การปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์ : พระครูเกษมธรรมทัต

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 27 กรกฎาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    ก า ร ป รั บ อิ น ท รี ย์ ใ ห้ ส ม ดุ ล
    พระครูเกษมธรรมทัต (พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี)
    วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา

    อินทรีย์ ก็คือ ความเป็นใหญ่
    ก็คือ เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนเองนั้น
    ใครจะมาเป็นใหญ่กว่าไม่ได้

    อินทรีย์มี ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
    บางทีท่านก็ขยายออกไปละเอียดขึ้นเป็นอินทรีย์ ๒๒


    [​IMG] อินทรีย์ประการที่ ๑ : ศรัทธา

    คือ ความเชื่อ ในกระบวนการของความเชื่อแล้ว
    ศรัทธาเป็นใหญ่ เหมือนอย่างตา ตาก็เป็นใหญ่ในกระบวนการเห็น
    จะเอาอย่างอื่นมาทำหน้าที่เรื่องการเห็นไม่ได้
    เราเรียกว่าอินทรีย์คือความเป็นใหญ่

    ศรัทธา คือความเชื่อ การปฏิบัติก็ต้องมีความเชื่อ
    ซึ่งก็เป็นองค์ของความตรัสรู้เหมือนกัน

    อินทรีย์ ๕ พละ ๕ องค์ธรรมเหมือนกัน
    แต่ต่างกันที่ความเข้มข้น พละนั้นเข้มข้นกว่า


    ศรัทธาความเชื่อ ก็แบ่งออกเป็น ๔ อย่าง

    ๑) กัมมสัทธา

    เชื่อในกรรมว่า กรรมมีจริง บุญบาปมีจริง กุศลกรรมมี อกุศลกรรมมี
    บางคนไม่เชื่อ ไม่เชื่อว่าบุญจะมีจริง บาปจะมีจริง
    มันก็ล่อแหลม ในการที่จะทำความชั่วต่างๆ
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมาปฏิบัติ
    ถ้าไม่มีความเชื่อเสียแล้ว ไม่มีความศรัทธาแล้ว
    ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ก็เพราะเชื่อในเรื่องของกรรม

    ๒) วิปากสัทธา

    เชื่อผลของกรรม ผลของกรรมมีจริง
    ความสุขความทุกข์ ที่เกิดขึ้น
    ที่ได้ยศลาภสักการะชื่อเสียงอะไรต่างๆ
    มันเป็นผลเกิดขึ้นมาจากกรรม

    ต้องมีความเชื่อว่าเกิดมาจากกรรม
    ปฏิเสธว่ามีผู้มีอำนาจมาดลบันดาล มีพระเจ้ามาดลบันดาล
    มาสร้างหรือว่ามีอำนาจของดวงดาวอะไรต่างๆ

    คนที่มีวิปากสัทธา ก็ไม่ไปเชื่อเรื่องอำนาจของดวงดาวต่างๆ
    อำนาจลี้ลับ อำนาจพระเจ้า อะไรต่างๆ
    เพราะว่ามีศรัทธา คือ เชื่อมั่นว่า ความสุข ความทุกข์ต่างๆ นี้
    เกิดมาจากกรรมอย่างแน่นอน

    การเห็น การได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส
    เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมทั้งนั้น
    เห็นขณะหนึ่งก็เป็นวิบาก ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส
    ทีละขณะๆ เป็นวิบาก คือเป็นผลทั้งนั้นเลย

    ท่านจัดวิบากออกไปเป็น กุศลวิบาก กับอกุศลวิบาก
    คำว่ากุศลวิบากคือเป็นผลของกุศล
    อกุศลวิบากคือเป็นผลของอกุศล
    แต่พูดง่ายๆ ว่า กุศลวิบากคือผลบุญ อกุศลวิบากคือผลบาป

    อกุศลก็หมายถึงธรรมที่มีโทษให้ผลเป็น
    ความทุกข์เป็นตัวเหตุของความทุกข์เรียกว่าบาป
    กุศลเป็นธรรมที่ไม่มีโทษให้ผลเป็น ความสุข
    ก็เป็นตัวเหตุเหมือนกันแต่เป็นเหตุแห่งความสุขเรียกว่าบุญ

    ผลของอกุศล เราก็เรียกว่าอกุศลวิบากหรือผลบาป
    ผลของกุศลก็เรียกว่ากุศลวิบากหรือผลบุญ
    ในชีวิตประจำวันก็มีอยู่ เห็นก็มีเห็นดี เห็นไม่ดี มี ๒ อย่าง

    ได้ยินเสียง ก็ได้ยินเสียงเพราะ ไม่เพราะ
    ได้กลิ่นก็กลิ่นเหม็น กลิ่นหอม
    ได้ลิ้มรส ก็รสอร่อย ไม่อร่อย
    ได้สัมผัสทางกาย ก็สัมผัสดี ไม่ดี
    นี้คือผลเป็นวิบากเกิดขึ้น

    ฉะนั้น ในขณะที่ได้ฟังเสียงไม่ไพเราะเช่น
    จะทำกรรมฐานเสียงสุนัขกัดกันก็ต้องมีความเข้าใจแล้วว่า นี่คืออะไร
    นี่คืออกุศลวิบาก คือผลของบาป บาปของใคร บาปของเรา
    แสดงว่าเราก็ต้องทำบาปแบบนี้ไว้

    คืออาจจะไปทำเสียงหนวกหูให้คนอื่นเขา
    ที่กำลังจะทำความสงบเข้าไว้ในอดีต
    ทำเหตุไว้แล้ว ถ้าไม่มีเหตุ ผลจะเกิดขึ้นไม่ได้

    เรื่องหลักธรรมคำสอนพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของเหตุของผล
    ไม่มีคำว่าบังเอิญ ไม่มีการเกิด ขึ้นลอยๆ
    โดยการขาดเหตุขาดปัจจัย ต้องมีเหตุทั้งนั้น


    ฉะนั้น เราก็อนุมานเอาได้ว่า เมื่อผลอย่างไร
    เหตุก็ต้องสอดคล้องกับผลอย่างนั้น


    ในเมื่อเราได้ยินเสียงหนวกหู ก็แสดงว่าเราต้องทำให้คนอื่นหนวกหู
    เราก็เข้าใจเอาว่าอันนี้เป็นผลของบาป มันก็ไม่ไป โกรธใคร
    จะโกรธใครละ ก็มันผลที่เราทำไว้เอง
    ได้ยินเสียงด่า เขาด่าว่ามา
    เราก็รู้แล้ว อ๋อ นี่ผลของบาปนะนี่
    แสดงว่าเราคงด่าเขาไว้

    ตอนนี้เป็นผลของบาปเกิดขึ้นมันก็ไม่ โกรธใคร
    รู้ว่ากำลังใช้หนี้อยู่ กำลังใช้หนี้ คิดว่ากำลังใช้หนี้


    ถ้าหากว่าเราเป็นหนี้อยู่ สมมุติว่าเราไปกู้หนี้ยืมสินเขาไว้
    ถึงคราวเจ้าหนี้เขามาทวง แล้วเราก็มีเงินที่จะใช้หนี้
    มันก็ควรจะเบาใจว่า
    เออ ได้ชดใช้หมดกันไปหรือน้อยลงไปลดต้นทุนไป
    เราจะไปโกรธ เจ้าหนี้ก็ไม่ได้
    เขามาทวงเรา ได้มีเงินใช้ก็ควรจะเบาใจ

    เพราะฉะนั้นถ้าหากทุกคนทำใจ อย่างนี้ได้ มันก็จะลดความโกรธลงไป
    เวลาประสบกับอารมณ์ไม่ดี ถูกเขากลั่นแกล้ง
    ถูกเขาเสียดสี ถูกเขาใส่ร้ายหรือถูกเขาทำร้าย
    เราก็นึกว่า เขามาทวงหนี้ ได้ใช้หนี้ไป
    นี่เป็นผลของกรรมที่เราทำไว้ เป็นผลของบาปที่เราทำไว้
    ถ้าหากว่าได้พิจารณาอย่างนี้ เราก็จะไม่ทุกข์ใจ

    แต่เราก็มักจะไม่ยอมใช้ดีๆ แต่กลับกู้หนี้ใหม่อีก
    คือเขาด่ามาก็ต้องด่าบ้าง เขาแกล้งมาเราก็ต้องแกล้งมันบ้าง
    เรามักจะว่าก็มันอยากทำกับเราก่อน อย่างแค่ยุงมากัดนี่
    เราก็ต้องรู้ว่า อ๋อ นี่เป็นผลกรรม เราก็ต้องเคยกัดใครเขาไว้
    เราก็ต้องนึกว่าเออ เป็นผลของกรรม

    ถ้าเราคอยมานึกว่ามันอยากกัดเรานี่ ต้องจัดการ
    ถ้าเราไม่มีกรรมชนิดว่าเคยกัดเขาไว้นี่มันจะไม่ถูกกัด

    ถ้านึกอย่างนี้ ก็เบาใจได้ชดใช้กัน
    ได้ที่เราเกิดมาเพราะว่า มันมีกรรม เกิดมากำลังเป็นวิบาก
    เป็นผลอยู่ มีเห็น มีได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส
    รู้สัมผัสอยู่ทุกขณะ ทีละขณะ ทีละขณะ

    ฉะนั้นเมื่อเวลาประสบอารมณ์ที่ดี ก็ให้รู้ว่านี่เป็นผลบุญ
    ได้ฟังเสียงไพเราะได้กลิ่นหอมได้อาหารอร่อยได้สัมผัสดีเวลา
    เราร้อนมีพัดลมพัดมาเย็นสบาย เราก็รู้ว่า
    อ้อ อันนี้เป็นผลบุญนะ แสดงว่าเราก็คงจะให้กุศลที่ดีไว้

    เช่นอาจจะเคยถวายพัดลมไว้ เคยไปพัดใครให้เย็น
    เคยเอาน้ำไปอาบใคร ไว้ให้เย็น เราก็ได้เย็น
    ในขณะที่เราร้อน นั่งอยู่อากาศร้อน หรือแดดมันร้อน
    เราก็รู้ว่า อ้อ แสดงว่าเราคงจะต้องไปเผาใครเข้าไว้
    ก็ให้ผลกระเส้นกระสายมาไม่เต็มที่ แล้วก็ไม่ต้องโกรธใคร

    ฉะนั้น เมื่อประสบกับอารมณ์ไม่ดีต่างๆ ก็ให้รู้ว่าเป็นผลของบาป
    ทำใจให้เข้าใจเรื่องกฏแห่งกรรม
    มันจะลดโทสะลงไปมาก แล้วมันเป็นปัญญาด้วย
    เขาเรียกว่า กัมมัสสกตาปัญญา เป็นปัญญาที่รู้
    เข้าใจในเรื่องของกรรมและผลของกรรม


    เวลาเราจะทำบุญกุศลอันใด
    อานิสงส์มากกว่าคนที่ไม่เข้าใจ

    คนที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรม
    ผลของกรรมทำบุญก็สักแต่ทำไปอย่างนั้น ไม่เข้าใจอะไร

    แต่ถ้าเราเรียนศึกษาเราจะทำบุญไปนี่
    มันจะประกอบด้วยปัญญาเข้าใจว่านี่มันอะไร เป็นอะไร
    หรือเราพิจารณาเห็น ได้ยินรู้กลิ่นรู้รสดีไม่ดี
    เราเข้าใจว่าเป็นผลของบุญผลบาป ปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้น


    ฉะนั้นเวลาได้รับผลบุญเราก็อย่าประมาท
    เราก็นึกว่านี่เราเบิกเงินจากธนาคารมาใช้ แล้วนะ
    มันยุบไปแล้ว ต้องเอาไปเติมไว้อีก

    ที่เราได้รับความสุข ได้ลาภสักการะ ได้เห็นได้กลิ่นรู้รสที่ดี
    ก็รู้ว่านี่เบิกมาใช้แล้วนะอย่าประมาท
    ต้องเอาไปเติม ไปเร่งทำกุศลอีก

    นี้เป็นเรื่องปัญญาที่รู้ในเรื่องของกรรมและผลของกรรม
    ถ้าหากว่ายิ่งไปกว่านั้น ถ้าจะให้ประเสริฐกว่านั้น
    คือมีสติมี วิปัสสนาปัญญา มหากุศลญาณสัมปยุตต์
    คือ กุศลที่ประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญา
    แต่ทำได้ยาก ถ้าไม่ได้เป็นนักปฏิบัติก็จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย


    คือมีสติรู้เท่าทัน
    เวลาเห็น ระลึกรู้ ได้ยิน ระลึกรู้ ลิ้มรส
    สัมผัสกายเย็นร้อนอ่อนแข็ง ระลึกรู้
    เห็นเป็นรูปเป็นนาม มีปัญญาเกิดขึ้น
    ในขณะที่เจริญสตินั้นจิตเป็นมหากุศลประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญา

    ๓) กัมมัสสกตาสัทธา

    คือ เชื่อว่าเรามีกรรมเป็นของของตน
    เรื่องกรรมนี้เมื่อบุคคลทำกรรมอันใดไว้
    บุคคลนั้นก็จะต้องเป็นเจ้าของกรรมนั้น
    โยนไปให้คนอื่นไม่ได้

    ทำบาปแล้วจะไปโยนให้คนอื่นรับก็ไม่ได้
    ทำบุญไว้ใครก็มาแย่งเอาบุญไปไม่ได้
    เป็นเจ้าของจริงๆ ไม่เหมือนสมบัติภายนอกอื่นๆ


    บางทีเราตายไปแล้วก็เปลี่ยนมือกันไป
    เรื่องของกรรมนี่เป็นเจ้าของจริงๆ
    เป็นทายาทรับมรดกของกรรม

    ๔) ตถาคตโพธิสัทธา

    คือ เชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่า
    พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้จริงๆ มีความตรัสรู้ได้จริง
    บางสิ่งบางอย่างเราไม่มีปัญญาที่จะเข้าไปรู้เห็นได้
    แต่เราเชื่อว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้จริง สอนเรามาอย่างนี้จริง
    เราเชื่อ เรื่องนรกสวรรค์เราพิสูจน์ด้วยตนเองไม่ได้
    เพราะไม่มีฌาณอภิญญาจะไปมีตาทิพย์ เห็นสิ่งลี้ลับอย่างนั้น

    แต่เราก็เชื่อว่าพระพุทธเจ้าไม่โกหกเราแน่ พระองค์ตรัสรู้ได้จริง
    แต่บางสิ่งบางอย่างเรายังเข้าไม่ถึง
    เรื่องฌาณ เรื่องอภิญญา เรื่องมรรคผล

    แม้ยังทำไม่ได้แต่เราก็เชื่อว่าจริง พระพุทธเจ้าสอนไว้จริง
    ต้องอาศัยตถาคตโพธิสัทธา
    ตถาคตโพธิสัทธามีส่วนสำคัญโดยเฉพาะการประพฤติปฏิบัติ


    ถ้าเราไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าข้อปฏิบัติอย่างนี้
    ธรรมะอย่างนี้จะทำให้คนพ้นทุกข์ได้จริง
    เราก็จะไม่มานั่ง ปฏิบัติเดินปฏิบัติกันอยู่ ไปสนุกสนานดีกว่า

    ถ้าความเชื่อมันลดระดับลงไป มันก็ประสบความสำเร็จไม่ได้
    เพราะฉะนั้นศรัทธาต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้มากขึ้น



    อินทรีย์ประการที่ ๒ : คือ วิริยะ

    ได้แก่ความเพียร ความเพียรพยายาม ในการที่จะทำกรรมฐาน
    ทำกุศล ละอกุศล บาปอันใดที่ยังไม่เกิดก็เพียรอย่าให้มัน เกิดขึ้น
    บาปอันใดที่เกิดขึ้นแล้วเพียรละออกไป
    กุศลอันใดที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นก็เพียรให้มันเกิดขึ้น
    กุศลอันใดที่เกิดขึ้นแล้วก็เพียรพยายามให้เจริญขึ้น

    โดยเฉพาะเพียรตั้งสติ เพียรระลึกรู้อยู่เสมอ
    เพียรเดินจงกรม เพียรนั่งกรรมฐาน เพียรเจริญภาวนาอยู่
    ขาดความเพียรแล้วก็ประสบความสำเร็จไม่ได้

    [​IMG] อินทรีย์ประการที่ ๓ : สติ

    เป็นตัวระลึกรู้ ตัวรู้ทัน ที่เป็นไปในสติปัฏฐานทั้ง ๔
    คือระลึกรู้ลงไปในกาย มีลมหายใจเข้าออก
    อิริยาบถใหญ่คือยืนเดินนั่งนอน
    ริยาบถย่อยต่างๆ ระลึกรู้ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม
    คือ สิ่งที่ปรุงแต่งในจิตใจสภาพ ธรรมต่างๆ

    [​IMG] อินทรีย์ประเภทที่ ๔ : สมาธิ

    สมาธิเป็นตัวตั้งมั่นในอารมณ์ สมาธิ ตั้งมั่น
    ก็ต้องมีความตั้งมั่นในขณะที่เจริญกรรมฐาน
    ก็ต้องมีสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์
    เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
    ก็มีความตั้งมั่นแนบแน่นไปตามลำดับ

    เจริญวิปัสสนา ใช้ขณิกสมาธิพอเป็นขณะๆ ที่จะรู้เท่าทัน
    ตั้งมั่นในอารมณ์เป็นขณะทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย
    อุปจารสมาธิก็ใกล้ฌาณเข้าไป ชักไม่รำคาญในเสียง
    เสียงดังมาก็ไม่รู้สึกรำคาญพอได้ยิน
    อัปปนาสมาธิก็แนบแน่นดิ่งลงไปในอารมณ์

    [​IMG] อินทรีย์ประการที่ ๕ : ปัญญา

    ปัญญาคือความรู้ ความรู้ความเข้าใจ
    ในวิธีการประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งไปเห็นรูปเห็นนามเป็นไตรลักษณะ

    การปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์นั้น ท่านก็กล่าวไว้ว่า

    ทำศรัทธากับปัญญาให้ สมดุล
    ทำวิริยะกับสมาธิให้สมดุล
    ส่วนสติก็เป็นตัวกลางตัวประสานได้ทุกธรรม คือเข้าได้ทุกที่


    ศรัทธากับปัญญา

    บางคนมีแต่ความเชื่อแต่ขาดปัญญาเขาเรียกว่างมงาย
    เชื่ออะไรก็เชื่อหัวปักหัวปำ
    งมงายไปขาดเหตุผลขาดปัญญา


    ปัญญามากไป ไม่มีศรัทธา ก็ฟุ้งซ่านเหมือนกัน ไม่ได้ปฏิบัติสักที
    คนมีแต่ปัญญาปฏิบัติไม่ลง ไม่เชื่อไปหมด
    อาจารย์องค์นั้นก็ไม่ได้เรื่อง องค์นี้ก็ไม่ได้เรื่อง
    อันนั้นจะถูกมั้ย พอปฏิบัติกลัวไม่ถูก อันนั้นก็ไม่ถูก

    วิจัยธรรมมากเกินไป ไม่ศรัทธาไปหมด ปฏิบัติไปๆ มันก็ฟุ้งซ่าน
    ความเชื่อไม่มี ไม่มีความสมดุล
    มีศรัทธามีปัญญาสมดุลกันเชื่อด้วยมีปัญญาด้วย


    ความเพียรกับสมาธิให้สมดุลกัน

    คือถ้าเพียรมากแต่ขาดสมาธิมันก็ไม่เคร่งเครียด
    บางทีเครียดหมดมันไม่มีสมาธิ
    บางทีก็ลำบากกายเปล่า เดินจงกรม นั่งกรรมฐาน
    ทำมากทั้งวันทั้งคืนแต่สมาธิไม่เจริญเลย
    มันก็ไปทางทุกข์กายลำบากกาย

    แต่ถ้าหากสมาธิมาก ความเพียรน้อยกว่า
    มันก็ไม่เห็นธรรมไม่เห็นสภาวะ
    ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐานน้อย


    ที่จะให้เกิดความรู้เห็น เห็นสภาวะของความเกิดดับ
    อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไม่เห็น มันดิ่งลงไป

    บางทีเราปฏิบัติไปนี่สมาธิมันมาก
    มันก็คอยจะนิ่งๆ ดิ่งลงไปเฉยๆ ไม่รับรู้อะไร

    เราต้องสร้างความเพียรให้ทัน
    คือเพียรระลึกเพียรพยายามที่จะให้มันเกิดการรู้เท่าทันขึ้น
    มันมีความสมดุลขึ้น

    ถ้าหากว่าบุคคลได้มีอินทรีย์ ๕ ที่สมดุลกัน
    การปฏิบัติก็จะได้รับผลขึ้น
    ที่ปฏิบัติอยู่ ไม่ค่อยมีความสมดุลย์กัน
    ก็ต้องอาศัยการพิจารณาสังเกตให้มันสม่ำเสมอ


    คิดว่าได้แสดงมาพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
    ที่สุดนี้ขอความสุข ความเจริญในธรรม
    จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคนเทอญ



    (ที่มา : "การปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์" ใน วิปัสสนาภูมิ โดย พระครูเกษมธรรมทัต (พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี) ; วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๘, หน้า ๑๗๙-๑๘๕) แสดงกระทู้ - การปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์ : พระครูเกษมธรรมทัต • ลานธรรมจักร
     

แชร์หน้านี้

Loading...