การท่องเที่ยวชมศิลปะ...กับ..."น. ณ ปากน้ำ"

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย ง้วนดิน, 13 เมษายน 2007.

  1. ง้วนดิน

    ง้วนดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    2,362
    ค่าพลัง:
    +11,047
    การท่องเที่ยวชมศิลปะ



    "น. ณ ปากน้ำ"...เรื่อง



    การท่องเที่ยวนั้นย่อมเกี่ยวกับกาลเวลา หากว่าเวลามีน้อยเนื่องจากได้หยุดพักในวาระนักขัตฤกษ์จำกัดเพียงแค่ ๒-๓ วัน ก็อาจจะวางโปรแกรมไปท่องเที่ยวในสถานที่อันมีโบราณวัตถุสำคัญเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะไม่ทั่วถึง จำเป็นจะต้องเอาไว้เที่ยวต่อในวันหลัง ส่วนการท่องเที่ยวเพื่อชมภูมิประเทศอันสวยงามก็ดี หรือท่องเที่ยวไปถึงเมืองโบราณ เช่น อยุธยา ลพบุรี สุโขทัย นครสวรรค์ กำแพงเพชร และเชียงใหม่ จำต้องอาศัยวันหยุดงานหลายวัน อาจจะเป็น ๔-๕ วัน ทั้งนี้เราจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อม โดยแสวงหาข้อมูลไว้ล่วงหน้า เช่น อ่านข้อเขียนของผู้อื่นบ้าง หรือค้นคว้าประวัติและเอกสารจากห้องสมุด รวมทั้งข้อคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ เพื่อว่าเราจะได้เดินทางไปเห็นได้ด้วยตัวเอง จะได้บันทึกข้อคิดเห็นตามที่อายตนะของเราสัมผัสได้ ที่ว่าถึงการไปเที่ยวดูและศึกษาทางโบราณวัตถุสถาน ซึ่งบางแห่งอาจต้องใช้เวลามาก ต้องไปดูซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างน้อยก็ต้อง ๓-๔ ครั้ง

    หากว่าท่านอยู่ในเมืองหลวง กรุงเทพฯ และธนบุรี การที่จะริเริ่มเที่ยวเพื่อศึกษาโบราณวัตถุสถานก็ควรเที่ยวเอาตามจังหวัด หรือเมืองใกล้ ๆ ที่สะดวกในการเช่าโรงแรมที่พัก โดยการจองไว้ล่วงหน้าแม้ไม่ตรงกับวันนักขัตฤกษ์ จะใช้เวลาเพียงแค่วันเสาร์กับอาทิตย์เท่านั้นก็พอ แล้วไปต่อเอาในสัปดาห์ถัดไป เช่น ไปเที่ยวราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี สถานที่ในจังหวัดเหล่านั้น น่าเที่ยวด้วยมีเป้าหมายต่าง ๆ ครบครันในการแสวงหาให้ค้นคว้าเพื่อเกิดความเพลิดเพลินเจริญใจต่าง ๆ เช่น ทะเล ภูเขา เถื่อนถ้ำ หมู่บ้าน วัฒนธรรมแปลก ๆ เจดียสถาน บ้านเมือง บางแห่งก็เกลื่อนกลาดไปด้วยลวดลายศิลปะวัตถุอันชวนพิศวง เช่น ลายปูนปั้น พระพุทธรูปที่สำคัญของบ้านเมือง หรือมีพิพิธภัณฑ์ที่ล้ำค่า หาดูที่ใด ๆ ไม่ได้

    อย่างเช่นจังหวัดราชบุรี มีโบราณสถานสมัยทวารวดี เช่น วัดมหาธาตุ วัดอรัญญิก ถ้ำเขางู ถ้ำฝาโถ ถ้ำพระนอน ด้วยจำหลักลงไปบนผนังศิลาทั้งสิ้น ล้วนเป็นโบราณวัตถุสถานเก่าแก่นับพัน ๆ ปีขึ้นไป เป็นศิลปะแบบทวารวดี ศิลปะทวารวดีนี้ได้พบที่เขางูและเมืองโบราณที่คูบัว เป็นต้น

    ที่เพชรบุรีก็มีเมืองโบราณ เต็มไปด้วยศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ เช่น สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยาตอนต้นและตอนปลาย มีพระนอนก่ออิฐใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่วัดพระนอน มีวัดสมัยอยุธยาให้ได้ศึกษาอีกอย่างน้อยก็ ๔-๕ วัด รวมทั้งเถื่อนถ้ำอันงดงามอีกหลายแห่ง

    จังหวัดใหญ่อย่างเพชรบุรีนี้ แม้จะมาเที่ยวสัก ๓-๔ วันคงจะไม่พอ บางทีท่านอาจจะต้องใช้เวลาถึง ๔-๕ ครั้งขึ้นไป ปีนเขาไปชมพระพุทธรูปโบราณภายในถ้ำที่เพชรบุรี ได้ชมถ้ำเขาหลวง สถานที่สุนทรภู่กวีเอกเคยพาสาวงามมาพักอยู่เงียบ ๆ ได้ชมปากถ้ำของเมืองลับแลที่กล่าวขานมาแต่สมัยโบราณซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ชมถ้ำเขาบันไดอิฐ มีทั้งบุษบกสมัยอยุธยาอยู่ภายในถ้ำ มีความงามแปลก ๆ ภายในถ้ำ ที่บนเนินเขามีบรรจุพระพุทธรูปกับเจดีย์สมัยอยุธยาตอนปลายระยะต้นตั้งอยู่

    นักเลงทางศิลปะควรไปชมหน้าบันอุโบสถทั้งหน้าและหลัง ทำด้วยปูนปั้นอันงามวิจิตรไม่มีแห่งใดเทียม ปูนปั้นเพชรบุรีอันมีชื่อเสียงยังมีที่ประดับพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ที่จริงฝีมือปูนปั้นประดับศาสนสถานที่เพชรบุรีล้วนแต่งามจับใจแทบทั้งสิ้น ซึ่งมีชื่อเสียงพอ ๆ กับงานจำหลักไม้ งานจำหลักไม้ที่ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม เช่น ลายตรงประตูทางเข้าศาลาใหญ่และลายปูนปั้นหน้าบันศาลาใหญ่ก็งามวิเศษทั้งสิ้น ฝีมือช่างเพชรบุรีสมัยอยุธยา รวมทั้งภาพเขียนสมัยอยุธยาตอนปลายที่วัดใหญ่ฯ และวัดเกาะก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชากัน


    เพชรบุรีเป็นหัวเมืองปากทางสู่ภาคใต้ของดินแดนสยามประเทศ ใครที่เป็นนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบในการศึกษาแหล่งโบราณวัตถุย่อมไม่ควรพลาด

    วัดไลย์ ศิลปะอโยธยาหรือก่อนกรุงศรีอยุธยา อยู่ที่อำเภอท่าวุ้ง ลพบุรี ภาพปูนปั้นบนผนังด้านนอกทิศตะวันออกแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมประจุตัวภาพจากทศชาติชาดก ตรงกลางรูปปั้นนูนเป็นเรื่องเสด็จลงจากดาวดึงส์ จัดเป็นภาพปูนปั้นนูนสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาที่น่ายกย่องชมเชยมาก ภาพตรงกลางรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนบนดอกบัว ส่วนรูปในช่องเล็ก ๆ อันล้อมรอบช่องกลางคือภาพทศชาติชาดก

    ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น กลาง และปลาย นิยมเขียนภาพบนผนังพระอุโบสถ หรือพระวิหาร เขียนภาพจิตรกรรมในฝาผนังเป็นรูปพุทธประวัติบ้าง เป็นรูปทศชาติชาดกบ้าง ไม่ผันแปรเป็นอื่น ซึ่งดังได้กล่าวแล้วว่า คติการทำงานจิตรกรรมรูปพระพุทธประวัติหรือรูปทศชาตินิยมกันมาตั้งแต่สมัยอโยธยาแล้ว

    ในสมัยของทวารวดีกับสมัยลวปุระอันอยู่ร่วมสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ จะมีความแตกต่างกันบ้างตรงภาพพุทธประวัติที่ฐานเจดีย์จุลประโทน นครปฐม ภาพปูนปั้นนูนที่ฐานเจดีย์สมัยทวารวดีแบ่งฐานเป็นช่อง ๆ ตามยาว แล้วปั้นปูนเป็นรูปพุทธประวัติ หรือชาดกต่าง ๆ โดยเดินเรื่องจากคัมภีร์สันสกฤตที่นิยมกันในสมัยนั้น

    ภาพปูนปั้นที่ผนังพระเมรุทิศ เมรุราย วัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา ล้อมรอบพระปรางค์มหาธาตุกับพระระเบียงโดยปั้นปูนผนังด้านนอกเป็นรูปพุทธประวัติทั้งสิ้น ยังมีลายปูนปั้นนูนจากเรื่องปฐมสมโพธิกถาประดับไว้บนหน้าบันพระอุโบสถ พระวิหาร เรื่องพุทธประวัติจากพระอุโบสถสมัยอยุธยาตอนกลางที่วัดธรรมาราม สมัยอยุธยาตอนปลายก็พอมีอยู่บ้างประปราย คตินี้สมัยก่อนก็มีเพียงเท่าที่จาระไนมา แต่มาเห็นสมัยหลังคือรุ่นปี ๒๕๐๐ ได้มีพระอุโบสถสร้างใหม่ที่จังหวัดอ่างทอง ได้มีการปั้นแบบบนหน้าอุโบสถ แล้วพอกรักติดด้วยกระจกสีเป็นรูปพุทธประวัติ หรือมหาภิเนษกรมณ์ ซึ่งก็ดูงดงามและแปลกตาขึ้น

    อย่างเช่นลายปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนปลาย อุโบสถวัดเขาบันไดอิฐปั้นเป็นรูปลวดลายธรรมชาติและรูปนารายณ์ทรงครุฑกลางตัว ลายเต็มสามเหลี่ยมของหน้าบัน ซึ่งงามเป็นหนึ่งไม่มีแห่งใดมาเทียบเคียงได้ นี่ก็แสดงว่าแม้ทุกสมัยจะมีแบบแผนของตนเองก็ยังมีงานศิลปะที่แผลงออกมา นับว่าเป็นของธรรมดา มิได้น้อมนำให้ศิลปะร่วมสมัยของตนเอาอย่างจนทั่วได้

    จังหวัดที่มีโบราณสถานและศิลปวัตถุโบราณที่ผู้สนใจทางศิลปะโบราณควรต้องไปมีดังนี้ อุบลราชธานี มีภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ริมแม่น้ำโขง จิตรกรโบราณจะเขียนลงบนหน้าผาอันยาวเหยียดริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้น มีภาพปลาบึก ภาพสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งภาพผู้คนแบบศิลปกรรมก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผาหินที่ใหญ่และยาวที่สุดในโลก อุบลฯ มีแม่น้ำมูลอันเป็นเสน่ห์สวยงาม นักนิยมธรรมชาติจึงไม่ควรพลาดในชีวิตนี้ โบราณวัตถุก็มีเก่าแก่ถึงสมัยทวารวดี เช่น ใบเสมาสมัยทวารวดีในพิพิธภัณฑ์เมืองอุบลฯ มีสินค้าพื้นเมืองที่แปลก ๆ ถูกใจนักช็อปปิ้ง มีเมืองโบราณแถบแก่งสะพือ

    นอกจากนี้จังหวัดที่มีโบราณสถานน่าสนใจ คือ วัดกำแพงแลง เพชรบุรี พระปรางค์องค์ประธานของวัดมหาธาตุ ราชบุรี ภายในผนังของปรางค์เขียนรูปอดีตพุทธเรียงรายเป็นชั้น ๆ บ่งว่าเป็นศิลปะศาสนาพุทธมหายาน

    ที่จังหวัดลพบุรี ณ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์มีโบราณสถานสมัยพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๒๐๐) สถาปัตยกรรมแบบมีการเจาะหน้าต่างโค้งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ยอดแหลมตามพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท เป็นศิลปะของไทยร่วมสมัยกับสมัยศิลปะโรโคโค (Rococo) เป็นศิลปะสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔-๑๕ ของฝรั่งเศส ในรัชสมัยนี้ พระนารายณ์มหาราชผู้ทรงคบค้ากับฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด วิศวกรของฝรั่งได้นำเอาน้ำมาจากทะเลชุบศรต่อท่อจากภูเขามาสู่ตัวเมืองลพบุรี นครหลวงแห่งที่ ๒ ของกรุงศรีอยุธยา มีการสร้างน้ำพุเอามาไว้ในกลางเมืองและกลางพระราชวัง ลพบุรีมีศิลปะเก่าแก่เกือบทุกยุคทุกสมัย เช่น ศิลปะสมัยทวารวดีที่สถูปเก่าวัดนครโกษา ศิลปะสมัยลวปุระอันเป็นสมัยเดียวกับทวารวดีเมื่อคราวสร้างเมืองใหม่ลพบุรี

    สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการขุดดินทำถนนจากสระแก้วมาถึงศาลพระกาฬ ได้พบศิลปะลวปุระรุ่นเดียวกับทวารวดีอยู่ภายใต้ดิน พบศิลปวัตถุลวปุระจำนวนมาก ของบางอย่างเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลพบุรี ถ้าจะเที่ยวลพบุรีให้ทั่วควรเช่าโรงแรมค้างคืนสัก ๓ คืน ก็จะได้ชมสิ่งต่าง ๆ อันน่าสนใจจนทั่ว

    ในการศึกษาศิลปะสมัยต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในบางกอก เราย่อมจะพบศิลปะหลายสมัยด้วยกัน เช่น ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีพระพุทธรูปสมัยทวารวดีตั้งแต่ปีพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ จวบจนสมัยอู่ทองก็มีตามวัดต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่น วัดพระเชตุพนฯ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำพระพุทธรูปโบราณแต่หัวเมืองแถบเหนือขึ้นไป ตามวัดที่รกร้างต่าง ๆ ให้ชะลอลงมาเก็บรักษาไว้ในกรุงเทพฯ ด้วยเป็นของดีงามของบ้านเมือง ปล่อยทิ้งไว้ในป่าก็จะถูกเหล่ามิจฉาชีพทุบทำลายเอาโลหะไปขาย เสียดายของอันมีค่าของบ้านเมืองยิ่งนัก ดังเช่น พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอลงแพมาจากสุโขทัยเมืองเก่า เอามาบูรณปฏิสังขรณ์ให้เหมือนเก่า เก็บไว้ให้เป็นศักดิ์ศรีของประเทศไทยต่อไป โกลนพระสัมฤทธิ์ใหญ่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ที่ถูกพม่าเผาทำลาย โปรดฯ ให้นำมาเก็บรักษาไว้ในองค์เจดีย์ใหญ่หลังพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ เป็นศิลปะสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ยังมีระพุทธรูปโลหะสัมฤทธิ์จำนวนมากที่พระระเบียงวัดพระเชตุพนฯ มีขนาดใหญ่ ล้วนเป็นพระประธานในวัดเก่าแก่ทางแถบเหนือกรุงศรีอยุธยาขึ้นไป ก็โปรดฯ ให้นำมารักษาไว้ มีหลักฐานที่ปรากฏว่าพระเก่าได้ถูกชะลอนำมาจากแถบเหนือ นำมาไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ วัดมหาธาตุฯ วัดเบญจมบพิตร และวัดเก่าในแถบฝั่งธนบุรี

    พระพุทธรูปอันงามสมัยสุโขทัยได้นำลงมาประดิษฐานไว้ยังวัดที่บูรณปฏิสังขรณ์สร้างขึ้นใหม่ในกรุงเทพฯ และธนบุรี เช่นในพระวิหารที่วัดพิชัยญาติ พระประธานในอุโบสถวัดเศวตฉัตร เป็นพระสมัยสุโขทัยนาคปรก พระประธานสมัยสุโขทัยนำมาเป็นประธานในวิหารใหญ่ทางทิศใต้ของวัดพระเชตุพนฯ พระขนาดใหญ่สมัยสุโขทัยนำมาเป็นพระประธานในอุโบสถและในวิหารวัดอนงคาราม

    พระประธานขนาดใหญ่จากวัดทองนพคุณ นำมาจากสุโขทัยมาเป็นพระประธานที่วัดนี้ พระประธานในพระวิหารพระพุทธนาคน้อยวัดประยุรวงศาวาสเชิงสะพานพุทธขนาดใหญ่ ก็นำมาจากสุโขทัยเอามาเก็บรักษาไว้ที่นี่

    พระสมัยสุโขทัยขนาดใหญ่งดงามมาก นำมาจากสุโขทัย เอามาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดปรินายกริมคลองบางลำพูใกล้สะพานผ่านพิภพลีลา เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่งดงามมาก

    พระพุทธรูปเก่าสมัยสุโขทัยและก่อนกรุงศรีอยุธยาถูกนำมาเก็บรักษาไว้ตามพระระเบียงวัดพระเชตุพนฯ วัดมหาธาตุ และวัดเบญจมบพิตร บางแห่งเป็นพระทองคำขนาดใหญ่ทั้งองค์ถูกนำเอาไปพอกปูนขาวเก็บซ่อนรักษาไว้ที่วัดแถบท่าเรือถนนตก คือพระทองคำวัดไตรมิตร พระอีกองค์ถูกนำไปรักษาโดยพอกปูนขาวรักษาไว้เช่นกัน ยังปรากฏอยู่ที่วัดหงส์รัตนารามจนบัดนี้ จัดเป็นพระเนื้อทองคำที่มีพระพุทธลักษณะสวยงามมากของสมัยสุโขทัย

    พระพุทธรูปสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาอีก ๔-๕ องค์ ถูกนำไปประดิษฐานไว้ที่พระวิหารทิศที่วัดพระเชตุพนฯ มีขนาดใหญ่ พุทธลักษณะสวยงามมาก เป็นพระอู่ทองรุ่นหลังกับพระเมืองสรรค์ซึ่งหายากมาก ศิลปะเหล่านี้ยังคงหาดูได้ตามแหล่งที่ได้แจ้งไว้ให้ทราบแล้ว

    ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ที่คนโบราณท่านได้ปฏิสังขรณ์ทำการรักษาไว้ เช่น หุ้มปูนขาวทับไว้ หรือบรรจุไว้ในพระเจดีย์ใหญ่ยังมีอีกมาก เนื่องจากเรายังไม่มีงบประมาณที่จะทำการบำรุงรักษาได้จนอยู่ได้สภาพเดิม จึงได้นำเอาของที่สร้างไว้ในสมัยรัตนโกสินทร์ นำมาอวดไว้ให้เชยชมกันดังนี้


    [​IMG] [​IMG]

    [​IMG] [​IMG]

    [​IMG]


    ภาพที่ ๑ ศาลาท่าน้ำที่เก็บรักษาไว้ยังพระประแดง ศิลปะการทำลายฉลุแบบขนมปังขิงสมัยรัชกาลที่ ๕ อันงดงามมาก

    ภาพที่ ๒ เป็นภาพศาลาท่าน้ำริมคลองตลาดพลู อยู่ที่วัดจันทราราม ธนบุรี ที่หน้าบันและป้านลมแกะสลักเป็นลายแบบขนมปังขิง ซึ่งนิยมก่อสร้างกันในสมัยรัชกาลที่ ๕

    ภาพที่ ๓ เป็นหอระฆัง ๘ เหลี่ยม อยู่ภายในเขตวัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ หลังคา ๘ เหลี่ยม มีหน้าต่างแบบซุ้มยุโรป ทรวดทรงสวยงามมาก หอระฆังแบบนี้ยังปรากฏอยู่ในวัดของกรุงเทพฯ อีกหลายแห่งด้วยกัน

    ภาพที่ ๔ กลุ่มเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่วัดพระเชตุพนฯ สมัยรัตนโกสินทร์ เอาแบบมาจากสมัยอยุยาตอนปลาย

    ภาพที่ ๕ ศิลปะกลึงไม้เป็นเชิงเทียนหมู่สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่วัดเสนาสนาราม อยุธยา ศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๕


    .......................................................................


    ประวัตินักเขียน
    "น. ณ ปากน้ำ"

    [​IMG]


    ชื่อจริง ประยูร อุลุชาฏะ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ ที่จังหวัดสมุทรปราการ สำเร็จการศึกษาทางด้านศิลปะจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ ๔ ภายใต้การสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รุ่นเดียวกันกับไพบูลย์ สุวรรณกูฏ และอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นจิตรกรแนวอิมเพรชชั่นนิสม์ ฝีมือเยี่ยม ได้รับรางวัลเหรียญทองสาขาจิตรกรรม จากภาพเขียนทิวทัศน์สีน้ำ ชื่อภาพ “จันทบุรี” ในงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๖

    ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนศิลปศึกษา (เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร) ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๙

    ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้รับทุนมูลนิธิเอเชียออกสำรวจศิลปกรรมในพระนครศรีอยุธยาเป็นเวลา ๕ เดือน ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ได้ให้ข้อมูลสำคัญอันเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อวงวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์สืบมาจนถึงปัจจุบัน

    มีผลงานการเขียนทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ตลอดจนโหราศาสตร์ ตีพิมพ์แล้วนับร้อยเล่ม โดยใช้นามปากกา “น. ณ ปากน้ำ” สำหรับเรื่องราวทางศิลปะ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลป์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการ และใช้นามปากกา “พลูหลวง” ในการเขียนตำราความรู้ทางโหราศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีนามปากกาอื่น ๆ อีก เช่น ลุ่ม เจริญศรัทธา พี.เอ. ฟิเชอร์ กเวล ชไนบูล โอสธี และนายซีเนียร์
    ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕



    ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๐ ฉบับที่ ๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๒
    http://www.osotho.com/th/content/indexdetail.php?ContentID=29&myGroupID=11
     

แชร์หน้านี้

Loading...