การเร่ร่อนของจิต

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 29 สิงหาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    <TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR><TD>
    [​IMG]

    วันนี้จะเทศน์ถึงเรื่อง "จิตของคน" จิตของคนเราย่อมเร่ร่อนไปในสถานที่ต่างๆ ในคนปกติเรียกง่ายๆ ว่า ท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ คนเราเกิดขึ้นมาเป็นคนที่แสนดีที่สุด อันใดจะเสมอด้วยการเป็นมนุษย์ของเราเป็นไม่มี ใครจะเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ มนุษย์นี่แสนดีเหลือดี

    เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ท่านบอกว่า มันเที่ยวไปในภพต่างๆ มันต้องวนเวียนอยู่นภพเหล่านี้ เรียกว่า สังสารวัฏ กายไม่ได้ไปหรอก แต่ใจมันไป อันใจที่มันเที่ยวไปนั้นน่ะ เป็นเหตุให้ไปเกิดในภพนั้นๆ เมื่อกายดับแล้ว

    ภพที่มนุษย์ของเราท่องเที่ยวอยู่มากที่สุด เรียกว่า กามภพ ภพอันนี้มันเสวยกาม มีสุขเป็นเครื่องอยู่ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านี้แหละเป็นเครื่องอยู่

    รูป เมื่อเห็น รูป เราก็สำคัญว่า ของสวยสดงดงามเป็นเหตุให้เพลิดเพลินเจริญใจ มีความสุขความสบาย อันที่จริงรูปมันก็ไม่ใช่จะเป็นของดิบของดีอะไรหรอก เกิดขึ้นมาแล้วต้องแตกต้องสลายดับสูญไปเป็นธรรมดา แต่คนเราก็เสวยอารมณ์ จากรูปนั่นแหละ มาเสวยความสุข พอรูปปรากฎก็เอามาเสวยความสุข ว่ารูปสวยสดงดงามอะไรต่างๆ ตามจินตนาการของตน ที่คิดว่าเป็นของสวยสดงดงาม แท้ที่จริงมันก็อยู่ตามเรื่องของมัน

    เสียง ก็เหมือนกัน เสียงก็สักแต่วา คือลมอันหนึ่ง ปรากฎเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป แต่จินตนาการของคนเราว่าเป็นของดี เป็นของน่าเพลิดเพลินเจริญใจ ก็ชอบอกชอบใจเสียงอันนั้น

    กลิ่น ก็เหมือนกัน ทั้งกลิ่นเหม็นกลิ่นหอมสารพัดทุกอย่าง กลิ่นเหม็นก็ไม่ชอบ กลิ่นหอมก็ชอบใจ แต่แท้ที่จริงนั้น กลิ่นมันก็อยู่ตามเรื่องของกลิ่น แต่คนเราไปสัมผัสเขา ก็เข้าใจว่าเป็นกลิ่นดีกลิ่นชอบ เลยเสวยเอากลิ่นนั้นเป็นอารมณ์


    รส โผฏฐัพพะ ก็เช่นเดียวกัน ทั้ง 5 ประการนี้เรียกว่า กาม

    คนเราเกิดอยู่ใน กามภพ ก็ต้องเสวย กามารมณ์ อยู่ใน กามภูมิ ก็ต้องเสวย กามารมณ์ ที่เรียกว่าอยู่ในภูมิ ๕

    ภูมิ ๕ นั้น ได้แก่ มนุษย์ สัตว์ เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย เป็น ๓ ขั้นต่ำจากมนุษย์ลงไป ก็เป็นมนุษย์นี่แหละไปเกิด มนุษย์นั่นแหละไปเสวยอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดี หรืออารมณ์ชั่ว ถ้าอารมณ์ชั่วก็เสวยทุกขเวทนา ถ้าอารมณ์ดีก็เสวยสุขเวทนา ในอารมณ์ทั้ง ๕ นั่นอยู่ในกามภพนี่ทั้งนั้นมนุษย์นี่แหละเป็นคนไปเสวย

    ส่วนสูงขึ้นไปกว่ามนุษย์ เรียกว่า เทพ จะเป็นเทพ ก็มนุษย์นี่แหละไปเกิดเป็นเทพ เพราะอารมณ์ดี เพราะอารมณ์สบายเบิกบาน จึงค่อยไปเกิดเป็นเทพ มนุษย์เรามันปรุงมันแต่งให้เกิดวิมานขึ้นมา เป็นวิมานเปรต วิมานอสุรกาย แล้วเป็นภูมิของสัตว์เดรัจฉาน คนเราไม่ชอบของเลวทราม แต่หาก อดกลั้นไม่ได้

    เรื่องกิเลสของคนเรามันบันดาลให้ปรากฎขึ้นมา อย่างเช่นมนุษย์ดีๆ ธรรมดานี่แหละ ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตคิดในทางที่ชอบ แต่ว่าอยู่นานๆ ไป มันเลยกลายไปเป็นเปรต ตัวเกิดชั่วเลวทราม คิดอยากได้ โลภมากอิจฉาริษยา เบียดเบียนคนอื่น เพราะนิสัยอันนั้นแหละ เลยกลายจากมนุษย์ไปเป็นเปรต เวลาตายก็เลยต้องไปเป็นเปรตจริงๆ

    ครั้นเมื่อพ้นจากเปรต ก็มาเป็นมนุษย์ทุพพลภาพ อ่อนเปลี้ยเสียข อวัยวะต่างๆ พิกลพิการ ทำมาหากินเลี้ยงชีพตนเองไม่ได้ ต้องอาศัยคนอื่น เป็นคนปัญญาอ่อนนั่นเอง พึ่งตนเองไม่ได้ เรียกว่า อสุรกาย อสุระ แปลว่า อ่อนเปลี้ย อสุรกาย แปลว่า กาย่อนเปลี้ย กายไม่กล้าแข็ง

    มนุษย์เราทั้งนั้นแหละ ไปปรุงไปแต่งเอาให้เกิดในคตินั้นๆ อันการที่จะไปเกิดเป็นเปรต ก็เพราะมนุษย์นี้ไปปรุงแต่งเอาตั้งแต่เป็นมนุษย์อยู่ ตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต เพราะผลกรรมที่ไปเกิดเป็นเปรตนั่นแหละ พ้นจากนั้นแล้วก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย

    คนทั้งหลายที่เห็นโทษเห็นทุกข์ในเรื่องเหล่านั้น เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี เห็นว่า เขาไม่มีอิสระ เห็นว่า เขาเลวทราม ทนทุกข์ทรมานใช้กรรมวิบาก เบียดเบียน อิจฉาริษยากัน ไม่มีเสรีภาพในตัวของตัวเอง ไม่มีคนปกปักษ์รักษา ไม่มีกฎหมายบ้านเมืองมาคุ้มครอง

    เมื่อเห็นทุกข์อย่างนั้น ก็อยากจะสร้างคุณงามความดี ทุกข์ทั้งหลายก็เป็นของดีเหมือนกัน เมื่อเห็นทุกข์จึงค่อยอยากจะพ้นทุกข์ จึงค่อยทำตัวดิบทำดีขึ้น

    ทำดีก็คือ งดเว้นเสียจากความชั่ว ที่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดมิจฉาจาร พูดมุสา นี่เอง


    ที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาในละชั่ว ก็คือว่า ให้ตั้งอยู่ใน ศีล นั่นเอง มีความเบิกบานในใจ ด้วยเหตุที่ว่าเราไม่ได้ทำความชั่ว มองดูแง่ไหนก็มีแต่ความดี ความบริสุทธิ์ด้วยกายด้วยใจของเรา ผุดผ่องในสะอาดบริสุทธิ์ ก็เกิดร่าเริงบันเทิงใจ อิ่มอกอิ่มใจอยู่ในโลกอันนี้ เมื่อละโลกนี้แล้ว ก็ไปเกิดในสุคติ ท่านจึงว่า

    อิธ โมทติ เปจฺจ โมติ กตปุญฺโญ อุภยตฺถ โมทติ
    โส โมทติ โส ปโมทติ ทิสวา กมฺมวิสุทฺธินตฺโต

    ผู้ทำบุญแล้ว เมื่ออยู่ในโลกนี้ ก็ร่าเริงบันเทิง ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ร่าเริงบันเทิง อิ่มอกอิ่มใจทั้งสองโลก โลกนี้และโลกหน้า

    ได้เห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้วย่อมบันเทิงปราโมทย์ เราจึงเชื่อของเราตั้งแต่เมื่อเราเป็นมนุษย์นี่แหละ อันนี้เรียกว่า "กามโลก"

    โลกที่ ๓ อย่าง คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก

    ได้อธิบายถึงเรื่อง กามโลก มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเครื่องเสวยไปแล้ว

    รูปโลก คนที่เห็นโทษเห็นทุกข์ในกามโลก เจริญภาวนาทำสมาธิ ละอารมณ์ภายนอก และเข้าไปสู่อารมณ์ภายใน เพลิดเพลินยินดีอยู่กับภายใน เช่น ละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ภายนอก แล้วเข้าไปอยู่ภายใน

    รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ภายในยังมีอยู่ อิ่มอกอิ่มใจ เพลิดเพลินเจริญใจ เมื่อเห็นรูปก็ดี หรือฟังเสียงกระซิบกระซาบก็ดี ถูกกลิ่น ลิ้มรสภายในใจ โผฏฐัพพะเกิดขึ้นในใจ แล้วยินดีพอใจในเรื่องเหล่านี้ อันนั้นแหละถึงเรียกว่า "พรหม" คือ รูปพรหม เอารูปมาเป็นอารมณ์ อยู่กับอารมณ์รูปภายในนั่นแหละ

    อรูปโลก ครั้นเห็นโทษทุกข์ในการที่มีรูปนั้น เป็นกังวลเกี่ยวข้องพัวพันสารพัดทุกอย่าง ไม่อยากพบไม่อยากเอา ไม่เอาไม่ถือเอาเสียเลย เอาแต่จิตที่มันสงบเยือกเย็น เป็นความสงบจนเกือบจะไม่ไปปรากฎเลย ความสุขอันนั้นมันละเอียดลงไป จนถือเอาว่า เป็นพระนิพพาน อันนั้นเรียกว่า อรูปพรหม

    รูปพรหม อรูปพรหม นี่ยากนัก น้อยคนที่จะได้ท่องเที่ยวโดยมากมักได้ท่องเที่ยวอยู่ใน กามคุณ อยู่ใน กามโลก เที่ยววนเวียนไปเวียนมาอยู่นี่แหละ ไม่ถึงรูปพรหม อรูปพรหมสักที มนุษย์ชาวโลกของเราเที่ยวอยู่อย่างนี้

    มนุษย์ชาวโลกของเราทุกคน แต่งให้เป็นโลกขึ้นมาด้วยใจตนเอง เราเป็นมนุษย์ก็จริงหรอก แต่เราไปแต่งเอาเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน (ดังที่ได้อธิบายมา) แล้วก็มนุษย์ของเรานี่แหละไปปรุงแต่งให้เป็นพรหม รูปพรหม อรูปพรหม แต่น้อยนักน้อยหนา อันนั้น เรียกว่า "ท่องเที่ยวในโลก"


    ท่องเที่ยวในธรรม มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ธรรมนี้ก็ไม่ใช่อื่นไกลอะไร ก็คือโลกนี่เอง พิจารณากามโลกนี่แหละแต่ว่า ให้มันเป็นธรรม มันเบื่อมันหน่าย มันสลดสังเวช พิจารณาอยู่ตลอดเวลา เห็นโทษทุกข์อยู่ตลอดเวลา ไม่เห็นสิ่งอื่น เห็นกามโลก เป็นเครื่องอยู่อย่างนั้นเป็นนิจ เลยกลายเป็นธรรม

    เหตุนั้นจึงว่า คนเราเกิดขึ้นมาต้องมาเที่ยวอยู่ทั้งในโลกทั้งในธรรม แต่โดยมาก ในธรรมไม่ค่อยเที่ยว เที่ยวแต่ในโลก อันนี้แหละ ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่แต่ของเก่า ไม่รู้แล้วรู้รอดไปสักที

    จึงว่า ธรรมของเก่า ไม่ใช่มีของใหม่ เที่ยวไปเถิดเที่ยวไปเท่าไรก็เที่ยวไปเถิด อยู่ในกามโลกนี้ทั้งนั้น ไปๆ มาๆ ก็กลับมาของเก่า วนเวียนอยู่ในของเก่านั้นเอง ตายแล้วก็มาเกิดเอาของเก่าอีก ตายแล้วเป็นเดรัจจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เวียนไปเวียนมาก็กลับมาเป็นมนุษย์อีก บุญกุศลวาสนาบารมีส่งให้เป็นมนุษย์อีก แล้วก็กลับทำชั่วทุจริต ประพฤติผิดไปต่างๆ ตกต่ำเลวทรามลงไป

    กว่าที่จะได้มาเป็นมนุษย์ยากแสนยาก เป็นกัปป์เป็นกัลป์อนันตชาติ จึงจะคืนฟื้นฟูขึ้นมาเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์แล้วกระทำชั่วก็ลงไปอีก เหตุนั้นสัตว์โลกที่ต่ำช้าเลวทราม ตากต่ำลงไปมีมากแสนมากจนนับไม่ถ้วน มนุษย์ของเราไม่เท่าไร หลายชาติหลายประเทศ ก็ยังมีกำหนดนับถ้วน สัตว์นับไม่ถ้วนเลย

    คำว่า "สัตว์" ในที่นี้ ได้แก่ สัตว์เดรัจฉาน ก็ยังมีน้อยนิดเดียว สัตว์อื่นมากกว่านั้นอีก เป็นมดเป็นปลวก อยู่ในน้ำ บนบา สารพัดทุกอย่าง นับไม่ถ้วยเลยอันที่มันจะไปเกิด

    มนุษย์ที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี่จึงว่าบุญนักบุญหนา เป็นโชคลาภอันดีที่สุด ควรที่จะยินดีพอใจในธรรมของมนุษย์เรา คือ มีศีลธรรมเป็นเครื่องอยู่ อย่าให้มันเลวทรามลงไป หากว่ามันต่ำชั่วเลวทรามลงไปแล้ว มันยากที่จะเกิดเป็นมนุษย์ ดูสัตว์เช่น วัว ควาย เป็นต้น มัได้ทำบุญที่ไหน เมื่อไรมันจะได้เกิดเป็นมนุษย์สักที มันแสนยาก

    มนุษย์ของเรานี่ยังมีโอกาสได้ทำความดี ทำดิบทำดีมันจึงค่อยเจริญขึ้นไป ทำชั่วมันก็ต่ำช้าเลวทรามลงไปอีก เหตุนั้นจึงว่า คนเราควรที่จะยินดีพอใจในธรรมที่เป็นของมนุษย์

    นี่อธิบายถึงเรื่อง คนเราเป็นของดีแล้ว ได้สมบัติอันประเสริฐอย่างยิ่ง สามารถที่จะสร้างมนุษย์ให้เป็นเทวบุตร เทวดา อินทร์พรหมก็ได้ สามารถที่จะสร้างให้เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรตอสุรกายได้หมด มนุษย์ตัวเดียวเท่านั้นแหละ เป็นก่อให้เกิดในภพนั้นในคตินั้น ถ้ามนุษย์ไม่เป็นมนุษย์เสียแล้ว ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำ โอกาสที่จะได้ทำให้เกิดให้เป็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีเสียเลย มนุษย์เท่านั้นเป็นของประเสริฐ มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้


    เจริญในธรรมค่ะ</TD></TR></TBODY></TABLE>
    ที่มา : หนังสือพระธรรมเทศนา***หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
     

แชร์หน้านี้

Loading...