การเทศน์ในพระบรมหาราชวัง

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย NATTAYA nurse, 26 ธันวาคม 2009.

  1. NATTAYA nurse

    NATTAYA nurse เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2009
    โพสต์:
    95
    ค่าพลัง:
    +781
    เรื่องการเทศน์ในพระบรมหาราชวัง และที่อื่น

    [​IMG]


    "....โดยปรกติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกทรงธรรม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมเสมอ พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้อยู่ในกำแพงพระบรมมหาราชวัง เป็นทั้งท้องพระโรงสำหรับรับแขกเมืองและเสด็จออกขุนนางตามปรกติด้วย ณ พระที่นั่งนี้แลได้โปรดฯให้นิมนต์สมเด็จพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยนเวรกันเข้าไปถวายพระธรรมเทศนา และในโอกาสหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ถูกนิมนต์เข้าไปถวายเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง กำหนดถวายเทศน์ติดต่อ ๓วันจบ ในวันแรกการถวายเทศน์ได้ดำเนินไปตามปรกติ ครั้นพอย่างเข้าวันที่๒ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะทราบได้ทางใดทางหนึ่งไม่ปรากฏว่า วันนี้เจ้าจอมองค์หนึ่งกำลังจะประสูติพระเจ้าลูกยาเธอ และขณะที่ถวายพระธรรมเทศนาอยู่นั้น สังเกตได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการกระสับกระส่าย จึงทรงถวายเทศน์อยู่เป็นเวลานานจนเสียงมโหรีประโคมขึ้น แสดงว่าพระเจ้าลูกยาเธอทรงประสูติแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯก็จบพระธรรมเทศนาลงด้วยเหมือนกัน
    ครั้นวันที่ ๓พอเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขึ้นธรรมมาส์น ตั้ง นโมและบอกศักราชตามธรรมเนียมแล้ว ก็ถวายพระธรรมเทศนาว่า
    "อันธรรมะใดๆ มหาบพิตรก็ทรงแจ้งอยู่แล้ว เอวํก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร"
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงพระดำรัสถามขึ้นว่า "เมื่อวานนี้มีธุระอยากจะให้เทศน์จบเร็วๆกลับเทศน์เสียนาน วันนี้ใจคอสบายอยากฟังนานๆ กลับเทศน์ห้วนอะไรเช่นนี้" เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงถวายพระพรว่า "เมื่อวานนี้มหาบพิตรทรงไม่สบายพระราชหฤทัย สมควรจะได้สดับพระธรรมให้มากๆ เพราะพระธรรมเท่านั้นจะกล่อมพระอารมณ์ที่ขุ่นมัวให้สิ้นได้ แต่วันนี้พระองค์ทรงพระสำราญพระราชหฤทัยดีแล้วไม่ต้องฟังพระธรรมมากนักก็ได้" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อได้ทรงสดับเช่นนี้ก็พอพระทัยยิ่งนัก
    คราวหนึ่ง ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณธรรมกิตติ ถูกนิมนต์เทศปุจฉาวิสัชนาคู่กับเจ้าคุณธรรมอุดม(สมณศักดิ์อันนี้ได้มาเปลี่ยนเป็น "ธรรมวโรดม" ในรัชกาลที่ ๔) วัดเชตุพนฯ เมื่อใกล้จะจบ เจ้าคุณธรรมอุดมได้เทศน์แถมท้ายเป็นปริศนาว่า "พายเถอะหนาพ่อพาย ตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า" โดยไม่ทันรู้ตัวมาก่อนว่า เจ้าคุณธรรมอุดมจะเทศน์ในลักษณะนี้ แต่ด้วยปฏิภาณอันเฉียบแหลมเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เข้าใจความหมายได้ทันที (เจ้าคุณธรรมอุดมหมายความว่า อันมีชีวิตของมนุษย์เรานี้สั้นนัก จงเร่งสร้างการกุศลและยึดธรรมะเป็นที่พึ่งเถิด เพราะความตายย่างใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว มิฉะนั้นจะเป็นการสายเกินไป) จึงเทศน์แก้ออกไปทันทีว่า
    "ก็โซ่ไม่แก้ ประแจไม่ไข จะพายไปไหว หรือพ่อเจ้า"
    อันเป็นความหมายว่า มนุษย์เรานี้เต็มไปด้วยกิเลสและสังโยชน์ (สังโยชน์ ๑๐ "เครื่องร้อยรัด ๑๐ ประการ ซึ่งได้แก่
    ๑. สักกายทิฎฐิ การหลงตัว (The illusion of self)
    ๒. วิจิกิจฉา ความคลางแคลง (Skepticism)
    ๓. สีลมพัตตปรามาส การยึดถือเพียงพิธี ( Attachment to Rites and Ceremonies)
    ๔.กามราคะ ความยินดีในกาม (Sexual lust)
    ๕. ปฏิฆะ ความโกรธ (Ill-will)
    ๖. รูปราคะ ความอยากมีชีวิตอยู่ในโลกที่มีรูปบริสุทธิ์ (Craving for lift in the world form)
    ๗. อรูปราคะ(Craving for lift in the world)
    ๘. มานะ ความเย่อหยิ่ง (Pride)
    ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (Agitation)
    ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้ (Ignorance) )อันเป็นเครื่องร้อยรัด
    และไม่พยายามตัดเครื่องร้อยรัดเหล่านี้ออกเสียจะก้าวเข้าสู่อาณาจักรแห่งพระโลกกุตรธรรมได้อย่างไร?

    เรื่องเทศน์สิบสองนักษัตร์
    คราวหนึ่งท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ผู้หนึ่ง (ค้นนามไม่พบ) ได้ให้คนใช้มานิมนต์เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปเทศน์เรื่อง อริสัจจ์ ๔ แต่คนใช้ผู้อ่อนการศึกษา ไม่เคยได้ยินคำว่า อริยสัจจ์ มาก่อน จึงเมื่อมาถึงวัดระฆังฯ แล้วก็ลืมเสียสนิท ไพล่ไปจับเอาคำว่า ๑๒ นักษัตร์ ซึ่งเคยได้ยินอยู่บ้าง มาแทน และไปนิมนต์เทศน์ผิดเรื่อง แต่ท่านก็รีบรับคำโดยดุษดี พอถึงกำหนดเทศน์หลังจากอาราธนาให้เบญจศีล และเบญจธรรม และบอกศักราชเรียบร้อยแล้ว ก็ดำเนินเรื่องบทสิบสองนักษัตร์ทันที มีพลความดังนี้
    อันว่า มุสิโก ว่าปีชวด, อุสโภ ว่าปีฉลู, พยัคโฆ ว่าปีขาล, สะโส ว่าปีเถาะ, นาโค ว่าปีมะโรง, สัปโป ว่าปีมะเส็ง, อัสโส ว่าปีมะเมีย,เอฬโก ว่าปีมะแม, มักกะโฎ ว่าปีวอก, กุกกุโฎ ว่าปีระกา, สุนโข ว่าปีจอ, สุกโร ว่าปีกุน.ชื่อเหล่านี้เป็นของสมมุติเรียกขึ้น เพื่อกำหนดวัสแห่งรอบ ๑๒ ปี นอกจากนี้ยังแบ่งซอยเป็นมาส เอาชื่อลักษณะของกลุ่มดวงดาวบนท้องฟ้ามาขนานนาม เช่น เมษ ว่าดาวรูปแกะ, พฤษภ ว่าดาวรูปวัว, มิถุน ว่าดาวรูปคนร่วมเพศ, กรกฎ ว่าดาวรูปปู, สิงห์ ว่าดาวรูปราชสีห์,กันย์ ว่าดาวรูปหญิงงาม, ตุล ว่าดาวรูปคันชั่ง, พฤศจิก ว่าดาวรูปแมลงป่อง, ธันว์ ว่าดาวรูปธนู, มกร ว่าดาวรูปมังกร (แพะ), กุมภ์ ว่าดาวรูปหม้อ, มีน ว่าดาวรูปปลา.นอก จากนี้ ยังจับเอาชื่อของพระเคราะห์สำคัญ ๗ ดวง มาขนานนามว่าเพื่อแบ่งซอยเวลาลงไปอีก คืออาทิตย์ จันทร์อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์
    เมื่อเจ้าพระคุณเทศน์เช่นนี้ ทำให้ท่านเจ้าของบ้านและผู้คนที่มาฟังเทศน์ในวันนั้น เกิดความฉงนสนเท่ห์ในใจไปตามๆ กัน แต่ต่างก็สงบใจสดับเทศนาของท่านต่อไป เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เทศน์ต่อไปว่า เป็นกุศลอันหนักหนาสำหรับท่านที่มาฟังพระธรรมเทศนาในวันนี้ ด้วยเหตุที่เป็นความบังเอิญที่ผู้นิมนต์คงจะจำเรื่องผิด จำเรื่องอริยสัจจ์ไม่ได้ กลายเป็นสิบสองนักษัตร ไปเสีย แต่เป็นความบังเอิญที่เหมาะสม เพราะสิบสองนักษัตร์เป็นสมุฎฐานแห่งวาระกรรมของสัตว์โลกอันสังขารนั้นย่อมผันแปรไปตามวาระ ได้แก่การ เกิด, แก่, เจ็บ, ตายเป็นที่แล้ว วาระเป็นเครื่องยื่นยันในหลักธรรมที่ว่า ความเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ และพุทธองค์ได้ตรัสไว้แล้ว ถึงอริยสัจจ์ ๔ ประการได้แก่ทุกข์เป็นของมีจริง สมุทัย ต้นเหตุของทุกข์ มิโรธ ความดับทุกข์ และมรรค หนทางให้ถึงความดับทุกข์
    และเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เทศนาแยกแยะถึงใจความสำคัญแห่งอริยสัจจ์ ๔ อย่างถี่ถ้วน และลงท้ายว่า การเทศน์นสิบสองนักษัตร์นี้ก็มีพวกสาธุชน ที่มาประชุมฟังพระธรรมเทศนาในวันนี้เท่านั้นที่ได้สดับ เพราะไม่เคยมีมาแต่กาลก่อน และจะไม่ปรากฏในกาลต่อไปอีก จึงกล่าวว่า เป็นกุศลอันประเสริฐของท่านทั้งหลาย
    การเทศน์วันนั้นกินเวลานาน เพราะพระคุณสมเด็จฯ ต้องใช้เวลาสาธยายมาตรฐานแห่งวาระให้สอดคล้องเข้าเรื่องสัจจ์ ผู้ที่มาสดับใน วันนั้นต่างปลื้มปิติกันทั่วทุกคน


    เรื่องจุดไต้กลางวัน
    เรื่องประหลาดของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้กล่าวขานกันมากก็คือ การจุดไต้ในเวลากลางวัน กล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ทำปริศนาด้วยการจุดไต้ในเวลากลางวัน ๒ ครั้ง คือครั้งแรก ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวกันว่าในเวลากลางวันวันหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้จุดไต้เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมหาราชวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบจากข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดยุคลบาท ก็เสด็จพระราชดำเนินออกมาท้องพระโรง จึงทอดพระเนตรเห็นเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยื่นถือไต้ ซึ่งติดไฟลุกโพลงอยู่ ก็ทรงเข้าพระทัยในความหมายของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทันทีและทรงตรัสกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า "เข้าใจแล้วขรัวโต" แล้วเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็กลับวัดระฆังฯ โดยไม่ต้องทูลถวายถ้อยคำใดๆเลย เรื่องนี้ผู้เขียนจะขอออกตัวในการให้อรรถาธิบายใด ๆแต่ขอชี้ให้เห็นอัจฉริยภาพระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่าล้วนแต่ทรงมีความสัมพันธ์ทางมโนสัมผัสซึ่งกันและกันได้อย่างน่าสรรเสริญ เข้าในลักษณะที่ว่า "ปราชญ์ย่อมเข้าใจในวิสัยปราชญ์"
    อีกครั้งหนึ่ง กล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จุดไต้ในเวลากลางวันวันอีก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนผลัดแผ่นดินใหม่ ในตอนนั้นสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า "เจ้าพระกลาโหม" ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถือบังเหียนการบริหารประเทศทรงอำนาจเต็ม ในครั้งนี้เองมีเรื่องโจษจันกันทั่วไปว่า เจ้าพระยากลาโหมจะกบฎราชบัลลังก์ ข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าคุณสมเด็จฯ เข้า จึงได้จุดไต้เดินเข้าวังอีก สมเด็จพระปิยมมหาราชออกมารับ และเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นก็ตกพระทัย และทรงตรัสถามว่า "มีความเดือดร้อนประการใดหรือ? พระคุณเจ้า ฟ้า(ทรงใช้คำแทนพระองค์กับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า ฟ้า" เสมอ) ยังอยู่" เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรว่า "เปล่าดอกมหาบพิตร อาตมาถวายพระพร เพราะได้ทราบว่าขณะนี้แผ่นดินนั้นมืดมัวนัก"
    หลังจากจุดไต้เข้าวังแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็จุดไต้ตรงไปยังบ้านเจ้าพระยากลาโหม กล่าวกันว่าเจ้าพระยากลาโหมก็ทราบความหมาย ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เหมือนกันเมื่อนิมนต์ให้นั่งในที่อันสมควรแล้ว จึงได้ถวายความจริงใจแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า"บ้านเมืองยังไม่มืดมนดอกพระคุณเจ้า อย่าได้วิตกเลย" เพียงการกระทำและวาจาสั้นๆ ของบุคคลสำคัญๆ ทำความเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ฟังเช่นนั้นก็กลับวัด
    อนึ่ง เรื่องการจุดไต้ในเวลากลางวันของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้นเผอิญไปพ้องกันกับเรื่องของ โสเครตีส ปรัชญาเมธีแห่งกรุงเอเธนส์ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑ เรื่องราวของโสเครตีส คือในตอนกลางวันวันหนึ่งเขาเดินจุดตะเกียงส่องไปตามถนนหนทาง ในกรุงเอเธนส์ผู้ที่สัญจรไปมารู้สึกสงสัย ก็พากันไต่ถามว่า"ส่องตะเกียงเพื่อประสงค์อันใด" โสเครตีสตอบว่า "ต้องการส่องหาคน"


    การฉันอาหาร
    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นพระที่ฉันอาหารสำรวมเป็นเนื่องนิจ บางโอกาสที่รับบิณฑบาต ชาวบ้านที่ศรัทธาในตัวท่านกำชับว่า ของที่ใส่บาตรนั้นขอให้ท่านฉันให้ได้ ทั้งนี้เพราะชาวบ้านทราบได้ดีว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ฉันสำรวม อันทำให้อาหารมีรสดีที่ตั้งใจจะให้ท่านฉันนั้นเสื่อมรสไป หรือมิฉะนั้นอาหารชนิดใดที่มีรสอร่อยท่านมักจะเอาไปให้ลูกศิษย์หรือสุนัข นก กา กินเสียเป็นการให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อได้รับคำกำชับคราวใด เพื่อฉลองศรัทธาแก่ผู้ถวาย เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะล้วงอาหารให้บาตรออกฉันต่อหน้าผู้ถวายให้ผู้นั้นเกิดความปิติ เมื่อฉันสัก ๒-๓ คำพอเป็นพิธีแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็สวดให้พรด้วยบท ยถาวาริวหา ฯลฯ และสัพพีฯลฯ ทันที และด้วยเหตุนี้เอง ผู้ที่จะใส่บาตรท่านก็มีความเกรงใจไม่กล้ากำชับท่านอีก เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องประหลาดที่ไม่เคยปรากฏว่ามีพระภิกษุองค์ใดกระทำเช่นนี้ แม้ในสมัยพุทธกาล
    เรื่องนี้มีผู้วิจารณ์กันไปในแง่ที่ไม่เหมาะสม แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านมีเหตุผลในการกระทำของท่านนั่นคือการสั่งสอนหรือให้สติผู้อื่นในทางอ้อม
    "พระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ประทานเล่าเรื่องเกี่ยวกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่าพระญาติผู้ใหญ่ของพระองค์ท่านมีบ้านอยู่ไม่ห่างจากวัดระฆังฯ นัก และเป็นผู้คุ้ยเคยกับเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ ได้ไปมาเยี่ยมเยียน ที่บ้านนั้นบ่อยๆ และเมื่อถึงคราวมีงานก็นิมนต์ให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปสวดมนต์ฉันเช้าอยู่เสมอๆ ญาติผู้ใหญ่ของสมเด็จในกรมฯ เล่าให้ฟังว่าขณะที่ท่านรับนิมนต์มาฉันจังหัน ระหว่างเดินมาตามทางท่านมักจะเก็บเอาตำแยและต้นไม้อื่นๆ ที่ใกล้ทางไปด้วย เวลาทานฉัน ท่านก็เอาตำแยใส่ลงในอาหารที่ฉันไม่ว่าหวานหรือคาว เพื่อให้สิ้นความอร่อย ทั้งนี้ เพราะท่านถือว่าอาหารเป็นของกินกันตาย ไม่ต้องการจะให้เพลินในรสของมัน..." (จากหนังสือพิมพ์ "ตำรวจ" ฉบับ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๔ โดย "ฉันทิชัย")



     

แชร์หน้านี้

Loading...