การปฏิบัติธรรมสำหรับคฤหัสถ์ โดย หลวง พ่อพุธ ฐานิโย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 25 พฤศจิกายน 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    วันนี้รู้สึกว่าเป็นโอกาสดี ที่อาตมาได้มีโอกาสแสดงธรรมเพื่อการชดใช้ปัจจัย ๔ ที่ท่านทั้งหลายได้อุปการะบำรุงมา ซึ่งชีวิตของอาตมามีความเจริญเติบโตขึ้นมาเพราะก้อนข้าวของชาวบ้าน ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีเป็นต้นมา และถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ประกอบกรณียกิจอันเป็นการสนองพระเดชพระคุณของ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย ฉะนั้น จึงถือว่าโชคดีและเป็นโอกาสที่จะได้สนองพระเดชพระคุณของผู้ที่มีพระคุณตาม วิสัยกตัญญูกตเวที ดังนั้น ธรรมะที่จะออกสู่สายตาของท่านทั้งหลายในวันนี้ ในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า จึงขอใช้คำว่า ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน แต่ความจริงธรรมะที่ชื่อว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นบางอย่างอาจมีมาก่อน ที่พระพุทธเจ้าเกิดก็ได้ ธรรมะที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิดนั้นหมายถึง สภาวธรรม

    สภาวธรรมที่จำเป็นต้องเรียนรู้ หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ทั้งสิ้น ถ้าจะว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์เขาก็เรียกว่า อณู ปรมาณู และมวลสารที่เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่โตจนหาประมาณมิได้ รวมทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และสิ่งที่มนุษย์เสกสรรปั้นแต่งขึ้น ซึ่งตามหลักของพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า สังขาร

    สังขาร ตามความหมายของศาสนาพุทธมีอยู่ ๒ อย่าง อย่างที่หนึ่ง อุปทินกสังขาร หมายถึงสังขารที่มีใจครองหมายถึงมนุษย์และสัตว์ ตลอดทั้งเทวดา อินทร์ พรหม ยมยักษ์ทั้งหลาย อันนี้เป็นประเภท สังขารที่มีใจครอง อย่างที่สอง อนุปาทินกสังขาร หมายถึง ดิน ฟ้า อากาศ ต้นไม้ ภูเขา รถ เรือ อันนี้เป็นสังขารที่ไม่มีใจครอง

    สังขารทั้งสองอย่างตามที่กล่าวมานี้คือ สภาวธรรมตามความหมายในทางพระพุทธศาสนา กฎธรรมชาติของสภาวธรรมที่จะพึงเป็นไปตามกฎแห่งความเป็นจริงเราเรียกว่า กฎพระไตรลักษณ์

    อนิจจตา - ความไม่เที่ยง
    ทุกขตา - ความ เป็นทุกข์
    อนัตตตา - ความไม่เป็นตัวของตัว หรือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

    ตามที่ภาษาวิทยาศาสตร์เขาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ย่อมมีปรากฎการณ์ขึ้นในเบื้องต้น ทรงตัวอยู่ขณะหนึ่ง ในที่สุดย่อมสลายตัว แต่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า หมายถึง…..อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความหมายก็เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นในเมื่อเราทำความเข้าใจใน กฎ ของธรรมชาติ ในกฎของสภาวธรรม เราจะได้ความว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ที่เรายอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เพราะเหตุว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้กฎแห่งความเป็นจริงอันนี้ แล้วก็นำกฎ แห่งความจริงมาตีแผ่ให้ชาวโลกได้รู้ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าในฝ่ายสภาวธรรมซึ่งจะเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ สภาวธรรมอันนี้ พระพุทธเจ้าจะเกิดก็ตาม ไม่เกิดก็ตาม จะมีก็ตาม ไม่มีก็ตาม เขาก็ย่อมมีอยู่โดยธรรมชาติมาแล้วแต่ไหนแต่ไรมา ในเมื่อเรามองมาใกล้ ๆ ตัวเรา ถ้าหากจะมีปัญหาถามว่า สภาวธรรมคืออะไร เราอาจจะต้องตอบอย่างง่าย ๆ ว่าสภาวธรรมคือ กาย กับใจ

    ทีนี้ส่วนความรู้สึกนึกคิดก็ย่อมมีการเกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไป………เกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไป ตลอดเวลา อันนี้เป็นความเป็นจริงโดยกฎของธรรมชาติ กฎของสภาวธรรม ทีนี้สภาวธรรมของเรานี้ซึ่งมีกายกับใจเป็นหลัก ส่วนประกอบก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สิ่งใดที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ สิ่งนั้นในเมื่อเราประสบสัมผัสแล้วก็มิใช่ว่าเขาจะทรงอยู่กับเราตลอดกาล ในเมื่อผ่านมาแล้วก็ผ่านไป……ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปความที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป นี้เป็นการแสดงถึงลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามหลักของพระไตรลักษณ์

    อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราจะต้องศึกษาให้รู้สภาพความเป็นจริง ในหลักธรรมะท่านว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นวัสดุกาม แต่ความจริงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นของกลาง ๆ ไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้แก่ใคร แต่เจ้าจิตใจของเราที่ยังไม่มีสมรรถภาพเพียงพอที่จะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง เมื่อสิ่งเหล่านั้นผ่านเข้ามาแล้ว เราเกิดความยินดียินร้ายพอใจไม่พอใจ แล้วเราก็โมเมโทษสิ่งเหล่านั้นว่ามายั่วยุเราให้เกิดกิเลส แต่แท้ที่จริงกิเลสของเรามีอยู่เป็นเดิมพันอยู่แล้ว ถ้ากิเลสไม่มี ใครจะมายั่วยุอย่างไรมันก็ไม่มีอาการแสดงออก เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะเป็นแนวทางให้สาธุชนได้มีความรู้และความเข้าใจซาบซึ้งถึงกฎความ จริงของสภาวธรรมนี้ ท่านจึงมีแนวทางให้เราปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่าคำสอน คำสอนประเภทนี้คือ ทำไมกายกับใจจึงเป็นสภาวธรรม ก็เพราะกายกับใจก็อยู่ในกฎธรรมชาติ ๓ อย่าง คือ พระไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไป ร่างกายมีความเจริญเติบโตขึ้นนับแต่วันคลอดออกมา แล้วก็มีชีวิตอยู่จนถึงวันสุดท้ายคือวันตาย ช่วงระยะตั้งแต่เกิดถึงวันตายเป็นการทรงตัวอยู่ ในเมื่อตายแล้วก็มีการสลายตัวคือหายสาบสูญไป ไม่มีอะไรเหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักทฤษฎีให้เราศึกษาเพื่อทำความเข้าใจแล้วนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ

    … …..ปฏิบัติเพื่ออะไร ปฎิบัติเพื่อให้จิตใจบรรลุถึงความรู้สภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมนั่นเอง ทีนี้การทำสมาธิตามหลักการ เราอาจจะทำโดยที่ไม่ต้องมีศีลก็ได้ เช่น อย่างสมาธิของพวกนักไสยศาสตร์ ผู้ที่ทำวิชาอาคมครอบหนังบังฟัน ทำคุณคนคุณไสย เขาใช้พลังของสมาธิเหมือนกัน แต่วิชาการอันนี้เป็นสมาธิเพื่อทำร้ายคนอื่น แต่เขาก็ทำสำเร็จได้ อาศัยพลังสมาธิ แต่สมาธิไม่มีศีล จึงย่อมจะสามารถใช้ไปในทางที่ผิดได้ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า สมาธิ มี ๒ อย่าง

    มิจฉาสมาธิ หมายถึงสมาธิผิด เป็นมิจฉา

    สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ถูกต้อง เป็นสัมมาสมาธิ

    ทีนี้สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อจะให้บรรลุมรรค ผล หรือจะให้เป็นแนวทางที่จะนำสมาธิไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ผิดกฏหมายและ ศีลธรรม เราต้องอาศัยศีล มีสมาธิที่มีศีลเท่านั้น ที่จะนำวิถีจิตของผู้บำเพ็ญให้ดำเนินไปสู่สัมมาสมาธิโดยถูกต้อง ดังนั้นวันนี้ท่านผู้ที่มาฟังธรรมอยู่ในสมาคมนี้ บางทีอาจจะได้อธิษฐานจิตสมาทานอุโบสถศีล หรือบางท่าน หรือหลาย ๆ ท่าน หรือทุกท่านอาจจะได้สมาทานศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติประจำ

    อาตมาเห็นว่า การที่เรามาตั้งใจรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นี้เป็นการถูกต้องและเป็นการชอบแล้วและยังเหมาะสมกับ ภาวะความเป็นอยู่ของเราที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตามชั้นภูมิของความเป็นคฤหัสถ์ ได้ชื่อว่าเป็นการปรับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่คู่ควรแก่การที่จะบำเพ็ญคุณความดีเพื่อให้เกิด มรรค ผล นิพพาน หรือ รู้จริงเห็นจริงในธรรมะตามความเป็นจริง เราจะต้องอาศัยศีล ๕ เป็นพื้นฐาน อย่าเพิ่งทะเยอทะยานว่าเราจะต้องรักษา ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เมื่อเรามีความมั่นใจในการรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ พร้อม ๆ กับทำสมาธิเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น ศีลอื่น ๆ ซึ่งจำนวนมากกว่านั้น แม้เราไม่ได้ตั้งใจที่จะเพิ่ม โดยกฎธรรมชาติแห่งความดีที่เราบำเพ็ญให้ถึงพร้อม เราจะเพิ่มขึ้นเองโดยไม่ได้ตั้งใจ ทีนี้ถ้าต่างว่าเราไปรับศีลมาก ๆ แต่เราปฏิบัติไม่ได้สมบูรณ์บริบูรณ์ดี ยังปฏิบัติให้ขาดตกบกพร่อง เดิมเรามีศีล ๕ การทำบาปที่จะเรียกว่าทำบาป ผิดธรรม ผิดวินัย ผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะยังผู้ทำให้ตกนรกกันจริง ๆ มีแต่ศีล ๕ ข้อเท่านั้น ผู้มีศีล ๕ รับประทานข้าวเย็นก็ได้ ประดับตกแต่งด้วยระเบียบของหอมเครื่องย้อมเครื่องทาก็ได้ ดูการประโคมขับดนตรีหรือเราจะแสดงเองก็ได้ไม่ผิดศีล แต่ ถ้าเราไปสมาทานเพิ่มเข้าอีก ๓ ข้อข้างปลาย ปฏิบัติไม่ได้ ผิดทันที

    เพราะฉะนั้น จึงใคร่ที่จะขอเตือนท่านผู้ที่มีความโลภในศีลให้พึงรับไปพิจารณาและสังวร ระวังไว้ให้ดี ซึ่งอยู่ดี ๆ แล้วเรารับประทานข้าวเย็นไม่ตกนรก แต่เราไปตั้งเจตนางดเว้นเข้า แต่เราปฏิบัติไม่ได้ ไปละเมิดเข้า ตกนรกทันที จะเป็นการดีอยู่หรือที่เราจะไปสร้างนรกให้กับตัวเองโดยไม่จำเป็น ทีนี้ถ้าหากสมมติว่าผู้ที่ไปบวชในวัดเป็นสงฆ์สามเณร เราเป็นคฤหัสถ์ เราดายหญ้าก็ได้ ฟันต้นไม้ก็ได้ หยิบของที่เขาไม่ได้ประเคนมากินก็ได้ ไม่เป็นโทษ แต่เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ของที่เขาไม่ยื่นให้เอามาฉันก็เป็นอาบัติ และหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เป็นอาบัติด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเราเป็นคฤหัสถ์ เราดายหญ้าก็ได้ ถางป่าก็ได้ ไม่ตกนรก แต่เมื่อบวชเป็นพระเข้าแล้วไปทำอย่างนั้นไม่ได้ เป็นบาปเป็นอาบัติทันที

    อย่างมีเรื่องเล่าว่าในอดีตกาล ตั้งแต่สมัยศาสนาของพระเจ้าวิปัสสี มีพระภิกษุองค์หนึ่งนั่งไปในเรือซึ่งในขณะที่น้ำมันไหลเชี่ยว ได้เอื้อมมือไปจับใบไม้สด ๆ ใบหนึ่ง จับแล้วไม่วาง ไม่ปล่อย เรือวิ่งไปโดยความเร็วใบไม้ขาด เป็นอันว่าพระองค์นั้นเด็ดใบไม้ให้ขาดไป วินัยท่านว่าต้องอาบัติปาจิตตีย์ ท่านก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้สนใจที่จะปลงอาบัติ เพราะโทษอันนี้ ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง ๘ หมื่นปี ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรม ไม่รู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริง แต่เมื่อใกล้จะตาย มีนิมิตเปรียบเหมือนใบไม้จะมารัดคอให้ใจขาด แล้วลงผลสุดท้ายก็ตายไปเกิดเป็นนาคเพราะโทษที่เด็ดใบไม้ใบเดียว พิภพของนาคเป็นภูมิของสัตว์เดรัจฉาน ลดต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ลงไป นี่เพียงเล็กๆ น้อยๆเท่านี้ ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นพระ เราจะถางป่าเก็บใบไม้ก็ไม่เกิดโทษอันใด แต่เมื่อเราจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เกิดบาปเกิดโทษทันที ดังเรื่องพระที่เล่ามาให้ฟังเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น ท่านผู้มุ่งความเจริญในการปฏิบัติจริง ๆ ในฐานะที่เป็นคฤหัสถ์ผู้จะต้องสร้างโลกอย่างดีก็ให้เคร่งในศีล ๕ ข้อนี้เป็นพอ

    พอเหมาะพอควรแก่ความเป็นคฤหัสถ์แล้ว อย่าไปทะเยอทะยานว่าเราจะต้องรักษาศีลให้มาก ๆ ทีนี้ถ้าหากต่างว่าคุณโยมผู้ชายท่านใดที่คิดแต่จะออกไปบวช ให้ทดลองรักษาศีล ๕ ดูก่อนจนแน่ใจว่าเรามีสมรรถภาพทำศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เต็มที่ได้แล้วจึงค่อยสละฆราวาสไปบวช และก่อนที่จะบวชนั้นก็ควรจะศึกษาระเบียบวินัยหรือหัดภาวนาจนให้เป็นเสียก่อน แล้วค่อยไปบวช บวชแล้วจะไม่ขาดทุนอันนี้ขอเสนอแนะเอาไว้อย่างนี้ ทีนี้ท่านทั้งหลายเป็นนักฟังและนักศึกษาธรรมะ และเข้าใจว่าท่านคงจะเข้าใจเรื่องธรรมะมากพอสมควร เช่นอย่างเคย มีพระไทยไปปาฐกถาในประเทศเยอรมัน พอปาฐกถาจบสมาคมชาวพุทธเยอรมันเขาก็พูดขึ้นว่า เรื่องปริยัติพระคุณเจ้าไม่ต้องมาสอนพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าเรียนมามากพอสมควร ยังงงอยู่ตรงที่ว่า “เรา จะเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันได้อย่างไร” คือหมายความว่าเขายังสงสัยในเรื่องการที่จะปฏิบัติธรรมให้เกิดประโยชน์แก่ จิตใจจริง ๆ เพราะฉะนั้น เรื่องเกี่ยวกับเรื่องปริยัติจะไม่ขอพูดถึงให้เสียเวลา ท่านทั้งหลายก็คงจะได้ยินได้ฟังเรื่องการปฏิบัติธรรมมามากพอสมควร แต่มีสิ่งที่พึงสังเกตสำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่อยู่ในระดับปัญญาชน คือเวลานี้คณาจารย์ที่สอนพระกรรมฐานทั้งหลายในเมืองไทยเรา ส่วนมากท่านก็ยังมีการขัดแย้งในระเบียบวิธีการเกี่ยว กับการปฏิบัติ

    แต่ความจริงแล้วไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเลย ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้คนมีความรักกัน มีความสามัคคีกันแต่พุทธบริษัทเรานี่ยังสั่งสอนธรรมะเพื่อความแตกแยก สามัคคีกัน จึงเห็นว่ายังไม่เหมาะสม ใคร่ที่จะขอฝากบรรดาท่านปัญญาชนทั้งหลายไปพิจารณาว่า บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้น มีส่วนเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติศาสนาหรือไม่ เราเป็นนักปฏิบัติธรรมนักศึกษาธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาตมา ญาติโยมทั้งหลายเขาก็ยกย่องให้เป็นนักสอนธรรม……สอนธรรมในสายการปฏิบัติ กรรมฐาน ในสายพระป่าก็ใคร่ที่จะแนะนำบรรดาท่านทั้งหลายในฐานะที่ท่านเป็นนักศึกษาและ ปฏิบัติธรรม

    การปฏิบัติ ธรรมเราไม่สมควรที่จะรู้จักเพียงแค่คำว่าธรรมเท่านั้น ควรจะรู้จักคำว่าชาติด้วย ชาติในที่นี้อาตมาขอหมายถึงแผ่นดิน ขอเทศน์เรื่องแผ่นดิน แผ่นดินนี่ ในขอบเขตประเทศของเราคือแผ่นดินของเรา แผ่นดินของเราคือชาติของเรา ทีนี้ชาติของเราในภายในนี้ก็มีแผ่นดิน ธรรมะท่านว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในทำนองเดียวกัน ผืนแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่นี่ก็ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกัน ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในภายนอกย่อมเป็นประโยชน์แก่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในภายใน เพราะฉะนั้น เราจึงได้สงวนรักษา……….รักษาดิน น้ำ ลม ไฟ ในภายนอกเพื่อเอาไว้จุนเจือดิน น้ำ ลม ไฟ ภายในกาย ในแนวทางแห่งการปฏิบัติ “เรียกว่ารักษาปัจจัย ๔ “ ดังที่กล่าวมา นโยบายของผู้ปกครองบ้านเมืองก็มาตั้งกรมที่ดินขึ้น ผู้รักษาที่ดินเรียกว่า กรมที่ดิน ผู้รักษาน้ำ กรมน้ำเรียกว่า กรมชลประทาน ผู้รักษาลมก็คือ กรมอุตุนิยม ผู้รักษาไฟก็คือองค์การไฟฟ้า เรามีเจ้าหน้าที่คุ้มครองรักษาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ของเราไว้ จนกระทั่งตั้งเป็นกระทรวงทบวงกรมใหญ่โตเพราะเพื่อจะรักษาชาติเอาไว้…….รักษา ชาติเอาไว้ทำไม รักษาชาติเอาไว้สำหรับนั่งภาวนา แต่ถ้าเราจะมารู้จักแต่คำว่าภาวนาอย่างเดียว ไม่รู้จำคำว่าชาติด้วย ในเมื่อชาติสลายตัวลงไปแล้ว เราจะพากันไปนั่งภาวนากัน ณ ที่ไหน อันนี้ขอฝากให้บรรดาท่านนักศึกษาธรรมะรับไว้พิจารณา

    สำหรับหลักการปฏิบัติธรรมโดยวิธีการที่เราได้ยินได้ฟังมานั้นจะไม่ขอนำมา กล่าวบรรยาย ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้วว่า พระป่าในสายท่านอาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์ ภาวนาพุทโธ ในสายอื่นก็ภาวนาอย่างอื่น แต่ละสายนั้นยังมีการขัดแย้งซึ่งกันและกัน ท่านจะขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้งไม่สำคัญ เราผู้ที่จะปฏิบัติธรรมให้รู้จริงเห็นจริงโปรดอย่าได้สนใจ ใครจะทะเลาะกันอย่างไรช่างเขาเราเอาตัวของเราเป็นเดิมพัน ขอให้ทัศนะว่าการขัดแย้ง ขัดแย้งกันเพียงวิธีการเท่านั้นเอง แต่โดยสภาพความเป็นจริง การปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ ใครจะปฏิบัติแบบไหน อย่างไรก็ตาม ผลเกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างเดียวกันหมด ดังนั้น เพื่อไม่สับสน หรือเพื่อความเข้าใจง่ายสำหรับผู้ฟังหรือผู้มุ่งจะปฏิบัติ อาตมาขอแนะแนวการปฏิบัติไว้ใน ๓ หลักการ

    ๑. หลักของการบริกรรมภาวนาอะไรก็ได้

    ๒. หลักการพิจารณาค้นคว้าหาเหตุผล

    ๓. หลักการทำสติตามรู้สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมตลอดจนความคิดของตัวเอง

    หลักของการบริกรรมภาวนา ใครจะยกเอาอะไรมาบริกรรมภาวนาก็ได้ ถ้าหากว่าจิตของท่านไปติดอยู่สิ่งใดมาก เช่น อาจติดอยู่ที่ใครสักคนหนึ่งที่ท่านชอบใจ ท่านอาจจะเอาชื่อของคน ๆ นั้นมาบริกรรมภาวนา นึกซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่นั้น ในสิ่งที่ท่านชอบอยู่แล้ว ท่านนึกถึงสิ่งนั้นจิตของท่านจะติดกับสิ่งนั้นเร็วขึ้น ในขั้นต้น เราหาอุบายที่จะผูกจิตให้ติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเหนียวแน่นเสียก่อน เมื่อจิตของเราไปติดกับสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น จดจ้องอยู่กับสิ่งนั้น ความสนใจในสิ่งอื่นก็เป็นอันว่าเลิกละไป เมื่อจิตไปยึดอยู่เพียงสิ่งเดียว ถ้าหากท่านสามารถทำได้ ลองพิจารณาดูซิว่า การที่ไปยึดกับสิ่ง ๆ เดียวนั้น ความเบาใจจะมีไหมแตกต่างกับการที่จะไปยึดอยู่กับหลาย ๆ สิ่งหรือไม่ นี่เป็นก้าวแรกที่เราจะต้องพิจารณา ที่นี้เมื่อเราสามารถทำจิตให้ติดกับสิ่งใดอย่างเหนียวแน่นแล้ว ถ้าสามารถที่จะอยู่กับสิ่ง ๆ นั้นได้เป็นเวลานาน ๆ เรายอมรับว่าจิตสงบหรือไม่ ทีนี้เมื่อจิตสงบมาอยู่กับสิ่ง ๆ เดียว มันก็เป็นอุบายให้จิตสงบยิ่งขึ้นไปจนกระทั่งไม่นึกถึงสิ่งนั้น จนสภาพจิตกลายเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดกับสิ่งใด เพราะฉะนั้น การบริกรรมภาวนานี้ ในขณะที่เราบริกรรมภาวนาอยู่ จิต จะสงบก็ตาม ไม่สงบก็ตามไม่สำคัญ ในขั้นแรกให้เราพยายามเอาจิตกับบริกรรมภาวนาให้อยู่ด้วยกันโดยไม่พรากจากกัน เป็นเบื้องต้นก่อน ถึงขนาดที่เราไม่ได้ตั้งใจที่จะนึกถึงคำบริกรรมภาวนา เผลอๆ จิตก็นึกถึงเอง บางทีนอนหลับไปตื่นขึ้นนึกถึงคำบริกรรมภาวนาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ อันนี้แสดงว่าการบริกรรมภาวนากำลังเริ่มจะได้ผล ทีนี้หากท่านจะถามว่าจะใช้คำไหนบ้างมาบริกรรมภาวนา ไม่มีจำกัด จะเป็นคำอะไรก็ได้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือหากว่าจิตใจไปติดอยู่กับหลานน้อย ๆ คนหนึ่ง นึกถึงชื่อไอ้หนูมันมาบริกรรมภาวนาก็ได้ อย่างเวลานี้มาทำงานแต่เป็นห่วงบ้าน ก็เอาเรื่องบ้านมาบริกรรมภาวนาก็ได้ เพราะได้กล่าวแล้วว่าอะไรที่เรารักเราชอบเราติดอยู่แล้ว มันเป็นอุบายให้จิตของเราติดเร็วยิ่งขึ้น จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทรงสอนเราเพื่อไม่ยึดในสิ่งใด ๆ ทั้งนั้น แต่เพื่อเป็นอุบายที่จะสร้างพลังจิตเพื่อการปล่อยวางสิ่งทั้งปวง เราต้องฝึกหัดจิตของเราให้ติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเหนี่ยวแน่น ให้มีหลักเกาะ มีที่พึ่ง ให้มีวิหารธรรมเสียก่อน เมื่อเป็นเช่นนั้นเมื่อจิตของเราติดกับสิ่ง ๆ นั้นมันก็ติดเพื่อความปล่อยวาง สังเกตดูเมื่อเรา บริกรรมภาวนาจนกระทั่งจิตสงบลงแล้วมันหาได้นึกคำบริกรรมภาวนาไม่ มันไปนิ่งสว่างอยู่เฉย ๆ อันนั้นคือมันปล่อยวางไปแล้ว ทีแรกมันติดก่อน พอติดแล้วมันมีอิสระภาพอย่างแท้จริง เป็นสมาธิอย่างแท้จริง มีสมรรถภาพพอที่จะประคองตัวให้อยู่ เป็นอิสระได้มันก็ทิ้งคำบริกรรมภาวนาไป ในเมื่อมันทิ้งไปแล้วแสดงว่ามันปล่อยวางสิ่งที่มันติดได้แล้ว อันนี้ขอฝากเอาไว้เป็นข้อพิจารณา อันนี้พูดถึงขั้นแห่งการบริกรรมภาวนา

    ทีนี้ขั้นแห่งการพิจารณา ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคก็ดี คัมภีร์พระอภิธรรมก็ดี และคัมภีร์พระไตรปิฎกก็ดี ท่านได้วางหลักการแห่งการพิจารณาไว้ในแบบ รูปต่าง ๆ ในขั้นต้น ๆ ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ สอนให้พิจารณา ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สอนให้พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สอนให้พิจารณารูปนาม ทีนี้ถ้าต่างว่าเราจะไม่เอาสิ่งที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์มาเป็นเครื่อง พิจารณา จะขัดกับแนวทางปฏิบัติไหม อาตมาได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าเรามีกายกับใจ กายกับใจประกอบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สิ่งเหล่านั้นเป็นสภาวธรรม สิ่งใดที่เราสามารถรู้ได้ด้วย หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สิ่งนั้นก็เป็นสภาวธรรมทั้งสิ้น สิ่งใดที่เราสามารถรู้และจดจำด้วยใจ สิ่งนั้นก็เป็นสภาวธรรมทั้ง สิ้น ดังนั้นวิชาการความรู้ที่ท่านเรียนมา อะไรก็ได้ ท่านหยิบเอามาเป็นอารมณ์พิจารณา เช่น อย่างในขณะที่ท่านต้องใช้วิชาการที่ท่านเรียนมาให้เกิดประโยชน์แก่การทำงาน ท่านอาจจะวิตกเอาหัวข้อวิชานั้นอย่างใดอย่างหนึ่งมาตั้งเป็นหัวข้อไว้ในจิต ของท่าน แล้วตั้งปัญหาถามตัวเองว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้คือสิ่งนั้น สิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนั้นคือสิ่งนั้น ถามตอบดูตัวเองไปโดยความตั้งใจ ทำสติให้แน่วแน่ อย่าสักแต่ว่าคิด เช่น อย่างวันนี้ท่านจะทำงานอะไร “ท่านตั้งหัวข้อของท่านเองว่าวันนี้เราจะทำ งานสิ่งนี้” งานสิ่งนี้เราจะวางแผนไว้อย่างไร ถ้าหากมีการติดต่อเราจะติดต่อบุคคลเช่นไร เราจะต้องใช้คนที่เป็นลูกมือในการทำงานสักกี่คน ค่าใช้จ่ายเราจะต้องใช้ประมาณเท่าไร เราคิดวางโครงการของเราเอาไว้อย่างนี้แต่ว่าการคิดแต่ละจังหวะนั้น ทำสติให้รู้ชัดเจนในความคิดของตัวเอง เอาความคิด อันนั้นเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ สิ่งที่เราเห็นด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เราทำสติกับทุกสิ่งทุกอย่าง โดยยึดเอาสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ทำสติตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำสติ อย่างเดียว

    โดยธรรมชาติของจิต ถ้าเราตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้เป็นเครื่องรู้ของจิตเป็นเครื่องระลึก ของสติ หนัก ๆ เข้าจิตของเราจะเกิดมีความสงบ มีปีติ มีความสุขได้เช่นเดียวกัน ทีนี้วิชาการที่ท่านเรียนมาเป็นวิชาการทางโลก ไม่เกี่ยวกับเรื่องของธรรมะ ทำไมพระองค์นี้อุตตริแนะนำให้เอามาเป็นอารมณ์ปฏิบัติพระกรรมฐาน มันจะไม่แหวกแนวไปหรือ ขอยืนยันว่าไม่มีทางแหวกแนว เพราะสิ่งเหล่านี้เราก็รู้มาด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็เป็นสภาวธรรมแต่ละอย่าง สิ่งที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ย่อมเป็นสภาวธรรม กฎธรรมชาติของสภาวธรรมสรุปลงในข้อที่ว่า อนิจจตา ความไม่เที่ยงตรง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ไม่เป็นตัวของตัว เกิดขึ้น ทรงอยู่ สลายตัว…….เกิดขึ้น ทรงอยู่ สลายตัว เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอารมณ์ของกรรมฐานได้ ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อจะแก้ข้อข้องใจในบรรดาพวกนักปฏิบัติทั้งหลายที่ไปยึดวิธีการมากจนเกินไป เช่นอย่างผู้ที่เป็นพ่อบ้านแม่เรือน ถ้าหากท่านมีความยุ่งใจเกี่ยวกับเรื่องการครองเรือน ท่านอาจจะยกเอาเรื่องการครองเรือนขึ้นมาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานก็ได้ โดยตั้งปัญหาขึ้นมาว่าเวลานี้เราเป็นอะไร เราเป็นพ่อบ้าน พ่อบ้านมีหน้าที่เป็นสามี นอกจากจะเป็นสามีแล้วยังเป็นพ่อของเด็ก เราจะเลี้ยงเด็กของเราให้มีความเจริญเติบโตได้อย่างไร โตขึ้นมาแล้วเราจะให้การศึกษาอย่างไร พอศึกษาจบแล้วเราจะหางานให้ทำอย่างไร เราจะสะสมทรัพย์สมบัติไว้เพื่อเป็นมรดกแก่เขาอย่างไรเอาเรื่องเหล่านี้มาค้น คิดพิจารณาด้วยความจดจ้อง กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น

    ในที่สุดจิตจะเป็นสมาธิได้ มีหลักฐานที่จะพึงกล่าวยืนยันในพระไตรปิฏก คนถากไม้นั่งถากไม้อยู่ เอาการถากไม้เป็นอารมณ์พิจารณาพระกรรมฐาน พิจารณาแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ คนปั้นหม้อเอาการปั้นหม้อมาเป็นอารมณ์พิจารณากรรมฐาน เสร็จแล้วปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์ได้สำเร็จพระอรหันต์ คนทอหูกนั่งทอหูกอยู่ พิจารณาการทอหูกเทียบกับชีวิตของเราที่หดสั้นเข้าไปทุกที ปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์ได้สำเร็จพระอรหันต์ สิ่งดังกล่าวนั้นได้ยินไหม มีไหม มีคำว่าธรรมะเจือปนอยู่บ้างหรือเปล่า แล้วทำไมท่านเหล่านั้นจึงเอามาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานและสำเร็จพระอรหันต์ได้ การถากไม้ การปั้นหม้อ การทอหูก เป็นอารมณ์กรรมฐานทำให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาได้สำเร็จพระอรหันต์ได้ฉันใด แม้วิชาความรู้ที่เราเรียนมาทุกสาขาวิชาการ เราเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานก็ย่อมจะสำเร็จมรรค ผล นิพพานได้เหมือนกัน เพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ

    โดยธรรมชาติของจิตที่มีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก ผลที่เราจะพึงได้รับก็คือ สติมีพลังแก่กล้าขึ้น แก่กล้าขึ้นจนกระทั่งเป็นมหาสติ เป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติวินโย

    สติพละ สติมีกำลัง สามารถที่จะประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้ง่าย

    สตินทรีย์มีสมรรถภาพ ที่ทำจิตให้สามารถที่จะค้นคิดพิจารณาในเมื่อเราประสบกับอารมณ์เองโดย อัตโนมัติเรียกว่า วิปัสสนาเกิด

    สติ วินโย มีสมรรถภาพที่จะจดจ้องรู้อยู่ที่จิตตลอดเวลา จิตกับสติตัวนี้ไม่พรากจากกัน มีอะไรเกิดขึ้นมาสติรู้ทันตลอดเวลา ความต้องการในการปฏิบัติถ้าจะว่ากันโดยสรุปแล้ว เราต้องการสร้างสติให้เป็นมหาสติ เป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติวินโย ไม่ได้มุ่งหมายถึงสิ่งที่เราจะรู้จะเห็นในสมาธิ การภาวนาแม้จะรู้เห็นนิมิตต่าง ๆ ในสมาธิหรือรู้ธรรมะซึ่งผุดขึ้นเป็นอุทานธรรม สิ่งนั้นไม่ใช่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่เราจะเก็บเอาเป็นผลงานที่เราปฏิบัติได้ เพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์ของกรรมฐานที่เกิดขึ้นในสมาธิ และเป็นลักษณะของปัญญาที่เกิดขึ้นในสมาธิซึ่งเรียกว่าสมาธิปัญญา แม้จะรู้มากเห็นมากสักเท่าไรก็ตาม สิ่งนั้นเป็นแต่เพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เป็นลักษณะส่อแสดงให้เห็นว่าการบำเพ็ญสมาธิภาวนาของเราซึ่งมีเครื่องรู้ของ จิต เครื่องระลึกของสติมีสมรรถภาพทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิแล้ว พลังของสมาธิสามารถให้เกิดสติปัญญา เกิดความรู้เห็นอะไรต่าง ๆ แปลก ๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็เห็น

    แต่สิ่งนั้นพึงทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ของดีที่เราจะเก็บเอาไว้เป็นสมบัติ ให้กำหนดเป็นเพียงแค่ว่า สิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เป็นอุบายสร้างสติให้เป็นมหาสติปัฏฐาน เป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติวินโย อันนี้พูดถึงหลักการแห่งการพิจารณา ทีนี้ถ้าหากสมมติว่าท่านผู้ใดเห็นว่าการค้นคิดพิจารณาไม่คล่องตัว แม้ว่าเราจะตั้งใจคิดพิจารณาแต่ความคิดอื่นเข้ามารบกวน เราไม่สามารถที่จะควบคุมจิตของเราให้ค้นคิดอยู่ในสิ่ง ๆ เดียวได้ เพราะวิสัยของเราย่อมคิดอยู่โดยปกติ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ให้ทำสติกำหนดรู้ลงที่จิต คอยจ้องดูว่าความคิดอะไรจะเกิดขึ้น พอมีความคิดอะไรเกิดขึ้นเราทำสติตามรู้ รู้ตามไปเรื่อยจิตมันจะคิดเรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องสารพัดสารเพอะไรก็แล้ว แต่ปล่อยให้มันคิดไป แต่หน้าที่ของเราทำสติตามรู้อย่างเดียว จะคิดเรื่องบุญเรื่องบาปเรื่องกุศลอกุศลอะไร ไม่สำคัญ ให้กำหนดเอาความคิดอันนั้นแหละเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เช่นเดียวกับในที่เราหาเรื่องมาพิจารณา คนที่มีปกติคิดมาก แต่เราทำสติตามรู้ความคิดของเรา การปฏิบัติรู้สึกจะสะดวกกว่าบุคคลผู้ซึ่งไม่ค่อยจะมีความคิด เพราะโดยปกติจิตของเราคิดอยู่แล้ว เราเพียงแต่ว่าทำสติกำหนดตามรู้มันเรื่อยไป เมื่อสติตามรู้ความคิดทันแล้วความสงบจะเกิดขึ้น เมื่อความสงบเกิดขึ้นแล้วก็มีปิติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งเช่นเดียวกับการบริกรรมภาวนาได้ การพิจารณาหรือการปฏิบัติในแบบใด ๆ ซึ่งเป็นหลักกรรมฐานโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันสรุปได้ใจความว่า การฝึกฝนอบรมสมาธิ หรือการฝึกสมาธินี่ ใครจะปฏิบัติแบบไหนอย่างไรจะบริกรรมภาวนาก็ตาม หรือจะใช้การคิดพิจารณาก็ตาม หรือจะกำหนดรู้ตามความคิดของตนเองก็ตาม เมื่อผลจะเกิดขึ้น ก่อนอื่นก็คือความมีสมาธิจะพึงเกิดขึ้นก่อน เมื่อสมาธิเกิดขึ้นตามหลักการปฏิบัติใน ๓ แบบอย่างตามที่กล่าวมาแล้ว


    ลักษณะแนวโน้มความเป็นของจิตมีลักษณะเป็นแบบเดียวกันคือ จิตนิ่ง มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นสมาธิจึงเป็นสัจจธรรมความจริงอย่างหนึ่ง ใครจะปฏิบัติแบบไหนอย่างไรเมื่อเกิดมีสมาธิขึ้นมาแล้วเป็นแบบเดียวกันหมด ที่มีแตกต่างกันก็อยู่ตรงที่ว่า “ความประสงค์ของผู้ ทำสมาธิว่าจะทำสมาธิเพื่ออะไร” แยกตามกิเลสของคน

    บาง ท่านทำสมาธิเพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์

    บางท่านทำสมาธิเพื่อให้รู้ยิ่ง เห็นจริงในเรื่องราวต่างๆ

    แต่บางท่านทำสมาธิไม่ต้องการอะไร ขอให้จิตสงบให้รู้ความเป็นจริงของจิต และให้รู้ความเป็นจริงของจิตเมื่อประสบกับอารมณ์อะไรเกิดขึ้น เพื่อจะอ่านจริตของของเราให้รู้ว่าเราเป็นราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตกจริต พุทธจริต ศรัทธาจริต อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจะดูให้รู้แจ้งเพื่อจะเป็นพื้นฐานที่เราจะแก้ไขดัด แปลงจิตของเรา

    เมื่อเรารู้ชัดลงไปแล้ว เรามีกิเลสตัวไหน เป็นจริตประเภทไหน เราจะได้แก้ไขดัดแปลง ตัดทอนสิ่งที่เกิน แล้วเพิ่มสิ่งที่หย่อนให้อยู่ในระดับพอดีพองาม เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา การทำสมาธิอันใดในเมื่อเรา ทำสมาธิเป็นแล้ว เบื่อโลก เบื่อสังคม เบื่องาน เบื่อครอบครัว นั่นมิจฉาทิฐิกำลังจะเกิด นักทำสมาธิที่ถูกต้องย่อมไม่เบื่อโลก เบื่อสังคม พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนให้เราหนีจากโลก พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราศึกษาให้รู้จักความจริงของโลก เพื่อจะได้อยู่กับโลกด้วยความผาสุกมีหลักฐานทางพระบาลีที่จะยกมาอ้าง “เอ ถ ปัสสถิมํ โลกํ จิตตํ ราชรถูปมํ ยัตถ พาลา วิสีทันติ นัตถิ สังโค วิชานตํ เย จิตตํ สัญญเมสสันติ โมกขันติ มารพันธนา สูทั้งหลายจงมาดูโลกอันวิจิตรบรรจงดุจราชรถทรงของพระราชาที่พวกคนเขลาหมก อยู่ แต่ผู้รู้หา ข้องอยู่ไม่ ผู้ใดจักสำรวมซึ่งจิตผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร” จริงหรือเปล่า นี่เป็นหลักสูตรนักธรรมเอกข้อต้นเลยทีเดียว สูเจ้าทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ อาตมาก็เรียนธรรมะมามากพอสมควรเหมือนกัน ไม่มีที่ไหนว่าพระพุทธเจ้าสอนให้หนีจากโลก…….หนีจากโลก จะหนีไปไหนพ้น ร่างกายของเราก็เป็นโลก ขันธาทิโลก โลกคือเบญจขันธ์ กายกับใจของเราก็คือโลก โลกคือเบญจขันธ์เหมือนกัน แม้จะวิ่งหนีเข้าป่าไปอยู่กับหลวงปู่ขาวโน่นก็เอากายเอาใจไปด้วย จะหนีไปที่ไหนพ้น เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราหนีไม่พ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เรารู้ ศึกษาให้รู้ความจริงว่าโลกคือกายของเรานี่มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีความปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่จริงมันก็เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วมันก็สลายตัวไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เช่นเดียวกันกับดิน น้ำ ลม ไฟ ในภายนอก เพราะเรามีดิน น้ำ ลม ไฟ ในภายในซึ่งอาศัยดิน น้ำ ลม ไฟ ในภายนอกเป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันเราจึงทำหน้าที่รักษาดิน น้ำ ลม ไฟ ในภายนอกเอาไว้ ถ้าทอดทิ้งไป สิ่งเหล่านั้นสาบสูญไปหมดแล้ว เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องเลี้ยงดู


    เพราะฉะนั้น เราจะเป็นนักปฏิบัติธรรมอย่างลืมนึกถึงชาติ ชาติ คือแผ่นดินของเราเป็นสิ่งที่เราควรจะสงวนรักษาไว้ ถ้าเราทอดทิ้ง มัวแต่นั่งปฏิบัติธรรมไม่ลืมตามองดูโลกบ้าง ประเดี๋ยวผืนแผ่นดินอันนี้หลุดมือไปเป็นของคนอื่น แล้วเราจะพากันไปนั่งภาวนาอยู่ที่ไหน อันนี้ขอฝากให้ท่านทั้งหลายเอาไปพิจารณาเป็นประโยคสุดท้าย


    คัดลอกจาก กอบ ลานธรรม
    การปฏิบัติธรรมสำหรับคฤหัสถ์ - ลานธรรมเสวนา
     

แชร์หน้านี้

Loading...