การฟังธรรมตามกาล

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย aprin, 21 มิถุนายน 2009.

แท็ก: แก้ไข
  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ

    โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก




    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=0><TBODY><TR bgColor=#400040><TD>[​IMG]
    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    หัวข้อนี้เห็นจะต้องให้คำจำกัดความ หรืออธิบายสักเล็กน้อย เดี๋ยวคนสมัยใหม่จะไม่เข้าใจ คนสมัยเก่าคุ้นกับคำพระคำเจ้าแล้วก็ถือเสียว่า มาทบทวนความรู้เดิมก็แล้วกัน

    ธรรม ในที่นี้มีหลายความหมาย สรุปเอาง่ายๆ ว่า ได้แก่ "สิ่งที่ถูกต้องดีงาม" สิ่งที่ถูกต้องดีงามโดยรวบยอดก็คือ หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

    ตามกาล หมายถึง เวลาที่เหมาะสม เวลาที่ควรฟัง ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า เวลาที่จิตฟุ้งซ่าน หรือจิตถูกกามวิตก เป็นต้น ครอบงำ ควรจะฟังธรรมเพื่อบรรเทาเบาบางความฟุ้งซ่านหรือกามวิตก เป็นต้นนั้น

    พูดมาถึงตรงนี้ นึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ขึ้นมาได้ เรื่องของท่านถูกนำมาเล่าขานจนเกือบๆ เป็นนิยายไปแล้ว เพราะ "ใส่ไข่" เข้าไปมาก ว่ากันว่าคราวหนึ่งท่านเข้าวังไปเทศน์ถวายรัชกาลที่ 4 พอดีเจ้าจอม (พระนามอะไรไม่ได้บอกไว้) จะมีพระประสูติกาล (คลอดลูกนั่นแหละ) ในหลวงรับสั่งว่า "วันนี้เทศน์น้อยๆ หน่อยนะขรัวโต เจ้าจอมกำลังจะคลอดลูก"

    สมเด็จฯโต ท่านเทศน์เสียยืดยาว นัยว่าเพื่อบรรเทาพระวิตกกังวลของในหลวง

    วันหลังมา ในหลวงทรงมีพระทัยเบิกบานรับสั่งว่า "วันนี้เทศน์ยาวๆ ก็ได้" สมเด็จฯโตตั้งนโมสามจบ ขึ้นบาลีอุทเทศ (ยกบาลีขึ้นประหน้าธรรมาสน์ ตามธรรมเนียมการแสดงธรรม) แล้วว่า "ธรรมะข้อใดๆ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าก็ทรงทราบดีอยู่แล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้"

    ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง แสดงว่าสมเด็จฯโต ท่านเห็นว่า เวลาคนสบายใจแล้วไม่จำเป็นต้องฟังธรรมมากๆ เพื่อให้จิตใจสบายขึ้น

    แต่ก่อนนั้น เรามีเวลาฟังธรรมเฉพาะในวันธรรมสวนะ (วันพระ) 8 ค่ำ 15 ค่ำ หรือในเวลาทำบุญต่างๆ ปัจจุบันนี้มีโอกาสดีกว่าแต่ก่อนมาก มีธรรมะให้ฟังหลายที่หลายเวลา ไม่จำเป็นต้องไปวัด อยู่บ้านก็มีรายการธรรมะทางวิทยุ โทรทัศน์ มีอภิปรายธรรม ปาฐกถาธรรม หลายแบบหลายสไตล์ ให้ฟังกัน ขอแต่ให้มีฉันทะอยากฟังเพื่อการศึกษาหาความรู้ และแนวทางปฏิบัติฝึกฝนตนเท่านั้นเป็นพอ และฟังอย่างเคารพสูงสุดในพระธรรม มิใช่ฟังเพื่อจับผิดคนพูดคนแสดง หรือฟังด้วย "อติมานะ" อยู่ในใจว่า เรื่องนี้ข้ารู้แล้ว

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงตั้งพระทัยฟังธรรมะจากปากสาวกของพระองค์ ธรรมะที่พระองค์สอนเธอนั่นแหละครับ ทรงฟังด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง แถมยังประนมพระหัตถ์ เปล่งสาธุการ เมื่อเธอเทศน์จบอีกด้วย

    ดำเนินตามรอยพระบาทพระพุทธองค์เป็นดีที่สุด ฟังแต่สิ่งที่ดีงามด้วยความเคารพจิตใจจะสะอาดดีงาม ไม่ใช่ใจดำอำมหิต โกรธแค้นใครก็จ้างมือปืนไปฆ่าเขา

    คนอย่างนี้ห่างวัดห่างวา ห่างคุณงามความดี ใกล้อยู่อย่างเดียวคือ นรก!

    แต่ก่อนเราหาความรู้จากการฟังมากกว่าอย่างอื่น ในพระพุทธศาสนาจึงเน้นการฟังธรรม การสนทนาธรรม การสอบถามจากท่านผู้รู้ ใครฟังมาก จำได้มากก็ยกย่องว่าเป็น พหูสูต แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้ฟังมาก"

    คนฟังมากเรียกว่า พหูสูต ความเป็นผู้ฟังมากเรียกว่า พาหุสัจจะ เป็นศัพท์ทางไวยากรณ์เขาอย่างนั้น ไม่เกี่ยวกับ "การมีสัจจะมาก" ดังที่คนไม่รู้ภาษาแปลกันผิดๆ เพราะแกนึกว่า คำนี้คงมาจาก พาหุ (ฟังคล้าย พหุ แปลว่ามาก) + สัจจะ (สัจจะ) แยกศัพท์จนกลายเป็นปราชญ์ท่ามกลางผู้ไม่รู้ไปก็มี

    เพื่อนผมคนหนึ่งแกก็เก่งพอๆ กัน แต่เก่งภาษาอังกฤษ แกเห็นคำไหนก็จะแยกศัพท์ แล้วอธิบายเป็นคุ้งเป็นแคว เช่น เห็นคำว่า season ก็แยกว่า มาจาก sea บวก son แปลว่า "ลูกทะเล"

    Friendship มาจาก friend บวก ship แปลว่า "เรือของเพื่อน" คนไม่รู้ก็ยกย่องแกเป็นปราชญ์ แต่คนที่เขารู้เขาก็ว่าเป็น "เปรต" เพราะทำให้ภาษาเขาเสีย

    สูตรสำเร็จแห่งชีวิตข้อนี้กินขอบเขตถึงการอ่าน การศึกษาเล่าเรียน โดยผ่านทางสื่ออื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น คนที่เรียนมากไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็นับว่าเป็นพหูสูตทั้งนั้น การฟังสิ่งที่ดีงาม อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องที่ดีงาม ฟังแล้วอ่านแล้วจิตใจสะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น สงบขึ้น ก็น่าจะรวมใน "การฟังธรรม" ด้วย มิใช่เฉพาะฟังเทศน์เพียงอย่างเดียว หัดเป็นคนฟังแต่สิ่งที่ดีงาม ฟังแล้วโลภ โกรธ หลง ลดลง เมตตา กรุณา และปัญญาเพิ่มขึ้น ทำบ่อยๆ แล้วจะรู้สึกว่าตัวเราดีขึ้น พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีลูกมีหลานก็ฝึกให้เอาอย่าง ตอนแรกๆ เขาไม่อยากทำตาม จะเอาอามิสสินจ้างเข้าล่อก็ต้องทำ ดังอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นตัวอย่าง

    เศรษฐีมีลูกชายไม่ค่อยเอาไหนอยู่คนหนึ่ง จึงบอกว่าจะให้เงินร้อยกหาปณะถ้าไปฟังธรรมรักษาอุโบสถศีล ลูกชายเห็นแก่เงินจึงไปฟังอย่างเสียมิได้ ไปถึงก็แอบหลับข้างธรรมาสน์ กลับมารับค่าจ้างสบายไปหลายวัน วันหลังเศรษฐีบอกว่า ถ้าฟังแล้วจำได้ จะให้บทละพันกหาปณะ เขาตั้งอกตั้งใจฟังเกิดความเข้าใจ แล้วก็มีฉันทะอยากฟังไปเรื่อยๆ จนจบ ได้บรรลุโสดาปัตติผล

    จากนั้นมา ลูกชายเศรษฐีไม่สนใจค่าจ้าง ผู้เป็นพ่อจะคะยั้นคะยออย่างไรก็ไม่รับ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดอยู่ก่อนแล้ว ตรัสกับเศรษฐีว่า บัดนี้บุตรชายของท่านได้พบอริยทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ไฉนจะยินดีรับทรัพย์ภายนอกเล่า แล้วตรัสคาถาธรรมว่า

    "โสดาปัตติผล ประเสริฐกว่าความเป็นเอกราชเหนือแผ่นดิน ประเสริฐกว่าการไปสู่สรวงสวรรค์และความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง"

    ครับ การชักจูงให้คนเป็นคนดีมีหลายวิธี บางครั้งถึงจะจ้างให้ลูกทำดีก็เห็นจะต้องยอม ดีกว่าลงทุนซื้อตู้ม้าให้เด็กมันเล่นเสียคนมิใช่หรือ

    [FONT=Tahoma,]หน้า 6[/FONT]
    [FONT=Tahoma,][/FONT]
    [FONT=Tahoma,]http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01bud01210652&sectionid=0121&day=2009-06-21[/FONT]
     
  2. natspdo

    natspdo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    1,041
    ค่าพลัง:
    +1,505
    การฟังธรรมก็ช่วยสืบสานพระพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง แต่จะดีมากหากได้อธิบายสิ่งต่าง ๆ ด้วยธรรมะ แบบให้กับยุกต์สมัย มีอาจารย์อยู่มากมายที่ท่านได้แสดงไว้ เช่น ดร.สนอง วรอุไร เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ และอีกหลายท่านมากมาย ผมฟังท่านทุกวันครับ มีหลายที่เขามีสถานีวิทยุตลอด 24 ชม. เช่นวัดสังฆทาน คลื่น 89.25 Mhz.(กทม.) ก็ได้ครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...