การพัฒนาภูมิปัญญา (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 14 มีนาคม 2007.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    ขออนุโมทนาสาธุการแก่บรรดาญาติธรรม
    ผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา
    สร้างความดีถวายเป็นพระราชกุศลบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า
    ในช่วงจังหวะเวลาอันสมควรเช่นนี้
    การปฏิบัติธรรม 7 วัน 7 คืน เพื่อหาเส้นทางของชีวิตให้ได้
    การมาสร้างความดีถวายเป็นพระราชกุศลนั้น น้อยคนจะระลึกได้
    ทำกันโดยที่ว่าแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น สร้างความรู้ก็หามีไม่
    ไปทำบุญตักบาตรวัดโน้นวัดนี้
    ทัวร์บุญกันมากหลายแล้วก็ว่าได้บุญ ข้อเท็จจริงไม่ใช่
    น่าจะเดินเส้นทางของชีวิตให้ถูกต้อง
    สร้างความดีของใครของมันให้เกิดปัญญาให้ได้
    ในเมื่อเกิดปัญญาแล้วถึงจะเกิดข้อคิดในเส้นทางของชีวิตได้
    ความเป็นอยู่ของชีวิตก็จะดีขึ้น จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองมาก


    วันนี้อาตมาจะพูดในเรื่องการพัฒนาภูมิปัญญา
    ของพระพุทธเจ้าที่สอนเรา ให้เราต่ออายุตรงไหนบ้าง
    การเจริญกรรมฐานเป็นการแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร
    ทำไมไม่แก้ให้ตรงกับปัญหา
    ไปแก้ปัญหาด้วยการหาพระสะเดาะเคราะห์

    เด็กรุ่นใหม่เรียนปริญญาโทปริญญาเอก
    ก็ยังเชื่อเรื่องแบบนี้
    เป็นที่น่าเสียดายเวลาที่มีประโยชน์มากที่สุด
    เส้นทางชีวิตนี่ของใครของมันนะญาติโยม
    เราจะไปเดินเส้นเขาก็ไม่ได้ ต่างคนต่างเดิน
    แต่ก็ทำงานร่วมกันได้ หาความถูกต้องเอามา
    อย่าหาความถูกใจ ก็คือ ใช้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
    ทำงานร่วมกันได้แน่นอน แต่เราก็หาความถูกต้องร่วมกันยังไม่ได้

    น่าเสียดายที่เราไม่เข้าใจตัวเราเองและเข้ากับใครเขาไม่ได้
    น่าจะปรับตัวได้แล้ว เหมือนอย่างรับประทานอาหาร
    รสเปรี้ยวหวานมันเค็มไม่เหมือนกัน
    ก็สามารถรับประทานร่วมวงเดียวกันได้
    ต่างคนต่างเติม ถ้าเรามีธรรมะของเส้นทางชีวิตถูกต้องแล้ว
    จะไม่มีปัญหาเลย

    การเจริญพระกรรมฐานเป็นบทความของชีวิต
    คือ เส้นทางของชีวิตแท้ๆ ต่างคนต่างเดิน เดินคนละเส้นทาง
    แต่ทำไมหนอจึงไม่ใช้หลักธรรมดำเนินวิถีชีวิตเล่า
    พระพุทธเจ้าสอนเน้นเรื่อง ภูมิ เป็นอันดับแรก คือ กรรมฐานนี่เอง
    กรรมฐานทำให้คนเกิดปัญญา พิจารณาละเอียดอ่อนด้วยปัญญา

    ยกตัวอย่างปัญญาของคนโบราณ
    สร้างศาลาการเปรียญสำหรับทำบุญและเรียนหนังสือ
    ไม่มีฝา ลมเข้าทั้งสี่ด้าน ไม่ร้อน
    บ้านทรงไทยมีห้องรับแขก เรียกว่า หอนั่ง เป็นที่โล่งไม่มีฝา
    ลมเข้าทั้งสี่ด้านเย็นสบาย คนละสมัยกับปัจจุบันนี้
    นี่คือ ภูมิปัญญาของคน

    เมื่อสมัยอาตมาเป็นเด็ก เขามีงานกันจะให้พวกสาวๆ
    ที่มาช่วยงานนอนในห้อง พวกผู้ชายนอนข้างนอก
    เพราะผู้หญิงเวลานอนหลับไม่มีสติเป็นภาพที่ไม่น่าดู
    พระพุทธเจ้าท่านละเอียดอ่อนมากได้กำหนดพระวินัย
    เวลาพระจะจำวัดให้เข้ากุฏิ ไม่ให้นอนข้างนอกเป็นอาบัติโทษ
    ต้องจำวัดที่มุมบังให้เรียบร้อย
    ถ้าหากว่าพระท่านเจริญกรรมฐาน ไม่ใช่พระบวชใหม่
    จะหลับก็กำหนดพองหนอยุบหนอ ตั้งสติไว้แล้วหลับไปด้วยกัน
    จะรู้ภายในเลยว่าพลิกตัวกี่ครั้ง แต่ภายนอกไม่รู้

    ผู้ปฏิบัติกรรมฐานทำให้ได้หน่อยได้ไหม
    หายใจยาวๆ ค่อยๆ จับว่าจะหลับตอนไหน
    ก่อนจะหลับมันจะเผลอ มันจะเพลิน
    เพลินแล้วเผลอแวบไปเลย จับไม่ค่อยได้
    ถ้าเรามีสติครบวงจรจะจับได้ เพลินก่อนแวบดับลงไป
    มันจะดิ่งลงไป ข้างนอกไม่รู้ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ไม่รับสัมผัส
    แต่ข้างในรู้ จะพลิกตัวกี่ครั้งก็รู้
    ถ้าจิตตกกังวลเอาจิตมาตั้งไว้ที่ลูกกระเดือก
    หายใจยาวๆ ถ้าสมาธิดีจะหลับทันที
    หลับแล้วจิตจะเลื่อนลงไปที่พองยุบ มันจะบอก
    และข้างในรู้หมด แต่ข้างนอกไม่รับสัมผัส

    ถ้าสติยังไม่พอ แต่สมาธิดี
    กำหนดพองหนอ ยุบหนอ มันจะวูบไปตอนพอง
    ถ้าวูบไปตอนยุบแสดงว่าสติใช้ไม่ได้เลย
    เวลานอนให้กำหนดไปเรื่อยๆ ตั้งสติไว้ครบวงจร
    ถ้าทำได้สักครั้งได้หมด กำหนดยืนหนอ 5 ครั้งก็เหมือนกัน
    ถ้าทำได้สักครั้งได้หมด

    เรานั่งฝึกกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ก่อนจะนอน
    ถ้ากำหนดพองหนอ ยุบหนอได้จังหวะแล้ว
    จิตออกจะรู้ ถ้าไม่ได้จังหวะจิตออกจะไม่รู้เลย
    บางทีกำหนดพองหนอ ยุบหนอ
    จิตไปคิดถึงคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง
    จิตหนึ่งก็พองหนอ ยุบหนอ อีกจิตหนึ่งก็คิดไปเรื่อยๆ
    เราทราบหรือไม่ว่าจิตออกไปตอนไหน
    ถ้าขาดสติจะจับไม่ได้ ถ้าสติดีครบวงจรจะจับได้เลย

    การเจริญสติปัฏฐานสี่ ทำให้จิตมีสติได้มาก
    ถ้าสมาธิมากกว่าสติ กำหนดพองหนอ ยุบหนอ
    จิตออกไปแล้ว พองหนอ ยุบหนอ มันจะเพลิน
    สติน้อยนี่จะเพลิน เพลินแล้วจะเผลอตัว
    เผลอแวบเดียวจิตออกไปคิดแล้ว
    จิตหนึ่งก็ยังอยู่ ผู้ปฏิบัติต้องสังเกตตรงนี้
    ถ้าหากว่าเราสติดีครบวงจร จิตจะออก
    มันจะเพลินก่อน แวบไปแล้ว
    ถ้าขาดไม่ติดตามนะ ไม่กำหนดรู้หนอนะ
    รับรองจิตพองหนอ ยุบหนอ จิตหนึ่งคิด
    หลายอย่างรวมกันเลยในเวลาเดียวกัน
    สมาธิดี แต่สติไม่เกิด
    คิดตั้ง 5-6 อย่างรวมเป็นอันเดียว อย่างนี้ใช้ไม่ได้

    เมื่อนั่งแล้วมานอน ถ้าสติครบวงจร
    หลับจะรู้เลยว่าหลับตอนพองหรือตอนยุบ
    มันจะบอกทันที มันจะเพลินนะ เพลินแล้วตั้งสติไว้
    มันก็จะไม่หลับ พอสติครบวงจร แวบ พองหายไปเลย
    แล้วจะไม่รู้ข้างนอก ตา หู จมูก ลิ้น จะไม่รับสัมผัส
    จะไม่รับแขก แขกที่มาเยือนเรา
    คือ รูป เสียง กลิ่น รส ปิดประตูแล้ว แขกไม่มา
    แต่อายตนะภายในรู้แน่ รู้ข้างในว่าเราจะพลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด
    และตั้งสัจจะว่าข้าพเจ้าจะตื่นตีสี่ พอถึงตีสี่ปับสัมผัสทันที
    หูจะสัมผัสก่อน ขอให้ผู้ปฏิบัติจับไว้ให้เป็นหลัก จะรู้ได้เลย
    ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สังเกต ปล่อยไปตามอัธยาศัย
    ถึงเวลาก็เดินจงกรมแล้วก็นั่ง
    ไม่มีทางที่จะรู้รายละเอียด จะไม่เข้าใจด้วย
    การพัฒนาปัจจุบัน หมายถึง เรามานั่งกรรมฐานพัฒนาความรู้
    รู้เวทนา รู้กายในกาย รู้เวทนาในเวทนา กายใน กายนอก
    มันปวดเมื่อยเหลือเกิน กำหนด ปวดหนอ ปวดหนอ
    กายนอกปวดมาก ที่เราต้องกำหนดเพื่อจะรู้กายใน
    เรียกว่ากายทิพย์ คือ กายที่มีรูป นาม ขันธ์ห้า เป็นอารมณ์
    มีสติครบวงจร พอมีสติดีแล้วจะรู้เลยว่า เวทนานี่
    เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตก็คลายอุปาทาน ไม่ยึด
    กายปวดจะหายไปเลย เพราะเราไม่ได้ไปจับมัน
    อันนั้นเป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา
    พอเรารู้จริงแล้วเป็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
    พระไตรลักษณ์ ก็คือ วิปัสสนา
    รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้ของจริง ของจริง เรียกว่า วิปัสสนา
    ของไม่จริง คือ การศึกษา เรียกว่าสมถะ
    ถือบัญญัติ เป็นอารมณ์
    ถ้าเราจับได้นะ มีสติครบ เรียกว่า กายในกาย

    เวทนาในเวทนา คือ อะไร
    ปวดหนอ ปวดหนอ กำหนดไป อย่าเลิกนะ
    ปวดหนอเป็นสมถะ ถือบัญญัติเป็นอารมณ์
    ความปวดเป็นอารมณ์ แต่เวทนาบังคับไม่ได้ มันเกิดเอง
    บังคับมันไม่ได้จะทำอย่างไร ก็ตั้งสติไว้ ปวดหนอ
    ยิ่งปวดหนัก อย่าหนี ศึกษาต่อไป
    พอศึกษาพบของจริงแล้ว
    เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นพระไตรลักษณ์
    อนิจจังเอ๋ยไม่เที่ยงเป็นทุกข์
    จับทุกข์เป็นอนัตตา อนัตตา แปลว่า ศูนย์ เป็นความจริงแล้ว
    ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรคงที่ คงวา คงศอก
    นั่นคือ พระไตรลักษณ์ รูป นาม ขันธ์ห้า เป็นอารมณ์
    พระไตรลักษณ์เป็นวิปัสสนา


    ที่เราเดินจงกรมนี่เป็นสมถะทั้งนั้น
    ขวาย่างหนอ ยึดบัญญัติเป็นอารมณ์
    ซ้ายย่างหนอ เป็นสมถะ พอจับจิตได้ จิตมีกี่ดวง
    จิตขวาและจิตซ้ายเป็นคนละดวงแล้ว
    เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พอขวาย่างหนอ จิตนี่ดับ
    ซ้ายย่างหนอ จิตเกิดใหม่แล้ว
    อ๋อ ขันธ์ห้า รูปนามเป็นอารมณ์
    แยกรูปแยกนามได้ถึงจะเป็นวิปัสสนา
    ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจแยก ถ้าแยกได้ถึงจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

    ถ้าเราแยกรูปนามกันไม่ออก จะไม่รู้ว่าดีหรือชั่วเป็นประการใด
    ถ้าเราแยกออกจะรู้ว่าดีหรือชั่ว นั่นคือ รูปนามขันธ์ห้าเป็นอารมณ์นั่นเอง
    อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เสียงเป็นอะไร หูเป็นอะไร
    คนละอันแท้ๆ เรากลับรับเสียงไม่ดีเข้ามา
    ถ้าจิตดีมีปัญญา จะไม่เอาเสียงชั่วมาไว้ในใจ
    จะไม่เก็บความโกรธไว้ในใจเลย
    ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาทำอย่างไร กำหนดโกรธหนอที่ลิ้นปี่
    กำหนดให้ได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความโกรธหายไปเลย
    เป็นการขัดเกลากิเลสของตนที่มันเกิดขึ้น ณ บัดนี้
    เป็นข้าศึก เป็นศัตรูของเราอย่างชัดเจน


    การปฏิบัติกรรมฐานเป็นการกำจัดศัตรูที่เกิดขึ้นมาในตัวเรา
    ให้เบาบางลงไป ถ้าผู้ปฏิบัติทำได้นะ
    นี่ปวด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เท่านี้เองนะ
    ถ้าแยกไม่ได้ มันจะปวด รู้จริงถึงจะเป็นพระไตรลักษณ์
    รู้ไม่จริงเป็นอัตตา หาได้เป็นอนัตตาไม่
    จะเป็นพระไตรลักษณ์ได้อย่างไร
    ในเมื่อเป็นพระไตรลักษณ์ไม่ได้มันก็ต้องปวดอย่างนี้ทุกครั้ง
    เพราะเวทนาอยู่เป็นประจำ


    กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายในกาย
    จับกายภายในให้ได้ทั้งนอกทั้งใน
    เวทนาในเวทนา คือ จิตนี่เอง
    ไม่ไปยึดอุปาทาน เรียกว่า ในเวทนา
    จิตในจิต จิตมีความคิด จิตมีปัญญา
    ปัญญาในตัว ปัญญาภายนอก นี่คือ จิตในจิต

    จิตเป็นธรรมชาติต้องคิดอ่านอารมณ์
    รับรู้อารมณ์ไว้ได้เป็นเวลานานเหมือนเทปบันทึกเสียง
    ไม่มีตัวตนให้คลำ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
    จิตมีตั้ง 121 อารมณ์ ถ้าจับได้ เป็นจิตในจิต

    ตัวอยาก คือ เจตสิก อยากดื่มน้ำ อยากทานอาหาร
    เจตสิกอาศัยหทัยเดียวกันเกิด มีหลายอย่าง
    ถ้าเรารู้จิตในจิตเกิดขึ้น คือ เจตสิก
    ตัวหทัยอยากหยิบมันก็เป็นตัวอยาก
    ถ้าเราตั้งสติดีแล้ว รู้หยิบน้ำไปดื่ม ตั้งสติไว้
    จิตในจิตก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป
    จิตเป็นธรรมชาติและกระแสไฟดังที่กล่าวมา

    ธรรมในธรรม กุศล อกุศล กุศลคืออะไร อกุศลคืออะไร
    จะบอกออกมาชัดเจนมาก นั่นแหละเป็นภาคปฏิบัติโดยเฉพาะ
    ถ้าผู้ปฏิบัติไม่เน้นตรงนี้ จะไม่รู้อะไรเลยนะ
    จะผ่านไปอย่างน่าเสียดาย
    เห็นด้วยปัญญาเสียหน่อยได้ไหม
    สมาธิดี สติดี จะรู้ เข้าใจ ตัวรู้นั้นรู้จริง เข้าใจจริง
    แปลว่า รู้กาละ เทศะ กิจจะลักษณะ เป็นภูมิปัญญา

    อาตมากล่าวอยู่เสมอ คิดหนอกำหนดตรงลิ้นปี่นี่ หายใจยาวๆ
    ถ้าหากว่าสติครบวงจร จะคิดออกมาเลย
    แปลว่า คิดออกมาได้ด้วยวงจรโดยอ่านหนังสือไม่ต้องมีตัว
    มันจะไหลออกมาทันที เรียกว่า ตัวปัญญา
    ปัญญารอบรู้สิ่งที่เคยรู้ สิ่งที่ไม่เคยรู้
    สิ่งที่เคยรู้ที่จะต้องแก้ไขปัญหา คิดหนอ รู้หนอที่ลิ้นปี่
    เมื่อสมัยอาตมาคอหัก สติอยู่ที่ลิ้นปี่ มันอยู่ตรงนี้
    แต่อาตมาไม่รู้ว่าปากพูดหรืออะไรพูด มันไม่รู้สึก
    แต่รู้สึกขึ้นมาตรงที่ลิ้นปี่ ผู้ปฏิบัติอย่าทิ้งตรงนี้นะ


    เมื่อเกิดความโกรธกำหนดโกรธหนอ
    โกรธหนอ ที่ลิ้นปี่ พยายามอย่าฝากความโกรธความแค้นเคืองไว้
    มันจะเป็นอารมณ์ค้าง ตอนเช้าจะไม่เกิดประโยชน์เลย
    ต้องแก้ไขขณะปัจจุบัน เรียกว่าภูมิปัจจุบัน

    ถ้าเสียใจ เราปล่อยความเสียใจไว้มันจะเน่า
    เขาเรียกว่าสิ่งแวดล้อมเสีย
    พระพุทธเจ้านี่ยอดเลย สอนสิ่งแวดล้อม ต้องบำบัดน้ำเน่าในหัวใจก่อน
    นี่คือ กรรมฐาน เป็นภูมิปัญญาที่กำจัดสิ่งแวดล้อมเสียในตัวออก
    พูดกับฝรั่งต้องพูดตรงนี้ นี่แหละพระพุทธเจ้าสอนชัด
    สิ่งแวดล้อม คืออะไร กำจัดน้ำเน่าออกจากหัวใจเสียให้ได้
    ความเสียหายของชีวิต โลภ โกรธ หลง
    เป็นน้ำเสียที่หัวใจ มันเน่า แถมริษยาอีก
    ถ้ากำจัดน้ำเน่าตรงนี้ออกได้ อย่างอื่นดีหมด นี่คือ กรรมฐาน

    ญาติโยมทำกรรมฐานอย่าหวังผลไปสวรรค์นิพพาน
    เอาพื้นฐานนี่ก่อนได้ไหม บางคน เสียงหนอ
    มึงด่ากูหรือ วิ่งออกไปเลย พูดอยู่แค่นี้ยังไม่พอ
    จะออกไปฟังให้ใกล้ๆขึ้นอีก โกรธหนอ โกรธหนอ
    มึงด่ากูหนอ กูจะต้องตบมึงก่อนหนอ
    ถ้ากำหนดได้จะมีไปตบเขาไหม จะมีเรื่องไหม
    กำจัดน้ำเน่าออกเสีย

    ภูมิรู้เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของคน
    ที่ต้องสร้าง 4 ประการ ได้แก่

    1. 1. สิ่งที่ต้องเรียนให้รู้
    2. 2. สิ่งที่ต้องละความชั่วทั้งหมด
    3. 3. สิ่งที่ทำให้แจ้งถึงใจ
    4. 4. สิ่งที่ต้องพัฒนา

    กิจกรรมทั้งสี่ประการนี้เป็นกรรมฐานเบื้องต้น เรียกว่าภูมิรู้
    เมื่อมีภูมิรู้แล้ว สามารถแสดงพฤติกรรม ให้คนอื่นเขาเห็นได้
    แยกความดี ความชั่วออกไป
    แล้วแสดงให้คนอื่นเขาเห็น
    ด้วยการเดิน ยืน นั่ง นอน คู้เหยียด เหยียดขา
    คนอื่นเขาเห็นดีชั่วประการใด จะบอกได้ชัดเจน
    พฤตินัย แปลว่า ประสบการณ์ด้วยตนเอง
    เรียกว่า เส้นทางของชีวิตนำมาเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ได้
    สอนอนุชนรุ่นหลังต่อไป เรียกว่า พฤตินัย
    นี่คือ กรรมฐานทั้งนั้นเลย
    แล้วทำไมแยกไปสวรรค์ ไปนิพพาน
    น่าจะปฏิบัติพื้นฐานนี้ให้ได้ก่อน


    อาตมาพูดอยู่เสมอว่า เดินตามกฎจราจรของชีวิต
    เรียกว่า เส้นทางของชีวิต ถึงจะถูกต้อง จะเกิด 5 ภูมิ
    ได้แก่ ภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิฐาน ภูมิปัญญา และภูมิปัจจุบัน


    ภูมิรู้ ได้แน่นอน เรียกว่า กิจกรรมต้องสร้าง
    แสวงหาความรู้ทุกอย่าง ต้องละทุกอย่าง ละแล้วยังไม่พอ
    ต้องทำให้แจ้งถึงใจ เรียกว่า
    กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
    นั่นคืออะไร ทำให้แจ้ง รู้แจ้งด้วยตนของตนเอง
    รู้แจ้งในอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
    หาเหตุที่มาของทุกข์ได้ และดับทุกข์ได้ด้วย
    รู้จริง รู้เข้าใจ รู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า


    แจ้งถึงใจนี่เป็นปัจจัตตัง ของใครของมัน
    อย่าไปเอาความรู้ของคนอื่นมา เป็นทิฏฐิมานะของคน
    จริตของคนไปเอาของเขามาไม่ได้
    ความรู้เรียนทันกันได้ แต่โดยนิสัยปัจจัยเรียนทันกันไม่ได้
    เป็นกฎแห่งกรรมจากการกระทำของตน
    ทำให้แจ้งถึงใจได้จากการนั่งกรรมฐาน
    รู้เฉพาะตัวของท่านเอง คนอื่นไม่รู้หรอก
    นี่แหละท่านจะแก้ไขปัญหาของท่านได้เอง


    ความรู้เรียนทัน เป็นดอกเตอร์ด้วยกันได้
    จะเรียนวิชาอะไรก็ตาม คณิตศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์
    หรือ รัฐศาสตร์ จะเรียนวิชาไหนได้เหมือนกัน
    แต่ความดีของตัวเองที่จะแก้ปัญหาของชีวิตได้ไม่เหมือนกัน
    ต้องฝึกเอง ปฏิบัติเอง คือความดีส่งเสริมวิชาการให้ดีขึ้น
    เรียกว่า ความรู้คู่กับความดี เป็นการพัฒนาภูมิรู้

    ภูมิรู้คู่ความดี คือ พัฒนาธรรม
    ภูมิธรรมเกิดขึ้นแล้ว ภูมิฐานก็เกิดขึ้น
    ฐานะจะดีมีปัญญา จะแก้ไขปัญหาได้
    มีภูมิธรรมแล้วเกิดอะไร ที่แก้ไขปัญหาได้ เพราะมีภูมิปัญญา
    ภูมิปัญญาเกิดขึ้นแล้วจะเกิด ภูมิปัจจุบัน
    เอาปัจจุบัน อดีตเป็นความฝัน ปัจจุบันเป็นความจริง
    อนาคตไม่แน่นอน ที่ผ่านมานี่เป็นความฝันทั้งหมด
    อย่าไปคิดมัน นี่เป็นภูมิปัจจุบัน เป็นข้อสุดท้าย


    ขอให้นักกรรมฐานทั้งหลาย ถือปัจจุบันเป็นหลัก
    เรื่องเก่าอย่ารื้อฟื้น เรื่องของคนอื่นอย่านำมาคิด
    กิจที่ชอบทำ ไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ หยิกเล็บมันจะเจ็บเนื้อ
    อาตมาจึงเขียนขึ้นมาเป็นประสบการณ์ว่า
    ไปไหนปากอย่าไว ใจอย่าเบา
    เรื่องเก่าอย่ามารื้อฟื้น เรื่องของคนอื่นอย่านำมาคิด
    กิจที่ชอบทำ
    อนาคตไม่แน่นอน อย่าจับให้มั่น คั้นให้ตาย
    ผิดหวังจะเสียใจ

    เห็นหนอ โปรดส่งกระแสจิตทางหน้าผาก
    อุณาโลมา ปจชายเต
    พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจะมีตัว อุ ที่อุณาโลม
    เข้าหลักกับของอาตมาที่ได้จากขอนแก่น
    อุ ตัวนี้ อยากเรียนรู้ถามหญิงคันหูก
    อยากทำถูกถามเด็กเลี้ยงควาย
    คนสามบ้านกินน้ำบ่อเดียว
    เดินทางเดียวอย่าเหยียบรอยกัน
    นะอยู่หัว สามตัวอย่าละ
    นะอยู่ที่ไหนตามเอามาให้ได้

    มะอะอุมาจากไหน สามตัวอย่าละ
    มาจากไหน ศีล สมาธิ ปัญญา
    มะอะอุ อุอะมะ คือ ธาตุทั้งสี่ ศีล สมาธิ ปัญญา
    ได้จากขอนแก่น หลวงพ่อในป่าขอนแก่นบอกไว้ชัดเจนมาก

    ยืนหนอ 5 ครั้ง ท่านบอกว่า กรรมฐานต้องแปลว่า
    เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
    เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป เบื้องบนตั้งแต่ปลายท้าขึ้นมา
    ท่านถามว่า เธอบวชอุปัชฌาย์ให้กรรมฐานหรือเปล่า
    ถ้าไม่ได้กรรมฐาน ท่านจะไม่ให้ห่มผ้าอย่างนี้
    ทำให้ได้หน่อยได้ไหม ถ้าได้แล้ว เห็นคนเดินมา
    เห็นหนอ มันจะสัมผัสบอก
    แขกที่มาเยือนเรานิสัยไม่ดี
    แขกคนนี้อย่านับถือ อย่าคบค้าสมาคม
    จะไปไม่รอด พอเห็นปับ สัมผัสเลย

    ขอฝากนักกรรมฐานไว้ด้วยเป็นปัจจัตตัง
    ของใครของมัน ไม่ได้อยู่ในหนังสือ
    ต้องได้จากการปฏิบัติขึ้นมา

    ถ้าได้แล้วจะได้ตลอดไป พอเห็นปั๊บ มันจะบอกยี่ห้อ
    คนนี้คบได้หรือไม่ได้ แล้วเราจะรู้โดยปัจจัตตังว่า
    คนนี้เคยเป็นญาติกับเราไหม มันจะบอกชัด
    คนนี้เป็นศัตรูกับเรา ในเมื่อเป็นศัตรูกับเราแล้วแก้อย่างไร
    ก็แผ่เมตตาให้เป็นมิตรกับเรา
    อย่าไปเป็นศัตรูกับเขาเลย นี่วิธีแก้
    หลวงพ่อในป่าบอกให้ทั้งนั้น
    จงแผ่เมตตาให้ศัตรูเป็นมิตรกับเรา
    เรารักกันอย่ารักด้วยกิเลส
    จงมองคนด้วยเมตตา ปรารถนาดีต่อกัน
    เราจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
    อย่ามองคนในแง่ร้าย นี่คือ กรรมฐาน


    ญาติโยมที่มาปฏิบัติขอให้ทำตามนี้
    แล้วเอาของดีถวายพระราชกุศล
    บรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าให้จงได้
    ขอเน้นหลักนี้ให้แน่น อนาคตอย่าจับให้มั่น คั้นให้ตาย
    อันนี้เรียกว่าภูมิปัจจุบัน
    นั่งกรรมฐานนี้ให้ได้ภูมิปัจจุบันเป็นข้อสุดท้าย
    ถ้าโยมไม่มีภูมิรู้ ไม่มีภูมิธรรม ไม่มีภูมิฐาน ไม่มีภูมิปัญญา
    ภูมิปัจจุบันจะไม่รู้เรื่อง ปัจจุบัน คือ เดี๋ยวนี้
    คนเราถ้ามี 5 ภูมิ รับรองรู้จักนิสัยกัน จะไม่แหนงแคลงใจต่อกันเลย
    พี่จะรักน้อง น้องจะรักพี่ สร้างความดีให้พ่อแม่
    จะไม่โกงกัน จะไม่แย่งสมบัติกันแน่

    กรรมฐานสามารถต่ออายุได้
    ขอให้ญาติโยมทั้งหลายโปรดพิจารณาเดี๋ยวนี้ว่า
    เมื่อสมัยโบราณอาตมาบวชใหม่ๆ
    เขานิมนต์พระไปสวดต่อนาม
    พ่อแม่เขาป่วย นิมนต์พระไปสวดให้ฟัง
    อาตมาก็เป็นพระบวชใหม่ไม่รู้ก็สวดไป ได้บ้างไม่ได้บ้าง
    ถามสมภารว่าต่อนามเป็นอย่างไร
    สมภารบอกว่าถ้าเราสวดแล้วเขาฟื้นจะมีชื่อเสียง
    แต่ถ้าเราไปสวดแล้วเขาตาย จะไม่มีใครมานิมนต์อีก
    อาตมาก็พยายามสวด นึกในใจขอให้เขาฟื้นหน่อยเถอะ
    เขาก็เกิดฟื้นขึ้นมา

    ไปสวดต่อนาม ก็คือ ไปสอนกรรมฐาน
    อวิชา ปัจย สังขารา มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร
    วิญญาณ ปัญจักขันธา รูปักขันโธ
    สวดคิริมานนท์สูตร ที่พระอานนท์สวดถวายพระพุทธเจ้า
    พระพุทธเจ้าอาพาธ หายได้
    ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าเป็นยอดในโลก ยังต้องรับฟัง
    ไปสวดต่อนาม ก็คือ ไปสวดสอนกรรมฐานนั่นเอง
    คนป่วยฟังรู้เรื่อง พนมมือฟัง
    สวดสอนกรรมฐานและสวดสติปัฏฐานสี่

    สรุปใจความว่า
    การเจริญกรรมฐานเป็นการต่ออายุต่อนามของเราเอง
    ไม่ต้องไปหาหมอต่ออายุ
    ไม่ต้องไปหาหมอดูสะเดาะเคราะห์ใดๆ
    โบราณเขาบอกว่า หากเคราะห์หามยามร้ายสร้างพระเข้าตัว
    เลยจำผิดเป็นสร้างพระเท่าตัว
    สร้างถวายกันเกะกะศาลาเขาไปหมด
    สร้างพระเข้าตัว คือ เอาพระมาไว้ในใจนี่
    คือ นั่งเจริญกรรมฐาน อายุมั่นขวัญยืน ต่ออายุได้
    ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องด้วย


    [​IMG] [​IMG] [​IMG]



    คัดลอกจาก...หนังสือกฎแห่งกรรม เล่ม 14

    http://www.jarun.org

    http://www.dhammajak.net
     
  2. ตักศิลา

    ตักศิลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 ธันวาคม 2006
    โพสต์:
    498
    ค่าพลัง:
    +440
    Excellent.Anumatanasatu krab
     

แชร์หน้านี้

Loading...