การปฏิบัติสมาธิ ตามหลักพุทธศาสนา ตอนที่ ๑๐ - ตอนที่ ๑๑ (จบ)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย telwada, 13 สิงหาคม 2009.

  1. telwada

    telwada เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,509
    ค่าพลัง:
    +1,817
    ตอนที่ ๑๐
    ในตอนที่ ๙ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า "อุบายการทำใจให้สงบ" หรือ การฝึกจิตให้สงบ"นั้น มีความหมาย หรือ วิธีการ หรือหลักการ ที่หลากหลายรูปแบบ
    และ "อุบายการทำใจให้สงบ" หรือ "การฝึกจิตให้สงบ" นั้น สามารถสร้าง " สมาธิ" หรือความตั้งมั่นในจิตใจได้ นี้เป็นไปตามหลักพุทธศาสนา
    ดังนั้น ปฏิบัติสมาธิ หรือการ สร้างความมีสมาธิในตัวบุคคล กับการ ทำใจให้สงบ ในตัวบุคคลนั้น จะแตกต่างกัน เพราะ ความหมายของคำว่า "การทำใจให้สงบ"นั้น มีความหมายที่กว้างกว่า "สมาธิ"
    หลายๆท่านที่มีความรู้ ย่อมมีข้อคัดค้านอยู่อย่างหนึ่งว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงไม่กล่าวถึง "สัมปชัญญะ" ความรู้สึกตัว ที่ข้าพเจ้าไม่ยังไม่กล่าวถึงก็เพราะ อันสัมปชัญญะ หรือความรู้สึกตัว ในบุคคลปกติทั่วๆไปนั้น ย่อมมีความรู้สึกตัว หรือสัมปชัญญะ อยู่เองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว อีกประการหนึ่ง "สติ กับ สัมปชัญญะ "นั้น ใกล้กัน เชื่อมโยง สัมพันธ์กัน เกี่ยวข้องกัน ต่อเนื่องจากกัน ต่างเป็นมรรคซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นผลซึ่งกันและกันอีกด้วย กล่าวคือ "บุคคลย่อมมีความรู้สึกตัว อยู่เสมอในที่นี้หมายถึงขณะตื่นอยู่ และในความรู้สึกตัวของบุคคลนั้นๆ ก็ย่อมประกอบไปด้วยสมาธิ คือความมีจิตใจตั้งมั่น เมื่อได้สัมผัสทางอายตนะทั้งหลาย ย่อมเกิดสติคือ ความระลึกได้ ในทันควัน หรือเกิดความรู้สึกตัว คือ สัมปชัญญะ ในทันควัน ดังนั้น หากมีบุคคลมีสติ คือความระลึกได้ ก็ย่อมแสดงว่า บุคคลนั้นๆ มีสัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัวอยู่แล้ว
    อนึ่ง ทั้ง สติ คือ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ คือ ความรู้สึกตัวนั้น ล้วนเกิดมีอยู่ในบุคคลเป็นชั้น เป็นขั้น เป็นตอน เป็นระบบ เป็นระเบียบ ยกตัวอย่างเช่น ปกติเมื่อบุคคลยังตื่นและประกอบกิจกรรมใดใดก็ตามอยู่ ย่อมมีความรู้สึกตัว และระลึกได้ ต่อเมื่อ ได้สัมผัสทางอายตนะ นอกเหนือจากกิจกรรมที่ตัวเองกำลังประกอบกิจกรรมนั้นอยู่ หรือ ได้สัมผัสทางอายตนะ จากกิจกรรมที่กำลังกระทำอยู่ ก็จะเกิดความรู้สึกตัว คือ สัมปชัญญะ อีกในชั้นหนึ่ง และ เกิดสติ คือความระลึกได้ตามมา จะกล่าวว่า ทั้งสัมปชัญญะ และสติ ที่เกิดขึ้นอีกขั้นหนึ่งนั้น เกิดโดยพร้อมกันก็ว่าได้ อย่างนี้เป็นต้น
    ดังนั้น หลักธรรม ในหมวด " สติปัฏฐาน ๔" และ "กรรมฐาน๔๐" จึงกล่าวถึงเพียงความระลึกได้ หรือสติ ฯ และกล่าวถึง อุบายการทำให้ให้สงบ หรือ วิธีการอบรมจิต หรือ อุบายสงบใจ (ข้อมูลจาก พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับ พระธรรมปิฏก)
    ยังมีอีกประการหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปในตอนที่ ๘ เกี่ยวกับการเกิดสมาธิไว้ว่า "ก่อนที่ท่านทั้งหลาย จะทำสิ่งใดก็ตามแต่ หรือก่อนที่ท่านทั้งหลายจะเอาใจจดจ่อในสิ่งใดก็แล้วตาม ความตั้งมั่นในจิตใจ จะเกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก หรือจะกล่าวในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ "การที่ท่านมีความตั้งใจ หรือมีความต้องการ ที่จะประกอบกิจกรรมใดใดก็ตาม ความตั้งใจ ความต้องการของท่านนั้น คือ "สมาธิ" นั่นก็หมายความว่า สมาธิ จะเกิดขึ้นก่อนเพียงเล็กน้อย
    ที่ว่าสมาธิ เกิดขึ้นก่อนเพียงเล็กน้อยนั้น หมายความว่า สมาธิ เกิดขึ้นก่อนที่ท่านจะมีความตั้งใจ หรือมีความต้องการ ที่จะประกอบกิจการใดใด คือ เมื่อใจมีความตั้งมั่น คือมีสมาธิ ความรู้สึกตัว ระลึกได้ หรือ สัมปชัญญะ และสติ ก็จะทำให้เกิดความต้องการ เกิดความตั้งใจ ฯลฯ อันนี้ท่านทั้งหลายควรได้สังเกต ทั้งตัวเอง หรือจะสังเกตจากบุคคลรอบข้างก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้
    ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้วว่า สมาธิ กับ อุบายทำให้ใจสงบ หรือวิธีอบรมจิต หรือการอบรมจิตให้สงบนั้น แม้มีข้อแตกต่างจากกัน แต่ การอบรมจิตให้สงบ ก็สามารถเป็นสิ่งสร้างสมาธิ ในตัวบุคคลได้ วิธีการหนึ่ง ซึ่งท่านทั้งหลายควรได้พิจารณาให้เกิดความเข้าใจ ในหลักวิชชา หรือหลักการก่อนว่า.
    อุบายทำให้ใจสงบ ตามหลักกัมมัฏฐาน ๔๐ นั้น ได้แก่ " กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูป ๔ " (ข้อมุลจาก พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับพระธรรมปิฏก)
    มิใช่เป็นการฝึกสมาธิ แต่เป็น อุบายเรืองปัญญา คือ จัดอยู่ในหมวด วิปัสสนา กัมมัฏฐาน
    ข้าพเจ้าเคยสอนไว้เกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิ และได้เคยให้ความหมายของการปฏิบัติสมาธิ ไว้ว่า " การเอาใจเข้าไปผูกอยู่ หรือ การเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น " ต่อมาได้พบว่า การปฏิบัติ เพื่อสร้างสมาธิ หรือการปฏิบัติเพื่อทำให้ใจตั้งมั่น เป็นคนละอย่าง กับ การเอาใจเข้าไปผูกอยู่ หรือ การเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น " แต่ในทางตรงกันข้าม การเอาใจเข้าไปผูกอยู่ หรือ การเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น สามารถสร้างสมาธิ หรือความตั้งมั่นในจิตใจได้ พร้อมกันนั้น ก็สามารสร้างสัมปชัญญะคือ ความรู้สึกตัว และ สติ คือความระลึกได้ ไปพร้อมๆกัน อีกด้วย

    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๒๐ ก.ค. ๒๕๕๒

    ตอนที่ ๑๑
    ในตอนที่ ๑๐ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า
    "ข้าพเจ้าเคยสอนไว้เกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิ และได้เคยสอนหลักการ หรือวิธีการปฏิบัติสมาธิ ไว้ว่า หมายถึง " การเอาใจเข้าไปผูกอยู่ หรือ การเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น หรือ การเอาใจจดจ่อในสิ่งนั้น " ต่อมาได้พบว่า การปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างสมาธิ หรือการปฏิบัติเพื่อทำให้ใจตั้งมั่น เป็นคนละอย่าง กับ การเอาใจเข้าไปผูกอยู่ หรือ การเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น หรือ การเอาใจจดจ่อในสิ่งนั้น " แต่ในทางตรงกันข้าม การเอาใจเข้าไปผูกอยู่ หรือ การเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น หรือ การเอาใจจดจ่อในสิ่งนั้น สามารถสร้างสมาธิ หรือความตั้งมั่นในจิตใจได้ พร้อมกันนั้น ก็สามารสร้างสัมปชัญญะคือ ความรู้สึกตัว และ สติ คือความระลึกได้ ไปพร้อมๆกัน อีกด้วย"
    ในตอนที่ ๑๑ นี้ ข้าพเจ้าจะอธิบาย การปฏิบัติสมาธิ อันเป็นพื้นฐาน หรือจะเรียกว่า "เป็นรากฐาน แห่งความมีจิตใจตั้งมั่น" อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ ในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆ ทั้งทาง กาย ,วาจา ,และ ใจ การปฏิบัติสมาธิ ขั้นพื้นฐาน หรือ ขั้นรากฐานนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเพิ่ม หรือสร้างเสริม ความมีความตั้งมั่นในจิตใจ ของบุคคลให้ เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เพื่อการศึกษา หรือปฏิบัติธรรม ตามหลักพุทธศาสนา (ในศาสนาอื่นๆก็เป็นทำนองเดียวกัน)
    ความมีจิตใจตั้งมั่น หรือความตั้งมั่นแห่งจิตใจ เป็นคำอธิบายขยายความของคำว่า "สมาธิ" และสมาธินั้น สมาธิ นั้น “ ทางด้านสภาวะภาพ หรือกายภาพ ของมัน คือ การที่บุคคลมีความสามารถควบคุมคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และคลื่นไฟฟ้าหรือความคิด,หรือความรู้ ความจำ จากสมอง ให้มีระเบียบ แบบแผน ไม่สับสน วุ่นวาย สามารถจัดลำดับ ว่าควรใช้คลื่นฯใดใด ในกิจการใด หรือไม่ควรใช้คลื่นฯใด หรือ สามารถจัดลำดับของ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อระงับ หรือเพื่อปฏิบัติ หรือเพื่อทำให้เกิดสภาพสภาวะแห่งความรู้สึก ตาม ความคิด ความรู้ ความจำ จากสมอง อย่างเป็นระเบียบ อย่างเป็นระบบ มิให้เกิดความสับสน วุ่นวาย ” ที่กล่าวไปข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายควรได้ศึกษา จดจำ ทำความเข้าใจ ด้วยตัวของท่านเอง
    การฝึกสมาธิ หรือการปฏิบัติสมาธิ ในชั้นรากฐานนั้น ความจริงแล้วก็คล้ายจะเป็นการเอาใจจดจ่อ หรือการเอาใจฝักใฝ่ หรือการเอาใจเข้าผูกอยู่ คล้ายนะขอรับ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะขณะปฏิบัติสมาธิ จะต้องกำหนดรู้ลมหายใจ(อากาศ) หรือมี ความรู้สึกตัว คือสัมปชัญญะ และมีสติ คือระลึกได้ อยู่ตลอดเวลา การระลึกได้ หรือสติในที่นี้จะรวมอยู่ในการกำหนดรู้ หมายความว่าถ้ากำหนดรู้ลมหายใจ(อากาศ)ตลอด ก็หมายความว่า มี สัมปชัญญะ และมีสติ คือ ความระลึกได้ ตลอดขณะปฏิบัติ หรือฝึกสมาธิ และที่สำคัญการกำหนดรู้ นั้น เป็นการคิดชนิดหนึ่งที่บุคคลนั้นๆจะไม่รู้สึกว่าได้คิด อันนี้ต้องทำความเข้าใจ ส่วนวิธีการปฏิบัติสมาธิ หรือฝึกสมาธินั้นมีรูปแบบ หลายรูปแบบ เช่น นั่ง ,นอน, ยืน,เดิน ฯ ก็ได้เช่นกัน ซึ่งในการปฏิบัติตามรูปแบบเหล่านั้น ย่อมมีผลที่แตกต่างกันไปด้วย เหตุเพราะเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบแห่งสรีระร่างกายของมนุษย์ รูปแบบที่เป็นมาตรฐานมาทุกยุคทุกสมัย ก็คือ การนั่ง ขัดสมาธิ มือวางทับซ้อนกัน ไว้ที่ตัก หลับตา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ไม่เกร็ง หรือจะนอนก็ได้ หรือจะ ยืน หรือ เดิน ก็ได้เช่นกัน แต่ต้องทำตามหลักการหรือวิธีการแห่งการปฏิบัติสมาธิ หรือฝึกสมาธิ ตามที่ได้กล่าวไป สำหรับข้อแตกต่างในรูปแบบการปฏิบัติสมาธิ หรือการฝึกสมาธินั้น ในที่นี้จะไม่อธิบาย หากท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติ หรือฝึกสมาธิตามรูปแบบเหล่านั้น และสนใจ ใส่ใจในการปฏิบัติหรือการฝึกสมาธิในรูปแบบต่างๆ ก็จะเกิดความเข้าใจได้ด้วยตัวเอง ว่าในแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกันเช่นไร อย่างไร
    การปฏิบัติสมาธิ หรือการฝึกสมาธินี้ จำเป็นต้องใช้ ลมหายใจ(อากาศ) เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว แต่ต้องไม่เอาใจจดจ่อในลมหายใจ(อากาศ) เพียงแต่กำหนดรู้เฉยๆว่า ขณะหายใจเข้ามีลม(การเคลื่อนที่ของอากาศ)ไหลเข้า เวลาหายใจออก มีลม(การเคลื่อนที่ของอากาศ)ไหลออก โดยไม่คิดสิ่งใด การกำหนดรู้ในลมหายใจ(อากาศ) สามารถจัดเข้าอยู่ในหมวด สติปัฏฐาน ๔ ได้ อันนี้หากท่านได้ศึกษาและทำความเข้าใจในหลักธรรมดังกล่าว ก็จะรู้ว่าจัดอยู่ในข้อใดบ้าง และท่านทั้งหลายไม่ต้องสงสัยหรืองุนงงว่า ในเมื่อข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้ว่า สติปัฏฐาน ๔ และ กัมมัฏฐาน ๔๐ นั้น จัดอยู่ในหมวดวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วทำไมข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า การปฏิบัติสมาธิ หรือการฝึกสมาธิ ก็จัดเข้าอยู่ในหมวด สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะ การปฏิบัติสมาธิชั้นรากฐาน นั้น ย่อมเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับการฝึกให้ใจสงบ และการฝึกเพื่อทำให้เกิดปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติเพื่อสงบใจ หรือเพื่อให้เกิดปัญญา ก็ล้วนต้องมี สมาธิ เป็นเครื่องมืออันสำคัญยิ่ง ถ้าบุคคลไม่มีสมาธิ คือไม่มีความตั้งมั่นในจิตใจ หรือจิตใจไม่ตั้งมั่น (ต้องทำความเข้าใจในด้านกายภาพ หรือสภาวะภาพของสมาธิให้ดีก่อน) ก็ย่อมไม่เกิดความสงบในจิตใจ และย่อมไม่เกิดปัญญา ดังนั้น การปฏิบัติสมาธิ ชั้นรากฐาน หรือพื้นฐานย่อมสามารถจัดเข้าอยู่ในหมวด สติปัฏฐาน ๔ ได้ แต่มิใช่เป็นการวิปัสสนา เป็นเพียงการปฏิบัติขั้นต้น หรือชั้นแรก ก่อนที่จะเข้าสู่การมีสติ หรือระลึกได้ ตามหลักสติปัฏฐาน ๔
    ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปว่า การปฏิบัติสมาธิ ต้องใช้ลมหายใจ(อากาศ) เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว โดยการกำหนดรู้ ไม่ได้หมายความว่า เอาใจจดจ่อหรือ เอาใจเข้าไปผูกอยู่ หรือเอาใจฝักใฝ่ ในลมหายใจนั้น เพราะการเอาใจจดจ่อ หรือการเอาใจเข้าไปผูกอยู่ หรือการเอาใจฝักใฝ่ ยังมีรายละเอียดในวิธีการหรือหลักการอีกหลายอย่างหลายประการ ในที่นี้จึงเพียงอธิบายเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้เกิดความเข้าใจ ไว้เป็นเบื้องต้น จะได้ไม่เกิดความสับสน ระหว่าง การกำหนดรู้ กับ การเอาใจจอจ่อ หรือการเอาใจเข้าไปผูกอยู่ หรือการเอาใจฝักใฝ่
    อนึ่ง การกำหนดรู้ ในลมหายใจ(อากาศ)นั้น ไม่ใช่เป็นการฝึกกสิณ แต่เป็นการใช้ลมหายใจเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว โดยการกำหนดรู้ เพราะลมหายใจ(อากาศ)เป็นสิ่งที่มนุษย์(ในที่นี้หมายเอาเฉพาะมนุษย์)ทุกคนย่อมต้องหายใจต้องการอากาศเพื่อใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนระบบการทำงานของร่างกายอยู่เป็นนิจ จะขาดอากาศหรือลมหายใจไม่ได้ ลมหายใจ หรืออากาศ จะเข้าไปที่ปอด หัวใจ และไปสู่ส่วนอื่นๆทั่วสรีระร่างกาย ที่สำคัญ บุคคลผู้ปฏิบัติสมาธิ หรือฝึกสมาธิ จะต้องไม่คิด สิ่งใดเลย ไม่ปรุงแต่งสิ่งใดเลย อย่างนี้ จึงจะเรียกว่า การฝึกสมาธิ หรือการปฏิบัติสมาธิ ที่ถูกต้อง และมีเพียงวิธีเดียวในหลักพุทธศาสนา
    เนื่องจาก วิธีการที่ข้าพเจ้ากล่าวไปนี้ เป็นวิธีการที่จะว่ายากก็ยาก เนื่องเพราะ การคิดของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนบ้างจะไม่รู้เลยว่าได้คิด ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า การกำหนดรู้ เป็นการคิดชนิดหนึ่งหรือรูปแบบหนึ่ง เป็นเวทนาความรู้สึก ทำให้เกิดความคิดโดยที่บุคคลนั้นๆจะไม่รู้เลยว่าได้คิด อันนี้ต้องใส่ใจสนใจ และจดจำให้แม่นยำ และนี้เป็นเคล็ดวิธีการปฏิบัติสมาธิ หรือเคล็ดวิธีการฝึกสมาธิที่สำคัญยิ่ง
    การปฏิบัติสมาธิ ตามหลักพุทธศาสนานั้นจะมีเพียงวิธีการเดียวดังที่ข้าพเจ้าได้สอนไปทั้งหมด ส่วนวิธีการหรือหลักการ หรือหลักธรรมอื่นๆที่มีอยู่เดิมนั้น เป็นการฝึกในชั้นที่สูงกว่าชั้นรากฐานหรือสูงกว่าชั้นพื้นฐาน คือจัดอยู่ในชั้น วิปัสสนา หรือในชั้น ญาณ(ยาน) เช่น หมวด กัมมัฏฐาน ๔๐ กอง แต่เนื่องจากการได้คิดพิจารณาหรือสัมผัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือได้ปฏิบัติ กิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือได้ฟัง ได้เห็น ได้อ่าน ได้เขียน ฯลฯ ก็สามารถเป็นสิ่งสร้าง สมาธิ ได้คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน หากท่านทั้งหลายได้อ่านการปฏิบัติสมาธิ ตามหลักพุทธศาสนา มาทุกตอน ก็จะเกิดความเข้าใจ สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวของท่านเอง และย่อมเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของ “สมาธิ” เป็นอย่างดียิ่ง เมื่อท่านทั้งหลายเกิดความเข้าใจ และรู้จักวิธีการปฏิบัติ หรือฝึกสมาธิ ที่ถูกต้อง เป็นแบบเดียวกัน พุทธศาสนา ก็ย่อมมีวิธีการปฏิบัติที่เป็นระบบ เป็นระเบียบ จะปฏิบัติสมาธิ หรือฝึกสมาธิ ก็เป็นแบบเดียวกัน จะวิปัสสนา ก็เป็นแบบเดียวกัน จะฝึกกสิณ(วิปัสสนาเฉพาะอย่าง) ก็เป็นแบบเดียวกัน ไม่มีการต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำ แต่ละสำนักต้องทำต้องปฏิบัติ ต้องทำความเข้าใจเป็นรูปแบบเดียวกัน ทุกที่ทุกแห่ง ฉะนี้
    ขอความเจริญในธรรมจงปรากฏมีต่อท่านทั้งหลาย สวัสดี
    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๒๔ ก.ค. ๒๕๕๒
     

แชร์หน้านี้

Loading...