เรื่องเด่น การปฏิบัติธรรมนั้น เราทำแล้วต้องหวังผล

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 17 มิถุนายน 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,578
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,383
    201628422_4501634859887160_2475166118167647091_n.jpg

    สิ่งที่อยากจะบอกกล่าวพวกเราในวันนี้ ก็คือ การปฏิบัติธรรมนั้น เราทำแล้วต้องหวังผล เพราะถ้าเราทำแล้วไม่หวังผล ก็จะอยู่ในลักษณะ "ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง"

    เราต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอว่า เราอาจจะต้องตายลงไปภายในวันนี้ ถ้าหากว่าเราตายลงไปในวันนี้ คติคือที่ไปของเรา แน่นอนแล้วหรือไม่ ? ถ้าหากว่าคติคือที่ไปของเรา ยังไม่แน่นอน แล้วทำอย่างไรที่จะเร่งรัดให้ที่ไปของเรามีความแน่นอน ?

    ก็อยู่ที่ว่าเราต้องตั้งหน้าตั้งตารักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ล่วงศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นล่วงศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นล่วงละเมิดในศีลนั้น ๆ

    ในระยะแรกสติสัมปชัญญะของเรายังไม่สมบูรณ์ ความระมัดระวังตัวย่อมบกพร่อง โอกาสที่ศีลจะขาดก็มีมาก วิธีสังเกตว่าศีลของเราขาดหรือไม่ขาดอย่างแท้จริง ให้ดูว่าเรารู้ว่าสิ่งนั้นผิดศีลหรือไม่ ? เมื่อรู้แล้วเราตั้งใจละเมิดหรือไม่ ? ละเมิดแล้วสำเร็จสมดังเจตนาหรือไม่ ?

    ถ้าหากว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิดศีล เราตั้งใจล่วงละเมิด เรากระทำสำเร็จ ส่วนใหญ่แล้วนี่จะเป็นหลัก ๆ ในการพิจารณาว่าศีลของเราขาดหรือศีลของเราพร่อง ถ้าหากว่าศีลของเรายังพร่องอยู่ ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ โอกาสที่เราจะพ้นจากอบายภูมิก็มีน้อย

    เมื่อทบทวนศีลของเราทุกสิกขาบทบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาของเราไป อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า "ช่างมัน" ตอนนี้เราทำความดีอยู่ ถึงจะตายลงไปตอนนี้เราก็ยอม

    ถ้าเป็นเช่นนี้ลักษณะอาการต่าง ๆ ที่มารบกวน อย่างเช่นว่าขันธมาร เป็นต้น ต่อให้บังเกิดขึ้น เมื่อเห็นว่าเราไม่หวั่นไหวเขาก็จะเลิกไปเอง ในขณะเดียวกันก็ให้ตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกของเราเป็นหลัก จะกำหนดภาพพระไปด้วยก็ได้ กำหนดคำภาวนาไปด้วยก็ได้ หรือจะรู้เฉพาะลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออกก็ได้

    จนกระทั่งสมาธิของเราทรงตัวตั้งมั่น ก้าวเข้าสู่ฌานสมาบัติระดับอัปปนาสมาธิ ได้แก่ ปฐมฌานละเอียดขึ้นไปจนถึงฌาน ๔ หรือถ้าใครมีความสามารถจะกำหนดทำต่อในส่วนของสมาบัติ ๘ ก็ย่อมได้

    เมื่อสมาธิของเราทรงตัวตั้งแต่ระดับปฐมฌานละเอียดขึ้นไป เราก็มาใช้ปัญญาพินิจพิจารณาตัดละร่างกายนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ทั้งปวง มองให้เห็นอย่างชัดเจนว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายไปในทึ่สุด ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไป ไม่มีตัวตนอะไรให้เรายึดถือมั่นหมายได้

    ร่างกายของเราก็เป็นเช่นนี้ ของคนอื่นก็เป็นเช่นนี้ ของสัตว์อื่นก็เป็นเช่นนี้ วัตถุธาตุต่าง ๆ ก็เป็นเช่นนี้ พยายามมองให้เห็นอย่างชัดเจน จนสภาพจิตของเรายอมรับ เมื่อร่างกายนี้มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มีความทุกข์เป็นปกติ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเป็นปกติ

    ถ้าสภาพจิตของเรายอมรับ ก็ให้ตั้งกำลังใจสุดท้ายว่า ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเช่นนี้ เราไม่ต้องการอีกแล้ว ตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานที่เดียว

    จากนั้นก็ตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกของตัวเอง หรือกำหนดใจแน่วนิ่งอยู่กับภาพพระ หรือถ้าท่านใดสามารถยกจิตขึ้นสู่พระนิพพานได้ เอาจิตไปจดจ่ออยู่ต่อหน้าองค์พระบนพระนิพพาน

    พยายามทบทวนรักษากำลังใจของเราไว้อย่างนี้ทุกวัน ๆ นึกขึ้นมาเมื่อใดก็สามารถกำหนดกำลังใจให้อยู่ในระดับนี้ได้ทันที ถ้าเป็นเช่นนี้โอกาสที่เราจะรอดจากอบายภูมิถึงจะมีขึ้นมาได้

    ลำดับต่อไป ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
    วันอาทิตย์ที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...