กุญแจดอกสำคัญ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 30 ตุลาคม 2010.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    [​IMG]

    กุญแจดอกสำคัญ

    เขมานันทะ
    (ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ)​

    "...เรื่องราวที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องฟังเล่นเท่านั้นมีอยู่วันหนึ่ง ผมได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อให้อบรมบุคคลกลุ่มหนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่วัดสนามใน ตอนนั้นผมยังเป็นนักบวชอยู่ ผมก็เริ่มอธิบายเรื่องสติ การรู้สึกตัว แล้วก็ชี้แนะว่า สตินั้นเป็นปัจจุบันขณะ ถ้าเรารู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบันขณะ ความทุกข์ก็จะจบสิ้นลง ผมเหลือบตาไปดูที่ชั้นบนของกุฏิที่หลวงพ่ออาศัยอยู่ เห็นท่านนั่งฟัง เมื่อจบการแสดงธรรมกถานั้นแล้ว ท่านลงมาพูดกับผมเบาๆ ว่า "มันไม่ใช่เรื่่องปัจจุบัน ถ้ากำหนดจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ก็ติดอยู่เท่านั้นเอง ต้องไปให้พ้นจากปัจจุบัน"..."

    "...ผมขอทบทวนพุทธภาษิตบทหนึ่งในเรื่องสติ (หมายถึงสติปัฏฐาน ๔) ว่าเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้สิ้นทุกข์ และในบางที่บางแห่งหรือหลายแห่งนั้น ผมพูดรวบรัดว่า สติเป็นสิ่งที่ดี โปรดพิจารณาพุทธภาษิตที่ว่า "สติ มโต สุโว เสยโย เวรา น ปริมุจฺจติ ความดีย่อมมีแด่ผู้มีสติเป็นนิตย์ แต่ไม่อาจหลุดพ้นจากเวรไปได้"..."

    "...ก่อนที่ผมจะหันมาศึกษาพุทธศาสนา ผมเคยจฟังอาจารย์หลายท่านบรรยายธรรมะเน้นหนักเรื่องสติ ท่านหนึ่งอธิบายว่า เมื่อราคะเกิดขึ้น ให้มีสติ พิจารณาว่า ราคะนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผมก็เชื่อฟัง แต่หลายเดือนที่ผมเพียรตั้งสติ กำหนดรู้เช่นนั้น ผมรู้ว่ามันหนักมาก เพราะเมื่อเราไปรู้อะไร ก็จะติดอันนั้น จะจำฝังใจอันนั้น..."

    "...หลายปีล่วงไป ผมไปมาหาูสู่กับหลวงพ่อ ไม่ใช่คำสอนของหลวงพ่อที่เป็นคำอธิบาย แต่เป็นกลวิธีหรือความกระฉับกระเฉงของหลวงพ่อเอง ผมค่อยๆ เรียนรู้ว่าการกำหนดสติเช่นนั้นใช้ไม่ได้ สติไม่อาจนำเราออกจากทุกข์ได้ ปัจจุุบันนั้นเองเป็นทุกข์ เราเป็นทุกข์เพราะติดอยู่กับปัจจุบันนั้นเอง ยิ่งการกำหนดรู้ด้วยแล้ว เราไปรู้อะไรเข้า ก็จะติดยึดอันนั้น ถ้ารู้ความสงบ ก็ติดสงบ เพราะยางเหนียวของตัณหายังไม่แห้ง รู้ราคะก็ติดราคะ คำพูดที่ว่า "กำหนดรู้" นั้นถูก แต่กำหนดรู้อะไร และอย่างไรล่ะ..."

    "...เพราะฉะนั้นคำพูดที่ผมถือเป็นกุญแจดอกสำคัญยิ่งที่ออกมาจากปากของหลวงพ่อสู่ใจผมก็คือ รู้ แต่อย่าให้มันรู้อะไรเข้า ถ้ารู้อะไรเช่นความสงบปีติ ก็จะติดอันนั้นทันที แล้วมันจะหมุนกลับ คำพูดของหลวงพ่อนี้ก้องในใจผมตลอดเวลาที่ไปมาหาสู่ท่าน จนกระทั่งหลวงพ่อเองกลายเป็นสัญลักษณ์ของการรู้ที่ไม่ต้องรู้อะไร เพราะรู้อะไรนี่ก็เป็นทุกข์เรื่องที่รู้ นอกจากรู้แล้วผ่านเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลวงพ่อย้ำบ่อย..."

    "...หลวงพ่อได้เตือนผมหลายครั้งแล้วว่า จุดที่แก้ไขได้ยากที่สุดในการเจริญภาวนาให้ไปสุดสายก็คือการเพ่ง เพราะการเพ่งคือการสะกดจิตตัวเอง มันจะไปสงบ สงบแล้วก็ติดตัวนี้อยู่ ไม่สามารถหันกลับไปได้ เพราะเมื่อติดตัวสงบก็เกิดผู้ติดผู้ยึด และผู้ยึดก็พยายามยึดความสงบเป็นที่พึ่ง ความสงบที่ทำขึ้นนั้นไปสูงสุดก็แค่สงบ ท้ายสุดก็อ่อนล้า เกินนั้นไม่มี ความสงบชนิดนี้เป็นสิ่งชั่วคราว เมื่อหมดแรงยึดถือก็จะหลายเป็นความฟุ้งซ่าน ไม่แนบแน่นอยู่กับความจริงได้ ทั้งนี้เพราะไปเพ่งปักจิตติดอยู่กับอารมณ์ แทนที่จะอยู่เหนืออารมณ์ การกำหนดรู้เช่นนี้คือการยึดติดอยู่กลายๆ จุดนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญในวิถีทางที่หลวงพ่อสอนสานุศิษย์ของท่าน สำหรับหลวงพ่อนั้นไม่มีการกำหนดเป็นกรณี เพียงรู้แล้วผ่านเลย..."

    "...เรามักได้ยินคำสอนว่า เมื่อราคะเกิด ให้กำหนดรู้ว่าราคะเกิดแล้วหนอ ก็ราคะนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้เป็นการย้ำคิด ผมเพิ่งมาเรียนรู้ช่วงหลังว่า อย่าไปสนใจกิเลส มันจะเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ให้สนใจความรู้ตัวที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เพราะว่าในความรู้สึกตัวล้วนๆ นั้นไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ดังนั้นให้รู้สึกต่อสภาพไร้ราคะ โทสะ โมหะ ที่เป็นต้นต่อแต่เดิม เมื่อรู้ผนึกแน่นอย่างนี้แล้ว พอกระทบกับอารมณ์ที่เป็นราคะ โทสะ โมหะ ก็จะไม่เอาเอง ไม่มีใครละราคะ โทสะ โมหะได้ ตัวละไม่ใช่เรา ตัวละคือความรู้สึกที่บริสุทธิ์ล้วนๆ..."

    "...ผมจะเล่าเรื่องการชู้ตฟุตบอลของหลวงพ่อ วันหนึ่งผมนั่งนวดท่านอยู่ ท่านนอนหลับตา ผมก็นวดเรื่อยๆ ในใจนึกกระหยิ่มภูมิใจที่ได้รับใช้ท่าน เมื่อเห็นว่าท่านหลับ จิตใจที่ปลื้มก็ปลงลงสู่สภาพปกติธรรมดาๆ ทันใดนั้นหลวงพ่อลืมตาขึ้นมาทันทีแล้วบอกว่าให้ทำใจอย่างนี้ ผมเข้าใจว่าท่านหลับ ที่จริงท่านไม่ได้หลับ จุดนี้ผมถือว่าเป็นการชู้ตลูกฟุตบอล ผู้ที่จะเล่นเกมนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่รู้เท่าทันวาระจิต ไม่เช่นนั้นความผิดพลาดก็จะเกิดขึ้น เมื่อท่านลืมตาชี้นิ้วมา พร้อมกับบอกโดยย่อว่าให้ทำในใจอย่างนี้ ผมเห็นความปกติแวบเดียวนั้น เกิดความเข้าใจ เกิดความเห็นโดยตรง โดยไม่เกี่ยวกับคำบอกเล่าหรือความคิดใดๆ สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความหมายของตัวหนังสือ แต่คืออาการทางจิตใจว่าเป็นปกติหรือไม่ ประการใด..."

    "...ศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวของหลวงพ่อนั้น มีอยู่แล้วในตัวเรา เมื่อเร้าให้กายจิตตื่นตัวขึ้น เราจะพบว่ามีพลังอำนาจอันเป็นไปโดยธรรมชาติที่จะขจัดปัดเป่าความทุกข์ทรมานเนื่องด้วยราคะ โทสะ โมหะ เราไม่มีเรื่องที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านั้น แต่ก็มีเรื่องหนึ่งซึ่งเราต้องขยัน คือความเพียรที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่สำคัญของหลวงพ่อ ความเพียรนั้นต้องต่อเนื่อง ถ้าไม่ต่อเนื่องก็ไม่ถึงจุดแจ่มแจ้ง ดังนั้น การเร้าความรู้สึกตัวเอาชนะความคิดให้ได้ในทุกครั้งที่มันเกิด จนกระทั่งอยู่เหนือความคิด ชีวิตจึงจะล่วงภาวะเก่าได้..."
     
  2. สับสน!

    สับสน! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2010
    โพสต์:
    0
    ค่าพลัง:
    +3,984
    เอาความรู้สึกล้วนๆบริสุทธิ์..แล้วเอาความรู้สึกที่ดีด้วยใช่ไหม..ความรู้สึกไม่ดีไม่เอา..หรือรับทั้งดีและไม่ดี ..แล้ว เฉย..ปล่อยผ่านไป แบบไหนล่ะครับ ผ่านแบบรู้เรื่องที่ผ่านว่าเรื่องอะไร หรือ ผ่านแบบไม่รู้เรื่องที่ผ่านคือเรื่องอะไร ..หรือไม่รับเลยแค่รู้สึกกระทบผัสสะ อย่างไหนครับท่านที่เขียนมา ..?
    อ้อ อีกอย่างนะครับ ผ่านแบบรู้และไม่รู้นี่ต้องใช้สติไหมครับ แล้วหากไม่มีสติ อะไรจะมาคัดสรรความรู้สึกที่ดี และไม่ดี ล่ะครับ ท่านเขมา..?

    อีกอย่าง..หากไม่ใช้สติ สมาธิ ละลึกรู้ปัจจุบัน คัดสรรความรู้สึกดีๆในปัจจุบัน..เหล่านั้นมันจะเกิดขึ้นได้ยังไงครับ ท่านเขมานันทะ..นมัสการ..!

    สรุปก็คือ สติ สมาธิ ต้องเป็นฐานในการรับรู้ความรู้สึกที่เกิด ก่อนเสมอด้วย..สาธุครับ!
     
  3. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    23,030
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,021
    ได้อ่านกระทู้นี้เเล้ว ผมขอถือโอกาสฝากหนังสือดีๆ 2 เล่มให้ไปอ่านกันครับ ลองโหลดไปอ่านกันนะครับ ดีมากๆครับ เจริญในธรรมครับ

    หนังสือสิ่งที่ดีที่สุด (เพื่อตัวเรา)

    โดยพระยุทธนา ที่เน้นถึงชีวิตนี้ต้องการอะไร เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมให้แง่คิดที่จะประคองตนให้มีสติ สงบ แก้ไขปัญหาด้วยปัญญา หนังสือนี้แบ่งเป็นตอนสั้นๆ ที่น่าสนใจ อาทิเช่น สุขหรือทุกข์คือตัวเดียวกัน , จิตอิสระที่สุด , มีสติ มีสุข มีทางออก , บ้าน ... ที่ปลอดภัย เป็นต้น

    http://www.kanlayanatam.com/booknaenam_.htm

    เเละอีกเล่มคือ

    หนังสือสมาธิเพื่อชีวิต
    รวบรวมคำสอนของครูบาอาจารย์

    เล่มนี้นั้นดีมากๆครับ อ่านเเล้วคิดได้ทุกหน้าเลย สนใจก็โหลดไปอ่านกันนะครับ เจริญในธรรมครับ

    http://dhammasatta.igetweb.com/index.php?mo=21&list&catid=1179
     
  4. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ความรู้สึกตัวบริสุทธิ์

    เขมานันทะ​


    ในการภาวนานั้นเราต้องทำตั้งแต่บัดนี้จนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย แต่เราช่างมีโอกาสน้อย แค่สามวัน เราอย่าทำให้เป็นเรื่องปิกนิก เรามาเพื่อจะกินอาหารอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อจะกินข้าวของชาวบ้านที่นี่ เรามาสัมผัสชีวิต เรามาดื่มกินความรู้สึกตัวบริสุทธิ์ซึ่งเป็นอาหารอมตะ เราจะอยู่รอดปลอดภัยและเราจะช่วยให้ลูกเมียและสามีของเรา เพื่อนมนุษย์ของเราได้อยู่รอดปลอดภัยด้วยความรู้สึกตัวนี้ สติปัญญาเกิดขึ้นภายในตัวคนหนึ่ง เป็นเสมือนเชื้อไฟที่ลุกขึ้นในป่า ต่อจากนั้นจะลุกลามไปรอบข้าง การที่เรามาภาวนาเช่นนี้ก็เพื่อตัวเองด้วย เพื่อสังคมด้วย เพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น

    ถ้าสมมติว่าในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในภาวะสงคราม ไม้ขีดหมดไป ก็จะพบว่าไฟมีค่ามาก เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่แล้วผมยังเด็ก อาศัยอยู่ในชนบท หาไม้ขีดไม่ค่อยได้เลย ดังนั้นบ้านของป้าหรือน้าต้องเลี้ยงไฟกันทั้งคืน จุดไฟแล้วก็ต่อไว้เรื่อยๆ นี้ฟังจากปากผู้เฒ่าผู้แก่ บ้านไหนไฟดับก็ต้องตามล่าไฟกัน

    ในการภาวนานั้นให้เรามีสติอยู่ เลี้ยงเชื้อตัวรู้ไว้เรื่อยๆ พอเราอ้าปากพูดมากเท่านั้นเองมันก็หายไปแล้ว ตอนนั้นลืมตัวไปแล้ว ดังนั้นเราควรพูดกันให้น้อย ดูใจกันให้มาก หลักเกณฑ์ในการภาวนานั้นมีอยู่ว่า บ่มความรู้สึกตัว บ่มรู้ดูใจ ลุกขึ้นเดินจงกรม บ่มรู้ ดูใจ อย่ามัวถามปัญหา

    มนุษย์ไม่อาจเข้าถึงความจริงได้ด้วยคำพูดและความคิด ดังนั้นป่วยการที่จะถามใครอื่น เรื่องของเรา เรารู้ดี เมื่อเราปวดฟัน เราไม่ต้องไปหาหมอแล้วถามว่าเราปวดฟันหรือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องโง่เกินไป หรือเมื่อหายปวดฟัน เราไม่ต้องไปถามว่าหายหรือยัง แต่เราอาจต้องถามถึงวิธีการรักษาโรคฟันว่าทำอย่างไร เพราะเราไม่ใช่หมอ เราอาจถามว่าปฏิบัติธรรมอย่างไร แต่อย่าเที่ยวถามเรื่องของเรากับคนอื่น

    สมัยก่อนผมชอบซักถาม จนกระทั่งเป็นที่น่ารำคาญของครูบาอาจารย์ ถามทุกเรื่องเพราะความขี้สงสัย แต่มีอยู่วันหนึ่งซึ่งผมจะเล่าฝากไว้ ผมฟังหลวงพ่อเทียนเทศนา ซึ่งส่วนไหนที่ประสบการณ์ของผมถึง ผมก็ไม่สงสัยในถ้อยคำของท่าน ท่านพูดถึงตอนหนึ่งซึ่งทำให้ผมบังเกิดความสงสัยขึ้นมา เพราะประสบการณ์ของผมไม่พอที่จะรับความรู้ระดับนั้น

    ความคิดสงสัยก็เกิดขึ้นว่า ข้อความอันนี้มันมาอย่างไร หมายถึงอะไรกันแน่ เพราะเรางง ไม่เข้าใจส่วนสุดของมัน ส่วนลึกของมัน เพราะคำพูดประโยคหนึ่งนั้นมีความหมายทั้งส่วนตื้น ส่วนกลาง ส่วนสุด ผมไม่เข้าใจส่วนสุด แต่เข้าใจส่วนตื้น เข้าใจว่าประโยคนี้ผมฟังออก คิดตามได้ แต่ส่วนลึกจริงๆ ผมงง สงสัย เกิดความคิดขึ้นมาว่าเดี๋ยวต้องถามท่าน

    พอหลวงพ่อเดินกลับกุฏิ ผมก็ไปดักหน้า พออ้าปากจะถามปัญหา ผมเห็นแววตาของท่าน ผมลืมปัญหา เพราะหลวงพ่อไม่ใช่นักปราชญ์ ท่านไม่ใช่สัญลักษณ์ของนักคิด แต่ท่านเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่อยู่เหนือความคิด ท่านมองหน้าผม ผมก็เลยลืมคำถาม ท่านบอกผมว่า ลืมคำถามใช่ไหม งั้นดีแล้ว ทิ้งมันไปเลย อย่าไปยุ่งกับมันอีก

    ตั้งแต่วันนั้นผมไม่เคยถามใครเลย พอคิดจะถามก็รู้ตัว เห็นความสงสัยเลยหายสงสัย เรียนตรงเข้าไปที่หัวใจ คัมภีร์แปดหมื่นสี่พันนั้นเปรียบเสมือนต้นไม้ทั้งป่าซึ่งหยั่งรากลงดิน รู้จักดินแล้วก็ใช้ได้ รู้จักใจตัวเองแล้วความรู้จะมาเอง

    ปฏิบัติมากซาบซึ้งมาก ปฏิบัติน้อยซาบซึ้งน้อย

    เมื่อเราภาวนา ให้เอาใจเป็นหลักรู้ อย่าไปรู้ที่คนอื่น ที่อื่น ให้รู้ตัวมากๆ เอาความรู้สึกสดๆ เป็นที่ตั้ง รู้เข้าไปในตัวเอง แล้วบ่มความรู้ตัวมากๆ เหมือนแม่ไก่กกไข่ หรือชาวนาชาวสวนเก็บผลไม้ดินมาบ่มให้สุกหอมหวาน เมื่อบ่มรู้ดูใจนานๆ เมื่อมันสุกงอมหอมหวานแล้วจะรู้เองว่าธรรมะมีรสชาติอย่างไร เดี๋ยวนี้เราอาจปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับที่พวกเซนเขาเรียกว่า “สำรวจรายการอาหาร” สำรวจจนน้ำลายสอ แต่ยังไม่ได้ลิ้มรส เพราะเรามัวแต่คิดเรื่องธรรมะ

    ตอนที่ผมเป็นพระอยู่ ได้สนทนากับเพื่อนพระเรื่องพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์กันจนสว่างคาตาไม่รู้กี่คืน แต่ไม่รู้เรื่องภาวนา ไม่รู้จักการภาวนา อย่างนั้นจะได้อะไรล่ะ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่า เหมือนคนที่เลี้ยงวัวคนอื่นโดยที่ตนไม่ได้ดื่มนมวัว ดังนั้นเราอย่าสนใจสิ่งอื่น การปฏิบัติธรรมนี้ต้องโดดเดี่ยว แต่อย่าแตกแยกจากคนอื่น ให้โดดเดี่ยว แต่อย่าปลีกเปลี่ยวออกไป เราอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูง แต่ดูใจตัว ยิ่งโดดเดี่ยวได้ดีเท่าไร ก็จะรู้ตัวดีเท่านั้น ปฏิบัติถูกต้องสัมผัสเท่าไร ก็จะรู้เท่านั้น ปฏิบัติมากจะรู้มาก ซาบซึ้งในธรรมะมาก ปฏิบัติน้อยก็จะซาบซึ้งน้อย คนเราถ้าไม่ซาบซึ้งในธรรมะแล้ว ต้องซาบซึ่งในโลกแน่ ทั้งเรื่องสมบัติพัสถาน เรื่องอาหารเช้า อาหารเย็น มื้อนี้จะกินอะไร ดูวุ่นวายติดรส ล้วนแล้วแต่แสดงว่าเราได้หลุดออกมาจากความรู้สึกตัวทั้งสิ้น

    เมื่อเราจงกรม บ่มรู้ ดูใจ ใช้สถานที่สงัดเงียบโดยไม่ต้องทำอะไรเลย แค่รู้ตัวเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานธรรมชาติจะขัดเกลา เราจะรู้สึกถึงความเกลี้ยงๆ ความสากสถุลหายไป เช่น คำพูดหยาบๆ จะไม่ค่อยหลุดออกจากผู้รู้ตัว การกระทำที่หยาบจะไม่ออกมา ในที่สุดก็ประณีตขึ้น การงับประตูก็ดี การล้างถ้วยล้างชามและการสวมเสื้อก็ดี เริ่มแปรสภาพไป เรียกว่าเนียนขึ้นก็ได้ ลึกซึ้งขึ้นในตัวเอง ซาบซึ้งในชีวิตขึ้น เรียกร้องต้องการจากผู้อื่นน้อยลง อย่าไปเรียกร้องอะไรจากแม่ครัวที่นี่มากนักนะ สงสารเขา เขาเป็นชาวบ้านป่าเราเป็นชาวเมือง ไปบอกเขาว่าวันนี้จะกินผัดถั่ว ไข่เจียว เขาทำให้ไม่ได้หรอก ถึงแม้ได้ก็ไม่สมควรอยู่ดี ตรงกันข้าม คุณต้องช่วยเขาด้วยซ้ำไป รู้ตัวมากๆแล้วจะต้องการน้อย ถ้าเราไม่รู้สึกตัว โลกนี้จะกลายเป็นแหล่งที่เราเกิดมาเพียงเพื่อเรียกร้องรุมกันแทะทึ้งทั้งโลก

    หาที่จงกรมของตัว ไปเดินในที่ตัวเองเคยเดินแล้วสงัดเงียบดี โดดเดี่ยว รู้สึกตัว ทำได้อย่างนี้เรื่อยๆ ไม่ช้าไม่นานเราจะพบว่า เรากลายเป็นบุคคลที่เริ่มนับถือตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง มีความรักชีวิตและรู้จักปกป้องชีวิตคนอื่นด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง เมื่อรู้ตัวมากๆ ความรู้สึกตัวนั้นเองทำให้เราปกติ จิตใจไม่โลเล ไม่ท้อถอยง่ายๆ สติปัญญาหนักแน่นและเพิ่มพูนขึ้น ความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ก็มีขึ้นอย่างง่ายดาย ตามธรรมดาเราอยากเมตตาผู้อื่นแต่พอเราเมตตาแล้ว เขาไม่ยอมให้เมตตา เราก็บันดาลโทสะใส่ เป็นเสียอย่างนั้น

    หาที่เดินจงกรมหรือนั่งพักอย่างโดดเดี่ยว ทำให้ตื่นตัว ตื่นกาย ตื่นจิต รู้กาย รู้จิต ขับไล่ความง่วงออกไป เคลื่อนมือเป็นจังหวะอย่ามัวประดิดประดอย ให้ทำง่ายๆ เคลื่อนแล้วหยุด ทุกครั้งที่หยุด มันจะหยุดเข้าไปในเลือดเนื้อ ในวิญญาณ หยุดโลกทั้งโลก เมื่อเคลื่อนก็รู้ หยุดก็รู้ ทำอย่างนี้ ไม่ช้าไม่นานทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกเปิดเผยอย่างแจ่มแจ้ง ในการภาวนานั้น อยู่ดีๆ จะให้ถึงที่สุดเลยย่อมไม่ได้

    ฟังผมพูดแล้วทิ้งให้หมด ให้เหลือแต่ความรู้ตัวอย่างเดียว แล้วบากบั่นรักษาให้ต่อเนื่องก็พอ ครั้นได้วาระอันเหมาะสมก็จะคลี่คลายหายสงสัยไปเอง.


    จากหนังสือ ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ (หลวงพ่อเทียนที่ข้าพเจ้ารู้จัก)
     
  5. ผู้พันจุ่น

    ผู้พันจุ่น เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    1,396
    ค่าพลัง:
    +2,983
    ระหว่าง 1.เราผัสสะแล้วพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ กับ 2.ผัสสะแล้ว กำหนดรู้....ปล่อยวาง

    2 วิธีนี้ ใครมีความคิดเห็นว่า 1 หรือ 2 จะเป็นวิธีที่ดีกว่ากัน ต้องลองดู.........
     

แชร์หน้านี้

Loading...