การอบรมจิตอุเบกขา

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย รสมน, 15 เมษายน 2009.

  1. รสมน

    รสมน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,451
    ค่าพลัง:
    +2,047
    อุเบกขาบารมี
    ชื่อว่า อุเบกขา เพราะว่า มีความเป็นกลาง
    ไม่เดือดร้อน ในความผิดปกติ ที่สัตว์และสังขาร กระทำแล้ว.


    .


    ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติ อบรมเจริญสติปัฏฐาน
    ก็ยากที่จะไม่หวั่นไหวไป ด้วยความรัก ความชัง
    ขณะที่กระทบกับอารมณ์ภายนอก.


    .



    จิตใจ จะไม่สงบ ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏนั้น เป็นอารมณ์ ที่ไม่น่าพอใจ
    ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย.
    (และทางใจ) ก็เกิดความเศร้าโศก เสียใจ ความหม่นหมองใจต่างๆ.


    .


    ฉะนั้น ผู้ที่จะไม่ทุกข์
    คือ ผู้ที่ไม่หวั่นไหวไป ด้วยความรัก ความชัง
    ในบุคคลต่างๆ ในเหตุการณ์ต่างๆ
    จึงจะเป็น "ผู้อบรมเจริญอุเบกขาบารมี"


    .


    ถ้าเห็น คนฆ่างู บางท่านเข้าใจว่า ท่านเมตตา สงสาร งูที่ถูกฆ่า
    แต่ จิตใจในขณะนั้น หวั่นไหวแล้ว ด้วยความรู้สึกโทมนัส.

    และขอให้เข้าใจ "สภาพจิตใจ" ในขณะนั้น
    ว่า รู้สึกอย่างไร ต่อคนที่ฆ่างู.

    ถ้าเมตตาไม่ได้ ก็ควรเป็นอุเบกขา คือ ไม่หวั่นไหว
    ทุกคน ย่อมเป็นไปตามกรรมของตน.


    .


    แต่ถ้ามีเมตตา...ก็จะสงสาร คนที่กระทำอกุศลกรรม
    เพราะเขาย่อมได้รับ ผลของอกุศลกรรม นั้น.


    .


    ขณะที่ (ใจ) เป็นกุศล.....จะไม่เดือดร้อนใจ
    และ จะไม่ใช้วาจาที่ไม่สมควร แก่บุคคลนั้น.

    เมื่อรู้ว่าผู้ที่ทำอกุศลกรรม ย่อมได้รับผลของอกุศลกรรม
    ก็อาจจะเกิด เมตตา หรือ อุเบกขา ต่อบุคคลนั้น ก็ได้.

    ฉะนั้น จึงไม่ควรเห็นว่า อกุศล เป็น กุศล
    หรือ เข้าใจว่า อกุศล เป็น ธรรมที่ดี.

    ไม่จำเป็นต้องใช้ คำที่รุนแรง หรือ การกระทำที่รุนแรง
    กับผู้ที่ทำอกุศลกรรม.


    .


    จิต ที่หวั่นไหวไปนั้น เป็นอกุศลแล้ว.!
    ฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญา
    ก็สามารถที่จะ "รู้ลักษณะ" ของ "ความคงที่ของจิต"
    ที่ไม่หวั่นไหวไป ด้วยความรัก ความชัง
    ซึ่งจะทำให้กุศลที่เป็น "อุเบกขาบารมี" เจริญขึ้นได้.


    .


    การฟังพระธรรม และ พิจารณาให้เข้าใจ "ความจริง" ละเอียดขึ้น
    จะทำให้ "คิดที่จะละคลายกิเลส"

    ซึ่งยังไม่รู้ ว่า อีกไกลแสนไกล...นานเท่าใด
    จึงจะดับกิเลสได้หมดสิ้น เป็นสมุจเฉท.


    .


    การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จะต้องมี "สติสัมปชัญญะ"
    อบรมเจริญกุศลทุกประการ "ด้วยความอดทน"
    ไม่ต้อง "หวัง" ว่า...เมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม.

    ตราบใด ที่ยังมีอกุศลธรรมมาก และ บ่อยๆ
    แล้วอยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม...ก็จะห่างไกลมากทีเดียว.

    ฉะนั้น จึงควรอบรมเจริญกุศล ทุกประการ
    เพื่อเป็น "บารมี"
    ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา
    นิทานกถาวรรณนา
    มีข้อความตอนหนึ่ง ที่แสดงถึง ทุกบารมี
    ประกอบกัน เกื้อกูลกัน ส่งสริมกัน ดังนี้

    .

    ก็ความอดทนอย่างยิ่ง ในการบำเพ็ญบุญ มี ทาน เป็นต้น
    เพื่อ ปัจเจกโพธิญาณ หรือ สาวกโพธิญาณ
    นี้ชื่อว่า "วิริยะ"

    .

    ความอดทน ต่อความโกรธ นั้นใด
    นี้ชื่อว่า "ขันติ"

    .

    การให้ทาน การสมาทานศีล เป็นต้น
    และการไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อน (จากความเป็นจริง) อันใด
    นี้ชื่อว่า "สัจจะ"

    .


    การอธิษฐานใจ ที่ไม่หวั่นไหว แน่วแน่ อันสำเร็จประโยชน์ ในที่ทั่วไป
    นั้นแหละ ชื่อว่า "อธิษฐาน"

    .

    การมุ่งประโยชน์ ในหมู่สัตว์
    อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทาน และ ศีล
    นี้ชื่อว่า "เมตตา"

    .

    การวางเฉย ในประการที่ไม่เหมาะสม ที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว
    ชื่อว่า "อุเบกขา"

    .

    ดังนั้น เมื่อ ทาน ศีล ภาวนา และ ศีล สมาธิ ปัญญา มีอยู่
    บารมีทั้งหลาย มี วิริยะบารมี เป็นต้น
    ย่อมชื่อว่า สำเร็จแล้วทีเดียว ด้วยอาการอย่างนี้.

    .

    การมุ่งประโยชน์ ในหมู่สัตว์
    อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่ง ทาน และ ศีล เป็นต้น
    นี้ชื่อว่า "เมตตา"

    "เมตตา"
    อีกความหมายหนึ่ง คือ การมุ่งประโยชน์ ในหมู่สัตว์
    เป็นพื้นฐานของ ทาน และ ศีล.

    ผู้ที่ให้ทาน อาจจะไม่ได้พิจารณาจิตใจของตนเอง ในขณะนั้น
    ว่า เป็นเพราะ "เมตตา" เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยที่จะให้........จึงให้

    (ขณะที่) ท่านสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุข ของบุคคลอื่น
    ถ้าพิจารณา "พื้นฐาน" ที่ทำให้เกิดการกระทำนั้น ก็คือ "เมตตา"

    หรือ ผู้ที่วิรัติทุจริต ทั้งกาย และ วาจา
    "พื้นฐาน" ที่ทำให้วิรัติทุจริตนั้น ก็คือ "เมตตา"
    ด้วย ไม่ต้องการที่จะให้คนอื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์
    เพราะ กาย หรือ วาจา ของท่าน.

    .

    อรรถกถาขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกกถา
    มีข้อความที่แสดง กุศลบารมี แต่ละบารมี
    ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อ อกุศล อย่างไรบ้าง คือ

    ทาน
    เป็นปฏิปักษ์ต่อ โลภะ โทสะ โมหะ
    เพราะประกอบด้วย คุณ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ
    ใน ไทยธรรม คือ วัตถุทาน
    ใน ปฏิคาหก คือ ผู้รับทาน และ ผู้รับผลของทาน.

    .

    ศีล
    เป็นปฏิปักษ์ต่อ โลภะ เป็นต้น
    เพราะปราศจากความคด คือ โทษ มีกายทุจริต เป็นต้น.

    .

    เนกขัมมะ
    เป็นปฏิปักษ์ต่อหมวด ๓ แห่งโทษ
    เพราะ เว้นจากกามสุข การเบียดเบียนผู้อื่น และ การทำตนให้ลำบาก.

    .

    ปัญญา
    เป็นปฏิปักษ์ต่อ โลภะ เป็นต้น
    เพราะ ทำความมืดมนแก่โลภะ เป็นต้น
    และ ทำความไม่มืดมนแก่ญาณ.

    เมื่อปัญญาเกิด ก็สามารถรู้ สามารถเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ
    ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ว่า กุศล เป็นกุศล...อกุศล เป็น อกุศล
    และ เมื่อปัญญา อบรมเจริญยิ่งขึ้น
    จนกระทั่ง "รู้ลักษณะ" ของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง
    ก็ทำความไม่มืดมนแก่ญาณ
    ประจักษ์ "ลักษณะ" ของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ได้.

    .

    วิริยะ
    เป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะ เป็นต้น
    ด้วยไม่ย่อหย่อน ไม่ฟุ้งซ่าน และ ปรารภเพื่อความรู้.

    .


    ขันติ
    เป็นปฏิปักษืต่อโลภะ เป็นต้น
    เพราะ การยอมรับ (อดทน) ได้ ซึ่ง "ความเป็นสิ่งว่างเปล่า"
    ของสิ่งที่น่าปรารถนา และ สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา.

    บารมีทุกบารมี มีประโยชน์มาก
    เพียงแต่จะค่อยๆ ระลึกได้ และ บำเพ็ญต่อไป.

    หากมีเหตุการณ์ ที่จะทำให้เกิดความไม่อดทน
    เมื่อคิดถึง "ขันติ" ความอดทน ในขณะนั้นได้.

    ก็จะเป็นการสะสมความอดทน ต่อสภาพอารมณ์ ที่ไม่น่าพอใจ
    หรือ แม้แต่ อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ก็ตาม.

    .

    สัจจะ
    เป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะ เป็นต้น
    เพราะ เป็นไปตามความเป็นจริง
    เมื่อผู้อื่นทำความอุปการะ หรือ ผู้อื่นทำความเสียหาย.

    ผู้มีสัจจะ ย่อมมีความจริงใจ รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด
    ไม่ว่าจะป็นเหตุการณ์ใด ก็เป็นผู้จริงใจเสมอ.

    .

    อธิษฐาน
    เป็นปฏิปักษ์ต่อความโลภ เป็นต้น
    เพราะ ครอบงำโลกธรรม
    แล้วไม่หวั่นไหว ในการสั่งสมบารมี ตามที่สมาทานแล้ว.

    กว่าจิตใจจะมั่นคง หนักแน่นจริงๆ ในการเจริญกุศล
    ก็จะรู้ตัวเองดี ว่า ขณะนั้น เป็นไปตามอธิษฐาน ความตั้งใจมั่นจริงๆ
    หรือ เปลี่ยนใจง่าย กลับกลอกง่าย
    ศรัทธา ก็หวั่นไหวง่าย เปลี่ยนแปลงง่ายด้วย.

    .


    เมตตา
    เป็นปฏิปักษ์ต่อความโลภ เป็นต้น
    เพราะ สงบจากนิวรณ์.

    นิวรณ์ ๕ ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์
    อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์.

    ที่กล่าวว่า เมตตา เป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะ เป็นต้น
    เพราะ สงบจากนิวรณ์
    ต้องมี ปัญญา รู้ ในขณะนั้น ว่า เป็นนิวรณ์ หรือไม่.

    มิฉะนั้นแล้ว อาจเข้าใจผิด ว่า เป็น เมตตา
    แต่ความจริง เป็นโลภะ ซึ่งได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ นั่นเอง.

    ดังนั้น ต้องเป็น ปัญญา
    ที่จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้นได้.

    .

    อุเบกขา
    เป็นปฏิปักษ์ต่อความโลภ เป็นต้น
    เพราะ กำจัดความคล้อยตาม และ ความคับแค้น ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา.

    และ เพราะเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
    ทั้งในสิ่งที่น่าปรารถนา และ สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา.

    .

    จะเห็นได้ว่า บารมีทั้ง ๑๐ นั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อ อกุศล
    ฉะนั้น จึงควรพิจารณา "ลักษณะ" และ "เห็นประโยชน์"
    ของ บารมี ๑๐.

    .

    สำหรับ อุเบกขาบารมี คือ ความเป็นผู้เป็นกลาง วางเฉย
    ไม่หวั่นไหว ในสัตว์ ในสังขารทั้งหลาย และ ในโลกธรรมทั้งหลาย
    ทั้งที่น่าปรารถนา และ ที่ไม่น่าปรารถนา.

    ปัจจุบันนี้ ที่มีความทุกข์ เพราะหวั่นไหว
    แต่ถ้ามี "ใจที่มั่นคงในเรื่องของกรรม"
    ก็จะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ได้.

    .

    สภาพธรรม เป็นอนัตตา
    ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาสภาพธรรมได้
    แต่ สามารถอบรมความรู้ ความเข้าใจการสะสมของแต่ละคน
    ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป สืบต่อเป็นชีวิตของแต่ละคน
    ซึ่งต่างกัน ทั้งในเรื่องกรรม ผลของกรรม และ ความคิดนึกต่างๆ.

    .

    ผู้ที่อบรมเจริญอุเบกขาบารมี ไม่สนใจในโทษผิดของผู้นั้น
    อรรถกถา ใช้คำว่า "ในโทษผิดของผู้นั้น" คือ ผู้ที่ทำความผิดนั้น.

    ผู้ที่เจริญอุเบกขาบารมี เป็นผู้วางเฉย ไม่เดือดร้อน ด้วยรู้ว่า
    ทุกคนมีกรรมเป็นของตน.

    บางท่านอาจคิดสมน้ำหน้า
    แต่ ผู้ที่มีอุเบกขาบารมี จะไม่เป็นเช่นนั้น.

    เพราะ เข้าใจ และ รู้ ในความเป็นปรมัตถธรรม
    (คือ) เป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา
    บังคับบัญชาไม่ได้.

    .

    บารมีทั้งหมดนี้ จะขาดไม่ได้เลย ต้องมีครบทั้ง ๑๐ บารมี.

    แม้แต่ ความจริงใจในการขัดเกลากิเลส ก็เป็น สัจจบารมี.

    ระลึกได้ ที่จะคิดถึงความไม่ดีของผู้อื่น ด้วย เมตตา.

    นอกจาก ความจริงใจ ที่เป็นสัจจบารมีแล้ว
    ยังต้องมี อธิษฐานบารมี คือ ความมั่นคง ไม่หวั่นไหว.

    แม้ว่ามีความจริงใจแล้ว แต่ว่า บางครั้งก็ยังหวั่นไหวไป
    จึงต้องมี อธิษฐานบารมี
    คือ มีความมั่นคง จริงใจ ต่อการขัดเกลากิเลสด้วย.

    นอกจากนั้น ยังต้องมี ขันติบารมี คือ ความอดกลั้น.

    และก็จะต้องมี อุเบกขาบารมี
    ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ที่จะสามารถเป็นกลาง ในสรรพสัตว์ทั้งปวงได้.

    ทุกบารมีนั้น
    จะต้องอบรมจริงๆ จึงจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้.
     

แชร์หน้านี้

Loading...