กรรมนิมิต คตินิมิต..โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี..

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย J.Sayamol, 14 มกราคม 2009.

  1. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    กรรมนิมิต คตินิมิต

    แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


    วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๖

    <O:p</O:p

    กรรมในทางพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ตามตำราหลายอย่าง ผู้สนใจศึกษาตามตำรับตำราพอเข้าใจและได้ความรู้กว้างขวางเพราะท่านแสดงไว้ได้ดีหมดทุกอย่าง วันนี้จะแสดงเฉพาะเรื่อง กรรมที่ติดตามคน หรือ กรรมที่จะนำคนให้ไปเกิดในคติต่างๆ นั่นคือกรรม นิมิต กับ คตินิมิต

    กรรม หมายความถึง การกระทำ คนเรานั้น กายกับใจเป็นเกลอกัน อยู่ร่วมกัน สนิทสนมกลมเกลียวกันดีที่สุด จะทำอันใดพร้อมเพรียงกันทุกสิ่ง ไม่ว่าจะทำชั่วหรือทำดี ทำบาปหรือบุญ พร้อมเพรียงกันทุกประการ แต่เวลากายแตกดับ กายไม่ได้รับผิดชอบที่เกิดจากการกระทำร่วมกันนั้น ใจเป็นผู้รับผิดชอบคนเดียว ที่ว่าไม่ได้รับผิดชอบในที่นี้หมายความถึงว่า กายไม่ได้รับกรรมเพราะเมื่อแตกดับหรือตายแล้วทอดทิ้งไว้ในดิน กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ไปตามเดิม เรียกว่ารูปสลายไปตามสภาพของมันไม่ได้รับรู้ด้วย ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่กายกับใจร่วมกันทำงานก็จริง เช่นไปฉ้อโกง ลักขโมยของเขา ไป ตีศีรษะเขา ทำทุจริตประพฤติผิดต่างๆ นานา แต่กายเป็นผู้ได้รับโทษให้ปรากฏ เมื่อถูกจับกุมมันก็ต้องจับที่กาย เอาไปติดคุกติดตารางกายเป็นผู้ที่ติดคุก หรือเขาจะเอาไปฆ่าไปประหาร เขาก็ประหารที่กาย ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ดูเหมือนว่ากายรับภาระหนักว่าใจ แต่ความเป็นจริงแล้วใจก็รับภาระหนักเหมือนกันหากไม่มีใครเห็น ความทุกข์กลุ้มอกกลุ้มใจนั้นจะหนักยิ่งกว่ากายด้วยซ้ำ เพราะเมื่อเขานำกายไปประหารไปฆ่า ถ้าหากไม่มีใจมันก็ไม่รู้สึกอะไร ก็เหมือนกับการตัดท่อนกล้วยหรือท่อนไม้เท่านั้นเอง กายไม่มีความอาลัยอาวรณ์กับความเป็นอยู่ของมันเลย ฆ่าก็ฆ่าไป สับก็สับไป ตีก็ตีไป ผู้อาลัยอาวรณ์ ผู้เป็นทุกข์เดือดร้อนคือ ตัวใจ ดังนั้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จึงทำกรรมร่วมกัน และเวลารับผลกรรมก็รับร่วมกัน แต่เวลาแตกเวลาดับ คือ ใจหนีออกจากร่างแล้ว กายไม่ได้รับรู้อะไรอีก กรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบาปหรือบุญ เป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ใจเป็นผู้รับมอบไปคนเดียวหมดในขณะที่หนีจากกันต่างคนต่างไม่อาวรณ์กัน เวลาที่กายมันจะแตกดับ ใจก็หนีไปคนเดียว ไม่ได้ร่ำได้ลากันเลย หรือบางครั้งบางคราวกายจะหนีจากใจ เช่น รถชนตาย หรือฟ้าผ่า หรือ เกิดอุปัทวเหตุด้วยประการต่างๆก็ดี เวลาดับเวลาตายก็วูบวาบไปประเดี๋ยวนั้น ไม่ได้ร่ำได้ลากันเลย ทั้งๆที่อยู่มาด้วยกันตั้งแต่แรก สนิทสนมกลมกลืนกันตลอดมา เวลาจะจากกันจริงๆ จังๆ ต่างคนต่างไปไม่อาลัยอาวรณ์กันและกัน ธรรมชาติของคนเรามันเป็นอยู่อย่างนี้ คนที่ไปยึดไปถือนั้น ไปยึดไปถือลมๆ แล้ง ๆ หรอก ยึดถือว่าเป็นของๆกู ความยึดถือนั้นแหละที่ท่านเรียกว่า กิเลส กิเลสอันนี้แหละนำให้เกิดการกระทำคือ กรรม กิเลสอันนี้แหละเป็นของมีผล มีกำลังมาก ไม่มีใครสามารถที่จะกีดกัน หรือต้านทานหรือแก้ไขด้วยประการต่างๆ ได้ กรรมอันนี้ไม่มีหนทางแก้ไขเลย

    ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คนที่ทำกรรมชั่วประการต่าง ๆ ด้วย อำนาจของกิเลส แล้วคิดว่าจะแก้ไขทีหลัง หรือบางคนยังพูดดันทุรังไปอีกว่า ไปสู้กันที่นรกหรือแก้ไขกันกับนายยมบาลเป็นต้น ความจริงมันไม่มีหนทางแก้ไขเลย คนเราเวลามันจะตายมันต้องมีเครื่องดึงดูดชักจูงคือกรรมที่เรียกว่า กรรมนิมิต คตินิมิต คนจะตายมันต้องหมดความรู้สึกคือไม่รู้จักเจ็บปวด ใจทอดธุระกายแล้วจึงค่อยตาย ในขณะที่ใจทอดธุระกายไม่ยึดกาย ปล่อยวางกายยังเหลือแต่ใจ ตอนนั้นนิมิตจะเกิดขึ้นเป็นภาพของกรรม คือการกระทำต่างๆ จะมาปรากฏขึ้นในขณะนั้น ผู้ที่เคยทำดีทำบุญสุนทาน สร้างกุศลมากมาย จิตใจอิ่มเอิบเบิกบานก็จะปรากฏภาพที่เราทำดีนั้นแหละ เช่นเราเคยสร้างกุฏิ เวลาเราสร้างก็ไม่ได้สร้างใหญ่โต ไม่สวยสดงดงามอะไรมาก แต่ว่าภาพที่มาปรากฏในขณะนั้นมันจะสวยงามวิจิตร เป็นของน่าเพลิดเพลินเจริญใจอย่างยิ่ง และในขณะนั้นจิตจะต้องยึดเอาเป็นอารมณ์คือ เป็นอารมณ์แน่วแน่ในเรื่องนั้น นี่เรียกว่า กรรมนิมิต คือนิมิตจากการกระทำ

    ส่วน คตินิมิต นั้นอาจจะปรากฏเห็นพวกเทวดา หรือมนุษย์ก็ตามที่เป็นผู้มีความสุขสบาย แต่งกายงดงาม น่าเพลิดเพลินเจริญใจมาเรียงรอบเรียกร้องอ้อนวอนขอให้ไปอยู่ด้วยในสถานที่โอ่โถงสวยงาม น่าอยู่น่าชม ซึ่งเราจะมองเห็นสถานที่เช่นนั้นด้วยตนเอง และเขามาแห่แหนกันอย่างสมเกียรติสมยศ ที่เขาเรียกกันว่าเทวดามารับเอาคนมีบุญ เขาจะพูดว่าเทวดาอะไรก็ช่างเถิด แต่ว่านิมิตมันเป็นอย่างนั้นและเราเห็นชัดด้วยตนเอง คราวนี้ก็เลยไปตามเขา เพราะความชอบใจมีมากก็ไปตามความชอบใจ อันนี้เรียกว่า คตินิมิต คติที่จะไป มองเห็นที่จะไป เป็นทางกรรมดี

    ส่วนกรรมที่ชั่ว เราเคยทำบาปกรรม คิดชั่วช้าเลวทราม ฉ้อโกง ลักขโมย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ประพฤติผิดด้วยประการต่าง ๆ ในขณะที่จิตใจมันปล่อยวางกายนั้น จะปรากฏภาพที่เราทำความชั่วต่าง ๆ ให้เห็นชัดขึ้นมา โดยที่เราไม่ตั้งใจจะคิดนึกระลึกถึง เราลืมไปแล้วนานแสนนานทีเดียว ภาพจะแสดงขึ้นมาปรากฏในใจ หรือบางทีอาจแสดงออกมาภายนอกก็ได้ เช่นคนที่ฆ่าหมูฆ่าวัว ในขณะนั้นจะแสดงอาการทางกาย ทำท่าทีปฏิกิริยาของการที่เราเคยทำความชั่ว ฆ่าหมูฆ่าวัวนั้นให้ปรากฏแก่คนอื่นทั้ง ๆ ที่เรามีสติอยู่ แต่มันปรากฏขึ้นมาหรือว่าบางทีในขณะนั้นจะเผลอสติไปได้ ทำให้ปรากฏขึ้นมาอันนี้เรียกว่ายังไม่ทันแตกทันดับ คือกายกับใจยังอยู่รวมกันอยู่ ถ้าหากเรายังเหลือแต่ใจอยู่อย่างเดียว คือมันทอดทิ้งกายแล้วดังอธิบายมานั้น มันจะปรากฏภาพความชั่วของตน ซึ่งเป็นเหตุให้วิตกวิจารณ์เดือดร้อน วุ่นวาย หรือหวาดเสียว น่ากลัวอย่างแสนสาหัส เช่นปรากฏว่ามีคนใจอำมหิตโหดร้ายหน้าบึ้งหน้าเบี้ยวมาลากมาผูกมัดเอาไปกระชากขู่เข็ญด้วยประการต่าง ๆ จะขอร้องอ้อนวอนสักเท่าไรก็ไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือได้ และก็ไม่ให้อภัยเสียด้วย หรือปรากฏเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว วิตก สะดุ้ง ตกใจ แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ อันนี้เรียกว่า กรรมนิมิตในทางชั่ว ส่วนคตินิมิตนั้น อาจจะไปเห็นที่ซึ่งเราจะไปอยู่ เช่นเห็นหลุมถ่านเพลิงไฟลุกโชนอยู่ตลอดกาลเวลา กองไฟใหญ่โต หรือว่าเห็นสถานที่อันทุรกันดารอดอยากยากแค้น เดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เป็นสถานที่ซึ่งเขาจะเอาเราไปนั้น เกิดสะดุ้งหวาดกลัวสุดแสน แต่ไม่สามารถจะแก้ไขได้

    กรรมนิมิต คตินิมิต ทั้งสองอย่างนี้ อันใดอันหนึ่งจะเกิดก่อนก็ได้ กรรมนิมิตเกิดขึ้นก่อนก็ได้ หรือคตินิมิตเกิดขึ้นก่อนก็ได้ แต่ว่าทั้งสองอย่างนี้จะเป็นเครื่องดึงดูดและชักจูงเอาจิตใจของเราที่ทอดทิ้งจากายแล้วนั้นให้ไปเสวย อาจจะมีปัญหาถามว่าเมื่อกายกับใจยังปรองดองสามัคคีกันอยู่การทำก็ไม่เห็นทารุณโหดร้ายสักเท่าใดนัก แต่เมื่อจิตคือใจนี้ทอดทิ้งกายแล้ว ทำไมจึงทำให้เกิดนิมิตโหดร้ายน่ากลัว แสดงอาการโหดร้ายเหลือเกิน นั่นเป็นธรรมดาถึงเรื่องในใจของคนเรา ถ้ายังอยู่กับกายพร้อมเพรียงก็ยังมีการปลดเปลื้องและแก้ไขได้ สมมติว่าเรานั่งหรือเรานอนเหนื่อยมันเหนื่อยที่ใจ เราก็พลิกกาย มันก็พอที่จะแก้ไขปลดเปลื้องกันได้ หรืออ่อนเพลีย หิวข้าว กระหายน้ำ เราก็เอาน้ำดื่ม ก็ดื่มลงที่กาย ใจก็ค่อยสบายขึ้น นี่ช่วยกันแก้ไขได้ แต่ถ้ายังเหลือแต่ใจอย่างเดียวแล้วมันหมดหนทาง ไม่มีหนทางแก้ไข เหตุนั้นเมื่อทุกข์จึงทุกข์แสนสาหัส สุขก็สุขแสนยิ่ง มันมีสิ่งเดียวเท่านั้น เหลือใจสิ่งเดียวและก็เป็นของเบาอีกด้วย ของเบาๆนั้นไม่ว่าอะไรลองพิจารณาของภายนอกก็แล้วกัน เช่นรถวิ่งตามถนนหนทาง ถ้าพลาดบางครั้งบางคราวไม่เหลือเกินก็พอมีหนทางแก้ไข คือสามารถปลดเปลื้องแก้ไขด้วยประการต่าง ๆ ได้ ถ้าหากว่าเป็นว่าว เมื่อขึ้นไปปลิวอยู่บนอากาศมันเป็นของเบาๆ พบแฉลบก็วูบลงเลย ของเบาเป็นอย่างนั้น ใจเป็นของเบาเหมือนกัน ถ้ามันตกลงได้ไปทางไหนแล้วจะไปอย่างสุดขีดเลย เหตุนั้นสุขก็สุขอย่างสุดขีดทุกข์ก็ทุกข์อย่างสุดขีด ดังนั้นเมื่อถึงตอนนี้จึงเรียกว่าไม่มีหนทางแก้ไข ที่บางคนว่าจะไปแก้ไขตอนไปหรือตายแล้วจะไปแก้ไขนั้น อย่าไปหวัง ไม่มีทางแก้ไขเลย

    ทางที่ท่านเรียกว่า นรก ทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสหรือ สวรรค์ ได้ความสุขอย่างยิ่ง ไม่ใช่อยู่ที่อื่นที่ไกล อยู่เฉพาะในขณะนั้นแหละ ในขณะที่จิตมันว่างทอดทิ้งร่างนั่นละ ไม่ได้หมายความว่า อยู่ใต้ดินหรืออยู่บนอากาศกลางหาวที่ไหน ขณะที่จิตมันถอนจากร่างแล้วเกิด กรรมนิมิต คตินิมิต ปรากฏเห็นนรก เห็นสวรรค์กันตรงนั้นเอง เหตุนั้น ผู้ที่มาเข้าใจในเรื่องทั้งหลายนี้แล้ว จะแก้ไขตนเองก็พึงแก้ไขเสียในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่ คือ เมื่อกายกับใจยังอยู่ร่วมกันอยู่นี้ จะประกอบกุศลให้มีคุณงามความดีเจริญงอกงามขึ้น ก็พากันพร้อมใจเจริญ รีบเจริญเสีย รู้สึกตนแล้วยังแก้ไขได้ เมื่อทำดีแล้วก็ทำให้เจริญยิ่งขึ้นๆไปได้ หากว่าใจทอดทิ้งกายแล้ว ไม่มีหนทางแก้ไขเลย

    ผลของกายกับใจร่วมกันทำเรียกกว่า กรรม มาส่อแสดงให้ปรากฏ กรรม เป็นของมีพลังอย่างยิ่ง ไม่มีใครจะต้านทานหรือ ห้ามปรามไว้ได้ ไม่มีใครจะมาขออ้อนวอนได้เลย กรรมให้ผลยุติธรรมอย่างยิ่ง ทำลงไปแล้วมากน้อยเท่าใดก็ได้ผลเท่าที่ตนทำนั่นแหละ ไม่เหมือนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ กายกับจิตร่วมกันอยู่ปลิ้นปลอกหลอกลวงได้สารพัดทุกอย่าง จะโกหกมายาได้ทั้งนั้นหรือเอาเงินเอาทองมาแก้ไขความผิดอันนั้น คือมาจ้างทนายความก็ดี หรือว่าให้ค่าไถ่ค่าถอนเพื่อไม่ให้ผิดได้ทั้งนั้น ส่วนไปถึงตรงนั้นแล้วยังเหลือแต่ใจ ไม่มีอัฐ ไม่มีสตางค์ ไม่มีทนายความ ไม่มีใครอ้อนวอนร้องขอได้ และไม่ให้อภัยกันเสียด้วย เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว มีอย่างใดก็ตรงไปตรงมาเลย ไม่มีการยกเว้นกรรมตัวนั้นไม่มีพ่อมีแม่ไม่มีพี่มีน้อง ไม่มีญาติไม่มีวงศ์ ไม่มีครูมีอาจารย์ เป็นเอกสิทธิ์ของมันคนเดียวมันไม่เลือกหน้าใครทั้งนั้น กรรมถึงได้ชื่อว่าเป็นของมีกำลังมาก กรรมได้ชื่อว่าแยกสัตว์ให้เป็นไปต่างๆนานา เช่น เราทำกรรมชั่วด้วยประการต่าง ๆ มันจะแยกเราให้ไปเกิดในที่ชั่ว ถ้าเราทำกรรมดี มันจะแยกเรามาในทางที่ดี ในทางที่ชั่วหรือที่ดีนั้นคนอื่นจะมาแยกไม่ได้ สุขหรือทุกข์ คนอื่นมาแยกไม่ได้ กรรมเท่านั้นเป็นคนแยก เราจะมาแก้ตัวและผลัดเปลี่ยนกันไม่ได้ทั้งนั้น นั่นจึงเป็นของน่ากลัว เป็นสิ่งที่น่าพึงสังวรณ์ และรู้สึกตัว รีบทำเสียตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่

    เราเกิดขึ้นมาพบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้เราละชั่วทำดี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เป็นโชคลาภอย่างยิ่ง ถ้าหากเรามาระลึกได้ถึงเรื่องนิมิตว่า กรรมนิมิต คตินิมิตเป็นสิ่งที่ไม่มีหนทางแก้ไขได้ เป็นสิ่งที่ควรจะกลัวและพยายามจะแก้ไขตนเสียจึงจะไม่สายเกินกาล รีบแก้เสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพราะเราจะต้องเวียนว่ายตายเกิด ด้วยเหตุที่ผลของกรรมนำให้ไปเกิด ถ้าเราแก้ไขเสียได้แล้ว การเกิดการตายก็เรียกว่าสั้นเข้ามา คือว่าใกล้จะสิ้นสุดลงไป เพราะฉะนั้นให้พากันศึกษา พิจารณาธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่อธิบายมานี้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตนทุก ๆ คน


    เอวํ


    <O:phttp://www.thewayofdhamma.org/page3_2/patum36.html</O:p
     

แชร์หน้านี้

Loading...