำนิชำนาญขึ้นทีละน้อยๆ ฉันนั้น เหมือนเราไม่เคยให้ทาน รักษาศีล
    ฟังพระสัทธรรมเทศนา เราย่อมรู้สึก ลำบากใจ เห็นว่าเป็นของทำได้ยาก แต่ว่าเมื่อเราทำได้มากขึ้นแล้ว
    ก็จะเห็นว่าเป็นของทำได้ง่ายขึ้นทุกทีฯ อีกประการหนึ่งการบำเพ็ญบารมีเพื่อปรารถนาเป็น สาวก สาวิกา
    ปกตินั้น ย่อมไม่กินเวลานานเท่าไรนัก กินเวลาเพียงแสนมหากัลป์เท่านั้น ส่วนปรารถนาเป็นมหาสาวก
    และอัครสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จึวกินเวลานานมากกว่ากันขึ้นไปเป็นลำดับ ฯ
    เมื่อเราทั้งหลายไม่เห็นพระนิพพานอยู่ตราบใด ก็ไม่เห็นความสิ้นทุกข์อยู่ตราบนั้น เหมือนกับเรายังไม่เห็น
    ความมั่งมีตราบใดเราก็ไม่เห็นการสิ้นความจนอยู่ตราบนั้น ฉะนั้นโดยเหตุนี้ จึงควรที่ทุกคนจะพยายาม
    บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ที่มีทานบารมีเป็นต้น ให้มีขึ้นในตนเสมอไป แก้ไขมาในคำว่า นิพพานเห็นได้ยาก
    ก็พอเป็นที่เข้าใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายแล้ว จึงจะได้อธิบายคำอื่นต่อไป


    มีคำว่า นิพพาน ไม่มีเครื่องน้อมไปเป็นต้น คือ คำว่า นิพพานไม่มีเครื่องน้อมไปนั้น พระอรรถกถาจารย์
    อธิบายว่าตัณหาชื่อว่าเป็นเครื่องน้อมไป เพราะน้อมไปในอารมณ์ทั้งหลาย มีรูปเป็นต้นและน้อมไปในภพ
    ทั้งหลาย มีกามเป็นต้น ซึ่งท่านย่นใจความว่า นิพพานนั้นไม่มีตัณหา ฯ คำของพระอรรถกถาจารย์ที่
    อธิบายดังนี้ เป็นอันได้ความแจ่มแจ้งแล้ว คือ พระนิพพานนั้น ไม่มีตัณหาที่จะให้น้อมไปในอารมณ์
    และภพอันใดอันหนึ่ง จึงเป็นที่เกษมสุขอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า สิ่งที่มีตัณหานั้น เป็นสิ่งที่ให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น
    คำว่านิพพานไม่มีเครื่องน้อมไป คือตัณหานี้ เป็นเครื่องชี้คุณของนิพพานให้เห็นว่าไม่มีเหตุที่จะให้เกิด
    ทุกข์ จึงจัดเป็นเอกันตบรมสุขอย่างยิ่ง สมกับคำว่า นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา พระพุทธเจ้า
    ทั้งหลายย่อมกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมสุขดังนี้ คำว่า ของจริงไม่ใช่เห็นได้ง่ายในพระอุทานนั้น

    พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ว่า นิพพานนั้นชื่อว่าเป็นของจริง เพราะเป็นของไม่วิปริต เป็นของมีอยู่โดยแท้
    ใครจะแก้ไขให้เห็นว่า นิพพานไม่มีนั้นเป็นอันไม่ได้ นิพพานนั้น ถึงผู้ได้สะสมบุญญาณไว้ได้ตลอดกาลนาน
    ก็ยังยากที่จะเห็นได้ ดังนี้ คำของพระอรรถกถาจารย์นี้เป็นคำที่แจ่มแจ้งอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องชี้แจงซ้ำ
    อีกให้พิสดารเป็นแต่จับใจความว่า ตามถ้อยคำของพระอรรถกถาจารย์นี้มีมาว่า นิพพานซึ่งเป็นของจริงนั้น
    ถึงผู้บำเพ็ญบารมีมานานแล้ว ก็ยากที่จะสำเร็จได้ คำว่าแทงตลอดตัณหานั้น พระอรรถกถาจารย์ว่า ได้แก่
    ละตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ฯ คำว่าผู้รู้ผู้เห็นนั้น ได้แก่ ผู้รู้เห็นอริยสัจด้วยอริยมรรคปัญญา ฯ คำว่า
    ไม่มีความกังวลนั้นได้แก่ไม่มีกิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ คือ ความวนเวียนแห่งกิเลส และกรรม
    กับทั้งผลแห่งกรรม ดังนี้ ฯ ถ้อยคำของพระอรรถกถาจารย์เหล่านี้ ก็มีใจความแจ่มแจ้งแล้วทั้งนั้น
    โดยเหตุนี้ จึงของดธัมมัตถาธิบายในพระพุทธอุทาน ที่ ๗๒ อันมีเนื้อความว่า ธรรมชาติอันใดไม่มี
    เครื่องน้อมไปเป็นของเห็นได้ยาก เพราะของจริงไม่ใช่เป็นของเห็นได้ง่าย เครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่
    ผู้แทงตลอดตัณหาแล้วรู้อยู่เห็นอยู่ ดังนี้ ......



    ที่มา กัณฑ์ ที่ ๗๒ คัมภีร์ ขุททกนิกาย พุทธอุทาน ว่าด้วยนิพพานอันปรากฎแก่ผุ้สิ้นตัณหา......
    เมื่ออ่านจบแล้ว..... จักรวาลมีอยู่ประมาณเท่าใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในจักรวาลมีอยู่ประมาณเท่าใด
    จงได้รับส่วนบุญกุศล ในการอ่านพระไตรปิฏกนี้ด้วยเทอญ
    หากพิมผิดกราบขอขมาพระรัตนไตรด้วยเทอญ....
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 มกราคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...