การปฏิบัติที่ให้ผลเร็ว (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 13 สิงหาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    หลวงพ่อชา สุภทฺโท

    วัดหนองป่าพง
    ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี



    บัดนี้ เป็นโอกาสที่พวกเราทั้งหลายจะได้มีการอบรมธรรมปฏิบัติกัน พระบรมศาสดาท่านกล่าวถึงการปฏิบัติไว้ว่า บุคคลที่ยังไม่ได้รับการอบรมปฏิบัติก็จะไม่เข้าใจในธรรม ไม่เข้าใจในธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ หรือในสัญชาตญาณที่คู่กับเรามาแต่เกิด ธรรมชาติอันนี้ หรือสัญชาตญาณอันนี้ มันเกี่ยวข้องกันกับชีวิตของเราตลอดเวลา เราจะเรียกว่าของที่มันเป็นอยู่ก็ได้ เรียกว่าสัญชาตญาณก็ได้ มันมีความเฉลียวฉลาดอยู่ในนั้น ซึ่งช่วยป้องกันรักษาตัวมันเองมาตลอด สุตว์ทุกจำพวกเมื่อเกิดมามันต้องรักษามันแหละ การรักษาตัว ปกป้องชีวิต ป้องกันอันตรายทั้งหลาย แสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิต นี้เหมือนกันหมด เช่น สัตว์ดิรัจฉาน มันก็กลัวอันตราย แสวงหาความสุข เหมือนกันกับสัญชาตญาณมนุษย์เรา อันนี้ท่านเรียกว่าเป็นธรรมชาติหรือสัญชาตญาณ จะมารักษาตัวมันตลอดเวลา ธรรมชาตินั่นเอง ธรรมชาติเรื่องกายหรือเรื่องจิตใจ

    เราจะต้องมารับการอบรมใหม่ เปลี่ยนใหม่

    ถ้าหากว่าเรายังไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ก็คือยังเป็นของที่ไม่สะอาด ยังเป็นของที่สกปรก เป็นจิตใจที่เศร้าหมอง เหมือนกันกับต้นไม้ในป่า ซึ่งมันเกิดมามันก็เป็นธรรมชาติ ถ้าหากว่ามนุษย์เราต้องการจะเอามาทำประโยชน์ดีกว่านั้น ก็ต้องมาดัดแปลง สะสาง ธรรมชาติอันนี้ให้เป็นของที่ใช้ได้ เช่น โต๊ะนี้ หรือบ้านเรือนของเรานั้น เกิดจากเราสามารถเอาธรรมชาติมาทำเป็นที่อยู่ที่อาศัย เปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติอันนั้นมา มนุษยชาตินี้ก็เหมือนกัน ต้องมาปรับเปลี่ยนใหม่ ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า พุทธศาสตร์

    พุทธศาสตร์ คือความรู้ในทางพุทธศาสนา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของพวกเราทั้งหลาย ซึ่งมันติดแน่นอยู่ในอันใดอันหนึ่ง เช่น เราเกิดมา มีชื่อเสียงเรียงนามมาตั้งแต่วันเกิด เช่นว่า เรียกว่าตน ตัวเรา ของเรา นี้สมมติกันขึ้นมาว่าร่างกายของเรา จิตใจของเรา ซึ่งสมมติชื่อขึ้นมาจากธรรมชาตินั่นเอง พวกเราทั้งหลายก็ติดแน่นอยู่ในตัวเรา หรือในของของเรา เป็นอุปาทานโดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นอย่างนี้ ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านสอนให้รู้ยิ่งเข้าไปกว่านั้นอีก ทำจิตใจให้สงบให้รู้ยิ่งเข้าไป ยิ่งกว่าธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ จนเป็นเหตุให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนอันนี้ พูดตามชาวโลกเราว่าตัวว่าตน ว่าเราว่าเขา ทางพุทธศาสนานั้นท่านเรียกว่าตัวตนเราเขาไม่มี นี่คือมันแย้งกัน มันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ตัวเราหรือของเรา ซึ่งพวกเราเข้าใจกันตั้งแต่แรกเกิดมา จนรู้เดียงสา จนเกิดมาเป็นอุปาทานมาตลอดทุกวันนี้ ทันนี้เป็นเครื่องปกปิดธรรมอันแท้จริง อันพวกเราทั้งหลายไม่รู้เนื้อรู้ตัว ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาท่านจึงให้มาอบรม

    การอบรมในทางพุทธศาสนานั้น เบื้องแรกท่านว่า ให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ตามบัญญัติท่านเรียกว่าให้พากันรักษา ศีล เป็นเบื้องแรกเสียก่อน นี่ข้อประพฤติปฏิบัติจนเป็นเหตุไม่ให้เกิดโทษ ไม่ให้เกิดทุกข์ทางกายและทางวาจาของเรา อย่างที่เราทั้งหลายอบรมกันอยู่ ให้อายและกลัว ทั้งอายทั้งกลัว อายต่อความชั่วทั้งหลาย อายต่อความผิดทั้งหลาย อายต่อการกระทำบาปทั้งหลาย รักษาตัวกลัวบาป เมื่อจิตใจของเราพ้นจากความชั่วทั้งหลาย พ้นจากความผิดทั้งหลาย ใจเราก็เยือกเย็น ใจเราก็สบาย ความสบายหรือความสงบอันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติซึ่งไม่มีโทษ นั่นก็เป็น สมาธิ ขั้นหนึ่ง

    ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่าน ตรัสว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สุจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะสาสนัง ท่านว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา

    สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทางกาย ทางวาจา คือการไม่ทำผิด ทำชั่ว ทางกาย ทางวาจา อันนี้เป็นตัวศาสนา เป็นพระธรรมคำสอนอขงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือ เอตัง พุทธานะสาสะนัง

    กุสะลัสสูปะสัมปะทา เมื่อมาทำจิตของตนให้สงบระงับขากบาปแล้ว ก็เป็นจิตที่มีกุศลเกิดขึ้นมา เอตัง พุทธานะสาสะนัง อันนี้ก็เป็นคำสอนของท่านหรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเหมือนกัน

    สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การมาทำจิตใจของตนให้ผ่องใสขาวสะอาด อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเป็นหัวใจของพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง

    ทั้งสามประการนี้เป็นหัวใจพุทธศาสนา ก็ประพฤติปฏิบัติอันนี้ ซึ่งมันก็มีอยู่ในตัวเราแล้ว กายก็มีอยู่ วาจาก็มีอยู่ จิตใจก็มีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงให้ปฏิบัติ ให้พิจารณาตัวในตัว ในของตัว ซึ่งมันมีอยู่ ของทั้งหมดที่เราศึกษาเราเรียนกันนั้น มันจะมารู้ความเป็นจริงอยู่ที่ตัวของเรา ไม่ไปรู้ที่อื่น

    เบื้องแรกก็รู้จากการได้ฟังที่เรียกว่า สุตะมะยะปัญญา การได้ฟัง การได้ยิน อันนี้ก็เป็นเหตุให้รู้ เป็นเหตุให้เกิดปัญญา เช่นว่า สมมติว่า วันนี้เราเพิ่งได้ยินว่าสีขาว แต่ก่อนนี้เราไม่เคยได้ยิน ทีนี้เมื่อเรารู้ว่าสีขาวมันเป็นเช่นนี้ เราก็คิดไปอีก สีอื่นจะไม่มีหรือ หรือสีขาวจะแปรเป็นสีอื่นจะได้หรือไม่ เป็นต้น นี่เรียกว่า จินตามะยะปัญญา หรือว่า เราคิดไป ก็ไปลองดูเอาสีดำมาปนในสีขาว มันก็เกิดเป็นสีอื่นขึ้นมาอีก เป็นสีเทาอย่างนี้เป็นต้น การที่เราจะได้รู้จักสีเทาต่อไปนั้น ก็เพราะว่าเราคิด ปัญญาเกิดจากการคิด การวิพากษ์วิจารณ์ เราเลยรู้สูงขึ้นไปกว่าสีขาว รู้สีเทาเพิ่มขึ้นไปอีก ปัญญาเกิดจากสิ่งทั้งสองนี้

    นี้เป็นปัญญาที่เป็นโลกียวิสัย ซึ่งชาวโลกพากันเรียนอยู่ทั้งเมืองไทย จะไปเรียนนอกมาก็ตาม มันก็คงอยู่ในสุตะมะยะปัญญา จินตามะยะปัญญาเท่านี้ อันนี้เป็นโลกียวิสัย พ้นทุกข์ไม่ได้ พ้นทุกข์ได้ยาก หรือพ้นไม่ได้เลยทีเดียว เพราะเมื่อรู้สีขาว สีเทาแล้ว ก็ไปยึดมั่น (อุปาทาน) ในสีขาว สีเทาอันนั้น แล้วจะปล่อยวางไม่ได้ เช่นว่า เราเกิดอารมณ์ขึ้นมา ได้ยินเขาว่าไม่ดี เรียกว่านินทา อดเสียใจไม่ได้ อดน้อยใจไม่ได้ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ในอารมณ์อันนั้น เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะอุปาทาน นี้เรียกว่าการรู้ หรือการเห็นจากการได้ฟัง มันจะพ้นทุกข์ไม่ได้ หรือว่าเขาสรรเสริญเรา มันอดดีใจไม่ได้ แล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนั้นอีก ไม่ได้ตามปรารถนาแล้วก็ทุกข์อีก สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข ดีแล้วก็ชั่ว ชั่วแล้วก็ดี เป็นตัววัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนแปรไปไม่จบ อันนี้เป็นโลกียวิสัยเช่นที่ปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้แหละ

    พวกเราทั้งหลายก็เคยรู้เคยเห็น วิชาในโลกอันนี้เราเคยรู้เคยเห็น จะเรียนไปถึงที่สุด อะไรที่ไหนก็ตาม มันก็ยังทุกข์ เอาทุกข์ออกจากตัวไม่ได้ นั่นเป็นปัญญาโลกีย์ ละทุกข์ไม่ได้ ไม่พ้นจากทุกข์ ความร่ำรวยเศรษฐี หรือมหาเศรษฐีที่อยู่ในโลกนี้ มันก็ไม่พ้นจากความทุกข์ เพราะมันเป็นโลกียวิสัย ปัญญาทั้งสอง ประการนี้ท่านยกให้โลกปกครองกันอยู่ในโลก วุ่นวายกันอยู่ในโลก ไม่มีทางจบ ถึงแม้จะจนมันก็ทุกข์ ถึงแม้จะรวยแล้วมันก็ยังทุกข์อยู่อีก ไม่พ้นไปจากทุกข์
    ปัญญา โลกุตตระที่จะเกิดขึ้นมาต่อไป เป็นความรู้ของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นโลกุตตระ พ้นจากทุกข์ พ้นจากวัฏฏสงสาร อันนี้ท่านพูดถึงการอบรมจิตใจ ( ภาวนา) ไม่ต้องอาศัยการฟัง ไม่ต้องอาศัยการคิด ถึงฟังมาแล้วก็ดี ถึงคิดมาแล้วก็ดี เมื่อภาวนาทิ้งมัน ทิ้งการฟังไว้ ทิ้งการคิดเสีย เก็บไว้แต่ในตู้ แต่มาทำจิต (ภาวนา) อย่างที่พวกเรามาฝึกกันอยู่ทุกวันนี้ หรือเรียกว่าทำกรรมฐาน ที่โบราณาจารย์ทั้งหลายท่านแยกประเภทส่วนแห่งการกระทำ แยกข้อประพฤติปฏิบัติ เรียกว่า สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

    สมถวิปัสนาเป็นแนวทางที่ให้พวกเราทั้งหลายปฏิบัติให้เป็นโลกุตตรจิต ให้พ้นจากวัฏฏสงสาร
    เช่นว่า เรานั่ง ไม่ต้องฟังและไม่ต้องคิด ตัดการฟัง ตัดการคิดออก และยกส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นพิจารณา เช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรือเรายกอานาปานสติ คือ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ ในเวลาที่เราทำกรรมฐานอยู่นั้น ในเวลาที่เรากำหนดลมอยู่นั้น ท่านไม่ให้ส่งจิตไปทางอื่น ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว ออกไปแล้วเข้ามา เข้ามาแล้วก็ออกไป ไม่ต้องอยากรู้อะไรมาก ไม่ต้องอยากเห็นอะไรต่อไป ให้จิตของเรารู้เฉพาะลมที่มันเข้าหรือมันออก เรียกว่าการกำหนดลม เป็นอานาปานสติ

    การกำหนดลมนี้ บางคนกำหนดไม่ได้ การกำหนดลมเราจะต้องเอาสภาวะที่มันเป็นอยู่ หายใจเข้า ยาว หายใจออก สั้น เท่าไร อันนั้นไม่เป็นประมาณ เป็นประมาณที่ว่า มันสบายอย่างไร หายใจแรงหรือมันค่อย หรือมันยาว หรือมันสั้น เราจะต้องทดลองหายใจดู มันถูกจริตที่ตรงไหน มันสบายอย่างไร ลมไม่ขัดข้อง จะกำหนดลมก็สบาย สะดวก ตัวอย่างเช่น เราฝึกเย็บผ้าด้วยจักร เราก็ควรเอาจักรมาลอง เอาเท้าเราถีบจักรเข้า ถีบจักรเปล่ายังไม่ต้องเย็บผ้า ให้มันชำนาญเสียก่อน เมื่อเท้าเราชำนาญพอสมควรแล้วค่อยเอาผ้ามาใส่ เย็บไปพิจารณาไป

    การกำหนดลมหายใจนี้เหมือนกัน ก็หายใจเบาๆ เสียก่อน ไม่ต้องกำหนดอะไร มันยาว มันสั้น มันหยาบ มันละเอียด มันสบายอย่างไร อันนั้นเป็นจริตของเรา ความพอดีของมันนั้น ไม่ยาว ไม่สั้น พอดี เรากำหนดเอาอันนั้นเป็นประมาณ นี้เรียกว่า ให้กรรมฐานถูกจริต แล้วค่อยๆ ปล่อยลมออกไป แล้วก็สูดลมเข้ามา เราจะกำหนดว่า เมื่อลมเข้ามา ต้นลมอยู่ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่สะดือ เมื่อเราหายใจออก ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่จมูก ให้เรากำหนดอย่างนี้เสียก่อน แล้วก็สูดเข้า ผ่านปลายจมูก หทัย สะดือ เมื่อออก ตั้งต้น สะดือ หทัย ปลายจมูก เป็นต้น ทำอยู่อย่างนี้แหละ ไม่ต้องสนใจอื่น

    เมื่อเวลาเราทำ (สมถ) กรรมฐาน คือกำหนดลม ไม่ต้องพิจารณาอะไร เอาสติประคองจิตของเรา ให้รู้ตามลมเข้าออกเท่านั้น ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น ไม่ต้องพิจารณาอย่างอื่น ลมก็สบาย ไม่ขัดข้อง ลมเข้าก็สบาย ลมออกก็สบาย เอาความรู้สึกที่เรียกว่า สติ สติตามลม ส่วนสติสัมปชัญญะ ก็รู้อยู่ว่า สติเราตามลม ขณะที่เรากำลังทำอยู่นั้น มีสติ แล้วก็มีลม มีสติตามลม เราจะมองดูในที่อันนั้น เราจะรู้ลม เห็นลมว่ามันยาวสั้นประการใด เห็นลมและมีสติอยู่ว่าเรารู้ลม แล้วก็เห็นจิตของเราตามลม เห็นทั้งลม เห็นทั้งสติ เห็นทั้งจิต ๓ ประการรวมกัน หายใจเข้าก็รวม หายใจออกก็รวม รู้สึกอยู่อย่างนี้ มันจะเป็นอะไรบ้างต่อไป อย่าคิดไป มันจะมีอะไรบ้างต่อไป อย่าคิดไป ทำอย่างนี้มันจะดี จะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่ต้องคิด เรียกว่ากำหนดลมเข้าออกสบาย

    เมื่อหากว่าจิตของเรากำหนดอารมณ์กับลมหายใจถูกแล้ว มันจะไม่ขัดข้อง ลมก็ไม่ขัดข้อง ผู้รู้ก็ไม่ขัดข้อง ทุกอย่างทุกส่วนไม่ขัดข้อง เราเพียงแต่รู้อันเดียวเท่านั้นแหละ คือรู้แต่เพียงลมหายใจเข้าออก คือกำหนดรู้ว่า ต้นลมคือจมูก กลางลมคือหทัย ปลายลมคือสะดือ เมื่อลมมันถอนออกมา ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่จมูก ๓ ประการนี้ เรานั่งพิจารณากำหนดรู้อยู่เช่นนั้น ให้มันรู้ทั้ง ๓ นี้เสมอ เรียกว่าเรามีสติเต็มที่ของเรา มีผู้รู้ควบคุมสติอันนั้นอยู่เต็มที่ เช่นนี้เรียกว่าเราทำ (สมถ) กรรมฐาน จนกว่าจิตเรามันสงบ

    เมื่อจิตเราสงบ กายมันเบา ใจมันก็เบา ลมมันก็ละเอียด เมื่อเรามีลมอันละเอียดแล้ว ก็ไม่ต้องตามลม เพราะการตามลมเข้าไป มันเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อไม่อยากจะตามเสียแล้ว เอาสติกำหนดที่ปลายจมูกของเรานี้ พอแต่รู้ว่ามันเข้า พอแต่รู้ว่ามันออก เท่านี้ก็พอแล้ว จิตสบาย กายก็เบา ใจสงบ ลมก็ละเอียด อันนี้จิตเป็นสมาธิ รู้ตามลมอย่างเดียว เมื่อมันละเอียดเต็มที่เข้าไปนั้น มันจะเกิดความละเอียดขึ้นมาในใจของเราอีก ลมที่เรากำหนดอยู่นี้มันจะหายไป มันจะไม่มีลม ที่จริงมันมีอยู่หรอก แต่มันละเอียดที่สุดจนกำหนดไม่ได้ ก็เลยเกิดเป็นคนไม่มีลม นั่งเฉยๆ อยู่นึกว่าไม่มีลม

    ตอนนี้พระโยคาวจรเจ้ามักจะตกใจ กลัวว่าเราไม่มีลม กลัวว่าเราจะเป็นอะไรไป ถ้าลมไม่มีแล้ว จะเอาอะไรเป็นอารมณ์ต่อไปอีก เราจะต้องเอาความรู้สึกว่าลมไม่มีนั่นแหละเป็นอารมณ์ต่อไป ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นอันตราย เราทำจิตของเราให้รู้ว่า ไม่มีลมเข้าไป ถึงกาลถึงเวลาแล้วเป็นเอง อันนี้ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องสะดุ้ง จะเป็นไปอย่างไรก็ตาม ก็รู้ รู้ใจของเราที่มันเป็นอย่างไร กำหนดจิตเข้าไปว่ารู้อย่างไร จะไม่มีอันตรายแต่อย่างได อันนี้เป็นอารมณ์ของการกระทำจิตให้สงบ (สมถะ) เบื้องแรก

    พูดถึงความสงบ (สมถะ) พอมันสงบแล้ว ก็มีส่วนที่มันไม่สงบมาปะปนเข้า เช่นว่า เราเพิ่งมาฝึกจิตของเราเดือนหนึ่ง ๑๐ วัน ๕ วัน โดยมากมันก็ยังไม่สงบ ถ้ามันไม่สงบนั้น ไม่ต้องน้อยใจ มันเป็นเรื่องธรรมดาของมัน เรื่องจิตอันนี้ มันจะอยู่นิ่งๆ ในที่ของมันไม่ได้หรอก บางทีมันก็มีอาการคิดอย่างโน้น คิดอย่างนี้ ในขณะอยู่ในที่สงบอันนั้นแหละ บางคนจิตไม่สงบ จิตก็ฟุ้งซ่าน ใจก็ไม่สบาย ใจเขาก็ไม่ดี เพราะว่าจิตไม่สงบ อันนี้เราต้องพิจารณาด้วยปัญญาของเรา เรื่องไม่สงบอันนั้น เพราะเราไม่รู้ตามความเป็นจริงของมันเท่านั้นเอง

    ถ้าเรารู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว อันนั้นสักแต่ว่าอาการของจิต จริงๆ แล้วจิตมันไม่ฟุ้งไปอย่างนั้น เช่นว่า เรารู้ความคิดแล้วว่า บัดนี้ เราคิดอิจฉาคน นี้เป็นอาการของจิต แต่เป็นของไม่จริง มันไม่เป็นความจริง เรียกอาการของจิต มันมีตลอดเวลา ถ้าหากว่าคนไม่รู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว ก็น้อยใจว่าจิตเราไม่อยู่นิ่ง จิตเราไม่สงบ อันนี้เราต้องใช้การพิจารณาอีกทีหนึ่งให้มันเข้าใจ เรื่องของจิตนั้นนะ มันเป็นเรื่องของอาการของมัน แต่ที่สำคัญคือ มันรู้ รู้ดีมันก็รู้ รู้ชั่วมันก็รู้ รู้สงบมันก็รู้ รู้ไม่สงบมันก็รู้ อันนี้คือตัวรู้ พระพุทธเจ้าของเราท่านให้ตามรู้ ตามดูจิตของเรา

    จิตนั้นคืออะไร จิตนั้นอยู่ที่ไหน ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ เราก็คงรู้ตัวของเรา ความรู้ที่มันรู้นี่นี่มันรู้อยู่ที่ไหน จิตนี้ก็เหมือนกัน จิตนี้คืออะไร มันเป็นธรรมชาติ หรือเป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งที่มันมีอยู่ อย่างที่เราได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้แหละ มันมีความรู้อยู่ ความรู้นี้มันอยู่ที่ไหน ในจิตนั้นมันเป็นอย่างไร ทั้งความรู้ก็ดี ทั้งจิตก็ดี เป็นแต่ความรู้สึก ผู้ที่รู้สึกดีชั่ว เป็นสักแต่ว่าความรู้สึก สู้สึกดีหรือชั่ว รู้สึกผิดหรือถูก คนที่รู้สึกนั่นแหละเป็นคนรู้สึก ตัวรู้สึกมันคืออะไร มันก็ไม่คืออะไร ถ้าพูดตามส่วนแล้วมันเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้ามันรู้สึกผิดไป ก็ไปทำผิด มันรู้สึกถูกก็ไปทำถูก ฉะนั้นท่านจึงให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา เรื่องจิตของเรานั้นมันเป็นอาการของจิต เรื่องมันคิดมันคิดไปทั่ว แต่ผู้รู้คือปัญญาของเราตามรู้ ตามรู้อันนั้นตามเป็นจริง

    ถ้าเราเห็นอารมณ์ตามเป็นจริงของเราแล้ว มันก็เปลี่ยนไปอีกประเภทหนึ่ง (วิปัสสนากรรมฐาน) เช่นว่า เราได้ยินว่า รถทับคนตายเป็นต้น เราก็เฉยๆ ความรู้ชนิดนี้มันก็มี แต่มันรู้ไม่เห็น รู้ไม่จริง รู้ด้วยสัญญา (ความจำ) ขนาดนี้มันรู้อย่างนี้ ทีนี้หากว่าเดินไปดูซิ รถมันทับคนตายที่ไหน ไปเห็นร่างกายคนนั้นมันเละหมดแล้ว อันความรู้ครั้งที่สองนี้ มันดีขึ้นเพราะมันไปเห็น เห็นอวัยวะที่ถูกรถทับ มันเกิดสลดเกิดสังเวช ความรู้ที่เห็นด้วยตามันมีราคายิ่งกว่าเขาว่า เมื่อเราไปเห็นทุกสิ่งอันนี้ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่แน่ไม่นอน ในร่างกายเรานี้ไม่เป็นแก่นเป็นสาร ไม่สดไม่สวย ความรู้สึกนึกคิด มันค้นในเวลานั้น มันก็เกิดปัญญา (วิปัสสนา) เป็นเหตุให้ถอนอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ออกได้ เรียกว่าความรู้สึกอันนี้มันสูงขึ้น สูงขึ้นๆ ต้องพิจารณาเช่นนี้

    การทำกรรมฐาน ถ้าไม่รู้จักแล้วก็จะลำบาก บางคนก็ไม่เคยทำ เมื่อมาทำวันสองวันสามวัน มันก็ไม่สงบ มันก็เลยนึกว่า เราทำไม่ได้ เราต้องคิดว่า เมื่อเราเกิดมาเคยถูกสอนหรือยัง เราเคยทำความสงบหรือเปล่า เราปล่อยมานานแล้ว ไม่เคยฝึกเคยหัดมัน มาฝึกมันชั่วระยะหนึ่งอยากให้มันสงบ อย่างนั้นเหตุมันไม่พอ ผลมันก็ไม่มี เป็นเรื่องของธรรมดา เป็นเรื่องอันตัวเราท่านทั้งหลายจะหลุดพ้น ต้องอดทน การอดทนเป็นแม่บทของการประพฤติ

    ให้เห็นกาย ให้เห็นใจ เมื่อรู้จักธรรมตามความเป็นจริงแล้วนั่น ความที่เรายึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) แต่ก่อนๆ มันจึงจะผ่อนออก เห็นตามความเป็นจริงของมัน อุปาทานมั่นหมายในความดีความชั่วทั้งหลายมันจะคลายออก คลายออก เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นของไม่แน่ไม่นอน ที่มันเกิดมีในจิตของเราทุกวันนี้นั้น ลองดูซิ ความรักมันแน่ไหม ความเกลียดมันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ ความสุขมันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ ความทุกข์มันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ อันไม่แน่นั้น เรียกว่าของไม่จริง เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    เมื่ออันนี้มันไม่จริง ของจริงมันอยู่ที่ไหน ของจริงมันอยู่ที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น มันจริงแต่สักว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้คือความจริง ความจริงอยู่ตรงที่มันไม่จริง อันความเที่ยงแย่ตรงที่มันไม่เที่ยง เหมือนกันกับของสกปรกมันเกิดมีขึ้น ความสะอาดอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงที่สกปรกนั่นแหละ เอาสกปรกออก ก็เห็นความสะอาดฉันใด จิตใจของเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น

    การประพฤติปฏิบัตินี้ บางคนปัญญามันน้อย บางคนปัญญามันมาก ไม่ทันกัน ไม่เห็นเหมือนกัน อย่าง เราจะไปพบวัตถุอันหนึ่ง ๒ หรือ ๓ คน ไปพบแก้วใบหนึ่ง บางคนก็เห็นว่ามันสวย บางคนจะเห็นว่ามันไม่สวย บางคนจะเห็นว่ามันโตไป บางคนจะเห็นว่ามันเล็กไป นี่ ทั้งๆ ที่แก้วใบเดียวกันนั่นเอง ทำไมไม่เหมือนกัน แก้วใบนั้นมันเหมือนของมันอยู่ แต่ความเห็นของเรามันไม่เหมือนกัน มันเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นมันจึงไม่เหมือนกันอยู่ที่ตรงนี้ การประพฤติปฏิบัติทางพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านสอน อย่าให้มันช้า อย่าให้มันเร็ว ทำจิตใจให้พอดี การประพฤติปฏิบัตินี่ ไม่ต้องเดือดร้อน ถ้ามันเดือนร้อนเราต้องพิจารณา เช่นว่า เราจะปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นมา ต้นไม้ที่จะปลูกนั้นก็มีอยู่ ก็ขุดหลุม ก็ปลูก เอาต้นไม้มาวางบนหลุมนั้น ก็เป็นหน้าที่ของเรา จะมูนดิน จะให้ปุ๋ย จะให้น้ำ จะรักษาแมลงต่างๆ ก็เป็นเรื่องของเรา เป็นหน้าที่ของเรา คนจะทำสวนต้องทำอย่างนี้

    ทีนี้เรื่องต้นไม้มันจะโตเร็ว โตช้าของมันน่ะ มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเราไม่รู้จักหน้าที่การงานของตัวแล้ว มันก็ไปทำงานหน้าที่ของต้นไม้ มันก็ทุกข์ ไม่ทำงานหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราก็ให้ปุ๋ยมันไป ให้น้ำมันไป รักษาแมลงไม้ไป เท่านี้ ส่วนต้นไม้จะโตเร็วโตช้า เป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเรารู้จักหน้าที่การงานของเราเช่นนี้ ภาวนา (ฝึกจิต) ก็สบาย ถ้าเราคิดเช่นนี้ การปฏิบัติของเราก็สบาย ง่าย สะดวก ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย

    นั่งมันสงบก็ดูความสงบไป ที่มันไม่สงบก็ดูความไม่สงบไป ที่มันสงบนั้น มันก็เป็นเรื่องของจิต มันเป็นอย่างนั้น ที่มันไม่สงบ มันก็เป็นเรื่องของมันอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างอื่น มันสงบแล้ว มันก็สงบไป ถ้าไม่สงบก็ไม่สงบไป เราจะไปทุกข์เพราะมันไม่สงบไม่ได้ เราจะไปดีใจเพราะจิตสงบมันก็ไม่ถูก เราจะไปเสียใจเพราะจิตมันไม่สงบก็ไม่ถูกเหมือนกัน เราจะไปทุกข์กับต้นไม้ได้หรือ ไปทุกข์กับแดดได้หรือ ไปทุกข์กับฝนได้หรือ ไปทุกข์กับอย่างอื่นได้หรือ มันเป็นเรื่องของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว การภาวนาของพระโยคาวจรนั้นก็สบายแล้ว เดินทางเรื่อยๆ ไป ปฏิบัติไป ทำธุระหน้าที่ของเราไป

    เวลาพอสมควรเราก็ทำของเราไป ส่วนมันจะได้ จะถึง หรือมันสงบนั้น ก็เป็นวาสนาบารมีของเรา เหมือนกับชาวสวนปลูกต้นไม้ หน้าที่ของเราใส่ปุ๋ยก็ใส่มันไป รดน้ำก็รดมันไป รักษาแมลงก็รักษามันไป เรื่องต้นไม้จะโตเร็วโตช้าไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของต้นไม้ ละปล่อยทั้งสองอย่างนี้ รู้จักหน้าที่ของเรา รู้จักหน้าที่ของต้นไม้ มันถึงเป็นชาวสวนที่มีความสุขสดชื่นดีฉันใด ผู้มีปัญญา ผู้ที่ภาวนาในพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น พอจิตคิดเช่นนี้ ความพอดีมันตั้งขึ้นมาเอง พอความพอดีมันตั้งขึ้นมาก็เลยเป็นปฏิปทา ปฏิปทาที่พอดีเกิดขึ้นมา ความเหมาะสมมันก็เกิดขึ้นมา อารมณ์เหมาะสมมันเกิดขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เป็นสัมมาปฏิปทา ปฏิบัติไม่หย่อน ปฏิบัติไม่ตึง ปฏิบัติไม่เร็ว ปฏิบัติไม่ช้า จิตใจปล่อยไปตามสภาวะของมัน อันนั้นคือภาวนาสงบแล้ว สบายแล้ว

    ความรู้สึกนึกคิดของเราไปมีอุปาทานมั่นหมายมันขึ้นเมื่อไร มันก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ ท่านจึงให้ปล่อยวาง เช่นว่า เราอยู่ด้วยกันหลายๆ คนนี้นะ ต่างบ้าน ต่างตระกูล ต่างตำบล ต่างจังหวัด ที่มารวมๆ กันนี้ ถ้าเรารู้คนในนี้ ในศาลานี้ให้สบายแล้ว ภาวนาเราก็สบาย เรื่องคนนี้ก็ให้คนนี้ เรื่องคนนั้นก็ให้คนนั้น ให้คนละคนละคนเรื่อยๆ ไป เราก็สบาย เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างก็ปล่อยไป ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจัยเรื่องคนอื่น ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจัยเรื่องนอกกายนอกใจเราแล้ว มันก็เกิดความสงบ เกิดความสบายขึ้นมา เพราะความรู้ตามเป็นจริงเกิดขึ้นมา

    เราต้องการธรรมไปทำไม ต้องการธรรมไปเพื่อรู้ตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง ถึงแม้มันจะจน ถึงแม้มันจะรวย ถึงแม้มันจะเป็นโรค ถึงแม้มันจะปราศจากโรค จิตใจก็อยู่อย่างนั้นเอง เช่นว่าวันหนึ่งตัวเรามันไม่สบายขึ้นมา จะเห็นชัดในจิตของเราว่า มันก็นึกกลัวตาย กลัวมันจะไม่หาย ใจก็ไม่สบายเกิดขึ้นมาแล้ว ความไม่สบายเกิดขึ้นมาแล้ว คือไม่อยากจะตาย อยากให้มันหาย อันนี้เห็นแง่เดียว ตามธรรมชาติของมันแล้ว ถ้ามันเกิดป่วยขึ้นมา เกิดอาพาธขึ้นมา เราก็รู้ว่า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย หายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย ถ้าเราคิดได้เช่นนี้มันเป็นธรรม เอาทั้งสองอย่างนั่นแหละ หายก็เอามัน ไม่หายก็เอามัน เป็นก็เอามัน ตายก็เอามัน อันนี้ถูก แต่ว่ามันจะมีสักกี่คน นั่งฟังธรรมอยู่นี่มีกี่คนป่วยมาแล้ว ตายก็ตาย หายก็หาย มีกี่คนก็ไม่รู้ ที่มันอยากจะหาย ไม่อยากจะตาย อันนี้มันคิดผิด เพราะมันกลัว เพราะมันไม่เป็นธรรม มันจึงทุกข์ ถ้าเห็นสังขารร่างกายแล้ว ไม่ว่ามันละ หายก็หาย ตายก็ตาย เอาทั้งสองอย่าง ไม่เอามันก็ต้องได้อะไรสักอย่างจนได้

    เมื่อเรารู้จักธรรมเช่นนี้ รู้จักสังขารเช่นนี้ เราก็พิจารณาตามสังขารว่ามันเป็นอย่างนั้น นี่กรรมฐานมันตั้งขึ้นมาแล้ว มันพ้นทุกข์อย่างนี้เอง ไม่ใช่ว่ามันไม่ตาย ไม่ใช่ว่ามันไม่เจ็บ ไม่ใช่ว่ามันไม่ไข้ อันเรื่องเจ็บเรื่องไข้มันเป็นเรื่องของสังขาร มันเป็นไปตามเรื่องของมัน ถึงคราวมันจะตาย ไม่อยากตายเท่าไหร่ มันก็ตาย ถึงคราวมันจะหาย ไม่อยากจะให้หาย มันก็หาย อันนี้มันไม่ใช่ธุระหน้าที่ของเราแล้ว มันเป็นธุระหน้าที่ของสังขาร ถ้าเราภาวนาเห็นเช่นนี้ จิตมีอารมณ์เป็นเช่นนี้ทุกขณะ จิตก็ปล่อยวางสบาย

    การ ภาวนานั้น ไม่ใช่ว่านั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว การภาวนานั้นตลอดเวลา การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้มีสติประคับประคองอยู่เสมอเลยทีเดียว

    บัดนี้มีความทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ทวนดูซิ อันนี้มันก็ไม่แน่นอนหรอก เรื่องมันไม่จริงทั้งนั้นน่ะ เราต้องเตือนอยู่เช่นนี้ เมื่อมันมีสุขเกิดขึ้นมาแล้ว สุขนี้มันก็ไม่แน่เหมือนกันนั่นแหละ เคยสุขมาแล้วมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็สุข เป็นของไม่แน่นอนทั้งนั้น ถ้าเราเห็นอารมณ์เมื่อใด ถูกอารมณ์ขึ้นมาเมื่อใด มันจะดีใจ เราก็ต้องบอกมัน เตือนมัน ว่าความดีใจมันก็ไม่แน่นอนหรอก เป็นแต่ความไม่จริงทั้งนั้นแหละ มันหลอกลวงทั้งนั้น เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นมา ก็ว่ามันไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่หลอกลวงทั้งนั้นแหละ เป็นความรู้สึกเท่านั้นแหละ ความเป็นจริงแล้ว ความสุขหรือความทุกข์นั้นไม่มี มันมีแต่ความรู้สึก รู้สึกว่าสุข รู้สึกว่าทุกข์ ถ้ามีความชอบใจก็รู้สึกว่าสุข ไม่ชอบใจก็รู้สึกว่าทุกข์ ตัวสุขตัวทุกข์จริงๆ มันไม่มี มันเป็นแต่เพียงความรู้สึก

    ถ้าเราคิดได้เช่นนี้ เราก็เห็นของปลอมตลอดเวลา รู้จักอารมณ์ อารมณ์อันนี้ก็ไม่ต้องว่าไปสอบอารมณ์ การภาวนาไม่ต้องไปสอบอารมณ์ เมื่อเรามีสติตลอดเวลา ทุกวันทุกนาที มันจะรู้จักอารมณ์ เมื่อเราทำผู้รู้ให้ตื่นอยู่เสมอแล้ว มันจะเห็นสุขหรือทุกข์ ชอบไม่ชอบ จะเห็นอยู่ตลอดเวลา มันจะทวนลงไปทีเดียวว่ามันไม่แน่ สุขเกิดขึ้นมา อันนี้ก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน อย่าไปหมายมั่นมันเลย ทุกข์เกิดขึ้นมา เราก็ว่าเลยว่า อันนี้มันก็ไม่แน่เหมือนกันนะ มันแน่อยู่ตรงไหนเล่า มันแน่อยู่ตรงที่มันไม่แน่ มันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง อันนี้เป็นเหตุให้สุข ทุกข์ และอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ไม่มีกำลัง เสื่อม เมื่อสิ่งทั้งหลายนี้มันเสื่อมไป อุปาทาน (ความยึดมั่น) ของเราก็น้อย ก็ปล่อยวาง นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของธรรมดาเช่นนี้

    ฉะนั้นจิตใจเรา มันจะได้มาก็เป็นเรื่องธรรมดาของมัน มันจะเสียหายไป ก็เป็นเรื่องของมัน มันจะสุขก็เป็นเรื่องของมัน มันจะทุกข์ ก็เป็นเรื่องของมัน เรื่องของสังขารมันเป็นอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นสักแต่ว่าเรารู้สึกเท่านั้น อื่นนั้นก็ไม่มี ฉะนั้นท่านจึงสอนให้ โอปนยิโก คือให้น้อมเข้ามาใส่ตัว อย่าน้อมออกไป น้อมเข้ามาให้เห็นด้วยตัวของเรานี้ ทางที่ดีสำหรับคนที่อ่านที่ศึกษามามากแล้ว จะมาอยู่ภาวนาเพียงสองสัปดาห์เท่านี้น่ะ อาตมาเห็นว่าไม่ต้องดูต้องอ่าน หนังสือเอาเข้าตู้เสีย ถึงเวลาเราทำกรรมฐาน นั่งสมาธิของเรา เราก็ทำไป อานาปานสติทำไปเรื่อยๆ ขณะที่เราเดินจงกรม เราก็เดิน ให้รู้จิตใจของเราเท่านั้นแหละ รักษาจิตใจของเรา

    บางทีความหวาด ความสะดุ้งมันเกิดขึ้นมา เราก็ทวนมันอีก อันนี้เป็นของไม่แน่นอน เรื่องความกล้าหาญเกิดขึ้นมา อันนี้มันก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ไม่แน่ทั้งหมดนั่นแหละ ไม่รู้จะจับอะไร นี่ทำปัญญาให้เกิดเลยทีเดียว ทำปัญญาให้เกิด ไม่ใช่รู้ตามสัญญา (ความจำ) รู้จิตของเราที่มันคิดมันนึกอยู่นี้ มันคิดนึกทั้งหมดเกิดขึ้นมาในใจของเรานี้แหละ จะดีหรือชั่ว จะถูกหรือผิด รับรู้มันไว้ อย่าไปหมายมั่นมัน เออ…ทุกข์มันก็เท่านั้นแหละ สุขมันก็เท่านั้นและ มันเป็นของหลอกลวงทั้งนั้นแหละ เรายืนตัวอยู่เช่นนี้เลย ยืนตัวอยู่เสมอเช่นนี้ ไม่วิ่งไปกับมัน ไม่วิ่งกับสุข ไม่วิ่งกับทุกข์ รู้อยู่ รู้แล้วก็วาง อันนี้ปัญญาจะเกิด ทวนจิตเข้าไปเรื่อยๆ

    เวลาเรามีไม่มาก เรามาฝึกจิตก็ต้องดูจิต ดูอาการของจิต ลองดูจิต ให้เห็นจิตเรา อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ถือมั่นก็เห็นสุขเป็นของจริง สุขเป็นเรา สุขเป็นของเรา ทุกข์เป็นเรา ทุกข์เป็นของเรา มันคิดเช่นนี้ แต่ความเป็นจริงนี้ สุขสักแต่ว่าสุข ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ทุกข์นี้ก็ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ตัวคนที่รู้ทุกข์หรือสุขนี้ ก็ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ถ้าเราเห็นเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรจะเกาะ เกิดสุขขึ้นมา สุขก็เกาะเราไม่ได้ เกิดทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ก็เกาะเราไม่ได้ ทำไมไม่ได้ เพราะว่ามันไม่แน่ เป็นของปลอมทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอน ถ้าเราคิดเช่นนี้ จะภาวนาได้เร็ว จะยืน จะเดิน จะนั่น จะนอน จะไป จะมา ทุกอย่างจิตกำหนดอยู่เสมอ ให้รู้อารมณ์มันเข้ามา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส อะไรต่างๆ นี้ มันจะเกิดความชอบไม่ชอบขึ้นมาทันที มันจะเกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นมาทันที อันนี้เราเรียกว่าอ่านดูจิต มันจะเห็นจิต เพราะมันเกิดจากจิตดวงเดียวเท่านี้ มันจะให้สุขมันให้ทุกข์ ทุกอย่างเกิดจากจิต ถ้าเราตามดูจิตของเราอยู่เช่นนี้ มันจะเห็นกิเลส มันจะเห็นจิตของเราสม่ำเสมอเลยทีเดียว อันนี้และคือการภาวนา

    บางคนเมื่อมาภาวนา ตอนเย็นก็นั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็นึกว่า เขาได้ภาวนาแล้ว ยังไม่ใช่เท่านี้ ความจริงเป็นการภาวนา คือสติติดต่อกัน ให้เป็นวงกลม ตลอดเวลาให้มีสติสม่ำเสมอ ให้รู้ให้เห็น ให้เห็นอาการที่มันเกิดขึ้นมาในจิตของเราเห็นเกิดขึ้นมา อย่าไปยึดมั่น อย่าไปหมายมั่น ปล่อยมัน วางมันไว้เช่นนี้ ปฏิบัติเช่นนี้ เร็ว เร็วมาก มีแต่เห็นอารมณ์เท่านั้นแหละ อารมณ์ที่ชอบ อารมณ์ที่ไม่ชอบ ทุกวันนี้ เราทุกคนน่ะไม่รู้จักกิเลสตัณหา มีคนๆ เดียวนั่นแหละที่มันหลอกตัวอยู่วันยังค่ำ ดูซิ เราเกิดมามีอะไรไหม ก็คนๆ เดียวนั่นแหละ มันมาให้เราหัวเราะอยู่ที่นี่ ร้องไห้อยู่ที่นี่ โศกเศร้าอยู่ที่นี่ วุ่นวายอยู่นี่แหละ มันก็คือคนๆ เดียวกัน ถ้าเราไม่พิจารณา ไม่ตามดูแล้ว ยิ่งไม่รู้จักมัน มันก็เกิดทุกข์อยู่ตลอดเวลา ได้มาก็เคยเสียอยู่ เสียแล้วก็เคยได้มาอยู่ ก็พลอยสุขกับมัน ทุกข์กับมัน ยึดมั่นหมายมั่นกับมันตลอดเวลาอยู่เช่นนี้ เพราะไม่ดูมัน ไม่พิจารณา ของทั้งหลายนี้ไม่ได้อยู่ที่อื่น มันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราพิจารณาที่ตัวเราอยู่เช่นนี้ เราจะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าของเรา

    ต้นไม้ทุกต้นเปรียบเหมือนมนุษย์ ก้อนหินทุกก้อนเปรียบเหมือนมนุษย์ สัตว์ทุกสัตว์ในป่าในทุ่งก็ดี มันก็เหมือนกับเรา ไม่แปลกกับเรา มีสถาวะอันนี้อันเดียวกัน มีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น แล้วก็มีความแปรในท่ามกลาง แล้วก็มีความดับไปในที่สุด เหมือนกันทั้งนั้น ฉะนั้นเราไม่ควรยึดมั่น หรือถือมั่นอะไรทั้งหลาย แต่ว่าเราต้องใช้มันอยู่ เช่น กระติกน้ำใบนี้ เขาเรียกว่ากระติก เราก็เรียกว่ากระติกกับเขา เพราะว่าเราจะมีความเกี่ยวข้องกับกระติกน้ำอยู่ตลอดเวลา เขาเรียกกระติก ก็เรียกกับเขา เขาเรียกกระโถน ก็เรียกกับเขา เขาเรียกจาน ก็เรียกกับเขา เขาเรียกถ้วย ก็เรียกกับเขา แต่เราไม่ติดอยู่กับถ้วย ไม่ติดอยู่กับจาน ไม่ติดอยู่กับกระโถน ไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในนั้น นี้ เรียกว่าภาวนา รู้จักตัวเรา และก็รู้จักของของเรา รู้จักตัวเรา แล้วก็ไม่ทุกข์เพราะตัวเรา รู้จักของของเราแล้วก็ไม่ทุกข์กับของของเรา อันนี้เพราะเราทำกรรมฐาน ปัญญามันจะเกิดขึ้นอย่างนี้ มันจะเห็นไปตามสภาวะมันเองทุกๆ อย่าง อันนี้เป็น โลกุตตรปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา (ภาวนามยปัญญา) มันพ้นจากโลกียวิสัย เมื่อจิตสงบรวมกำลัง จิตตรงที่นั้น เกิดรู้ เกิดเป็นญาณขึ้นมา เป็นความรู้โลกุตตรอันนั้น

    ความรู้โลกุตตรอันนี้ พูดให้ก็ไม่รู้เรื่อง อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก คือพระพุทธเจ้าบอกให้ได้ แต่ว่าทำให้ไม่ได้ เรื่องการประพฤติปฏิบัติมันเป็นเช่นนั้น ฉะนั้น อดทนแล้วก็เพียร อดทนแล้วก็เพียร สอบอารมณ์เรื่อยๆ ไป ถึงคราวเราทำความเพียร เราก็ทำไป ทำสมาธิเราก็ทำไป ออกจากสมาธิก็พิจารณา เห็นมดก็พิจารณา เห็นสัตว์อะไรก็พิจารณา เห็นต้นไม้พิจารณาทุกอย่างเหมือนเรา ทุกอย่างน้อมเข้ามาหาตัวเรา เหมือนเราทั้งนั้น อย่างใบไม้มันจะหล่นลงไป ใบไม้มันจะขึ้นมาใหม่ ต้นไม้มันจะใหญ่ ต้นไม้มันจะเล็ก อะไรทั้งหลายเหล่านี้ มันล้วนแต่เกิดปัญญาทั้งนั้น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอะไรมันทั้งนั้น เมื่อจิตเรารู้จักการปล่อยวางเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความสงบ ความสงบไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ มันสงบ เรียกว่าได้ความพอดี เหมาะสม ด้วยความรู้สึกนึกคิดของเรานั้น เรียกว่าเป็นธรรม

    ผู้ที่ฝึกแล้วก็จะพอมองเห็น ผู้ที่ยังไม่เคยฝึกนี้ มันก็เป็นของที่ลำบากสักนิดหนึ่ง เราอย่าไปน้อยใจมัน อย่าไปตกใจมัน มันก็เหมือนนักเรียนนั่นแหละ เพิ่งเข้าโรงเรียนจะให้เขียนหนังสือได้ อ่านหนังสือได้ เขียนหนังสือให้มันสวยงาม มันก็ไม่ได้ อาศัยการกระทำ อาศัยการประพฤติ อาศัยการปฏิบัติ แล้วมันก็เป็นไป การตั้งไว้ในใจของผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ ให้เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องพยายามสอนคนอื่นให้มากที่สุด เดินไปก็ ให้สอนตัวเองทั้งนั้น นั่งก็ให้สอนตัวเองได้ ทุกอย่างให้มีในตัวของเราอยู่เสมอ เรียกว่า สติ สตินั้นแหละเป็นแม่บทของผู้เจริญกรรมฐาน สติอันนั้น เมื่อมันมีความรู้สึกขึ้น ปัญญาก็จะวิ่งมา ถ้าสติไม่มี ปัญญาก็เลิก ไม่มี ฉะนั้นจงพากันตั้งใจ ถึงแม้ว่าเรามีเวลาน้อยก็ช่างมัน เวลาน้อยก็ยังเป็นอุปนิสัย ยังเป็นปัจจัย อย่างอื่นจะหาเป็นที่พึ่งอย่างพุทธศาสนานี่ไม่มี มันจบอยู่ตรงนี้ ไปไหนก็ไม่จบ แต่พุทธศาสนาทำให้มันจบอยู่ตรงนี้

    ถ้าเราไม่เห็นเดี๋ยวนี้ ต่อไปก็ต้องเห็น ถ้าเราพิจารณาเช่นนี้ต่อๆ ไป ยังเป็นคนใหม่ ประพฤติใหม่ ปฏิบัติใหม่ ก็ยังไม่เห็น ก็เหมือนกับเราเป็นเด็ก เรายังไม่เห็นสภาพของคนแก่ ทำไมไม่เห็นล่ะ ฟันเราก็ยังดีอยู่ ตาเราก็ยังดีอยู่ หูเราก็ยังดีอยู่ ร่างกายเราก็ยังดีอยู่ ไม่รู้จักคนแก่ แต่ต่อไป เมื่อเราเป็นคนแก่ เราจะรู้จัก ใครจะบอก สังขารมันจะบอก ฟันมันจะโยก นี่แก่แล้ว ตามันจะไม่สว่าง หูมันจะตึง สภาวะร่างกายมันจะเจ็บปวดไปหมด นี่ คนแกมันเป็นอย่างนี้ ใครมาบอก สังขารนี้บอกเอง

    ถ้าเราพิจารณาอยู่ คือสัญชาตญาณมันมีอยู่ เช่นพวกปลวก หรือแม้ผึ้ง ผึ้งใครไปสอนมัน เมื่อมันทำรัง มันมีลูก มันทำรังกันสวยๆ ถ้ามันแก่ มันก็ออกไปเป็นรังใหม่ ลูกๆ ผึ้งมันก็ไปทำรังกันใหม่ ใครไปสอนมัน มันทำรังกันสวยๆ นกก็เหมือนกัน ตามป่านะ โดยเฉพาะนกกระจาบ นกกระจอก มันทำรังกันสวยๆ ใครไปบอกมัน เมื่อมันโต ก็บินจากพ่อแม่มันไป มันก็ไปทำรังเหมือนพ่อแม่มัน ใครจะไปบอกมัน ปลวกก็เหมือนกัน ใครจะไปบอกมัน สัญชาตญาณมันมี มันทำเองของมัน สัญชาตญาณอันนี้ที่มีอยู่ในใจของเรานี้ เราก็ไม่รู้ตัวเรา ถ้าเราไม่มาเรียนรู้ธรรม ก็ไม้รู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ความเป็นจริงคนทุกๆ คนมันอยากจะมีความสุข และมันอยากจะดีทุกๆ คนนั่นแหละ แต่มันทำดีไม่เหมือนกัน มันตามหาความสุขไม่เหมือนกัน มันต่างกันเพราะปัญญา

    สัญชาตญาณที่มันมีอยู่ในใจเรานั้น เราไม่รู้จักมัน มันปกปิดอย่างสนิท อย่างชนิดไม่รู้ไม่เห็น เมื่อธรรมชี้ไป มันจึงจะเห็น เช่นว่า เรานั่งอยู่นี่ ร่างกายของเราทุกส่วนนี่โดยสภาพแล้ว พระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่มีชิ้น ไม่มีอะไรมันจะสวย มันจะสะอาดเลย ท่านตรัสอย่างนี้ ไม่สวย ไม่สะอาด และไม่เป็นแก่นเป็นสารด้วย เราก็ยังไม่เห็น เรานึกว่าอันนี้มันสวยอยู่ อันนี้มันสะอาดอยู่ อันนี้มันดีอยู่ ทำไมมันเป็นอย่างนั้นเล่า ของไม่สวยแต่มันเห็นว่าสวย ของไม่สะอาดทำไมมันเห็นว่าสะอาด ของไม่เป็นแก่นสาร ทำไมเห็นว่าเป็นแก่นเป็นสาร ของนี้ไม่ใช่ตัวของเรา ทำไมมันจึงเข้าใจว่าเป็นตัวของเรา อันนี้มันก็มืดพออยู่แล้ว มันน่าจะเห็นนี่ ธรรมชาติอันนี้มันก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนเราจริงๆ มันจะเจ็บจะไข้เมื่อไร ก็เจ็บก็ไข้ มันจะตายเมื่อไร มันก็ตาย มันไม่ห่วงเราทั้งนั้นแหละ อันนี้เราก็ยังไม่เห็นมัน มันน่าจะเห็น ทำไมไม่เห็นล่ะ อันนี้มันก็มืดพออยู่แล้ว ที่มันไม่เห็นนี่น่ะ

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แยกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออกมา จนจิตของท่านเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจริงๆ ชัดๆ ไม่ใช่สัญญา (ความจำ) สังขารร่างกายมันจะเป็นไปอย่างไร ก็ให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน ท่านเห็นเช่นนั้น การกำหนดพิจารณาเรียก ภาวนากรรมฐาน เพื่อให้มันเห็น ขนาดนั้นมันยังไม่ค่อยจะเห็น อันใดไม่สวยก็เห็นว่ามันสวย อันใดมันไม่เป็นแก่นเป็นสาร มันก็เห็นว่าเป็นแก่นเป็นสาร นี่จิตมันไม่ยอม มันจึงไม่เห็น ท่านก็ว่าเยาว์ คือจิตมันยังเด็กอยู่ จิตมันยังเยาว์อยู่ จิตมันยังไม่เติบ จิตมันยังไม่โตเช่นนั้น

    พระพุทธศาสนานี้ท่านสอนส่วนจิต ให้จิตเป็นคนเห็น ถ้าจิตมันเห็นแล้ว จิตมันรู้ของมันแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง เรียกว่าการภาวนาเป็น ฉะนั้นจึงค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะเอาวันสองวันสามวันให้ได้ ให้เห็น เมื่อวานซืนนี่ มีนักศึกษาได้มาปรึกษา จะไปนั่งภาวนากรรมฐาน นั่งสมาธิ มันไม่สบาย มันไม่สงบ มาหาหลวงพ่อ ชาร์จแบตเตอรี่ให้ไม่ได้หรือ นี่อันนี้มันต้องพากันพยายาม พยายามทำไปเรื่อยๆ คนอื่นบอก มันไม่รู้จัก มันจะต้องไปพบด้วยตนเอง ไม่ต้องเอาทีละมากหรอก เอาน้อยๆ แต่เอาทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน แล้วก็เดินจงกรมทุกวัน มันจะมากหรือน้อย เราก็ทำทุกๆ วัน แล้วก็เป็นคนที่พูดน้อย แล้วก็ดูจิตของตัวเองตลอดเวลา เมื่อดูจิตของตัวเอง อะไรมันจะเกิดขึ้นมา แล้วมันจะสุขหรือมันจะทุกข์อะไรเหล่านี้ ก็บอกปัดปฏิเสธมันเสีย ว่าเป็นของไม่แน่นอน เป็นของหลอกลวงทั้งนั้น

    ผู้ที่เรียนศึกษามากๆ นั้นนะ มันเป็นด้วยสัญญา ไม่ใช่ปัญญา สัญญาเป็นความจำ ปัญญาเป็นความรู้เท่าทัน มันไม่เหมือนกัน มันต่างกัน บางคนจำสัญญาเป็นปัญญา ถ้าปัญญาแล้วไม่สุขกับใคร ไม่ทุกข์กับใคร ไม่เดือดร้อนกับใคร ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับจิตที่มันสงบหรือไม่สงบ ถ้าสัญญาไม่ใช่อย่างนั้นนะ มันเกิดความยึดมั่นถือมั่น เป็นทุกข์เป็นร้อน ไปตามอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น


    ที่มา
    ::
     

แชร์หน้านี้

Loading...