การเจริญกรรมฐานในอิริยาบถต่างๆ ตอนที่ ๓(ตอนสุดท้าย))

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย uncle jing, 19 กันยายน 2008.

  1. uncle jing

    uncle jing เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    366
    ค่าพลัง:
    +219
    บุคคลตัวอย่าง

    ตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า

    “เวลาผมเดินไปไหน ว่างจากกิจ ผมจะเดินเวลา ๑ ชั่วโมง ผมก็เอาเทปสะพายไปด้วย เปิดเทปฟัง ฟัง ๒ หน้า ฟังไปฟังรู้เรื่อง แล้วก็คิดตามไปด้วย ถ้าต้องการเดิน ๒ ชั่วโมง ก็ฟังเทป ๔ หน้า”

    นี่พระองค์ทำอย่างนี้ ในเวลาที่พระองค์ทรงว่างอยู่ พระองค์เวลาประทับนั่งหรือประทับนอน พระองค์ก็ทรงเปิดเทปฟัง เพื่อให้จิตไม่ว่างจากกุศล

    สำหรับบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนถ้าจะพูดกันไป เรามีกำไรมากกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชภาระมาก กว่าจะจะมีภาระว่างใช้กำลังจิตได้จริงๆ ก็แสนจะยาก ใช้เวลาตอนดึก

    สำหรับพวกเราเหล่าพุทธบริษัทมีเวลาตลอดวัน นี่เวลางานก่อสร้างหมดไปแล้ว จะเหลืออยู่ก็เป็นภารกิจของช่าง และจะมีงานอะไรบ้างก็เล็กๆน้อยๆ เวลานั่งอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี เราก็ควรจะฟังเสียงธรรมะไปด้วย หนือว่าถ้าไม่ฟังเสียงธรรมะก็ใช้เวลานั้นพิจารณาหรือภาวนาไปด้วย

    อย่าปล่อยให้กำลังใจของเราให้ว่างอยู่โดยไร้ประโยชน์ ถ้าจิตของท่านว่างอยู่จากการภาวนาหรือพิจารณา ก็ถือว่าท่านขาดทุน เพราะเวลาของท่านมีมาก

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิทธิบาท ๔ จรณะ ๑๕ และ บารมี ๑๐ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

    โดยเฉพาะที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ บารมี ๑๐ ประการ ต้องให้ติดใจบรรดาท่านทั้งหลายอยู่เป็นปกติ แล้วควบคุมด้วย อิทธิบาท ๔ ประการ ระมัดระวังเรื่อง จรณะ ๑๕

    ถ้าจิตของท่านทั้งหลายทรงอยู่อย่างนี้แล้ว ท่านจะใช้คำภาวนาหรือพิจารณาอะไรก็ตาม ความรู้สึกจะเป็นสมาธิได้ง่าย และอารมณ์ของวิปัสสนาญาณก็จะแจ่มใส ผลประโยชน์จะพึงเกิดกับท่าน


    ตัวอย่างการเดินจงกรมของหลวงพ่อ

    เดินจงกรมนี่ถ้าเราจะใช้กันจริงๆ ถ้าหากว่าเราจะใช้กำหนดลมหายใจเข้าออกก็ดี ใช้คำภาวนาก็ดี ใช้การเดินก็ดี

    ถ้ากรรมฐานกองใดได้ในขณะที่ระหว่างเดินนะ กรรมฐานกองนั้นไม่เสื่อม

    ฉะนั้น กรรมฐานที่ผมถนัดนี่ ผมไม่ได้ยกย่องตัว นี่หลายองค์ก้ถนัด ถนัดมากที่สุดก็คือ จงกรม

    จงกรม นี่ผมทำของผมได้หมด ๔๐ กอง แล้วรู้สึกว่าคล่องกว่านั่ง ไอ้นั่งนี่ไม่ถนัดนะผม ถ้าถนัดอีกทีก็นอนไปเลย แน่ะ!

    เพราะมันได้ ๔ อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน

    ยืนกับนั่งนี่ผมไม่ถนัด ผมถนัดนอนกับเดิน

    เดินมันเมื่อย นั่งไม่ไหวก็นอน นอนแผ่ ก็จับอารมณ์ให้มันดีเท่าเดิม

    แต่ไอ้เดินนี่ตั้งอารมณ์ยาก เดินนี่รักษาอารมณ์ยากครับ แต่อีตรงยากๆ นี่ถ้ามันได้ มันไม่มีทางเคลื่อนหรอก เพราะว่ากรรมฐานกองใดถ้าเราได้ฌานเพราะการเดินเราไม่ได้นั่งนิ่งๆ นะ มันเดินนะ มันต้องมีการระมัดระวังมาก มีอาการหนักมาก ต้องใช้กำลังใจสูง

    ปฏิปทาในการเดินธุดงค์

    ฉะนั้น ในโบราณกาลตั้งแต่สมัยผมลงไป ถอยหลังออกไป พระในสมัยนั้นท่านถนัดในการเดินกันมาก และในการทรงฌาน เพราะว่าต้องหนักในการธุดงค์ เวลาที่เราธุดงค์ในป่านี่ เราอยากจะเห็นผี เห็นเทวดา อยากจะรู้เรื่องราวต่างๆ ถ้ามัวไปนั่งหลับตา ดีไม่ดีช้างเหยียบหัวแหลกหมด ใช่ไหม

    เวลาเดินไปจะต้องไม่ประมาท นี่พระธุดงค์จะต้องคิดไว้เสมอว่า เราจะต้องตายทุกขณะจิต ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออกที่เราเดินอยู่ในป่า ตายเมื่อไหร่ก็ได้

    ถ้าเราตายโดยการขาดสติสัมปชัญญะเราไปไหนล่ะ เราก็ไปอบายภูมิ พูดอย่างนี้ฟังยาก หรือว่าเราไปนรกดีกว่านะ ง่ายดี เราก็ไปนรกกัน

    ฉะนั้นการไปธุดงค์นี่ เขาไปกันเพื่อตาย เรามันอาจตายง่านที่สุด แล้วอาการที่มันจะตายในระหว่างธุดงค์ทำอย่างไร เราก็ตั้งใจไว้โดยเฉพาะว่า ถ้าเราตายในระหว่างธุดงค์ เราจะไปพรหม หรือว่าเราจะไปนิพาน

    ไอ้เรื่องสวรรค์แค่ตูดหมานี่ ไม่มีพระธุดงค์เขาไม่ตั้งใจไปหรอก ผมเรียกแค่ตูดหมาใช่ไหม ใกล้นิดเดียว ตานี้ พระธุดงค์เขาตั้งใจอย่างนั้น

    เดินไปคู่กับคำภาวนาไปด้วย

    ฉะนั้น ในโบราณกาลท่านจึงนิยมใช้การเดินจงกรม พวกคุณใช้ก็ได้นี่ เวลากลางคืนเอาหน้ากุฏิของเรา ในกุฏิถ้าอยู่คนเดียวก็ว่ามันคนเดียว เดินในที่แคบๆ ในห้อง ๖ ศอกนี่ผมใช้เดินทีตั้งสามสี่ชั่วโมง ไม่ต้อไปเดินที่ไหน เดินเบาๆ

    เวลาเดินไปก้าวไปข้างหน้ารู้ว่าก้าวไปข้างหน้า เอานี่ก้าวไป ก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวา ถ้ามันไม่ถนัดก็ก้าว พุทโธ พุทโธ ว่าเรื่อยไป หรือไม่อย่างนั้นก็ อิติปิ โส ภควาฯ ให้รู้เท้าเดินด้วย นี่ใช้ได้ ใช้ได้ทั้งหมด จะเอาจุดไหนก็ได้

    หรือว่าจะตั้งนิมิตกสิณขึ้นกองใดกองหนึ่ง เราก็ตั้งใจจับภาพนิมิตกสิณขึ้น เอาใจเห็นแล้ว เราก็เดินไปให้เห็นอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ใช้ได้

    เรื่องที่จงกรมและเรือนไฟ(จาก พระไตรปิฎก)

    สมัยนั้น ทายก ทายิกาในพระนครเวสาลี เริ่มจัดการปรุงอาหารประณีตขึ้นตามลำดับ ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันประณีตแล้ว มีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก

    ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจ ได้ไปสู่เมืองเวสาลี ด้วยกิจจำเป็นบางอย่าง ได้เห็นภิกษุทั้งหลาย มีร่างการอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลาย มีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาสขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุทั้งหลายจักมีอาพาธน้อย”

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้ หมอชีวกโกมารภัจ เห็นแจ้งสมาทานอาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา หมอชีวกโกมารภัจ จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณกลับไป

    พุทธานุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ”

    สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายจงกรมในที่ขรุขระเท้าเจ็บ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำที่จงกรมให้เรียบ”

    สมัยต่อมา ที่จงกรมมีพื้นต่ำ น้ำท่วม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อมูลดินถม ๓ ชนิด คือ ก่อด้วยอิฐ ๑ ก่อด้วยหิน ๑ ก่อด้วยไม้ ๑”

    ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ ๑ บันไดหิน ๑ บันไดไม้ ๑”

    ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”

    สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจงกรมอยู่ในที่จงกรมพลัดตกลงมา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรั้วรอบที่จงกรม”

    สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจงกรมอยู่กลางแจ้ง ลำบาก ด้วยหนาวบ้าง ร้อนบ้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโรงจงกรม”

    ผงหญ้าที่มุงเกลื่อนในโรงจงกรม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วฉาบด้วยดินทั้งข้างนอกข้างใน ทำให้มีสีขวา สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวกดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ ราวจีวร สายระเดียงจีวร”

    ข้ออนุญาตและข้อห้าม

    ถ้าภิกษุผู้เป็นอาจารย์ หรือปูนอาจารย์ เป็นอุปัชฌายะ หรือปูนอุปัชฌายะ ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม ห้ามภิกษุใช้รองเท้าเดินจงกรม

    ทรงปรารภคำแนะนำของ หมอชีวกโกมารภัจ จึงทรงอนุญาตการจงกรม (เดินไปมาอบรมจิตใจเป็นการออกกำลัง)

    ต่อจากนั้นทรงอนุญาตให้ปรับปรุงที่จงกรมให้ดีขึ้น มีโรงจงกรมยกพื้นกันน้ำท่วม, บันได, ราวบันได ฯลฯ

    ทรงแสดงอานิสงส์ในการเดินจงกรม ๕ ประการ คือ
    (๑) อดทนต่อการเดินทางไกล
    (๒) อดทนต่อความเพียร
    (๓) มีอาพาธน้อย
    (๔) อาหารที่กิน, ดื่ม, เคี้ยว, ลิ้มรสแล้ว ย่อมย่อยไปด้วยดี
    (๕) สมาธิที่ได้ในขณะที่เดินจงกรมย่อมตั้งอยู่นาน


    คัดลอกจากหนังสือ ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๓๐ กันยายน ๒๕๕๑ หน้า ๕๘ ถึง ๖๘
     
  2. wara43

    wara43 ทีมผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 เมษายน 2006
    โพสต์:
    9,108
    ค่าพลัง:
    +16,130
    [​IMG]ขอกราบโมทนาสาธุครับ สาธุ...
     
  3. junior phumivat

    junior phumivat เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กุมภาพันธ์ 2008
    โพสต์:
    1,346
    ค่าพลัง:
    +1,688
    ผู้ถาม : เมื่อทำบุญแล้ว ถ้าจะอุทิศส่วนกุศลภายหลังจะได้ไหมคะ...........?
    หลวงพ่อ : การทำบุญไปแล้วครั้งหนึ่งสักกี่ปี ๆ บุญก็ยังมีอยู่ถ้าทำไปแล้วสัก ๓๐ ปี ก็ยังอุทิศส่วนกุศลได้ บุญมันไม่หาย ไม่ใช่เราทำบุญแล้ว เดี๋ยวเดียวมันหายไปไม่ใช่อย่างนั้นนะ
    ผู้ถาม :แล้วถ้าเผื่อทำบุญแล้ว ไม่ได้อุทิศส่วนกุศลจะได้บุญเต็มที่ไหมคะ...?
    หลวงพ่อ : ก็ได้เต็มที่อยู่แล้ว เราเป็นผู้ได้สมบูรณ์แบบ แต่อยู่ที่ว่าเราจะให้เขาหรือไม่ให้ การอุทิศส่วนกุศล นี่นะ ถ้าเราไม่ให้ เราก็กินคนเดียวใช่ไหม..... ทีนี้ถ้าเราให้เขาของเราก็ไม่หมดอีก ส่วนที่เราให้ไปไม่ได้ยุบไปจากของเดิม อย่างเรื่องของ พระอนุรุทธ สมัยที่ท่านเกิดเป็นคนเกี่ยวหญ้าช้างของมหาเศรษฐี เวลาที่ท่านทำบุญแล้ว เจ้านายขอแบ่งบุญ ท่านก็สงสัยว่าการแบ่งบุญน่ะจะแบ่งได้ไหม จึงไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่ท่านรับบาตรนะ ท่านก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า

    "สมมุติว่าโยมมีคบ แล้วก็มีไฟด้วย คนอื่นเขามีแต่คบ ไม่มีไฟ ทุกคนต้องการแสงสว่าง ก็มาขอต่อไฟที่คบของโยมแล้วคบทุกคนสว่างไสวหมด อยากทราบว่าไฟของคุณโยมจะยุบไปไหม....?
    ท่านอนุรุทธก็บอกว่า ไม่ยุบ
    แล้วท่านก็บอกว่า "การอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนกัน ให้เขา เขาโมทนา แต่บุญของเราเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์"



    ขออนุโมทนาบุญกับทุกๆท่านครับ




    ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงพบแล้ว ขอธรรมนั้น จงสำเร็จแก่ท่านทั้งหลายโดยเร็วด้วยเถิด สาธุ สาธุ สาธุ
    อิทัง ปุญญะผะลัง ผลบุญใด ที่ข้าพเจ้า ได้บำเพ็ญแล้ว ตั้งแต่ต้นชาติ จนถึงปัจจุบันชาติ ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ที่เคยล่วงเกินมาแล้ว แต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงโมทนา ส่วนกุศลนี้ ขอจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้ ตราบเท้าเข้าสู่พระนิพพาน และขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่ปกปักรักษาข้าพเจ้า และเทพเจ้าทั้งหลาย ทั่วสากลพิภพ และพระยายมราช ขอเทพเจ้าทั้งหลาย และพระยายมราช จงโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงเป็นสักขีพยาน ในการบำเพ็ญกุศล ของข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเถิด และขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่ท่านทั้งหลาย ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เสวยความสุขอยู่ก็ดี เสวยความทุกข์อยู่ก็ดี เป็นญาติก็ดี มิใช่ญาติก็ดี ขอท่านทั้งหลาย จงโมทนาส่วนกุศลนี้ พึงได้รับประโยชน์ ความสุข เช่นเดียวกับข้าพเจ้า จะพึงได้รับ ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด หากท่านทั้งหลายยังไม่มีโอกาสได้อนุโมทนาเพียงใด ขอเทพเจ้าทั้งหลายและพระยายมราชจงเป็นสักขีพยานให้แก่ข้าพเจ้าด้วย เจอเธอเมื่อใด ขอให้เธอได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ด้วยเถิด ผลบุญใด ที่ข้าพเจ้า ได้บำเพ็ญแล้ว ตั้งแต่ต้นชาติ จนถึงปัจจุบันชาตินี้ ขอผลบุญนี้ จงเป็นปัจจัย ให้ข้าพเจ้า ได้เข้าถึง ซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเถิด หากแม้นยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด ขอคำว่าไม่รู้ ไม่มี จงอย่าได้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าเลย ขอผลบุญทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้า ได้กระทำแล้ว ตั้งแต่ต้นชาติ จนถึงปัจจุบันชาติ จงบังเกิดผล ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด
     

แชร์หน้านี้

Loading...